Absentee Voting

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:32, 9 สิงหาคม 2567 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' ''':''' อำนาจ ธนานันทชัย '''ผู้ทรงคุณวุฒิปร...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : อำนาจ ธนานันทชัย

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          การลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้ง (Absentee Voting หรือ Voting at a distance) หมายถึง การลงคะแนนเสียงโดยไม่ต้องไปยังหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่สามารถหรือไม่สะดวกที่จะเดินทางไปยังสถานที่เลือกตั้งสามารถใช้สิทธิใช้เสียงของตนในการลงคะแนนเพื่อเลือกผู้แทนได้ เหตุปัจจัยในสถานการณ์บางสถานการณ์อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางผู้คนจนไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งของตน เช่น ความยากลำบากในการเดินทาง ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพหรือชราภาพ ติดธุระภาระงาน การถูกคุมขัง ผู้ที่อยู่ระหว่างการพำนักในต่างประเทศ หรือการไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ในช่วงการระบาดของโคโรนาไวรัสในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา (Waxman, 2020) ซึ่งวิธีการลงคะแนนเลือกตั้งโดยไม่ต้องไปยังหน่วยเลือกตั้งนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่รัฐอนุญาตให้ผู้ลงคะแนนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งอื่น การส่งผู้อื่นให้ไปเป็นตัวแทนเพื่อลงคะแนนเลือกตั้งแทนตนเอง (proxy voting) การลงคะแนนผ่านระบบออนไลน์ (online voting / internet voting) หรือวิธีอันเป็นที่คุ้นเคยอย่างการลงคะแนนผ่านทางไปรษณีย์ (postal voting/ vote by mail) วิธีการเหล่านี้ช่วยให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ไม่เกิดการเสียสิทธิในการลงคะแนนเลือกผู้แทนไปแบบเปล่าประโยชน์ จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จะเห็นได้ว่า ความมุ่งหมายของ absentee voting เป็นไปเพื่อช่วยอำนวยให้ผู้เลือกตั้งเกิดความสะดวกมากที่สุดโดยลดทอนปัญหาทางด้านเทคนิคต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสและช่องทางในการเข้าถึงการลงคะแนนเสียงให้กับประชาชนเพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนให้เข้าไปทำหน้าที่ทางการเมืองในสภาแทนตนได้ (MIT Election Data + Science Lab, 2021)

          เมื่อกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการลงคะแนนนอกเขต (absentee voting) แนวคิดดังกล่าวได้เริ่มปรากฏครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคสมัยของสงครามปฏิวัติอเมริกา (American Revolution 1775-1783) ครั้งเมื่อ 13 รัฐอาณานิคมในภาคพื้นทวีปอเมริกาเหนือ ได้แก่ นิวยอร์ก เพนซิลวาเนีย จอร์เจีย นิวเจอร์ซีย์ นอร์ทแคโรไลนา เวอร์จิเนีย แมสซาชูเซตส์ แมรีแลนด์ เซาท์แคโรไลนา คอนเนกติคัต นิวแฮมป์เชียร์ เดลาแวร์ และโรดไอส์แลนด์ได้มีข้อพิพาทอย่างรุนแรงในเรื่องของนโยบายการเก็บภาษีและได้ทำการต่อต้านเพื่อปลดแอกจากอังกฤษในฐานะเจ้าอาณานิคมในขณะนั้น (Damante, 2020) ประวัติศาสตร์ได้มีการบันทึกไว้ว่า ราวเดือนธันวาคม ค.ศ. 1775 กองทหารที่เกิดจากการรวมกันของรัฐอาณานิคมทั้ง 13 รัฐ ที่ได้เข้าร่วมในสงครามต่อต้านอังกฤษ หรือที่รู้จักกันในนาม Continental Army ได้มีการส่งจดหมายกลับไปยังเมืองบ้านเกิดเพื่อขอให้พวกตนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในสถานที่เลือกตั้งในพื้นที่อื่น และที่ประชุมเมืองมีมติเห็นชอบในเรื่องดังกล่าวที่จะนับคะแนนเสียงของพลทหารเหล่านั้น แม้ว่าจะไม่ได้ไปลงคะแนนเสียง ณ สถานที่เลือกตั้งนั้นก็ตาม หรืออย่างในกรณีของรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อปี ค.ศ. 1812 ที่อนุญาตให้บรรดาทหารที่อยู่ในสนามรบสามารถลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตได้ หากผู้นั้นประจำการอยู่ห่างออกไป 2 ไมล์ จากบ้านของตน (Inbody, 2016)

