พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ผู้เรียบเรียง อุเชนทร์ เชียงเสน
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย:พธม. (People's Alliance for Democracy: PAD)
การก่อตัวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549[1] ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ในการก่อตั้งได้กำหนด “พันธกิจ” ไว้ 3 ประการ ดังต่อไปนี้
1. รณรงค์ผลักดันให้นายกทักษิณ ชินวัตรที่ขาดความชอบธรรมขั้นพื้นฐาน ลาออกจากตำแหน่ง
2. ปิดโปงความไม่ชอบธรรมและวาระซ่อนเร้นของระบอบทักษิณ
3. ประสานกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคม ผลักดันการปฎิรูปการเมืองไทย ครั้งที่ 2 โดยยึดแนวทาง “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” [2]
ทั้งนี้ ในช่วงการก่อตั้ง พันธมิตรฯ มีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
- ที่ปรึกษา: นายระพี สาคริก, นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์, ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ
- องค์กรประชาธิปไตย/องค์กรพัฒนาเอกชน: นายพิภพ ธงไชย, นายพิทยา ว่องกุล, นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข, นางสาวรสนา โตสิตระกูล, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, ตัวแทนนายสนธิ ลิ้มทองกุล
- นักธุรกิจ : นายปรีดา เตียสุวรรณ เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อปฏิรูปการเมือง
- นักวิชาการ: สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
- แรงงาน : สมศักดิ์ โกศัยสุข, นายศิริชัย ไม้งาม
- องค์กรสลัมเพื่อประชาธิปไตย : นายสุวิทย์ วัดหนู
- สหพันธ์นิสิตสักศึกษาแห่งประเทศไทย : นางสาวกชวรรณ ชัยบุตร (เลขาธิการสนนท. ในขณะนั้น)
- เกษตร-ชาวนา: นายวีรพล โสภา
- ครู; นายอวยชัย วะทา หรือผู้แทน, ตัวแทนแนวร่วมครูกู้ชาติสี่ภาค
- เครือข่ายศิลปินเพื่อประชาธิปไตย; นายทองกราน ทานา
โดยมีนายสุริยะใส กตะศิลา เป็นผู้ประสานงาน และนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เป็นรองผู้ประสานงาน
นอกจากนั้นยังมีกลุ่ม “แนวร่วม” ที่ได้มีการประสานงานอย่างเป็นทางการ 3 กลุ่ม คือ
(1) กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิทางสังคม มีนายสุเทพ อัตถากร เป็นแกนนำ
(2) กลุ่มวุฒิสภาเพื่อการปฏิรูปการเมือง ซึ่งในขณะนั้นนั้นประกาศเข้าร่วมจำนวน 9 คน เช่น น.พ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ, นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, นายการุณ ใสงาม และนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ
(3) เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการปฏิรูปการเมือง นำโดย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล และ นายบรรเจิด สิงคะเนติ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(4) กลุ่มเครือข่ายองค์กรชาวบ้านในต่างจังหวัดซึ่งขึ้นอยู่กับความสะดวกในการประสานงาน[3]
ต่อมา พันธมิตรฯ ได้ปรับโครงสร้างการนำเป็น “5 แกนนำ” ประกอบ (1) พลตรีจำลอง ศรีเมือง (2) นายสนธิ ลิ้มทองกุล (3) นายสมศักดิ์ โกศัยสุข (4) นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ (5) นายพิภพ ธงไชย
อย่างไรก็ตาม แม้การก่อตั้งการ “ก่อตั้ง” ที่เป็นทางการจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว แต่กล่าวได้ว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ นั้น มีจุดเริ่มต้นที่การเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล และเครือข่ายในเครือผู้จัดการ ผ่านรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2548 หลังจากรายการ ”เมืองไทยรายสัปดาห์” ทางช่อง 9 อสมท. ซึ่งจัดโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล และนางสาว สโรชา พรอุดมศักดิ์ ที่เริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ถูกปลดออกจากผังรายการ
การชุมนุมทางการเมืองผ่านรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ภายใต้การนำของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ภายใต้สโลแกน “ถวายคืนพระราชอำนาจ” มีประชาชนเข้าร่วมเริ่มจากหลักร้อยหรือพันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพัฒนาเป็นหลักหมื่นหรือหลายหมื่นที่สวนลุมพินี และพัฒนาการจากชุมนุมอยู่กับที่ไปสู่การเดินขบวนมายังทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 13 มกราคม 2549
หลังจากการขายหุ้นมูลค่ากว่า 73,000 ล้านบาท ในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทชินคอร์เปอเรชั่น ได้มีการจัดการชุมนุมใหญ่อีกครั้ง ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ภายใต้ภารกิจ “กู้ชาติ” ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และมีการเดินขบวนไปถวายฎีกา “เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าปัดเป่าทุกข์ยากของอาณาประชาราษฎร์ อันเกิดจากน้ำมือของพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี” ที่สำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง
ทั้งนี้รากฐานทางอำนาจที่ประชาชนสามารถที่จะ “ถวายคืนพระราชอำนาจ” ได้นั้นถูกอธิบายในการชุมนุมใหญ่เพื่อ “กู้ชาติ” ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ว่า
