พลเมืองโลก (Global Citizen)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:05, 7 สิงหาคม 2567 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' ''':''' ดร.จารุวรรณ แก้วมะโน '''ผู้ทรงคุณวุฒ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ดร.จารุวรรณ แก้วมะโน

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

 

          แนวคิดคิดเรื่องพลเมืองโลกไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่เป็นแนวคิดที่สามารถสืบย้อนกลับไปได้ถึงยุคกรีกโบราณ โดยสำนักสโตอิก (Stoicism) ซึ่งเป็นกลุ่มนักคิดหนึ่งในยุคนั้นได้เสนอแนวคิดเรื่องความเป็นสากลด้านศีลธรรมและพลเมืองโลก (kosmoupolites) ไว้ในแง่ที่ผู้คนไม่ใช่เพียงแค่พลเมืองแห่งนครรัฐใดนครรัฐหนึ่งเท่านั้นแต่ยังต้องสัมพันธ์กับนครโลกด้วย (Nussbaum, M. C., 1997; Heater, 2004) แนวคิดเรื่องพลเมืองโลกนี้มีสายธารสืบเนื่องผ่านการแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมมาโดยตลอดโดยที่ผู้คนไม่รู้ตัว กระทั่ง ถึงยุคแสงสว่างแห่งปัญญา (enlightenment) แนวคิดเรื่องพลเมืองโลกก็ได้รับการกล่าวถึงอีกครั้งภายใต้มโนทัศน์เรื่องจักรวาลทัศน์นิยม (cosmopolitanism) ที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองหรือผูกพันกับรัฐใด ก็ล้วนแต่เป็นสมาชิกของชุมชนเพียงชุมชนเดียว (เชษฐา พวงหัตถ์, 2559) ทว่าแนวคิดเรื่องพลเมืองโลกถูกกลืนหายไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวคิดเรื่อง “รัฐ-ชาติ” (nation-state) ที่นำผู้คนทั่วโลกไปสู่การปิดกั้นทางความคิด ด้วยการแบ่งแยกประเทศอย่างชัดเจน โดยการแบ่งแยกดังกล่าวมีความเด่นชัดมากขึ้นในยุคอาณานิคม และยิ่งเข้มข้นขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สิ้นสุดลงและก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็น (Cold War) ที่บรรดารัฐชาติต่างเร่งผลิตอัตลักษณ์เฉพาะของตนและส่งเสริมการศึกษาให้ผู้คนภูมิใจในความเป็นชาติ ซึ่งนั่นกลายเป็นการจำกัดผู้คนไว้เป็นเพียงพลเมืองแห่งรัฐชาติหนึ่ง ๆ ที่ภูมิใจกับความเป็นอัตลักษณ์ของตน แนวคิดเรื่องพลเมืองโลกจึงถูกละเลยและไม่ได้รับการพัฒนาองค์ความรู้เท่าที่ควร ทว่าแนวคิดเรื่องพลเมืองโลกยังคงสืบทอดมาอย่างไม่ขาดสาย โดยส่วนหนึ่งส่งผ่านกระบวนการโลกาภิวัฒน์ที่นำไปสู่การค้าและการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่ทำให้ผู้คนมีความสัมพันธ์กันตลอดมา Steger (2003) ชี้ให้เห็นว่าโลกาภิวัฒน์นั้นไม่ใช่เหตุการณ์หรือกระบวนการหนึ่งเดียวแต่เป็นปฏิบัติการหลากหลายที่นำไปสู่การแลกเปลี่ยนและการแผ่ขยายออกไปของความคิดความเชื่อ กระทั่งก่อเกิดเป็นเครือข่ายของผู้คนที่ก้าวข้ามพรมแดนทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง รวมไปถึงวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์แบบเดิม นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นของผู้คนทั่วโลกที่ Roland Robertson (1992) เรียกว่า “การกระชับแน่นของโลก” (the compression of the world) อันสืบเนื่องจากเส้นแบ่งอาณาเขตที่เลือนลางลงจากโลกาภิวัฒน์ อันส่งผลให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานที่หนึ่งอาจสร้างผลกระทบทั้งในส่วนที่จับต้องได้หรือในส่วนของอารมณ์ความรู้สึกแก่ผู้คนที่อยู่อาศัยในสถานที่ที่ห่างไกลกันออกไปได้

          ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีและการสื่อสารนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ที่ทำให้ทั่วโลกสามารถเชื่อมโยงกันได้ข้ามเวลาและสถานที่ ทำให้แนวคิดเรื่องพรมแดนค่อยๆสลายไป แนวคิดเรื่องโลกาภิวัตน์ ที่มองเรื่องการการกระชับเข้าหากันของคนทั้งโลกได้รับความสนใจกล่าวถึงมากขึ้น กระทั่งเกิดวาทะว่าโลกทั้งใบนี้กำลังกลายเป็น “หมู่บ้านโลก” เพราะการพัฒนาของเทคโนโลยีการสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ได้สลายเงื่อนไขเรื่องพื้นที่และเวลาซึ่งแต่เดิมเคยเป็นข้อจำกัดในการติดต่อสื่อสารรับรู้เรื่องราวของผู้คนต่าง ๆ ทั่วโลกลงไป และทำให้ผู้คนทั่วโลกเกิดความรู้สึกใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น กระทั่งก่อเกิดสำนึกใหม่อันเป็นสำนึกที่ผู้คนมีร่วมกันบางประการ ซึ่งบางเรื่องได้นำไปสู่ความตระหนักถึงความสามารถที่ผู้คนที่อาจมีร่วมกันได้อย่างกว้างขวางในระดับโลก ปรากฏการณ์เช่นนี้จึงทำให้โลกแคบลงอย่างมากในอัตราเร่ง (Marshall McLuhan, 1962) อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องพลเมืองโลก ก็ยังเป็นกระแสรองเมื่อเทียบกับแนวคิดเรื่องโลกาภิวัตน์ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในเวลานั้น อีกทั้งยังถูกมองว่าไม่มีความเชื่อมโยงกับโลกาภิวัตน์ ขณะที่แนวคิดโลกาภิวัตน์ก็ถูกเข้าใจว่านำมาสู่ปัญหามากมาย กระทั่งก่อเกิดกระแสท้องถิ่นนิยม (localization) เข้าปะทะสังสรรค์ ยิ่งทำให้แนวคิดเรื่องพลเมืองโลกถูกลดความสำคัญลงไป

          มีวาทะอภิปรายกันมากว่าโลกาภิวัตน์นั้นกำลังทำให้โลกเกิดปัญหาอย่างไรบ้าน เช่น การตกเป็นอาณานิคมทางวัฒนธรรม การครองอำนาจนำโดยวัฒนธรรมของชาติตะวันตก (Westernization) ยกตัวอย่างเช่น การขยายสาขาของสตาร์บัคส์ (Starbuck) และแมคโดนัลด์ (McDonald) ที่ทำให้บรรดาร้านค้าและร้านอาหารท้องถิ่นถูกแทนที่ด้วยบรรษัทข้ามชาติ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ขึ้น เพราะเชื่อว่าโลกาภิวัตน์นั้นคือกระบวนการบ่อนทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเรียกร้องการดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายในฐานะสิทธิประการหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วโลกาภิวัตน์เป็นแนวคิดที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดสำนึกแบบพลเมืองโลก และไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับกระบวนการทำให้เป็นตะวันตก (Westernization) เพราะขณะที่ กระบวนการทำให้เป็นตะวันตกนั้น คือ การทำให้ผู้อื่นเชื่อยอมรับและทำตามวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งเป็นการยกย่องวัฒนธรรมเฉพาะที่กลายเป็นการเบียดขับวัฒนธรรมอื่นออกไปไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนั้นมุ่งทำให้ความเป็นอื่นหายไปภายใต้คำอธิบายเรื่องความทันสมัยคุณภาพและมาตรฐาน อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติการขยายอิทธิพลครอบงำทางวัฒนธรรมอาจไม่ประสบความสำเร็จเสมอไป และแท้จริงแล้วการปรากฎตัวของธุรกิจข้ามชาติในท้องถิ่นกลับสร้างแรงกระเพื่อมในทางย้อนกลับให้ผู้คนในประเทศปลายทางหันกลับไปสนใจกับการอนุรักษ์อัตลักษณ์ของชาติตนมากขึ้น หรือในทางกลับกันวัฒนธรรมท้องถิ่นและวัฒนธรรมที่พยายามสร้างการครอบงำนั้นอาจไปด้วยกันในลักษณะที่เดินคู่กันไปหรือมีการปรับเปลี่ยนผสมผสานกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา ซึ่งไม่ได้เป็นวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งโดยเฉพาะ ทว่าเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาใหม่ วัฒนธรรมท้องถิ่นจึงไม่ได้หายไปแต่มีการต่อสู้ต่อรองกับวัฒนธรรมอื่นที่เข้ามาปะทะสังสรรค์อยู่เสมอ วัฒนธรรมบริสุทธิ์จึงไม่มีมาตั้งแต่แรก เพราะโลกของเรามีการแลกเปลี่ยนและแปรสภาพทางวัฒนธรรม (cultural exchanges and transformations) อยู่เสมอ

          ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแยกแยะระหว่างโลกาภิวัตน์กับการทำให้เป็นตะวันตก (Westernization) ที่พยายามทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ภายใต้แบบแผนเดียวกันหมด ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายบรรดาวัฒนธรรมท้องถิ่นทั้งหลาย แล้วแทนที่ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วยวัฒนธรรม กับกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่ทำให้โลกทั้งใบกระชับเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัลที่ก้าวข้ามข้อจำกัดทางด้านเวลาและสถานที่ การเชื่อมต่อกันของโลกทั้งใบจึงยิ่งชัดเจนและแน่นแฟ้นมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ภายใต้โลกโลกาภิวัตน์จึงหลีกหนีความเป็นพลเมืองโลกไม่ได้ (เชษฐา พวงหัตถ์, 2559) อย่างไรก็ตาม ความเป็นพลเมืองโลกก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับโลกาภิวัตน์ เพราะขณะที่โลกาภิวัตน์จะต้องมีการเคลื่อนย้ายปะทะสังสรรค์กัน แต่พลเมืองโลกอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายเลยก็ได้ การเคลื่อนย้ายเคลื่อนที่หากมีก็เป็นเพียงปัจจัยเร่งที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าสัมพันธ์กันมากขึ้นเท่านั้น เพราะสุดท้ายการแสดงออกถึงความเป็นพลเมืองโลกนั้นขึ้นอยู่กับสำนึกที่ห่วงใยต่อความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบระดับโลก คำนึกว่าผู้อื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคมจะต้องเผชิญกับอะไรหากตนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เป็นต้น (Kwame Anthony Appiah, 2006)

          ปัจจุบัน แนวคิดเรื่องพลเมืองโลกได้รับการกล่าวถึงมากขึ้น เพราะมนุษยชาติเริ่มตระหนักถึงผลจากการกระทำที่สัมพันธ์กันในระดับโลกมากขึ้น ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี ที่ทำให้คนทั่วโลกเห็นผลกระทบจากการแสดงออกของกันและกัน ประกอบกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าพฤติกรรมบางอย่างของมนุษย์จะส่งผลกระทบต่อโลกและเชื่อมโยงกันผลกระทบเข้าด้วยกัน ส่งผลให้แนวคิดเรื่องพลเมืองโลก (Global Citizen) กลับมาได้รับการกล่าวถึงมากขึ้นอีกครั้ง เนื่องด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในเวลานี้หลายเรื่องไม่ได้จำกัดผลกระทบไว้เพียงแค่ในพรมแดนของรัฐชาติ เพราะบางปรากฏการณ์นั้นส่งผลข้ามพรมแดนกระทบต่อผู้คนจำนวนมากระดับโลก อาทิ วิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ที่ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมและปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ซึ่งส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งอย่างมาก ซึ่งปรากฎการณ์ทั้งสองไม่อาจแก้ไขปัญหาได้โดยชาติใดชาติหนึ่งเพียงลำพัง อันสืบเนื่องมาจากปัญหาดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากพฤติปฏิบัติของผู้คนทั้งโลกที่มีร่วมกันที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก (Green House Effect) หรือสภาวะโลกร้อนอันเป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์เอลนีโญและปรากฏการณ์ลานีญาข้างต้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันของผู้คนทั้งโลกในการรับมือกับสภาวะโลกร้อน

