อานันท์ ปันยารชุน
ผู้เรียบเรียง วัชราพร ยอดมิ่ง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี คนที่ 18 ของประเทศไทย เป็นที่รู้จักในนามของนักการทูตและนักธุรกิจที่มีความรู้ความสามารถ เข้าสู่แวดวงทางการเมืองโดยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากเหตุการณ์การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตย แต่ก็สามารถบริหารประเทศด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ สมกับคำกล่าวที่เรียกกันว่า “รัฐบาลโปร่งใส”
ประวัติ
นายอานันท์ ปันยารชุน เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนสุดท้ายในจำนวน 12 คน ของมหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) และคุณหญิงปรีชานุสาสน์ (ปฤกษ์ โชติกเสถียร) สมรสกับม.ร.ว.สดศรี จักรพันธุ์ มีบุตรี 2 คน คือ นางนันดา ไกรฤกษ์ และนางดารณี เจริญรัชต์ภาคย์ มีหลาน 3 คน คือ นางสาวทิพนันท์ จากนางนันดา ซึ่งสมรสกับ นายไกรทิพย์ ไกรฤกษ์ และเด็กหญิง ศิริญดา และเด็กชาย ธนาวิน จากนางดารณี ซึ่งสมรสกับ ดร. ชัชวิน เจริญรัชต์ภาคย์[1]
ด้านการศึกษา เริ่มต้นการศึกษา ณ โรงเรียนประถมเล็กๆ แห่งหนึ่งบนถนนสุรศักดิ์ที่เชื่อมต่อระหว่างถนนสีลมและถนนสาทร ในปี พ.ศ. 2486 เข้ารับการศึกษาในระดับมัธยมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ จนจบมัธยมปีที่ 3 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองย้ายเข้ารับการศึกษาในชั้นมัธยม 4 ที่โรงเรียนนันทศึกษาเป็นการชั่วคราว แล้วจึงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จนจบมัธยม 7 ในปี พ.ศ. 2491 จึงเดินทางไปศึกษาต่อที่ โรงเรียนดัลลิช (Dulwich College) ประเทศอังกฤษ หลังจากจบชั้นไฮสคูล จึงได้เข้าศึกษาต่อ ณ ตรินิตี้คอลเลจ (Trinity College) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) ในปี พ.ศ. 2495 จนสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยมทางด้านกฎหมายในปี พ.ศ. 2498[2]
ชีวิตการทำงาน นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นบุคคลหนึ่งที่มีประสบการณ์การทำงานจากทั้งภาคราชการและภาคเอกชน โดยเริ่มต้นการทำงานด้วยการรับราชการในปี พ.ศ. 2498 เป็นข้าราชการชั้นโทที่กระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 ปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พ.อ.(พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์) ซึ่งทำให้นายอานันท์ได้รับประสบการณ์ทางด้านการทูตเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2507 ได้เลื่อนเป็นเลขานุการเอกและเป็นที่ปรึกษาคณะทูตถาวรแห่งประเทศไทย ประจำสหประชาชาติ นายอานันท์ได้แสดงออกถึงมาตรฐานแห่งความเป็นนักการทูตได้สมศักดิ์ศรี และเป็นที่ยอมรับ จนได้รับการจารึกชื่อใน “WHO’S WHO INTERNATIONAL”[3]
ในปี พ.ศ. 2510 เข้าดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตรักษาการผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ และเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศแคนาดาไปด้วยพร้อมกัน หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2515 ได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำ ประเทศสหรัฐอเมริการวมทั้งผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ
ชีวิตราชการของนายอานันท์ขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อปี พ.ศ. 2519 โดยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และมีภารกิจสำคัญในการเปิดสัมพันธไมตรีทางการทูตกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ภารกิจดังกล่าวส่งผลให้ประสบมรสุมชีวิตโดยถูกล่าวหาจากรัฐบาลในขณะนั้นว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ จนถูกพักราชการ[4] “คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้พักราชการนายอานันท์ ปันยารชุน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเนื่องด้วยความผิด 2 ประการ คือ 1. เปิดเผยความลับทางราชการให้กับศูนย์นิสิตนักศึกษา และ 2. มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์โดยฝักใฝ่และส่งเสริมการเปิดสัมพันธไมตรีกับประเทศคอมมิวนิสต์...” แต่ในที่สุดการสอบสวนปรากฏว่านายอานันท์ ปันยารชุน คือ ผู้บริสุทธิ์ จึงได้กลับมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหพันธรัฐเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายของการรับราชการ และแล้วในที่สุดนายอานันท์ ปันยารชุน ได้ลาออกจากราชการในปี พ.ศ.2522 หลังจากรับราชการมารวม 23 ปีเต็ม
หลังจากนั้นนายอานันท์ ได้เข้าสู่วงการธุรกิจ โดยเข้ารับตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการบริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) แล้วขึ้นเป็นประธานกรรมการบริษัทฯ ในปี พ.ศ. 2534 ซึ่งในแวดวงธุรกิจนายอานันท์ได้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ อีกมากมาย เช่น ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายกสมาคมบริษัทการค้าระหว่างประเทศ รองประธานคณะมนตรีหอการค้าและอุตสาหกรรมอาเซียน นายกกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