ประชาชนทั้งปวงเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่ได้รับพระราชทานจากสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมีสิทธิสมบูรณ์ ในการเรียกร้องอำนาจนั้นคืนและถวายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อทรงใช้ร่วมกับประชาชน เมื่อรัฐบาลขาดความชอบธรรมและเกิดวิกฤตใหญ่หลวง[4] (เน้นโดยผู้อ้าง)
ขณะเดียวกัน ทางด้านองค์กรเอ็นจีโอ/องค์กรพัฒนาเอกชนก็ได้จัดตั้ง “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ขึ้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลลาออก เปิดทางให้มีการปฏิรูปการเมือง และเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล[5] โดยมีการชุมนุมครั้งแรกในนาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” [ร่วมกับเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร] ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 โดยมีผู้เข้าร่วมหลายหมื่นคน
กล่าวได้ว่า การ “สนธิกำลัง” กันของขบวนการ “ถวายคืนพระราชอำนาจ”ภายใต้การนำของนายสนธิ ลิ้มทองกุล กับ “พันธมิตรประชาเพื่อประชาธิปไตย” ภายใต้การนำของเอ็นจีโอ“ภาคประชาชน” หลายสิบองค์กร เกิดขึ้นหลังเกิดกรณีการขายหุ้นชินคอร์ปและการเคลื่อนไหวไล่รัฐบาลเป็นไปอย่างคึกคัก แม้ว่าก่อนหน้านั้น “ผู้นำองค์กรภาคประชาชน” อย่างนายพิภพ ธงไชย จะไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว “ถวายคืนพระราชอำนาจ” ดังที่เคยได้ให้สัมภาษณ์ว่า
[ถาม:การใช้วาทกรรมเรื่องพระราชอำนาจมาเป็นเครื่องมือในการจัดการศัตรูทางการเมืองไม่ว่าจากฝ่ายใด ในระยะยาวมันจะส่งผลเสียกับสังคมอย่างไร]
ก็จะส่งผลเสียกับสังคมประชาธิปไตย เพราะการที่ไปใช้ ‘วาทกรรมเรื่องพระราชอำนาจ’ มันเป็นการถอยหลัง แทนที่จะมาเล่นเรื่องอำนาจของภาคประชาชน แต่อำนาจประชาชนชนมันเพิ่งเติบโต มันจับต้องไม่ได้ มันเห็นไม่ชัด แต่พระราชอำนาจนี่สืบเนื่องกันมาหลายร้อยปี การใช้ ’วาทกรรมเรื่องพระราชอำนาจ’ จะมีผลเสียกับการเติบโตในเรื่องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม มันจะทำให้เรื่องพวกนี้ชะงักงัน ในความเห็นของผม เป็นการถอยหลังเข้าคลอง แต่ว่าพวกนี้ไม่มีทางเลือก เพราะฉะนั้นพวกนี้ ไม่รู้จะจัดการกับทักษิณอย่างไร เพราะฉะนั้นพวกนี้ก็พยายามจัดการทุกอย่าง เพราะเขาคิดว่าพระสยามเทวาธิราชคงช่วยไม่ได้ก็เลยต้องไปเพิ่งของจริง[6] (เน้นโดยผู้อ้าง)
โดยนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ได้สรุปความเห็นของ “เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน” ในการเข้าร่วมกับ”ขบวนการถวายคืนพระราชอำนาจ” ว่า
ตอนนี้องค์กรภาคประชาชนมีความเห็นร่วมๆ กันอยู่ 2-3 ประเด็น ประเด็นแรกก็คือเห็นว่า รัฐบาลทักษิณหมดความชอบธรรมแล้ว จึงอยากให้นายกฯ ทักษิณลาออก ประเด็นที่ 2 ก็คืออยากให้มีการปฏิรูปการเมืองไทยครั้งที่ 2 ปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประเด็นที่ 3 สถานการณ์การเมืองขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่ต้องร่วมไม้ร่วมมือกันในการทำให้การเมืองเดินหน้าไปในทางที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ[7] (เน้นโดยผู้อ้าง)
ทั้งนี้ สุริยะใส กตะศิลา ได้อธิบาย “ระบอบทักษิณ” อันเป็นปัญหาที่เขาเห็นว่าใหญ่กว่าตัวคุณทักษิณว่า มีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้
ระบอบที่ผนวกเอาอำนาจทางการเมืองกับอำนาจทุนเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วเป็นระบอบที่สถาปนาอำนาจให้กับตระกูลและพวกพ้องตนเอง และเป็นระบอบที่เน้นการปกครองจากส่วนบนลงล่าง รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ควบคุมพลังอิสระและจัดระเบียบสังคมครั้งใหญ่เพื่อให้ขึ้นตรงกับส่วนกลาง ทำให้การเมืองไทยแทนที่จะก้าวหน้าไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญที่มีการบัญญัติที่ก้าวหน้ามากก็กลับไปติดอยู่กับที่หรือบางประเด็นก็ถอยหลังไปด้วย[8]
การเคลื่อนไหวที่สำคัญ
การขับไล่รัฐบาลทักษิณ
หลังจากการเคลื่อนไหวใหญ่ในนาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ครั้งแรกในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 และกระแสการเรียกร้องขับไล่จากกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมไทย อย่างกว้างขวาง ในที่สุดรัฐบาลทักษิณได้ประกาศ “ยุบสภา”ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน 2549 แต่พันธมิตรฯ กลับเห็นว่าเป็นการใช้การเลือกตั้งเป็น “เครื่องมือซักฟอกตัวเอง” จึงคงยืนยันชุมนุมในขับไล่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ออกจากตำแหน่งอย่างไม่มีเงื่อนไข และ“ให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2” ก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยจัดให้มีการชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวงในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549
อย่างไรก็ตาม การชุมนุม แม้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุเป้าหมายหรือข้อเรียกร้องของตนได้ พันธมิตรฯ จึงได้ทำการวินิจฉัยว่า หากปล่อยให้การเลือกตั้งดำเนินต่อไปจะทำให้เกิด “วิกฤตครั้งใหญ่” ที่มีระดับของความรุนแรงและความเสียหายไม่น้อยกว่าการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต ดังนั้น จึงมีทางออกหรือประตูแห่งการเปลี่ยนแปลงภายในระบบ ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญเหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียว คือ มาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ที่บัญญัติว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” พันธมิตรฯ จึงได้
ขอพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระกรุณาใช้พระราชอำนาจตามนัยแห่งมาตรา 7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 พระราชทานนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม โดยพลัน[9] (เน้นโดยผู้อ้าง)
แต่การขอ“พระราชทานนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 โดยพลัน” โดยอ้างมาตรา 7 ก็ทำให้กระแสการคัดค้านจากฝ่ายต่างๆ ด้วยเช่นกัน และไม่สามารถเป็นจริงได้ เนื่องจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 25 เมษายน 2549 ความว่า “ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญก็เป็นการอ้างที่ผิด” แต่หลังจากนั้นนายพิภพ ธงไชย แกนนำก็ยังคงยืนยันว่า “ถ้าเรายอมรับมาตรา 7 เป็นมาตราหนึ่งในรัฐธรรมนูญ และยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประชาธิปไตย ถ้าเดินตามมาตรา 7 จะบอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตยได้ยังไง”[10]
การเคลื่อนไหวขับไล่อย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งโดยการจัดกิจกรรมชุมนุมขับไล่และอื่นๆ การปฏิเสธไม่ยอมรับการเลือกตั้งจากพันธมิตรฯ การบอยคอยการเลือกตั้งของพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น โดยการไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง, ประสานกับ “ตุลาการภิวัฒน์” ที่ตัดสินให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็น “โมฆะ”, ฯลฯ และการสนธิกำลังของฝ่ายต่างๆ นำไปสู่ “กองทัพภิวัฒน์” ในที่สุด โดยการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ของ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ก่อตั้งสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง
หลังจากรัฐประหาร พันธมิตรฯ ได้ประกาศยุติบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมือง[11] และ ได้รวมตัวกันในนาม “สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง: สปป. (People’s Assembly for Political Reform : PAPR.) เพื่อรองรับการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป
โดยบทบาทที่สำคัญของ สปป. ก็คือ การออกมาสนับสนุนการทำงานของคณะรัฐประหาร รัฐบาล และกลไกต่างๆ ที่คณะรัฐประหารก่อตั้งขึ้น ในการกำจัด “ระบอบทักษิณ” รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ออกมาคัดค้านการรัฐประหาร รวมทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรี
ในช่วงการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ 2550 สปป. ได้จัดเวทีคู่ขนานกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเครือข่ายต่างๆ ต่อเนื้อหารัฐธรรมนูญ และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2550 สปป.ได้จัดประชุมเครือข่ายเพื่อกำหนดท่าที่ต่อร่างรัฐธรรมนูญ และได้ออก “คำประกาศ สปป. ‘เหตุผลสำคัญในการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550’” โดยมีเนื้อหาที่สำคัญดังต่อไปนี้
จุดยืน สปป.ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550
1.สปป.ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้รวม 309 มาตรา เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังไม่สามารถทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ต่อยอดจากการปฎิรูปการเมืองครั้งที่ 1 (รัฐธรรมนูญ 2540) ได้อย่างแท้จริง แม้หลายมาตราและหลายประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะพื้นที่ทางการเมืองของภาคประชาชนจะมีความก้าวหน้าก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางมาตราที่เอื้ออำนวยให้รัฐราชการหรือระบอบอำมาตยาธิปไตย มีพื้นที่ในรัฐธรรมนูญมากขึ้นเช่นกัน
2. แม้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จะ ยังมีข้อบกพร่องอยู่หลายประเด็น แต่ถ้ามองจากจุดยืนของการเมืองภาคประชาชน ถือว่าได้เปิดพื้นที่หรือช่องทางใหม่ๆ ให้กับประชาชนมากขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 อย่างชัดเจน อาทิ มาตรา 55 สิทธิในที่อยู่อาศัย มาตรา 61 สิทธิของผู้บริโภค มาตรา 84 การจัดให้มีสภาเกษตรกร มาตรา 87 กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง และประการสำคัญเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญได้ เป็นต้น
ดังนั้น สปป.จึงมีมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน และในช่วงการเลือกตั้ง สปป.จะยื่นข้อเสนอให้พรรคการเมืองทุกพรรคการเมือง รวมทั้งรณรงค์ให้กระแสสังคมมีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างข้างต้นเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง[12]
โดยมีเงื่อนไขผูกพันที่สำคัญคือ สปป.จะรณรงค์ผลักดันให้มีการแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 อย่างเร่งด่วน เช่น มาตรา 111 ที่มาของ สว. มาตรา 93 ระบบเลือกตั้ง สส. มาตรา 229 242 246 และ 252 ที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ มาตรา 309 การนิรโทษกรรม คมช.เป็นต้น โดย สปป.จะรณรงค์รวบรวมรายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ มาตรา 291 (1) เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง รวมทั้งทำข้อเสนอเพื่อเป็นสัญญาประชาคมกับทุกพรรคการเมือง
