เหรียญที่ระลึกการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ เนื่องในการพระราชพิธีฉัตรมงคล พ.ศ. 2470
ผู้เรียบเรียง พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลักษณะ
ทองแดง
เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 เซนติเมตร
เป็นเหรียญกลม แบน มีห่วงด้านบน ตรงกลางเหรียญมีอักษรเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร.(ย่อมาจาก ประชาธิปก ปรมราชาธิราช หรือประชาธิปก บรมราชาธิราช) ขอบเหรียญด้านบนเขียนข้อความ การชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ขอบเหรียญด้านล่างเขียนข้อความ เนื่องในพระราชพิธีฉัตรมงคล ๒๔๗๐
ประวัติความเป็นมา
เหรียญที่ระลึกการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 1 เนื่องในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลนี้ ออกแบบโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) เป็นเหรียญที่พระราชทานแก่ลูกเสือผู้มาสังเกตการณ์ มี 2 ชนิด คือ เหรียญเงินสำหรับพระราชทานแก่ลูกเสือผู้แทนมณฑล และเหรียญทองแดงสำหรับพระราชทานแก่ลูกเสือที่มาสังเกตการณ์
พระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นพระราชพิธีที่กำหนดให้มีขึ้น โดยถือวันครบรอบปีแห่งการเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในแต่ละรัชกาล ถือว่าเป็นวันมหามงคลสมัย การพระราชพิธีคือ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตรและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นการฉลองครบรอบปีที่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษก เพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติด้วย ในโอกาสนี้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เพื่อทรงอุทิศกุศลสนองพระเดชพระคุณให้เป็นการเชิดชูพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ และพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยโดยทั่วไปด้วย
พระราชพิธีฉัตรมงคลนี้ เดิมเป็นเพียงการสมโภชเครื่องราชูปโภคและเครื่องราชกกุธภัณฑ์อันเป็นส่วนของเจ้าพนักงานทำกันเอง กล่าวคือ เมื่อเปลี่ยนปีใหม่ถึงเดือนหก เจ้าพนักงานฝ่ายหน้าและฝ่ายในซึ่งมีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและรักษาตำแหน่งหน้าที่ มีพระทวารและประตูวัง เป็นต้น ต้องทำการสมโภชเครื่องราชูปโภคและตำแหน่งที่ตนรักษาครั้งหนึ่ง
ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกในวันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ ปีกุน ตรีศก จุลศักราช 1213 ( พ.ศ. 2394 ) ตรงกับเวลาที่เจ้าพนักงานเคยสมโภชเครื่องสิริราชูปโภคแต่เดิมมา ทรงพระราชดำริว่า วันเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกนั้นเป็นวันมงคล ซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองย่อมถือเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคล และจัดให้มีการฉลองขึ้นให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ แต่เมืองไทยยังหาได้มีการสมโภชหรือได้ฉลองอันใดขึ้นไม่ จึงทรงพระราชดำริให้บำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตรและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2395 พระราชทานชื่อว่า “พระราชพิธีฉัตรมงคล”[1]
เมื่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 การพระราชพิธีฉัตรมงคลจึงกำหนดขึ้นโดยถือวันครบรอบปีแห่งการเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติของพระองค์เป็นวันมงคลสมัย
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 ในวโรกาสเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จเปิดการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ณ พระราชอุทยานวังสราญรมย์ ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ถึง 4 มีนาคม พ.ศ. 2470 มีผู้แทนลูกเสือมาร่วมชุมนุม 14 มณฑลๆ ละ 23 คน รวม 322 คน และมีลูกเสือประเภทผู้สังเกตการณ์จำนวน 1,114 คน รวมลูกเสือที่เข้าชุมนุม 1,836 คน[2]
การชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือสยาม โดยมีพระราชดำริให้มีการชุมนุมลูกเสือครั้งแรกในงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ที่สวนลุมพินีใน พ.ศ. 2468 แต่พระองค์สวรรคตเสียก่อน