โครงการอนามัยชนบท
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย มุกสง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
สาเหตุที่ต้องส่งเสริมสุขภาพพลานามัยของประชาชนในชนบทนั้น มีทั้งเหตุผลในทางเศรษฐกิจและในทางการเมือง ในทางเศรษฐกิจ คือ การมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจของชาติอย่างชัดเจนซึ่งจำเป็นจะต้องเตรียมคนให้พร้อม กล่าวคือ ต้องปรับปรุงสุขภาพพลานามัยของประชาชนให้แข็งแรง มีการสาธารณสุขดี การศึกษาดี และการปกครองที่ดี ด้วยการส่งเสริมโครงการด้านการสร้างสาธารณูปโภคด้านสุขภาพ การจัดหาบุคลากรด้านสุขภาพที่จำเป็นให้กับชุมชน รวมถึงการส่งเสริมภาวะโภชนาการให้ดีขึ้นในประชาชนทั้งประเทศโดยเฉพาะในชนบท โครงการปรับปรุงการกินของชาวบ้านในชนบท จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลพยายามใช้เพื่อยกระดับการกินดีควบคู่กับการอยู่ดีด้วยการปรับปรุงอนามัยและสุขาภิบาลขนานใหญ่ ในขณะที่เหตุผลทางการเมืองนั้นต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของรัฐบาลเผด็จการให้มีภาพลักษณ์ดูแลเอาใจใส่ประชาชน นับเป็นนโยบายที่รัฐต้องการสร้างความยอมรับจากประชาชนในชนบท ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือต่อสู้และแย่งชิงมวลชนในชนบทจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในสงครามมวลชนและอุดมการณ์ที่รัฐไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากประเทศเพื่อนบ้าน และขบวนการคอมมิวนิสต์ที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในทางการเมืองภายในประเทศ ส่วนการเมืองระหว่างประเทศคือการเดินตามนโยบายของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น
การริเริ่มพัฒนาชนบทด้วยโครงการอนามัยท้องถิ่น
จากการทบทวนความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขแก่ประเทศไทยขององค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Operation Mission in Thailand) ในรอบ 8 ปี นับแต่เริ่มให้ความช่วยเหลือ เมื่อปี พ.ศ. 2501 นั้นปรากฏว่าลักษณะและรูปแบบการช่วยเหลือจะปรากฏใน 4 ลักษณะ ดังต่อไปนี้[1]
1. ที่ปรึกษาด้านเทคนิคในด้านสาธารณสุขศาสตร์ แพทยศาสตร์ศึกษา และการดูแลสุขภาพ
2. เครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ทางการแพทย์
3. ผู้สำเร็จการอบรมพิเศษจากมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และกระทรวงสาธารณสุขในสหรัฐอเมริกา
4. การฝึกอบรมสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพในประเทศไทย
ความช่วยเหลือทั้งหมดนี้ได้ทำผ่านโครงการต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายและวิธีการดำเนินงานเฉพาะของตนเอง โครงการสำคัญอันดับแรกที่ให้ความช่วยเหลือมาตั้งแต่ต้นและใช้งบประมาณมากที่สุดนั้น ได้แก่ โครงการควบคุมไข้มาเลเรีย ส่วนอีกโครงการที่ดำเนินการมาคู่กัน คือการสนับสนุนการศึกษาอบรมทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งบางโครงการเกิดขึ้นก่อนสัญญาความช่วยเหลือด้วยซ้ำและถือว่าเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องกับมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ที่ดำเนินการปรับปรุงการแพทย์มาก่อนหน้า โดยใช้วิธีการเดียวกัน คือ ให้มีอาจารย์แพทย์จากสหรัฐอเมริกามาช่วยสอนและปรับปรุงการเรียนการสอนและฝึกหัดบุคลากรสำหรับดำเนินการแต่ละสาขาในระยะยาว มีข้อสังเกตว่าส่วนใหญ่ความช่วยเหลือก่อนหน้านี้จะเน้นด้านการแพทย์เป็นสำคัญ
