การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:56, 23 สิงหาคม 2553 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: '''ผู้เรียบเรียง''' นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ---- '''ผู้ทรงคุณวุฒิป...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วน

การกำหนดเขตเลือกตั้งกับระบบการคิดคะแนนเพื่อกำหนดสัดส่วนผู้ได้รับการเลือกตั้ง มีสาระสำคัญ คือ การกำหนดพื้นที่ของเขตเลือกตั้ง จำนวนผู้แทนของเขตเลือกตั้ง วิธีลงคะแนน และวิธีการคำนวณผลคะแนนของผู้ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วน มีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้

การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต

ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หมายถึง การเลือกตั้งที่ให้ความสำคัญกับจำนวนผู้แทนที่จะได้รับการเลือกตั้งกับเขตพื้นที่ที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งมีการนำคะแนนที่ประชาชนได้ลงคะแนนในเขตนั้นมารวมกัน เพื่อกำหนดว่าใครจะเป็นผู้แทนของเขตนั้น

การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

(1) การแบ่งเขตเลือกตั้งประเภทเขตละหนึ่งคน หนึ่งเสียง หมายถึง การแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่เขตการเลือกตั้งหนึ่ง จะมีตัวแทนหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งจะได้รับการเลือกตั้งเพียงคนเดียว ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะเลือกผู้สมัครได้เพียงคนเดียว และทั้งประเทศจะมีตัวแทนของประชากรในแต่ละเขตการเลือกตั้ง เขตการเลือกตั้งละหนึ่งคนเท่านั้น ซึ่งการแบ่งเขตการเลือกตั้งประเภทเขตละหนึ่งคน จะให้ความสำคัญกับสัดส่วนของประชาชนในหนึ่งเขตการเลือกตั้ง ที่จะต้องมีจำนวนที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน เพื่อให้ได้ตัวแทนที่มาจากจำนวนประชาชนที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน

(2) การแบ่งเขตการเลือกตั้งประเภทเขตละหลายคน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนได้หนึ่งเสียงเท่านั้น เป็นระบบเลือกตั้งที่เขตเลือกตั้งมีผู้แทนได้มากกว่า 1 คน แต่มีผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถลงคะแนนได้เพียง 1 เสียง เท่านั้น ผู้ชนะการเลือกตั้ง คือ ผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุดตามลำดับลงมาเท่าจำนวนผู้แทนที่เขตเลือกตั้งนั้นพึงมี เช่น ในเขตที่มีผู้แทนได้ 5 คน ผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุดอันดับหนึ่งถึงห้า จะเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง ตัวอย่างการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาของไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็มีลักษณะเช่นนี้ ซึ่งกล่าวได้ว่า ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ จะเป็นหลักประกันให้คนกลุ่มน้อยสามารถเข้ามาเป็นตัวแทนในเขตนั้นๆ ได้ เพราะคะแนนเสียงประมาณ 1 ใน 5 ก็อาจทำให้ผู้สมัครชนะการเลือกตั้งได้

(3) การแบ่งเขตการเลือกตั้งประเภทเขตละหลายคน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนได้เท่าจำนวนตัวแทนที่พึงมี หมายถึง การแบ่งเขตการเลือกตั้ง ที่เขตการเลือกตั้งหนึ่ง จะมีตัวแทนหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับเลือกตั้งจำนวนหลายคน หรือกล่าวได้ว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งหนึ่ง จะเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เท่าจำนวนตัวแทนที่เขตเลือกตั้งนั้นพึงมี อาจเป็นจำนวน 1-3 คน หรือมากกว่านั้น ซึ่งการแบ่งเขตประเภทหลายคนจะยึดถือเขตการปกครองขนาดใหญ่เป็นหลัก ได้แก่ รัฐ มลรัฐ จังหวัดและแขวง เป็นต้น ทั้งนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในเขตการเลือกตั้งนี้ จะเลือกตัวแทนในจำนวนไม่เกินจำนวนตัวแทนที่เขตนั้นพึงมี

