นโยบายปราบมาลาเรีย
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย มุกสง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
มาลาเรียเป็นโรคเก่าแก่ในเขตร้อนที่มีมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาตร์ในดินแดนสยาม และเป็นปัญหาคุกคามสุขภาพและการมีประชากรน้อยของดินแดนแถบนี้มาอย่างยาวนาน มีหลักฐานทางโบราณคดีจากการศึกษาโครงกระดูกและหลักฐานด้านเอกสารประเภทตำนานและพงศาวดารที่กล่าวถึงมาลาเรียที่เป็นโรคประจำถิ่นที่คุกคามสุขภาพ รวมทั้งเป็นสาเหตุการตายของคนในแถบนี้เสมอมา แต่การจัดการรับมือกับการระบาดของมาลาเรียของคนในสังคมสยามโบราณจะเน้นการป้องกันด้วยภูมิปัญญาและรักษาด้วยสมุนไพร ทั้งยังปรากฏว่ารัฐไทยสมัยโบราณเองก็ไม่ได้มีบทบาทในการจัดการแพทย์เพื่อดูแลราษฎรแต่อย่างใดด้วย
การเปลี่ยนแปลงการรับรู้โรคและการจัดการของรัฐไทยในยุคสู่ความทันสมัย
ในความรับรู้ของชาวสยามเหมือนจะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ไข้ป่า คือ ไข้ที่อันตรายกว่าไข้จับสั่นที่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าและเกิดในเมืองได้ด้วย แต่ไข้ป่าที่อันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิตนั้นชาวสยามคงตระหนักดีว่า จะเกิดโรคขึ้นได้เมื่อต้องเดินทางไปในป่าดง ดังปรากฏให้เห็นในนิยามโรคไข้ป่าของปาลเลกัวซ์และหมอบรัดเลย์ที่กล่าวชัดว่าเป็นไข้มาจากในป่า ในหนังสือสัพพะพะจะนะพาสาไทของบาทหลวงปาลเลกัวซ์ได้มีคำอธิบายเกี่ยวกับที่การแพทย์แผนไทยเรียกว่า ไข้สารบาตที่มีอาการสั่นหรือ Malignant fever ไว้ด้วยว่า “Kind of malignant fever which person travelling in the woods”[1](ปาเลอกัวซ์, 2542, น. 266) คือไข้ป่า และในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบลัดเลย์ที่พิมพ์ครั้งแรก ปี 2416 ได้อธิบายความหมายของคำว่า “ไข้ป่า” ไว้ว่า “อาการไข้อย่างหนึ่ง, เจ็บเพราะถูกต้องอายพิศดิน, ฤาอายพิศแร่, แลว่านยาในป่าในดง”[2] (บรัดเลย์, 2516, น. 71) นอกจากนี้แล้วในหลักฐานเของไทยยังเรียกโรคนี้ว่า ไข้พิศ (พิษ) ไข้จับ ไข้สั่น ไข้สารบาต หรือสันนิบาต ไข้เจลียง ไข้ลากสาด ไข้เหนือ หรือเรียกในพื้นถิ่นว่าไข้ดอกสัก ไข้ป้างในภาคเหนือ โดยสรุปเป็นไข้ที่ถูกอธิบายไว้ว่าเป็นไข้อาการร้ายแรงประเภทหนึ่ง เพราะมีอาการสั่นและเพ้อคลั่งเมื่อจับไข้ขึ้นมา แต่ไม่ทำให้ตายเฉียบพลัน กลับกันร่างกายจะอ่อนแอเสียส่วนมาก[3]
ในอดีตการระบาดของโรคมาลาเรียส่วนใหญ่เกิดในเขตหัวเมือง หรือชุมชนที่มีอาณาเขตติดกับเขตป่าหรือตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีการถางป่า เนื่องด้วยเป็นโรคที่เกิดจากป่าในช่วงเวลานั้นยังคงมีป่าไม้อยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นโรคที่คุกคามสุขภาพและคร่าชีวิตราษฎรอยู่ตลอด การบุกเบิกพื้นที่ป่าไม้เพื่อใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยในช่วงเวลาการพัฒนาประเทศในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดการถางป่าบุกเบิกที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ด้านการตั้งชุมชน ด้านชลประทานและการเกษตร รวมไปถึงอุตสาหกรรมป่าไม้ การถางป่าเพื่อใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคมาลาเรียชุกชุมมาก โดยการถางป่าและภาวะระบาดของโรคมาลาเรียมีความสัมพันธ์กัน อันมีสาเหตุต่อการขยายพันธุ์ของยุงก้นปล่องที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะป่าทึบถูกโค่นถางลงและกลายเป็นพื้นที่โล่งแดดส่องถึงพื้นดิน ยุงแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของโรคไข้จับสั่นหรือไข้ป่านั้น จะเป็นปัญหาสำหรับชาวตะวันตกที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเสียมากกว่า แม้จะเข้ามาพร้อมด้วยอำนาจวิเศษของยาควินินที่รักษาโรคไข้จับสั่นและไข้ป่าได้แล้วก็ตาม แต่การคุกคามด้วยโรคเมืองร้อนที่ไม่รู้จักอย่างมาลาเรียนั้น ส่งผลให้ชาวต่างชาติเป็นผู้ให้ความสำคัญต่อปัญหาโรคจับสั่นมากกว่าชาวสยามที่รู้จักคุ้นชินกับโรคนี้อยู่บ้างแล้ว ก่อนถึงทศวรรษ 2440 ภัยจากไข้จับสั่นดูจะไม่เป็นปัญหาสำคัญมากนัก จวบจนการพยายามขยายอำนาจและส่งข้าราชการจากเมืองหลวงไปปกครองในต่างถิ่นต่างแดนแล้วต่างหาก ปัญหาไข้จับสั่นจึงสำคัญขึ้นมาในการรวมอำนาจสู่ส่วนกลางแบบรัฐสมัยใหม่[4]
เมื่อไข้ป่าถูกรับรู้ตามแนวคิดการแพทย์แผนตะวันตกเป็นมาลาเรีย
ในราวต้นทศวรรษ 2440 คำว่ามาลาเรียถูกใช้เรียกแทนไข้ป่าที่มีความหมายใกล้ชิดว่าไข้ที่เกิดจากป่าคนป่วย คือ คนที่ไปสัมผัสเกี่ยวข้องกับป่าหรือสิ่งแวดล้อมในป่าดง แต่มาลาเรียนั้นให้ความหมายใหม่ว่า โรคนี้เกิดจากยุงและต้องป้องกันไม่ไห้ยุงกัดที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรค ซึ่งเป็นความรู้ของโรคมาลาเรียที่มากับการแพทย์เวชศาสตร์เขตร้อนที่ก้าวหน้าอยู่ในยุคอาณานิคม ทำให้ไข้จับสั่นหรือไข้ป่าเปลี่ยนแปลงกลายเป็นไข้มาลาเรียที่มีความหมายของโรคที่ชัดเจนและแน่นอนขึ้นจากการค้นพบทางการแพทย์ในยุคสมัยเดียวกันนั้น และโรคทั้งหลายกลายเป็นโลกาภิวัตน์ไปแล้วในยุคอาณานิคมที่การแพทย์แผนตะวันตกถูกใช้เป็นเครื่องมือสากลในการจัดการสุขภาพของทุกประเทศทั่วโลก
