ประชานิยมและความเหลื่อมล้ำ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:26, 19 กรกฎาคม 2568 โดย Adminkpi (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "'''ผู้เรียบเรียง :''' รองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์<sup>[1]</sup> '''บทคัดย่อ'''              ความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายประชานิยมกับการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เป็...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์[1]


บทคัดย่อ

             ความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายประชานิยมกับการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องซับซ้อนและมีหลายแง่มุม การเกิดขึ้นของนโยบายประชานิยมมักมีสาเหตุมาจากความรู้สึกไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจซึ่งสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ในทางตรงกันข้ามนโยบายประชานิยมที่ตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง อาจจะไม่นำไปสู่การลดลงของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเสมอไป เนื่องจากผลที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาชั่วคราว และไม่ยั่งยืน ในกรณีที่เลวร้ายอาจจะมีผลให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลง แต่ถ้ามีการวางแผนที่ดีและมีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ นโยบายประชานิยมอาจจะนำไปสู่ระบบคุ้มครองทางสังคมและช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

Abstract

             The relationship between populist policies and reducing economic inequality is a complex and multifaceted matter.  The emergence of populist policies is often caused by feelings of economic insecurity reflecting economic inequality. In contrast, populist policies that respond to low incomes and vulnerable groups may not lead to a reduction in inequality.  This is because the results may be temporary reliefs but not sustainable.  In the worst case, it may result in worsening inequality. However, if such policy was well planned with effective management, it may lead to social protection system and help reduce inequality.

บทนำ

             ในช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา กระแสการเมืองแบบประชานิยม ได้แพร่กระจายเป็นอย่างมากในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป เราจึงได้เห็นนโยบายประชานิยมแบบซ้ายสุดและประชานิยมแบบขวาสุดมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของนโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองฝ่ายขวา จากการศึกษาของ Guiso et. al. (2017) และ Scheiring et. al. (2024) พบว่าความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดขึ้นของนโยบายประชานิยมอย่างมีนัยยะสำคัญ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือความยากจนและเหลื่อมล้ำมีผลให้ กลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง จึงต้องการนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาหรือช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของตนได้ อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นและผลของการใช้นโยบายประชานิยมยังเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนในแต่ละประเทศ

             ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการถกเถียงกันอย่างมากว่าการแข่งขันทางการเมืองเต็มไปด้วยข้อเสนอเชิงนโยบายประชานิยมเพื่อจะดึงคะแนนเสียงจากผู้ลงคะแนนกลุ่มต่าง ๆ โดยไม่สนใจผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินนโยบาย แนวนโยบายแบบประชานิยมถือกำเนิดขึ้นในการเมืองไทยในการเลือกตั้งครั้งแรกหลังประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 2540 โดยเป็นรัฐธรรมนูญที่อาจจะกล่าวได้ว่ามีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากที่สุด ชุดนโยบายที่นำเสนอโดยพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2544 ถูกขนานนามว่าเป็นนโยบายประชานิยม และนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น และรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้ดำเนินการตามแนวนโยบายที่นำเสนอหลักๆได้สำเร็จในปีแรกของการจัดตั้งรัฐบาล ได้สร้างความตื่นเต้นและความประทับใจกับผู้ออกเสียงเลือกตั้ง เพราะอาจจะเป็นครั้งแรกของการเมืองไทยที่แนวนโยบายที่เสนอในการเลือกตั้งเป็นโครงการขนาดใหญ่ และต้องใช้เงินจำนวนมากได้รับการดำเนินการอย่างรวดเร็วตามสัญญาที่ให้ไว้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองไทย ทำให้นโยบายประชานิยมกลายเป็นนโยบายหลักของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ถูกนำเสนอเพื่อการแข่งขันในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง

             ทั้งนี้แนวนโยบายประชานิยมอาจจะเป็นได้ทั้งนโยบายทางการเมืองและนโยบายทางเศรษฐกิจ ในบทความนี้จะเน้นเฉพาะชุดนโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจ โดยจะพิจารณาผลลัพธ์ของการดำเนินตามแนวนโยบายดังกล่าวต่อการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย

นโยบายประชานิยม

             นโยบายประชานิยมถือกำเนิดในลาตินอเมริกา แต่ในปัจจุบันได้กลายเป็นแนวทางสำคัญของการแข่งขันทางการเมืองในประเทศต่าง ๆ มีสาเหตุสำคัญจากปัญหาความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีที่มาจากหลากหลายสาเหตุ ทั้งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสู่โลกโลกาภิวัตน์ การอพยพย้ายถิ่นจากปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจ การเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเกิดความรู้สึกที่ไม่มั่นคง การขาดมาตรการในการปกป้องคุ้มครองทางสังคมจากความเสี่ยงและวิกฤตต่าง ๆ การมีระดับความเหลื่อมล้ำในประเทศที่ค่อนข้างสูง ประเด็นเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องให้มีนโยบายที่สามารถแก้ไขความยากลำบากของประชากรในประเทศ (Demand side) และนักการเมืองพรรคการเมืองก็พยายามจะตอบสนองและแก้ไขปัญหาเหล่านั้น (Supply side) แลกกับคะแนนเสียงและการสนับสนุน (Guiso et. al., 2017; Elkjeer and Klitgaard, 2021; Muno and Pfeiffer, 2022; Caiani and Graziano, 2022; Scheiring et. al., 2024)

             ความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายประชานิยมกับการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องซับซ้อนและมีหลายแง่มุม ขบวนการประชานิยมที่เกิดขึ้นในหลายๆกรณีเป็นการสะท้อนถึงความรู้สึกของความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และความล้มเหลวของนโยบายดั้งเดิมของนักการเมืองชนชั้นนำที่ตอบสนองกับประชาชนในภาพกว้าง งานศึกษาจำนวนมากได้ให้ความสำคัญกับช่องทางต่าง ๆ ที่นโยบายประชานิยมสามารถส่งกระทบกับความเหลื่อมล้ำได้

             ประชานิยมมักจะได้รับความนิยมในบริบทของการเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความรับรู้ของความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ งานศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าขณะที่ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ความนิยมในประชานิยมก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่รู้สึกว่าถูกทิ้งอยู่เบื้องหลังในระบบเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงนี้สามารถพบเห็นได้ทั้งการเคลื่อนไหวประชานิยมฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ที่จะแสดงความคับข้องใจของกลุ่มชายขอบโดยการท้าทายกลุ่มชนชั้นนำและการนำเสนอนโยบายกระจายรายได้

             นโยบายกระจายรายได้เป็นนโยบายที่รัฐบาลที่เป็นประชานิยมฝ่ายซ้ายชอบใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลาตินอเมริกาใช้นโยบายกระจายรายได้ที่มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นโยบายเหล่านี้รวมถึง โปรแกรมสวัสดิการทางสังคม การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และการปฏิรูปที่ดิน เช่น ในสมัยประธานาธิบดีฮูโกซาเวส ของเวเนซูเอลา การใช้จ่ายเงินทางสังคม สามารถช่วยลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางรายได้ได้ชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวความยั่งยืน และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ได้กลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญของการดำเนินนโยบายนี้ต่อไป

             นโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจ เป็นประชานิยมฝ่ายขวา เน้นการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบชาตินิยม เช่น นโยบายการคุ้มครองการค้าระหว่างประเทศและให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมในประเทศ โดยนโยบายดังกล่าวอาจจะสามารถคุ้มครองตลาดแรงงานและอุตสาหกรรมได้บางตลาด แต่นโยบายเหล่านี้ได้นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้น และมีแนวโน้มทำให้ความเหลื่อมล้ำในระยะยาวสูงขึ้น เช่น นโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ต้องการปกป้องการการจ้างงานภายในประเทศ แต่ก็ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องแบกรับต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น และความตึงเครียดทางการค้าซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

             ผลกระทบเชิงสถาบัน ผู้นำประชานิยมมักจะท้าทายสถาบันที่ดำรงอยู่ สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ทั้งเชิงบวกและเชิงลบสำหรับความเหลื่อมล้ำ ในทางหนึ่งความอ่อนแอของสถาบันทางด้านการตรวจสอบและถ่วงดุลทำให้สามารถดำเนินนโยบายกระจายรายได้ได้อย่างรวดเร็ว ในอีกทางหนึ่ง สถาบันประชาธิปไตยที่อ่อนแอลง สามารถนำไปสู่การคอร์รัปชันและความไร้ประสิทธิภาพ และอาจจะมีผลกระทบต่อประโยชน์ที่คนจนจะได้รับ 

             มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับประชานิยมกันค่อนข้างมาก โดยกลุ่มหนึ่งมองว่านโยบายประชานิยมเป็นนโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนในกลุ่มต่าง ๆ จึงเป็นนโยบายที่สามารถแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อนของคนในประเทศ ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งมองว่า นโยบายประชานิยมเป็นการแก้ไขปัญหาชั่วคราวเท่านั้น ไม่มีความยั่งยืน และอาจจะสร้างปัญหาในระยะยาวได้

             สามารถแยกพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียของนโยบายประชานิยมได้ดังนี้

