รัฐมนตรี

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:56, 27 ตุลาคม 2552 โดย Panu (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: '''ผู้เรียบเรียง''' ศรันยา สีมา '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ'''...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ศรันยา สีมา

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


การปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยนั้น มีการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ฝ่าย คือ รัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติในการตรากฎหมายต่าง ๆ และศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารในการบริหารราชการแผ่นดิน สำหรับคณะรัฐมนตรีนั้นประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน

==ความหมายของรัฐมนตรี==[๑]

“รัฐมนตรี” หมายความถึง บุคคลซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีมี ๒ ฐานะ ฐานะแรกเป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรีซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า และอีกฐานะหนึ่งเป็นเจ้ากระทรวงผู้มีอำนาจเต็มของส่วนราชการระดับกระทรวงตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน


ความเป็นมาของรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีที่มาจากคณะเสนาบดีในอดีต สมัยสุโขทัยมีการปกครองแบบพ่อปกครอง ลูก และให้ราษฎรช่วยกัน “ถือบ้านถือเมือง” ในสมัยอยุธยามีการตั้งตำแหน่งจตุสดมภ์ ๔ ตำแหน่ง คือ เวียง วัง คลัง นา มีเสนาบดีเป็นหัวหน้ารับผิดชอบแต่ละฝ่าย มีสมุหนายกและสมุหกลาโหมเป็นหัวหน้าเสนาบดีสูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง แต่บทบาทเน้นหนักไปในทางการเป็นแม่ทัพใหญ่และรับผิดชอบดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้เป็นสำคัญ[๒]

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังคงจัดการปกครองในลักษณะเดียวกับการปกครองสมัยอยุธยาและธนบุรี จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองใหม่ โดยทรงจัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of state) และสภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ (Privy Council) ขึ้น ยกเลิกตำแหน่งสมุหกลาโหมและสมุหนายก และยกฐานะกรมต่าง ๆ ขึ้นเป็นกระทรวง มีเสนาบดีเป็นหัวหน้า[๓] มีปลัดทูลฉลองเป็นผู้กลั่นกรองเรื่องและช่วยราชการภายในกระทรวง มีการประชุมเสนาบดีในทำนองการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ไม่มีหัวหน้าคณะเสนาบดีในทำนองนายกรัฐมนตรี เพราะในการประชุมคณะเสนาบดี พระมหากษัตริย์ประทับเป็นประธานเอง หรือมิฉะนั้นก็ให้ที่ประชุมเลือกประธานเป็นครั้งคราว การบริหารราชการแผ่นดินโดยระบบคณะเสนาบดีได้ดำเนินมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีการจัดตั้ง คณะองคมนตรีสภา ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในการปกครองและการออกกฎหมายทำนอง เดียวกับรัฐสภา และมีการจัดตั้งเสนาบดีสภาเป็นที่ประชุมปรึกษาของเสนาบดีทั้งหลาย การบริหารราชการแผ่นดินในอดีตก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์โดยตรง การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งก็ดี การกำหนดนโยบายในการบริหารก็ดี การควบคุมการบริหารก็ดี เป็นเรื่องตามพระราชอัธยาศัย[๔]

เมื่อเกิดจากเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ โดยคณะราษฎรแล้ว ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งกำหนดให้มี “คณะกรรมการราษฎร” มีจำนวน ๑๕ คน ทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน มี “ประธานกรรมการราษฎร” เป็นหัวหน้า ในระหว่างที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติให้ใช้คำว่า “รัฐมนตรี” แทน “กรรมการราษฎร” และใช้คำว่า “นายกรัฐมนตรี” แทน “ประธานคณะกรรมการราษฎร” และคำว่า “คณะรัฐมนตรี” แทนคำว่า “คณะกรรมการราษฎร” ซึ่งเป็นคำที่ใช้ปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน[๕]

การแต่งตั้งรัฐมนตรี

การแต่งตั้งรัฐมนตรีนั้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำรายชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อทรงแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ซึ่งในทางปฏิบัติพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ[๖] รัฐมนตรีจะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ด้วย[๗]

คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๗๔ ได้กำหนดว่า รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ คือ

๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์

๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

๔) ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ

๕) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

๖) ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

๗) ไม่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

๘) ไม่วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

๙) ไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

๑๐) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ

๑๑) ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

๑๒) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง

๑๓) ไม่เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

๑๔) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

๑๕) ไม่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

๑๖) ไม่อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเนื่องจากการไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินไม่ชอบตามกฎหมาย

๑๗) ไม่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง

๑๘) ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

๑๙) ไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปีนับถึงวันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี

อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี

๑. อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

๑) จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน รักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

๒) มีสิทธิเข้าประชุมและแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมสภา และในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามีมติให้เข้าประชุมในเรื่องใด รัฐมนตรีต้องเข้าร่วมประชุม

๓) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถ้ารัฐมนตรีผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะเดียวกันด้วย ห้ามมิให้รัฐมนตรีผู้นั้นออกเสียงลงคะแนนในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่ง การปฏิบัติหน้าที่หรือการมีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น

๔) ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน และต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี

๒. อำนาจหน้าที่ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน[๘]

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดังนี้

๑) เป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการในกระทรวง และของส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม หน่วยงานของรัฐในกำกับและความรับผิดชอบในสังกัดกระทรวง เช่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน เป็นต้น โดยรัฐมนตรีว่าการอาจมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงปฏิบัติราชการแทนก็ได้

๒) กำหนดนโยบาย เป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภาหรือที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติ โดยให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนก็ได้ ทั้งนี้ การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ให้เป็นไปภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง หรือตามมติคณะรัฐมนตรี

๓.อำนาจหน้าที่ตามระเบียบข้าราชการพลเรือน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมีอำนาจหน้าที่ด้านการบริหารงานบุคคล การบรรจุแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน และการดำเนินการทางวินัยข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง และข้าราชการประจำสำนักงานรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑

๔. อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ[๙]

พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ กำหนดให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่รับผิดชอบในการยื่นงบประมาณประจำปีของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจนั้นต่อผู้อำนวยการสำนักงบประมาณภายในเวลาที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกำหนด เป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมงบประมาณให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบหรือข้อบังคับ มีอำนาจในการกำกับตรวจสอบโดยอาจเรียกส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจมาเสนอข้อเท็จจริง และมีหน้าที่ในการประกาศรายงานรับจ่ายเงินประจำปีเมื่อสิ้นปีงบประมาณในราชกิจจานุเบกษา

๕. อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่น[๑๐]

๑) มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในกฎหมายอื่น ๆ ของกระทรวงและหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานที่อยู่ในกำกับหรือความรับผิดชอบของกระทรวงที่ระบุให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี

๒) เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ข้าราชการการเมืองในสังกัดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. ๒๕๓๖

๓) สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินการของกระทรวงและหน่วยงานในสังกัดในการปฏิบัติตามกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เช่น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๒

๖.อำนาจหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี[๑๑]

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาจได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่จากคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการในเรื่องอื่น ๆ ตามความจำเป็น

ความรับผิดชอบของรัฐมนตรี[๑๒]

๑. ความรับผิดชอบร่วมกันของรัฐมนตรีทั้งคณะ

ความรับผิดชอบร่วมกันของรัฐมนตรีทั้งคณะ เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของรัฐมนตรีทั้งคณะต่อรัฐสภาในการบริหารราชการตามนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี ไม่ว่าการบริหารราชการนั้นจะเกิดผลประการใดก็ตาม แต่ถ้าการบริหารรราชการนั้นเกิดผลเสียหายต่อส่วนรวม นายกรัฐมนตรีก็อาจถูกตั้งกระทู้ถาม หรือถูกเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจได้

ความรับผิดชอบร่วมกันของรัฐมนตรีทั้งคณะนี้ จะครอบคลุมทุกเรื่องของคณะรัฐมนตรี เช่น เรื่องนโยบายของคณะรัฐมนตรี เรื่องการเสนอร่างพระราชบัญญัติ การออก พระราชกำหนด การออกพระราชกฤษฎีกา เป็นต้น ความรับผิดชอบร่วมกันจะมีที่มาจากการมีมติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