ในขณะที่ โครงการพัฒนาอนามัยท้องถิ่น (Local Health Development) เพิ่งเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2499 จากการรวม 4 โครงการด้านสาธารณสุขเข้ามาไว้ดำเนินการร่วมกัน โดยมีเป้าหมายชัดเจน เพื่อพัฒนาการอนามัยในชุมชนชนบทด้วยแนวคิดการพึ่งตนเองที่ดำเนินการโดยได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก ระหว่าง พ.ศ. 2493-2500 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 128,800 เหรียญสหรัฐ เป็นโครงการที่มียอดงบประมาณ ลำดับที่ 13 ในทั้งหมด 19 โครงการสำคัญ[2] แสดงให้เห็นว่าโครงการการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพในชนบทไทยเริ่มมีปรากฏบ้างแล้ว
โครงการพัฒนาอนามัยท้องถิ่น ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการทำงานด้านสาธารณสุขที่มีเป้าหมายมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาชนบทด้านสุขภาพอนามัยให้เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างแท้จริง และมีวิธีคิดและการดำเนินงานที่เน้นการร่วมกันพัฒนาให้ประชาชนพึ่งตนเองด้านสุขภาพจากการหนุนเสริมจากภายนอก อันเป็นแนวคิดการพัฒนาชนบทที่ถูกนำมาใช้ในการคิดและทำงานพัฒนาด้านสาธารณสุขต่อมาอีกยาวนาน การดำเนินงานตามโครงการนี้ ระยะ 3 ปีแรก เป็นการโครงการนำร่องด้วยการพัฒนาเทคนิควิธีการสำหรับขยายหรือปรับปรุงระบบบริการสุขภาพในท้องถิ่นชนบท ซึ่งถ้าโครงการนำร่องประสบความสำเร็จจะนำไปสู่การขยายการจัดระบบบริการสุขภาพที่ดีขึ้นทั่วราชอาณาจักรต่อไปในโอกาสข้างหน้า โดยโครงการนำร่องเกิดขึ้นที่หมู่บ้านใน จังหวัดนครราชสีมา และภูเก็ต กิจกรรมในชุมชน แบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ การให้การสุขศึกษาหรือการให้ความรู้ด้านสุขภาพกับชาวบ้านในชุมชนผ่านสื่อ ทั้งโปสเตอร์ เอกสารใบปลิว คู่มือ ภาพยนตร์ และการฉายภาพนิ่ง เป็นต้น อีกส่วนเป็นการพัฒนาหมู่บ้านและปรับปรุงระบบสุขาภิบาลและจัดการบ้านเรือนให้ถูกสุขลักษณะ ภายใต้แนวคิดที่ชาวบ้านต้องช่วยตัวเองให้ได้มากที่สุดและมีส่วนร่วมในการคิดวางแผน รวมถึงลงมือพัฒนาด้วยตัวเอง หวังพึ่งความช่วยเหลือจากภายนอกให้น้อยที่สุด ต่อมาเน้นการให้คำแนะนำพัฒนาระบบน้ำดื่มสะอาดด้วยการสร้างระบบประปาหมู่บ้านทุกหมู่บ้านหรือการหาแหล่งน้ำสะอาด และการตั้งกองทุนเพื่อสร้างส้วมให้ได้ตามเป้าหมายครัวเรือนละหลัง ในขณะที่บางพื้นที่อาจจะมีการจัดบริการสุขภาพเสริมเกี่ยวกับอนามัยแม่และเด็ก โภชนาการ และอนามัยโรงเรียน โดยพยายามสร้างศูนย์ผดุงครรภ์ให้กลายเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา[3]