นอกจากนี้นายอานันท์ยังได้ปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาการศึกษา เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม โดยดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรต่างๆ ของประเทศและองค์กรนานาชาติหลายองค์กรทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเอเชีย แปซิฟิค ลีดเดอชิพ ฟอรัม ออน เอชไอวี/เอดส์ แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ (เอพีแอลเอฟ) ประธานกรรมการสภาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ประธานกรรมการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เป็นต้น
ด้วยผลงานด้านต่างๆ[5] ทำให้นายอานันท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตองค์การยูนิเชฟประจำประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2539 และได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการรัฐกิจ ในปี พ.ศ.2540 ได้รับประกาศเกียรติคุณต่างๆ รวมทั้งปริญญากิตติศักดิ์จากสถาบันศึกษาหลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศรวม 20 กว่าสถาบัน นายอานันท์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญรัตนาภรณ์ (ชั้น 3) ทุติยจุลจอมเกล้า ประถมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และปฐมดิเรกคุณาภรณ์ ทั้งได้รับเครื่องราชอิสริยภรณ์จากประเทศอิตาลี เกาหลี อินโดนีเซีย เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น สวีเดน และในกรณีของอังกฤษนั้น ได้รับ Honorary Knight Commander of Civil Division of the Most Exellent Order of British Empire (KBE)
บทบาททางการเมือง
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน ไม่เคยมีความคิดที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ด้วยอุบัติเหตุทางการเมือง ทำให้นายอานันท์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึงสองสมัยโดยสมัยแรกเกิดขึ้นอันเนื่องจากการรัฐประหาร ยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จากรัฐบาลของพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พลเอกสุจินดา คราประยูร รองประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้ทาบทามให้นายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่าเป็นบุคคลที่ดี มีความสามารถ มีภาพพจน์ที่ดีเป็นที่ยอมรับของประชาชนและนานาประเทศ เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติทั้งหมดได้เห็นชอบด้วย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ในฐานะประธานสภาคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการจึงได้เสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุนขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2534 โดยได้ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2534 ถึง 21 เมษายน พ.ศ. 2535 ซึ่งในรัฐบาลของนาย อานันท์ประกอบไปด้วยรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถ จำนวน 37 ท่าน อาทิเช่น นายนุกูล ประจวบเหมาะ นายเสนาะ อูนากูล นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นต้น รัฐบาลได้แถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2534[6]
สำหรับการบริหารประเทศของนายอานันท์ ได้ประกาศเน้นเรื่อง “ความโปร่งใสนอกจากนั้นยังดำเนินนโยบายเป็นเอกเทศ ไม่ยอมอยู่ใต้คำสั่งของคณะรสช. ทำให้รัฐบาลได้รับเสียงชื่นชมจกประชาชนและได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ จนได้ฉายาว่า “รัฐบาลโปร่งใส”
ภารกิจหลักของรัฐบาลนี้ คือ การจัดให้มีการเลือกตั้ง ดังนั้น ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 นายอานันท์ ปันยารชุน จึงพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคสามัคคีธรรมได้รับเลือกตั้งมากที่สุดจำนวน 79 คน จึงถือว่าเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรคกลับไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ พรรคร่วมรัฐบาลเสียงข้างมาก ซึ่งประกอบด้วย พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคราษฎร จึงสนับสนุนให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 19 โดยที่ก่อนหน้านี้พลเอกสุจินดาเคยประกาศว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา ทำให้เกิดกระแสต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรงและเกิดการประท้วงขึ้นจนนำมาสู่การใช้กำลังทหาร ตำรวจ ปราบปราม ในวันที่ 17 -19 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว พลเอกสุจินดา ประกาศลาออกจากตำแหน่ง พรรคการเมืองเสียงข้างมากจึงร่วมกันสนับสนุนให้ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่แล้วในที่สุด นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ได้ตัดสินใจเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯ แทนพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ นายอานันท์ ปันยารชุน จึงได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ถึง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2535โดยจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งรัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรีที่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยแรก ได้แถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยสามัญ ครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2535 และได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2535 ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2535[7]