                 -กลุ่มที่นิยมประชานิยม กล่าวถึงข้อดีของประชานิยมว่า

                       1) เป็นการแก้ไขปัญหาได้ทันการณ์ โดยทั่วไปนโยบายประชานิยมมักจะมีการให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่รวดเร็วกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งทำให้ลดความยากจนหรือความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจได้รวดเร็ว

                       2) ขบวนการทางการเมือง นโยบายเหล่านี้มักมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนกลุ่มสนับสนุนทางการเมืองและชุมชนชายขอบ ทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนทางการเมือง

                 - กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับประชานิยม มองแย้งว่า

                       1) นโยบายประชานิยมเป็นการมุ่งเน้นในระยะสั้น นโยบายประชานิยมมักให้ความสำคัญกับผลในระยะสั้นมากกว่าในระยะยาว เป็นการแก้ไขความเดือดร้อนเฉพาะหน้า แต่อาจจะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนหรือในระยาว และอาจจะนำไปสู่ความไม่รับผิดชอบทางการคลังซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้

                       2) การบิดเบือนทางเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจประชานิยมบางประเภท เช่น การอุดหนุนหรือการคุ้มครองสามารถก่อให้เกิดการบิดเบือนตลาด นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้ในระยะยาว

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย

             สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย โดยภาพรวมแล้ว ค่าดัชนีจีนีทางด้านรายได้ (หรือสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาคทางด้านรายได้) แสดงให้เห็นการลดลงของความเหลื่อมล้ำในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการลดลงดังกล่าวจะไม่มากนักก็ตาม โดยดัชนีนี้อยู่ที่ 0.484 ในปี 2541 และค่าดัชนีลดลงเป็น 0.403 ในปี 2562 (รูปที่ 1) ทั้งนี้ ธร ปีติดล และคณะ (2565) ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการปรับลดลงของดัชนีจีนีที่วัดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้นั้นเกิดจากบทบาทของเงินช่วยเหลือหรือเงินโอนภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญ เมื่อตัดบทบาทของเงินช่วยเหลือของรัฐและบุคคลอื่นออกไป และนับเพียงรายได้จากการประกอบอาชีพ พบว่าค่าดัชนีจีนีไม่ได้ปรับลดลงมากนักในช่วงห้าปีที่ผ่านมา และดัชนีจีนีในปี 2562 อยู่ที่ 0.558 ยังคงสูงกว่าในปี 2558 ที่อยู่ที่ 0.549

             นอกจากนี้การปรับตัวลดลงของดัชนีเชื่อมโยงกับภาวะที่กลุ่มรายได้ระดับบนของประเทศมีรายได้ลดลง โดยพบว่ารายได้จากการประกอบอาชีพของครัวเรือนในกลุ่มรายได้ 20% บนสุดมีการลดลงค่อนข้างมากในปี 2562 เมื่อเทียบกับปี 2560 สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่ลดลงเป็นผลเชื่อมโยงกับปัญหาเศรษฐกิจที่กลุ่มชนชั้นกลางระดับบนประสบ และปัญหานี้เกิดขึ้นเพียงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ไม่ได้เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่น ๆ (ธร ปีติดล และคณะ, 2565)

             เมื่อพิจารณาความเหลื่อมล้ำสำหรับนโยบายสวัสดิการในประเทศ ธร ปีติดล และคณะ (2565) พบว่าแม้ว่าในประเทศไทยจะมีการจัดสวัสดิการด้านการศึกษาฟรี 15 ปี และหลักประกันสุขภาพ ซึ่งถือเป็นสวัสดิการที่ครอบคลุมและถ้วนหน้า ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้ แต่บทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำยังถูกจำกัดเนื่องจากองค์ประกอบยังเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มที่มีรายได้สูง เช่นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้น้อย สำหรับนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นระบบสวัสดิการที่มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็ยังประสบปัญหาในการบริหารจัดการเพราะยังคงมีปัญหาการตกหล่นของกลุ่มที่มีสิทธิที่สูงมากกว่า 50% และยังมีปัญหาการรั่วไหลเพราะปรากฏว่าผู้ไม่มีสิทธิสามารถเข้าถึงสวัสดิการนี้ได้ ทำให้บทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำมีจำกัด และเงินโอนยังมีสัดส่วนที่น้อยกว่าเส้นความยากจน นอกจากนี้แล้วสังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนผู้สูงอายุ ซึ่งพบว่าสำหรับครัวเรือนที่มีสมาชิกหลักเป็นผู้สูงวัย มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นน้อยมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้ครัวเรือนเหล่านี้ตกอยู่ในกลุ่มรายได้น้อยและยากจนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเงินสวัสดิการเบี้ยชราภาพถ้วนหน้าก็มีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับรายจ่ายของครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ สภาพที่รายได้ไม่พอรายจ่ายแม้ว่ายังคงทำงานอยู่ส่งผลให้ปัญหาหนี้สินของครัวเรือนกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้น

             โดยสรุปแล้วผลการศึกษาหลายชิ้นให้ข้อมูลที่ตรงกันว่ากลุ่มเปราะบางที่มีแนวโน้มเข้าสู่กลุ่มที่มีอัตราความยากจนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วคือกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในภาคเกษตร มีการศึกษาน้อย และอาศัยอยู่เพียงลำพัง ขณะเดียวกันกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในกลุ่มยากจนและใกล้ความยากจนยังคงมีเป็นจำนวนมาก เพราะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจำนวนเด็กยากจนในประเทศไทยปรับตัวลดลงน้อยมาก สวัสดิการโครงการเงิน อุดหนุนสำหรับเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 ปี อยู่ในสภาพที่ตกหล่นเป็นจำนวนที่สูงถึง 70% และในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อผู้มีรายได้น้อยค่อนข้างมาก ทำให้มีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษามากขึ้น ช่องว่างของผลลัพธิการเรียนรู้ทวีความรุนแรงขึ้น จำกัดโอกาสในการหลุดพ้นความยากจน และก่อให้เกิดวงจรการถ่ายทอดความเหลื่อมล้ำไปสู่รุ่นต่อไปได้  เด็กและเยาวชนในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย 20% ล่างมีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ถึง 5% ซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงอาชีพการงานที่ใช้ทักษะความรู้ที่เชื่อมโยงกับโอกาสในการได้รับรายได้สูงและมีความมั่นคงในชีวิตมีน้อย และเมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความต้องการใช้แรงงานที่มีทักษะสูงเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งเป็นอุปสรรคสำหรับเด็กและเยาวชนจากครอบครัวรายได้น้อยในการเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ให้รายได้สูงยิ่งขึ้น ทำให้เห็นแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยที่ยากจะลดลง และในปัจจุบันความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (ธร ปีติดล และคณะ, 2565; World Bank, 2023)

                                                                             รูปที่ 1 : ดัชนีจีนีด้านรายได้, 2541-2564

                                                                             ที่มา : ค่าดัชนีจีนีระหว่างปี 2541-2562 (ธร ปีติดล และคณะ, 2565 ค่าดัชนีจีนี ปี 2564 (World Bank, 2023)

ประชานิยมในประเทศไทย

             ประชานิยมในประเทศไทย มีอิทธิพลที่สำคัญต่อภูมิทัศน์การเมืองของประเทศ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ประชานิยมที่เด่นและชัดเจนเกิดขึ้นในสมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่มีเป้าหมายลดความไม่เท่าเทียมทางสังคมเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาความยากจน ผ่านนโยบายที่ให้ประโยชน์โดยตรงกับผู้มีรายได้น้อย นโยบายที่สำคัญคือ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน และการพักการชำระหนี้ของเกษตรกร

             ธนาคารโลกพบว่าประเทศไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำที่สูง แสดงให้เห็นว่า อัตราความยากจนยังคงสูงในเขตชนบทเมื่อเทียบกับกรุงเทพมหานคร ความไม่แน่นอนทางการเมืองและการใช้นโยบายเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น บ่อยครั้งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแย่ลง เพราะในช่วงที่มีวิกฤตทางการเมืองทำให้การบริโภคและการลงทุนลดลง กระทบต่อระดับรายได้และอัตราความยากจนเพิ่มขึ้น (World Bank, 2019)

             ขณะที่นโยบายประชานิยมทำให้เกิดการลดลงหรือการบรรเทาความเดือดร้อนในระยะสั้นได้ทันที ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะในภาคชนบทหรือภาคเกษตร แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมือง เช่นในกรณีประเทศไทยมีผลต่อเนื่องไปยังความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และความล้มเหลวที่จะแก้ไขปัญหาความเลื่อมล้ำทางโครงสร้าง ความซับซ้อนนี้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชานิยมและความไม่เท่าเทียมที่ยังคงต่อเนื่องและกำหนดรูปร่างภูมิทัศน์การเมืองและภูมิทัศน์เศรษฐกิจของประเทศ