นอกจากนี้ นายนายพิภพ ธงไชย แกนนำ สปป. ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า “การพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อยากให้ทุกฝ่ายมองไปข้างหน้า ซึ่งจะทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านแล้วก็จะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยทางการเมืองมากขึ้น ส่วนไหนที่ไม่มี รัฐบาลที่มาจากการเมือกตั้งก็สามารถเข้าไปแก้ไขได้”
การรื้อฟื้นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่
การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชน (ซึ่งเป็นการรวมตัวของสมาชิกพรรคไทยรักไทยเดิม) ซึ่งได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด คือ 233 ที่นั่งจาก 480 ที่นั่ง ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มานาน แกนนำของพันธมิตรฯ ได้ประชุมและมีมติรื้อพื้นพันธมิตรฯ ขึ้นมาใหม่อีกครั้งในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 โดยให้เหตุผลว่าปัญหาต่างๆ ที่เขานิยาม “ยังไม่สามารถได้รับการแก้ไขให้เสร็จสิ้นในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มาจากการรัฐประหาร” และอธิบายว่า
รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช แท้ที่จริงแล้วก็คือรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็น “นอมินี” รับคำสั่ง และทำงานรับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้นจึงมีมติฟื้นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อพร้อมดำเนินการต่อสู้กับพฤติการณ์ของรัฐบาลนายสมัครที่จะทำงานรับใช้ระบอบทักษิณในทุกรูปแบบ
หลังจากรื้อฟื้น พันธมิตรฯ ได้จัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองที่สำคัญขึ้น 2 ครั้ง คือ การจัดยามเฝ้าแผ่นดินภาคพิเศษ วันที่ 28 มีนาคม 2551 และ วันที่ 25 เมษายน 2551 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อการเสนอญัตติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ในวันที่ 21 พฤษภาคม ทำให้ในวันที่ 22 พฤษภาคม พันธมิตรฯ ได้ประกาศ จัด “ชุมนุมใหญ่” ขึ้นทันที โดยอธิบายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการ “ล้มล้างรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ทั้งฉบับที่มาจากการลงประชามติของคนส่วนใหญ่ในประเทศ 14 ล้าน 7 แสนเสียง” และ “จากเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นหลักฐานชัดเจนว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ได้ดำเนินการเป็นอันตรายต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนประชาชนอย่างชัดเจน”
การชุมนุมใหญ่ 193 วัน
พันธมิตรฯ ได้จัดชุมนุมใหญ่ขึ้นในวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 โดยเริ่มรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกสกัดไว้ที่สะพานมัฆวาน จึงได้ปักหลักชุมนุมที่บริเวณดังกล่าว และเพียงหลังการชุมนุมเพียงหนึ่งวัน แกนนำพันธมิตรฯ ได้ยกระดับเป้าหมายไปสู่การขับไล่รัฐบาล โดยนายสนธิ กล่าวปราศรัยว่า “การชุมนุมวันนี้ไม่ใช่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว แต่เปลี่ยนจุดหมายมาขับไล่รัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้เลย” และได้ประกาศยกระดับเป้าหมายการชุมนุมเป็น “โค่นล้มระบอบทักษิณและขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดอันธพาลให้สิ้นซาก” อย่างเป็นทางการในวันที่ 30 พฤษภาคม 2551
หลังจากการปักหลักชุมนุมพันธมิตรฯ ได้ ประกาศ “เป่านกหวีด”ระดมพลเคลื่อนไหวเข้าร่วมการเคลื่อนไหวหลายครั้ง ที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
1. 20 มิถุนายน 2551 “สงคราม 9 ทัพ” พันธมิตรฯ ได้เคลื่อนกำลังคนฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาปักหลักชุมนุมด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล ตรงข้ามสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
2. 26 สิงหาคม 2551 “ปฏิบัติการไทยคู่ฟ้า” พันธมิตรฯ นำนักรบศรวิชัย ได้เคลื่อนกำลังคนไปบุกยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ หรือ NBT ในช่วงตอนเช้าตรู่ และพยายามเชื่อมต่อสัญญาณถ่ายทอดสัญญาณเอสเอสทีวีแต่ไม่ประสบความสำเร็จ
นอกจากนั้นยังได้บุกยึดสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กรมประชาสัมพันธ์ และบุกยึดทำเนียบได้สำเร็จในช่วงบ่ายในวันเดียวกัน ต่อมาในวันที่ 29 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามผลักดันให้ผู้ชุมนุมออกจากทำเนียบ จึงเกิดการปะทะกับผู้ชุมนุม จนทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย
หลังจากพันธมิตรฯ บุกยึดทำเนียบสำเร็จได้ ในช่วงดึกวันที่ 1 ต่อวันที่ 2 กันยายน 2551 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯ ซึ่งได้ชุมนุมกันที่สนามหลวง ได้เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อต้องการไปล้อมทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้กลุ่มพันธมิตรฯ สลายการชุมนุม ได้ทะปะกับพันธมิตรฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นายณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสงค์ อายุ 55 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มนปช. ถูกตีที่ใบหน้าและศีรษะและมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 42 ราย