จากหลักฐานชั้นต้น “รายงานกรมศุขาภิบาลประจำปี ร.ศ. 120” ตรงกับ พ.ศ. 2444 ปรากฏหลักฐานยืนยันขึ้นในภาษาไทยเป็นครั้งแรกของคำว่ามาลาเรียในชื่อว่า “ไข้ป่า มาลาเรียฟิวเวอร์” โดย นายแพทย์เอช แคมเบล ไฮเอต แห่งกรมแพทย์ศุขาภิบาล ได้รายงานเรื่องไข้จับสั่นจากการตรวจพิสูจน์ทางการแพทย์ในห้องปฏิบัติการของรัฐบาลที่เพิ่งสร้างขึ้น ได้ตรวจพบเชื้อโรคมาลาเรียจากการส่องกล้องจุลทรรศน์ ทั้งยังวาดภาพเชื้อโรคและลักษณะของยุงที่นำเชื้อโรคเอาไว้ด้วย และยังยืนยันชัดเจนว่ามาลาเรียเกิดจากยุงที่เพาะพันธุ์ในแหล่งน้ำ การจะจัดการควบคุมโรคจะต้องทำลายแหล่งน้ำเพาะพันธุ์ยุง ที่ต้องถมหรือราดน้ำมันก๊าดเพื่อไม่ให้ยุงอาศัยอยู่ได้[5] ซึ่งเป็นการนำเอาชื่อโรคแบบตะวันตกเข้ามาอธิบายไข้ป่าที่ยังเอามาไว้คู่กันเพื่อเทียบเคียงให้เป็นที่รับรู้ตรงกันว่าโรคอะไรในภาษาไทยก่อนจะเอาภาษาอังกฤษมาใช้ในการอธิบายหมายถึงโรค ที่แต่ก่อนมาไข้ลักษณะนี้ในสังคมไทยมีความสับสนปนเปมากมายโรคหนึ่งก็ว่าได้ ยิ่งกว่านั้นแม้จะรับรู้กันในหมู่ชนชั้นนำสยามว่ายุงเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมาลาเรียแล้วก็ตาม แต่กว่าจะมีนโยบายรัฐออกมาจัดการยุงและโรคมาลาเรียก็ต้องรอให้เวลาผ่านไปเกือบ 2 ทศวรรษ
การตั้งหน่วยงานรัฐด้านมาลาเรียกับนโยบายรัฐในการจัดการ
เนื่องจากการจัดการเรื่องสาธารณสุขและการควบคุมโรคในช่วงต้นทศวรรษ 2460 ยังมีลักษณะที่ไม่เป็นเอกภาพ กระทรวงนครบาลและกระทรวงมหาดไทยมีหน่วยงานสุขาภิบาลของตนเองด้วยกัน เป็นเหตุให้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้กองแพทย์ของกรมสุขาภิบาล กระทรวงนครบาลมารวมกับกรมประชาบาล (กรมพยาบาล) กระทรวงมหาดไทย ตั้งเป็นกรมใหม่ คือ กรมสาธารณสุข ซึ่งขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย และแต่งตั้งให้ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุข โดยประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 พฤศจิกายน 2461[6]
การจัดตั้งกรมสาธารณสุข มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดหน่วยงานที่บำบัดและควบคุมโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นในสยามโดยเฉพาะ จากเดิมที่เป็นหน้าที่หนึ่งของกรมสุขาภิบาล ซึ่งเป็นการขยายขนาดและประสิทธิภาพของหน่วยงานด้านการควบคุมโรคและแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในการควบคุมโรคของรัฐบาล โดยกรมสาธารณสุขมีกองที่เกี่ยวกับการแพทย์และการรักษาโรคที่กระจัดกระจายตามกระทรวงต่าง ๆ มารวมอยู่ภายใต้กรมสาธารณสุขกรมเดียว ได้แก่ กองบัญชาการ กองสุขศึกษา กองสาธารณสุข กองยาเสพติดให้โทษ กองโอสถศาลารัฐบาล กองบุราภิบาล ผู้ตรวจการสาธารณสุข และสาธารณสุขหัวเมือง เป็นต้น การจัดตั้งกระทรวงสาธารณสุขก็สอดคล้องกับสภาวการณ์ เพื่อขยายการปกครองสาธารณสุขไปสู่หัวเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการสาธารณสุขด้านต่าง ๆ ได้อย่างสอดคล้องกัน และโครงสร้างหน่วยงานเวชกรรมในช่วงเวลานี้มีขนาดใหญ่กว่าในรัชกาลก่อนมาก
ในปีถัดมางานด้านการควบคุมมาลาเรียและพยาธิ์ปากขอก็ได้รับความสนใจจากรัฐบาลสยาม แต่เป็นการให้ความร่วมมือเป็นเครือข่ายกับองค์การระหว่างประเทศที่เรียกขณะนั้นว่า “กรรมการสุขาภิบาลระหว่างชาติ” มากกว่าจะเป็นหน่วยงานตามปกติของหน่วยราชการ นั่นก็คือการจัดตั้ง “กองสุขาภิบาลกำจัดโรคพยาธิปากขอและไข้มะลาเรีย” ขึ้นในสังกัดของสภากาชาดสยามหลังการตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อวัตถุประสงค์ใน “การป้องกันมิให้บังเกิดโรคขึ้นได้นั้น เป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่งเหมือนกัน ถ้าไม่คิดจัดการเตรียมตัวไว้ให้พร้อมมูลก่อนเมื่อถึงเวลาฉุกเฉินขึ้น ก็จะไม่ทันท่วงที...การกำจัดโรคพยาธิปากขอ ไข้มะลาเรีย และอื่น ๆ อีกอเนกประการ อันกระทำให้พลเมืองอ่อนกำลังเปนสาเหตุให้เกิดโรคอื่นจนถึงเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้นั้นก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน” โดยเริ่มตั้งกองนี้ขึ้นในมณฑลพายัพที่เมืองเชียงใหม่ “อันเป็นทำเลมีโรคพยาธิปากขอและไข้มะลาเรียชุกชุมนั้นก่อน”[7] ซึ่งถือว่ารัฐบาลสยามได้ตระหนักถึงการแพทย์เชิงการป้องกันโรคแล้วในช่วงทศวรรษ 2460 และเริ่มตั้งหน่วยงานขึ้นมาจัดการกับโรค “ไข้มะลาเรีย” ด้วย
ในการรณรงค์จัดการกับมาลาเรีย กรมสาธารณสุขได้ออกเอกสารสาธารณสุขชิ้นสำคัญเรื่อง "ปัญหาเรื่องยุง" พิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2465 ออกแจกจ่ายเผยแพร่และได้พิมพ์ครั้งที่ 2 โดยโรงพิมพ์อักษรนิติ ในปี 2467 เป็นจำนวนอีก 5,000 ฉบับ ออกเผยแพร่ ซึ่งเป็นเอกสารที่รวบรวมถึงลักษณะสำคัญของยุงชนิดต่าง ๆ ซึ่งในเวลานั้น แบ่งได้ 2 ชนิด คือ ยุงบ้าน กับยุงเถื่อน โดยยุงบ้านแบ่งย่อยได้อีก 2 ชนิด คือ ยุงบ้านสีเทาธรรมดา ที่เรียกว่า คูเล็กส์ อีกชนิดหนึ่ง คือ ยุงด่างด่าง หรือยุงเสือ ที่เรียกว่า สเตโกเมีย ซึ่งเป็นพาหะสำคัญของเชื้อไข้เหลือง ส่วนยุงเถื่อน หรือยุงป่านั้นมีเพียงชนิดเดียว คือ ยุงก้นปล่อง หรือที่เรียกว่า อะโนเฟเลส ซึ่งเป็นตัวพาหะนำเชื้อไข้จับสั่น หรือที่มักเรียกว่า ไข้ป่า หรือไข้ป้าง หรือคือมาลาเรียที่เรียกกันในทางการแพทย์นั่นเอง[8]
ราวต้นทศวรรษ 2470 เห็นได้ชัดเจนจากหลักฐานจำนวนมากว่า ความรู้เรื่องโรคจับสั่นที่เกิดจากยุงก้นปล่องและมีการสังเกตอาการที่ต่างกันของเชื้อโรคแต่ละชนิดของมาลาเรียนั้น รวมทั้งวิธีป้องกันที่ต้องกำจัดป้องกันยุงและการรักษาโรคด้วยยาควินิน เริ่มมีการเผยแพร่ความรู้ไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อให้ชาวบ้านสามารถรับรู้และหาทางป้องกันรักษาตัวเองจากโรคนี้ได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะในพื้นที่เกิดโรคระบาดนี้ชุกชุม ถึงห้วงเวลานี้ชาวสยามมีความรู้เรื่องไข้มาลาเรียเปลี่ยนแปลงไปเป็นความรู้แบบการแพทย์ตะวันตกสมัยใหม่ที่ค้นพบในสองทศวรรษก่อนหน้านี้กันอย่างแพร่หลายแล้ว ขาดก็แต่การมีนโยบายรัฐอย่างชัดเจนเกี่ยวกับโรคนี้
