ยกมือขึ้นพ้นศีรษะ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง นารีลักษณ์ ศิริวรรณ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


การปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาของไทย ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) และวุฒิสภา (House of Senate) ทำหน้าที่ในการตรากฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนเห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศ โดยมีตัวแทนของทั้งสองสภา ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้ดำเนินการในลักษณะการประชุมสภา ด้วยการอภิปรายแสดงความคิดเห็นเรื่องต่าง ๆ ในที่ประชุม เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และวัตถุประสงค์อันเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน ซึ่งในการประชุมสภาแต่ละครั้งย่อมมีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ อย่างหลากหลาย จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ หรือระเบียบปฏิบัติเพื่อให้การแสดงความคิดเห็น อภิปราย หรือการประท้วงในที่ประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ยกมือขึ้นพ้นศีรษะ

ยกมือขึ้นพ้นศีรษะ[1] หมายถึง การแสดงความประสงค์ที่จะขออภิปรายหรือประท้วงหรือขอใช้สิทธิพาดพิงในที่ประชุมสภาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เมื่อสมาชิกผู้ใดยกมือขึ้นพ้นศีรษะเพื่อขออภิปรายก็ดี หรือเพื่อประท้วงก็ดี ต้องได้รับอนุญาตจากประธานในที่ประชุมสภาเสียก่อน จึงจะสามารถลุกขึ้นอภิปราย หรือกระทำการประท้วงในเรื่องใดได้ อย่างไรก็ดี การประชุมสภาเกือบทุกครั้งที่ผ่านมา พฤติกรรมที่แสดงออกให้เห็นกันบ่อย ๆ คือ ทันทีที่ยกมือก็ลุกขึ้นอภิปรายหรือทำการประท้วงเลย โดยไม่รอให้ประธานอนุญาต สมาชิกบางคนลุกขึ้นประท้วง ทั้ง ๆ ที่สมาชิกคนอื่นยังอภิปรายไม่จบ บางคนก็ลุกขึ้นประท้วงซ้อนประท้วง ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะนอกจากจะไม่เคารพผู้เป็นประธาน ไม่เคารพที่ประชุมแล้ว ยังเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมอีกด้วย

ข้อบังคับการประชุมที่กำหนดเกี่ยวกับเรื่องยกมือขึ้นพ้นศีรษะ

ข้อบังคับการประชุมทุกฉบับได้กำหนดกฎ หรือระเบียบใช้บังคับการประชุมดำเนินไปด้วยความสงบและเรียบร้อย ซึ่งการกำหนดเกี่ยวกับการยกมือขึ้นพ้นศีรษะนั้น ใช้ในกรณีมีผู้อภิปราย การประท้วง และการลงมติ โดยในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2540 และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ให้การยกมือขึ้นพ้นศีรษะใช้ในกรณีการลงมติด้วย ส่วนข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549 และข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ได้มีกำหนดการยกมือขึ้นพ้นศีรษะใช้สำหรับกรณีการลงมติโดยเปิดเผย ดังตัวอย่างของข้อบังคับการประชุมฯ ดังนี้

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2544 ข้อ 20[2] กำหนดว่า ผู้ใดประสงค์จะกล่าวถ้อยคำต่อที่ประชุม ให้ยกมือขึ้นพ้นศีรษะ เมื่อประธานของที่ประชุมอนุญาตแล้ว จึงยืนขึ้นกล่าวได้ และต้องเป็นคำกล่าวกับประธานเท่านั้น

ข้อ 63[3] สมาชิกผู้ใดต้องการประท้วงว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับ ให้ยืนและยกมือขึ้นพ้นศีรษะ ประธานต้องให้โอกาสผู้นั้นชี้แจง แล้วให้ประธานวินิจฉัยว่าได้มีการฝ่าฝืนข้อบังคับตามที่ประท้วงหรือไม่ คำวินิจฉัยของประธานถือเป็นเด็ดขาด

ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2544 ข้อ 22[4] ผู้ใดประสงค์จะกล่าวถ้อยคำ ที่ประชุมวุฒิสภาให้ยกมือขึ้นพ้นศีรษะ เมื่อประธานของที่ประชุมอนุญาตแล้วจึงยืนขึ้นกล่าวได้ และต้องเป็นคำกล่าวกับประธานของที่ประชุม

ข้อ 55[5] สมาชิกผู้ใดเห็นว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับและประสงค์จะประท้วง ให้ยืนและยกมือขึ้นพ้นศีรษะ ประธานของที่ประชุมจะต้องให้โอกาสผู้นั้นชี้แจง แล้วให้ประธานของที่ประชุมวินิจฉัยว่าได้มีการฝ่าฝืนข้อบังคับตามที่ประท้วงนั้นหรือไม่ คำวินิจฉัยของประธานของที่ประชุมดังกล่าวให้ถือเป็นเด็ดขาด

ให้นำความตามวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่ผู้ถูกอภิปรายพาดพิงถึงเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องอื่นใดอันเป็นที่เสียหายแก่ผู้นั้น และเมื่อประธานของที่ประชุมวินิจฉัยว่าการอภิปรายนั้นเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ ผู้อภิปรายต้องถอนคำพูดตามคำสั่งของประธานของที่ประชุม