การร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่นายอานันท์ ปันยารชุน ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการเมืองไทยในเวลาต่อมา โดยในปี พ.ศ. 2540 ได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ จึงเป็นผู้มีบทบาทที่สำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
ผลงานที่สำคัญ
แม้ว่านายอานันท์ ปันยารชุนจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ได้บริหารประเทศด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพจนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชนหลายประการ ดังนี้[8]
ด้านเศรษฐกิจ อาทิเช่น การประกาศใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ปรับโครงสร้างภาษี แก้ไขปัญหาภาษีซ้ำซ้อนและป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี การส่งเสริมระบบเศรษฐกิจเสรีขจัดระบบผูกขาด การริเริ่มให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีต้นทุนต่ำ และมีราคาที่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากแหล่งอื่นๆ ได้
ด้านต่างประเทศ อาทิเช่น การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในกัมพูชาเพื่อให้เกิดสันติภาพ การกระชับความสัมพันธ์ฉันท์ญาติสนิทกับลาว การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับเวียดนาม การเสริมความเข้าใจอันดีกับรัฐบาลและประชาชนพม่า เป็นต้น
ด้านการเมือง คือ การจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 และการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 อย่างโปร่งใส โดยกำหนดให้มีองค์กรกลางเพื่อสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง เปิดโอกาสให้ผู้แทนกลุ่มอาชีพ องค์กรเอกชน นักศึกษา ประชาชน เข้ามาร่วมกันดูแลพฤติกรรมการเลือกตั้ง และยังเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้ใช้สื่อโทรทัศน์วิทยุของรัฐอย่างกว้างขวาง
ด้านการปรับปรุงระบบราชการ เช่น การกำหนดมาตรการชะลอการกำหนดตำแหน่งเพิ่มใหม่ โดยให้ระงับการขอตำแหน่งเพิ่ม ให้ชะลอการบรรจุแต่งตั้ง ให้เกลี่ยอัตรากำลังระหว่างส่วนราชการในระดับและในกรมกองเดียวกัน การแก้ไขปัญหาสมองไหล สำหรับวิชาชีพที่ขาดแคลน โดยปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนข้าราชการใหม่ ซึ่งสูงกว่าบัญชีเดิมประมาณร้อยละ 23
ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การสร้างมาตรฐานในการเริ่มต้นเพื่อการสานต่อในอนาคต อาทิ การสนับสนุนให้ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว การบังคับให้รถยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ต้องมีเครื่องกรองไอเสีย การบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมและโรงพยาบาลต้องมีการบำบัดของเสีย เป็นต้น นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาป่าไม้ในประเทศไทยอีกด้วย
ด้านการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น เช่น การเจรจาและแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายระหว่างซี.พี. เทเลคอมกับรัฐบาลให้ยุติธรรมและโปร่งใสมากขึ้น การแก้ไขปัญหากรณีการซื้อขายโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ เป็นต้น
ปัจจุบัน
ปัจจุบันนายอานันท์ ปันยารชุน ยังมีบทบาทที่สำคัญในหลายด้านทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสังคม ดังนี้
บทบาททางด้านการเมือง แม้ว่าปัจจุบัน นายอานันท์ ปันยารชุน จะไม่มิได้ดำรงตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง แต่ก็มีส่วนร่วมทางการเมืองในการให้สัมภาษณ์ แสดงความคิดเห็น หรือปาฐกถาเกี่ยวกับการเมืองการปกครองและสถานการณ์บ้านเมืองในหลายโอกาส รวมถึงเป็นคณะกรรมการในองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง เช่น ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เป็นต้น
บทบาททางด้านเศรษฐกิจ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการของบริษัทต่างๆ รวม 5 บริษัท และเป็นกรรมการบริษัท กรรมการที่ปรึกษา และที่ปรึกษาของบริษัทข้ามชาติต่างๆ อีก 5 บริษัท อาทิเช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เจอเนอรัล อิเลคทริค จำกัด (G.E.) เป็นต้น