๒. ความรับผิดชอบเฉพาะตัวของรัฐมนตรี

ความรับผิดชอบเฉพาะตัวของรัฐมนตรี เป็นความรับผิดชอบของรัฐมนตรีที่เข้าไปดำรงตำแหน่งในกระทรวงต่าง ๆ ต่อสภาผู้แทนราษฎรในการบริหารราชการในหน้าที่ของตนไม่ว่าการบริหารราชการนั้นจะเกิดผลประการใดก็ตาม แต่ถ้าการบริหารราชการนั้นเกิดผลเสียหายต่อส่วนรวม รัฐมนตรีคนนั้นก็อาจถูกตั้งกระทู้ถาม หรือถูกเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจได้

ความรับผิดชอบเฉพาะตัวของรัฐมนตรีจะครอบคลุมทุกเรื่องของแต่ละกระทรวง เช่น เรื่องนโยบายของกระทรวง การออกกฎหมายหรือกฎระเบียบ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เป็นต้น

การพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ ๒ กรณี คือ

๑.การพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีทั้งคณะ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๘๐ ได้กำหนดให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

๑) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

๒) อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร

๓) คณะรัฐมนตรีลาออก

๒.การพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะตัว

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๘๒ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อ

๑) ตาย

๒) ลาออก

๓) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

๔) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

๕) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

๖) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี

๗) ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งหรือดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

๘) รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการรับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งหรือดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

๙) รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานตามปกติ เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งหรือดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

๑๐) เป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งหรือดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

๑๑) ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด

๑๒) ใช้สถานะหรือตำแหน่งก้าวก่ายหรือแทรกแซงกิจการในเรื่องต่อไปนี้ เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ

(๑) การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

(๒) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่งและเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

(๓) การให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง

๑๓) เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ

ในกรณีที่รัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าวต่อไป ให้แจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้รัฐมนตรีผู้นั้นโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ

๑๔) วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง

๑๕) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อดำรงตำแหน่งติดต่อกันครบกำหนดเวลา ๘ ปี

อ้างอิง


หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

๑. นคร พจนวรพงษ์ และอุกฤษ พจนวรพงษ์. ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย. (กรุงเทพฯ : ขวัญนคร). ๒๕๔๙.

๒. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. การเมืองการปกครองไทย : พ.ศ. ๑๗๖๒ – ๒๕๐๐. (กรุงเทพฯ : เสมาธรรม). ๒๕๔๙.

๓. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน. แนวทางการบริหารราชการยุคใหม่ของรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หัวหน้ากลุ่มภารกิจ และอธิบดี, (กรุงเทพฯ : ฟิสิกส์เซ็นเตอร์), ๒๕๔๕.

๔. อัครเมศวร์ ทองนวล. สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) หมวด องค์กรทางการเมือง เรื่อง ๑๐. คณะรัฐมนตรี. (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา), ๒๕๔๔.

บรรณานุกรม

คณิน บุญสุวรรณ. ปทานานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทยฉบับสมบูรณ์. (กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ). ๒๕๔๘.

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม๒๗. (ออนไลน์) http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK27/chapter2/chap2.htm

นคร พจนวรพงษ์ และอุกฤษ พจนวรพงษ์. ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย. (กรุงเทพฯ : ขวัญนคร). ๒๕๔๙.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๔๗ ก. ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐.

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. การเมืองการปกครองไทย : พ.ศ. ๑๗๖๒ – ๒๕๐๐. (กรุงเทพฯ : เสมาธรรม). ๒๕๔๙.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน. แนวทางการบริหารราชการยุคใหม่ของรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หัวหน้ากลุ่มภารกิจ และอธิบดี. (กรุงเทพฯ : ฟิสิกส์เซ็นเตอร์). ๒๕๔๕.

อัครเมศวร์ ทองนวล. สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่อง ๑๐. คณะรัฐมนตรี. (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา). ๒๕๔๔.

ดูเพิ่มเติม