กลไกในการเพิ่มประสิทธิภาพของการพิจารณาคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ตามรัฐธรรมนูญ 2560
ผู้เรียบเรียง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายภัทระ คำพิทักษ์
กลไกในการเพิ่มประสิทธิภาพของการพิจารณาคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ความเป็นมาของการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
จุดเริ่มต้นของการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เริ่มจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไว้ในหมวด 10 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
ส่วนที่ 2 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ส่วนที่ 3 การถอดถอนจากตำแหน่ง
ส่วนที่ 4 การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
จนกระทั่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็ได้บัญญัติในเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไว้ในทำนองเดียวกันในหมวด 12 แต่ได้เปลี่ยนแปลงให้ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” ย้ายไปอยู่ในส่วนขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และเพิ่มบทบัญญัติในส่วนที่ 2 เป็น “การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์” แทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่มีมาแต่เดิม
สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่ได้มีการบัญญัติในเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไว้เป็นหมวดเหมือนเช่นรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ โดยในส่วนของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมีกำหนดไว้อยู่ 2 ส่วน คือ
ก. การส่งเสริมประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
1) มาตรา 78 รัฐพึงส่งเสริมให้ปราชนและชุมชนตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมือง
2) มาตรา 258 ก. ด้านการเมือง (1) ในการดำเนินการปฏิรูประเทศด้านการเมืองให้เกิดผลโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ข. การตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
1) มาตรา 235 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนข้อเท็จจริงภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และหากมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เห็นว่าผู้นั้นมีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ไต่สวนให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ถ้าเป็นกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อ “ศาลฎีกา” เพื่อวินิจฉัย
(2) กรณีอื่นนอกจาก (1) ให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อ “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” หรือ ดำเนินการอื่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
2) มาตรา 267 บทเฉพาะกาลให้คณะกรรมการ่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของการตรวจสอบการพิจารณาคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาอยู่ภายใต้ “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ซึ่งต่อมาได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 โดยมีสาระสำคัญในการกำหนดอำนาจหน้าที่และกําหนดหลักเกณฑ์วิธีพิจารณาตลอดจนการบังคับคดีในการดําเนินคดีของศาลฎีกาแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ผู้ดํารงตําแหน่งการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งอื่นตามที่รัฐธรรมนูญกําหนด ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติร่ำรวยผิดปกติ การกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทําความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น รวมทั้งบุคคลอื่นที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือ ผู้สนับสนุนในการกระทําผิดทางอาญาดังกล่าว
กลไกการเพิ่มประสิทธิภาพการพิจาณาคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐให้แก่ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” ทําหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงในกรณีที่มีผู้กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือ ข้าราชการการเมืองอื่น รวมทั้งผู้ที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่ได้เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือ
ผู้สนับสนุนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองดังกล่าวกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือ กระทําความผิดต่อ ตำแหน่งหน้าที่ หรือ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือ ร่ำรวยผิดปกติ เพื่อส่งสํานวนการไต่สวนให้อัยการสูงสุดฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา หรือ ร้องขอให้ทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินแล้วแต่กรณี ในการกําหนดวิธีพิจารณาพิพากษาและการอุทธรณ์คําพิพากษาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองรวมทั้งการบังคับให้เป็นไปตามคําพิพากษาหรือคําสั่งในคดีให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพเป็นธรรมและรวดเร็วอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะให้เป็นไปตาม “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560”
กลไกในการเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณาดคีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ ดังนี้
1) การพิจารณาคดีโดย “องค์คณะ”[1]
การพิจารณาคดีโดยเลือกจากผู้ซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน 9 คน เป็นองค์คณะผู้พิพากษา โดยเลือกเป็นรายคดี
2) การนำระบบ “ไต่สวน” มาใช้ในการค้นหาความจริงและการรับฟังพยานหลักฐานที่ยืดหยุ่น[2]
