คณะกรรมการประสานงานสัมพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่น

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:24, 16 สิงหาคม 2556 โดย Teeraphan (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง นิภาพร รัชตพัฒนากุล


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


คณะกรรมการประสานงานสัมพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่น

ภายหลังจากรัฐบาลไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยไปยังพม่าและคาบสมุทรมลายูในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ตัวแทนจากญี่ปุ่นได้พยายามติดต่อประสานงานกับรัฐบาลไทยในทันทีเพื่อเร่งให้ฝ่ายไทยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนทัพ โดยได้ยื่นข้อเรียกร้องหลายประการ เช่น ขอให้ฝ่ายไทยอำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยทหารญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกที่บางปูในการเคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพ ขอใช้ทางคมนาคมเพื่อความสะดวกในการขนส่ง ขอใช้ที่ทำการทางทหาร โดยในขั้นแรกรัฐบาลไทยได้ส่งตัวแทนจากกองทัพและกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมเจรจา แต่เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นต้องการความร่วมมือจากฝ่ายไทยอย่างเร่งด่วนเพื่อความได้เปรียบในสงคราม จึงได้ส่งตัวแทนเข้าเจรจากับหน่วยงานระดับย่อยโดยตรง เช่น กรมการรถไฟ ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารและคมนาคม

ดังนั้นเพื่อรับมือกับข้อเรียกร้องต่างๆ ของญี่ปุ่น ทางการไทยจึงตั้งกรรมการผสมขึ้นเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2484 มีตัวแทนจากกระทรวงต่างๆ กระทรวงละหนึ่งนายเป็นกรรมการ ยกเว้นกระทรวงกลาโหม โดยมีที่ทำการอยู่ที่หอการค้าไทย (สนามเสือป่า) คณะกรรมการผสมชุดนี้ประกอบด้วยอนุกรรมการด้านต่างๆ คือ อนุกรรมการเศรษฐกิจ อนุกรรมการรถไฟ อนุกรรมการขนส่งทางบก อนุกรรมการขนส่งทางน้ำ อนุกรรมการไปรษณีย์ และอนุกรรมการศุลกากร[1] ในส่วนภูมิภาคหากเป็นการตกลงกันในรายละเอียดปลีกย่อยผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นกับข้าหลวงประจำจังหวัดสามารถทำความตกลงกันเองได้ แต่หากเกี่ยวด้วยเรื่องหลักการใหญ่แล้วต้องติดต่อคณะกรรมการผสม

ภายหลังการลงนามใน “กติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย” ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2484 และตามด้วยการที่รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2485 ทำให้การประสานงานระหว่างรัฐบาลไทยและญี่ปุ่นซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ภารกิจที่สำคัญของคณะกรรมการผสมประการหนึ่งคือ การประสานงานการก่อสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า ซึ่งกองทัพญี่ปุ่นนั้นมีความคิดในการสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่ามาตั้งแต่เริ่มสงครามเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานเรื่องการลำเลียงในแนวหลัง แต่ข้อเสนอของกองทัพใหญ่แห่งภาคพื้นทิศใต้ในการสร้างทางรถไฟเชื่อมไทย-พม่าไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองบัญชาการสูงสุดเหล่าทัพที่โตเกียวเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ภายหลังจากการกองทัพญี่ปุ่นเริ่มประสบปัญหาการขนส่งทางทะเลที่ยากลำบากขึ้น กองบัญชาการสูงสุดที่โตเกียวจึงประเมินสถานการณ์สงครามใหม่ และมีท่าทีเห็นชอบกับโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมไทย-พม่ามากขึ้น ในที่สุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2485 ทางญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอในการจัดการเส้นทางเชื่อมต่อไทย-พม่าให้กับพันโทไชย ประทีปะเสน หัวหน้ากองอำนวยการผสมทราบ และหลังจากนั้นได้มีการประชุมกันหลายครั้งระหว่างตัวแทนฝ่ายญี่ปุ่นกับไทย [2]

