กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
ผู้เรียบเรียง ชาย ไชยชิต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ความเป็นมาของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคกรเมือง เป็นรูปแบบหนึ่งของการสนับสนุนพรรคการเมืองโดยรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 บทเฉพาะกาล มาตรา 328 ได้บัญญัติให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จะต้องมีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับการสนับสนุนุพรรคการเมืองโดยรัฐ ได้แก่ การสนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาสาขาพรรคโดยรัฐ รวมทั้งการสนับสนุนทางการเมืองหรือประโยชน์อย่างอื่นแก่พรรคการเมือง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 56 ได้กำหนดให้มีกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งนี้ โดยให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินงานของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2541 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 59 มาตรา 61 มาตรา 62 มาตรา 63 และมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองไว้
ประการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2542 ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินตามจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมือลตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2541
ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กองทุนพัฒนาพรรคการเมือง (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2543 ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ และในกรณีที่มีความจำเป็น คณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง อาจกำหนดระยะเวลาการยื่นแผนงานและโครงการของพรรคการเมืองและการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายในแต่ละปีให้แตกต่างจากระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2541
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายในการสนับสนุนพรรคการเมืองและการดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับการพัฒนาพรรคการเมืองตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดกรอบการใช้จ่ายเงินของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง จะต้องใช้จ่ายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ดังนี้
- (1) สนับสนุนการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมืองตามโครงการและแผนงานของแต่ละพรรคการเมือง โดยการสนับสนุนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60 แต่ไม่เกินร้อยละ 80 ของวงเงินรายจ่ายในแต่ละปี
- (2) การดำเนินการพัฒนาพรรคการเมืองของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
- (3) เป็นทุนในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาพรรคการเมือง
- (4) การสนับสนุนค่าไปรษณียากร ค่าสาธารณูปโภค และด้านอื่น ๆ แก่พรรคการเมือง เพื่อดำเนินกิจการในทางการเมือง
- (5) การบริหารกองทุน
- (6) การอื่นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
รายได้ของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
รายได้ของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ประกอบด้วย
- (1) เงินที่ได้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี
- (2) เงินค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541
- (3) เงินค่าปรับที่ได้รับจากการลงโทษผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541
- (4) เงินหรือทรัพย์สินที่พรรคการเมืองได้รับ โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541
- (5) เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุน ตามมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541
- (6) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้เพื่อสมทบกองทุน
- (7) เงินดอกผลของกองทุน และ
- (8) เงินรายรับอื่น
คณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
ในการดำเนินงานของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองนั้น กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมือง และควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินกองทุน โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งทำหน้าที่แทนเรียกว่า “คณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง” ประกอบด้วย
1) นายทะเบียนพรรคการเมือง | ประธานกรรมการ |
2) กรรมการการเลือกตั้ง 1 คน ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย | กรรมการ |
3) ผู้แทนกระทรวงการคลัง 1 คน | กรรมการ |
4) ผู้แทนสำนักงบประมาณ 1 คน | กรรมการ |
5) ผู้แทนพรรคการเมืองที่มีสมาชิกในสังกัดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เลือกันเอง จำนวน 3 คน | กรรมการ |
6) ผู้แทนพรรคการเมืองซึ่งไม่มีสมาชิกในสังกัดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเลือกกันเองจำนวน 1 คน | กรรมการ |
7) เลขาธิกากรคณะกรรมการการเลือกตั้ง | กรรมการและเลขานุการ |
อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
คณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
- (1) จัดสรรเงินกองทุน ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
- (2) ควบคุม ดูแล การใช้จ่ายเงินของกองทุน
- (3) นำเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนไปหาดอกผล
- (4) เสนอแนะแนวทางในการพัฒนาพรรคการเมือง
- (5) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการบริหารกองทุน
- (6) ติดตาม ประเมินผล ตรวจสอบ และประชาสัมพันธ์การปฏิบัติงานตามโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน
- (7) รายงานผลการดำเนินการประจำปีให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ
- (8) แต่งตั้งบุคคล คณะบุคคล หรือคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาและเสนอความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด
- (9) ออกระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือมติตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง และ
- (10) ดำเนินงานอื่นใดที่เกี่ยวกับการพัฒนาพรรคการเมืองตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย
หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
การจัดสรรเงินของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองให้แก่พรรคการเมือง ประจำปี 2545 และ 2546 ได้ดำเนินการใน 2 ลักษณะดังนี้
- (1) การสนับสนุนการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมืองตามโครงการและแผนงานของแต่ละพรรคการเมือง
- (2) การสนับสนุนค่าไปรษณียากร ค่าสาธารณูปโภค และด้านอื่น ๆ แก่พรรคการเมืองเพื่อดำเนินการทางการเมือง
การสนับสนุนการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมืองตามโครงการและแผนงาน
กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุน ดังนี้
(1) ภายในเดือนสิงหาคมของทุกปี พรรคการเมืองที่มีสิทิขอรับการสนับสนุนจะต้องจัดทำโครงการและแผนงานในการดำเนินกิจการของตนในรอบปีถัดไป พร้อมรายการที่ใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการจัดสรรเงินสนับสนุนพรรคการเมืองตามแบบที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองกำหนด ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อเสนอขอรับการจัดสรรเงินจากกองทุนในรอบปีถัดไป
(2) คณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง เสนอวงเงินของกองทุนที่จะจัดสรรเพื่อใช้จ่ายในปีถัดไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาให้ความเห็นชอบ ภายในเดือนตุลาคมของแต่ละปี
(3) วงเงินของกองทุนที่จะจัดสรรจะต้องจัดสรรเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบ แต่ไม่เกินร้อยะแปดสิบของวงเงินรายจ่ายในแต่ละรอบปี
(4) พรรคการเมืองที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรเงินสนับสนุนจากกองทุน ต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีลักษณะดังนี้
4.1) เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับการจดแจ้งการจัดตั้งจากนายทะเบียนพรรคการเมือง และได้ดำเนินการให้มีสมาชิกพรรคการเมืองอย่างน้อย 5,000 คน และสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อย 4 สาขา ภาคละ 1 สาขา ครบถ้วนตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541
4.2) ต้องเป็นพรรคการเมืองที่ไม่อยู่ในระหว่างที่นายทะเบียนพรรคการเมือง หรืออัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองดังกล่าว ตามมาตรา 65 มาตรา 66 และมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541
4.3) ยื่นโครงการและแผนงานภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองกำหนด
(5) หลักเกณฑ์การจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองตามโครงการและแผนงานในแต่ละปี เมื่อกำหนดวงเงินของกองทุนที่จะใช้จ่ายแล้ว คณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง จะต้องจัดสรรเงินตามหลักเกณฑ์ดังนี้
- หลักเกณฑ์ที่ 1 จัดสรรตามจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองเท่าที่มีอยู่ร้อยละสามสิบห้า
- หลักเกณฑ์ที่ 2 จัดสรรตามจำนวนคะแนนเสียงจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่พรรการเมืองได้รับในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุด ร้อยละสามสิบ
- หลักเกณฑ์ที่ 3 จัดสรรตามจำนวนสมาชิกของพรรคการเมือง ร้อยละยี่สิบ ให้ถือตามจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองซึ่งพรรคการเมืองตรวจสอบและรับรองความถูกต้องแล้วที่แจ้งต่อนายทะเบียนในวันที่ยื่นโครงการและแผนงานเสนอขอรับการจัดสรรเงินสนับสนุน
- หลักเกณฑ์ที่ 4 จัดสรรตามจำนวนสาขาพรรคการเมือง ร้อยละสิบห้า ให้ถือตามจำนวนสาขาพรรคการเมืองที่นายทะเบียนรับรองการจัดตั้งแล้วในวันที่ยื่นโครงการและแผนงานเสนอขอรับการจัดสรรเงินสนับสนุน กรณีที่พรรคการเมืองใดมีสาขาพรรคการเมองในเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่งมากกว่าหนึ่งสาขาให้นำสาขาพรรคการเมืองของแต่ละพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งมาคำนวณเพียงสาขาเดียว
(6) การจัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง คณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองได้กำหนดให้พรรคการเมือง ดำเนินการตามแผนงานและกำหนดสัดส่วนการใช้จ่ายในแต่ละแผนงาน ดังนี้ แผนงานการบริหารพรรคการเมือง และแผนงานการบริหารสาขาพรรคการเมือง รวมกันไม่เกินร้อยละ 30 แผนงานการส่งเสริมสมาชิกพรรคการเมืองและการหาสมาชิกเพิ่ม ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 15 แผนงานการใช้จ่ายเงินในการเลือกตั้ง (ในปี 2545 และ 2546 ไม่มีการจัดสรรเงินตามแผนงานนี้) แผนงานการให้ความรู้ทางการเมืองแก่สมาชิกและประชาชนทั่วไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 แผนงานการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 และแผนงานด้านอื่น ๆ
หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินค่าไปรษณียากรและค่าสาธารณูปโภค
หลักเกณฑ์ในการจัดสรรเงินค่าไปรณียากรและค่าสาธารณูปโภคแก่พรรคการเมืองนั้น คณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ได้จัดสรรเงินสนับสนุนค่าไปรษณียากรและค่าสาธารณูปโภค ให้แก่พรรคการเมือง เพื่อดำเนินกิจการทางการเมือง ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง และประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง ดังนี้
