กนต์ธีร์ ศุภมงคล

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


กนต์ธีร์ ศุภมงคล : เสรีไทยผู้ไร้ปืน

หลายคนอาจรู้จักชื่อเสียงของนักการทูตที่เรืองนามท่านนี้มาก แต่อาจมีเพียงน้อยรายที่จะทราบว่าท่านทูตคนนี้เคยเป็นเสรีไทยที่เคยทำหน้าที่อันยังประโยชน์แก่ชาติและแผ่นดินมาแล้ว ที่จริงชีวิตของท่านทูตกนต์ธีร์ ศุภมงคล นั้นมีเรื่องราวตื่นเต้นน่ารู้มาตั้งแต่ตอนที่ท่านไปเรียนหนังสือที่เมืองนอกและต้องเดินทางกลับประเทศไทยตอนต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว เพราะตอนที่ท่านเรียนจบปริญญาเอกแล้วจากประเทศฝรั่งเศส กำลังลงเรือจะเดินทางกลับประเทศนั้นสงครามกำลังคุกรุ่นในยุโรป นายกนต์ธีร์ได้ลงเรือที่เมืองมาร์ซายส์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ปี 2483 เดินทางหลบสงครามไปมาจากทวีปยุโรป ผ่านมาที่อัฟฟริกา ไปจนถึงทวีปอเมริกา จนมาถึงเอเชีย และถึงไทยได้ในวันที่ 4 มีนาคม ปี 2484 ใช้เวลา9เดือน การผจญภัยตอนนี้ท่านเขียนไว้ในบันทึกความทรงจำของท่าน ที่อ่านแล้วทั้งเหนื่อยและตื่นเต้นแทนท่าน กลับมาแล้วท่านก็เข้าทำงานใช้ทุนที่กระทรวงการต่างประเทศ และต่อมาท่านก็ได้ปฏิบัติงานเสรีไทย แต่เป็นเสรีไทยที่ไร้ปืน ดังที่ท่านได้เขียนเล่าตอนที่ท่านออกปฏิบัติงานใต้ดิน เรื่องราวเหล่านี้จะปรากฏในชีวิตและงานของท่านที่น่าสนใจมาก

กนต์ธีร์ ศุภมงคล เป็นคนกรุงเทพฯนี่เอง เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม แต่ปีเกิดนั้นยังแย้งกันอยู่ ท่านเองระบุว่ามารดาของท่านบอกว่าท่านเกิด “วันจันทร์ต้นเดือนสิงหาคม 2457” ส่วนหลักฐานราชการนั้นระบุว่าเกิดปี 2459 บิดามารดาของท่านนั้นมีบ้านพักอยู่ที่พระนคร “คุณพ่อคุณแม่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ถนนทรงวาด ใช้ชั้นล่างเป็นที่ประกอบพาณิชยกิจ ชั้นบนเป็นที่อยู่” เป็นครอบครัวที่ทำการค้าขาย มีฐานะดี การศึกษาเบื้องต้นได้เรียนที่โรงเรียนจักรวรรดิราชาวาส จากนั้นจึงไปต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัน และไปเรียนลัดที่โรงเรียนบูรพาวิทยาเพื่อสอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาซึ่งท่านก็สอบได้จึงเข้ากฎหมายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนมาเรียนที่มหาวิทยาลัยใหม่คือมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และสอบเข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ ฯ ด้วย จึงเรียนไปทำงานไปจนจบเป็นธรรมศาสตรบัณฑิต และชิงทุนการศึกษาของกระทรวงการต่างประเทศไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสได้ในปี 2480 จบการศึกษากลับมาถึงไทยปี 2484 เข้าทำงานใช้ทุนที่กระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยที่นายดิเรก ชัยนาม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

การทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ ที่มีรุ่นพี่นักเรียนฝรั่งเศสที่เคยทำงานด้วยกันมาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ ประกอบกับรู้จักดีกับอาจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ ผู้ทำงานใต้ดินเป็นเลขานุการหัวหน้าเสรีไทย เพราะเคยทำงานเป็นผู้ช่วยท่านมาก่อน จึงทำให้ ดร.กนต์ธีร์มาร่วมงานเสรีไทยในเวลาต่อมา ท่านได้เข้ามาทำงานเสรีไทยภายหลังจากที่ถูกท่านทูตดิเรก ชัยนาม ขอให้อยู่ในคณะข้าราชการ 4 คนที่ร่วมออกไปประจำสถานทูตไทยที่กรุงโตเกียวประมาณ 2 ปี ดร.กนต์ธีร์กลับจากญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี2487 มาเป็นหัวหน้ากองการเมืองในกรมการเมืองตะวันตกที่มี ดร.ทวี ตะเวทิกุล เป็นอธิบดี และมีนายดิเรก ชัยนาม อดีตทูตที่ญี่ปุ่นที่เป็นนายกลับมาเป็นรัฐมนตรีอยู่ก่อนหน้าตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2486 แล้ว พอถึงปลายปี 2487 พ้นสมัยรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทางคณะผู้ต่อต้านญี่ปุ่นที่ทำงานใต้ดินในไทยต้องการจะส่งคนเดินทางไปสหรัฐฯเพื่อสมทบกับคุณสงวน ตุลารักษ์ และท่านทูตเสนีย์ เจรจากับสหรัฐฯเพื่อให้ช่วยต้านแรงบีบของอังกฤษที่มีต่อไทย เบื้องแรกจะให้คุณทวี ตะเวทิกุล ซึ่งเป็นนักการทูตไป แต่คุณทวีเปลี่ยนใจบอกว่าสุขภาพไม่ดีขอให้คุณกนต์ธีร์ซึ่งเป็นนักการทูตรุ่นน้องไปแทน ดังนั้นกนต์ธีร์จึงรับหน้าที่ มารับคำสั่งและนอนที่ทำเนียบท่าช้าง ลงเรือแอบออกทะเลไปที่เกาะกระดาษในอ่าวไทย รอเรือบินทะเลเข้ามารับ และตอนนี้เองที่ฝ่ายเตรียมการออกไปลอยเรือรอเครื่องบินทะเลมาส่งนายทหารอเมริกันลงมาและรับตัวคุณกนต์ธีร์ขึ้นเครื่องบินออกจากไทยไป จะต้องเตรียมพร้อมระวังการตรวจตราของทหารญี่ปุ่นที่ตระเวนอยู่ทั่วไป ดังนั้นทุกคนจึงมีอาวุธพร้อม ยกเว้นคุณกนต์ธีร์ที่ท่านเล่าตอนเจอเรือลำอื่น

“ข้าพเจ้าคนเดียว ไม่มีอาวุธติดตัว เดชะบุญเป็นเรือชาวประมงออกหาปลา จึงไม่มีเหตุการณ์อย่างใด”

การออกไปทำงานครั้งนั้นท่านไม่ได้บอกใคร ท่านยังโสด ท่านจึงบอกคุณแม่เพียงว่า “ต้องไปราชการต่างจังหวัด” และท่านก็เล่าถึงการเดินทางของท่านกับการใช้ชื่อใหม่ในการทำงานใต้ดินของท่าน

“...ไปคราวนั้นตัวเปล่า ไม่มีกระเป๋าหรือเครื่องใช้ไม้สอยไปด้วยเลย หนังสือเดินทางก็ไม่มี มีแต่หนังสือมอบอำนาจของผู้สำเร็จราชการที่ซ่อนไว้กับตัว...เวลาเครื่องบินลำเลียงของเสร็จแล้วบินขึ้น ข้าพเจ้ายึดผนังภายในเครื่องบินแน่น เพราะไม่มีสายรัด...รุ่งขึ้นเครื่องบินลงที่เมืองมาดราสของอินเดีย ที่นั่นมีเจ้าหน้าที่ทหารอเมริกันชั้นร้อยเอกกับร้อยโทมารับ จัดเครื่องแบบทหารอเมริกันชั้นร้อยโทให้ข้าพเจ้าแต่ง ข้าพเจ้าคิดชื่อสมมุติขึ้นเองว่า สุนี เทพรักษา เพื่อขอความคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวง”