นอกเหนือจากการประสานงานการสร้างทางรถไฟยังมีการประสานงานในด้านอื่นๆ เช่น การประสานงานระหว่างตำรวจไทยกับสารวัตรทหารญี่ปุ่นในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคลที่อยู่ในบังคับกฎหมายไทยกับทหารญี่ปุ่น[3] การประสานงานในด้านการโฆษณาของอนุกรรมการโฆษณาโดยเฉพาะการควบคุมข่าวสารที่ส่งผลเสียต่อญี่ปุ่นและการประชาสัมพันธ์ความเจริญก้าวหน้าและชัยชนะของญี่ปุ่นในสนามรบต่างๆ

สถานการณ์สงครามตลอดช่วงระยะเวลาสี่ปีนั้นเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่น ดังนั้นตั้งแต่กลาง พ.ศ. 2486 จนกระทั่งญี่ปุ่นยอมแพ้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2488 ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายตั้งรับนั้น นับเป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารและภารกิจของการประสานงานระหว่างไทย-ญี่ปุ่นด้วย

ปลายปี 2485 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งกระทรวงมหาเอเชียบูรพาขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่ดูแลกิจการที่สัมพันธ์กับดินแดนต่างๆ ในวงไพบูลย์ร่วมกันแห่งมหาเอเชียบูรพา การจัดตั้งกระทรวงดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลไทยเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากการที่กิจการที่เกี่ยวกับประเทศไทยต้องเข้าไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาเอเชียบูรพาเช่นเดียวกับแมนจูก๊กและจีนที่มีรัฐบาลหุ่นของญี่ปุ่นปกครองอยู่นั้น ทำให้สถานะของไทยเปรียบเสมือนประเทศที่อยู่ในการควบคุมของญี่ปุ่น นอกจากนั้นกองทัพญี่ปุ่นยังได้ส่งกองพลทหารรถไฟที่ 9 เข้ามาปฏิบัติภารกิจภายหลังจากญี่ปุ่นเริ่มวางโครงการสร้างทางรถไฟเชื่อมไทย-พม่า ตามมาด้วยการจัดตั้ง“กองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย” ขึ้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2486 ภายใต้การบังคับบัญชาของพลโทนากามุระ อาเคโตะ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่ซับซ้อนมากขึ้นภายหลังการปรับเปลี่ยนหน่วยงานต่างๆ ของญี่ปุ่น ทำให้ฝ่ายไทยต้องปรับหน่วยงานในการประสานงานกับกองทัพญี่ปุ่นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยในวันที่ 18 มีนาคม 2486 ได้ยกฐานะ “กองอำนวยการคณะกรรมการผสม” เป็น “กรมประสานงานพันธมิตร” ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการทหารสูงสุด โดยมีพันเอก ไชย ประทีปะเสน คณะราษฎรสายทหารบกเป็นเจ้ากรม[4] ในเรื่องของชื่อกรมนั้นทางการไทยได้ให้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Department of Alliance” แปลเป็นไทยว่า “กรมประสานงานพันธมิตร” ทั้งนี้เพื่อลดภาวะผูกมัดจากชื่อกรม แต่ทางญี่ปุ่นยังคงเรียกหน่วยงานนี้ว่า “กรมประสานงานไทย-ญี่ปุ่น” จนกระทั่งต้นปี 2488 จึงเปลี่ยนเป็น “กรมประสานงานพันธมิตร”[5]

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญซึ่งมีผลต่อการปรับเปลี่ยนทิศทางของกรมประสานงานพันธมิตรเกิดขึ้นอีกครั้งภายหลังจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 24 กรกฎาคม 2487 โดยนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ทำให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารภายในของกรมประสานงาน ตลอดจนมีการเพิ่มเติมช่องทางในการประสานงานในส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นมีกำลังกระจายตัวอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเริ่มจากการตั้งหน่วยการประสานงานพันธมิตรภาคใต้ขึ้นในต้นปี พ.ศ. 2488 ตามมาด้วยการจัดตั้งหน่วยงานในลักษณะเดียวกันที่ภาคอีสานและภาคเหนือตามลำดับ[6] และในช่วงสี่เดือนสุดท้ายก่อนที่ญี่ปุ่นจะประกาศยอมแพ้กรมประสานงานพันธมิตรถูกย้ายไปอยู่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง

เหตุผลในการยกสถานะของ “คณะกรรมการผสม” เป็น “กรมประสานงานพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่น” นั้น นอกจากเป็นการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่รัฐบาลญี่ปุ่นปรับโครงสร้างการบริหารงานส่วนกลางที่เกี่ยวกับประเทศไทยด้วยการรวมกิจการของไทยเข้าไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาเอเชียบูรพาที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ตลอดจนการจัดตั้งกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และการส่งกำลังทหารเข้ามาในไทยมากขึ้นภายหลังจากญี่ปุ่นเริ่มเป็นฝ่ายตั้งรับในสงครามแล้วนั้น ในบันทึกของนายพลนากามุระ อาเคโตะยังตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดตั้งกรมประสานงานพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่นว่าเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาทรัพย์สินของกองทัพอังกฤษที่สำคัญคือ ไม้สัก ซึ่งอังกฤษได้ผลประโยชน์จากการค้าไม้มานาน ซึ่งปัญหาสำคัญที่ว่านี้คือการตกลงกันว่าทรัพย์สินดังกล่าวควรจะเป็นกรรมสิทธิ์ของไทยหรือญี่ปุ่น หรือฝ่ายใดจะใช้ประโยชน์ได้บ้าง ซึ่งยังไม่ได้มีการตกลงกันอย่างแน่ชัด จึงได้มีการตั้งกรมประสานงานพันธมิตรขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว[7] อย่างไรก็ตามยังไม่มีงานศึกษาที่อธิบายข้อสังเกตนี้แต่อย่างใด

ที่มา

ดำริห์ เรืองสุธรรม. ขบวนการแรงงานไทยในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2544.

ทวี ธีระวงศ์เสรี. สัมพันธภาพทางการเมืองระหว่างไทยกับญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2524.

นงลักษณ์ ลิ้มศิริ. ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จากงานค้นคว้าวิจัยของนักวิชาการญี่ปุ่น-ตะวันตก-ไทย : บทสำรวจสถานภาพแห่งความรู้. กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549

นิภาพร รัชตพัฒนากุล. “ไทย-ญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม: บางแง่มุมจากกิจกรรมทางวัฒนธรรม” วารสารธรรมศาสตร์. 27:1 (ธันวาคม 2547): 140-166

โยชิกาวา โทชิฮารุ. สัญญาไมตรี ญี่ปุ่น-ไทย สมัยสงคราม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550.

พรรณี บัวเล็ก. จักรวรรดินิยมญี่ปุ่นกับพัฒนาการทุนนิยมไทย : ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1-2 (พ.ศ.2457-2484). กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2540.

พวงทิพย์ เกียรติสหกุล. “กองทัพญี่ปุ่นกับทางรถไฟสายใต้ของไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพาระหว่าง พ.ศ.2484-2488.” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (สาขาประวัติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547.

สายหยุด เกิดผล. มองญี่ปุ่นไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดบันทึกพลเอกสายหยุด เกิดผล พ.ศ.2484-2488. กรุงเทพฯ : อาร์ต โปรดักชั่น. 2550

อาเคโตะ นากามูระ. ผู้บัญชาการชาวพุทธ ความทรงจำของนายพลนากามูระเกี่ยวกับเมืองไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546

อ้างอิง

  1. พวงทิพย์ เกียรติสหกุล, “กองทัพญี่ปุ่นกับทางรถไฟสายใต้ของไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพาระหว่าง พ.ศ.2484-2488.” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (สาขาประวัติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 77.
  2. โยชิกาวา โทชิฮารุ, ทางรถไฟสายไทย-พม่าในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2538), หน้า49-56.
  3. เรื่องเดียวกัน, หน้า 150.
  4. สายหยุด เกิดผล, มองญี่ปุ่นไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดบันทึกพลเอกสายหยุด เกิดผล พ.ศ.2484-2488, (กรุงเทพฯ : อาร์ต โปรดักชั่น, 2550), หน้า 73.
  5. โยชิกาวา โทชิฮารุ, ทางรถไฟสายไทย-พม่าในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา, หน้า 160-161.
  6. โยชิกาวา โทชิฮารุ, สัญญาไมตรี ญี่ปุ่น-ไทย สมัยสงคราม, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2550), หน้า 170-171.
  7. อาเคโตะ นากามูระ, ผู้บัญชาการชาวพุทธ ความทรงจำของนายพลนากามูระเกี่ยวกับเมืองไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2546), หน้า 48.