          อีกกรณีตัวอย่างที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาเมื่อมีการกล่าวถึงเรื่องของ absentee voting คือ ยุคสงครามกลางเมือง (Civil War) ที่เกิดขึ้น ระหว่าง ค.ศ. 1861-1865 ซึ่งเป็นสงครามที่เกิดขึ้นในหมู่ชาวอเมริกันด้วยกันเองระหว่างฝ่ายเหนือ หรือฝ่ายสหภาพ (the Union) และฝ่ายใต้ หรือฝ่ายสมาพันธรัฐ (the Confederacy) ในข้อพิพาทที่เกี่ยวกับเรื่องของแรงงานทาส สงครามได้ดำเนินไปอย่างดุเดือดรุนแรงที่ต่างฝ่ายต่างต้องการชัยชนะที่เบ็ดเสร็จเหนืออีกฝ่ายเพื่อรักษาผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของตนเอง ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงหมดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ในสมัยแรก และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ในปี ค.ศ. 1864 ซึ่งเป็นการแข่งขันกันระหว่างประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ในฐานะตัวแทนของพรรครีพับลิกัน และ จอร์จ แมคเคลแลน (George McClellan) ที่เป็นตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ในช่วงเวลาดังกล่าว แมคเคลแลนถูกจับตามองว่าน่าจะผู้ที่ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีคนถัดไป เนื่องจากจุดยืนทางการเมืองของเขาเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับของพรรคเดโมแครตที่ต้องการเจรจาสันติภาพกับฝ่ายใต้เพื่อยุติสงคราม ในขณะที่ลินคอล์นนั้นต้องเผชิญกับการเมืองภายในพรรครีพับลิกันที่ซึ่งต้องการเจรจายุติสงครามเหมือนกับพรรคเดโมแครต ในขณะที่ลินคอล์นยังคงต้องการให้ดำเนินสงครามกับฝ่ายใต้ต่อไป จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์การเลือกตั้งในครั้งนี้เริ่มขึ้นเมื่อ เอ็ดวิน สแตนตัน (Edwin Stanton) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสงคราม (Secretary of War) ในขณะนั้น ได้เสนอให้มีการใช้ระบบการลงคะแนนนอกเขตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในห้วงเวลาแห่งสงคราม (Stilwell, 2020) เพื่อให้บรรดาชายฉกรรจ์ทั้งหลายที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารและต่างก็กำลังติดพันอยู่ท่ามกลางสมรภูมิสงครามสามารถใช้สิทธิของตนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคนที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีทำหน้าที่ผู้นำในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของสงครามครั้งนี้ ซึ่งก็เป็นไปตามความต้องการของลินคอล์นที่ต้องการให้มีรัฐบาลที่ชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้ง แทนที่จะเป็นรัฐบาลรักษาการในช่วงเวลาสงครามอันไร้ซึ่งความเห็นชอบจากเสียงของประชาชน ท้ายที่สุด ลินคอล์นสามารถเอาชนะใจประชาชนและคว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยเสียงส่วนใหญ่จากกองทัพถึง 78 เปอร์เซ็นต์ ที่โหวตให้กับเขา (Stilwell, 2020) จากจำนวนทหารราว 150,000 นายที่ได้ใช้สิทธิโหวตเลือกตั้งขณะที่ประจำการอยู่ในสนามรบ (Rotondi, 2020) และลินคอล์นก็ได้เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1865 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่แสนสั้นไม่ถึงเดือนก่อนที่กองทหารฝ่ายเหนือจะสามารถเข้าทำการพิชิตยึดริชมอนด์ (Richmond) ซึ่งเป็นเมืองฐานที่มั่นของฝ่ายใต้ได้ในเดือนเมษายนถัดมาพร้อมกับการยอมรับความพ่ายแพ้อย่างเป็นทางการของนายพลลี (Robert E. Lee) ผู้บัญชาการกองทัพของฝ่ายใต้ที่ Appomattox Court House ในรัฐเวอร์จิเนีย 

          การลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตยังได้ปรากฎอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่_2 ที่ซึ่งประธานาธิบดี แฟรงคลิน เดลาโน โรเซอเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) และประธานาธิบดี แฮรี่ เอส ทรูแมน (Harry S. Truman) ต่างก็มีจุดยืนในการสนับสนุนให้นายทหารที่ออกไปร่วมรบในสงครามสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในฐานะที่พลเมืองแห่งสหรัฐฯได้ไม่ว่าจะอยู่แห่งใด (Rotondi, 2020) ด้วยการนี้จึงได้มีการออกกฎหมายการเลือกตั้งของทหาร (Soldier Voting Act) ขึ้นในปี ค.ศ. 1942 ที่ให้นายทหารทุกคนที่อยู่ในต่างประเทศสามารถลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งจากภายนอกประเทศแล้วส่งกลับมายังสหรัฐอเมริกา มีรายงานว่าในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1944 ซึ่งอยู่ในห้วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีทหารราว 3.2 ล้านนาย ได้ใช้สิทธิลงคะแนนในต่างแดน หรือประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ ของผู้มีสิทธิของเสียงเลือกตั้งทั้งหมดในช่วงสงครามโลกครั้งนี้ (Seitz-Wald, 2020) แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับถึงเพียงแค่ช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่แนวคิดการลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตที่หยั่งรากอยู่ในประวัติศาสตร์สงครามการสู้รบก่อร่างสร้างประเทศของชนชาติอเมริกาก็ได้ขยายขอบเขตไปสู่ประชาชนในทุกอาชีพไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มบรรดาเหล่าทหารในกองทัพเพียงเท่านั้น และยังได้พัฒนามาสู่การเลือกตั้งด้วยการลงคะแนนผ่านทางไปรษณีย์ (vote by mail) และการเลือกตั้งล่วงหน้า (early voting) ในยุคปัจจุบัน ที่ให้ประชาชนที่ไม่สามารถไปลงคะแนนเลือกตั้งยังหน่วยเลือกตั้งในเขตพื้นที่เลือกตั้งของตนในวันเลือกตั้งที่ได้กำหนดไว้สามารถที่จะทำการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าได้ หากประชาชนบุคคลดังกล่าวยังพึงที่จะใช้สิทธิในการเข้าร่วมลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทนของตน (Fortier, 2006) ทั้งนี้ แนวคิดการเลือกตั้งนอกเขตที่ถือกำเนิดขึ้นในสหรัฐอเมริกานี้ก็ได้ส่งอิทธิพลขยายออกไปสู่บรรดาชาติอื่น ๆ อีกหลายประเทศ อาทิ แคนนาดา เม็กซิโก ออสเตรีย ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ฮังการี ลักเซมเบิร์ก ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ โปแลนด์ อินเดีย อิตาลี อิสราเอล เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย เป็นต้น     