          ความเป็นพลเมืองโลกจึงไม่ใช่แนวคิดที่ย้อนแย้งหรือหยุดยั้งการเป็นพลเมืองของชาติใดชาติหนึ่ง แต่ไปด้วยกันได้กับแนวคิดเรื่องพลเมืองชาติ และยังสนับสนุนสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล (2559) ระบุว่าพลเมืองประชาธิปไตยไม่ได้สิ้นสุดลงที่การเป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่เป้าหมายสูงสุดที่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยคือการนำพาสังคมไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ในแง่นี้พลเมืองโลกจึงเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจกล่าวถึงในฐานะของการที่ผู้คนจะได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของมนุษยชาติได้ ส่งผลให้แนวคิดเรื่องพลเมืองโลกได้รับการกล่าวถึงโดยประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี มานับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเนื่องจากตระหนักถึงผลแห่งสงครามว่ากำลังทหารและการสู้รบไม่อาจทำให้โลกอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ แต่เป็นสำนึกรับผิดชอบที่เพื่อนมนุษย์พึงมีแก่กันและกันต่างหาก ในแง่นี้หัวใจของแนวคิดเรื่องพลเมืองโลกจึงเป็นสำนึกที่อยู่เหนือขอบเขตทางด้านภูมิศาสตร์ หรือพรมแดนทางการเมือง การเป็นพลเมืองโลกไม่ใช่การยอมสละสัญชาติของตนหรืออัตลักษณ์บางประการของตนเพื่อถืออัตลักษณ์ใหม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะเข้าใจได้ง่ายขึ้นหากเข้าใจเรื่องสำนึกความเป็นพลเมืองอย่างถูกต้องว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมายสัญชาติแต่อย่างใด แต่อยู่ที่สำนึกในการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนสังคมและพร้อมที่จะเสียสละประโยชน์บางประการของตนเพื่อสังคมประเทศชาติได้ (อ่านเพิ่มเติมพลเมือง) คุณลักษณะสำคัญของพลเมืองโลกจึงอยู่ที่การตระหนักถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างประเด็นต่าง ๆ โครงสร้างและกระบวนการที่เชื่อมโยงกัน จากระดับท้องที่ ระดับประเทศ สู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก (ยุกติ มุกดาวิจิตร, 2561)

          แนวคิดเรื่องพลเมืองโลกนั้นเชื่อว่าหากปัจเจกบุคคล ทำความดีร่วมกันจะนำไปสู่ความดีร่วมได้ (collective good) เพราะมนุษย์มีความสามารถในการใช้ตรรกะพิจารณาสิ่งที่ถูกที่ควรและสามารถรับมือกับสิ่งที่เข้ามาในชีวิตได้อย่างมีวุฒิภาวะ ดังนั้น บุคคลจึงควรได้รับอิสระเสรีภาพในการคิดพิจารณาเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเป็นธรรม ปรัชญาสโตอิก (Stoicism) นับเป็นหนึ่งในพื้นฐานที่นำมาสู่แนวคิดเรื่องพลเมืองโลกในปัจจุบัน บนฐานคิดที่เชื่อว่ามนุษย์จะบรรลุสู่ความดีสูงสุดได้ มนุษย์จะต้องเข้าใจกฎเกณฑ์ของธรรมชาติและสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยพิจารณาเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยวุฒิภาวะ ในแง่นี้ความเป็นพลเมืองโลกจึงตั้งอยู่บนความเข้าใจเรื่องความเป็นพลเมืองแบบกว้าง หรือการเป็นพลเมืองโดยมีกิจกรรม (citizenship-as-activity) บางประการที่ไม่ได้จำกัดความเป็นพลเมืองไว้เฉพาะภายใต้กฎหมายและพรมแดนเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการแสดงออกว่าเป็นแบบใด เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะหรือไม่ และอยู่ภายใต้สำนึกแบบใด พลเมืองในที่นี้จึงหมายถึงบุคคลที่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในสถาบันทางสังคมและการเมืองต่างๆ (April Carter, 2001, 6-7)