บทบาททางด้านการศึกษา ได้ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิในสถาบันต่างๆ อาทิเช่น สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเคมบริดจ์ (ไทย) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอ.ไอ.ที.) สถาบันคีนันแห่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เป็นต้น
บทบาททางด้านสิ่งแวดล้อม[9] นายอานันท์ ปันยารชุน ได้เข้าดำรงตำแหน่งประธานสภาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นับตั้งแต่ปี 2536 โดยมีภาระหน้าที่กำหนดนโยบายให้กับคณะกรรมการบริหารสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเป็นผู้บริหาร นอกจากนี้นายอานันท์ยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกองทุน และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาของกองทุนสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม (Cultural Environment Fund,CEF) มูลนิธิสิ่งแวดล้อมไทยนับตั้งแต่ปี 2542 อีกด้วย
บทบาทด้านสังคมและสิทธิมนุษยชน นายอานันท์ได้มีบทบาทในการช่วยเหลือสังคมโดยได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรเกี่ยวกับสังคมและสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร เช่น ทูตองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และศูนย์กฎหมายภูมิภาคแม่น้ำโขง เป็นต้น
ถึงแม้ว่านายอานันท์ ปันยารชุน จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยทั้งสองสมัยจากอุบัติเหตุทางเมือง แต่ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับการยอมรับจากประชาชนคนไทย และต่างประเทศ นอกจากนี้ยังทำประโยชน์ในด้านต่างๆ ให้แก่ประเทศชาติและประชาชนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จึงถือว่าเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าของสังคมไทยอีกท่านหนึ่ง สมกับสมญานามที่ได้รับว่า “ผู้ดีแห่งรัตนโกสินทร์”
อ้างอิง
- ↑ ชีวประวัติ. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.anandpanyarachun.in.th/bio.html (23 กรกฎาคม 2552).
- ↑ ประสาร มฤคพิทักษ์. อานันท์ ปันยารชุน : ชีวิต ความคิด และการงานของอดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2541. หน้า 16-29.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 44-45.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 64.
- ↑ ชีวประวัติ. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.anandpanyarachun.in.th/bio.html (23 กรกฎาคม 2552).
- ↑ วีระชาติ ชุ่มสนิท. 24 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549. หน้า 164.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 165.
- ↑ ประสาร มฤคพิทักษ์. อานันท์ ปันยารชุน : ชีวิต ความคิด และการงานของอดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2541. หน้า 120-146.
- ↑ บทบาทและกิจกรรม. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.anandpanyarachun.in.th/bio.html (23 กรกฎาคม 2552).
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
ชลธิศ อาจมนภาพ. ปอกเปลือก...อานันท์ ปันยารชุน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : หลักไท, 2543.
ประสาร มฤคพิทักษ์. อานันท์ ปันยารชุน : ชีวิต ความคิด และการงานของอดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2541.
วีระชาติ ชุ่มสนิท. 24 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549.
อาริยา สินธุจริวัตร. ก้าวแรกแห่งความสำเร็จ อานันท์ ปันยารชุน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, 2539.
บรรณานุกรม
ชลธิศ อาจมนภาพ. ปอกเปลือก...อานันท์ ปันยารชุน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : หลักไท, 2543.
ชีวประวัติ. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.anandpanyarachun.in.th/bio.html (23 กรกฎาคม 2552).
ประสาร มฤคพิทักษ์. อานันท์ ปันยารชุน : ชีวิต ความคิด และการงานของอดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2541.
วีระชาติ ชุ่มสนิท. 24 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549.
สายฝน ดีงาม. 24 นายกรัฐมนตรีไทย : ประวัติและดรรชนี. กรุงเทพฯ : กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550.
สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. แนวคิดและการบริหารงานของนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี. กรุงเทพฯ : ม.ป.ป.
อาริยา สินธุจริวัตร. ก้าวแรกแห่งความสำเร็จ อานันท์ ปันยารชุน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, 2539.
ดูเพิ่มเติม
- คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2534
- คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2535
- รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 2 วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2534
- รางานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยสามัญ ครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2535