ทุนนิยม
ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์
ทุนนิยม
ทุนนิยม (Capitalism) หมายถึง ระบบเศรษฐกิจที่นายจ้างคือเจ้าของปัจจัยการผลิต อันได้แก่ ที่ดิน ทุน และการประกอบการ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ผลกำไรสูงสุด โดยใช้ปัจจัยการผลิตน้อยที่สุด ส่วนแรงงานมีฐานะเป็นเพียงปัจจัยการผลิตอย่างหนึ่ง แรงงานจึงต้องพึ่งพานายจ้าง และด้วยจำนวนแรงงานที่มีอย่างมากมาย จึงมักถูกกดขี่อย่างไร้มนุษยธรรม ระบบทุนนิยมมีลักษณะที่สำคัญดังนี้
1. การมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลเป็นปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งหมายความรวมถึงการอนุญาตให้เอกชนสามารถถือครองทรัพย์สินได้มากเท่าที่จะหามาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
2. การแข่งขันเสรี ลัทธิทุนนิยมสนับสนุนให้มีการแข่งขันเสรี ซึ่งจะทำให้ผู้ขายเสนอราคาที่เหมาะสมที่สุดด้วยศักยภาพการผลิตที่ดีที่สุด คนที่ไม่เหมาะสมกับการผลิตประเภทนั้น ๆ จะถูกกดดันออกจากตลาดและเหลือแต่ผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพ
3. ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่งหมายถึงระบบที่อนุญาตให้เอกชนสามารถลงทุนในการผลิตหรือใช้จ่ายเงินเพื่อหาซื้อสินค้าและบริการได้ตามความสามารถและความต้องการ โดยไม่มีกฎระเบียบหรือข้อบังคับจากรัฐบาล โดยเชื่อว่าในที่สุดจะทำให้ราคาของสินค้าและบริการอยู่ในจุดสมดุล คือจุดที่ผู้ซื้อและผู้ผลิตมีความเห็นตรงกันว่าราคาอยู่ในช่วงที่เหมาะสม
4. อิสระในการบริหาร ลัทธิทุนนิยมต้องการอิสระในการบริหารงานโดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล เพราะในความคิดของพวกทุนนิยมเชื่อว่ารัฐบาลไม่มีทางเข้าใจได้หมดว่าเอกชนต้องการอะไร