กฎมณเฑียรบาล (รังสิทธิ์ วรรณกิจ)
ผู้เรียบเรียง นายรังสิทธิ์ วรรณกิจ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
บทนำ
ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยตลอด ไม่ว่าราชธานีตั้งอยู่ที่ใด แม้เมื่อคราวการเปลี่ยนแปลงทางปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ยังคงหลักการสำคัญคือ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาจนถึงปัจจุบันนี้ พระมหากษัตริย์มีที่มาทางประวัติศาสตร์ยาวนานและสืบเนื่องโดยมีระเบียบแบบแผนไม่ว่าโดยโบราณราชประเพณี นิติประเพณีหรือโดยกฎหมายลายลักษณ์อักษรก็ตาม ทั้งมีอำนาจพระราชสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลทางกฎหมายและการเมืองการปกครองประเทศได้ เมื่อคำนึงว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมีประวัติความเป็นมายาวนาน มีความผูกพันกับประชาชนและมีหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นระเบียบแบบแผนของตัวเอง ซึ่งปรากฏอยู่ใน “กฎมณเทียรบาล” หรือ “กฎมณเฑียรบาล”
ความหมาย “มณเทียรบาล” หรือ “มณเฑียรบาล”
คำว่า “มณเทียร” ตามรูปศัพท์มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า “มณเฑียร” แปลว่า “เรือนหลวง” หรือ “เรือนของพระเจ้าแผ่นดิน” กับคำว่า “บาล” แปลว่า “รักษา” เพราะฉะนั้น “กฎมณเทียรบาล” คือ “กฎรักษาเรือนหลวง”[1]
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงอธิบายว่า “ชื่อกฎมณเทียรบาลนี้แปลว่า สำหรับรักษาเรือนพระเจ้าแผ่นดิน ในกฎนั้นได้พรรณนากำหนดพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งราชการและข้อบังคับสำหรับข้าราชการที่จะประพฤติให้ถูกต้องไม่มีความผิดในพระเจ้าแผ่นดิน” [2]
ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้อธิบายว่า “กฎมณเทียรบาลเป็นกฎหมายรักษาวินัย ความสงบ ตลอดจนความปลอดภัยในพระบรมมหาราชวังและองค์พระมหากษัตริย์”[3]
ในอัขราภิธานศรันท์ หมอบรัดเลย์ ให้คำจำกัดความ ๔ คำ คือ มณเทียรปราสาท หมายถึง เรือนหลวง เรียกเปนคำสูงเฉพาะนั้น มณเทียรสถาน, คือ พระที่นั่งเรือนหลวงนั้น, เช่น พระมหามณเทียร มณเทียร, คือ เรือนหลวงในพระราชวังขุนหลวงนั้น เขาเรียกว่า พระราชมณเทียร มณเฑียรบาล, เป็นชื่อขุนนางฝ่ายกรมวังนั้น ๆ [4]
พจนานุกรมศรีพจน์ภาษาไทย (ไทย-ฝรั่งเศส-อังกฤษ) ของบาทหลวง จี.แอล,เวย์ (J.L. Vey) อธิบายว่า[5]
มณเทียร Pala’s du roi king’s palace
มณเฑียรปราสาท Pala’s du roi King’s palace
ราชมณเฑียร Pala’s du roi Kings’ palace
มณเฑียรสถาน Pala’s dud royai royal palace
มณเฑียรระบาล gardien du palais guardian of palace
พจนานุกรมฉบับพุทธศักราช ๒๔๙๓ อธิบายว่า มณเฑียรบาล หมายถึง ข้อบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับพระราชฐานและพระราชวงศ์ [6]
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ ให้คำอธิบายว่า “การปกครองภายในพระราชฐาน, เรียกข้อบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับพระราชฐาน พระราชวงศ์ และระเบียบการปกครองในราชสำนักว่า กฎมณเฑียรบาล, ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองภายในพระฐาน[7]
ส่วนพจนานุกรรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้ความหมาย “กฎมณเทียรบาล” หมายความว่า “ข้อบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับพระราชฐาน พระราชวงศ์ และระเบียบการปกครองในราชสำนัก”[8]
“กฎมณเทียรบาล” เป็นกฎหมายในหมวดพระราชนิติศาสต์บานแผนกมีข้อความว่า “ศุภมัศดุ ศักราช ๗๒๐ วันเสา เดือนห้า ขึ้นหกค่ำ ชวดนักสัตวศก สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีบรมไตรโลกนารถ มหามงกุฎเทพมนุษวิสุทธิสุริยวงษ์องคพุทธางกูรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” [9]
พระราชนิติศาสตร์ เป็นหมวดหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งกฎหมายตราสามดวงมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้
- พระธรรมศาสตร์ (มูลคดี) คือ คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของไทยได้รับอิทธิพลแนวความคิดจาก “คัมภีร์มานวธรรมศาสตร์” ของศาสนาพราหมณ์
คัมภีร์ธรรมศาสตร์ของไทยเป็นแม่บทของระบบกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยเฉพาะในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของตัวบทกฎหมาย หลักจริยธรรมและจรรยาบรรณ คุณสมบัติและหน้าที่ของตระลาการและผู้พิพากษา สถานภาพของพระมหากษัตริย์และแนวคิดเรื่อง “มูลคดี” คือ สาเหตุหลักที่มนุษย์วิวาทเป็นความกัน
- พระราชศาสตร์ (สาขาคดี) คือ บทกฎหมายต่าง ๆ ที่พระมหากษัตริย์ทรงบัญญัติหรือตราขึ้นไว้เป็นสาขคดี (สาขาคดี) เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดีความต่าง ๆ
พระราชบัญญัติต่าง ๆ เมื่อจัดเข้าเป็นหมวดต่าง ๆ ตามมูลคดีในพระธรรมศาสตร์แล้วหมวดกฎหมายนั้นเรียกว่า “พระอัยการ”
- พระราชนิติศาสตร์ (ราชนิติคดี) คือ บทพระอัยการที่มิได้ยึดมูลคดีตามพระบรมศาสตร์ แต่เป็นกฎหมายฝ่ายบริหารปกครอง กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับราชประเพณี กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการปกครองดูแลสงฆ์พระบรมราชวินิจฉัยอันเป็นบรรทัดฐานในอรรถคดีต่าง ๆ
กฎมณเฑียรบาลซึ่งเป็นพระราชนิติศาสตร์มีความสำคัญเป็นพิเศษตรงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ มีผู้เข้าใจผิดเสมอว่า กฎมณเฑียรบาล คือ กฎว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ในความเป็นจริงแล้ว กฎมณเฑียรบาล คือ กฎรักษาเรือนหลวงหรือพระราชมณเฑียรสถาน และกฎว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์เป็นส่วนหนึ่งของกฎมณเทียรบาล
ประวัติความเป็นมา
กฎมณเฑียรบาลของไทยนั้นน่าจะมีที่มาจากพราหมณ์ โดยเฉพาะคณะพราหมณ์พิธีต่าง ๆ ซึ่งรอบรู้โบราณราชประเพณีและมีหน้าที่รักษาโบราณราชประเพณี “เพื่อบูชาองค์พระมหากษัตริย์ที่เป็นเทวราช” กฎและธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้จึงใช้สืบต่อกันมาด้วยวาจาและความทรงจำในฐานะที่เป็นโบราณราชบัญญัติ ซึ่งก็คงจะมีการดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับภูมิประเทศและธรรมเนียมอื่น ๆ ของไทย
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีการประมวลความรู้ของพราหมณ์เป็นลายลักษณ์อักษรและใช้เป็นหลักราชการ เรียกชื่อว่า “กฎมณเฑียรบาล” ได้มีการประชุมปรึกษาพราหมณ์และบัญญัติ กฎมณเฑียรบาลขึ้น โดยถือกันว่า เป็นการนำเอาความที่มีมาแต่โบราณมาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรมิใช่การสร้างสรรค์ขึ้นใหม่แต่อย่างใด การตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นใช้บังคับนี้สันนิษฐานว่า ตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถตามที่ระบุพระนามไว้ในคำปรารภกฎมณเฑียรบาลซึ่งเป็นฉบับเก่าที่สุดตามที่เหลือร่องรอยให้ตรวจชำระใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น ๓ แผนก คือ แผนกแรกจะเป็นแบบแผนกพระราชพิธีและพระราชานุกิจทั้งในทางปกครองและส่วนพระองค์ แผนกที่สองจะเป็นแบบแผนว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่ราชการ และแผนกสุดท้ายจะเป็นแบบแผนว่าด้วยวิธีปฏิบัติในราชสำนัก
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ในรัชกาลที่ ๑ ได้มีการตรวจชำระกฎหมายตราสามดวง ซึ่งรวมถึงกฎมณเฑียรบาลที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาด้วย โดยได้ปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับภูมิประเทศและธรรมเนียมประเพณีดังปรากฏหลักฐานในคำปรารภ “กฎมณเฑียรบาลเล่มที่ ๑๐ ของกฎหมายตราสามดวงความว่า ได้ตราขึ้นเมื่อศักราช ๗๒๐ วันเสาเดือนห้าขึ้นหกค่ำ ชวดนักสัตวศก สมเดจพระเจ้ารามาธิบดีบรมไตรโลกนารถมหามงกฎเทพมนุษวิทธิ สุริยวงษองคพุทรางกูรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว”
ภายหลังจากนี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้แต่ประการใด จนกระทั่งกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้ ค่อย ๆ ถูกยกเลิกเพิกถอนไปโดยตัวบทกฎหมายใหม่เป็นเรื่อง ๆ ไป ซึ่งก็มิใช่ว่าจะเลิกเสียทีเดียวทั้งฉบับ บางเรื่องก็หมดความจำเป็นหรือไม่อาจปฏิบัติได้โดยอัตโนมัติตามสภาพเศรษฐกิจสังคมและการเมืองการปกครอง
ที่นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงอันสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ขึ้น เป็นเหตุให้ข้อกำหนดส่วนใหญ่ในกฎมณเฑียรบาลฉบับกรุงศรีอยุธยาไม่อาจใช้บังคับได้ต่อไป”
ในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็มีการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยเรื่องอื่น ๆ ขึ้นใหม่อีกหลายฉบับ บางฉบับใช้ชื่อว่ากฎมณเฑียรบาล บางฉบับก็มิได้ใช้ชื่อเช่นนั้น แต่เลี่ยงไปออกเป็นกฎหมายรูปแบบอื่น เช่น ประกาศพระบรมราชโองการบ้าง พระราชบัญญัติบ้าง พระราชกฤษฎีกาบ้าง พระราชกำหนดบ้าง แต่ด้วยเหตุที่เนื้อหาสาระเป็นเรื่องที่ปกติแล้วจะพึงตราเป็นกฎมณเฑียรบาล จึงถือว่าเป็นกฎมณเฑียรบาลด้วยเช่นกัน[10]
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการออกประกาศว่าด้วยพระราชนิยมในเรื่องต่าง ๆ อันมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนปฏิบัติ ประกาศบางเรื่องว่าด้วยความประพฤติของข้าราชการในราชสำนัก เช่น ประกาศ จ.ศ. ๑๒๑๖ ว่าด้วยเวลากราบทูลข้อราชการและกิจธุระ ประกาศ จ.ศ. ๑๒๑๗ ว่าด้วยห้ามมิให้เรือที่โดยเสด็จตัดกระบวน ประกาศ จ.ศ. ๑๒๑๙ ว่าด้วยการยิงกระสุนทางเสด็จพระราชดำเนิน เป็นต้น ซึ่งประกาศเหล่านี้บางฉบับถือว่าเป็นกฎมณเฑียรบาลได้ [11]
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกธรรมเนียมหมอบกราบเวลาเข้าเฝ้า เรียกกันโดยทั่วไปว่ากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ นอกจากนี้ ยังมี ประกาศพระบรมราชโองการห้ามคนแต่งกายไม่สมควรมิให้เข้ามาในพระราชฐานที่เสด็จออก ซึ่งนับว่าเป็นกฎมณเฑียรบาลอีกฉบับหนึ่ง[12]
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงกำหนดเขตพระราชฐานว่าที่ใดเป็นที่รโหฐานอันข้าราชการจะเข้าไปมิได้ โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยที่รโหฐานในพระราชสำนัก ซึ่งถือเป็นกฎมณเฑียรบาลฉบับหนึ่งด้วย และหลังจากนั้นก็ได้มีการตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นอีกหลายฉบับ เช่น กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการค้าขายแลการสมาคมแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ และที่สำคัญก็คือ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เป็นต้น[13]
ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ภายหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ได้มีการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสพระราชวงศ์ แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๔๗๕ โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร มีประธานคณะกรรมการราษฎรเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโอการ[14]
เนื้อหากฎมณเทียรบาล
เนื้อหาสาระกฎมณเทียรบาลจะเกี่ยวข้องกับเรื่องต่อไปนี้
๑. สถานภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์และความศักดิ์สิทธิ์ของมณเทียรสถาน
๒. สัญลักษณ์แห่งกษัตริยภาพ อันได้แก่ เครื่องราชประโภค ราชาศัพท์ ช้างสำคัญ ม้าสำคัญ
๓. มาตรการรักษาความปลอดภัยแห่งองค์พระมหากษัตริย์และฝ่ายใน
๔. กิจวัตรประจำวันที่พระมหากษัตริย์ต้องทรงปฏิบัติ (พระราชานุกิจ/พระราชนุกิจ)
๕. สถานภาพเจ้านายฝ่ายหน้า
๖. สถานภาพเจ้านายฝ่ายใน
๗. สถานภาพลูกขุน ข้าทูลละออง ข้าราชการ
๘. สถานภาพข้าทูลละอองฝ่ายใน
๙. พระราชนิยมด้านปกครองและอื่น ๆ
๑๐. พระราชพิธี
๑๑. อัยการพระราชสงคราม
๑๒. กฎระเบียบเมื่อเข้าเฝ้า
๑๓. กฎเมื่อแขกเมืองมาเข้าเฝ้าถวายบังคม
กฎมณเทียรบาลหรือกฎมณเฑียรบาล ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนี้[15]
๑. กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก
๒. ประกาศเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนักพระพุทธศักราช ๒๔๕๗
๓. กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบคัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก เพิ่มเติม (ครั้งที่ ๓)
๔. กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยข้าราชการในพระราชสำนักเพิ่มเติม
๕. กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการค้าขายและสมาคมแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก
๖. กฎมณเฑียรบาลเพิ่มเติม
๗. กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์
๘. กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕
๙. กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
ในบรรดากฎมณเฑียรบาลที่กล่าวมาทั้งหมด กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เป็นกฎมณเฑียรบาลซึ่งถือว่าสำคัญที่สุดและบุคคลทั่วไปเข้าใจว่า หากมีการกล่าวถึงกฎมณเฑียรบาล ก็จะหมายถึงเฉพาะกฎมณเฑียรว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์เท่านั้น
บทสรุป
ตราบใดที่ราชอาณาจักรไทยยังคงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประมุขของรัฐ กฎมณเทียรบาล ก็ยังคงดำรงอยู่สืบไปอันแสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ของชาติไทยได้เป็นอย่างดีและอาจจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมืองตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป
อ้างอิง
- ↑ วินัย พงศ์ศรีเพียร บรรณาธิการ. กฎหมายตราสามดวง : หน้าต่างสังคมไทย มีนาคม ๒๕๔๙, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), หน้า ๒๓
- ↑ วิษณุ เครืองาม. กฎมณเทียรบาลในระบบกฎหมายไทย, สถาบันพระปกเกล้า, ๒๕๕๓, หน้า ๖
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๙
- ↑ D.B Bradley. อัขราภิธานศรับท์ (Dictionary of the Siamese Language), ค.ศ.๑๘๗๓, หน้า ๑๕๒, อ้างถึงใน ปรีดี พิศภูมิวิถี. กฎมณเทียรบาล : ความสำคัญ โครงสร้างและเนื้อหา, ใน วินัย พงศ์ศรีเพียร บรรณาธิการ. กฎมณเทียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ผลงานวิจัย, กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามลดา, ๒๕๔๘, หน้า ๒๖๔