3. 7 ตุลาคม 2551 พันธมิตรฯ เป่านกหวีดระดมคน เปิดล้อมรัฐสภาเพื่อขัดขวางการ แถลงนโนบาย ของรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (ซึ่งได้รับการเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช สิ้นสภาพนายกรัฐมนตรี) และเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้ 443 ราย เสียชีวิต 2 ราย
4. 23 พฤศจิกายน 2551 พันธมิตรฯ ได้ประกาศระดมพลทำสงครามครั้งสุดท้าย ‘ม้วนเดียวจบ’ เพื่อต้องการ “หยุดการใช้อำนาจรัฐ” โดยในตอนเช้าของวันที่ 24 ธันวาคม 2551 พันธมิตรฯ ได้นำกำลังไปปิดล้อมรัฐสภาแต่เมื่อการประชุมรัฐสภาถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น พันธมิตรจึงเคลื่อนขบวนไปปิดสนามบินดอนเมืองซึ่งเป็นทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว และต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 ได้เคลื่อนกำลังไปปิดสนามบินสุวรรณภูมิ
โดยในเวลาประมาณ 20.00 น. พันธมิตรได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า
พันธมิตรได้ประกาศระดมพลใหญ่ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ของวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 50 ชั่วโมงแล้ว ที่พี่น้องประชาชนได้เข้าร่วมพันธมิตรเคลื่อนไหวกดดัน เพื่อหยุดอำนาจรัฐบาลอย่าง สงบ สันติ อหิงสา การเคลื่อนไหวโดยมวลชนไปตามสถานที่ต่างๆ อันได้แก่ บริเวณรอบรัฐสภา กระทรวงการคลัง กองบัญชาการตำรวจนครบาล และทำเนียบรัฐบาลชั่วคราวที่สนามบินดอนเมือง แต่ทว่ารัฐบาลยังไม่แสดงความสำนึกยอมรับความผิดที่เกิดขึ้น ดึงดันจะอยู่ในอำนาจบริหารต่อไป และยังดื้อรั้นที่จะหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อพรรคพวกของตัวเองต่อไป
พันธมิตรจึงมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับการชุมนุมและเพิ่มมาตรการอารยะขัดขืนโดยการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อยื่นคำขาดผ่านพี่น้องประชาชนทั่วประเทศและทั่วโลกไปยังนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และคณะรัฐบาลให้ลาออกจากตำแหน่งโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข และกราบขออภัยมายังพี่น้องประชาชนทุกท่านที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนิน การในครั้งนี้ แต่เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อหยุดอำนาจของรัฐบาลทรราช ฆาตกรหุ่นเชิดให้ได้อย่างถึงที่สุด
ทั้งนี้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกราบขออภัยมายังพี่น้องประชาชนทุกท่านที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินการในครั้งนี้ แต่เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อหยุดอำนาจของรัฐบาลทรราช ฆาตกรหุ่นเชิดให้ได้อย่างถึงที่สุด
ท่ามกล่างสถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้พรรคการเมืองที่อยู่ในกระบวนพิจารณาคดียุบพรรค คือ พลังประชาชน พรรคชาติไทย และ พรรคมัชฌิมาธิปไตย มาแถลงปิดคดีในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ซึ่งถูกมองว่าเป็นการ “เร่งรัดให้มีการวินิจฉัยคดีอย่างรีบด่วน”
วันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ทำให้พันธมิตรฯ ประกาศยุติการชุมนุม โดยระบุว่า จากผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้พันธมิตรฯ บรรลุเงื่อนไข 2 ประการ คือ (1) ได้รับชัยชนะในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ จนทำให้ยุบพรรคฝ่ายรัฐบาลที่ทุจริตเลือกตั้งถึง 3 พรรค และ (2) ได้รับชัยชนะในการขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดชุดนี้เป็นผลสำเร็จ จึงขอประกาศยุติการชุมนุมทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองในวันที่ 3 ธันวาคม 2551
นอกจากนั้น ยังประกาศว่า (1) หากรัฐบาลหุ่นเชิดของระบอบทักษิณกลับมาอีกหรือมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย เพื่อฟอกความผิดให้กับคนในระบอบทักษิณ เอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมือง หรือลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ พันธมิตรฯ ก็จะกลับมาอีก (2) หลังจากนี้ไป รัฐบาลชุดใดๆก็ตามที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินแต่ไม่มีความจริงใจในการปฏิรูปสู่การเมืองใหม่โดยร่วมกับประชาชน พันธมิตรฯ ก็จะกลับมาอีกทันทีเช่นกัน
ทั้งนี้หากนับตั้งแต่การเริ่มต้นชุมนุมในวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 จนถึงวันยุติการชุมนุมในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 แล้ว รวมเวลาในการชุมนุมทั้งหมด 193 วัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาลที่ต่อเนื่องยาวนานมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่
การเมืองใหม่: แนวคิดทางการเมืองของพันธมิตร