ในที่สุดรัฐบาลสยามก็มีนโยบายเกี่ยวกับไข้จับสั่นอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2472 เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ออกคำสั่งตั้งกองโรคระบาดขึ้น เพื่อรวบรวมงานเกี่ยวกับโรคระบาดมารวมไว้เป็นกองเดียวกัน โดยการควบคุมไข้จับสั่นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกองงานนี้ และในการชุมนุมสมุหเทศาภิบาลประจำปี ได้มีการพิจารณาถึงการควบคุมไข้จับสั่นด้วย ซึ่งมีมติหลัก ๆ 3 ประการ คือ
1) ควรเผยแพร่ความรู้เรื่องการสุขาภิบาลส่วนตัวบุคคลในการป้องกันบำบัดไข้จับสั่น
2) ควรโฆษณาคุณภาพของยาตำราหลวงแก้ไข้ และแจกยาตำราหลวงแก้ไข้ กับยาถ่ายให้เป็นทานแก่คนอนาถาซึ่งเป็นไข้จับสั่น
3) ควรมีระเบียบให้บุคคลรับซื้อยาตำราหลวงแก้ไข้จากโอสถสภาไปขายในที่ต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการพิจารณาหารืออย่างเป็นทางการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมไข้จับสั่น[9]
ผลจากการออกนโยบายดังกล่าวทำให้เกิดโครงการควบคุมไข้จับสั่นขึ้นหลายจังหวัดทั่วประเทศในเวลาต่อมา และหลังจากนี้การควบคุมยังหมายรวมถึงการบำบัดด้วยยาสมัยใหม่ จากการสนับสนุนของรัฐเจ้าหน้าที่ก็ได้เดินทางไปในทุกภูมิภาคของประเทศและมีการจัดตั้งโครงการ เช่น โครงการควบคุมไข้จับสั่น ของจังหวัดนครราชสีมา มหาสารคาม จันทบุรี เป็นต้น การขยายโครงการควบคุมไข้จับสั่นไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศนั้น เกิดขึ้นพร้อมกันกับการบุกเบิกและขยายที่ทำกินไปยังเขตที่ดอนและเขตป่าที่ห่างไกลจากการตั้งถิ่นฐานทำนาในที่ราบริมฝั่งแม่น้ำภาคกลางเริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้นในสังคมไทยมาตั้งแต่ราวทศวรรษ 2460 เป็นต้นมา อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของ “ชาวนาบุกเบิก” คือ ชาวนาอิสระรายย่อยที่ไปบุกเบิกพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อปลูกข้าวมาตั้งแต่หลังโครงการชลประทานและเปิดพื้นที่ปลูกข้าวของรัฐบาลมาตั้งแต่ทศวรรษ 2430 และยิ่งขยายตัวชัดเจนขึ้นในกลางทศวรรษ 2440 เคลื่อนตัวไปตามลำคลองสายต่างลึกไปในเขตป่า ก่อนจะมีการขยายตัวของชาวนาบุกเบิกเหล่านี้เพื่อปลูกข้าวขายกระจายตัวออกไปทั่วไประเทศหลังการสร้างทางรถไฟสายเหนือและอีสานในทศวรรษ 2450-60 จนกระทั่งถึงราวทศวรรษ 2470 ปรากฏว่าชาวนาบุกเบิกเหล่านี้เป็นผู้ส่งข้าวออกขายมากกว่าที่ราบรอบกรุงเทพฯ อย่างเห็นได้ชัด[10]
นโยบายมาลาเรียกับความช่วยเหลือจากต่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่_2 (พ.ศ. 2484 - 2488) กรมสาธารณสุขได้ปรับปรุงโครงสร้างยกฐานะเป็นกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2485 มีการตั้งแผนกไข้จับสั่นในสังกัดกองควบคุมโรคติดต่อ กรมอนามัย ขึ้นทำหน้าที่จัดการป้องกันโรค และในเวลาไม่ห่างกันได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติไข้จับสั่น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2485 “โดยที่สภาผู้แทนราสดรลงมติว่า สมควนที่จะควบคุมไข้จับสั่นเพื่อความปลอดภัยของประชาชน” (สะกดตามต้นฉบับ)[11] แสดงว่าเป็นโรคสำคัญที่รัฐให้ความสนใจจะควบคุมจัดการ เพราะถึงกับมีโทษปรับถ้าราษฎรไม่ทำตามกฎหมาย ถัดจากนั้นใน พ.ศ. 2487 ได้มีการยกฐานะแผนกไข้จับสั่น เป็นกองไข้จับสั่น ซึ่งต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรีประกาศบัญญัติศัพท์ “มาลาเรีย” แทน “ไข้จับสั่น” เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2487 จึงมีผลให้กองไข้จับสั่นเปลี่ยนชื่อเป็นกองมาลาเรีย ซึ่งจากสถิติประจำปีพบว่ามีผู้ป่วยตายด้วยไข้มาลาเรียสูงถึง 54,597 คน[12] ในระหว่างสงครามปรากฏว่ามาลาเรียเป็นโรคที่คร่าชีวิตของทหารและพลเรือนไปจำนวนมาก เพราะการขาดแคลนยาและการป้องกันโรค โดยเฉพาะในการสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เพชรบูรณ์ที่ร่ำลือกันว่าเป็นดงมาลาเรีย
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบในปี พ.ศ. 2488 กองมาลาเรียได้เริ่มงานควบคุมไข้มาลาเรียใหม่ โดยจัดตั้งเป็น 5 ภาค คือ ภาค 1 และภาค 2 ปฏิบัติในท้องที่ภาคกลาง ภาค 3 ปฏิบัติงานในท้องที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค 4 ปฏิบัติงานในท้องที่ภาคเหนือ และ ภาค 5 ปฏิบัติงานในท้องที่ภาคใต้ โดยแต่ละภาคมีหน่วยมาลาเรีย 5 หน่วย (รวม 25 หน่วยมาลาเรีย) ต่อมาใน พ.ศ. 2490 กองมาลาเรียได้รับอนุมัติให้เพิ่มหน่วยมาลาเรียขึ้นอีก 25 หน่วย รวมกับที่มีอยู่เดิมเป็น 50 งานสำคัญที่ทำ คือ แจกยาอเตบรินแก่ผู้ป่วยมาลาเรียเพื่อรักษาเป็นหลัก ยังไม่เน้นป้องกัน[13] อย่างไรก็ตามแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยพยายามจะขยายงานมาลาเรียให้ครอบคลุมทั้งประเทศแล้ว
จากนั้นใน พ.ศ. 2491 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศใช้ธรรมนูญและที่ประชุมสมัชชา ได้มีมติว่า “การควบคุมไข้มาลาเรียเป็นงานสำคัญอันดับแรกที่จะต้องระดมสรรพกำลังช่วยเหลือประชาชนที่กำลังป่วยด้วยไข้มาลาเรียอยู่แทบทุกประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์” ทำให้องค์การอนามัยโลกได้มาเปิดสำนักงานสาขาเพื่อบริหารงานในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์โดยตรง ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลก จึงได้รับความช่วยเหลือทั้งด้านการพัฒนาบุคลากร และพัฒนาเทคโนโลยีในการควบคุมไข้มาลาเรีย โดยมีการให้ทุนแก่นายแพทย์ของกรมอนามัยไปศึกษาวิชามาลาเรีย ณ สถาบันมาลาเรียของประเทศอินเดีย จำนวน 2 รุ่น เป็นครั้งแรก[14]
