กฎของดูเวอร์เจอร์
กฎของดูเวอร์เจอร์
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
ความหมาย
“กฎของดูเวอร์เจอร์” เป็นคำอธิบายของนักรัฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่ชื่อเมอริช ดูเวอร์เจอร์ (Maurice Duverger) ที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ของระบบการเลือกตั้งและกระบวนการเลือกตั้ง กับระบบพรรคการเมือง โดยดูเวอร์เจอร์อธิบายไว้เป็น 2 แนวทาง ได้แก่ (1) ระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค (Two-party System) เกิดจากการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากอย่างง่าย (Simple Majority System) ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่มีคะแนนเสียงสูงสุดเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง และมีการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว (Single Ballot) และ (2) ระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรค (Multi-party System) เกิดจากการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากอย่างง่าย (Simple Majority System) ที่มีการใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ (Second Ballot) หรือเป็นการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Proportional Representation)
ที่มาและคำอธิบายของดูเวอร์เจอร์
กฎของดูเวอร์เจอร์นั้น มาจากคำอธิบายของเมอริช ดูเวอร์เจอร์ (Maurice Duverger) นักรัฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ในงานเขียนที่ชื่อว่า “Political parties : their organization and activity in the modern state” ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1954 โดยดูเวอร์เจอร์เสนอไว้เป็น 2 แนวทาง ได้แก่
แนวทางที่ 1 การเกิดขึ้นของระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค (Two-party System) สัมพันธ์กับระบบการเลือกตั้งในรูปแบบเสียงข้างมากอย่างง่าย (Simple Majority System) ที่กำหนดให้ผู้ที่มีคะแนนเสียงสูงสุดเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง และมีการแบ่งเขตการเลือกตั้งโดยใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว (Single Ballot)
ขณะที่แนวทางที่ 2 อธิบายถึงการเกิดขึ้นของระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรค (Multi-party System) ที่สัมพันธ์กับระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากอย่างง่าย (Simple Majority System) แต่เป็นการใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ (Second Ballot) รวมทั้งสัมพันธ์กับการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Proportional Representation) ด้วย[1]
นอกจากนี้ ดูเวอร์เจอร์ยังอธิบายว่าการกำหนดเขตเลือกตั้งก็เป็นปัจจัยสำคัญ โดยในเขตเลือกตั้งขนาดเล็กที่มีผู้ได้รับเลือกเพียงคนเดียว (Single Member District) จะมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคเช่นกัน เนื่องจากผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งจะได้ที่นั่งนั้นไปโดยไม่จำเป็นต้องได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาด หรือคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งในการเลือกตั้ง ดังนั้น จำนวนที่นั่งที่พรรคการเมืองได้ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับคะแนนเสียงที่แท้จริงที่พรรคการเมืองนั้นได้รับในการเลือกตั้ง ตัวอย่างเช่น ในกรณีของเขตเลือกตั้งหนึ่ง ๆ มีพรรคการเมืองลงรับสมัครเลือกตั้ง จำนวน 6 พรรค ได้แก่ พรรค A พรรค B พรรค C พรรค D พรรค E และพรรค F ปรากฏว่า พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง คือ พรรค C ได้คะแนนเสียง 30% ของผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งหมด ขณะที่ผู้ที่ไม่เลือกพรรค C มีมากถึง 70% ลักษณะเช่นนี้ ส่งผลให้เกิดสภาวะที่พรรคการเมืองได้รับชัยชนะจะมีจำนวนที่นั่งเกินจริง (Over-represent) ขณะที่พรรคการเมืองที่เหลือจะได้จำนวนที่นั่งน้อยเกินจริง (Under-represent) ซึ่งมีการเรียกกันว่าเป็น “คะแนนเสียงตกน้ำ” ซึ่งต่างจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่นำเอาคะแนนทั้งหมดที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้รับเพื่อนำมาคิดสัดส่วนเปรียบเทียบระหว่างคะแนนเสียงที่ได้รับกับจำนวนที่นั่งที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะได้รับในการเลือกตั้งนั้น[2]
จากแนวความคิดดังกล่าว ดูเวอร์เจอร์เชื่อว่าสภาวะที่เกิดขึ้นจากการคำนวณคะแนนของระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากอย่างง่าย (Simple Majority System) ได้กำหนดพฤติกรรมของพรรคการเมืองในกระบวนการก่อนการเลือกตั้ง (Pre-electoral Process) โดยจะทำให้พรรคการเมืองที่มีจุดยืนใกล้เคียงกัน ตัดสินใจที่จะรวมเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับการเลือกตั้ง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับฝ่ายตรงข้าม เพราะหากแยกกันเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายๆ พรรคนั้น จะทำให้คะแนนของพรรคการเมืองขนาดเล็กแต่ละพรรคมีไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล แต่หากพรรคการเมืองขนาดเล็กเหล่านั้นรวมตัวกันแล้วจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ลงแข่งขัน ก็อาจมีจำนวนที่นั่งมากพอในการจัดตั้งรัฐบาล และยังช่วยลดปัญหาจำนวนที่นั่งน้อยเกินจริง (Under-represent) ออกไปได้[3]
แต่กระนั้น กฎของดูเวอร์เจอร์ก็ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากอย่างง่าย (Simple Majority System) จะทำให้เกิดระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคอย่างสมบูรณ์ ดังจะเห็นได้จากกรณีของพรรคการเมืองในประเทศอังกฤษที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ จึงต้องมีการดึงเอาพรรคการเมืองที่สามเข้ามาเป็นตัวแปรที่จะช่วยให้พรรคการเมืองได้เป็นรัฐบาล โดยเป็นรัฐบาลผสม (Coalition Government) ซึ่งต้องอาศัยพรรคการเมืองอื่นๆ เข้ามาร่วม เช่น พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrat Party) พรรคชาตินิยมสก๊อตแลนด์ (Scottish National Party) เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้พรรคการเมือง มีการจับขั้วกันเป็นรัฐบาลโดยลดความสำคัญของอุดมการณ์พรรคลงไป ทำให้พรรคที่มีจุดยืนแบบกลาง-ขวา (Centre-right) สามารถข้ามไปจับขั้วกับพรรคที่มีจุดยืนแบบกลาง-ซ้าย (Centre-left) ได้ เพื่อให้ได้เป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล ดังที่เคยปรากฏในการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 2010 ที่พรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) ที่มีจุดยืนทางการเมืองกลาง-ขวา ซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง หากแต่มีจำนวน ส.ส. เพียง 306 คน จากจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 650 คน ดังนั้น พรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) จึงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrat Party) ซึ่งเป็นพรรคที่มีจุดยืนแบบกลางถึง กลาง-ซ้าย และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศอังกฤษต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม[4]
“ระบบพรรคการเมือง” ตามคำอธิบายของดูเวอร์เจอร์
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า กฎของดูเวอร์เจอร์นั้น เป็นการอธิบายความสัมพันธ์ของระบบการเลือกตั้ง และกระบวนการเลือกตั้ง กับระบบพรรคการเมือง ซึ่งดูเวอร์เจอร์ได้จำแนกระบบพรรคการเมืองออกเป็น 2 ประเภท โดยใช้เกณฑ์จำนวนของพรรคการเมืองที่มีบทบาทในระบบการเมืองเป็นหลัก กล่าวคือ (1) ระบบสองพรรค (Two-party System) และ (2) ระบบหลายพรรค (Multi-party System)