แกนนำพันธมิตรฯ ได้สรุปภารกิจในการเคลื่อนไหวในรอบแรก (รัฐบาลทักษิณ)ว่าคือ "การโค่นล้มระบอบทักษิณและให้ตัวนายกฯ ทักษิณออกจากการเมือง” หรือ “กู้ชาติ” ซึ่ง “มุ่งแต่จัดการทักษิณ” แต่การการเคลื่อนไหวในรอบสอง (การขับไล่รัฐบาลพลังประชาชน) แกนนำได้คิดเรื่อง “สร้างชาติ” ซึ่งไปไกลกว่าเรื่องทักษิณและไปไกลกว่าเรื่องรัฐสภานักเลือกตั้ง นั่นคือ การสร้าง “การเมืองใหม่” เนื่องจากได้ประเมินการเคลื่อนไหวต่อสู้ในช่วงแรกแล้วพบว่า “การพุ่งเป้าไปที่การโค่นล้มระบอบทักษิณ การขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้พ้นจากตำแหน่งอย่างเดียว มันไม่ได้แก้ปัญหาของประเทศอย่างแท้จริง และในทางการเคลื่อนไหว อาจจะเป็นการเตะหมูเข้าปากสุนัขก็ได้ คือไล่ทักษิณไป แต่ได้นอมินีทักษิณมา“
หากถ้าพิจารณาจากการเคลื่อนไหวและพิจารณาเนื้อหาการเมืองใหม่ที่ถูกนำเสนออย่างละเอียด ก็จะสามารถเข้าใจได้ว่า “การเมืองใหม่”เป็น “พิมพ์เขียว“หรือ กรอบโครงความคิดในการปฏิบัติการร่วมทางการเมือง ของพันธมิตรฯ
โดยพันธมิตรได้อธิบายหลักการที่สำคัญของการเมืองใหม่ว่า “เป็นการเมืองที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ลดอำนาจหน้าที่ของตัวแทนหรือผู้แทนลง เพิ่มบทบาทและอำนาจให้กับประชาชนมากขึ้น” ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ให้ความสำคัญกับที่มาหรือกระบวนการในการตัดสินใจในการใช้อำนาจเท่านั้น แต่ต้องสร้างหลักประกันว่าประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกชนชั้นจะเข้าถึงอำนาจในการตัดสินใจหรือกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
โดยเสนอให้มี “เสนอสูตรผสมของผู้เข้าสู่อำนาจในสัดส่วน 70:30 กล่าวคือ เพิ่มกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็น ร้อยละ 70 และลดที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งโดยวิธีการเลือกตั้งลงเหลือร้อยละ 30” และต่อมาได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
70 ต่อ 30 ในความหมายของเราก็คือ ลดระดับการปกครองโดยระบบตัวแทนของนักการเมือง หรือผลแพ้-ชนะของการเลือกตั้ง ลงเหลือแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เราต้องยอมรับว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ระบบเลือกตั้งมีอิทธิพลชี้ขาดการเมืองไทยทุกยุคทุกสมัย ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามันไปไม่ได้ แล้วอีก 70 เปอร์เซ็นต์ ในความหมายก็คือว่า เพิ่มพื้นที่ทางการเมืองให้กับการเมืองทางตรงหรือประชาธิปไตยทางตรง หมายความว่าเราต้องเปิดพื้นที่ให้กับชาวไร่ชาวนา กรรมกร คนยากจน คนในชนบท คนพิการ คนชายขอบ พ่อค้าวานิช นักธุรกิจ ต้องเปิดพื้นที่ให้คนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วม มีตัวแทนที่แน่นอน.. (เน้นโดยผู้อ้าง)
ทั้งนี้ ในวันที่ 28 กันยายน 2551 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้กล่าวปราศรัยกับผู้ชุมนุม โดยเสนอหลักการที่เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของการเมืองใหม่ ในฐานะที่ตนเองเป็น “ผู้จุดประกาย” ว่า
การเมืองใหม่จะคิดยังไงก็ตาม หลักสำคัญที่สุดที่ต้องชูเอาไว้เลย การเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น ต้องทำให้สถาบันกษัตริย์เข้มแข็ง และใครมาล้มล้างไม่ได้ จะออกแบบอย่างไรก็ตาม ขอให้ออกแบบให้สถาบันกษัตริย์เข้มแข็ง และคืนพระราชอำนาจ คืนให้กับพระองค์ท่านครับ
เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ “โมเดล 70:30” ว่าเป็น “ประชาธิปไตยแบบโควตาอ้อย” หรือไม่เป็นประชาธิปไตย พันธมิตรฯ ก็ได้มีการพัฒนาปรับปรุงสูตรการเมืองใหม่ขึ้นมาหลายครั้ง และได้บทสรุปเป็นบทสรุปการเมืองใหม่ เป็น “ธง 4 ผืน” ประกอบด้วย
ธงผืนที่ 1: ประชาชนชาวไทยมีหน้าที่พิทักษ์รักษา ปกป้องและเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง
ธงผืนที่ 2: ทำให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพ และทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง
- - เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกสาขาอาชีพและทุกภาคส่วนในสังคมในอำนาจทางการเมือง
- - เพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองในการตรวจสอบทางการเมือง และถอดถอนโดยสภาประชาชน
- - เพิ่มการมีส่วนร่วมตรวจสอบ ถอดถอน และการฟ้องร้องต่อนักการเมืองและพรรคการเมือง
ธงผืนที่ 3: ส่งเสริมให้คนดีปกครองบ้านเมือง ป้องกันมิให้คนไม่ดีมีอำนาจ
- - การปฏิรูปนักการเมือง การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, การปฏิรูปตำรวจ, การปฏิรูปองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
ธงผืนที่ 4: ทำให้พลเมืองเข้มแข็ง เพื่อวางรากฐานทำให้การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยมีความเข้มแข็งและยั่งยืน
โดยสรุป “การเมืองใหม่” ของพันธมิตรฯ แม้จะมีการพัฒนาปรับปรุง เปลี่ยนคำ/ใช้คำใหม่ๆ หรือขยายขอบเขตให้กว้างขวางรอบด้านมากขึ้นแต่ “การเมืองใหม่” ในฐานะกรอบโครงความคิดนั้น มีลักษณะใจกลางทางความคิดที่สำคัญ คือ จุดรวมศูนย์ความเลวร้ายของสังคมการเมืองไทยทั้งหมดไม่ว่าเรื่องใด เกิดขึ้นจากพฤติกรรมรวมหมู่ของนักการเมืองและผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่เห็นแก่เงิน และ (2) จึงมีทิศทางที่เป็นเอกภาพในการจัดการกับความชั่วร้ายดังกล่าว คือ มีหลักชี้นำในการออกแบบการเมืองใหม่ อยู่ที่ (1) “ส่งเสริมให้คนดีมาปกครองบ้านเมือง และป้องกันไม่ให้คนไม่ดีมีอำนาจ ตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” (2) ลดอำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง กล่าวคือ