             การศึกษานโยบายประชานิยมในประเทศไทย จะเลือกนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนโยบายที่เข้าข่ายประชานิยมและเป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณสูง มาศึกษาเปรียบเทียบเพื่อดูผลที่จะเกิดต่อการลดความเหลื่อมล้ำ ใน 4 รัฐบาล ได้แก่ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (ตารางที่ 1)  ทั้งนี้ ค่าสัมประสิทธิ์ในตารางที่แสดงไว้ เป็นเพียงการแสดงให้เห็นบริบทในขณะที่เริ่มมีการใช้นโยบาย ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นผลของการดำเนินนโยบายนั้น ๆ เพราะค่าสัมประสิทธิ์จีนีเป็นผลจากปัจจัยต่าง ๆ จำนวนมาก

                                               ตารางที่ 1 : ค่าดัชนีสัมประสิทธิ์จีนีของรายได้ครัวเรือน และชุดนโยบายสำคัญของรัฐบาล

ปี พ.ศ. ค่าสัมประสิทธิ์จีนีทางด้านรายได้
2541 0.484
2543 0.498
รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

(9 กุมภาพันธ์2544-19 กันยายน 2549)

30 บาทรักษาทุกโรค

กองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท

พักชำระหนี้เกษตรกร

2545 0.487
2547 0.476
2549 0.494
2550 0.482
2552 0.467 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

(17 ธันวาคม 2551 – 5 สิงหาคม 2554)

เบี้ยผู้สูงอายุ ถ้วนหน้า

ศึกษาฟรี 15 ปี

2554 0.462
2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

(9 สิงหาคม 2554 – 7 พฤษภาคม 2556)

จำนำข้าวทุกเม็ด

เงินเดือนปริญญาตรี 15,000

2556 0.447 รถคันแรก
2558 0.421 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

(24 สิงหาคม 2557 - 22 สิงหาคม 2566)

2560 0.431 บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
2562 0.403
2564 0.430


             การอภิปรายเรื่องนโยบายประชานิยมจะดำเนินการควบคู่ไปกับนโยบายสวัสดิการ เพราะทั้ง 2 เรื่องมีเป้าหมายที่สอดคล้องกันคือ เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แต่นโยบาย 2 ประการดังกล่าว ยังคงมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ และมีผลกระทบในระยะยาวที่ต่างกัน ประชานิยมมักเน้นในเรื่องระยะสั้น มาตรการประชานิยมเกิดจากนโยบายทางการเมือง ขณะที่นโยบายสวัสดิการมักจะมีรูปแบบโครงสร้างและเป้าหมายในการให้บริการที่มีระบบสนับสนุนที่ยั่งยืน การเปรียบเทียบนี้เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ของ 2 ระบบในบริบทต่าง ๆ

             ประชานิยมมักจะมีจุดเริ่มต้นจากนโยบายทางการเมืองเพื่อเรียกคะแนนนิยม และมีหลายรูปแบบคืออาจจะเป็นเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพื้นที่ จำกัดหรือไม่จำกัดช่วงเวลา นโยบายประชานิยมสามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ทันที มาตรการประชานิยมมักจะให้เงินอุดหนุนกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้ชั่วคราวทั้งเรื่องความยากจนและความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ อาจจะไม่มีกฎหมายเฉพาะมารองรับ อาศัยเพียงนโยบายและมาตรการของรัฐบาลมาดำเนินการ ไม่มีความยั่งยืน เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาชั่วคราวในระยะสั้น ไม่มีระบบมารองรับมากนัก นโยบายประชานิยมมักได้รับการสนับสนุนจากขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับชุมชน/กลุ่ม เพิ่มพื้นที่ทางการเมือง แต่นโยบายประชานิยมมักถูกวิจารณ์ว่าเน้นผลลัพธ์ระยะสั้น ไม่มองผลระยะยาว ไม่ได้แก้ปัญหาที่รากเหง้า ไม่ยั่งยืน อาจจะก่อให้เกิดการบิดเบือนทางเศรษฐกิจ การจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และในหลายกรณีโครงการประชานิยมเป็นโครงการขนาดใหญ่ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดภาระทางการคลัง ในกรณีประเทศไทยมีการใช้เงินนอกงบประมาณร่วมด้วยโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา

             ส่วนนโยบายสวัสดิการ โดยทั่วไปจะมีความซับซ้อนและเป็นระบบมากกว่า มักจะให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกการสนับสนุนในระยะยาว เช่น ประกันสังคม การให้เงินอุดหนุนการว่างงาน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีความต่อเนื่อง มีกฎหมายรองรับ มีการจัดสรรเงินผ่านระบบงบประมาณประจำปี นโยบายเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ การสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคมเพื่อรองรับความเสี่ยงและวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ นโยบายด้านสวัสดิการสามารถก่อให้เกิดเสถียรภาพทางสังคมและการเมืองในระยะยาว แต่นโยบายสวัสดิการก็มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นภาระทางการคลังที่ต่อเนื่อง ยกเลิกยาก สร้างข้อจำกัดทางงบประมาณ และอาจจะสร้างการพึ่งพิงกับภาครัฐมากเกินไป ขาดแรงจูงใจในการดูแลตนเองของภาคประชาชน

             เมื่อเปรียบเทียบทั้ง 2 นโยบาย อาจจะสรุปได้ว่าแม้ว่าทั้งนโยบายประชานิยมและสวัสดิการมีจุดประสงค์เพื่อลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ประสิทธิผลและความยั่งยืนจะแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะที่นโยบายประชานิยมเสนอการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วและการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสนับสนุน แต่ก็จะสร้างต้นทุนด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความแข็งแรงทางการคลังในระยะยาว ในทางตรงกันข้าม นโยบายสวัสดิการนำเสนอแนวทางที่ยั่งยืนผ่านการสร้างระบบสนับสนุนต่าง ๆ และครอบคลุมมากกว่าในการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ มีความแน่นอนในการจัดการภาระทางการคลังในอนาคต

             ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่แสดงให้เห็นการเกิดขึ้นของประโยชน์จากนโยบายประชานิยมในระยะสั้น และความท้าทายของประชานิยมในระยะยาว ความริเริ่มของนายกรัฐมนตรีทักษิณได้นำไปสู่การบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับกลุ่มต่าง ๆ ในทันที แต่ก็นำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองและความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

             การวิเคราะห์ทางวิชาการได้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างประชานิยมและความเหลื่อมล้ำ แสดงให้เห็นว่านโยบายประชานิยมมีความเชื่อมโยงกับความไม่เท่าเทียมทางสังคมเศรษฐกิจอย่างไร

             กลไกเชื่อมโยงระหว่างความเหลื่อมล้ำกับประชานิยม หลายกลไกอธิบายความเหลื่อมล้ำทำให้เกิดประชานิยมอย่างไร ประการแรก ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญ ประชาชนที่รู้สึกถึงความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจมักจะสนับสนุนพรรคที่นำเสนอนโยบายประชานิยมที่สัญญาว่าจะคุ้มครองปกป้องและกระจายรายได้ ความรู้สึกถึงความไม่มั่นคง ไม่ใช่เพียงเรื่องรายได้เท่านั้นแต่ยังหมายถึงความรู้สึกต่อความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในอนาคต  ประการที่สอง การลดลงของความไว้วางใจต่อผู้นำทางการเมืองชนชั้นสูง มีบทบาทสำคัญในการหันเหผู้คนไปสู่พรรคการเมืองที่มีการนำเสนอการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม การเพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียมสามารถทำลายความไว้วางใจของสาธารณชนต่อพรรคการเมืองดั้งเดิมได้ ความเข้าใจในความซับซ้อนของการรักษาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียม ความเลวร้ายลงของความเชื่อมั่นทำให้ประชานิยมเกิดขึ้น

             ประชานิยมได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญทางการเมืองในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรในช่วงต้นทศวรรษ 2000  นโยบายของพรรคไทยรักไทยมีเป้าหมายเพื่อลดความยากจนในชนบท และแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางสังคมเศรษฐกิจไทยผ่านการกระจายรายได้ และนับเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสประชานิยมในประเทศไทย

รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

             นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้ง 2 ครั้งในปี 2544 และปี 2549 โดยชัยชนะในครั้งที่ 2 ถือเป็นชัยชนะที่ถล่มทลายซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายสำเร็จตามที่ได้สัญญาไว้อย่างรวดเร็วและส่งผลในการบรรเทาความเดือดร้อนของชุมชนในชนบทอย่างชัดเจน  ถึงแม้ว่านโยบายที่นำเสนอโดยทักษิณ ชินวัตร ถูกขนานนามว่าเป็นนโยบายประชานิยม แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่านโยบายเหล่านี้ทำให้เกิดการกระจายรายได้และให้ประโยชน์กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และประชากรในชนบทโดยตรง โดยนโยบายที่สำคัญ และถูกกล่าวถึงได้แก่