ก่อนหน้านี้การควบคุมมาลาเรียในสยามแม้จะมีหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ค้นพบวิธีควบคุมอย่างได้ผลและไม่สิ้นเปลือง เทคนิควิธีการเดิมที่ใช้จะให้ผลน้อยเพราะทำได้แค่กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ การใช้มุ้งและแจกยารักษาแก่คนที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่ระบาดชุกชุม จุดเปลี่ยนสำคัญของวิธีการจัดการควบคุมไข้มาลาเรียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นก็คือ การค้นพบวิธีการกำจัดยุงด้วยวิธีการฉีดพ่นสารเคมี โดยเฉพาะ ดี.ดี.ที. ให้ติดค้างอยู่ตามฝาผนังของบ้านเรือนให้ยุงมาเกาะแล้วตาย แต่ไม่ส่งผลอันตรายต่อคนอาศัย (เท่าที่เห็นได้ชัด) ถือว่าการกำจัดพาหะของโรคคือยุงก้นปล่องได้ชะงัดทำให้เห็นผลถึงการเกิดโรคที่ลดลงในพื้นที่ดำเนินการที่เป็นชนบทป่าเขา[15]
ทดลองนำร่องระยะแรกโครงการควบคุมไข้มาลาเรีย
ภายหลังจากที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งในช่วงหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ยังกลับมาให้ความสนใจกับการควบคุมไข้มาลาเรียอีก ส่วนหนึ่งเพราะเห็นผลร้ายของโรคนี้ระหว่างสงครามต่อทหารและประชาชนชัดเจน โดยใน พ.ศ. 2491 กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization- WHO) ในโครงการควบคุมไข้มาลาเรียโดยวิธีฉีดพ่น ดี.ดี.ที. เพื่อให้การควบคุมไข้มาลาเรียซึ่งเป็นเหตุให้มีคนตายมากที่สุดและเป็นผลร้ายแก่การเกษตร[16] ซึ่งในระยะแรกเป็นการทดลองควบคุมไข้มาลาเรียของคณะผู้เชี่ยวชาญที่ทางองค์การอนามัยโลกส่งมาปฏิบัติการที่ประเทศไทย โดยโครงการควบคุมไข้มาลาเรียเริ่มขึ้นอย่างจริงจังใน พ.ศ. 2493 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองควบคุมไข้มาลาเรียและโรคเท้าช้าง กรมอนามัย[17]
ในหนังสือสัญญาเรื่อง “ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศไทยกับองค์การอนามัยโลก สำหรับการจัดบริการในประเทศไทยโดยองค์การอนามัยโลก” ที่ได้ลงนาม เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492 นั้น มีทั้งหมด 11 มาตรา มีใจความสำคัญว่าองค์การอนามัยโลกได้ให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในหลาย ๆ อย่าง แต่ในทางกลับกันประเทศไทยก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายและมอบสิทธิพิเศษบางประการให้แก่องค์การอนามัยโลก ซึ่งหลังจากที่ความตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ โครงการควบคุมไข้จับสั่นในประเทศไทยก็จะได้เริ่มดำเนินการขึ้น โดยแผนการในข้อตกลงครั้งนี้ได้ระบุว่า จะทดลองควบคุมในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่เป็นตัวอย่างก่อน ในปีแรกนั้นเป็นการสำรวจไข้มาลาเรียโดยทั่วไปและสำรวจโรคอื่น ๆ ที่นำพาโดยแมลง การสำรวจสุขภาพ ผลิตผลทางเกษตรกรรมและฐานะทางเศรษฐกิจในท้องที่นั้น ๆ ด้วย พอสำรวจจนสามารถที่จะพิจารณาผลของการควบคุมได้แล้ว ก็จะเริ่มทำการควบคุมไข้มาลาเรียโดยทันที จะประกอบด้วยการใช้ยากำจัดแมลงพ่นตามบ้านเรือนในท้องที่อำเภอสารภีของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีพลเมืองประมาณ 40,000 คน และมีเนื้อที่ประมาณ 100 ตารางกิโลเมตร เมื่อเสร็จการควบคุมแล้ว จะได้จัดให้มีการสำรวจอีกครั้งหนึ่ง เพื่อพิจารณาผลที่ได้รับจากการควบคุม ซึ่งแผนการแสดงวิธีควบคุมนี้ จะจัดทำเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี และองค์การอนามัยโลกจะยังคงให้ความช่วยเหลือทั้งในทางวิทยาการและทางการเงินในปีที่ 2 ตามกำลังและงบประมาณขององค์การ[18]
ในส่วนของการรักษามาลาเรียได้จ่ายยาควินินให้ผู้ป่วยโดยไม่คิดมูลค่า จึงเป็นที่นิยมกันอย่างมากเพราะก่อนหน้านี้รักษาแต่กับสมุนไพรไม่มีประสิทธิภาพดีเท่าควินิน ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประสบภาวะขาดแคลนยาเนื่องจากเรือสินค้าไม่สามารถส่งสินค้าได้เช่นในยามปกติ ช่วงหลังสงครามได้มีการคิดค้นยาสังเคราะห์หลายชนิด เช่น Pamaquine (ค.ศ.1926) Atabrin หรือ Mepacrine (ค.ศ.1930) Chloroquine (ค.ศ.1934) Amodiaquine, Primaquine, Proguanil และ Pyrimethamine (ในช่วง ค.ศ. 1945-1952) คลอโรควิน มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อมาลาเรียในเม็ดโลหิตแดงได้ดีกว่าควินิน และอาการข้างเคียงน้อยกว่า อีกทั้งมีราคาถูก รับประทานเพียง 3 วันก็หาย จึงได้ถูกนำมาใช้แทนควินิน ดังนั้นในช่วงแรกของโครงการควบคุมไข้มาลาเรียตามแผนใหม่ พ.ศ. 2492-93 เป็นต้นมา จึงมีเฉพาะยาคลอโรควินเป็นยาหลัก[19]
การขยายโครงการควบคุมมาลาเรียรุดหน้าไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นจากความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกา ที่มารับผิดชอบด้านงบประมาณต่อจากองค์การอนามัยโลกในปี 2495 หลังจากลงนามในความช่วยเหลือกับรัฐบาลไทยในปี 2493 และให้ความช่วยเหลือผ่านองค์การความช่วยเหลือที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลสหรัฐไปทั่วโลกในช่วงสงครามเย็น ด้วยการส่งดีดีทีและวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ยานพาหนะรถยนต์ ตลอดจนเงินใช้จ่ายดำเนินการ ทำให้องค์การอนามัยโลกถอนความช่วยเหลือด้านการเงินและเจ้าหน้าที่ไป