(1) ลดจำนวนหรือสัดส่วนนักการเมืองที่จะเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง (ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) โดยเสนอให้มีการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยใช้สัดส่วนสรรหา: ต่อเลือกตั้ง เริ่มจาก 70:30 (25 มิถุนายน 2551) มาเป็น 50: 50 (2 ตุลาคม 2551) หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ คัดค้านมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเสนอสูตรใหม่ “เพื่อให้มีการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์” โดยให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครึ่งหนึ่ง และเลือกตั้งตาม “ตัวแทนอาชีพ”อีกครึ่งหนึ่ง [โดยไม่ระบุว่าเลือกตั้งอย่างไร หรือต่างกับการสรรหาอย่างไร] (21 ตุลาคม 2551) ขณะที่สมาชิกวุฒิสภา มีทั้งมาจากการเลือกตั้งและการสรรหาเหมือนรัฐธรรมนูญ 2550
(2) ทำให้การได้รับชนะจากการเลือกตั้งไม่มีผลหรือมีอิทธิพลน้อยลงในการกำหนดผู้นำฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล [“ลดระดับการปกครองโดยระบบตัวแทนของนักการเมือง หรือผลแพ้-ชนะของการเลือกตั้ง”] จากการลดสัดส่วนในข้อ (1) และมาตรการที่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบปกติ กับ การสรรหา [เลือกตั้ง? แบบตัวแทนสาขาอาชีพ] เป็นผู้คัดเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อมีเป้าหมายที่จะทำให้ผลแพ้ชนะในการเลือกตั้งไม่มีผลต่อการกำหนดผู้นำรัฐบาล จึงเป็นเรื่องปกติที่พันธมิตรฯ จะปฏิเสธการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง และการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อแบบเขตประเทศ เนื่องจากเห็นว่ามีนัยของการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง หรือเป็น”ระบบกึ่งประธานาธิบดี”
3) พร้อมกันนั้นก็สร้างมาตรการในการควบคุมกำกับอย่างเข้มงวดรุนแรง เพื่อไม่ให้รัฐบาลดำเนินการบริหารที่ผิดพลาด ”ร้ายแรง” โดยมาตรการที่สูงสุดเป็นรูปธรรม คือ การให้บทบาททหารในการควบคุมนักการเมือง/รัฐบาล โดยการทำให้การแทรกแซงทางการเมืองของทหารหรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง “การรัฐประหาร” โดยทหาร เป็นมาตรการที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็เพิ่มมาตรการในการควบคุมกำกับที่ไม่รุนแรงมากเท่ามาตรการแรก คือ การจัดตั้ง “สภาประชาชน” ขึ้นมาควบคู่กับรัฐสภา [ซึ่งยังไม่มีการระบุที่มาหรือคุณสมบัติที่ชัดเจนแน่นอนว่าเป็นอย่างไร] และการถอดถอนฟ้องร้องนักการเมืองและพรรคการเมืองในฐานะปัจเจกบุคคล พร้อมกันนั้นก็เสนอให้มีบทลงโทษอย่างรุนแรงต่อนักการเมืองที่กระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยเสนอให้ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต
4) ถวายคืนพระอำนาจที่ “สำคัญชี้ขาด” ให้แก่พระมหากษัตริย์ คือ“ผู้บัญชาการเหล่าทัพอยู่ในพระราชอำนาจของราชบัลลังก์” โดยให้พระมหากษัตริย์”มีอำนาจในการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงระดับผู้บัญชาการทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ”
เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อเสนอที่ให้ทหารสามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมือง/รัฐบาลได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น นอกจากเป็นการดึงอำนาจควบคุม บังคับบัญชาทหารออกจากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว การเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ นี้ยังเป็นการให้อำนาจกับพระมหากษัตริย์ใช้ผ่านทหารที่อยู่ในพระราชอำนาจของพระองค์ ในการควบคุม/จัดการกับรัฐบาล
ผลสำเร็จของพันธมิตรฯ และ “ม็อบมีเส้น”
กล่าวได้ว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งในด้านการระดมทรัพยาการ และผู้คนกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างกว้างขวาง
ในขณะเดียวกัน ในแง่เป้าหมายที่กำหนดไว้ ก็สามารถที่จะบรรลุผลได้ตามที่ต้องการ กล่าวคือ สามารถขัดขวางความพยายามของฝ่ายต่างๆ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ได้สำเร็จ และที่สำคัญที่สุดคือ สามารถขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ถึง 3 รัฐบาล คือ
(1) รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ซึ่งมีพ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องยุบสภา ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และการเคลื่อนไหวขับไล่ต่อไปจนนำไปสู่การรัฐประหารเพื่อกำจัด “ระบอบทักษิณ” ในวันที่ 19 กันยายน 2549 และนำไปสู่การยุบพรรคไทยรักไทยในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550
(2) รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ซึ่งมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี
(3) รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ซึ่งมีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
(4) นำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคพรรคมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ในวันที่ 2 ธันวาคม 2551