(1) ระบบสองพรรค (Two-party System) เป็นระบบที่เกิดขึ้นจากการมีระบบการเลือกตั้ง แบบเสียงข้างมาก (Majoritarian System) ทำให้เกิดพรรคการเมืองขนาดใหญ่ 2 พรรค ที่สลับกันได้รับ ชัยชนะโดยได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด และสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้[5]
(2) ระบบหลายพรรค ('Multi-party System) เป็นระบบพรรคการเมืองที่มีพรรคตั้งแต่สามพรรคขึ้นไปในระบบการเมือง โดยพรรคการเมืองทั้งหมดนั้น มีศักยภาพในการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลทั้งสิ้น โดยในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น จะทำให้เกิดรัฐบาลผสม (Coalition Government) ที่เกิดจากการรวบรวมพรรคการเมืองต่างๆ มาเป็นรัฐบาล ซึ่งระบบดังกล่าวทำให้มีพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมาก และอาจนำไปสู่การ ไร้เสถียรภาพของรัฐบาลได้ โดยประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองในลักษณะนี้มักจะมีปัจจัยที่สำคัญอื่นๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน เช่น ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความหลากหลายทางความคิด เป็นต้น[6]
ระบบการเลือกตั้งที่สำคัญๆ ตามคำอธิบายของดูเวอร์เจอร์
แม้ว่าดูเวอร์เจอร์จะอธิบายถึงระบบพรรคการเมืองเป็นสำคัญ แต่คำอธิบายดังกล่าวก็อยู่บนความสัมพันธ์กับ “ระบบการเลือกตั้ง” และ “กระบวนการเลือกตั้ง” ซึ่งในส่วนนี้จะนำเสนอเฉพาะระบบ การเลือกตั้งเป็นหลัก และจะนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งในส่วนต่อๆ ไป สำหรับระบบ การเลือกตั้งนั้น มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทใหญ่ กล่าวคือ ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมาก (Majoritarian System) และระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Proportional Representation)[7]
ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมาก ('Majoritarian System) เป็นระบบการเลือกตั้งที่เก่าแก่ที่สุด และมีความซับซ้อนน้อยที่สุด จึงทำให้เป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุด โดยแบ่งย่อยออกเป็น 2 ระบบ ได้แก่
(1) ระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากอย่างง่าย (Simple Majority System) ที่ถือว่าผู้ที่ชนะการเลือกตั้งนั้น คือ ผู้ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดเท่านั้น และ
(2) ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด (Absolute Majority System) ที่ถือว่าผู้ชนะการเลือกตั้งจะต้องมีคะแนนเสียงมากที่สุดและคะแนนเสียงนั้นจะต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมดด้วย และเป็นที่มาของระบบการเลือกตั้งย่อยที่เน้นคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด อาทิ ระบบการเลือกตั้งสองรอบ (Two Round System)
ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Proportional Representation) เป็นระบบการเลือกตั้งที่ใช้ การแบ่งเขตการเลือกตั้งออกเป็นเขตใหญ่หรือใช้เขตเลือกตั้งขนาดกลาง ที่มีตัวแทนได้หลายคน โดยพรรคการเมืองจะต้องจัดทำบัญชีผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่เกินจำนวนตัวแทนในเขตนั้นๆ ระบบการเลือกตั้งรูปแบบนี้ ไม่ก่อให้เกิดกรณีผู้ชนะแบบเบ็ดเสร็จ (Winner take all) และทุกพรรคการเมืองมีโอกาสได้คะแนนเสียงเช่นกัน โดยกำหนดให้มีการแบ่งสัดส่วนที่นั่งที่พรรคการเมืองต่างๆ จะได้รับ ตามคะแนนเสียงที่พรรคนั้นๆ ได้ โดยอาจจะมีการกำหนดเกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำเอาไว้ อาจจะอยู่ที่ร้อยละ 5 หรือร้อยละ 3 หรือไม่กำหนดเลยก็ได้ ซึ่งจะทำให้ได้พรรคการเมืองที่มีบทบาทในระบบการเมืองที่มีจำนวนหลากหลายมากขึ้น
‘การคำนวณคะแนนเสียง’ กับความสำคัญต่อกฎของดูเวอร์เจอร์
จากกฎของดูเวอร์เจอร์นั้นทำให้เห็นได้ว่า การออกแบบระบบการเลือกตั้งมีความสำคัญในการกำหนดระบบพรรคการเมือง ซึ่งดูเวอร์เจอร์แบ่งระบบพรรคการเมืองออกเป็น 2 ระบบ ได้แก่ ระบบสองพรรค (Two-party System) และระบบหลายพรรค (Multi-party System) ซึ่งหากพิจารณาตามคำอธิบาย ของดูเวอร์เจอร์ก็จะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่กำหนดแบ่ง “ระบบพรรคการเมือง” ออกเป็นประเภทต่างๆ คือ การคำนวณคะแนนเสียง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นช่องทางที่แปรผลคะแนนเสียง (Votes) ที่ได้ ให้กลายเป็นจำนวนที่นั่ง (Seats) ในสภา โดยปัจจุบันมีสูตรการคำนวณที่สำคัญ 2 กลุ่มใหญ่ นั่นคือ วิธีแบบ Highest Average (HA) และ Largest Reminder (LR)[8]
วิธีแบบ Highest Average (HA) เป็นรูปแบบการจัดสรรที่นั่ง โดยอาศัยค่าเฉลี่ยของตัวหารมาใช้ในการแบ่งอันตรภาคชั้น (Quotient) ซึ่งมีสูตรต่างๆ เช่น สูตร d’Hondt ซึ่งได้รับความนิยมมาก หรือสูตร Pure และสูตร Modified เป็นต้น โดยแต่ละสูตรการคำนวณนั้น อาจเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองที่แตกต่างกัน โดยบางสูตรการคำนวณ ดังเช่น สูตร d’Hondt ส่งผลให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่เข้ามามีบทบาทในทางการเมือง และกาลายเป็นระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค สอดคล้องกับคำอธิบายตามกฎของดูเวอร์เจอร์ ดังนั้น การเลือกใช้สูตรที่แตกต่างกัน ย่อมทำให้ระบบพรรคการเมืองแตกต่างกันออกไป[9]
สำหรับวิธีแบบ Largest Reminder (LR) เป็นรูปแบบการจัดสรรที่นั่งในลักษณะของการใช้คะแนนเสียงทั้งหมดหารด้วยจำนวนที่นั่งทั้งหมด ซึ่งมีสูตรที่ใช้แตกต่างกัน เช่น สูตร Hare สูตร Droop สูตร Imperiali เป็นต้น โดยสูตรต่างๆ เหล่านี้ ย่อมเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนที่ต่างกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้พรรคการเมืองขนาดต่างๆ ได้รับประโยชน์ในรูปแบบที่ต่างกันตามไปด้วย[10]
สูตรการคิดคำนวณคะแนนนี้ มีส่วนสำคัญในการเลือกตั้งที่กำหนดจำนวนพรรคการเมืองในระบบพรรคการเมืองตามกฎของดูเวอร์เจอร์ เพราะการเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญต่อระบบการเมืองหลักของประเทศ โดยมีพรรคการเมืองเป็นผู้ที่อาสาเข้ามาเพื่อเป็นตัวแทนของผู้คนกลุ่มต่างๆ ของสังคม จะเห็นได้ว่าหากระบบการเลือกตั้งที่แตกต่างกันย่อมนำไปสู่ระบบพรรคการเมืองที่ต่างกันตามไปด้วย ดังที่ได้กล่าวถึงกรณีของประเทศอังกฤษที่ใช้ระบบการเลือกตั้งที่เป็นระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากอย่างง่าย (Simple Majority System) ทำให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมักจะเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ที่เป็นตัวแทนของชุดความคิดสองขั้วหลักในสังคมที่มีศักยภาพในการระดมทรัพยากรจำนวนมากได้ จึงเป็นที่มาให้เกิดระบบสองพรรค (Two-party System) เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ระบบการเลือกตั้งยังมีส่วนสำคัญในการกำหนด “ตัวแสดง (Actors)” ในทางการเมือง ทั้งตัวแสดงที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติและตัวแสดงที่เป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ออกมานั้น จะสะท้อนให้เห็นลักษณะของการจัดวางโครงสร้างของตัวแสดง แต่ละระบบออกมาอย่างชัดเจน[11]
จาก “คะแนนเสียง” สู่ “ที่นั่ง” และระบบพรรคการเมือง
กระบวนการเลือกตั้งมีหลักเกณฑ์สำคัญที่จะทำให้การเลือกตั้งนั้นเกิดความได้สัดส่วนของระหว่างคะแนนเสียง (Votes) และที่นั่ง (Seats) ซึ่งจะมีการกำหนดเกณฑ์การโอนย้ายคะแนนเสียงของประชาชน ไปเป็นจำนวนที่นั่งในสัดส่วนที่เหมาะสมอยู่ 3 ประการ[12] คือ (1) สูตรการเลือกตั้ง (Electoral Formula) (2) เขตเลือกตั้ง (District Magnitude) และ (3) เกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ (Electoral Threshold)