น้อยคนนักที่จะทราบนามเพื่อปฏิบัติงานใต้ดินของ ดร.กนต์ธีร์ ว่าคือ “สุนี เทพรักษา” และโดยทั่วไปเราจะได้ยินชื่อเพื่อปฏิบัติการเพียงชื่อเดียวไม่มีนามสกุล เช่น “รู้ธ” หรือ “พูเลา” แต่ชื่อของคุณกนต์ธีร์นั้นมีนามสกุลครบ ท่านใช้ชื่อนี้ตลอดการเดินทางไปทำงานที่สหรัฐฯจนกระทั่งกลับไทย เพื่อนอเมริกันจึงเรียกท่านว่า “ซันนี่” เว้นแต่ตอนที่เจรจากับผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันที่ต้องใช้ชื่อจริง เพราะเป็นชื่อที่ปรากฏในหนังสือมอบอำนาจ แต่ท่านก็ระบุว่าในบันทึกของกระทรวงการต่างประเทศนั้นใช้ชื่อ “สุนี เทพรักษา” ดังนั้นชื่อนี้จึงปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์การทำงานใต้ดินในครั้งนี้ ดร.กนต์ธีร์ได้ทำงานในการเจรจาให้สหรัฐฯทำให้อังกฤษยอมรับขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในไทยที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า จนลุล่วงไปแล้วท่านจึงถูกทางผู้นำของขบวนการเรียกตัวกลับในเดือนเมษายน ปี 2488

ดร.กนต์ธีร์ กลับมาทำงานต่อตามเดิมที่กระทรวงการต่างประเทศโดยไม่มีใครทราบมากนักว่าท่านไปทำอะไรมา และในเดือนกันยายน ปีนั้นท่านยังได้รับคำสั่งให้ไปรายงานล่วงหน้าที่เมืองกัลกัตตา ในประเทศอินเดียต่อ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ที่เดินทางกลับจากสหรัฐฯเพื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทราบเรื่องราวต่างๆ และติดตามท่านกลับมาถึงไทย ในวันที่ 17 กันยายน ปี 2488 นั่นเอง ม.ร.ว.เสนีย์ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วน ดร.กนต์ธีร์ก็ทำงานทีกระทรวงการต่างประเทศตามปกติ ที่ไม่ปกติบ้างก็คือท่านได้รับหน้าที่ไปปฏิบัติงานตามที่ท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน นายปรีดี พนมยงค์ ขอให้ไปทั้งงานใต้ดินและบนดินจนทำให้ถูกมองว่าเป็น “ดาวรุ่ง” ในกระทรวงการต่างประเทศที่จะไปแย่งตำแหน่งสำคัญในสถานทูตเช่นตำแหน่งอุปทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน ที่หลวงดิษฐ์การภักดี ดำรงอยู่ หรือถึงขนาดว่าจะไปแย่งตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ที่หลวงสิทธิสยามการดำรงอยู่ ท่านกนต์ธีร์เล่าว่าท่านปฏิเสธ และยังบอกว่า 

“ข้าพเจ้ากลัวการเมืองตลอดมา อยากจะอยู่ห่างๆ ให้ไกลที่สุดที่จะเป็นได้”

ดังนั้นท่านจึงเป็นข้าราชการประจำของกระทรวงการต่างประเทศที่มิได้ก้าวกระโดดในตำแหน่งแต่อย่างใด เพียงแต่ได้ไปเป็นผู้บรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ท่านเคยทั้งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่และเคยเรียนมาก่อนเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเวลานั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์เข้ามาเป็นนายกฯได้เพียงเดือนกว่าก็ดำเนินการยุบสภา ทำให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม ปี 2489 ในการเลือกตั้งครั้งนี้นายควง อภัยวงศ์ ได้ลาออกจากสมาชิกสภาฯประเภทแต่งตั้งมาลงเลือกตั้งด้วยที่พระนคร แสดงว่าท่านประกาศตัวเล่นการเมืองแบบเลือกตั้ง ท่านชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนราษฎรและสภาฯได้เลือกนายควงเป็นนายกฯ แต่รัฐบาลนายควง อายุสั้นเพราะแพ้มติในสภาฯจึงลาออกในเดือนมีนาคม ปีเดียวกัน รัฐบาลต่อมาเป็นรัฐบาลที่มีนายปรีดี เป็นนายกฯ ซึ่งอยู่ต่อมาจนได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 ที่ไดัเริ่มแก้ไขมาตั้งแต่สมัยนายควงเป็นนายกฯ ครั้นถึงกลางปี 2489 นี่เองมีกรณีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ทำให้มีแรงบีบคั้นทางการเมืองต่อรัฐบาลมาก นายปรีดี ได้ขอลาออกจากนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม ปี 2489 นั้นเอง และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ในช่วงเวลานี้ ดร.กนต์ธีร์ก็ยังทำงานต่อมาที่กระทรวงการต่างประเทศโดยไม่ได้เข้าไปเล่นการเมืองแต่อย่างใด