เริ่มขยายโครงการควบคุมไข้มาลาเรียไปทั่วประเทศ
รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความปรารถนาที่จะกำจัดยุงและไข้มาลาเรียซึ่งได้กลายเป็นภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ควบคู่กับการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) โดยมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนเข้าไปบุกเบิกป่าขึ้นใหม่ในพื้นที่บางแห่งเพื่อการทำมาหากินของราษฎร เช่น นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และนิคมสร้างตนเอง จังหวัดลพบุรี อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่เข้าไปบุกเบิกในพื้นที่ดังกล่าว ไม่สามารถบุกเบิกที่ทำมาหากินให้กว้างขวางได้เท่าที่ควร เนื่องจากภัยธรรมชาติคุกคาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข้มาลาเรีย[20]
ในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2496 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการด้วยตนเอง และ “มีบัญชาให้พิจารณาใช้เครื่องบินโปรย ดี.ดี.ที. ปราบปรามไข้มาลาเรีย ในนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท สระบุรี นิคมสร้างตนเองลพบุรี และนิคมสร้างตนเองเขื่อนเพชร...”[21] จากหลักฐานนี้จะเห็นได้ว่า โครงการควบคุมไข้มาลาเรียได้เริ่มขยายออกไปในภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศ การที่ผู้นำประเทศอย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ที่มีเชื้อไข้มาลาเรียระบาด คงทำให้ตระหนักว่าจะต้องทำการปราบปรามไข้มาลาเรียอย่างจริงจัง เพราะเคยมีประสบการณ์มาแล้วในช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ที่ต้องประสบปัญหาทั้งจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 และปัญหาการระบาดของไข้มาลาเรียพร้อม ๆ กัน ซึ่งส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก
หลังจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีคำสั่งให้พิจารณาการใช้เครื่องบินโปรย ดี.ดี.ที. ทางกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือเรียนมายัง จอมพล ป. เรื่อง การปราบไข้มาลาเรีย เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอหลักทางวิชาการและเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามไข้มาลาเรียว่า การฉีดพ่น ดี.ดี.ที. ติดค้างไว้ตามฝาผนังภายในบ้านเรือนเป็นวิธีการกำจัดที่เหมาะสมแล้ว ยังชี้ให้เห็นว่าการใช้เครื่องบินโปรย ดี.ดี.ที. ในการปราบมาลาเรียนั้น ถึงแม้วิธีนี้จะมีประโยชน์มากก็จริง แต่จำเป็นต้องเลือกใช้เฉพาะบางโอกาสที่ไม่ปกติ เช่น สงคราม แต่จะต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากกว่าวิธีอื่น ๆ หลายเท่า เพราะ ดี.ดี.ที. ที่โปรยลงมานั้นย่อมถูกกระแสลมพัดพาไปที่อื่นเสียมาก จึงจำเป็นจะต้องบินวนเพื่อโปรย ดี.ดี.ที. ให้ลงไปถึงที่ที่ต้องการหลายครั้งหลายหน และข้อสำคัญที่สุด คือ ดี.ดี.ที. จะไม่ติดค้างอยู่ภายในบ้านเรือน ไม่ทำให้บังเกิดผลอย่างถาวร[22]
สรุปว่า การปราบไข้มาลาเรียด้วยวิธีพ่น ดี.ดี.ที. ติดค้างไว้ภายในผนังบ้านเรือนหรือาคารต่าง ๆ เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด และเป็นการประหยัดกว่าวิธีอื่นทั้งหมดและนิยมใช้โดยทั่วไป ได้เริ่มใช้วิธีการนี้ในนิคมฯ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2493 ปรากฏว่าได้ทำให้เชื้อไข้มาลาเรียของนิคมทั้งสองแห่งลดน้อยลงไปมากจนเกือบจะไม่เป็นภัย หรืออุปสรรคแก่การดำเนินชีวิตของประชาชนในบริเวณนั้น ดังจะเห็นได้จากสถิติของไข้มาลาเรียในนิคมฯ ทั้ง 2 แห่ง ได้ลดลงตามลำดับ ก่อนหน้าที่จะได้มีการพ่น ดี.ดี.ที. นั้น ภาวะความรุนแรงของไข้มาลาเรียในนิคมสร้างตนเองทั้ง 2 แห่งนี้ ต่างก็สูงด้วยกันทั้งคู่ กล่าวคือ นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีอัตราม้ามโตสูงถึง ร้อยละ 59.38 และมีอัตราเชื้อไข้มาลาเรียสูงถึง ร้อยละ 48.86 ส่วนในนิคมสร้างตนเองลพบุรี จังหวัดลพบุรีนั้น มีอัตราม้ามโตสูงถึง ร้อยละ 57.04 และอัตราเชื้อไข้มาลาเรียสูงถึง ร้อยละ 26.06
การพ่น ดี.ดี.ที. ตามฝาผนังบ้านเรือนประชาชน เพื่อควบคุมไข้มาลาเรียขึ้นเป็นครั้งแรกในนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2493 และในนิคมสร้างตนเองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา รวมทั้งที่ได้จัดทำการพ่น ดี.ดี.ที. เป็นประจำต่อมาอีกปีละครั้งเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2496 ปรากฏว่า ภาวะความรุนแรงของไข้มาลาเรียใน 2 นิคมฯ นี้ลดลงเป็นอย่างมาก คือ อัตราม้ามโตของนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ได้ลดลงมาเหลือเพียง ร้อยละ 5.72 และอัตราเชื้อไข้มาลาเรียก็ลดลงมาเหลือเพียง ร้อยละ 3.09 ส่วนในนิคมสร้างตนเองลพบุรี จังหวัดลพบุรีนั้น อัตราม้ามโตได้ลดลงเหลือเพียง ร้อยละ 3.77 และอัตราเชื้อไข้มาลาเรียก็ลดลงมาเหลือเพียง ร้อยละ 1.03 เท่านั้น[23] นอกจากนี้แล้วการลดลงของมาลาเรียส่งผลให้มีชาวบ้านเข้ามาตั้งถิ่นฐานในนิคมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย
ส่วนสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ประชาชนในชนบทส่วนมากเจ็บป่วยเป็นไข้มาลาเรียนั้น เนื่องจากนอนไม่กางมุ้งและเมื่อป่วยแล้ว “...ทำให้เสียเวลาในการประกอบกิจการอาชีพเป็นการทอนกำลังทางเศรษฐกิจ-ส่วนรวมของชาติ สมควรจะได้หาทางแก้ไข...” เป็นประเด็นสำคัญที่ทางรัฐเป็นห่วงที่สุด ทั้งนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2496 ลงมติมอบให้กระทรวงสาธารณสุขไปดำเนินการหาทางให้ประชาชนรู้จักการป้องกันไข้มาลาเรียโดยการกางมุ้งนอน ทั้งยังกำชับอีกว่า “ขอให้จัดการให้เป็นผลโดยเรียบร้อยภายในปี พ.ศ. 2500”[24]
นอกจากนี้ในปี 2496 กระทรวงสาธารณสุขได้ตกลงรับเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม Asian Malaria Conference ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ ในเดือนกันยายน ตามที่องค์การอนามัยโลกได้เสนอขอมา เป็นการประชุมนักวิชาการด้านมาลาเรียเพื่อพิจารณาผลงานอันประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการกำจัดยุงก้นปล่องสกุลที่แพร่เชื้อมาลาเรียในประเทศต่าง ๆ ของภูมิภาคเอเชีย ผู้ป่วยที่มีเชื้อมาลาเรียได้ลดจำนวนลงอย่างมากแทบจะหมดไปในอาณาบริเวณที่ใช้สารเคมี ดี.ดี.ที. พ่นกำจัดยุงที่เป็นพาหะ จึงได้มีการพิจารณาว่า น่าจะเป็นโอกาสที่จะทำการกวาดล้างโรคมาลาเรียให้หมดสิ้นไป แต่ก็ยังมิได้ปรากฏผลเป็นมติที่แน่ชัด[25] แต่เห็นได้ชัดว่าการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงในการควบคุมมาลาเรียได้ผลดีที่มีการดำเนินการทั่วโลกผู้ป่วยด้วยมาลาเรียลดลงอย่างฉับพลัน ทำให้มีความคิดจะกำจัดกวาดล้างมาลาเรียในองค์การระหว่างประเทศและประเทศพัฒนาแล้ว ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การอนามัยโลกครั้งที่ 8 เมื่อปี 2498 ที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ ได้ลงมติให้ประเทศสมาชิกทำการรณรงค์ปราบไข้มาลาเรีย ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะกำจัดกวาดล้างให้หมดสิ้นไป[26] (สมทัศน์ มะลิกุล, 2543: 7)
ในเวลาต่อมาองค์การอนามัยโลกได้จัดให้มีการประชุม เรื่อง ไข้มาลาเรีย (Malaria Symposium) ขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2500 โดยกระทรวงสาธารณสุขของไทยรับเป็นเจ้าภาพ ประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย ซึ่งอยู่ในสังกัดขององค์การอนามัยโลกสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสาขาแปซิฟิคตะวันตกได้ส่งนักวิชาการและนักบริหารเข้าร่วมประชุมเกือบทุกประเทศ (ยกเว้นจีน) องค์ประชุมได้เน้นความสำคัญ ความจำเป็นที่จะต้องรีบระดมสรรพกำลังในการรณรงค์เพื่อการสาธารณสุขของประเทศ ด้านกำจัดกวาดล้างไข้มาลาเรีย ในขณะเดียวกันปีนี้รัฐสภาของสหรัฐอเมริกาผู้ให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่งานควบคุมโรคมาลาเรียในประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลก ได้ลงมติให้ถือเป็นนโยบายของสหรัฐอเมริกา ที่จะช่วยเหลือการรณรงค์ปราบไข้มาลาเรียแก่ประเทศที่ปฏิบัติการกำจัดกวาดล้างไข้มาลาเรียเท่านั้น[27] ซึ่งต่อมาส่งผลให้ไทยต้องปรับแผนงานด้านนี้ให้สอดคล้องกับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐ
ผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มแผนการควบคุมไข้มาลาเรียพบว่า จำนวนคนตายด้วยโรคมาลาเรียใน พ.ศ. 2493 รวบรวมทั่วประเทศได้ 35,819 คน นั้น ได้ลดลงเหลือ 10,458 คน ใน พ.ศ. 2500 หรือเป็นอัตรา 43.0 ต่อประชากรแสนคน สำหรับการพ่นสารเคมีดีดีทีควบคุมไข้มาลาเรียได้ขยายพื้นที่ปฏิบัติการออกไปได้อย่างกว้างขวางตั้งแต่ พ.ศ. 2495 เป็นต้นมา จนมีอาณาบริเวณดำเนินงานทำการพ่นเคมีกำจัดแมลงในท้องที่ 62 จังหวัด จำนวนประชากรรวมได้ 11,968,667 คน ใน พ.ศ. 2500[28]
การประกาศแผนกำจัดมาลาเรียทั่วโลกเมื่อปฏิบัติแล้วได้มีการทบทวนและปรับแผนกันใหม่อีกครั้งในปี 2512 จากการประชุมครั้งที่ 22 ของสมัชชาใหญ่องค์การอนามัยโลกมีมติให้ประเทศต่าง ๆ เปลี่ยนมาเป็นการควบคุมแทนการกำจัดสำหรับในท้องที่ที่มีปัญหา ซึ่งสาเหตุสำคัญของความล้มเหลวที่พบในประเทศไทยเองด้วย ก็คือไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่เชื้อได้โดยเด็ดขาดในหลายท้องที่ อันเนื่องมาจากปัญหาทางวิชาการและทางการบริหารจัดการ
นับตั้งแต่ปี 2514 สหรัฐอเมริกา ได้ยุติให้การช่วยเหลือประเทศไทยในการจัดการมาลาเรีย หลังจากได้ให้การช่วยเหลือมาเป็นระยะเวลารวม 20 ปี สิ้นเงินไปประมาณ 20.72 ล้านดอลลาร์ หรือ 420 ล้านบาท และทางรัฐบาลไทยได้ออกเงินสมทบอีกประมาณ 630 ล้านบาทด้วยเช่นกัน แต่เมื่อมีปัญหาทางวิชาการ เช่น เชื้อมาลาเรียดื้อยา การเคลื่อนย้ายและบุกเบิก การปรับเปลี่ยนนิสัยของยุงพาหะ ประสิทธิภาพของเคมีกำจัดแมลงในการยับยั้งการแพร่เชื้อของยุงพาหะ องค์การความช่วยเหลือแห่งสหรัฐฯ (USAID) จึงเปลี่ยนเป็นให้ความช่วยเหลือทางการศึกษาวิจัยแทน ภายใต้โครงการ TMORU (Thai Malaria Operation Research Unit) ทำการศึกษาร่วมกับไทย[29]
ในปีถัดมาโครงการกำจัดไข้มาลาเรีย ได้ดำเนินงานต่อไปด้วยงบประมาณแผ่นดินเพียงอย่างเดียว พร้อมกันนี้ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการขึ้นใหม่เป็นแผน 5 ปี (2514-2519) เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาทางการบริหารและทางวิชาการโดยมีหลักการว่าการกำจัดไข้มาลาเรียยังเป็นเป้าหมายอยู่แต่ไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด สำหรับท้องที่ที่ได้รับความสำเร็จจากผลการดำเนินงานกำจัดก็ให้ได้รับการดูแลระวังรักษาให้ดีเพื่อป้องกันการกลับมาแพร่ระบาดของไข้มาลาเรียอีก ส่วนท้องที่ป่าเขาและท้องที่บุกเบิกตามแกนกลาง และชายแดนของประเทศให้ดำเนินการควบคุมไปก่อนเป็นโครงการระยะยาว