             30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า โดยนโยบายนี้ให้ประชาชนไทยที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสุขภาพใด ๆ เช่นราชการหรือระบบประกันสังคม สามารถเข้ารับบริการการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐโดยจ่ายเพียง 30 บาทเท่านั้น ผลของนโยบายทำให้ประชาชนไทยได้เข้าถึงระบบสุขภาพเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจนในชนบท นโยบายนี้ถือเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของทักษิณ ชินวัตร เป็นมาตรการที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดตรงกับความต้องการของประชาชน หลังการใช้มาตรการนี้ไม่นาน ภาคประชาสังคมได้รวบรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อยื่นให้รัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นับเป็นร่างกฎหมายแรกที่เกิดจากกลไกในการรวบรวมรายชื่อจากภาคประชาชน ฉบับแรกหลังมีรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้ยื่นร่างของรัฐบาลเข้าสู่สภาเช่นเดียวกัน และร่างของรัฐบาลเป็นร่างที่ได้รับการพิจารณาและออกเป็นกฎหมาย การเกิดขึ้นของมาตรการและตามด้วยกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ก่อให้เกิดการปรับระบบการจัดสรรทรัพยากรทางด้านสาธารณสุขใหม่ มีผลให้ทรัพยากรสำหรับระบบสุขภาพถูกจัดสรรให้กับกลุ่มโรงพยาบาลขนาดเล็กและในชนบทเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพลดลง  ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ถูกพัฒนาและยกระดับคุณภาพอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลสู่รัฐบาล และส่งผลให้ประชากรไทย ประมาณ 99.6% สามารถเข้าถึงระบบสุขภาพได้ และได้กลายเป็นระบบสวัสดิการทางด้านสาธารณสุขที่มีความแข็งแรงและประสิทธิภาพระบบหนึ่งที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก  ทั้งนี้ความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพมีสาเหตุสำคัญมาจากระบบนี้ได้ถูกศึกษา และพัฒนาอย่างเป็นระบบมาก่อนนำเสนอให้พรรคการเมืองเลือกไปทำนโยบายในช่วงของการเลือกตั้ง ไม่ได้เกิดจากความริเริ่มของฝ่ายการเมืองก่อน

             หลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในปี 2544 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้จัดตั้งกองทุนหมู่บ้านจำนวน 70,000 หมู่บ้าน ๆ ละ 1 ล้านบาท ในลักษณะเงินหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมของคนในชุมชน ประชาชนในหมู่บ้านสามารถกู้เงินจำนวนนี้เพื่อนำเงินไปลงทุนทางธุรกิจตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยคณะกรรมการหมู่บ้านได้ กองทุนหมู่บ้านทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ชุมชนเพื่อช่วยลดความยากจน และกองทุนหมู่บ้านยังเป็นการเพิ่มอำนาจของชุมชนในการจัดการกองทุนของตนเองด้วย ในภายหลังรัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงานกองทุนหมู่บ้านเพื่อให้คำแนะนำการดำเนินงานต่างของการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน ผลของการมีกองทุนหมู่บ้านทำให้เศรษฐกิจชุมชนมีการขยายตัว บางแห่งสามารถบริหารจัดการได้ดี บางแห่งก็มีปัญหาในการจัดการและขาดทุน การดำเนินการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านที่รวดเร็วเป็นเพราะรัฐบาลใช้กลไกธนาคารของรัฐให้ใช้เงินของธนาคารไปดำเนินการก่อน และรัฐบาลค่อยตั้งงบประมาณชดใช้ให้ในภายหลัง ถึงแม้นโยบายกองทุนหมู่บ้านไม่ได้มีเป้าหมายโดยตรงในการลดความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การลงทุน และอาชีพให้กับชุมชน ซึ่งอาจมีผลในการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนได้

             พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี เป็นการช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับเกษตรกร และเลื่อนการจ่ายคืนหนี้ออกไปก่อน นโยบายนี้ช่วยให้เกษตรกรสามารถผ่อนคลายภาระหนี้สินออกไปก่อนได้ ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในอีกทางหนึ่ง เพราะเป็นการเพิ่มเงินในมือประชาชน จากการไม่ต้องจ่ายคืนหนี้ ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการบริโภคและการลงทุน โดยรัฐบาลมีภาระชดเชยดอกเบี้ยในช่วงการพักชำระหนี้ให้สถาบันการเงิน

             นอกจากนั้น ในขณะที่เป็นรัฐบาล รัฐบาลทักษิณได้ออกชุดนโยบายหลายโครงการซึ่งถูกเรียกว่าเป็นนโยบายประชานิยม อีกชุดใหญ่ ๆ โดยเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในเมือง ภายใต้แนวคิด “เอื้ออาทร” เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีบ้านเป็นของตนเอง โดยรัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนให้ ยูนิตละ 80,000 บาท โครงการแท็กซี่เอื้ออาทร เป็นต้น แต่มาตรการเหล่านี้ ไม่ได้มีแนวทางการดำเนินโครงการที่มีประสิทธิภาพมากนัก ก่อให้เกิดปัญหาในเวลาต่อมา บ้านเอื้ออาทรเหลือขายไม่หมดเป็นจำนวนมาก และสุดท้ายต้องขยายเกณฑ์ทางด้านรายได้ของผู้มีสิทธิซื้อบ้านเอื้ออาทรให้สูงขึ้น และมีปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นเพราะมีการเรียกรับเงินเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ

             ผลของการดำเนินนโยบาย

             นโยบายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีผลในการบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงินได้ทันที และช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนรายได้น้อยจำนวนมาก นโยบาย 30 บาท ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง การสรุปบทเรียน 10 ปี หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย พบว่ามีผู้เข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะคนยากจนมีการเข้าถึงการใช้บริการมากกว่าคนที่มีฐานะดีในระบบหลักประกันสุขภาพ มีผลให้คนยากจนได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐในสัดส่วนที่สูงกว่าคนมีฐานะดี และมีผลให้ช่องว่างภาระรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลระหว่างคนจนและคนรวยแคบลง (รูปที่ 2) และโดยรวมทำให้ประชากรไทยเข้าถึงบริการสุขภาพผ่านระบบใดระบบหนึ่งรวมแล้วเกือบ 99%

                                                                                                       รูปที่ 2 : ภาระรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลต่อรายได้แยกตามเศรษฐานะ 10 กลุ่ม, ค.ศ. 1992 – 2006 (พ.ศ. 2535 – 2549)

                                                                                                       ที่มา : สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสุขภาพ (สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์, 2556) 


             ในงานศึกษาของธร ปีติดล และคณะ (2565) ยังคงพบเช่นกันว่าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีการกระจายประโยชน์ไปสู่คนจนหรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างชัดเจน ในขณะที่สวัสดิการข้าราชการและรัฐวิสาหกิจมีลักษณะกระจายประโยชน์ไปสู่คนรายได้ปานกลางและสูงมากกว่า และกลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม และกลุ่มที่ใช้ประกันสุขภาพภาคเอกชน เป็นกลุ่มที่จ่ายเงินค่าประกันสุขภาพเอง

             นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขในเชิงทรัพยากรโดยใช้ข้อมูลรายจังหวัด พบว่าจำนวนเตียงและแพทย์ในกรุงเทพและปริมณฑลสูงกว่าในส่วนภูมิภาค  โดยที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่มีทรัพยากรน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ และเป็นภูมิภาคที่มีความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขสูง แม้ว่าในช่วงระหว่างปี 2537 ถึง 2560 ทรัพยากรทางด้านสาธารณสุขในภาคต่าง ๆ จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน  โดยอัตราการเพิ่มขึ้นในภูมิภาคจะค่อนข้างสูง เมื่อพิจารณาความเหลื่อมล้ำด้วยค่าสัมประสิทธิ์จีนี จะพบว่า ทรัพยากรทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นเตียงหรือแพทย์มีค่าสัมประสิทธิ์จีนีที่สูงกว่าความเหลื่อมล้ำของรายได้

             อย่างไรก็ตาม นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีความรับผิดชอบทางการคลัง และอาจเป็นภาระทางการคลังในระยะยาว แม้ว่านโยบาย 30 บาท ซึ่งรัฐบาลได้มีการออกกฎหมายหลักประกันสุขภาพรองรับ จะก่อให้เกิดแนวทางการจัดสรรทรัพยากรทางสุขภาพใหม่ โดยในปีแรกที่เริ่มดำเนินการ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณทางการแพทย์เท่าเดิมก่อนที่จะมีนโยบายนี้ แต่มีวิธีการจัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลแตกต่างจากเดิม แต่ก็พบว่างบประมาณที่โรงพยาบายได้รับไม่เพียงพอต่อภาระการให้บริการทางการแพทย์ โดยโรงพยาบาลต่าง ๆ ต้องนำเงินสะสมที่มีอยู่เดิมมาอุดหนุนค่าใช้จ่าย บางโรงพยาบาลมีปัญหาการขาดทุนโดยเงินสะสมที่มีอยู่ไม่พอเพียงในการอุดหนุน ในปีต่อมา รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม และต้องมีการเพิ่มงบประมาณทางสุขภาพอย่างต่อเนื่องทุกปี พร้อม ๆ กับการขยายการรักษาโรคให้ครอบคลุมโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และคุณภาพที่สูงขึ้น พบว่างบประมาณหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้น 3 เท่า ในช่วง 17 ปี จาก 56 พันล้านบาทในปี 2546 เป็น 166 พันล้านบาท แต่โดยรวมงบประมาณหลักประกันสุขภาพยังมีสัดส่วนต่อ GDP น้อยกว่า ร้อยละ 1 อย่างไรก็ตามแม้ว่าภาระทางการคลังจะเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นนโยบายที่สามารถลดภาระทางการเงินสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้อย่างตรงเป้า ทำให้รัฐบาลต่อ ๆ มายังคงอยู่ในแนวทางที่จะต้องจัดสรรเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มคุณภาพของบริการทางการแพทย์ให้กับประชาชนในประเทศอย่างครอบคลุม 

