การก่อตั้งพรรคการเมืองโดยกลุ่มผู้นำท้องถิ่น
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การก่อตั้งพรรคการเมืองโดยกลุ่มผู้นำท้องถิ่น
การก่อตั้งพรรคการเมืองโดยกลุ่มผู้นำท้องถิ่นนั้น เป็นการก่อตั้งพรรคที่เริ่มต้นด้วยการจำกัดเสียงสนับสนุนในวงแคบจากสมาชิกที่มีอุดมการณ์หรือเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจนเฉพาะกลุ่มในท้องถิ่นหรือชุมชนที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน ดังทัศนะของ มอริช ดูเวอร์แยร์ (Maurice Duverger) ซึ่งให้ความหมายของการเป็นพรรคมวลชน(mass party) ที่ถึงแม้จะมุ่งให้มีสมาชิกจำนวนมาก แต่สมาชิกต้องมีคุณลักษณะ สถานภาพทางสังคมหรืออัตลักษณ์บางประการร่วมกัน นอกจากนี้ยังเน้นความเข้มแข็งของสาขาพรรคระดับรากหญ้า (mass/branch party) เป็นสำคัญด้วย
กรณีของประเทศมาเลเซีย
ในช่วงของการรวมกลุ่มทางการเมืองก่อน ปี ค.ศ. 1957 ในสมัยที่อังกฤษปกครองอาณานิคมในแหลมมลายูและในสิงคโปร์ บรรดาผู้นำเชื้อสายเจ้าต่างแสวงหาผลประโยชน์และแสดงท่าทีที่ดีต่อผู้ปกครองชาวอังกฤษและกลุ่มนักธุรกิจชาวจีนและอินเดีย ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจประกอบกับเริ่มมีการแบ่งแยกประเด็นทางชาติพันธุ์มากขึ้น ทำให้เกิดแรงกระตุ้นที่ทำให้ชาวมลายูเกิดสำนึกในชาตินิยม เริ่มจากตะวันออกกลางในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อเกิดการปฎิรูปศาสนาอิสลามและเกิดกลุ่ม “ยังเตริ์ก (Young Turks)” ขึ้นมา แนวความคิดเหล่านี้ได้ผลักดันให้ชาวมลายูมีความรู้และเรียนรู้ทางการเมืองมากขึ้น ต่อมาในปี ค.ศ. 1926 จึงได้เกิดพรรคสหภาพชาวมลายูสิงคโปร์ (Singapore Malay Union หรือ Kesatuan Melayu Singapore)
ทั้งนี้สมาชิกจะต้องมีเชื้อสายมลายูและอาศัยอยู่ในแหลมมลายูและหมู่เกาะอินโดนีเซียเท่านั้น ซึ่งผู้นำส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก เป็นชนชั้นกลางที่มักจะมีอาชีพค้าขาย เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยหรือนักหนังสือพิมพ์ คนกลุ่มนี้มีเป้าหมายจะพัฒนาความเป็นอยู่ โอกาสทางการศึกษาและอาชีพให้แก่ชาวมลายู และพยายามผลักดันให้ชาวมลายูเกิดความสนใจทางการเมืองการปกครองด้วย จากนั้นเพื่อให้มีการขยายความคิดนี้ให้กว้างขวางขึ้นจึงพัฒนาให้มีการจัดตั้งสาขาของพรรคขึ้นมาในมะละกาและปีนัง จากนั้นก็ขยายไปยังปาหัง เซอร์ลังงอ และ เนกริ เป็นต้น เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ “รัฐมลายูสำหรับชาวมลายู” เพื่อต่อสู้ให้ได้เอกราชและการรวมเป็นประเทศเดียวกัน
กรณีของสหราชอาณาจักร
ตัวอย่างของสหราชอาณาจักร มีกรณีที่แคว้นต่างๆ มีกระแสเรียกร้องความเป็นอิสระจากการถูกผนวกเป็นหนึ่งสหราชอาณาจักร นำไปสู่การเกิดพรรคชาตินิยมสก็อต (Scotish National Party) ที่เริ่มมีความสำคัญในสก๊อตแลนด์ในช่วงทศวรรษที่ 1970 แต่ก็มีอิทธิพลลดลงในเวลาต่อมา โดยในปี ค.ศ. 1992 ได้รับคะแนนเสียง 1 ใน 5 ของคะแนนทั้งหมดและมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 คน ในจำนวนที่นั่งทั้งหมด 72 คน เช่นเดียวกับพรรคชาตินิยมเวลส์ (Plaid Cymru -The Party of Wales) ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมในแคว้นเวลส์ แต่มีอิทธิพลน้อยกว่าพรรคชาตินิยมสก็อต โดยในปี ค.ศ.1992 ได้รับคะแนนเสียง 1 ใน 10 ของคะแนนทั้งหมด และมีจำนวน ส.ส. เพียง 3 ที่นั่งในจำนวนทั้งหมด 36 ที่นั่ง เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ในสหรัฐอเมริกายังมีตัวอย่างของพรรคการเมืองระดับภูมิภาค (Regional parties) จำนวนมาก เช่น พรรคอนุรักษ์นิยมแห่งมลรัฐนิวยอร์ค (Conservative Party of New York) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1962 พรรคอนุรักษ์นิยมนิวเจอร์ซี่ (New Jersey Conservative Party) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1992 และพรรคอิสระแห่งมลรัฐโอเรกอน (Independent Party of Oregon) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2007 เป็นต้น
การก่อตั้งพรรคการเมืองโดยกลุ่มผู้นำท้องถิ่นในประเทศไทย
ในกรณีของไทยนั้น แม้การก่อตั้งพรรคการเมืองอาจจะไม่ใช่การรวมกลุ่มกันของกลุ่มผู้นำท้องถิ่นที่มีเป้าหมายในการจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยตรง แต่กลุ่มผู้นำท้องถิ่นหรือในระดับภูมิภาคมีบทบาทโดยตรงและสะสมบารมีของตนเองให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นในการสร้างอำนาจต่อรองในพรรคการเมือง ทั้งด้วยปัจจัยด้านเงินทุนและจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเครือข่ายอุปถัมภ์ของตนเอง ประกอบกับการผลักดันให้เกิดแนวคิดแบบภูมิภาคนิยม ดังจะเห็นได้จากการชูนโยบายเลือกนายกที่เป็นตัวแทนของภูมิภาค ซึ่งกล่าวได้ว่า พรรคการเมืองที่มีฐานสนับสนุนจากกลุ่มผู้นำท้องถิ่น มีความชัดเจนขึ้นในยุคที่นักการเมืองหรือกลุ่มทุนในส่วนภูมิภาค (rural capitalists) และนักการเมืองที่อยู่ในเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ (network politicians)เกิดและเติบโตในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2531 – 2543 ที่เป็นช่วงรัฐบาลของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ จนถึงพรรคการเมืองที่เติบโตก่อนการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544 ที่มีการเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทย
ความเป็นมาและเหตุผลเบื้องหลังการเติบโตของอิทธิพลของผู้นำท้องถิ่นในพรรคการเมืองไทยนั้น เนื่องมาจากการรับระบบราชการของไทยในอดีตตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นการบริหารราชการแผ่นดินแบบรวมศูนย์ (Centralization) ผลที่เกิดขึ้น คือ ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและในชนบทไม่ได้รับการบริการและเอาใจใส่จากระบบราชการอย่างทั่วถึง ประกอบกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น มีลักษณะของการกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ซึ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างเมืองหลวงกับชนบท เมื่อเป็นเช่นนี้พรรคการเมืองจึงเข้ามาแสดงบทบาทในการลดช่องว่างระหว่างการบริหารราชการแผ่นดินของข้าราชการจากส่วนกลาง โดยการพึ่งพิงกลไกระบบอุปถัมภ์ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักธุรกิจและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น หรือ “เจ้าพ่อ”
ผลจากการสร้างความร่วมมือ ทำให้ผู้นำในท้องถิ่น ทั้งที่เป็นนักธุรกิจและผู้มีอิทธิพล สามารถควบคุมและสร้างเครือข่ายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือนักการเมืองในพื้นที่ได้ เนื่องจากคนเหล่านี้เข้ามาพึ่งพิงด้านเงินทุนและการระดมเสียงสนับสนุนของประชาชนในพื้นที่ เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้พรรคการเมืองที่มีฐานสนับสนุนจากผู้นำในท้องถิ่นสามารถเติบโตและต่อรองตำแหน่งในรัฐบาลได้มาก ก็คือ เสียงสนับสนุนในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล แม้ว่าพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงมาจากภูมิภาคหรือท้องถิ่นจะเป็นพรรคขนาดกลางถึงขนาดเล็ก แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว การจัดตั้งรัฐบาลร่วมหลายพรรคการเมือง จำเป็นต้องอาศัยพรรคการเมืองเหล่านี้เข้าร่วมทุกครั้ง ซึ่งนำไปสู่การสร้างอำนาจต่อรองของพรรคการเมืองเหล่านี้
เหตุผลอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้พรรคการเมืองที่มีฐานเสียงจากท้องถิ่นหรือภูมิภาคเติบโตอย่างมาก ก็คือ บทบาทในการรวบรวมคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ในชนบทต้องการผู้แทนที่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในชีวิตประจำวันให้แก่พวกเขาได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น สาธารณูปโภค รายได้ และการรักษาพยาบาล เป็นต้น มากกว่าการคาดหวังในเรื่องนโยบายระดับชาติที่เห็นผลในระยะยาว เครื่องมือสำคัญที่ทำให้นักการเมืองและพรรคการเมืองภูมิภาคเติบโตได้อย่างรวดเร็วคือ การใช้ “งบพัฒนาจังหวัด” หรือ “งบ ส.ส.” ที่รัฐบาลจัดสรรให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนนำงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่เขตเลือกตั้ง บุคคลที่มีความโดดเด่นมากในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากงบประมาณนี้ ก็คือ นายบรรหาร ศิลปอาชา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรีและหัวหน้าพรรคชาติไทย ดังตัวอย่างการปรับปรุงถนน การสร้างโรงเรียน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2542 รัฐบาลได้ยุติงบพัฒนาจังหวัด เนื่องจากเห็นว่าสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับงบประมาณของรัฐบาล ส่งผลให้ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับประชาชนเป็นไปด้วยความยากลำบากและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสูญเสียแหล่งทุนในการสร้างเครือข่ายสายสัมพันธ์ไป
ที่มา
ชัยโชค จุลศิริวงศ์,”พรรคการเมืองมาเลเซีย” ใน สีดา สอนศรี และคณะ.พรรคการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศึกษาเฉพาะ ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและมาเลเซีย.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546 หน้า 328-329.
พฤทธิสาณ ชุมพล,ม.ร.ว..ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในอังกฤษ.กรุงเทพฯ : ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2544 หน้า 165.
สิริพรรณ นกสวน, “พรรคการเมืองและระบบพรรคการเมือง ” ใน เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา และ ม.ร.ว. พฤทธิสาน ชุมพล (บรรณาธิการ) . คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย (Concepts in contemporary political science) .กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550 หน้า 249-250,261-262.“List of political parties in the United States”,Retrieved from URL http://en.wikipedia.org/wiki/ List_of_political_parties_in_the_United_States