การพิจารณาคดีโดยองค์คณะผู้พิพากษาต้องใช้ระบบไต่สวน โดยให้ศาลค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และให้โอกาสคู่ความในการโต้งแย้งคัดค้านพยานหลักฐานได้ โดยนำสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ของคณะผู้ไต่สวนอิสระ แล้วแต่กรณีเป็นหลักในการพิจารณา
3) การพิจารณาสั่งฟ้องคดีได้จากหลายฝ่ายครอบคุลมผู้กระทำความผิด
การพิจารณาสั่งฟ้องคดีที่เกิดจากการใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือ กระทําความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือ ร่ำรวยผิดปกติ และหากเห็นว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิด กฎหมายกำหนดให้มีองค์กรเข้ามาทำหน้าที่สั่งฟ้องคดีได้จากหลายฝ่าย กล่าวคือ
3.1 การสั่งฟ้องคดีจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ “อัยการสูงสุด”[3] ในกรณีความผิดเกี่ยวกับความร่ำรวยผิดปกติทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย รวมถึงกรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินหรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบและมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน นอกจากนี้อัยการสูงสุดยังมีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้[4]
3.2 อำนาจในการสั่งฟ้องคดีเป็นของ “ผู้ไต่สวนอิสระ” ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย[5] ทั้งนี้ ผู้ไต่สวนอิสระมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ[6]
3.3 อำนาจของ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” ในกรณีการฟ้องคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกําหนด[7]
4) กลไกการนับอายุความแบบใหม่
ในส่วนของการนับอายุความพบว่าแต่เดิมการนับอายุความตามประมวลกฎหมายอาญาทำให้นักการเมืองที่กระทำความผิดถือโอกาสหลบหนีเพื่อรอให้อายุความสิ้นสุด กฎหมายจึงได้กำหนดในเรื่องการนับอายุความใหม่ คือ เมื่อได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้วให้อายุความสะดุดหยุดลง ทั้งนี้ มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ[8] หมายความว่า หากจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจะหลบหนีนานเท่าใดก็ยังต้องถูกลงโทษ
5) กลไกการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย
แต่เดิมหากจำเลยไม่สามารถปรากฏตัวต่อศาลได้ ศาลต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ หรือ หยุดการพิจารณาคดีไว้ก่อน แต่เมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายใหม่จึงได้กำหนดให้ศาลสามารถประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาได้แม้จะไม่ปรากฎตัวผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล หากมีหลักฐานแสดงต่อศาลได้ว่าเคยมีการออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาแล้วแต่ยังไม่ได้ตัวมา หรือ เหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลเกิดจากการประวิงคดี หรือ ไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร[9]
6) กลไกการพิจารณาและการวินิจฉัยชี้ขาดคดี
ในการพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องติดต่อกันไปจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา[10] โดยให้องค์คณะผู้พิพากษาเลือกผู้พิพากษาคนหนึ่งในจํานวนเก้าคนเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสํานวน[11] สำหรับในส่วนของการทําคําสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดหรือการพิพากษาคดีให้ผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคนทําความเห็นในการวินิจฉัยคดีเป็นหนังสือโดยสังเขปพร้อมทั้งต้องแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมและให้ที่ประชุมปรึกษาหารือร่วมกันก่อนแล้วจึงลงมติโดยให้ถือมติตามเสียงข้างมาก และคําสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคําพิพากษาของศาลให้เปิดเผยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา[12]
นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้สิทธิคู่ความที่ไม่พอใจคำพิพากษาของศาลสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่มีคำพิพากษา[13]
บรรณานุกรม
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 99 ก ลงวันที่ 28 กันยายน 2560.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540” (11 ตุลาคม 2540). ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 114 ตอนที่ 55 ก, น. 70.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550” (24 สิงหาคม 2550). ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 124 ตอนที่ 47 ก, น. 101-111.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” (6 เมษายน 2560). ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 134 ตอนที่ 40 ก, น. 69-70.
เอกสารอ่านเพิ่มเติม
โชคสุข กรกิตติชัย, บทความวิชาการ เรื่อง การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ตุลาคม 2560.
ฐานันท์ วรรณโกวิท, ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, ออนไลน์ http://www.supremecourt.or.th/file/criminal/new%2015-2-54--1.pdf
1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 11
[2] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 6
[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 235
[4] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 23(1)
[5] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 10(2)
[6] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 53
[7] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 23(2)
[8] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 25
[9] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 27
[10] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 15
[11] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 14
[12] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 20
[13] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 60