นับคะแนนเสียง
ผู้เรียบเรียง ขัตติยา ทองทา ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร จเร พันธุ์เปรื่อง
นับคะแนนเสียง เป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งที่ใช้ในการหาข้อสรุปจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา หรือ การประชุมร่วมกันของรัฐสภา แล้วแต่กรณี ที่มีสมาชิกจำนวนมาก นำไปสู่การลงมติ เพื่อแสดงให้เห็นถึงทิศทางการตัดสินใจของที่ประชุม โดยปกติให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ และเป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
นับคะแนนเสียง คืออะไร
“นับคะแนนเสียง” เป็นการคำนวณเพื่อหาข้อยุติ และประกาศผลการลงมติในเรื่องใดๆ ของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา หรือการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกคนหนึ่งมีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนได้หนึ่งเสียง เมื่อการออกเสียงลงคะแนนสิ้นสุดลง ประธานในที่ประชุมจะสั่งให้มีการนับคะแนนเสียง เพื่อดูว่าคะแนนเสียงที่ได้รับเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วประธานในที่ประชุมสภาก็จะเป็นผู้ประกาศผลการนับคะแนนเสียงที่เรียกว่า ประกาศมติของที่ประชุมสภา ในขณะที่มีการนับคะแนนเสียงไปแล้ว ก่อนที่ประธานสภาจะประกาศมติ อาจมีการขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภา ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “ออกเสียงลงคะแนน” ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ หมายถึง การออกเสียงลงคะแนนเพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เท่านั้น เป็นคนละเรื่องกับการ “ลงคะแนน” ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เพื่อมีมติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในที่ประชุมสภา
การนับคะแนนเสียงตามข้อบังคับการประชุม
การนับคะแนนเสียงตามข้อบังคับการประชุมนั้น ขึ้นอยู่กับการออกเสียงลงคะแนน แบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ การออกเสียงลงคะแนนเปิดเผย และการออกเสียงลงคะแนนลับ ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 และข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ได้กำหนดเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนน ที่เหมือนกันและแตกต่างกัน ดังนี้
ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 (ซึ่งใช้บังคับกับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาด้วยโดยอนุโลม) ข้อ 72 กำหนดว่า
การออกเสียงลงคะแนนให้กระทำเป็นการเปิดเผย แต่เมื่อสมาชิกเสนอญัตติโดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน จึงให้ลงคะแนนลับ ถ้ามีสมาชิกคัดค้านและมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกในที่ประชุม ให้ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่จะลงคะแนนโดยเปิดเผย
ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 66 กำหนดว่า
การออกเสียงลงคะแนนให้กระทำเป็นการเปิดเผย แต่เมื่อสมาชิกเสนอญัตติโดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน จึงให้ลงคะแนนลับ ถ้ามีสมาชิกคัดค้านและมีผู้รับรองมากกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกในที่ประชุม ก็ให้ลงคะแนนโดยเปิดเผย
การนับคะแนนเสียง จากการออกเสียงลงคะแนนโดยเปิดเผย และการออกเสียงลงคะแนนลับ มีวิธีปฏิบัติที่เหมือนกันและแตกต่างกัน ดังนี้
ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 75 กำหนดว่า
(1) ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนตามที่ประธานกำหนด หากเครื่องออกเสียงลงคะแนนขัดข้องให้เปลี่ยนเป็นวิธีการตามที่ประธานกำหนด
(2) เรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัวสมาชิก ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน ให้ประธานเชิญสมาชิกไม่น้อยกว่า 6 คน เป็นผู้ตรวจนับคะแนน
(3) วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมเห็นสมควรเฉพาะกรณี
การออกเสียงลงคะแนนให้ใช้วิธีตาม (1) จะใช้วิธีตาม (2) หรือ (3) ได้ต่อเมื่อสมาชิกเสนอญัตติและที่ประชุมอนุมัติ หรือเมื่อมีการนับคะแนนเสียงใหม่
ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 67 กำหนดว่า
(1) ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนตามที่ประธานกำหนด ให้ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนได้จนกว่าประธานจะได้สั่งปิดการออกเสียงลงคะแนน