             สำหรับนโยบายบางเรื่อง เช่น การพักการชำระหนี้ ถึงแม้จะเป็นการช่วยผ่อนผันภาระหนี้ได้ชั่วคราว โดยรัฐบาลรับผิดชอบภาระดอกเบี้ยช่วงพักชำระหนี้ ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาภาระหนี้สินของเกษตรกรในระยะยาว เช่นเดียวกับกรณีกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งทำให้ชุมชนสามารถกู้หนี้ได้ง่ายขึ้น หลายแห่งก็มีปัญหาในการคืนหนี้  อย่างไรก็ตามนโยบายทั้ง 2 จัดอยู่ในกลุ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งก็พบว่าในช่วงเวลาของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 2544-2548 เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 อย่างชัดเจน โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ที่ 5% ต่อปี

             ในทางทางการเมือง นโยบายประชานิยมของทักษิณ ชินวัตรได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมือง และนำไปสู่การชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 อย่างถล่มทลาย และนโยบายประชานิยมกลายมาเป็นบรรทัดฐานในการนำเสนอนโยบายในการแข่งขันทางการเมือง พรรคการเมืองต่างๆต้องทำงานหนักมากขึ้น รับฟังประชาชนมากขึ้นว่าอะไรคือความเดือดร้อน และความต้องการของเขา ขณะที่ภาระทางการคลังยังคงเป็นปัญหาและจุดอ่อน ยังคงมีการวิเคราะห์ภาระทางการคลังค่อนข้างน้อย แม้ว่าจะมีการออกกฎเกณฑ์ที่มากขึ้นทางด้านวินัยทางการคลัง และในท้ายที่สุดชัยชนะของทักษิณ ชินวัตรและนโยบายประชานิยมได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในแนวคิดทางการเมือง และระบอบประชาธิปไตย นำไปสู่การเมืองสุดขั้ว

รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

             รัฐบาลอภิสิทธิ์จัดตั้งขึ้นในช่วงปลายปี 2551 และเผชิญกับผลกระทบของวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ประเทศไทยก็เป็นประหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ มีผลให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาหดตัวอีกครั้งหนึ่งในรอบ 10 ปี โดยมีขยายตัวที่ -2.3% ในปี 2552 และรัฐบาลได้ดำเนินการแจกเงิน จำนวน 2,000 บาท กับผู้มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ ในขณะที่การส่งออกหดตัวจากผลของวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ว่านโยบายการแจกเงินไม่ได้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นนโยบายประชานิยม เนื่องจากเป็นนโยบายที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกใช้เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศขณะที่เผชิญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และเป็นการดำเนินการครั้งเดียว อย่างไรก็ตามหลังจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจผ่านพ้นไป รัฐบาลได้นำเสนอนโยบายสวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า 500 บาท โดยเป็นนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ได้หาเสียงไว้แล้วในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2551 โดยกล่าวว่าเป็นเงินบำนาญสำหรับผู้สูงอายุ แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่าโครงการนี้อาจจะสร้างภาระทางการคลัง เพราะเป็นที่คาดการณ์ว่าจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากความคุ้นเคยว่าจำนวนที่จ่าย เป็นจำนวนที่ภาครัฐจ่ายให้กับผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้และไม่มีผู้อุปการะ เป็นการจ่ายในลักษณะสงเคราะห์ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามากมายเพราะภาระหน้าที่นี้ได้โอนถ่ายไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว มีผลให้เกณฑ์ในการคัดเลือกผู้มีสิทธิมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ การนำเสนอให้จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุของพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นการเปลี่ยนจากเป้าหมายเฉพาะเจาะจงที่ผู้มีรายได้น้อย ยากจน มาสู่ระบบถ้วนหน้า และเมื่อมีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการใช้เงินที่ไม่มีประโยชน์เพราะไปจ่ายเงินให้คนรวยด้วย ก็มีการขอให้กลุ่มผู้มีฐานะไม่รับ หรือบริจาคคืน

             อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งต่อมาปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้มีการเสนอให้มีการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 600, 700, 800 และ 1,000 บาท ตามรอบของอายุที่เพิ่มขึ้น มิใช่เป็นเกณฑ์ตามเศรษฐานะ และต่อมาระบบนี้ภายใต้ระบบแนวคิดเงินสวัสดิการบำนาญ ในการหาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 บางพรรคการเมืองได้เสนอให้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 บาท แบบถ้วนหน้า

             เบี้ยผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้าอาจจะไม่ได้ทำให้โครงสร้างความเหลื่อมล้ำเปลี่ยนแปลงไปมากนัก เพราะเป็นการจ่ายให้กับผู้สูงอายุเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน แต่ก็เป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มคนจนหรือผู้มีรายได้น้อยที่สูงอายุ และการให้แบบถ้วนหน้าทำให้นโยบายนี้มีปัญหาเรื่องการตกหล่นน้อย เมื่อเทียบกับระบบที่จ่ายให้เฉพาะกลุ่ม

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

             นโยบายที่สำคัญคือนโยบายจำนำข้าวทุกเม็ด โดยกำหนดราคาซื้อที่สูงกว่าราคาตลาด โดยนโยบายนี้เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลเพื่อไทยใช้ในการหาเสียง โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินหมุนเวียน ประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรที่เป็นชาวนา และรัฐบาลสามารถคุมราคาข้าวในตลาดโลกได้ ในทางปฏิบัติจริงมีการรับซื้อข้าว 5 ฤดูในช่วง 2554/55 – 2556/57 วงเงินในการรับซื้อและจัดการเพิ่มขึ้นเป็น 9.85 แสนล้านบาท โครงการนี้ถูกวิจารณ์เป็นอย่างมากโดยเฉพาะจากนักเศรษฐศาสตร์ ว่าจะสร้างปัญหาและผลกระทบต่อการค้าข้าวของไทยในตลาดโลก และรัฐบาลจะขาดทุนเป็นจำนวนมาก

             นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ (2557) ได้ปะเมินโครงการนี้ โดยพบว่า โครงการรับจำนำข้าว 5 ฤดู (2554/55 – 2556/57) มีค่าใช้จ่ายรวม 9.85 แสนล้านบาท เงินที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเงินนอกงบประมาณที่กู้จากสถาบันการเงินของรัฐ โดยรัฐบาลไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐสภา และมีการขาดทุนทางบัญชีมากกว่า 50% ของค่าใช้จ่าย ผลการประเมินโครงการพบว่า

             (1) แม้ว่าชาวนาทั่วประเทศ ทั้งผู้เข้าร่วมและไม่เข้าร่วม จะได้รับผลประโยชน์ส่วนเกิน (producer surplus) รวมกันเป็นมูลค่าสูงถึง 5.6 แสนล้านบาทจากโครงการรับจำนำข้าว แต่ประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับชาวนารายกลางและรายใหญ่ ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตชลประทานภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง และเมื่อวัดต้นทุนสวัสดิการพบว่าความสูญเสียต่อสังคมสูงกว่าประโยชน์ที่ตกกับชาวนาและผู้บริโภคถึง 1.23 แสนล้านบาท โดยความสูญเสียนี้ยังไม่นับรวมความเสียหายอื่น ๆ ที่วัดไม่ได้ เช่นชื่อเสียงและคุณภาพข้าวไทย ความเสียหายของโครงสร้างการค้าข้าวแบบแข่งขันดั้งเดิม 

             (2) เกิดการทุจริตในการระบายข้าวค่อนข้างสูงถึง ประมาณ 1 แสนล้านบาท ประกอบด้วย การทุจริตจากการระบายข้าวในช่องทางต่าง ๆ ได้แก่การค้าข้าวแบบรัฐต่อรัฐ 44% การทุจริตที่เลือกขายข้าวให้พรรคพวก 21% และการทุจริตจากโครงการข้าวถุง 8% และการทุจริตจากการลักลอบนำข้าวดีในโครงการไปขายและแทนด้วยข้าวคุณภาพต่ำ 25% การทุจริตทั้ง 2 ประเภท เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐในการจัดการสต๊อกและการระบายข้าว ส่วนการขโมยข้าวในโกดังอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ มูลค่าการทุจริตยังไม่นับรวมการทุจริตของชาวนา โรงสี ผู้ตรวจข้าว และเจ้าของโกดัง เช่น การนำข้าวจากต่างประเทศมาสวมสิทธิ์ การออกใบประทวนปลอม และการทุจริตค่ารักษาสภาพข้าว

