การพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

การพัฒนายุคต้น

การพิจารณาข้างต้นบ่งชี้ว่า บริบทด้านสถานการณ์บ้านเมืองไทยรวมทั้งเหตุการณ์และข้อจำกัดบางประการ ในทศวรรษแรกแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เปิดโอกาสให้ทรงมีพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาได้มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง ๕ ปีแรก ทรงมีพระราชภารกิจด้านอื่น ๆ อยู่มาก อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า ในวาระแรกที่พระองค์ทรงมีลู่ทางจะริเริ่มงานพัฒนาได้ ก็ทรงปฏิบัติทันที

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เคยรับสั่งเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนว่า แบ่งออกได้เป็น ๒ ช่วง งานช่วงแรกคือใน ๑๐ ปีแรก ฉะนั้น งานช่วงหลังจะครอบคลุมระยะเวลาหลังจากนั้นมีการบันทึกไว้ว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เป็นกิจกรรมการช่วยเหลือประชาชน...ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี ๒๔๙๔ เป็นต้นมา ในแง่ของการพัฒนาสังคมและการปกครอง จากจุดเริ่มต้นนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตพระนครใน วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๔๙๔ ช่วงที่ทรงเริ่มปฏิบัติพระราชภารกิจอย่างจริงจังและสม่ำเสมอน่าจะได้แก่ปี ๒๔๙๕ อันเป็นปีที่ ๖ แห่งรัชกาลเป็นต้นมา พระราชกรณียกิจยุคต้น ๆ อาจจะจัดได้ว่ามีลักษณะเป็นงานพัฒนาสังคม เช่น ด้านสังคมสงเคราะห์หรือประชาสงเคราะห์ ได้แก่ กิจกรรมการรณรงค์หาทุนเพื่อก่อสร้างอาคารพยาบาลตามสถานพยาบาลหลายแห่ง การหาทุนดำเนินการในลักษณะโครงการจัดทำภาพยนตร์ส่วนพระองค์เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อต่อสู้โรคเรื้อนของสถาบันราชประชาสมาสัย กิจกรรมเกี่ยวกับการป้องกันรักษาโรคโปลิโอ อหิวาตกโรค โครงการจัดตั้งโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน ฯลฯ

ส่วนกิจกรรมอันมีลักษณะเป็นโครงการพัฒนาชนบทในต่างจังหวัดครั้งแรก ได้แก่ การพัฒนาในท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการแรก ได้แก่ โครงการสร้างถนนเข้าหมู่บ้านห้วยคด (ภายหลังเปลี่ยนเป็น"ห้วยมงคล") ในเขตอำเภอหัวหิน เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ ในปีต่อมา เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ ก็มีโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า ในเขตพื้นที่อำเภอเดียวกันติดตามมา

การพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแนวทางหนึ่ง ได้แก่การพิจารณาลักษณะของโครงการประเภทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ องคมนตรี ได้เคยอรรถธิบายไว้ว่า บรรดาโครงการที่อยู่ในข่ายที่เกี่ยวข้องมีหลายประเภท ได้แก่ โครงการตามพระราชประสงค์ โครงการหลวง โครงการตามพระราชดำริ และโครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ ดังจะพิจารณารายละเอียดของโครงการแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้

๑.โครงการตามพระราชประสงค์ คือ โครงการซึ่งทรงศึกษาและทดลองปฏิบัติเป็นการส่วนพระองค์ ทรงศึกษาและหารือกับผู้เชี่ยวชาญในวงงาน ทรงแสวงหาวิธีทดลองปฏิบัติ ทรงพัฒนาและส่งเสริม แก้ไขดัดแปลงวิธีการเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อดูแลผลผลิตทั้งในพระราชฐานและนอกพระราชฐาน ซึ่งทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการดำเนินงานทดลองจนกว่าจะเกิดผลดี เมื่อทรงแน่พระทัยว่าโครงการนั้น ๆ จะได้ผลดี เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริงแล้ว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้รัฐบาลได้เข้ามาร่วมสนับสนุนงานในภายหลัง