หากพิจารณาจากแผนการปฏิบัติงานด้านโภชนาการของประเทศไทยในช่วงปลายทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา พบว่า การให้ความสำคัญกับแผนงานโภชนาการอาจยังมีไม่มากนัก จากแผนการปฏิบัติงานของกรมสาธารณสุขโครงการ 5 ปี พ.ศ. 2495-2499 ที่มี 13 โครงการกิจกรรมปรากฏว่ารวมยอดงบประมาณแล้วการส่งเสริมโภชนาการอยู่ ลำดับที่ 12 มียอดงบประมาณมากกว่าการสถิติพยากรณ์ชีพแค่โครงการเดียว แม้ว่าในแผนงานโครงการต่าง ๆ จะมีเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศด้วยแต่ก็ยังไม่มากเพราะยังไม่ใช่แผนงานสำคัญ[4] ยิ่งถ้าเทียบกับแผนการปฏิบัติงานด้านโภชนาการที่เน้นการลงไปปฏิบัติงานในภาคชนบทมากขึ้นในทศวรรษต่อมาแล้ว จะเห็นได้ว่าการให้ความสำคัญจากงบประมาณที่จัดสรรลงไปมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ทั้งงบประมาณที่อยู่ในแผนงานโภชนาการชนบทโดยตรง และแผนงานพัฒนาอนามัยชนบทอื่น ๆ
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจจากการช่วยเหลือของต่างประเทศในทศวรรษ 2490 ได้ส่งผลกระทบถึงการดำเนินแผนงานและนโยบายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินส่งเสริมสุขภาพในชนบท จากเดิมที่เน้นการรณรงค์ด้วยสื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ด้วยการสนับสนุนเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ บุคลากรและแผนปฏิบัติงานในท้องที่ชุมชนชนบทอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้การมีเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์รวมทั้งยานพาหนะจากความช่วยเหลือทำให้การดำเนินงานด้านสุขภาพในท้องถิ่นสามารถขยายการปฏิบัติได้ขว้างขวางขึ้น ทั้งเชิงของแผนงานที่หลากหลายและพื้นที่ในชนบท ซึ่งมีผลอย่างมากในการดำเนินงานเปลี่ยนแปลงโภชนาการใหม่ในชนบทในทศวรรษ 2500 ต่อมา ซึ่งเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2490 ทางสหรัฐอเมริกาและองค์การระหว่างประเทศของสหประชาชาติต่างก็เริ่มเน้นไปที่โครงการพัฒนาในชนบท รวมทั้งการพัฒนาสุขภาพอนามัยท้องถิ่นในชนบท[5] ดังจะกล่าวถึงในประเด็นถัดไป
โครงการโภชนาการชนบทจุดเริ่มต้นบูรณาการการปฏิบัติโครงการอนามัยชนบท
โครงการโภชนาการชนบท ได้เริ่มต้นขึ้นในราวเดือนกันยายน พ.ศ. 2503 ก่อนการสำรวจภาวะโภชนาการเริ่มต้น ในวันที่ 10 ตุลาคม ปีเดียวกันนี้ไม่นานที่ต่อมาเป็นข้อมูลป้อนกลับสำคัญสำหรับปรับปรุงสุขภาพของชาวบ้าน โดยระบุเลือกจังหวัดอุบลราชธานี “เพราะเป็นท้องถิ่นที่มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อยู่มากแล้ว ตัวเลขข้อมูลเกี่ยวกับภาวะโภชนาการและโรคขาดธาตุอาหารต่าง ๆ ก็ได้รวบรวมไว้บ้างแล้ว”[6] ซึ่งโครงการนี้ได้รับการริเริ่มและสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศ 3 องค์กร คือ กองทุนสำหรับเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและเกษตร (FAO) ซึ่งได้กำหนดกิจกรรมสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเรียกว่า Applied Nutrition Project (ANP) โดยมี มิสแอนเดอร์สัน (M. M. Anderson) เจ้าหน้าที่จากองค์การอาหารและเกษตรฯ ที่ถูกส่งมาช่วยปฏิบัติงานในประเทศไทยได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและร่วมกับกองส่งเสริมอาหารร่างโครงการชื่อว่า “โครงการโภชนาการชนบท” โดยได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการ เงินทุนสนับสนุน วัสดุในการปฏิบัติงานและยานพาหนะจากองค์การสหประชาชาติทั้งสามดังกล่าว[7]
ต่อมา วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2504 องค์การระหว่างประเทศ คือ กองทุนสำหรับเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) องค์การอาหารและเกษตร (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ลงนามในข้อผูกพันร่วมกันในโครงการนี้กับรัฐบาลไทยที่มีหน่วยงานผู้รับผิดชอบคือ 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ มหาดไทย เกษตร ศึกษาธิการ และสาธารณสุข เน้นการทำงานร่วมกันในการพัฒนาชนบทอย่างรอบด้าน โดยมีวัตถุประสงค์ “เพื่อต่อต้านการขาดอาหารและยกระดับโภชนาการทั่ว ๆ ไปให้สูงขึ้น” ทั่วประเทศ โดยเริ่มโครงการขั้นทดลองใน 10 หมู่บ้านของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นการทดลองขั้นแรกเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อหาความชำนาญในการที่จะขยายโครงการให้กว้างขวางต่อไป และได้ทำพิธีเปิดการอบรมครั้งแรกตามโครงการนี้ขึ้น เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2504 แนวทางการดำเนินงานในท้องถิ่นที่สำคัญ คือ เพิ่มผลิตผลทางอาหาร ให้การศึกษาแก่ประชาชนด้านโภชนาการ ศึกษาเรื่องโรคขาดธาตุอาหารและวิธีการควบคุม ส่งเสริมและปรับปรุงอุปกรณ์การศึกษาและจัดเลี้ยงอาหารในโรงเรียน และการดำเนินการผ่านกลุ่มเกษตรกร กลุ่มสตรีในด้านการปรับปรุงโภชนาการในชุมชนชนบท โดยโครงการที่จังหวัดอุบลราชธานีมีกำหนดระยะทดลองไว้ 2 ปี[8] ซึ่งปรากฏว่าโครงการนี้ได้ประสบความสำเร็จอย่างมากและกลายเป็นตัวแบบสำคัญของการดำเนินการโครงการอนามัยชนบทของไทยต่อมาอีกหลายทศวรรษ
แผนการดำเนินงานในระยะแรกเน้นการอบรมบุคคลในแขนงต่าง ๆ สำหรับช่วยในการรวบรวมข้อมูลและดำเนินงานในท้องถิ่น ได้แก่
1. การอบรมปฐมนิเทศแก่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้บริหาร อาทิ นายอำเภอ ศึกษาธิการอำเภอ อนามัยอำเภอ พัฒนากร พัฒนานิเทศ ฯลฯ
2. อบรมครูประชาบาลในโรงเรียนจากหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการ
3. การอบรมเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์และผู้ตรวจการนางสงเคราะห์จาก 10 หมู่บ้านที่ร่วมโครงการ
4. การอบรมเจ้าหน้าที่ทางวิชาการประกอบด้วย พัฒนากร พนักงานกสิกรรม เจ้าหน้าที่วิทยาลัยครูชนบท และเจ้าหน้าที่ศูนย์อนามัยอำเภอ
โดยเนื้อหาวิชาที่อบรมได้แก่ อาหารและโภชนาการ การกสิกรรม การปศุสัตว์ การประมง คหกรรมศาสตร์ การพัฒนาท้องถิ่น วิธีการปฏิบัติงานในท้องถิ่น[9]
การดำเนินงานในขั้นตอนที่สองก็คือการสำรวจภาวะโภชนาการและการเกษตรในชุมชนหมู่บ้าน ทั้ง 10 หมู่บ้าน เพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่จะนำไปสู่การหาทางจัดการแก้ไขสองด้าน คือ ด้านโภชนาการ เพื่อศึกษาถึงคุณภาพและปริมาณอาหารที่ราษฎรในท้องถิ่นรับเป็นประจำ ขนบธรรมเนียมประเพณี บริโภคนิสัย ฐานะทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ การตรวจสุขภาพทางการแพทย์ การตรวจทางชีวเคมี การตรวจสุขภาพราษฎร ทั้งหมด 5,465 คน รวมทั้งเด็กอ่อนอายุตั้งแต่ 5 ปี ลงมาจำนวน 610 คนด้วยโดยให้ความสำคัญพิเศษกับหญิงมีครรภ์และแม่ลูกอ่อน ผลการสำรวจ ขาดวิตามิน เอ บีหนึ่ง บีสอง ไขมัน แคลเซี่ยม และโปรตีน ส่วนอีกด้านคือการเกษตรนั้นมีเพื่อหาแนวทางในการเพิ่มผลผลิตทางอาหารเพื่อปรับปรุงภาวะโภชนาการต่อไป