(1) สูตรการเลือกตั้ง (Electoral Formula) เป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากเป็นเกณฑ์ในการจัดสรรคะแนนเสียงที่ได้แปรผลให้เป็นจำนวนที่นั่งที่พรรคการเมืองพึงได้ ดังจะเห็นได้จากการแปรผลของระบบ การเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด (Absolute Majority System) ที่ต้องใช้คะแนนเสียงข้างมาก เกินกึ่งหนึ่งเพื่อชนะการเลือกตั้ง ดังเช่นปรากฏในระบบการเลือกตั้งสองรอบ (Two Round System) ของประเทศฝรั่งเศส ที่จัดให้มีการเลือกตั้ง 2 รอบ เพื่อคัดเลือกผู้สมัครที่มีคะแนนสูงสุด 2-3 คนแรก มาให้ผู้คนเลือกอีกครั้งเพื่อให้ได้คะแนนเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง ขณะที่ในระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากอย่างง่าย (Simple Majority System) ที่ใช้เพียงคะแนนเสียงสูงสุดก็ถือว่าชนะการเลือกตั้ง ซึ่งระบบนี้นิยมใช้ใน หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย[13]
(2) เขตเลือกตั้ง (District Magnitude) เป็นการกำหนด “จำนวนที่นั่ง” ที่จะมีได้ในพื้นที่หนึ่งๆ ดังเช่นการกำหนดเขตเลือกตั้งเป็นเขตประเทศ โดยกำหนดให้มีจำนวนสมาชิก 200 คน หรือการใช้เขต ขนาดเล็กที่มีตัวแทนเพียง 1 คน ดังที่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่กำหนดให้มีเขตเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต โดยมีระบบ “เขตเดียว เบอร์เดียว” ที่แบ่งประเทศออกเป็น 400 เขตเลือกตั้ง หรือดังดังที่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้มีเขตเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต โดยมีระบบ “เขตใหญ่ เรียงเบอร์” ที่แบ่งประเทศออกเป็นเขตเลือกตั้งขนาดใหญ่ มีจำนวน ส.ส. ได้เขตละ 2-3 คน[14]
(3) เกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ (Electoral Threshold) เป็นการกำหนดคะแนนขั้นต่ำที่ให้พรรคการเมืองต้องได้ เพื่อเป็นหลักประกันในการมีตัวแทนในสภา ดังที่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่กำหนดให้มีเขตเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ โดยให้พรรคการเมืองส่งบัญชีผู้สมัครของแต่ละพรรคเรียงลำดับไม่เกิน 100 คน โดยมีเกณฑ์ว่าพรรคการเมืองที่จะมี ส.ส. ประเภทนี้ได้ จะต้องมีคะแนนเสียงขั้นต่ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของคะแนนเสียงทั้งหมด จึงจะมีสิทธิที่จะมี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อได้[15]
นอกจากหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ประการนี้ ดูเวอร์เจอร์ยังอธิบายว่ายังมี 3 เงื่อนไข ที่จะกำหนดจำนวน ของพรรคการเมือง ได้แก่ (1) การลงคะแนนเสียงแบบหลากหลาย (Plurality Voting) คือ การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนกระจายให้ผู้สมัครที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนได้รับนั้น มีลักษณะกระจายตัวและใกล้เคียงกัน ซึ่งคะแนนเสียงที่ผู้ชนะการเลือกตั้งได้รับก็มีแนวโน้มที่จะเป็นคะแนนเสียงข้างมากอย่างง่ายหรือคะแนนเสียงข้างมากที่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ ขณะที่หากในเขตเลือกตั้งนั้นมีผู้สมัครเพียง 2 คน ก็จะทำให้ผู้ชนะการเลือกตั้งจะมีคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดหรือเป็นคะแนนเสียงที่เกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ (2) การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่เป็นเสียงข้างมากท่ามกลางผู้สมัครตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นปัจจัยที่จะทำให้ผู้ชนะการเลือกตั้งจะได้คะแนนเสียงข้างมากอย่างง่าย และ (3) ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Proportional Representation) เป็นปัจจัยที่ทำให้มีผู้ชนะการเลือกตั้งมาจากหลากหลายพรรคการเมือง[16]