(4) การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบจำกัดจำนวนลงคะแนนเสียง หรือ Limited Vote (LV) เป็นระบบการเลือกตั้งที่เขตการเลือกตั้งมีผู้แทนได้มากกว่า 1 คน โดยผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถลงคะแนนได้เกิน 1 เสียง แต่น้อยกว่าจำนวนผู้แทนที่เขตเลือกตั้งนั้นพึงมี เช่น ในเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนได้ 4 คน อาจกำหนดให้ผู้ใช้สิทธิมี 2 เสียง ซึ่งผู้ชนะการเลือกตั้ง คือ ผู้ที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดจำนวนเท่ากับที่ผู้แทนในเขตนั้นจะมีได้ไล่ตามลำดับลงมา เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ออกเสียงจะมีอิสระมากขึ้น แต่ข้อเสีย คือ เอื้อต่อการแข่งขันกันเองของผู้สมัครในพรรคการเมืองเดียวกัน

ข้อดีของการกำหนดเขตการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต

การกำหนดเขตการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตทำให้เขตเลือกตั้งมีขนาดเล็ก ผู้สมัครรับเลือกตั้งมีความใกล้ชิดกับประชาชนมาก ส่งผลให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง เนื่องจากพรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงเขตละหนึ่งคน ทำให้พรรคจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับระบบการสรรหาบุคคลที่จะลงสมัครในนามของพรรคการเมืองนั้นๆ อย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น

ข้อเสียของการกำหนดเขตการเลือกตั้งแบบเบ่งเขต

การแบ่งพื้นที่เขตการเลือกตั้งขนาดเล็ก อาจมีปัญหาในเรื่องพื้นที่ที่เป็นเขตติดต่อระหว่างกัน ซึ่งอาจจะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบและอาจนำไปสู่การแข่งขันที่ได้เปรียบแก่คู่แข่งขัน ด้วยการตัดพื้นที่ที่สร้างความได้เปรียบของคู่แข่งขันออกไป หรือการรวมพื้นที่ที่ตนได้เปรียบในด้านการเป็นฐานคะแนนเสียงเข้าไว้ในเขตเลือกตั้งที่ตนลงสมัคร เป็นต้น

การเลือกตั้งแบบสัดส่วน

การเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Proportional representation: PR) เป็นระบบการเลือกตั้ง ที่ระบบคะแนนที่ได้รับกับสัดส่วนของจำนวนที่นั่งในการเป็นตัวแทนเป็นสัดส่วนกันหรือแนวเดียวกันหรือสัมพันธ์กัน ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจึงเป็นระบบการเลือกตั้งที่เชื่อมโยงระหว่างคะแนนที่ได้รับกับจำนวนที่นั่งให้เป็นสัดส่วนกัน หลักการสำคัญของระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน ได้แก่ การกำหนดโควต้าหรือระดับคะแนนมาตรฐานสำหรับตัดสินผลการเลือกตั้งในแต่ละที่นั่งและในแต่ละเขตเลือกตั้ง ซึ่งนิยมใช้เฉพาะในเขตเลือกตั้งที่มีตัวแทนได้มากกว่า 1 คน (Multi-Member Districts)

ระบบสัดส่วนเลือกพรรคหรือระบบบัญชีรายชื่อ

ระบบบัญชีรายชื่อ เป็นระบบที่พรรคการเมืองจะจัดรายชื่อผู้สมัครเป็นกลุ่มหรือบัญชีรายชื่อของพรรค(Party list) ทั้งในรูปแบบที่ใช้ทั้งประเทศเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง เช่น อิสราเอล และ เนเธอร์แลนด์ อีกรูปแบบหนึ่งคือ ในรูปแบบที่แบ่งเป็นเขตเล็ก จำนวนหลายเขตภายในประเทศ เช่น สเปน ฟินแลนด์ เบลเยี่ยม สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี บราซิล และเดนมาร์ก เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นระบบการออกเสียงเลือกตั้งที่ให้ความสำคัญต่อพรรคการเมืองอย่างมาก โดยเป็นระบบเลือกตั้งที่ให้ผู้ออกเสียงลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองแล้วนำคะแนนเสียงของพรรคที่ได้ไปคำนวณส่วนแบ่งที่นั่ง ทั้งนี้จำนวนผู้ได้รับการเลือกตั้งจะเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กับคะแนนที่บัญชีรายชื่อนั้นๆ ได้รับ