ขั้นตอนต่อจากนั้นคือการปฏิบัติงานเพื่อปรับปรุงภาวะโภชนาการระดับท้องถิ่นเริ่มหลังจากที่ได้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ แล้วแบ่งเป็นกิจกรรมสำคัญ ได้แก่[10]
1. การประชุม เกี่ยวกับการวางแผนการดำเนินงาน ความก้าวหน้าของงาน ตลอดจนทบทวนอุปสรรคที่พบ ทั้งในส่วนกลางที่ทำหน้าที่สนับสนุนโดยคณะกรรมการโภชนาการแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางสนับสนุนโครงการตามความจำเป็น โดยเฉพาะด้านสื่อ เอกสาร ภาพโฆษณาต่าง ๆ ที่ต้องใช้อบรมเผยแพร่ ส่วนระดับจังหวัดประชุมเพื่ออำนวยการ เดือนละ 2 ครั้ง ระดับหมู่บ้านมีทั้งการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่เพื่อประสานความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงาน และมีการประชุมชาวบ้านเพื่อชี้แจงเรื่องต่าง ๆ ในการดำเนินงานตามสมควร
2. การดำเนินงานด้านสาธารณสุข กองโภชนาการส่งนายแพทย์ 1 คน และโภชนากร 2 คน ไปประจำอยู่แผนกอนามัยจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานฝ่ายต่าง ๆ ของโครงการและลงปฏิบัติงานในพื้นที่ แนะนำสาธิตหลักการหุงต้มให้ถูกหลักโภชนาการ สาธิตวิธีเพิ่มคุณค่าของข้าวเหนียวโดยใช้ถั่วเขียว ให้โภชนศึกษาและสาธิตการจัดอาหารแก่นักเรียนโดยร่วมกับผดุงครรภ์ดำเนินการเลี้ยงอาหารกลางวันนักเรียนรวมทั้งเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามผลงานเป็นครั้งคราว ขณะเดียวกันแผนกอนามัยจังหวัดอุบลราชธานีมีหน้าที่อำนวยความสะดวกและประสานงานโครงการ สำรวจโรคพยาธิ์และให้การรักษา สร้างสำนักงานผดุงครรภ์ 7 แห่ง ในหมู่บ้านที่อยู่ในโครงการ 10 แห่ง สร้างส้วม บ่อน้ำ และให้เจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่น
3. การดำเนินงานด้านเกษตร ชี้แจงแนะราษฎรเกี่ยวกับการเพิ่มผลผลิตทางอาหารด้วยการปลูกพืชหมุนเวียนนอกฤดูทำนา การหาทางส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และแจกจ่ายพันธุ์ปลา พันธุ์ไก่ แก่โรงเรียนให้เลี้ยงเป็นการสาธิต
4. การดำเนินการด้านศึกษาธิการ สร้างโรงอาหารให้โรงเรียน 4 แห่ง ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อื่นปรับปรุงโรงเรียนจัดทำการปลูกผักสวนครัวเป็นอาหารกลางวัน
5. การดำเนินงานด้านมหาดไทย ให้พัฒนากรช่วยเหลือในการปฏิบัติงานทุกอย่างในหมู่บ้านและโรงเรียน
6. การผลิตเอกสารและสิ่งพิมพ์เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน มีการจัดพิมพ์
- คู่มือโภชนาการ เกษตรและอนามัยจัดทำโดยคณะอนุกรรมการสาขาส่งเสริมอาหารและสาขาโภชนศาสตร์ เพื่อเป็นคู่มือแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในระดับหมู่บ้านและมีภาพโฆษณาอาหารหลัก 5 หมู่ด้วย
- ภาพโฆษณาส่งเสริมให้เลี้ยงทารกด้วยน้ำนมแม่ ข้อแนะนำเกี่ยวกับการให้อาหารเพิ่มเติมในระยะหย่านม เอกสารอาหารทารกและเด็กวัยก่อนเรียน ที่จัดทำขึ้นโดยคณะอนุกรรมการสาขาโภชนาการของทารกและเด็กวัยก่อนเรียน
7. การอบรมด้านคหกรรมศาสตร์และการเพิ่มผลิตผลทางอาหาร มีการอบรมในกลุ่มกรรมการหมู่บ้านทั้ง 10 แห่ง อบรมแม่บ้านด้านคหกรรมศาสตร์ อบรมกลุ่มกสิกรชาวนาและกลุ่มครูด้านเพิ่มผลผลิตทางอาหาร