- ↑ ศรีพจน์ภาษาไทย์ ไทย-ฝรั่งเศส –อังกฤษ ฉบับบิชอบ J.LVey, ค.ศ.๑๘๙๖, อ้างถึงใน ปรีดี พิศภูมิวิถี. กฎมณเทียรบาล : ความสำคัญ โครงสร้างและเนื้อหา, ใน วินัย พงศ์ศรีเพียร บรรณาธิการ. กฎมณเทียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ผลงานวิจัย, กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามลดา, ๒๕๔๘, หน้า ๒๖๔ – ๒๖๕
- ↑ เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๖๕
- ↑ เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๖๕
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพ : บริษัท ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๖. หน้า ๔
- ↑ วินัย พงศ์ศรีเพียร บรรณาธิการ. กฎหมายตราสามดวง : หน้าต่างสังคมไทย, มีนาคม ๒๕๔๙, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
- ↑ เรื่องเดียวกัน. หน้า ๓๗ – ๔๖
- ↑ เรื่องเดี่ยวกัน. หน้า ๓๘
- ↑ เรื่องเดี่ยวกัน. หน้า ๓๘ – ๔๐
- ↑ เรื่องเดี่ยวกัน. หน้า ๔๐ – ๔๔
- ↑ วินัย พงศ์ศรีเพียร. กฎหมายตราสามดวง : หน้าต่างสังคมไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามลดา, ๒๕๔๙. หน้า ๒๓
- ↑ กฎมณเทียรบาล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http:// www.krisdika.go.th/wps/portal/general สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๗)
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
๑. วินัย พงศ์ศรีเพียร. กฎมณเทียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ผลงานวิจัย, กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามลดา, ๒๕๔๘.
๒. วินัย พงศ์ศรีเพียร. กฎหมายตราสามดวง : หน้าต่างสังคมไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามลดา, ๒๕๔๙.
๓. วิษณุ เครืองาม. กฎมณเฑียรบาลในระบบกฎหมายไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพ : สถาบันพระปกเกล้า, ๒๕๕๓.
บรรณานุกรม
๑. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพ : บริษัท ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๖.
๒. วินัย พงศ์ศรีเพียร. กฎหมายตราสามดวง : หน้าต่างสังคมไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามลดา, ๒๕๔๙.
๓. วิษณุ เครืองาม. กฎมณเฑียรบาลในระบบกฎหมายไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพ : สถาบันพระปกเกล้า, ๒๕๕๓.
๔. D.B Bradley. อัขราภิธานศรับท์ (Dictionary of the Siamese Language), ค.ศ.๑๘๗๓, หน้า ๑๕๒, อ้างถึงใน ปรีดี พิศภูมิวิถี. กฎมณเทียรบาล : ความสำคัญ โครงสร้างและเนื้อหา, ใน วินัย พงศ์ศรีเพียร บรรณาธิการ. กฎมณเทียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ผลงานวิจัย, กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามลดา, ๒๕๔๘.
๕. ศรีพจน์ภาษาไทย์ ไทย-ฝรั่งเศส –อังกฤษ ฉบับบิชอบ J.LVey, ค.ศ.๑๘๙๖, อ้างถึงใน ปรีดี พิศภูมิวิถี. กฎมณเทียรบาล : ความสำคัญ โครงสร้างและเนื้อหา, ใน วินัย พงศ์ศรีเพียร บรรณาธิการ. กฎมณเทียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ผลงานวิจัย, กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามลดา, ๒๕๔๘
๖. กฎมณเทียรบาล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http:// www.krisdika.go.th/wps/portal/general สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๗)