          แอนโธนี อัปไปอาห์ (2006) ชี้ให้เห็นว่า โลกแคบลงและไร้พรมแดนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราจำเป็นต้องทบทวนความหมายของคำว่า “พลเมือง” ใหม่ เพราะในสังคมที่เราต้องสัมพันธ์กันการปกป้องไม่ให้วัฒนธรรมของตนถูกปนเปื้อนเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว อัปไปอาห์ มองว่าเราทุกคนเป็นพลเมืองโลก และเป็นพลเมืองในชุมชนสังคมระดับย่อย ๆ ลงมาด้วยในเวลาเดียวกัน แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ที่จะเป็นพลเมืองดี เรื่องพลเมืองโลกมีความสัมพันธ์กับเรื่อง “จิตสาธารณะ” อย่างมาก ซึ่งควรนับเป็น “จริยธรรมสากล” ไม่ว่าจะเผ่าพันธ์ใด เชื้อชาติ ศาสนาใด สำหรับอัปไปอาห์ การพัฒนาปัจเจกบุคคลคือวิธีที่ควรได้รับการพิจารณาเป็นอันดับแรก ๆ ในฐานะศูนย์กลางของจริยธรรม เป็นด่านสุดท้ายของการตัดสินใจ ไม่ควรตั้งต้นจากเรื่องนามธรรมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นประเทศ เผ่าพันธุ์ หรือ ชาติพันธุ์ พลเมืองโลก จึงไม่ใช่ความพยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมเหนือกว่าใครทั้งปวง แต่ควรเป็นการทำความคุ้นเคยกับความแตกต่างหลากหลายมากกว่า ดังที่ จอห์น วอน นิวแมน (John von Neumann) กล่าวว่า การอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลายไม่จำเป็นต้องเข้าใจทั้งหมด หรืออาจจะไม่เข้าใจเลยก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือการทำความคุ้นเคยกัน ในโลกโลกกาภิวัตน์นั้นไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการเรียนรู้เกี่ยวกับผู้คน เหตุผล ความสำเร็จและความผิดพลาดของพวกเขาเหล่านั้น ไม่ใช่เพื่อทำให้เราเห็นพ้องต้องกันแต่เพื่อให้พวกเราคุ้นเคยกันต่างหาก (สฤณี อาชวานันทกุล, 2550)  

          เพราะฉะนั้น ความเป็นพลเมืองโลกที่ดี จึงควรวางอยู่บนความรู้สึกเห็นใจ เข้าใจ อดทนอดกลั้นและเคารพความต่างทางวัฒนธรรม เป้าหมายของการเป็นพลเมืองโลกจึงเกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงเข้าถึงและยอมรับวัฒนธรรมของผู้อื่นโดยอาศัยการสนทนาอย่างเป็นมิตร โอบอ้อมอารี สามารถเห็นคุณค่าของคนอื่น ทำกิจกรรมและใช้ชีวิตร่วมกับคนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้โดยไม่นำความต่างมาเป็นความขัดแย้ง แต่ใช้ความแตกต่างเป็นแกนกลางเพื่อเรียนรู้ที่จะเคารพซึ่งกันและกันเสมือนการอยู่ในชุมชนที่เต็มไปด้วยคนจากต่างถิ่นต่างที่ (Werbner, 2008; 2015) ในแง่นี้คุณลักษณะของพลเมืองโลกจึงเป็นสิ่งสำคัญ

          ด้าน เนียบ (Knie, 1986) เสนอว่าคุณลักษณะสำคัญที่พลเมืองโลกพึงมี มีอยู่ 4 ประการ คือ ความรู้ ทักษะ ค่านิยม และการมีส่วนร่วม ด้านความรู้นั้นพลเมืองโลกควรมีความรู้ อาทิ วิวัฒนาการจริยธรรมมนุษย์ในเชิงสากล ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของโลก ประวัติศาสตร์โลกและเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั่วโลก ด้านทักษะที่จำเป็นมี อาทิ ความสามารถในการเชื่อมโยงเหตุและผลอย่างเป็นระบบและเป็นสากล ความสามารถในการวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ ด้านค่านิยม คือ การให้ค่ากับการพึ่งพาอาศัยกัน การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มนุษยสัมพันธ์ ความยุติธรรม ความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น สุดท้ายด้านการมีส่วนร่วมคือการแสดงออกเพื่อสนับสนุนต่อความปลอภัยของโลก เพราะพลเมืองโลกมิใช่เพียงตระหนักรู้ถึงปัญหาของเหตุการณ์ต่างๆเท่านั้น แต่พึงเป็นผู้ที่ลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย โดยเริ่มต้นจากการตระหนักรู้ในทุกการกระทำของตนอย่างรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น ด้าน ไมเคิลลิส (Michaelis, 1992) มองว่าพลเมืองโลกควรมีคุณลักษณะ ดังนี้