- (1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 61 บัญญัติว่า “มาตรา 61 คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจกำหนดให้พรรคการเมืองไดรับการสนับสนุนในเรื่องค่าไปรษณียากร ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสาธารณูปโภคและด้านอื่น ๆ เพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกันตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรการการเลือกตั้งกำนหนด”
- (2) ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนค่าไปรษณียากร และค่าสาธารณูปโภคให้แก่พรรคการเมือง ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544
- (3) ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนค่าไปรษณียากรและค่าสาธารณูปโภคให้แก่พรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2544
- (4) ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสนับนสนุนค่าไปรษณียากรและค่าสาธารณูปโภคให้แก่พรรคการเมือง (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2545
- (5) ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การสนับสนุนค่าไปรษณียากรและค่าสาธารณูปโภคให้แก่พรรคการเมือง ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2545
ทั้งนี้ การสนับสนุนค่าไปรษณียากรและค่าสาธารณูปโภค (ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำประปา) ให้พรรคการเมืองเริ่มเบิกจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – วันที่ 31 ธันวาคม ของแต่ละปี โดยกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ได้สนับสนุนพรรคการเมืองตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
การสนับสนุนสำนักงานใหญ่พรรคการเมือง จะจัดสรรให้แก่สำนักงานงานใหญ่พรรคการเมือง โดยกำหนดวงเงินให้แต่ละพรรคการเมืองตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ประกอบด้วย จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนคะแนนเสียงจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง จำนวนสมาชิกพรรคการเมือง และจำนวนสาขาพรรคการเมือง ซึ่งจัดสรรในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรจะต้องส่งใบเสร็จรับเงินหรือใบแจ้งหนี้ของหน่วยงานของรัฐที่ให้บริการไปรษณียากร และค่าสาธารณูปโภคมาขอเบิกจากกองทุนภายในวงเงินที่กำหนด
การสนับสนุนงานสาขาพรรคการเมือง จะเหมาจ่ายเป็นรายเดือนให้แก่สาขาพรรคการเมืองตามที่พรรคการเมืองขอรับการสนับสนุนเป็นค่าไปรษณียากร และค่าสาธารณูปโภค โดยแบ่งประเภทสาขาที่จะได้รับการสนับสนุน เป็น 2 ประเภท คือ
(1) สาขาประเภททั่วไป เหมาจ่าย 600 บาทต่อเดือน โดยเป็นสาขาทั่วไปที่ได้แจ้งการจัดตั้งและตอบรับจากนายทะเบียนพรรคการเมือง และ
(2) สาขาประเภทกรณีพิเศษ เหมาจ่าย 1,500 บาทต่อเดือน โดยมีเงื่อนไขประกอบด้วย ต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 500 คน มีสถานที่ตั้งแยกจากที่อยู่อาศัยหรือสถานประกอบการอื่น และมีผู้ปฏิบัติงานประจำ มีการดำเนินการตามข้อบังคับพรรค เช่น การประชุมใหญ่สาขา การประชุมคณะกรรมการสาขา มีกิจกรรมทางการเมือง
การรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน
พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุนต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้เป็นไปตามโครงการและแผนงาน และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งหรือมติของคณะกรรมการ จะต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินให้ถูกต้องตามความเป็นจริงและยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
การคืนเงินสนับสนุน
การคืนเงินสนับสนุนแก่กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง แบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ
กรณีที่หนึ่ง เป็นกรณีที่พรรคการเมืองใดได้รับเงินสนับสนุนไปแล้ว ถ้าต่อมาปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าพรรคการเมืองไม่ดำเนินการ จัดทำบัญชีงบการเงิน ตามมาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 39 หรือมาตรา 40 ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเรียกคืนเงินสนับสนุนที่ได้รับการจัดสรรในปีที่มีเหตุคืนให้นายทะเบียนพรรคการเมืองภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เพื่อนำเงินสนับสนุนที่เรียกคืนส่งเข้ากองทุน
กรณีที่สอง เมื่อพรรคการเมืองใดได้รับเงินสนับนสนุนไปแล้ว ภายหลังปรากฏว่ามีเหตุต้องเลิกหรือยุบพรรคการเมืองตามหมวด 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 และอยู่ในระหว่างที่นายทะเบียนพรรคการเมืองหรืออัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมือง นายทะเบียนพรรคการเมืองจะมีคำสั่งให้พรรคการเมืองนั้นระงับการดำเนินงานตามโครงการและแผนงานที่ได้รับการสนับสนุนนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนพรรคการเมือง แล้วให้พรรคการเมืองนั้นส่งคืนเงินสนับสนุนที่ได้รับการจัดสรรต่อนายทะเบียนภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งพร้อมกับรายงานการใช้จ่ายเงินตามโครงการและแผนงานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
อ้างอิง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรคคการเมือง พ.ศ. 2541
รายงานกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ประจำปี 2545 – 2546 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
มานิตย์ จุมปา, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) เรื่อง ๑๓ พรรคการเมือง, กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๔