รูปแบบการกำหนดสัดส่วน

(1) กำหนดสัดส่วนตามคะแนนมาตรฐานขั้นต่ำจำนวนหนึ่งไว้ เช่น กฎหมายการเลือกตั้งสภายุโรปของประเทศฝรั่งเศส กำหนดให้พรรคการเมืองจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 จากจำนวนผู้ลงคะแนนทั้งหมด อันส่งผลต่อพรรคการเมืองบางพรรคที่มีคะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 5 จะไม่ได้รับการเลือกตั้ง

(2) การแบ่งที่นั่งสมาชิกรัฐสภา ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกเป็นการกำหนดคะแนนมาตรฐานของเขตการเลือกตั้ง และส่วนที่สอง เป็นการกำหนดคะแนนมาตรฐานของทั้งประเทศ เพื่อให้รัฐบาลได้เสียงข้างมาก

แนวทางในการคิดคะแนนตามสัดส่วน

สาระสำคัญจะอยู่ที่การคำนวณคะแนนพื้นฐาน ที่จะทำให้ได้รับการเลือกตั้ง มี 3 แบบ คือ

(1) การนำคะแนนเสียงของผู้เลือกตั้งในบัตรดี ในแต่ละเขตเลือกตั้งมาคำนวณ โดยหารกับจำนวนที่นั่งในเขตการเลือกตั้งนั้นที่มีอยู่ ออกมาเป็นคะแนนพื้นฐานสำหรับหนึ่งที่นั่งในเขตการเลือกตั้งนั้น

(2) การออกกฎหมายล่วงหน้า เพื่อกำหนดจำนวนคะแนนพื้นฐาน สำหรับจำนวนหนึ่งที่นั่งที่ได้รับการเลือกตั้ง สำหรับทุกเขตการเลือกตั้ง

(3) การนำคะแนนเสียงของผู้เลือกตั้ง ที่เป็นบัตรดีในทุกเขตการเลือกตั้งทั่วประเทศ หารด้วยจำนวนที่นั่งที่พึงมีทั้งประเทศ ออกมาเป็นคะแนนพื้นฐานสำหรับจำนวนหนึ่งที่นั่งในทุกเขตการเลือกตั้ง

สูตรในการคำนวณสัดส่วนเหลือเศษสูงสุด (Largest Remainders Methods)

- สูตรคำนวณของโทมัส แฮร์ (Thomas Hare Method) ตั้งชื่อตามนักกฎหมายชาวอังกฤษ ผู้เสนอให้มีการปฎิรูประบบการเลือกตั้ง ซึ่งมีการนำมาใช้ในประเทศเดนมาร์ค โคลัมเบียและไทย โดยมีวิธีคิด คือ จำนวนที่นั่งที่พรรคการเมืองจะได้รับมาจากการนำจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมดหารด้วยจำนวนที่นั่งทั้งหมดในสภา ดังสูตรต่อไปนี้

- สูตรคำนวณของ ฮาเกนบัค-บิชคอฟฟ์ (Hagenbach-Bischoff Method) สูตรนี้ตั้งชื่อตาม Eduard Hagenbach-Bischoff ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ และนักปฎิรูปการเลือกตั้งชาวสวิส ที่มีสูตรการคำนวณโดยเอาคะแนนเสียงทั้งหมดมาหารด้วยจำนวนที่นั่งในเขตบวก 1 ประเทศที่ใช้สูตรนี้ ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ส่วนลักเซมเบอร์กใช้ระบบนี้ในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป (European Parliament)