          ในส่วนของประเทศไทยนั้น แนวคิดการเลือกตั้งนอกเขตปรากฎออกมาในรูปแบบของการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตทั้งภายในและภายนอกประเทศเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงการเลือกตั้งนอกเขตในรูปแบบอื่น ๆ อย่างการส่งตัวแทนไปลงคะแนนเลือกตั้ง (proxy voting) การเลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์ (voting by mail) และการเลือกตั้งออนไลน์ (online voting) โดยแรกเริ่มนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 105 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งตาม มาตรา 103 ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้งหรือมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาบัญญัติ” จากข้อความในรัฐธรรมนูญที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่ากฎหมายได้สนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้ง แม้ว่าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะอยู่นอกเขต/จังหวัดเลือกตั้งของตนก็ตาม ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนมาใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 และฉบับ พ.ศ. 2560 เรื่องของการเลือกตั้งนอกเขตก็ยังเป็นสิ่งที่ได้รับการรับรองและถูกระบุไว้ใน มาตรา 99 และ มาตรา 95 ตามลำดับของรัฐธรรมนูญที่กล่าวมา ถึงแม้ว่ากฎหมายจะอำนวยให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้งได้อย่างกว้างขวางมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ยังได้กำหนดเกณฑ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและจำกัดสิทธิบุคคลบางกลุ่มในการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไว้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิดหรือผู้ที่มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติโดยได้สัญชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง โดยต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง อันได้แก่

          1) เป็นภิกษุสามเณรนักพรตหรือนักบวช

          2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

          3) ต้องคุมขังโดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

          4) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

          ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 95 (3) ได้ระบุถึงบุคคลผู้มีสิทธิในการลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้งไว้ว่า หากบุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ตามทะเบียนบ้านหรือมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร แต่มีความประสงค์ที่จะใช้สิทธิของตนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง บุคคลผู้นั้นสามารถขอลงทะเบียนเพื่อออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งได้ตามวัน เวลา วิธีการ สถานที่ และเงื่อนไขตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้ผู้ที่ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฎิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิ ผู้ที่อยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ผู้คนที่มีหน้าที่จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ ณ ที่อื่นใดนอกเขตเลือกตั้ง จนไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้ (มาตรา 107) และผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร (มาตรา 109) สามารถยื่นขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

 

อ้างอิง

ภาษาไทย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.

ภาษาต่างประเทศ

Damante, R. (2020). President Trump ignores the long history of absentee ballots. Constitutional Accountability Center. Retrieved from https://www.theusconstitution.org/blog/president-trump-ignores-the-long-history-of-absentee-ballots/

Stilwell, B. (2020). How Absentee Voting for US Troops Won the Civil War and Ended Slavery. Military.com. Retrieved from https://www.military.com/military-life/how-absentee-voting-us-troops-won-civil-war-and-ended-slavery.html

Fortier, J.C. (2006). Absentee and early voting: Trends, promises, and perils. The AEI Press.

Inbody, D.S. (2016). The soldier vote: War, politics, and the ballot in America. Palgrave Macmillan

MIT Election Data + Science Lab. (2021). Voting by mail and absentee voting. Retrieved from https://www.congress.gov/116/meeting/house/110938/documents/HHRG-116-JU00-20200728-SD036.pdf

Rotondi, J.P. (2020). Vote-by-mail programs date back to the Civil War. History. Retrieved from https://www.history.com/news/vote-by-mail-soldiers-war

Seitz-Wald, A. (2020). How do you know voting by mail works? The U.S. military’s done it since the Civil War. NBC News. Retrieved from https://www.nbcnews.com/politics/2020-election/how-do-you-know-voting-mail-works-u-s-military-n1186926

Waxman, O.B. (2020). Voting by mail dates back to American’s earliest years. Here’s how it’s  changed over the years. TIME. Retrieved from https://time.com/5892357/voting-by-mail-history/