             (3) ผลสำรวจทัศนคติของชาวนา โรงสี เจ้าของโกดัง ผู้ตรวจข้าว พบว่าเกษตรกรมีความพอใจต่อโครงการรับจำนำข้าวสูงกว่าโรงสี ส่วนความเห็นต่อการทุจริตพบว่า เกษตรกรในโครงการให้คะแนนการทุจริตในระดับปานกลาง แต่เกษตรกรนอกโครงการในภาคกลางให้คะแนนการทุจริตเห็นว่ามีการทุจริตค่อนข้างมาก ในขณะที่เจ้าของโรงสีและเจ้าของโกดังให้คะแนนการทุจริตค่อนข้างสูง

             (4) การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจจากโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด ที่ราคารับจำนำสูงกว่าราคาในตลาด ทำให้ชาวนา โรงสี และเจ้าของโกดัง มีการขยายกำลังการผลิตในทุกส่วน จนโรงสีมีกำลังการผลิตมากกว่าการผลิตโดยปกติถึงเกือบ 3 เท่า

             นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ (2557) สรุปว่าแม้ว่าโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นก็ตาม แต่จะส่งผลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในระยะกลาง เพราะรัฐมีภาระที่ต้องแบ่งงบประมาณไปชำระหนี้จำนวนมาก

             นอกจากนี้ แม้โครงการนี้จะมีส่วนช่วยยกระดับชาวนาผู้ปลูกข้าว แต่ผู้ได้รับผลประโยชน์ก็เป็นชาวนาขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะไม่ใช่ชาวนาที่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ดังนั้นนโยบายนี้จึงอาจจะไม่ได้ช่วยในการลดความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจเท่าไหร่ แต่ได้ทิ้งปัญหาไว้มากมายตั้งแต่ การทุจริต ซึ่งปรากฏว่ามีการฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้องทั้งนักการเมืองและข้าราชการในข้อหาทุจริคอร์รัปชั่นจำนวนหลายคน การบิดเบือนตลาดการค้าข้าวในประเทศและการส่งออก การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ และภาระทางการคลัง

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

             การยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในปี 2557 และจัดตั้งรัฐบาลทหารขึ้นมา มีการอ้างสาเหตุหลายประการตั้งแต่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแล้ว ยังได้กล่าวถึงความล้มเหลวของการนำเสนอนโยบายประชานิยมของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าก่อให้เกิดภาระทางการคลังในระดับสูงและมีการทุจริตสูงเช่นกัน ดังนั้นรัฐบาลทหารที่จัดตั้งขึ้นจะจัดให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศในระยะยาว เพื่อลดการพึ่งพิงนโยบายประชานิยม

             นอกจากนี้รัฐบาลได้จัดทำโครงการประชารัฐ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ มีการสร้างระบบความคุ้มครองทางสังคมที่ชัดเจนขึ้นหลายโครงการ โดยพยายามทำให้เป็นเหมือนระบบสวัสดิการ โดยมีการออกพระราชบัญญัติเพื่อรองรับระบบที่ชัดเจน เช่นโครงการเงินอุดหนุนสำหรับเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แลกเกิดถึงอายุ 6 ปี จากครอบครัวผู้มีรายได้น้อย และโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

             ในที่นี้จะหยิบยกโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐขึ้นมาพิจารณา เพราะเป็นโครงการที่ชัดเจนว่ามีการดำเนินการกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้ง เนื่องจากกำหนดอายุไว้ที่ 18 ปีขึ้นไป และเกณฑ์ที่กำหนดทำให้สามารถครอบคลุมผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงถึงเกือบ 30%

             โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีเป้าหมายสำคัญ 5 ประการ คือ (วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์, 2565)

             1) แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

             2) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐโดยการอุดหนุนเงินเฉพาะเจาะจงให้ผู้มีรายได้น้อย

             3) ลดความซ้ำซ้อนในการจัดสรรสวัสดิการโดยการบูรณาการข้อมูล

             4) ลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีรายได้น้อย

             5) กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ


             บัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้เงินทุนจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2561 เป็นกองทุนจัดตั้งโดย พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้เงินจากกองทุนที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายเฉพาะจาก พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. 2562 และเมื่องบประมาณจัดสรรที่ให้กองทุนไม่เพียงพอก็สามารถขออนุมัติเพิ่มเติมได้จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ทั้งนี้โครงการในลักษณะเงินโอนเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในรัฐบาลพลเอกประยุทธิ์ นี้ได้มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

             1) มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เปิดให้มีการลงทะเบียนครั้งแรกในช่วง 15 กรกฎาคม - 16 สิงหาคม 2559 สำหรับผู้มีรายได้น้อยกว่า 100,000 บาท/ปี ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยมีผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนจำนวน 7.5 ล้านคน เป็นการโอนครั้งเดียวในเดือนธันวาคม 2559 โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ได้รับเงินโอน 3,000 บาท และผู้มีรายได้มากกว่า 30,000 แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ได้รับเงินเงินโอน 1,500 บาท รวมใช้งบประมาณทั้งสิ้น 17,469 ล้านบาท

             2) ประชารัฐสวัสดิการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยจ่ายเป็นรายเดือน โดยมีเกณฑ์รายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี และมีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกินไม่เกิน 100,000 บาท และมีการจำกัดขนาดของที่ดิน ที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน โดยมีการกำหนดวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่สามารถนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เดือนละ 200-300 บาท ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้น และวงเงินค่าเดินทาง เปิดให้มีการลงทะเบียนใหม่ 3 เมษายน - 15 พฤษภาคม 2560 มีผู้ลงทะเบียนประมาณ 14 ล้านคน และผ่านการพิจารณา 12.2 ล้านคน ต่อมาเปิดให้มีการลงทะเบียนเพิ่มเติม เพราะโดนวิจารณ์ว่าเร่งร้อนและทำให้คนบางกลุ่มเข้าไม่ถึงสิทธิ รวมผู้ลงทะเบียนที่มีสิทธิทั้ง 2 ครั้ง 14.5 ล้านคน รัฐบาลได้เริ่มการจ่ายรายเดือนตั้งแต่เดือนกันยายน 2560  ในช่วงปีงบประมาณ 2561-2566 รัฐบาลใช้เงินประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท รวม 6 ปีใช้เงินงบประมาณไปแล้วประมาณ 3.3 ล้านบาท และขณะเดียวกัน รัฐบาลอาจจะเพิ่มเติมมาตรการเสริมเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆเพิ่มเติม เช่นในปีงบประมาณ 2562 และปีงบประมาณ 2566 มีการเพิ่มงบประมาณช่วยเหลือที่กำหนดเป็นการเฉพาะอีกหลายรายการ ทำให้งบประมาณที่ใช้ในปี 2562 เพิ่มเป็น 93,155 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2566 เป็นจำนวนประมาณ 65,413.8 ล้านบาท ขณะที่ในปีอื่น ๆ ใช้เงินงบประมาณไปประมาณปีละ 34,000-48,000 ล้านบาทเท่านั้น และทั้ง 2 ปีงบประมาณก็เป็นปีที่มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป

             มีการวิจารณ์ว่าการดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์โดยผ่านการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์โดยพรรคการเมืองหยิบยื่นผลประโยชน์บางอย่างให้ประชาชน จำนวนผู้ลงทะเบียนประมาณ 14.6 ล้านคนคิดเป็น 28% ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และในช่วงก่อนการเลือกตั้งในปีงบประมาณ 2562 และ 2566 รัฐบาลได้เพิ่มรายการช่วยเหลือเฉพาะแบบมีกำหนดระยะเวลาอีกหลายรายการ ทำให้ค่าใช้จ่ายเงินโอนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปี 2562 เพิ่มเป็น 2 เท่าของปี 2561 และงบประมาณสำหรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปี 2566 เพิ่มเป็นเกือบ 2 เท่าของปี 2565


ตารางที่ 2 : จำนวนเงินงบประมาณและจำนวนผู้ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, ปีงบประมาณ 2561-2566

ปีงบประมาณ จำนวนเงิน (ล้านบาท) จำนวนผู้รับสิทธิ (ล้านคน)
2561 43,614.5 14.2
2562 93,155.4 14.6
2563 47,843.5 13.9
2564 48,216.0 13.5
2565 34,986.4 13.2
2566 65,413.8 14.6

ที่มา: รายงานประจำปีกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ปีงบประมาณ 2564 และ 2565; ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566


             สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (2563) ได้เปิดเผยผลการตรวจสอบโครงการประชารัฐสวัสดิการในปี 2563 ว่า การดำเนินการโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ยังไม่รัดกุมเหมาะสม ได้ฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้องและไม่เป็นปัจจุบัน ดังนี้

             1) การจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย (ซึ่งก็คือ ผู้มีรายได้น้อย) ยังไม่ครอบคลุมกว้างขวางเพียงพอ ทั้งยังมีความคลาดเคลื่อนและไม่เป็นปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ที่ไม่ได้มีรายได้น้อยกลับได้รับความช่วยเหลือ ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดความไม่คุ้มค่าไปไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ผู้ที่มีรายได้น้อย หรือ คนที่อยู่ในสภาวะยากจน กลับต้องเสียโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือ จึงแสดงให้เห็นว่าโครงการฯ ไม่ได้บรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ โดยกระบวนการลงทะเบียนมีจุดอ่อนสำคัญคือ การรับลงทะเบียนบันทึกข้อมูลโดยไม่มีการสอบทาน ตรวจสอบ และรับรองความถูกต้อง การปฏิบัติงานตามโครงการเป็นไปอย่างเร่งรีบ และหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการเพื่อตรวจสอบข้อมูลคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนยังไม่ครอบคลุมทรัพย์สินบางประเภท และผู้ลงทะเบียนไม่มีสิทธิอุทธรณ์กรณีไม่ผ่านการพิจารณา

