กบฏ พ.ศ. 2507

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ธิกานต์ ศรีนารา


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


กบฏ พ.ศ. 2507

กบฏ พ.ศ. 2507 การก่อการกบฏในประเทศไทย ที่มักไม่ค่อยมีการบันทึกไว้ อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์สยามนิกร ฉบับวันที่ 2 ธันวาคม 2507 ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับกรณีนี้ไว้ว่า ภายใต้คำสั่งของพล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล กอง 2 และกอง 6 จำนวนกว่า 50 นาย ได้กระจายกำลังกันออกกวาดล้างผู้ต้องหาว่าคิดการร้ายอันเป็นภัยต่ออันเป็นภัยต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรงทั่วจังหวัดพระนครและธนบุรี ปรากฏว่าในการนี้ ทางการตำรวจสันติบาลได้จับกุมผู้ต้องหาสำคัญพร้อมทั้งเอกสารหลายอย่าง[1] ต่อมาในวันที่ 3 หนังสือพิมพ์สยามนิกรได้ตีพิมพ์ข่าวว่า พลเอกประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้บัญชาการทหารบก ได้แถลงข่าวแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อเช้าวันที่ 2 ธันวาคม 2507 เกี่ยวกับการกวาดล้างจับกุม “กบฏ 3 ธันวา” ว่า “เรื่องการจับกุมนายทหาร ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน นายทหารที่ถูกจับกุมครั้งนี้มีทั้งทหารประจำการและนอกราชการ เป็นนายทหารบกยศพันเอก 1 คน พันโท 2 คน ร้อยเอก 1 คน รายชื่อและรายละเอียดต่างๆ ในการสอบสวนนั้น ยังไม่อาจเปิดเยได้ เพราะยังมีผู้ร่วมมือที่จะต้องติดตามจับกุมกันให้หมดสิ้นอีกต่อไป”[2]

หนังสือพิมพ์สยามนิกร ฉบับวันที่ 4 ธันวาคม 2507 ได้เสนอข่าวต่อไปว่า จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้รัฐบาลสามารถจับกุม “กบฏ 3 ธันวา” ได้แล้วทั้งหมด 5 คน แต่ยังไม่เปิดเผยรายชื่อ จอมพลถนอม กิตติขจรยังให้สัมภาษณ์ด้วยว่า แผนการของผู้ก่อการร้ายนี้เท่าที่ทราบก็คือจะมีการจับกุมบรรดาบุคคลสำคัญต่างๆ โดยใช้หน่วยทหารที่มีกำลังจากกรมกองต่างๆ เข้าทำการในระยะระหว่างวันสวนสนามของราชวัลลภ คือ วันที่ 3 ธันวาคม 2507 แล้วจัดตั้งรัฐบาลของพวกตนขึ้นใหม่[3] ในวันที่ 8 ธันวาคม 2507 หนังสือพิมพ์สยามนิกรรายงานว่า ตำรวจได้จับกุมนายทหารที่ร่วมใน “กบฏ 3 ธันวา” เพิ่มได้อีก 2 คนมียศร้อยเอกทั้งคู่[4] ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม 2507 หนังสือพิมพ์สยามนิกรก็ได้รายงานข่าวว่า 3 ใน 7 ผู้ต้องหากรณี “กบฏ 3 ธันวา” ได้ยอมรับสารภาพแล้ว แต่ “ตัวการยังไม่ทราบแน่ชัด อีก 4 นายยังสอบอยู่”[5] ต่อมาในวันที่ 14 ธันวาคม 2507 หนังสือพิมพ์สยามนิกรก็ได้รายงานข่าวว่า นายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้เข้าเชิญตัวพลอากาศเอกนักรบ บิณษรี ที่บ้านพักเพื่อนำตัวไปสอบสวน[6] และในที่สุดเมื่อถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2507 รัฐบาลก็ได้เปิดใบหน้าและรายชื่อนายทหารอากาศยศสูง 3 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณี “กบฏ 3 ธันวา” ได้แก่ พลอากาศเอกนักรบ บิณษรี อดีตรองผู้บัญชาการทหารอากาศ, พลอากาศตรีเอกชัย มุสิกะบุตร และพลอากาศตรีละเอิบ ปิ่นสุวรรณ โดยรัฐบาลเปิดเผยว่าจับกุมตัวได้ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2507 แล้ว[7] นอกจากนายทหาร 3 นายแล้ว เท่าที่ทราบสมาชิกของ “กบฏ 3 ธันวา” ยังมีอีก 3 คน ได้แก่ พ.ท.บุญพฤกษ์ จาฏามระ, พ.ท.สุดใจ อังคณานุรักษ์, ร.อ. นรชัย จาฏามระ

อ้างอิง

  1. สยามนิกร, วันที่ 2 ธันวาคม 2507, หน้า 1 และ 8
  2. สยามนิกร, วันที่ 3 ธันวาคม 2507, หน้า 1, 2 และ 8
  3. สยามนิกร, วันที่ 4 ธันวาคม 2507, หน้า 1 และ 8
  4. สยามนิกร, วันที่ 8 ธันวาคม 2507, หน้า 1 และ 8
  5. สยามนิกร, วันที่ 10 ธันวาคม 2507, หน้า 1 และ 8
  6. สยามนิกร, วันที่ 14 ธันวาคม 2507, หน้า 1 และ 12
  7. สยามนิกร, วันที่ 15 ธันวาคม 2507, หน้า 1, 2 และ 8