เอื้ออาทร
ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.กมลชัย รัตนสกาววงศ์
เอื้ออาทร
คำว่า “เอื้อ” หมายถึง เอาใจใส่ มีน้ำใจ เห็นแก่กัน ส่วนคำว่า “อาทร” หมายถึง ความเอื้อเฟื้อ ความเอาใจใส่ ความพะวง รวมคำว่า “เอื้ออาทร” หมายถึง การเอื้อเฟื้อมีน้ำใจให้แก่กัน เป็นคำที่รัฐบาลซึ่งมี พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีใช้เรียกนโยบายที่ช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยต่าง ๆ โดยมีรากเหง้าของความคิดมาจากโครงการ “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” ที่พรรคไทยรักไทยใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งปลายปี 2543 ต่อเนื่องต้นปี 2544 และเมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็เริ่มคิดโครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ เช่น “โครงการบ้านเอื้ออาทร” ของการเคหะแห่งชาติ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยราคาถูกเป็นของตนเอง โดยการผ่อนชำระกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ “โครงการแท็กซี่เอื้ออาทร” “โครงการประกันภัยเอื้ออาทร” “โครงการเงินกู้เอื้ออาทร” ของธนาคารออมสินให้พ่อค้าแม่ค้ากู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อประกอบการค้าแผงลอย โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นต้น
รัฐมนตรีทั้งหลายต่างพยายามสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่นายกรัฐมนตรี เพื่อมิให้ถูกปรับเปลี่ยนออกจากตำแหน่ง โดยพยายามคิดโครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ ขึ้นในกระทรวงที่ตนเองรับผิดชอบ ตัวอย่างเช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งกำกับดูแลกิจการโรงรับจำนำที่ตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่ใช้ชื่อว่า “สถานธนานุเคราะห์” ก็อยากจะเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า “สถาบันการเงินเอื้ออาทร” แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความว่า การเปลี่ยนชื่อในทำนองดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ และยังมีนโยบายที่จะ “ช่วยเหลือผู้ยากไร้” ที่จะนำทรัพย์สินชิ้นใหญ่มาจำนำ เช่น ตู้เย็น โทรทัศน์ เครื่องเรือน โดยการให้สถานธนานุเคราะห์ฝากให้ผู้จำนำช่วยดูแลแทน เพื่อให้ผู้จำนำได้รับประโยชน์ในทรัพย์ที่จำนำนั้นได้ ก็จะเข้าลักษณะ “เอื้ออาทร” แต่ในทางกฎหมายมิอาจจะกระทำตามนโยบายเช่นนั้นได้ เพราะสัญญาจำนำนั้นจะต้องส่งมอบสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ และหากผู้รับจำนำยินยอมให้ทรัพย์สินกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำ สัญญาจำนำย่อมระงับสิ้นไป ทั้งนี้ตามมาตรา 747 และ 769 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์