โครงการมาลาเรียโลกขององค์การอนามัยโลก (Global Malaria Program)
โครงการมาลาเรียโลกขององค์การอนามัยโลก (Global Malaria Program) พ.ศ. 2559-2573 มีเป้าหมาย มุ่งสู่การกำจัดโรคไข้มาลาเรีย และผลักดันให้ประเทศที่มีอัตราป่วยด้วยไข้มาลาเรีย น้อยกว่า 1 ต่อพันคน ยกระดับนโยบายจากการควบคุมโรค (Malaria Control) เป็นนโยบายการกำจัดโรค (Malaria Elimination) และประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนนโยบายดังกล่าวระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 66 ในปี พ.ศ. 2556 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศไทยร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ร่วมลงนามข้อตกลงในการผลักดันนโยบายและสนับสนุนงบประมาณการกำจัดโรคไข้มาลาเรียในที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9 ณ กรุงเนปิดอร์ ประเทศเมียนมาร์ ในปี พ.ศ. 2557 นอกจากนี้ การกำจัดไข้มาลาเรียยังเป็นเป้าหมายหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ตามแนวทางองค์การสหประชาชาติ (United Nations) และประเทศไทยได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 เพื่อขับเคลื่อนโยบายดังกล่าวด้วย
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์กำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ. 2560-2569 มีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยปลอดจากโรคไข้มาลาเรียภายในปี พ.ศ. 2567 โดยมี 4 ยุทธศาสตร์ คือ
1) เร่งรัดกำจัดการแพร่เชื้อมาลาเรียในประเทศไทย
2) พัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม มาตรการและรูปแบบที่เหมาะสมในการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย
3) สร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนงานกำจัดโรคไข้มาลาเรีย
4) ส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพในการดูแลตนเองจากโรคไข้มาลาเรีย
โดยในช่วงแรกแผนปฏิบัติการกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย 5 ปี (ปีงบประมาณ 2560-2564) ขอตั้งงบประมาณทั้งสิ้น 2,283 ล้านบาท
การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ และการติดตามความก้าวหน้าอาศัยกลไกสำคัญระดับประเทศ คือ คณะกรรมการบริหารกำจัดมาลาเรียแห่งชาติ กลไกระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน มีหน่วยบริการสุขภาพทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคม นำไปปฏิบัติตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมาได้งบประมาณการควบคุมไข้มาลาเรียส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก (GFATM) เป็นผลให้สถานการณ์ของโรคลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตามเนื่องจากงบประมาณจากโครงการกองทุนโลกสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2560 หากไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่อง อาจทำให้สถานการณ์โรคเลวร้ายลงได้
ดังนั้นการดำเนินงานกำจัดโรคไข้มาลาเรียจึงต้องอาศัยการบูรณาการทรัพยากรร่วมกับทุกภาคส่วนทุกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้การกำจัดโรคไข้มาลาเรียเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสาธารณสุขทั่วไปและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) นอกจากนั้นยังต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกัน ณ วันนี้ไข้มาลาเรียเป็นโรคชายแดนที่มีความสำคัญลดลง เนื่องจากความพยายามอย่างต่อเนื่องของทุกฝ่ายในหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งดำเนินการโดยโครงการเฉพาะกิจของภาครัฐเป็นส่วนใหญ่และเป็นโครงการชำนัญพิเศษ ทุกวันนี้โครงการกำจัดโรคไข้มาลาเรียของประเทศไทยมีลักษณะเป็นโครงการที่ผสมผสานงานค่อนข้างสมบูรณ์ มีผู้ร่วมงานจำนวนมาก แต่ก็ยังมีสิ่งท้าทายแอบแฝงอยู่ เช่น เชื้อดื้อยายังคงอยู่ การอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างประเทศมีมากขึ้น ในด้านบวกระบบบริการสาธารณสุขทั่วไปเข้มแข็งขึ้นมาก มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น มุ้งชุบสารเคมีสำเร็จรูป ชุดตรวจหาเชื้อมาลาเรียอย่างรวดเร็วเป็นปัจจัยที่จะส่งเสริมให้โครงการกำจัดโรคไข้มาลาเรียภายใต้กรมควบคุมโรค (ปรับเปลี่ยนจากกรมควบคุมโรคติดต่อเมื่อ พ.ศ. 2545) มีความมั่นใจในความสำเร็จและสามารถจะบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ประเทศไทยปลอดภัยจากโรคไข้มาลาเรีย พ.ศ. 2567[30]
การดำเนินงานควบคุมโรคไข้มาลาเรียทั่วโลกในระหว่างปี พ.ศ. 2543-2555 ประสบผลสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญกล่าว คือ สามารถลดอัตราป่วยได้ประมาณ ร้อยละ 30 และลดอัตราตายได้ประมาณ ร้อยละ 47 อย่างไรก็ตามมาลาเรียยังเป็นปัญหาสาธารณสุขในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศในทวีปแอฟริกา องค์การอนามัยโลกได้กำหนดเป้าหมายกำจัดโรคมาลาเรียให้ได้อย่างน้อย 35 ประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ จีน (เฉพาะมณฑลยูนนาน) เมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายที่จะกำจัดโรคไข้มาลาเรียในภูมิภาคนี้ภายในปี พ.ศ. 2573 เช่นกัน
บรรณานุกรม
ชาติชาย มุกสง. 2560. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่อง ประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของโรคมาเลเรียในประเทศไทย. เสนอต่อกรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข.