(2) ยกมือขึ้นพ้นศีรษะพร้อมกับแสดงบัตรลงคะแนน ผู้เห็นด้วยให้แสดงบัตรลงคะแนนสีน้ำเงิน ผู้ไม่เห็นด้วยให้แสดงบัตรลงคะแนนสีแดง ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้แสดงบัตรลงคะแนนสีขาว ให้สมาชิกลงลายมือชื่อและหมายเลขประจำตัวสมาชิกกำกับไว้ที่บัตรลงคะแนนด้วย ประธานสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปรับบัตรลงคะแนนจากสมาชิก เพื่อดำเนินการตรวจนับคะแนนต่อไป
(3) เรียกชื่อสมาชิกตามลำดับอักษร ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน
(4) วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมเห็นสมควรเฉพาะกรณี
การออกเสียงลงคะแนนให้ใช้วิธีตาม (1) จะใช้วิธีตาม (2) (3) หรือ (4) ได้ต่อเมื่อสมาชิกเสนอญัตติและที่ประชุมอนุมัติ หรือเมื่อมีการนับคะแนนเสียงใหม่
ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 76 กำหนดว่า
(1) เขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ผู้เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายถูก ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายกากบาท ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้เขียนเครื่องหมายวงกลม
(2) วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมเห็นสมควรเฉพาะกรณี
ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 68 กำหนดว่า
(1) ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนตามที่ประธานกำหนด ให้ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนได้จนกว่าประธานจะได้สั่งปิดการออกเสียงลงคะแนน
(2) เขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ผู้เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายถูก ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายกากบาท ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้เขียนเครื่องหมายวงกลม ให้สมาชิกนั่งลงในที่ที่จัดไว้ ให้ประธานสั่งเจ้าหน้าที่แจกกระดาษและซองแก่สมาชิกทุกคน เมื่อสมาชิกเขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองแล้ว ให้ประธานสั่งเจ้าหน้าที่ไปรับมา เพื่อส่งกรรมการตรวจนับคะแนนดำเนินการต่อไป และให้ประธานเชิญสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 คน เป็นกรรมการตรวจนับคะแนน
(3) วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมเห็นสมควรเฉพาะกรณี
เมื่อได้มีการนับคะแนนเสียงจากการออกเสียงลงคะแนนแล้ว ถ้าสมาชิกร้องขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ ประธานต้องสั่งให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ มีวิธีปฏิบัติที่เหมือนกันและแตกต่างกัน ดังนี้
ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 77 กำหนดว่า
เมื่อมีการออกเสียงลงคะแนนโดยใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนแล้ว ถ้าสมาชิกร้องขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ประธานต้องสั่งให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ และให้เปลี่ยนวิธีการลงคะแนนเป็นวิธีเรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัวสมาชิก ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน เว้นแต่คะแนนเสียงต่างกันเกินกว่า 25 คะแนน จะขอให้มีการนับคะแนนใหม่ไม่ได้ เมื่อได้มีการออกเสียงลงคะแนนใหม่และนับคะแนนเสียงใหม่ไปแล้ว จะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่อีกไม่ได้
ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 74 กำหนดว่า
ในการนับคะแนนเสียงครั้งใด ถ้าสมาชิกเสนอญัตติให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 10 คน ก็ให้มีการนับใหม่ เว้นแต่คะแนนเสียงมีความต่างกันเกินกว่า 10 คะแนน จะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่มิได้ การนับคะแนนเสียงใหม่ ให้เปลี่ยนวิธีลงคะแนนเป็นวิธีการออกเสียงลงคะแนนเปิดเผยหรือการออกเสียงลงคะแนนลับ ซึ่งอยู่ในลำดับถัดไป แล้วแต่กรณี การนับคะแนนเสียงโดยวิธีเรียกชื่อสมาชิกตามลำดับอักษรหรือเขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ จะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่อีกมิได้
ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 79 และข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 73 กำหนดว่า เมื่อได้นับคะแนนเสียงเสร็จแล้ว ให้ประธานประกาศมติต่อที่ประชุมทันที ถ้าเรื่องใดรัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับนี้กำหนดไว้ว่า มติจะต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงถึงจำนวนเท่าใด ก็ให้ประกาศด้วยว่าคะแนนเสียงถึงจำนวนที่กำหนดไว้นั้น ในส่วนของข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา มีเพิ่มเติมว่า ถ้าได้ประกาศมติต่อที่ประชุมวุฒิสภาจากผลการ ออกเสียงลงคะแนนด้วยวิธีเขียนเครื่องหมายบนแผ่น กระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้แล้ว ให้ประธานสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำลายบัตรออกเสียงลงคะแนนนั้นด้วย
เหตุการณ์การนับคะแนนเสียงในการประชุม
ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 9 (สมัยสามัญทั่วไป) วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พุทธศักราช 2552 นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เป็นประธานประชุม มีวาระการพิจารณาข้อตกลงระหว่างประเทศ 4 ฉบับ เริ่มด้วยการพิจารณาร่างพิธีสารฉบับที่ 3 เพื่อแก้ไขสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนเริ่มอภิปราย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน อาทิ นายสุนัย จุลพงศธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ คัดค้านว่า พิจารณาไปพร้อมกันไม่ได้ เพราะแต่ละฉบับมีรายละเอียดแตกต่างกันจึงต้องพิจารณาทีละฉบับ ขอให้รัฐบาลถอนออกไปแล้วเสนอเข้ามาใหม่ แต่ประธานยืนยันว่าทำได้ พร้อมรับผิดชอบทุกอย่าง และให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประธานสั่งนับองค์ประชุมก่อนเข้าสู่การพิจารณา แล้วแจ้งต่อที่ประชุมว่า มีผู้เสียบบัตรแสดงตน 311 คน ถือว่าเกินกึ่งหนึ่งแล้ว จากนั้นให้ที่ประชุมลงมติร่างพิธีสารฉบับที่ 3 ปรากฏว่าลงมติเห็นชอบ 287 เสียง ไม่เห็นชอบ ไม่มี งดออกเสียง 8 เสียง ไม่ลงคะแนน 12 เสียง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ประท้วงว่า องค์ประชุมไม่ครบ เนื่องจากมีผู้อยู่ในที่ประชุมแค่ 307 เสียง ยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งที่ 311 คน ประธานจึงสั่งพักการประชุม 5 นาที
เมื่อเริ่มประชุมอีกครั้ง ที่ประชุมยังถกเถียงเรื่ององค์ประชุม นายศุภชัย ศรีหล้า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ลงมติใหม่ตามข้อบังคับการประชุมข้อ 77 ที่กำหนดว่า เสนอให้ลงมติใหม่ได้หากมีเสียงแตกต่างกันไม่เกิน 20 เสียง แต่นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว แย้งว่า ร่างพิธีสารฉบับที่ 3 ตกไปแล้ว เพราะการลงคะแนนสิ้นสุดแล้ว หลังจากที่ประชุมถกเถียงกันนานกว่า 10 นาที พันเอกอภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 อภิปรายว่า กรณีนี้ไม่ครบองค์ประชุมเท่ากับลงมติเป็นโมฆะทางออกจึงไม่ใช่การนับองค์ประชุมใหม่ แต่ประธานสามารถสั่งลงมติอีกครั้ง เพราะถือว่าครั้งแรกไม่สมบูรณ์ ในที่สุด นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล เสนอนับองค์ประชุมใหม่อีกครั้ง ปรากฏว่ามีสมาชิกอยู่ในห้องประชุม 328 คน จากนั้นลงมติใหม่ ซึ่งเห็นชอบ 302 เสียง ไม่เห็นชอบ ไม่มี งดออกเสียง 9 เสียง ไม่ลงคะแนน 15 เสียง ถือว่าร่างพิธีสารฉบับที่ 3 ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ขณะที่นายสุนัย จุลพงศธร กล่าวว่า จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
ชัยอนันต์ สมุทวณิช, เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์. กลไกรัฐสภา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเณศ, 2518.
สุธรรม แสงประทุม. ปัญหาประสิทธิภาพในการดำเนินการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ศึกษากรณีการตรวจสอบองค์ประชุมและการนับคะแนนใหม่. สถาบันพระปกเกล้า, 2539.
บรรณานุกรม
“ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551”. ราชกิจจานุเบกษา 125, ตอนพิเศษ 76 ง (25 เมษายน 2551). หน้า 41-86.
“ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551”. ราชกิจจานุเบกษา 125, ตอนพิเศษ 79 ง (2 พฤษภาคม 2551). หน้า 9-45.
คณิน บุญสุวรรณ. ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548.
“ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย หวิดวางมวยประชุมรัฐสภาปั่นป่วน”. มติชน, 15 พฤษภาคม 2552. หน้า 1, 14.