(5) และทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีการถกเถียงว่า ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของพันธมิตรฯ แท้จริงแล้ว มิได้เป็นเพียงเพราะการเคลื่อนไหวด้วยตัวพันธมิตรฯ เองทั้งหมด แต่เนื่องจากเป็น “ม็อบมีเส้น” ที่แม้ว่า การกชุมนุมจะมีการกระทำการที่ผิดกฎหมาย มีการใช้ความรุนแรง มีการอาวุธ “มิใช่การชุมนุมโดยสงบอันจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ” แต่รัฐบาลไม่สามารถที่จะดำเนินการใดๆ กับพันธมิตรฯ ได้ ตามคำอธิบายของนาย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ว่า ทุกคนทราบดีว่าพันธมิตรฯ ชุมนุมมา 6 เดือน และใช้เสรีภาพอย่างผิดกฎหมาย ทุกคนก็ทราบดีว่าม็อบนี้เป็นม็อบมีเส้น เพราะหากเป็นม็อบธรรมดาเรื่องจบไปนานแล้ว
ผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตที่สืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวของพันธมิตร
ศูนย์เอราวัณ ได้สรุปยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุชุมนุมของพันธมิตรฯ และการชุมนุมของ นปช. ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.-2 ธ.ค. 2551 ว่า มีผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 737 ราย และมีเสียชีวิต 7 ราย คือ
1.นายณรงค์ศักดิ์ กอบไธสง อายุ 55 ปี (นปช.) จากเหตุการณ์ปะทะระหว่างพธม.และนปช. ที่หน้าอาคารสหประชาชาติ วันที่ 2 กันยายน 2551
2.น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ อายุ 27 ปี จากการสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551
3.พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี จากเหตุระเบิดรถจี๊ป เชโรกี หน้าที่ทำการพรรคชาติไทย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551
4.นายเจนกิจ กลัดสาคร อายุ 48 ปี จากเหตุระเบิดที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเช้ามืดวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551
5.นายยุทธพงษ์ เสมอภาค อายุ 22 ปี การ์ดพธม. จากเหตุระเบิดที่แยกมิสกวัน เมื่อเช้ามืดของวันที่ 22 พฤศจิกายน 2551
6.น.ส. กมลวรรณ หมื่นหนู อายุ 27 ปี จากเหตุระเบิดทำเนียบรัฐบาล วันที่ 30 พฤศจิกายน 2551
7.นายรณชัย ไชยศรี อายุ 29 ปี จากเหตุระเบิดที่สนามบินดอนเมือง วันที่ 2 ธันวาคม 2551
นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย คือนายเศรษฐา เจียมกิจวัฒนา (บิดานายเทอดศักดิ์ แกนนำ พธม.จ.เชียงใหม่) ถูกกลุ่มนปช.ยิงที่หน้าหมู่บ้านระมิงค์นิเวศน์ จ.เชียงใหม่
อ้างอิง
- ↑ “เปิดตัวแล้ว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ” ประชาไท, 10 กุมภาพันธ์ 2548 อยู่ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=2504&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai (เข้าถึงวันที่ 31 มีนาคม 2551)
- ↑ “โครงสร้างพันมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”ประชาไท, 10 กุมภาพันธ์ 2548 ดูที่ http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=2503&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language= (เข้าถึงวันที่ 31 มีนาคม 2551)
- ↑ “เปิดตัวแล้ว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ” ประชาไท, 10 กุมภาพันธ์ 2548
- ↑ ภาคภนวก 5 “ฎีกา 4 กุมภาพันธ์ 2549” อยู่ใน คำนูณ สิทธิสมาน, ปรากฏการณ์สนธิ: จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์, 2549), หน้า 315-322
- ↑ “สัมภาษณ์สุริยะใส กตะศิลา: ล้มทักษิณไม่พอ ต้องล้มระบอบทักษิณ ” ประชาไท, 7 กุมภาพันธ์ 2549 อยู่ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=2460&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai (เข้าถึงวันที่ 31 มีนาคม 2551)
- ↑ อ้างจาก “พิภพ ธงไชย : ‘การใช้วาทกรรมเรื่องพระราชอำนาจเป็นการถอยหลังเข้าคลอง’,” ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม, 2549), หน้า 6
- ↑ “สัมภาษณ์สุริยะใส กตะศิลา: ล้มทักษิณไม่พอ ต้องล้มระบอบทักษิณ,” ประชาไท, 7 กุมภาพันธ์ 2549 อยู่ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=2460&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai (เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2552)
- ↑ “สัมภาษณ์สุริยะใส กตะศิลา: ล้มทักษิณไม่พอ ต้องล้มระบอบทักษิณ,” เพิ่งอ้าง
- ↑ แถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฉบับที่ 6/2549 นัดหมายชุมนุมใหญ่แสดงตนขอพึ่งพระบารมี ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ปลดชนวนวิกฤตของแผ่นดิน เริ่มต้นการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2, 23 มีนาคม 2549 เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ กรุงเทพมหานคร ดูใน “แถลงการณ์ ‘พันธมิตรฯ’ ฉบับ บันทึกไว้ในแผ่นดิน,” ประชาไท, 23 มีนาคม 2549 อยู่ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=3118&Key=HilightNews เข้าถึงเมื่อ (เข้าถึงวันที่ 31 มีนาคม 2551)
- ↑ กองบรรณาธิการ “พิภพ ธงไชย: พันธมิตรหลัง'ม.7',” แทบลอยด์, ไทยโพสต์, 30 เมษายน 2549
- ↑ “พันธมิตรฯประกาศยุติบทบาทเคลื่อนไหว-งดจัดเมืองไทยรายสัปดาห์” ประชาไท, 21 กันยายน 2549) อยู่ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=5053&Key=HilightNews เข้าถึงเมื่อ เข้าถึงวันที่ 31 มีนาคม 2551
- ↑ “ อ่าน “คำประกาศ สปป. เหตุผลสำคัญในการรับร่าง รธน.50” “ ประชาไท, 16 กรกฎาคม 2550 อยู่ใน ้้http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=8870&Key=HilightNews (เข้าถึงวันที่ 31 มีนาคม 2551)