ใบเหลือง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:17, 28 พฤษภาคม 2555 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.กมลชัย รัตนสกาววงศ์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์


ใบเหลือง

การใช้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามมาตรา 85/7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 บัญญัติว่า “เมื่อมีการนับคะแนนเลือกตั้งแล้ว ถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งจะงดประกาศผลเลือกตั้ง และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งนั้นก็ได้” ประกอบกับมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 บัญญัติให้การลงมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการประกาศผลการเลือกตั้งให้ใช้คะแนนเสียงเอกฉันท์

บทบัญญัติดังกล่าวใช้กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และบทบัญญัติมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ให้นำมาใช้บังคับแก่การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาด้วย

ดังนั้น การที่ กกต. ไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา หรือไม่มีมติเป็นเอกฉันท์ในการรับรองผลการเลือกตั้งดังกล่าวแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับคะแนนสูงสุด หรืออยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการประกาศให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ทำให้ในเขตเลือกตั้งนั้นจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยอัตโนมัติ ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดหรืออยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการประกาศให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา แต่ไม่ได้รับการรับรองผลหรือประกาศจาก กกต. เรียกว่าผู้นั้นได้รับ “ใบเหลือง”