- สูตรคำนวณแบบรูปโควตา (Droop Quota) สูตรนี้ตั้งชื่อตาม นักกฎหมายและนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ชื่อ Henry Richmond Droop ซึ่งกล่าวได้ว่าสูตรนี้พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้แทนสูตรคำนวณของแฮร์ (Hare Method) เพื่อเป็นการแบ่งสรรที่นั่งให้พรรคการเมืองขนาดเล็กมากขึ้น โดยการนำเอาคะแนนของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหารด้วยจำนวนตัวแทนที่เขตเลือกตั้งพึงมี บวก 1 ประเทศที่ใช้สูตรนี้ ได้แก่ แอฟริกาใต้ และ กรีซ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การคำนวณคะแนนเสียงเพื่อให้ได้จำนวนที่นั่งตามสัดส่วน เป็นไปตามจำนวนที่นั่งหรือโควตาที่กำหนด ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดย่อมต้องเหลือเศษของคะแนนอยู่เสมอ จะมากหรือน้อยแล้วแต่การคิดคำนวณ สำหรับจำนวนที่นั่งที่เหลืออยู่ ระบบการจัดสรรผู้สมัครที่ได้รับการเลือกตั้งที่เหลือเศษจากการคำนวณ แบ่งออกได้เป็น 2 ระบบ ได้แก่

ระบบเหลือเศษมากที่สุด (The Largest remainder system)

ระบบการจัดสรรที่นั่งที่คำนวณจากจำนวนคะแนนที่ได้รับ โดยพรรคการเมืองที่มีเศษคะแนนมากที่สุดจะได้รับการจัดสรรที่นั่ง

ระบบคะแนนเฉลี่ยมากที่สุด (The Highest-average system)

ระบบการจัดสรรที่นั่งที่คำนวณจากคะแนนเฉลี่ยสำหรับที่นั่งของแต่ละพรรคการเมืองหรือบัญชีรายชื่อ โดยมีสูตรการคำนวณที่สำคัญได้แก่

- สูตรคิดคะแนนแบบด๊องท์ (d’Hont Highest Average) ระบบนี้เป็นแนวคิดของ Victor d’Hondt นักคณิตศาสตร์ชาวเบลเยี่ยม เมื่อ ค.ศ. 1899 เป็นระบบการจัดสรรที่นั่ง ตามการคิดคะแนนเฉลี่ยมากที่สุด โดยการนำคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับไปหารด้วยจำนวนพรรคการเมืองหรือบัญชีรายชื่อที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด แล้วนำผลการหารแต่ละครั้งที่ได้ของทุกพรรคมาจัดเรียงลำดับ ตั้งแต่จำนวนมากที่สุดจนถึงน้อยที่สุด โดยมีการกำหนดตัวหารที่เริ่มต้นด้วย 1 ตามด้วย 2,3,4,5 และต่อๆ ไป กล่าวคือ คะแนนเสียงของแต่ละพรรคที่ได้มา จะถูกหารด้วย 1 ในตอนแรก หลังจากนั้นก็หารด้วย 2,3,4 และ 5 ในช่วงต่อไป

ยกตัวอย่าง มีพรรคการเมืองทั้งหมด 3 พรรค พรรค ก. ได้คะแนน 4,160 เสียง พรรค ข. ได้ 3,380 เสียง พรรค ค. ได้ 2,460 เสียง ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องการ 10 ที่นั่ง โดยแต่ละพรรคจะส่งรายชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดให้ประชาชนเลือก ผลที่ออกมา คือ

พรรค ก. พรรค ข. พรรค ค.

1 = 4,160 (1) 1 = 3,380 (2) 1 = 2,460 (3)

2 = 2,080 (4) 2 = 1,690 (5) 2 = 1,320 (7)

3 = 1,386 (6) 3 = 1,126 (8) 3 = 820

4 = 1,040 (9) 4 = 845 (10) 4 = 615

5 = 832 5 = 676 5 = 492

  • หมายเหตุ ตัวเลขในวงเล็บ (..) หมายถึง ลำดับ ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้ง

จากตัวอย่างข้างต้น สรุปได้ว่า พรรค ก. จะได้ ส.ส.ทั้งหมด 4 คน พรรค ข. ได้ ส.ส. ทั้งหมด 4 คน และพรรค ค. ได้ ส.ส. 2 คน