ข้อ 65[6] การออกเสียงลงคะแนนโดยเปิดเผยมีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนตามที่ประธานวุฒิสภากำหนด

(2) ยกมือขึ้นพ้นศีรษะพร้อมกับแสดงบัตรลงคะแนน ผู้เห็นด้วยให้แสดงบัตรลงคะแนนสีน้ำเงิน ผู้ไม่เห็นด้วยให้แสดงบัตรลงคะแนนสีแดง ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้แสดงบัตรลงคะแนนสีขาว โดยบัตรลงคะแนนดังกล่าวให้สมาชิกลงลายมือชื่อและหมายเลขประจำตัวสมาชิกกำกับไว้

(3) เรียกชื่อสมาชิกตามลำดับอักษรให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน ตามวิธีที่ประธานของที่ประชุมกำหนด

(4) วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาเห็นสมควรเฉพาะกรณี

การออกเสียงลงคะแนนเปิดเผยนั้นให้ใช้วิธีตาม (1) จะใช้วิธีตาม (2) (3) หรือ (4) ได้ ต่อเมื่อสมาชิกเสนอญัตติและที่ประชุมวุฒิสภาอนุมัติหรือเมื่อมีการนับคะแนนเสียงใหม่ตามข้อ 72

การออกเสียงลงคะแนนเปิดเผยตาม (1) ให้ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนได้จนกว่าประธานของที่ประชุมจะได้สั่งปิดการออกเสียงลงคะแนน

การออกเสียงลงคะแนนเปิดเผยตาม (2) ให้ประธานของที่ประชุมสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปรับบัตรลงคะแนนจากสมาชิกเพื่อดำเนินการตรวจนับคะแนนต่อไป

ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549 ข้อ 22[7] กล่าวว่า ผู้ใดประสงค์จะกล่าวถ้อยคำต่อที่ประชุมสภา ให้ยกมือขึ้นพ้นศีรษะ เมื่อประธานอนุญาตแล้วจึงยืนขึ้นกล่าวได้และต้องเป็นคำกล่าวกับประธาน

ข้อ 53[8] สมาชิกผู้ใดเห็นว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับและประสงค์จะประท้วง ให้ยืนและยกมือขึ้นพ้นศีรษะ ประธานจะต้องให้โอกาสผู้นั้นชี้แจง แล้วให้ประธานวินิจฉัยว่าได้มีการฝ่าฝืนข้อบังคับตามที่ประท้วงหรือไม่ คำวินิจฉัยของประธานดังกล่าวให้ถือเป็นเด็ดขาด

และข้อ 63[9] การออกเสียงลงคะแนนเปิดเผยมีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนตามที่ประธานสภากำหนด

(2) ยกมือขึ้นพ้นศีรษะพร้อมกับแสดงบัตรลงคะแนน ผู้เห็นด้วยให้แสดงบัตรลงคะแนนสีน้ำเงิน ผู้ไม่เห็นด้วยให้แสดงบัตรลงคะแนนสีแดง ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้แสดงบัตรลงคะแนนสีขาว โดยบัตรลงคะแนนดังกล่าวให้สมาชิกลงลายมือชื่อและหมายเลขประจำตัวสมาชิกกำกับไว้ด้วย

(3) เรียกชื่อสมาชิกตามลำดับอักษรให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน ตามวิธีที่ประธานกำหนด

(4) วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาเห็นสมควรเฉพาะกรณี

การออกเสียงลงคะแนนเปิดเผยนั้นให้ใช้วิธีตาม (1) ให้ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนได้จนกว่าประธานจะได้สั่งปิดการออกเสียงลงคะแนน

การออกเสียงลงคะแนนเปิดเผยตาม (2) ให้ประธานสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปรับบัตรลงคะแนนจากสมาชิกเพื่อดำเนินการตรวจนับคะแนนต่อไป

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 22[10] กำหนดว่า ผู้ใดประสงค์จะกล่าวถ้อยคำต่อที่ประชุม ให้ยกมือขึ้นพ้นศีรษะ เมื่อประธานอนุญาตแล้ว จึงยืนขึ้นกล่าวได้ และต้องเป็นคำกล่าวกับประธานเท่านั้น

ข้อ 63[11] สมาชิกผู้ใดต้องการประท้วงว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับให้ยืนและยกมือขึ้นพ้นศีรษะ ประธานต้องให้โอกาสผู้นั้นชี้แจง แล้วให้ประธานวินิจฉัยว่าได้มีการฝ่าฝืนข้อบังคับตามที่ประท้วงหรือไม่ คำวินิจฉัยของประธานถือเป็นเด็ดขาด

ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 23[12] กำหนดว่า ผู้ใดประสงค์จะกล่าวถ้อยคำต่อที่ประชุมวุฒิสภา ให้ยกมือขึ้นพ้นศีรษะ เมื่อประธานของที่ประชุมอนุญาตแล้วจึงยืนขึ้นกล่าวได้ และต้องเป็นคำกล่าวกับประธานของที่ประชุม