ชาติชาย มุกสง. 2560. จากไข้ป่าสู่มาลาเรีย: การบุกเบิกพื้นที่เกษตรกรรมความเป็นเมืองและชนบทในประวัติศาสตร์สังคมของโรคมาลาเรียทศวรรษ 2440-2470. ใน รายงานสืบเนื่องการประชุมเสนอผลงานวิชาการและผลงานสร้างสรรค์ สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. กรุงเทพฯ: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. หน้า 39-62.
ชาติชาย มุกสง. 2561. นโยบายมาลาเรียในยุคสงครามเย็นกับการขยายอำนาจรัฐเวชกรรมสู่ชนบทไทย ทศวรรษ 2490-2510, หน้า 19-36. วารสารสังคมศาสตร์, ปีที่ 21 ฉบับที่ มกราคม –ธันวาคม 2561.
ธันวา วงศ์เสงี่ยม, 2553. “รัฐไทยกับสุขภาพพลเมือง พ.ศ. 2475-2500,” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สมทัศน์ มะลิกุล .2543. มาลาเรียวิทยา 2542. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: สมาคมมาลาเรียแห่งประเทศไทย.
เชิงอรรถ
[1] ชอง-บาติสต์ ปาเลอกัว, 2542. สัพพะ พะจะนะ พาสาไท, กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ. หน้า 266
[2] แดนบีช แบรดเลย์. 2514. หนังสืออักขราภิธานศรับท์. กรุงเทพฯ: ครุสภา, หน้า 71.
[3] กรุณาดูรายละเอียดนิยามเหล่านี้ใน ชาติชาย มุกสง, 2560. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่อง ประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของโรคมาเลเรียในประเทศไทย. เสนอต่อกรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข. น. 23-30.
[4] กรุณาดูรายละเอียดใน ชาติชาย มุกสง. 2560. จากไข้ป่าสู่มาลาเรีย: การบุกเบิกพื้นที่เกษตรกรรมความเป็นเมืองและชนบทในประวัติศาสตร์สังคมของโรคมาลาเรียทศวรรษ 2440-2470. ใน รายงานสืบเนื่องการประชุมเสนอผลงานวิชาการและผลงานสร้างสรรค์ สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. กรุงเทพฯ: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. น. 39-62.
[5] สจช. ม.ร.5 น/85 เรื่อง รายงานกรมศุขาภิบาลประจำปี ร.ศ. 120. [ร.ศ. 120 – 30 ธ.ค. 122].
[6] “ประกาศตั้งกรมสาธารณสุขและตั้งอธิบดีกรมสาธารณสุข.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 35 ตอน 0 ก.8 ธันวาคม 2461. หน้า 302.
[7] “แจ้งความของสภากาชาดสยาม เรื่องตั้งกองสุขาภิบาลกำจัดโรคพยาธิ์ปากขอและไข้มะลาเรีย,” ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 36, (14 มีนาคม 2462): 4006-4008.
[8]สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ม-ร.7 ม/11. อิตาลีเชิญเข้าร่วมมือตั้งสำนักงานจัดการเรื่องไข้มาลาเรีย. อ้างใน ชาติชาย มุกสง, 2560, เรื่องเดียวกัน, น. 109-110.
[9] กระทรวงสาธารณสุข, 2505. อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบ 20 ปี พ.ศ. 2485-2505. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยเขษม. น. 404.
[10] ผาสุก พงษ์ไพจิตรและคริส เบเคอร์, 2539. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์มบุ๊ค, น.35-41.
[11]ราชกิจจานุเบกษา, 2485. เล่ม 59 ตอนที่ 52, (วันที่ 4 สิงหาคม 2485): น. 1408-1414.
[12] สมทัศน์ มะลิกุล. 2543. มาลาเรียวิทยา 2542. พิมพ์ครั้งที่ 2. สมาคมมาลาเรียแห่งประเทศไทย: นนทบุรี, น. 5-6.
[13] เรื่องเดียวกัน, น. 5.
[14] เรื่องเดียวกัน, น. 5-6.
[15] ธันวา วงศ์เสงี่ยม, 2553. “รัฐไทยกับสุขภาพพลเมือง พ.ศ. 2475-2500,” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น. 199.
[16] เรื่องเดียวกัน , น. 197.
[17] กระทรวงสาธารณสุข. 2510. อนุสรณ์สาธารณสุขครบรอบ 25 ปี แห่งการสถาปนากระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2485-2510. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: กระทรวงสาธารณสุข, น. 81.
[18] สจช. (2) สร 0201.27.1/13. เรื่อง ทำสัญญากับองค์การอนามัยโลกในเรื่องขอคณะผู้เชี่ยวชาญไข้มาลาเรีย.
[19] สมทัศน์ มะลิกุล. 2543. เรื่องเดียวกัน, น. 88.
[20] ทวีศักดิ์ เผือกสม, 2550, เชื้อโรค ร่างกายและรัฐเวชกรรม: ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น. 113.
[21] สจช., (2) สร 0201.27.1/20. เรื่อง การปราบไข้มาลาเรียและวิเคราะห์ดินในนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี.
[22] สจช., (2) สร 0201.27.1/20. เรื่อง การปราบไข้มาลาเรียและวิเคราะห์ดินในนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี.
[23] สจช., (2) สร 0201.27.1/20. เรื่อง การปราบไข้มาลาเรียและวิเคราะห์ดินในนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี.
[24] สจช., (2) สร 0201.27.1/21. สถิติการควบคุมไข้มาลาเรียโดยการพ่น ดี.ดี.ที. (ปี 2493 – 2496) นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี.
[25] สมทัศน์ มะลิกุล, 2543, เรื่องเดียวกัน, น. 7.
[26] สมทัศน์ มะลิกุล, 2543, เรื่องเดียวกัน, น. 7.
[27] สมทัศน์ มะลิกุล, 2543, เรื่องเดียวกัน, น. 8-9.
[28] กระทรวงสาธารณสุข, 2510, อนุสรณ์สาธารณสุขครบรอบ 25 ปี แห่งการสถาปนากระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2485-2510, กรุงเทพฯ: กระทรวงสาธารณสุข, น. 420-421.
[29] เรื่องเดียวกัน, น. 33-34.
[30] กรองทอง ทิมาสาร และปิยะพร หวังรุ่งทรัพย์. 2559. การควบคุมการแพร่ระบาดของไข้มาลาเรีย, นนทบุรี: สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กระทรวงสาธารณสุข. (เอกสารอัดสำเนา).