หลักการนี้ทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ และยิ่งจำนวนที่นั่งที่จัดแบ่งสรรนี้น้อยลงเท่าไร ความได้เปรียบของพรรคใหญ่ก็ยิ่งจะมากขึ้นเท่านั้น ทำให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดได้ที่นั่งมากกว่าสัดส่วนของคะแนนที่ตนได้รับ ระบบนี้ใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในหลายประเทศ เช่น เบลเยี่ยม บราซิล ชิลี เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ติมอร์ตะวันออก ออสเตรีย ฮังการี ญี่ปุ่น สเปนและอิสราเอล รวมทั้งประเทศไทยในช่วงที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นต้น

- สูตรคิดคะแนนแบบ เซ็นต์ ลาเก้ (The Sainte- Laguë method of the highest average) โดยตั้งชื่อตามนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ André Sainte-Laguë เป็นระบบการจัดสรรที่นั่งตามวิธีการคำนวณหาคะแนนเฉลี่ยสำหรับที่นั่งของพรรคการเมืองแต่ละพรรคหรือใช้กับระบบบัญชีรายชื่อ โดยการคำนวณจากที่นั่งสมมติที่เพิ่มเข้าไปจำนวนหนึ่งที่นั่ง และนำจำนวนที่นั่งที่เพิ่มขึ้นหารด้วยจำนวนคะแนนเสียงที่พรรคได้รับ จะได้ค่าเฉลี่ย ตามสูตรดังต่อไปนี้


พรรคการเมืองใดที่มีผลลัพธ์เฉลี่ยสูงสุดที่ได้จากการคำนวณ จะได้รับการจัดสรรที่นั่งที่เหลือไป หากมีที่นั่งเหลือมากกว่าหนึ่งที่นั่ง จะต้องคำนวณแบบนี้ทุกคารั้งที่มีการเหลือของที่นั่งแต่ละที่นั่ง โดยกรณีที่พรรคการเมืองใดได้รับการจัดสรรที่นั่งที่เหลือไปแล้ว ก็ให้เพิ่มจำนวนที่นั่งสมมติเข้าไปอีกในการคำนวณครั้งต่อไปอีก ซึ่งสูตรการคิดนี้ใช้ในประเทศนิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน โคโซโว และเยอรมัน เป็นต้น

ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนกับผลกระทบต่อระบบการเมือง

ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน มีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการเลือกตั้งตามเสียงข้างมาก ที่มักมองไม่เห็นความสำคัญของฝ่ายที่แพ้การเลือกตั้งหรือฝ่ายเสียงข้างน้อย อันเป็นปัญหาสำคัญของการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากในระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต แนวคิดเกี่ยวกับการให้ความสำคัญแก่เสียงข้างน้อยอาจอ้างอิงมาจากคำกล่าวของ Mirabeau นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสที่ว่า “รัฐสภาคือกระจกเงาสะท้อนความเป็นไปในหมู่ประชาชน” หมายถึง แนวความคิดต่างๆ ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในหมู่ประชาชนควรที่จะได้รับการสะท้อนในรัฐสภา ซึ่งมีตัวแทนของกลุ่มความคิดนั้นๆ อยู่ในรัฐสภาด้วย แต่ผลกระทบที่สำคัญ ก็คือ การที่สมาชิกรัฐสภามีความแตกต่างหลากหลายเป็นจำนวนมากนั้น มีแนวโน้มจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค ที่มีผลต่อความยากลำบากในการสร้างเสถียรภาพให้แก่รัฐบาล

นอกจากนี้แล้ว ในอีกแง่มุมหนึ่ง ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ (Threshold) คือ การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานว่าพรรคการเมืองหนึ่งจะมีสิทธิได้ที่นั่งตามสัดส่วนในการจัดสรรที่นั่ง ต้องมีคะแนนเสียงต่ำสุดเท่าใด ซึ่งกล่าวได้ว่าการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ โดยเป็นการกำจัดพรรคการเมืองขนาดเล็กมากทิ้งไป เพราะหากได้คะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานก็จะไม่มีโอกาสได้รับการจัดสรรที่นั่งตามสัดส่วน ซึ่งผลที่มักตามมาก็คือ การเกิดคะแนนสูญเปล่า (wasted votes) จำนวนมาก