ในการดำเนินงานด้านโภชนาการในชุมชนชนบทในช่วงทศวรรษ 2500 นั้น นางผดุงครรภ์ชั้น 2 ที่รัฐบาลพยายามเพิ่มให้พอจำนวนในทุกตำบลมีบทบาทสำคัญมาก เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่อยู่ใกล้ชิดชาวบ้านมากที่สุด โดยการเพิ่มจำนวนนางผดุงครรภ์ในภาคอีสานได้เริ่มต้นขึ้นพร้อม ๆ กันกับโครงการโภชนาการชนบทในปี พ.ศ. 2503 และมีกองทุนสำหรับเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติสนับสนุนเงินทุนงบประมาณด้วยเช่นกัน ด้วยการให้จัดตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อผลิตนางผดุงครรภ์กระจายให้ครบทุกตำบลโดยเร็ว ตามแผนการหลังจากนางผดุงครรภ์เรียนจบไปประจำที่สำนักงานผดุงครรภ์ชั้น 2 ประจำตำบลแล้ว ทางยูนิเซฟจะช่วยเหลือด้วยการจัดหาเครื่องมือประจำสำนักงานผดุงครรภ์ จักรยานและกระเป๋าคลอดบุตร คนละ 1 ชุด รวมทั้งให้นมผง สบู่ และน้ำมันตับปลา สำหรับแจกจ่ายแก่หญิงมีครรภ์ แม่ลูกอ่อนและเด็กอีกด้วย[12]
ข้อสังเกตสำคัญ คือเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปช่วยเหลือจากภายนอกนั้นมีจำนวนไม่มากนัก แต่ปัจจัยชี้ขาดของความสำเร็จ คือเจ้าหน้าที่ประจำท้องถิ่นที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นประจำอยู่แล้ว เพียงแต่ได้รับการอบรมความรู้ใหม่โดยเฉพาะเพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาโภชนาการอย่างชัดเจน โดยใช้รูปแบบความสำเร็จของสหรัฐอเมริกามาใช้เป็นแนวคิดสำคัญของการดำเนินงาน นั่นคือการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้พอกิน พร้อมกันไปกับการอบรมการจัดการอาหารในครัวเรือนจากความรู้ทางด้านคหกรรมศาสตร์และการมีความรู้การกินให้ถูกหลักโภชนาการใหม่เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีเป็นผลลัพธ์สุดท้ายตามเป้าหมายของโครงการ การจัดการให้โรงเรียนเป็นสถาบันในชุมชนที่สอนเด็กทั้งการทำสวนครัวและการสาธิตทำอาหารกลางวันที่ถูกหลักโภชนาการใหม่ให้นักเรียนได้ลงมือทำและเรียนรู้จากของจริง
รูปแบบโครงการอนามัยชนบทที่นำเข้าและปรับแปลงจากสหรัฐอเมริกามาใช้พัฒนาชนบทไทยในสงครามเย็น
เห็นได้ว่าในทศวรรษ 2500 การวางแผนโครงการและออกแบบการดำเนินงานพัฒนาอย่างเข้มข้นในชนบทหลายโครงการทั้งด้านจิตวิทยา วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ รวมทั้งโครงการอนามัยชนบทที่ดำเนินการควบคู่อยู่กับโครงการโภชนาการชนบทนั้น ได้นำเอาประสบการณ์ต้นแบบการปฏิบัติหรือแผนงานโครงการหลายอย่างที่ประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกามาก่อน แล้วมาใช้ในการดำเนินนโยบายพัฒนาชนบทในประเทศไทย และจากการแนะนำปรึกษาของหน่วยงานพัฒนาของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย เช่น องค์การบริหารเทศกิจแห่งสหรัฐฯ (USOM) และองค์การความช่วยเหลือแห่งสหรัฐฯ (USAID) ดังปรากฏในโครงการพัฒนาการท้องถิ่นแห่งชาติ พ.ศ. 2502-2504 ที่เน้นการเข้ามามีส่วนร่วมของชาวบ้านในชุมชนทุกกลุ่มในโครงการพัฒนาเพื่อปลูกฝังแนวคิดใหม่ ๆ ด้านการพัฒนาท้องถิ่นผ่านการรวมกลุ่มการทำกิจกรรมและการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำและมีส่วนร่วมด้วยตัวเอง ผ่านโครงการที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษกำกับ อาทิ “1) เด็ก-จัดตั้งยุวกสิกร (4-H Club)[13]ขึ้นในหมู่บ้าน '2) สตรีจัดตั้งสมาคมสตรีชนบทขึ้น ...4) จัดตั้งกลุ่มชาวนา (Farmer’s Club) นำโครงการส่งเสริมเกษตรกรรม (Extension Service) เข้าไปเผยแพร่” ซึ่งเป็นแนวทางที่ประสงค์จะให้ประชาชนในท้องถิ่นที่มีเวลาว่างใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและรู้จักปรับปรุงคุณภาพการดำเนินชีวิตให้ดีขึ้น[14] นั่นเอง