๒.โครงการหลวง เป็นโครงการที่ทรงเจาะจงดำเนินการและพัฒนาบำรุงรักษาต้นน้ำลำธารในบริเวณป่าเขาทางภาคเหนือ เพื่อบรรเทาอุทกภัยในที่ลุ่มล่างทั้งภาคเหนือตอนใต้ และภาคกลาง เพื่อถนอมน้ำไว้เลี้ยงแม่น้ำลำธารของที่ลุ่มล่างในฤดูแล้ง และด้วยเหตุที่พื้นที่เหล่านี้เป็นแดนชาวเขาจึงได้พัฒนาชาวเขาชาวดอยให้อยู่ดีกินดี ให้เลิกการปลูกฝิ่น เลิกการตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย และเลิกการค้าของเถื่อนผิดกฎหมาย ทรงพัฒนาช่วยเหลือให้ปลูกพืชหมุนเวียนที่มีคุณค่าสูง ปลูกข้าวไร่และเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อบริโภค รวมคุณค่าแล้วให้ได้คุ้มค่าแทนการปลูกฝิ่น ดังนั้น โครงการหลวงก็คือโครงการตามพระราชดำริที่ร่วมปฏิบัติผสมผสานกับหน่วยงานของรัฐบาลในบริเวณต่าง ๆ ในภาคเหนือเพื่อพัฒนาอาชีพชาวเขาชาวดอยนั่นเอง

๓.โครงการตามพระราชดำริ เป็นโครงการที่ทรงวางแผนพัฒนา ทรงเสนอแนะให้รัฐบาลร่วมดำเนินการตามพระราชดำริ หน่วยงานร่วมของรัฐบาลนั้นมีทั้งฝ่ายพลเรือน ฝ่ายทหาร และฝ่ายทหารร่วมกับพลเรือน โครงการประเภทนี้ในปัจจุบันมีอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศ

๔.โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นโครงการที่พระองค์ได้พระราชทานข้อแนะนำและ แนวพระราชดำริให้เอกชนรับไปดำเนินการด้วยกำลังเงินกำลังปัญญา และกำลังแรงงาน พร้อมทั้งติดตามผลงานต่อเนื่องโดยภาคเอกชนเอง เช่น โครงการหมู่บ้านสหกรณ์เนินดินแดง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งสโมสรโรตารี่แห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดและดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ

โครงการทุกประเภทดังกล่าวข้างต้นล้วนแต่เป็น "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ทั้งสิ้นจำนวนโครงการที่เริ่มใหม่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง จากจำนวนจำกัดในระยะต้นเป็นจำนวนมากขึ้นในระยะหลัง มนูญ มุกข์ประดิษฐ์ ได้เสนอผลการวิเคราะห์ลักษณะของโครงการในระยะเริ่มแรกไว้ว่า อาจจะพิจารณาแบ่งเป็น ๒ รูปแบบ คือ (มนูญ มุกข์ประดิษฐ์, ๒๕๓๘:๒๖-๒๙)

๑.โครงการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง เพื่อจะนำผลการศึกษาไปประยุกต์ใช้ สาขาการศึกษาที่ทรงเน้นหนัก ได้แก่ ด้านเกษตร เช่น เรื่องข้าว พืชไร่ น้ำ และประมง เป็นต้น

๒.โครงการปฏิบัติการพัฒนา หรือแก้ปัญหาในพื้นที่มีลักษณะเป็นระบบการพัฒนาแบบผสมผสาน (Integrated development) จุดเน้นของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการศึกษาหรือโครงการปฏิบัติการพัฒนาก็ตามจะให้ความสำคัญต่อปัจจัยหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้อง ๕ ประการอย่างครบวงจร ได้แก่ น้ำ ที่ดินทำกิน ทุน เทคโนโลยี และการตลาด

พระองค์ทรงดำเนินกิจกรรมตามพระราชดำริอีกมากมาย จนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๔ รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของโครงการพระราชดำริ จึงได้จัดให้วางระบบการดำเนินงานสนองพระราชดำริ ได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ.๒๕๒๔ ขึ้น และเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๒๔ เป็นต้นไป ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ มีกล่าวไว้ในหมวด ๒ ข้อ ๖ ถึงคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เรียกโดยย่อว่า "กปร." มีสำนักงานเลขานุการ กปร เรียกโดยย่อว่า "สน.กปร" ตั้งอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่วนความแตกต่างของลักษณะโครงการ มีกล่าวไว้ในหมวด ๓ ข้อ ๙ แยกได้เป็น ๓ ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ ๑ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีลักษณะเป็นงานด้านวิชาการ เช่น โครงการประเภทเพื่อการศึกษา ค้นคว้า ทดลองหรือโครงการที่มีลักษณะเป็นงานวิจัยและโครงการใด ๆ ที่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน ๑ ปี

ประเภทที่ ๒ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีลักษณะเป็นโครงการพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยทั่วไป ที่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายในไม่เกิน ๖ ปี

ประเภทที่ ๓ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีลักษณะเป็นโครงการใหญ่ ที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินงานเกินกว่า ๖ ปีขึ้นไป จึงแล้วเสร็จ