                   1) ให้ความสำคัญกับพหุวัฒนธรรม

                   2) รู้ระบบโลก

                   3) ยึดมั่นสันติภาพ

                   4) เรียนรู้การติดต่อสื่อสาร และ

                   5) พึ่งพาอาศัยกันและกัน

          ในแง่นี้การเป็นพลเมืองโลกจึงวัดกันที่การแสดงออก สำนึก และพฤติกรรม เช่น การแปรความรู้สู่การปฏิบัติในการแก้ไขปัญหา หรือการแสดงออกอย่างมีความรับผิดชอบ เคารพต่อสันติภาพ เพื่อดำรงไว้ซึ่งการยกย่องสิทธิมนุษยชนเพื่อคุณภาพชีวิตและความเท่าเทียมในมิติต่าง ๆ ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง (Carter, 2001) ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้แนวคิดพลเมืองโลกในแบบต่าง ๆ อาทิ แนวคิดเรื่องพลเมืองโลกได้รับความสนใจและนำไปปรับเป็นตัวชี้วัดในการคัดครูเข้าระดับมหาวิทยาลัยด้วย โดยมหาวิทยาลัย The Southmont University กำหนดให้ผู้สอบครูจะต้องมีคุณลักษณะดังนี้

                   1. เข้าใจและยอมรับความแตกต่างรอบตัว

                   2. ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกรอบตัวและยอมรับมัน

                   3. หมั่นศึกษาเรียนรู้ความเป็นไปของโลก

                   4. ตระหนักถึงโลกและวัฒนธรรมของโลก

                   5. ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก

                   6. เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างบทบาทของรัฐสภาในการรับมือกับปัญหาระดับโลก

                   7. ตระหนักถึงวัฒนธรรม ภาษา และความหลากหลายอื่น ๆ

          ซึ่งสอดคล้องกับ The East State University ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้สอบครูไว้ในลักษณะเดียวกัน คือ พึงมีความเข้าใจในเรื่องโลกรอบตัว ตระหนักถึงโลกรอบตัวเราและเข้าใจถึงวัฒนธรรมต่างๆ มีการแสดงออกเพื่อความยุติธรรมทางสังคม เป็นต้น (Erik Jon Byker, 2016)

          แนวคิดเรื่องพลเมืองโลกจึงได้รับความสนใจกล่าวถึงอีกครั้ง ในฐานะของการมีกิจกรรมร่วมกันของคนทั่วโลกเพื่อทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น โดยปัจจุบันมีขบวนการของพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาหรือยุติปัญหาบางเรื่อง เนื่องด้วยความเชื่อที่ว่าหากทุกคนมีการขยายผลร่วมกัน จะสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้ โดยการดำเนินการเหล่านี้มีตั้งแต่การลงนามคำร้อง (petition) การส่งทวีตไปยังผู้นำระดับโลก รวมไปจนถึงการเข้าร่วมการชุมนุมหรือการเข้าร่วมคอนเสิร์ตที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวบางประเด็น หนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ Global Citizen จัดคือ Global Citizen Festival ซึ่งเป็นงานดนตรีและการสนับสนุนที่แฟน ๆ สามารถรับตั๋วฟรีโดยดำเนินการบนแพลตฟอร์มเพื่อช่วยแก้ปัญหาความท้าทายที่สำคัญหลายเรื่องของโลก ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มกิจกรรมใหญ่ ๆ คือ กิจกรรมเพื่อต่อสู้กับความยากจน (Defeat poverty) เช่น การลดการใช้พลังงานฟอสซิล และ การยุติความหิวโหย กิจกรรมเพื่อปกป้องโลก (Defend the planet) และกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม (Demand equality) เพื่อบรรลุไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ที่กำหนดโดยสหประชาชาติ เป็นต้น