ในส่วนของการดำเนินกิจกรรมโครงการโภชนาการชนบทนั้น ก็ได้เอาบทเรียนแห่งความสำเร็จจากการดำเนินงานปรับปรุงส่งเสริมด้านโภชนาการใหม่ในสหรัฐอเมริกามาก่อน ตัวอย่างเช่น โครงการอาหารกลางวัน (School Lunch Program) ที่ใช้แก้ปัญหาการขาดสารอาหารในกลุ่มนักเรียนที่ยากจนด้วยการจัดโครงการอาหารกลางวันฟรีโดยรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าจ่ายที่ทำสำเร็จในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1910-1920 ซึ่งนอกจากจะเลี้ยงอาหารที่ถูกหลักโภชนาการใหม่ให้นักเรียนกินแล้ว ยังเป็นกลไกสำคัญในการสอนโภชนาการใหม่ไปยังนักเรียนและผู้ปกครองด้วย[15]ในขณะที่การส่งเสริมการเกษตรแผนใหม่ในชุมชนเพื่อผลิตอาหารขึ้นบริโภคนั้น ก็อาศัยการดำเนินโครงการปรับปรุงการเกษตรและโภชนาการในชนบทของสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1920-1950 ในโครงการที่ชื่อว่า “การขยายการเกษตร” (Agricultural Extension Service) ที่อาศัยการดำเนินงานทางคหกรรมศาสตร์ผ่านบทบาทของสถานศึกษาระดับวิทยาลัยในท้องถิ่น (กรณีของโครงการอุบลฯ มีอาจารย์จากวิทยาลัยครูท้องถิ่นเข้าร่วมด้วย) คหกร พัฒนากร นักการเกษตรจากกระทรวงเกษตรที่เข้าไปมีบทบาทส่งเสริมการเกษตรแผนใหม่และก่อตั้งกลุ่มยุวกสิกร (รูปแบบเดียวกับ 4-H Club ในสหรัฐอเมริกา) และกลุ่มแม่บ้าน เป็นต้น[16] นอกจากนี้ยังมีโครงการปรับปรุงภาวะโภชนาการในครอบครัวของคนผิวดำในชนบท ที่อาศัยบทบาทของ คหกร ครู และนักพัฒนาด้านเกษตร ทำงานร่วมกันในการปรับปรุงส่งเสริมอาหารและการกินอยู่ โดยใช้คหกรรมศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่โภชนาการใหม่ไปสู่ครอบครัวชาวผิวดำในชนบทที่ล้าหลังในสังคมอเมริกันเอง[17]
อนามัยชนบท: จุดกำเนิดงานสาธารณสุขมูลฐานและการขยายงานด้านสาธารณสุขในชนบท
ในปลาย พ.ศ. 2506 หลังจากโครงการทดลองโภชนาการชนบทที่จังหวัดอุบลราชธานีได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ “องค์การสงเคราะห์เด็กระหว่างประเทศ (ยูนิเซฟ-ผู้เขียน) ได้ยืนยันในที่ประชุมจังหวัดอุบลราชธานี ยินดีจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป หากทางฝ่ายเราพร้อมที่จะขยายงานออกไปในเขตอื่น”[18] ต่อมาใน พ.ศ. 2508 ปรากฏว่าได้ขยายไปอีก 29 หมู่บ้านในจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนจะขยายไปจัดโครงการในจังหวัดอื่น คือ เชียงใหม่ที่อำเภอสันทรายใน พ.ศ. 2510 โดยมีโครงการเลี้ยงไก่เพิ่มอาหารโปรตีนของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดที่สนับสนุนโดยยูนิเซฟ และปีต่อมาได้ขยายไปที่อำเภอดอยเต่าเรียกชื่อว่า “โครงการดอยเต่า” ที่ประสบความสำเร็จจนเป็นที่กล่าวขวัญและเป็นต้นแบบในการขยายไปสู่จังหวัดอื่นด้วยการจัดให้มีผู้ช่วยฝ่ายผลิตประจำหมู่บ้านจากเกษตรกรในชุมชนที่มาอบรมการผลิตตามเกษตรแผนใหม่ขึ้นเผยแพร่แก่ชาวบ้าน[19] ซึ่งถือได้ว่า “โครงการอุบลฯ” ได้กลายเป็นต้นแบบในการทำงานเผยแพร่โภชนาการใหม่ในชนบทของประเทศไทยทั่วประเทศ