ในสมัยรัฐบาลของหลวงธำรงฯนี้ ในเดือนเมษายน ปี 2490 ดร.กนต์ธีร์ได้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมการเมืองตะวันตก ที่ดร.ทวี ตะเวทิกุล เคยเป็นอธิบดีอยู่ก่อน เข้าใจว่าดร.ทวี ได้ไปดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ครั้นมีการยึดอำนาจโดยคณะรัฐประหาร ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 ดร.กนต์ธีร์จึงไม่เดือดร้อนอะไรนัก แม้ว่าอาจถูกเพ่งเล็งจากทางฝ่ายของรัฐบาลใหม่ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนายปรีดี พนมยงค์ บ้างก็ตามและคงจะเข้าใจว่าท่านทำงานของชาติในคณะเสรีไทยและทำงานให้รัฐบาลในอดีตในฐานะคนไทยที่เป็นข้าราชการประจำไม่ได้เล่นการเมืองด้วย

เมื่อเกิดกบฏวังหลวงในตอนปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2492 ที่มีนายปรีดีเป็นผู้นำ ที่ทางฝ่ายรัฐบาลได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง ทั้งยังได้ติดตามล่าผู้คนที่ร่วมงานกับนายปีดีอย่างรุนแรง มีการยิงทั้ง และจับตาย นายทวี ตะเวทิกุล อดีตอธิบดีกรมการเมืองตะวันตก ผู้เคยทำงานเสรีไทยก็ถูกจับตายคือถูกยิงตายโดยตำรวจขณะเข้าจับกุมตัว แต่ ดร.กนต์ธีร์ ก็ไม่ได้ถูกจับไปสอบสวนแต่อย่างใด และ ในวันที่ 1 มีนาคม ปี 2492 หลังปราบกบฏได้เพียงสองวัน ท่านยังได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีตัวจริงของกรมการเมืองตะวันตกด้วย อีกปีถัดมาจึงได้ย้ายไปเป็นอธิบดีกรมสหประชาชาติ ในสมัยนั้นมีจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านทำงานอยู่ต่อมาจนถึงวันที่ 12 ธันวาคม ปี 2495 จึงได้รับแต่งตั้งออกไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศออสเตรเลีย และได้ขยายออกไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศใกล้เคียงกันอีกตำแหน่งหนึ่ง จนกระทั่งอีก 5 ปีต่อมาในสมัยที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกฯ ดร.กนต์ธีร์จึงได้กลับเข้ามาเป็นอธิบดีกรมสหประชาชาติอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 14 ธันวาคม ปี 2502 และเป็นอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ

ที่ท่านได้เข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยการแต่งตั้งนั้นก็คือท่านได้รับแต่งตั้งในวันที่ 23 มีนาคม ปี 2504 ในสมัยที่จอมพล สฤษดิ์เป็นนายกฯให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่างลง สภาร่างรัฐธรรมนูญนี้ทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย ครั้นจอมพล สฤษด์ถึงแก่อสัญกรรมในตอนปลายปี 2506 และมีรัฐบาลใหม่ที่มีจอมพล ถนอมเป็นนายกรัฐมนตรี ดร.กนต์ธีร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี และอีก 2 เดือนต่อมา ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ปี 2507 ท่านก็ได้เป็นเลขาธิการองค์การ ส.ป.อ.(SEATO) นับเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ดำรงตำแหน่งนี้ ผ่านมาอีกปีกว่าคือปลายปี 2508 ท่านก็ได้รับแต่งตั้งออกไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐเยอรมนี  ท้ายที่สุดในตำแหน่งทูตไทยของท่านก็คือเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี 2513 และท่านเกษียณอายุราชการในตำแหน่งนี้เมื่อวันที่ 30 กันยายน ปี 2519 สมัยนายกฯ ม.ร.ว.เสนีย์

ในสมัยรัฐบาลพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อปี 2520 ดร.กนต์ธีร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้วย และยังได้รับแต่งตั้งได้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอยู่อีก 1 ปีตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน ปี 2521 หลังจากนั้นท่านก็มิได้ดำรงตำแหน่งอื่นใดอีก จนท่านถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2554