          กล่าวโดยสรุป พลเมืองโลกไม่ได้หมายถึงการทำให้พรมแดนทางกายภาพหายไป หรือการพยายามกำหนดวัฒนธรรมบางประการขึ้นมาเพื่อครอบงำคนทั้งโลกให้มีแนวคิดอย่างเดียวกันหรือปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน แต่พลเมืองโลกเป็นแนวคิดที่ให้ค่ากับความแตกต่างหลากหลายอย่างมากที่สุด และเป็นแนวคิดที่ไปไกลกว่าเรื่องของพรมแดน อัตลักษณ์ของรัฐชาติ เพราะพลเมืองโลกให้ความสำคัญกับสำนึกร่วมที่มนุษยชาติพึงมีร่วมกัน ในฐานะที่ทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของโลกกว้างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงสัมพันธ์กับวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย การยอมรับความเป็นอื่นเข้ามาสัมพันธ์กับตนโดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์คือหนทางที่พึงปฏิบัติ เพื่อให้ผู้คนที่มีความแตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

 

อ้างอิง

Appiah, Kwame Anthony (2006). Cosmopolitanism: Ethics in a World of Strangers. W.W. Norton & Co.

Carter, A. (2001). The Political Theory of Global Citizenship. New York: Routledge

Erik Jon Byker. (2016). Developing Global Citizenship Consciousness: Case Studies of Critical Cosmopolitan Theory. Journal of Research in Curriculum & Instruction 2016, Vol. 20, No. 3, pp. 264-275.

Heater, D. (2004). A Brief History of Citizenship. New York: New York University Press.

Kniep , Willard M.(1986). “Social Studies within a Global Educations.” Social Education. November/December 1986

McLuhan, M. (1962). The Gutenberg Galaxy: The Making of Typographic Man (p. 23, 31). Toronto, Canada: University of Toronto Press.

Michaelis, John U. (1992). Social Studies for Children in a Democracy: A Guide to Basic Instruction. 10 th Edition. Boston: Allyn and Bacon

Nussbaum, M. C. (1997). Kant and Stoic Cosmopolitanism. The Journal of Political Philosophy: Vol.5, No. 1, pp.1-25.

Robertson R. (1992). Globalization: Social Theory and Global Culture. London : SAGE.

Steger M. B. (2003). Globalization: A Very Short Introduction. Oxford: Oxford University Press: 10.

The Opener (16.10.2023) “‘พลเมืองโลก’ คืออะไร เมื่อหนุ่มสาวอยู่ในยุคสมัยที่ไม่จำกัดเขตแดน”. https://theopener.co.th/2023/10/16

Werbner, P. (Ed.) (2008). Anthropology and the New Cosmopolitanism: Rooted, Feminist and Vernacular Perspectives. ASA Monograph No. 45. Oxford: Berg.

Werbner, P. (2015). Cosmopolitanism: Cosmopolitan Cities and the Dialectics of Living Together with Difference. in Donald M. Nonini (ed.) A Companion to Urban Anthropology. (pp. 306-326). Oxford: Wiley-Blackwell.

เชษฐา พวงหัตถ์. (2559) “โลกศึกษา โลกาภิวัตน์ และความเป็นพลเมือง”. วารสารสงขลานครินทร์, ฉบับสังคมศาสตร์และมานุษยศาสตร์. ปีที่ 22 ฉ.1 (ม.ค.-เม.ย. 2559).

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล. (2559) การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education). (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ยุกติ มุกดาวิจิตร. (2561). อุษาคเนย์ในฐานะพลเมืองโลก. ออนไลน์ [เข้าถึงเมื่อ17 มี.ค. 67] https://www.the101.world/cosmopolitanism-in-sea/

แอนโธนี อัปไปอาห์. (ผู้เขียน). สฤณี อาชวานันทกุล. (ผู้แปล) (2550). งานแปลเกี่ยวกับความคิดของ Kwame Anthony Appiah โสกราตีสยุคโลกาภิวัตน์ ผู้รณรงค์ความหลากหลาย: Cosmopolitanism. เผยแพร่บนเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1183. ออนไลน์ [เข้าถึงเมื่อ17 มี.ค. 67]  https://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999745.html