การใช้ระบบเลือกตั้งร่วมกันระหว่างแบบแบ่งเขตกับแบบสัดส่วน

(1) การใช้ทั้งสองระบบผสมกัน เป็นระบบที่การจัดสรรผู้ชนะในเขตเลือกตั้งขึ้นอยู่กับสัดส่วนคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองได้รับจากระบบบัญชีรายชื่อในเขตนั้น โดยคะแนนจากบัญชีรายชื่อของพรรคจะถูกนำไปชดเชย ให้สัดส่วนที่เสียไปของพรรคนั้นในระดับเขต เช่น หากพรรคการเมืองได้รับคะแนนเสียงจากระบบบัญชีรายชื่อ 15% แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งจากการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลย พรรคการเมืองนั้นก็จะได้รับการชดเชยในระบบบัญชีรายชื่อให้มีตัวแทนเท่ากับ 15% ของจำนวนที่นั่งสมาชิกสภา ซึ่งในระบบนี้จะทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กมีโอกาสได้ที่นั่งมากขึ้น ประเทศที่ใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ ได้แก่ นิวซีเลนด์ เยอรมัน และอิตาลี

(2) การใช้ทั้งสองระบบคู่ขนานกัน จะมีลักษณะเป็นระบบการเลือกตั้งแบบผสม ซึ่งจะเป็นการจัดสรรที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เป็นผู้สมัครในระบบเขตเลือกตั้ง และกลุ่มที่เป็นผู้สมัครในระบบสัดส่วนจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ซึ่งคะแนนทั้งสองส่วนนี้จะเป็นอิสระออกจากกัน โดยไม่นำคะแนนจากระบบการเลือกตั้งทั้งสองระบบมาคิดรวมกัน และไม่มีการชดเชยคะแนนเพื่อให้ที่นั่งที่พรรคได้รับ สะท้อนสัดส่วนคะแนนที่แท้จริงของพรรคจากระบบบัญชีรายชื่อ ระบบนี้พบได้ในประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ทั้งนี้กล่าวได้ว่า ระบบคู่ขนานได้รับความนิยมมากกว่าระบบผสม เพราะมีความสลับซับซ้อนน้อยกว่าและง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ภายใต้ระบบผสมเขตกับสัดส่วนจะทำให้พรรคเล็กมีโอกาสได้ที่นั่งมากขึ้น


ที่มา

โคทม อารียา.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่อง ระบบการเลือกตั้ง.กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2544 หน้า 19.

ธโสธร ตู้ทองคำ,”หน่วยที่ 8 กระบวนการเลือกตั้ง” ใน เอกสารการสอนชุดวิชา สถาบันและกระบวนการทางการเมืองไทย หน่วยที่ 1-8.สาขาวิชารัฐศาสตร์ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2548 หน้า 546-547,553,559.

บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ. “การเลือกตั้งและพรรคการเมือง : บทเรียนจากเยอรมัน” .กรุงเทพฯ :สถาบันนโยบายศึกษา,2542 หน้า 96-97.

สิริพรรณ นกสวน, “การเลือกตั้งและระบบเลือกตั้ง ” ใน เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา และ ม.ร.ว. พฤทธิสาน ชุมพล (บรรณาธิการ) . คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย (Concepts in contemporary political science) .กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550 หน้า 104-105,107-111.

สีดา สอนศรีและคณะ. การเลือกตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ศึกษาเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547 หน้า 396-397.

“D'Hondt method” ,Retrieved from URL http://en.wikipedia.org/wiki/D'Hondt_method

“Droop quota”, Retrieved from URL http://en.wikipedia.org/wiki/Droop_Quota

“Electoral System”, Retrieved from URL www.stat.athens.aueb.gr/~jpan/diatrives/Kalogirou/ chapter2.pdf

“Sainte-Laguë method ”, Retrieved from URL http://en.wikipedia.org/wiki/Sainte-Lagu%C3% AB_method

“Thomas Hare”, Retrieved from URL http://en.wikipedia.org/wiki/Thomas_Hare