บทสรุป
กฎของดูเวอร์เจอร์ ที่กล่าวว่าในระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากอย่างง่าย (Simple Majority System) ที่กำหนดให้ผู้ที่มีคะแนนเสียงสูงสุดเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในการแบ่งเขตการเลือกตั้งโดยใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว (Single Ballot) จะมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค (Two-party System) ขณะที่ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากอย่างง่าย (Simple Majority System) ที่มีบัตรเลือกตั้งสองใบ (Second Ballot) และใช้ระบบสัดส่วน (Proportional Representation) จะมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรค (Multi-party System) ซึ่งในการเลือกตั้งนั้น จะต้องคำนึงถึงความได้สัดส่วนของระหว่างคะแนนเสียง (Votes) และที่นั่ง (Seats) โดยผ่านสูตรการคำนวณที่เพื่อแปลงเปลี่ยนคะแนนเสียงมาเป็นที่นั่งที่พรรคการเมืองจะได้รับ รวมทั้งกระบวนการเลือกตั้งเพิ่มเติม บางประการ อาทิ เขตเลือกตั้ง (District Magnitude) และเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ (Electoral Threshold) จะเป็นปัจจัยที่กำหนดว่าในสนามการเมืองนั้นระบบพรรคการเมืองจะมีลักษณะเช่นใด
บรรณานุกรม
หนังสือ
แอนดรูว์ เรย์โนลด์สฺ เบน ไรลี และ แอนดรูว์ เอลลิส. (2555). การออกแบบระบบเลือกตั้ง: คู่มือเล่มใหม่ของ 'International IDEA'. (กรุงเทพฯ : สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล).
Electoral Reform Society. (2010). The UK General Election 2010 In-depth. (London: Electoral Reform Society).
Farrell, David M. (2001). Electoral Systems: A Comparative Introduction. (New York: Palgravel).
Heywood, Andrew. (1997). Politics. (London: Macmillan).
Lijphart, Arend. (1994).Electoral Systems and Party Systems: A Study of Twenty-seven Democracies, 1945-1990. (Oxford: Oxford University Press).
วารสาร
Benoit, Kenneth. “Duverger’s Law and the Study of Electoral Systems,” French Politics 4, (2006): 69–83.
Riker, William H. “The Two-Party System and Duverger's Law: An Essay on the History of Political Science,” The American Political Science Review 76, No. 4 (Dec., 1982): 753-766.
[1] William H. Riker, “The Two-Party System and Duverger's Law: An Essay on the History of Political Science,” The American Political Science Review 76, No. 4 (Dec., 1982): 753-766.
[2] Ibid., 753-766.
[3] Kenneth Benoit, “Duverger’s Law and the Study of Electoral Systems,” French Politics 4, (2006): 69–83.
[4] Electoral Reform Society, The UK General Election 2010 In-depth, (London: Electoral Reform Society), 10-12.
[5] Andrew Heywood, Politics, (London: Macmillan, 1997), pp. 242-243.
[6] Ibid., pp. 245-246.
[7] David M. Farrell, Electoral Systems: A Comparative Introduction, (New York: Palgravel, 2001).
[8] Arend Lijphart,Electoral Systems and Party Systems: A Study of Twenty-seven Democracies, 1945-1990, (Oxford: Oxford University Press, 1994), 57-67.
[9] Ibid., 57-67.
[10] Ibid., 57-67.
[11] แอนดรูว์ เรย์โนลด์สฺ เบน ไรลี และ แอนดรูว์ เอลลิส, การออกแบบระบบเลือกตั้ง: คู่มือเล่มใหม่ของ 'International IDEA', (กรุงเทพฯ: สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, 2555), 10-12.
[12] David M. Farrell, Ibid.
[13] Ibid.
[14] Ibid.
[15] Ibid.
[16] William H. Riker, “The Two-Party System and Duverger's Law: An Essay on the History of Political Science,” The American Political Science Review 76, No. 4 (Dec., 1982): 753-766.