องค์กรแห่งความหลากหลาย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:37, 5 เมษายน 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' วัชรา ไชยสาร ---- '''ผู้ทรงคุณวุฒิปร...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง วัชรา ไชยสาร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ พรรณราย ขันธกิจ


ความแตกต่างและความหลากหลายของสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ

ก่อนที่จะมีการบัญญัติมาตรา 89 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 นั้น ที่ประชุมของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาฯ อย่างกว้างขวาง ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1) การจัดตั้งสภาที่ปรึกษาฯ เป็นกลไกใหม่ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจของรัฐ

2) สำหรับหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ นั้น ไม่ควรรวมเรื่องการเมืองไปด้วย

3) กรณีการให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่นตามที่กฎหมายกำหนดก่อนการประกาศใช้นั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผน ตามทฤษฎีความจำเป็นพื้นฐาน (Basic Needs Theory) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นพื้นฐานของประชาชน เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาแผนดังกล่าวดำเนินการโดยกลุ่มเทคโนแครท (Technocrat) ทำให้ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนโดยรวม

ดังนั้น พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 จึงให้ความสำคัญต่อความแตกต่างและความหลากหลาย โดยการกำหนดให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ประกอบด้วย สมาชิก จำนวน 99 คนมีองค์ประกอบตามกลุ่มในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาฯ พ.ศ. 2543[1]

บัญชีกลุ่มในภาคเศรษฐกิจและกลุ่มในภาคสังคม

ฐานทรัพยากรและผู้ทรงคุณวุฒิ

1. กลุ่มในภาคเศรษฐกิจ จำนวน 50 คน

(1) การผลิตด้านการเกษตร เช่น การทำนา
การทำไร่ การทำสวน การเลี้ยงสัตว์
การเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์
การประมง การแปรรูปสินค้าเกษตรชุมชน
หรืองานเกษตรกรรมอื่นๆ                     จำนวน 16 คน
(2) การผลิตด้านการอุตสาหกรรม เช่น การทำเหมือง
รวมทั้งการระเบิดหรือย่อยหิน การผลิตอาหาร
เครื่องดื่ม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง
การผลิตไม้ เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ การผลิตเคมีภัณฑ์
ยา ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ยางธรรมชาติ แก้ว
ปูนซีเมนต์ เซรามิค วัสดุก่อสร้าง อัญมณี เครื่องประดับ
โลหะ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ยานยนต์และอะไหล่
เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์
หรือการผลิตอุตสาหกรรมอื่นๆ                 จำนวน 17 คน
(3) การผลิตด้านการบริการ เช่น กิจการด้านการคมนาคม
การขนส่ง การสื่อสาร การโทรคมนาคม
และเทคโนโลยีสารสนเทศ การนำเข้า-ส่งออก
การค้าสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม
ภายในประเทศ การท่องเที่ยว การบริการทางกฎหมาย
การบริการทางบัญชี การบริการทางสถาปัตยกรรม
การบริการทางวิศวกรรม การก่อสร้าง การกีฬา
และนันทนาการ ศิลปินและนักประพันธ์ ข้าราชการ
ธุรกิจร้านอาหาร สื่อมวลชนหรือการบริการอื่นๆ จำนวน 17 คน

2. กลุ่มในภาคสังคม ฐานทรัพยากร และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 49 คน

กลุ่มในภาคสังคม จำนวน 19 คน
(1) การพัฒนาชุมชน จำนวน 2 คน
(2) การสาธารณสุข จำนวน 2 คน
(3) การศึกษา ศิลปวัฒนธรรมและศาสนา จำนวน 4 คน
(4) การพัฒนาและสงเคราะห์คนพิการ จำนวน 2 คน
(5) การพัฒนาเด็ก เยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ จำนวน 4 คน
(6) การพัฒนาแรงงาน จำนวน 4 คน
(7) การคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 1 คน
กลุ่มในภาคฐานทรัพยากร
(8) ฐานทรัพยากร เช่น ที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ
ลุ่มน้ำ ทะเล อากาศ หรือความหลากหลาย
ทางชีวภาพ จำนวน 10 คน
(9) การพัฒนาระบบการเกษตร จำนวน 4 คน
(10) การพัฒนาระบบการอุตสาหกรรม จำนวน 1 คน
(11) การพัฒนาระบบการบริการ จำนวน 1 คน

กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 14 คน

สภาที่ปรึกษาฯ มิใช่สภาการเมือง ไม่มีพรรคและไม่มีพวกโดยแท้จริง

พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาฯ พ.ศ. 2543 มาตรา 7 (4) ระบุว่า สมาชิกต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และมาตรา 10 กำหนดให้สภาที่ปรึกษาฯ เป็นองค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมิใช่เป็นองค์กรเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดแรก

พ่อหลวงจอนิ โอ่โดเชา ผู้นำชุมชนปกากะญอ ร่วมป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ

สภาที่ปรึกษาฯ จึงเป็นองค์กรที่รวบรวมบุคคลจำนวน 99 คน จากการกระจายในเรื่องของอาชีพและกิจกรรมตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาฯ พ.ศ. 2543 ที่ต้องการให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ มาจากองค์ประกอบที่หลากหลาย เพื่อสะท้อนความต้องการของประชาชนจากฐานอาชีพและกิจกรรมจากทุกภาคส่วนของสังคมไทย ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ หรือมีภูมิปัญญา ที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นประโยชน์ในการให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีอย่างรอบด้าน สภาที่ปรึกษาฯ จึงต่างจากสภาการเมือง

ภาพของสภาที่ปรึกษาฯ จึงเป็นภาพของความแตกต่าง .... เสมือนเป็นการจำลองประเทศไทยไว้ที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

โดยจะเห็นได้จากการที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีสมาชิกหลายท่านมาจากภาคธุรกิจ ได้แก่ คุณแสงชัย โสตถีวรกุล คุณชนะ รุ่งแสง คุณวิจิตร ณ ระนอง คุณปรีชา ส่งวัฒนา คุณชุมพล พรประภา คุณสุรพล ว่องวัฒนโรจน์ ฯลฯ ภาคเกษตร ได้แก่ คุณนิพา นันตา คุณสารีเพาะ เด็งสาแม คุณบุญเพ็ง รัตนะพันธ์ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีสมาชิกที่ได้ดำเนินการอยู่ในส่วนของการพัฒนาทางด้านสังคมหลายท่าน เช่น อาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ คุณรัชนีภรณ์ คุปรัตน์ คุณชัยวัฒน์ สุรวิชัย คุณรัชนี ธงไชย คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และพ่อหลวงจอนิ โอ่โดเชา รวมทั้งใครต่อใครอีกหลายคน เป็นต้น

ที่มา

พรรณราย ขันธกิจ. การวางยุทธวิธี และกระบวนการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนถึงการจัดทำร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. เอกสารผลงานลำดับที่ 1 เพื่อเสนอพิจารณาให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 10 (ชช.) ที่ปรึกษากลุ่มงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรุงเทพฯ 2543.

สถาพร วชิรโรจน์. ความคิดเห็นของประชาชนต่อสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. ภาคนิพนธ์ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์, 2543.

สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2544). สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : เพชรรุ่งการพิมพ์.

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 30/2542-2543 วันที่ 15 มีนาคม 2543.

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5/2543 วันที่ 12 กรกฎาคม 2543.

รายงานการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 5/2543 วันที่ 28 สิงหาคม 2543.

รายงานการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 19/2543 วันที่ 13 ตุลาคม 2543.

รายงานการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 20/2543 วันที่ 16 ตุลาคม 2543.

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 34/2543 วันที่ 19 ตุลาคม 2543.

www.nesac.go.th/

อ้างอิง

  1. พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543.