ข้อ 57[13] สมาชิกผู้ใดเห็นว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับและประสงค์จะประท้วงให้ยืนและยกมือขึ้นพ้นศีรษะ ประธานของที่ประชุมจะต้องให้โอกาสผู้นั้นชี้แจงแล้วให้ประธานของที่ประชุมวินิจฉัยว่าได้มีการฝ่าฝืนข้อบังคับตามที่ประท้วงนั้นหรือไม่ คำวินิจฉัยของประธานของที่ประชุมดังกล่าว ให้ถือเป็นเด็ดขาด

ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่ผู้ถูกอภิปรายพาดพิงถึงเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องอื่นใดอันเป็นที่เสียหายแก่ผู้นั้น และเมื่อประธานของที่ประชุมวินิจฉัยว่าการอภิปรายนั้นเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ ประธานของที่ประชุมอาจสั่งให้ผู้อภิปรายถอนคำพูดและผู้อภิปรายต้องปฏิบัติตามคำสั่ง

และข้อ 67[14] การออกเสียงลงคะแนนเปิดเผยวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนตามที่ประธานวุฒิสภากำหนด

(2) ยกมือขึ้นพ้นศีรษะพร้อมกับแสดงบัตรลงคะแนน ผู้เห็นด้วยให้แสดงบัตรลงคะแนนสีน้ำเงิน ผู้ไม่เห็นด้วยให้แสดงบัตรลงคะแนนสีแดง ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้แสดงบัตรลงคะแนนสีขาว โดยบัตรลงคะแนนดังกล่าว ให้สมาชิกลงลายมือชื่อและหมายเลขประจำตัวสมาชิกกำกับไว้ด้วย

(3) เรียกชื่อตามลำดับอักษรให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคนตามวิธีที่ประธานของที่ประชุมกำหนด

(4) วิธีอื่นซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาเห็นสมควรเฉพาะกรณี

การออกเสียงลงคะแนนเปิดเผยนั้น ให้ใช้วิธีตาม (1) จะใช้วิธีตาม (2) (3) หรือ (4) ได้ต่อเมื่อสมาชิกเสนอญัตติ และที่ประชุมวุฒิสภาอนุมัติ หรือเมื่อมีการนับคะแนนเสียงใหม่ตามข้อ 74

การออกเสียงลงคะแนนตาม (1) ให้ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนได้ จนกว่าประธานของที่ประชุมจะได้สั่งปิดการออกเสียงลงคะแนน

การออกเสียงลงคะแนนเผิดเผยตาม (2) ให้ประธานของที่ประชุมสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปรับบัตรลงคะแนนจากสมาชิกมาเพื่อดำเนินการตรวจนับคะแนนต่อไป

ในการประชุมสภา จำเป็นต้องมีข้อบังคับการประชุมเป็นเครื่องมือใช้บังคับและควบคุมการดำเนินงานของรัฐสภาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยกตัวอย่างในการประชุมสภา โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี การแปรญัตติ ร่างกฎหมายต่าง ๆ ย่อมมีสมาชิกรัฐสภาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ดังนั้น ประธานของที่ประชุมจะต้องพิจารณาวินิจฉัยว่ามีสมาชิกท่านใดประสงค์จะอภิปรายหรือประท้วง ตามลำดับ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความวุ่นวายในการประชุม ซึ่งการยกมือขึ้นพ้นศีรษะเป็นการแสดงความประสงค์ที่จะขออภิปราย การประท้วง และการลงมติในที่ประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา

อ้างอิง

  1. คณิน บุญสุวรรณ, “ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย.”, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2548, หน้า 308-309.
  2. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, “ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2544.”, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2546, หน้า 10.
  3. เรื่องเดียวกัน หน้า 18.
  4. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, “ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2544.”, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2546, หน้า 77.
  5. เรื่องเดียวกัน หน้า 68.
  6. เรื่องเดียวกัน หน้า 88.
  7. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, “ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549.”, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2549, หน้า 15.
  8. เรื่องเดียวกัน หน้า 23.
  9. เรื่องเดียวกัน หน้า 26.
  10. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, “ข้อบังคับการประชุม.”, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2551, หน้า 11.
  11. เรื่องเดียวกัน หน้า 21.
  12. เรื่องเดียวกัน หน้า 85.
  13. เรื่องเดียวกัน หน้า 94.
  14. เรื่องเดียวกัน หน้า 97.

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

คณิน บุญสุวรรณ, (2548) “ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย”. กรุงเทพฯ : บริษัทสำนักพิมพ์สุขภาพใจ.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2546) “ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร.”, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2546) “ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา.”, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2549) “ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ.”, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2551) “ข้อบังคับการประชุม.”, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

บรรณานุกรม

คณิน บุญสุวรรณ, (2548) “ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย”. กรุงเทพฯ : บริษัทสำนักพิมพ์สุขภาพใจ.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2546) “ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร.”, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2546) “ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา.”, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2549) “ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ.”, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2551) “ข้อบังคับการประชุม.”, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.


หน้าหลัก | กิจกรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการทางนิติบัญญัติ