19 สิงหาคม พ.ศ. 2550

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:08, 19 พฤศจิกายน 2555 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' ศ.นรนิต เศรษฐบุตร ---- '''ผู้ทรงคุณวุ...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ศ.นรนิต เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 เป็นวันที่มีการออกเสียงลงประชามติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นการลงมติเพื่อเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทั้งฉบับ

ที่มาของการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 มาตรา 26 ที่ว่า

“ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญและพิจารณาให้แล้วเสร็จตาม มาตรา 28 ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก”

เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบและจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งต้องจัดทำไม่เร็วกว่าสิบห้าวัน และไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันที่เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สภาร่างรัฐธรรมนูญประกาศกำหนด การออกเสียงประชามติต้องกระทำภายในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

“ผลของการออกเสียงประชามติที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งนั้นปรากฏตามรายงานว่า มีผู้มาใช้สิทธิกว่า 25,987,954 คน คิดเป็นร้อยละ 57.61 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติ ในส่วนของผู้มาใช้เสียงประชามตินี้มีผู้เห็นชอบ 14,727,306 คน คิดเป็นร้อยละ 56.69 ไม่เห็นชอบ 10,747,441 คน คิดเป็นร้อยละ 41.37 บัตรเสีย 504,120 ใบ คิดเป็นร้อยละ 1.94 และมีการคืนบัตร 87 ใบ”

ดังนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จึงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ประชาชนออกเสียงประชามติเห็นชอบ ทั้งนี้ ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550