             2) การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรยากจนโดยมีแรงจูงใจในการเพิ่มวงเงินนั้น กลุ่มเป้าหมายไม่ได้เข้าฝึกอบรมพัฒนาทักษะอาชีพภายในระยะเวลาที่กำหนด (ธันวาคม 2561) ทำให้การจัดอบรมสำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้าร่วมอย่างแท้จริงต้องชะลอออกไป และผู้ที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรมเข้าร่วมได้เพียง 39% เท่านั้น และยังปรากฏผู้ที่ไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายแต่ต้องการเข้าร่วมอบรมอีกจำนวนมาก ในแง่นี้ รัฐบาลจึงต้องจ่ายงบประมาณอย่างไม่คุ้มค่าไปไม่น้อยกว่า 3,200 ล้านบาท ที่สำคัญ ก็คือ รัฐไม่สามารถใช้ข้อมูลที่มีอยู่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

             3) การช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบางรายการยังไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และยังเพิ่มความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงด้วย เช่น การเข้าถึงไฟฟ้า ประปา รถไฟ และรถ บขส. เป็นต้น นี่ยังไม่กล่าวถึง สินค้าอุปโภคบริโภคในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งมีราคาไม่แตกต่างจากท้องตลาด จึงไม่สามารถลดค่าครองชีพของประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้

             ด้วยเหตุนี้ สตง. จึงเสนอให้มีการปรับปรุงระบบจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกให้ถูกต้องถ้วนและเป็นปัจจุบัน มีระบบอุทธรณ์สิทธิ์ให้แก่ประชาชนและผู้มีข้อจำกัดในการเข้าถึงกระบวนการของรัฐ ทำการประชาสัมพันธ์ให้แก่หน่วยงานประชาชนและสังคมวงกว้าง พร้อมทั้งมีการทบทวนติดตามการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล

             ในการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใหม่ในปี 2565 รัฐบาลได้นำข้อแนะนำของ สตง. มาปรับปรุงกระบวนการลงทะเบียน ทั้งในด้านการตรวจสอบสิทธิจากหลายหน่วยงานและเปิดให้มีการอุทธรณ์สิทธิได้ ในการลงทะเบียนใหม่ครั้งนี้ จำนวนผู้ขอลงทะเบียนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 14 ล้านคน เป็น 22 ล้านคน แต่ผ่านการพิจารณาประมาณเพียง 14.6 ล้านคน และในการลงทะเบียนครั้งใหม่รัฐบาลได้ขยายเกณฑ์ผู้มีสิทธิให้กว้างขึ้นโดยนับรวมผู้ที่มีหนี้เงินกู้ที่อยู่อาศัย โดยเป็นหนี้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และได้มีการขยายสิทธิในวงเงินค่าใช้จ่ายเป็น 300 บาทอัตราเดียว และมีการขยายวงเงินค่าก๊าซหุงต้ม และค่าเดินทางเพิ่มขึ้น

             อย่างไรก็ตามในงานวิจัยของ ธร ปีติดล และคณะ (2565) ได้ระบุว่าโครงการสวัสดิการแห่งรัฐมีปัญหาสำคัญคือการรั่วไหลและการตกหล่น โดยพบว่าจากการใช้ข้อมูลจากสำรวจ ภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2562 มาใช้คัดเลือกและจัดกลุ่มผู้ผ่านคุณสมบัติตาม มีอัตราผู้ที่ตกหล่นไม่ได้รับบัตรสวัสดิการสูง (Exclusion error) 57% และมีการรั่วไหลที่ผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการถึงแม้จะไม่มีคุณสมบัติ (Inclusion error) 11% โดยการรั่วไหลมีสาเหตุสำคัญจากเกณฑ์ทางด้านรายได้เพราะพิสูจน์ยาก เนื่องจากผู้รับบัตรสวัสดิการของรัฐเป็นผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวมากถึง 43.4% และเป็นผู้ช่วยธุรกิจในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างถึง 21.5%

             ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับการประเมินของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่พบว่าสัดส่วนของคนจนที่ได้รับบัตรสวัสดิการของรัฐมีเพียง 49.7% นอกจากนั้นในรายงาน The 101.world ซึ่งใช้ข้อมูลจากสำรวจ ภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2564 มาวิเคราะห์ประสิทธิภาพการคัดกรองตามเกณฑ์การรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐพบประเด็นการตกหล่นและรั่วไหลคล้ายกับงานของ วีระวัฒน์ โดยพบว่ามีการตกหล่นของผู้มีสิทธิที่ 57% และที่รั่วไหลประมาณ 20%

             เมื่อศึกษาถึงการกระจายประโยชน์ วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร (2565) พบว่าการกระจายประโยชน์ของนโยบายไม่ได้มีลักษณะก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะหากไม่มีปัญหาการตกหล่น และพบว่านโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำด้านรายได้น้อยมาก  โดยส่งผลต่อสัมประสิทธิ์จีนีเพียง 0.006266 ในกลุ่มผู้มีบัตร แสดงให้เห็นว่านโยบายนี้ยังคงไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มที่ยากจนที่สุดได้ และแม้ว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มครัวเรือนรายได้ต่อหัวต่ำสุด 40% ล่างก็ตาม แต่ผู้วิจัยก็พบว่ายังมีผู้ถือบัตรอีก 10% อยู่ในกลุ่ม 40% บน

             ขณะเดียวกันเป้าหมายในการใช้มาตรการบัตรสวัสดิการของรัฐที่ต้องการให้มีการให้เงินโอนอย่างมีเงื่อนไข คือดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดหางาน และการยกระดับทักษะฝีมืออาชีพ แต่อย่างไรก็ตามพบว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปโดยสมัครใจ และมีปัญหาในการดำเนินการดังที่สะท้อนจากผลการตรวจสอบของ สตง

             ถึงแม้โครงการนี้จะออกแบบให้เป็นระบบสวัสดิการของรัฐ แต่อย่างไรก็ตามพบว่าโครงการนี้ได้ถูกใช้ไปเพื่อการดึงคะแนนเสียงเช่นเดียวกัน เพราะในปีที่จะมีการเลือกตั้ง รัฐบาลได้เพิ่มเติมมาตรการเป็นการเฉพาะที่มีการกำหนดระยะเวลาให้กับผู้มีสิทธิในบัตรสวัสดิการของรัฐ ซึ่งปรากฏว่าในปีงบประมาณ 2562 และ 2566 งบประมาณที่ใช้สำหรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มสูงกว่าปีปกติค่อนข้างมาก และคณะเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐ และพรรคไทยสร้างชาติ ได้เสนอว่าจะเพิ่มเงินโอนเพื่อการซื้อสินค้าและบริการจาก 300 บาท เป็น 700 บาท และ 1,000 บาท ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าได้มีการใช้โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในลักษณะโครงการประชานิยมเช่นกัน เพราะถ้าการต้องจ่ายเงินโอนเพิ่มจาก 300 บาท เป็น 1,000 บาท ก็ย่อมจะมีผลให้เงินงบประมาณที่ต้องใช้เพิ่มจากประมาณ 45,000 ล้านบาท เป็นมากกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท

บทสรุป

             เป็นที่ยอมรับกันอย่างชัดเจนว่า นโยบายประชานิยมมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะในชนบท ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ และมีทิศทางของการพัฒนาสู่ระบบการคุ้มครองทางสังคมมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาว่านโยบายประชานิยมเหล่านี้มีส่วนในการลดความเหลื่อมล้ำมากแค่ไหน ก็คงต้องพิจารณาเป็นรายนโยบายไป

             สำหรับนโยบายที่ชัดเจนว่าสามารถทำให้เกิดการลดความเหลื่อมล้ำ และได้พัฒนาจากโครงการประชานิยมไปสู่ระบบสวัสดิการที่มีความยั่งยืนคือระบบหลักประกันสุขภาพที่มีจุดเริ่มต้นจากนโยบายหาเสียงของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร “30 บาทรักษาทุกโรค” เช่นเดียวกับนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ผลการศึกษาพบว่าสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้บ้าง แม้ว่าจะเล็กน้อย โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการตกหล่นในการลงทะเบียนและการรั่วไหลไปสู่ผู้ที่ไม่มีสิทธิ โดยผู้ไม่มีสิทธิถึง 10% อยู่ในกลุ่ม 40% บน และรวมถึงการออกแบบระบบที่ยังมีปัญหาค่อนข้างมาก ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการช่วยยกระดับรายได้ของผู้ถือบัตรได้ ถึงการจ้างงาน จัดหางาน และการยกระดับทักษะฝีมืออาชีพ หรือกล่าวง่าย ๆ คือ หาคนจนเจอ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้

             ความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพที่ก่อให้เกิดผลทางด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพได้อย่างชัดเจน และสามารถสร้างระบบที่ยั่งยืนต่อเนื่องได้อาจจะสรุปได้ว่า เป็นผลจากการสร้างความสมดุลระหว่างการเมืองและการออกแบบระบบทางเทคนิคที่ดี ที่มีกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีหลักสำคัญ 4 ประการ คือ ประชาชนต้องเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุม มีระบบการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินและการคลัง และการสร้างระบบที่มีธรรมาภิบาลและโปร่งใส และที่สำคัญคือการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคผู้ใช้บริการผ่านผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรพัฒนาเอกชนและรวมถึงการมีเครือข่ายภาคประชาชนในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ

             นโยบายจำนำข้าวทุกเม็ดในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ได้ก่อให้เกิดปัญหามากมายทั้งไม่สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้เพราะกลุ่มที่ได้ประโยชน์ที่เป็นชาวนา ส่วนใหญ่เป็นชาวนารายกลางและรายใหญ่ซึ่งไม่น่าจะอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีต้นทุนสวัสดิการสูงกว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้น เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นมาก บิดเบือนตลาดการค้าข้าว ทำลายการส่งออกและโครงสร้างการค้าข้าวในตลาดแข่งขัน และเกิดภาระทางการคลังค่อนข้างมาก แสดงให้เห็นคุณภาพของการออกแบบระบบที่ไม่ดี  สำหรับนโยบายประชานิยมที่มีผลต่อภาคเศรษฐกิจสามารถเป็นนโยบายที่ดีและส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ถ้าโครงการนั้นมีเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และมุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนานวัตกรรม (Naphon Phumma and Tanadej Vechsuruck, 2021)

             สุดท้ายเมื่อพิจารณาภาพรวม พบว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศดีขึ้น โดยงานศึกษาของธร ปีติดล และคณะพบว่าเป็นผลมาจากเงินโอนภาครัฐ แต่ไม่ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพการผลิต เพราะเมื่อพิจารณาเฉพาะรายได้ที่เกิดจากการทำงาน พบว่าความเหลื่อมล้ำแย่ลง นอกจากนั้นแล้วพบว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สำคัญประการหนึ่งคือการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจซึ่งสามารถทำได้ผ่านระบบการศึกษา ฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานและอาชีพ ก็มีการดำเนินการหรือให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย จึงทำให้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทำโดยผ่านการจัดสวัสดิการให้ ซึ่งทำให้เกิดภาระทางการคลังมากขึ้น โดยรัฐบาลต่าง ๆ ที่ผ่านมาไม่ได้มีแนวทางในการเพิ่มรายได้ภาครัฐที่ชัดเจน จึงทำให้การจัดสวัสดิการของรัฐเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทำได้อย่างมีข้อจำกัดเป็นอย่างยิ่ง  นอกจากนี้การไม่ได้มีกลไกในการแก้ไขโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤติโควิด คนที่มีฐานะร่ำรวย 1% ของประเทศยังสามารถสะสมความมั่งคั่งได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผลกระทบนี้ทำให้คนที่มีรายได้น้อยมีรายได้ที่น้อยลงไปอีก จึงส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เห็นได้จากดัชนีความเหลื่อมล้ำในปี 2562 อยู่ที่ 0.403 เพิ่มขึ้นเป็น 0.430 ในปี 2564

             จึงเป็นการยากที่จะแยกระหว่างนโยบายประชานิยมกับการจัดสวัสดิการสังคม และการศึกษาผลของนโยบายประชานิยมต่อความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะนโยบายประชานิยมอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การจัดระบบสวัสดิการสังคมเช่นกรณีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือในบางกรณีการมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยคาดหวังจะให้เป็นสวัสดิการสังคมเฉพาะกลุ่ม แต่ก็สามารถแทรกนโยบายเชิงประชานิยมเพื่อดึงคะแนนเสียงได้เช่นกัน หรือโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด ซึ่งผลประโยชน์ตกกับกลุ่มชาวนา แต่ไม่ใช่ชาวนาทุกคนที่เป็นผู้มีรายได้น้อย กลายเป็นผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกกับชาวนาที่มีฐานะ อย่างไรก็ตามโดยรวมแล้วพบว่าโครงการประชานิยมทั้งหมดยังมีส่วนในการลดความเหลื่อมล้ำค่อนข้างน้อย เพราะปัญหาการตกหล่นและรั่วไหลในการจัดสวัสดิการประเภทเฉพาะเจาะจงกลุ่ม และขณะเดียวกันการแก้ความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีการแก้เชิงโครงสร้าง และการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ จึงทำให้การลดความเหลื่อมล้ำเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างน้อย และท้ายที่สุดรัฐบาลมักจะมีนโยบายอื่น ๆ ที่กระจายผลประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง เช่นการลดอัตราภาษี เพิ่มรายการลดหย่อน เป็นต้น จึงทำให้โดยภาพรวมแล้วการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทำได้น้อย และมีลักษณะผกผันมาโดยตลอด

เอกสารอ้างอิง

ภาษาไทย

ดิ วันโอวัน เวิลด์ (The 101.world). (2566, 2 มีนาคม). บัตรคนจน ที่คนจนจริงครึ่งหนึ่งเข้าไม่ถึง: 5 ปี นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.  สืบค้นจาก https://www.the101.world/mistarget-welfare-card/

ธร ปีติดล, เฉลิมพงษ์ คงเจริญ, ภาวิน ศิริประภานุกูล, ชญานี ชวะโนทย์ และ ธนสักก์ เจนมานะ.  (2565).  โครงการ Social Monitor สถานการความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.).

นิพนธ์ พัวพงศกร, กำพล ปั้นตะกั่ว, และชมพูนุช นันทจิต.  (2557).  การคอร์รัปชัน: กรณีศึกษาโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ).

บีบีซี นิวส์ ไทย (BBC News ไทย).  (2566, 19 มกราคม).  บัตรประชารัฐ: 5 ปี “บัตรคนจน” ในวันที่ พปชร. หาเสียงเพิ่มเงินเป็น 700 บาท.  สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/articles/cw8gxg7qn46o

วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร.  (2565).  การวิเคราะห์การกระจายผลประโยชน์ของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ. ใน ธร ปิติดล และคณะ, โครงการ Social Monitor สถานการความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย (น. 8-1-8-16). กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.).

สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์.  (2556). สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสุขภาพ.  ใน งานการประชุมวิชาการการวิจัยระบบสาธารณสุข ประจำปี 2556 การลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรมด้านสุขภาพ.  นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน.  (2563). รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการประชารัฐสวัสดิการ.  กรุงเทพฯ: สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลังและกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง.  สืบค้นจาก https://www.audit.go.th/sites/default/files/files/inspection-results/3%20บทสรุปผู้บริหาร.pdf

ภาษาอังกฤษ

Caiani, M. and Graziano, P.  (2022). The Three Faces of Populism in power: Polity, Policies and Politics.  Government and Opposition, 57, 569-588.

ELkjeer, M. A. and Klitgaard, M. B. (2021).  Economic in Equality and Political Responsiveness: A Systematic Review.  Perspective on Politics, 22(2), 318-337.  doi: 10.1017/S1537592721002188.

Guiso, L., Herrera, H., Morelli, M. and Sonno, M.  (2017).  Populism: Demand and Supply. CEPR Discussion Paper No. DP11871.

Health Insurance System Research Office.  (2012).  Thailand’s Universal Coverage Scheme: Achievements and Challenges. An Independent Assessment of the First 10 Years (2001-2010).  Nonthaburi, Thailand: Health Insurance System Research Office.

Hewison, K. (2017). Reluctant Populists: Learning populism in Thailand.  International Political Science Review, 38(4), 426-440.

Muno, W. and Pfeiffer, C.  (2022).  Populism in power-A comparative analysis of populist governance.  International Area Studies Review, 25(4), 261-279.

Margalit, Y.  (2019).  Economic Insecurity and the Causes of Populism, Reconsidered. Journal of Economic Perspectives, 33(4), 152-170.

Naphon Phumma and Tanadej Vechsuruck. (2022). Economic Paradigm and Demand-Side Populist Policies in Thailand.  TRaNS: Trans -Regional and -National Studies of Southeast Asia, 10, 161-172.

Scheiring, G., Serrano-Alarcon, M., Moise, A., McNamara, C., and Stuckler, D.  (2024).  The Populist Backlash Against Globalization: A Meta-Analysis of the Causal Evidence.  British Journal of Political Science, 54(3), 892-916.

World Bank. (2019). Thailand Economic Monitor: Inequality, Opportunity and Human Capital.  Bangkok, Thailand: World Bank.

World Bank.  (2023).  Bridging the Gap: Inequality and Jobs in Thailand.  Bangkok, Thailand: World Bank.


[1] คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

index.php?title=หมวดหมู่:นโยบายของรัฐ index.php?title=หมวดหมู่:สารานุกรม คำศัพท์ต่าง ๆ