ผลของโครงการอุบลนอกจากเป็นต้นแบบของการพัฒนาแบบบูรณาการด้านสุขภาพอนามัยในชุมชนสำหรับการขยายงานให้กว้างขวางขึ้นได้ในชนบททั่วประเทศแล้ว ยังพบว่าปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่การมีส่วนร่วมของเจ้าของชุมชนเองและกลายเป็นรูปแบบใหม่ของการแก้ปัญหาด้านสุขภาพอนามัยในชนบทอย่างเชื่อมโยง อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ โครงการอุบลฯ ได้ก่อให้เกิดการศึกษาวิจัยการค้นพบรูปแบบวิธีการแก้ปัญหาด้านโภชนาการแนวทางใหม่ หรือมีนวัตกรรมเกิดขึ้นจากการทำงานอย่างยาวนานในพื้นที่โภชนาการชนบทในจังหวัดอุบลราชธานีจำนวนมาก ตัวอย่าง เช่น ผลงานวิจัยที่ทำอย่างต่อเนื่องและครบวงจร เรื่องการศึกษารูปแบบเพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการในทารกและเด็กวัยก่อนเรียนในชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือผลการวิจัยครั้งนี้ช่วยให้ภาวะทุพโภชนาการระยะรุนแรงลดลงจาก ร้อยละ 40 เป็น ร้อยละ 20 และที่สำคัญได้มีการคิดค้นสูตรอาหารเสริมที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ได้แก่ ข้าว ถั่ว และงา เพื่อนำไปเลี้ยงเด็กจนสามารถให้ท้องถิ่นเป็นผู้แก้ปัญหาทุพโภชนาการเองได้[20]
กล่าวได้ว่าโครงการโภชนาการชนบทที่จังหวัดอุบลราชธานี หรือ “โครงการอุบลฯ” ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนามัยชนบท ถือเป็นต้นกำเนิดของการพัฒนาสาธารณสุขในชนบทอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นแบบแผนที่ได้รับการพัฒนาและสืบทอดมาในการทำงานพัฒนาสาธารณสุขในชนบทต่อมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นรูปแบบที่ขยายตัวอย่างชัดเจนเต็มตัวในโครงการสาธารณสุขมูลฐานในต้นทศวรรษ 2520 ซึ่งอาศัยประสบการณ์การเริ่มต้นงานพัฒนาชนบทของโครงการอุบลเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินงาน โดยเฉพาะงานด้านโภชนาการที่ได้รับการพัฒนาจนประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจอย่างมากในงานสาธารณสุขมูลฐานต่อมาด้วย
บรรณานุกรม
คณะอนุกรรมการสาขาส่งเสริมอาหาร และคณะอนุกรรมการสาขาโภชนศาสตร์ในคณะกรรมการโภชนาการแห่งชาติ. 2505. คู่มือโภชนาการ เกษตร และอนามัย. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
ชาติชาย มุกสง. 2559. “การเมืองเรื่องการพัฒนา”: นโยบายโภชนาการชนบทกับการรุกคืบของรัฐในการพัฒนาสุขภาพชาวบ้านในชุมชนยุคสงครามเย็น”. วารสารประวัติศาสตร์. ปีที่ 40 (สิงหาคม 2558-กรกฎาคม 2559): 25-76.
อุทัย พิศลยบุตร. 2540. “วิวัฒนาการของงานโภชนาการในแผนงานสาธารณสุขของประเทศไทย 2469-2533.” ใน อนุสรณ์พิธีพระราชทานเพลิงศพ นายอุทัย พิศลยบุตร. ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันที่ 4 พฤศจิกายน 2540.
เชิงอรรถ
[1] Robert L. Zobel, Assistance to Public Health in Thailand, (Bangkok: United States Operation Mission in Thailand, 1958), p. 1.
[2] Ibid, และดูตารางหน้า 3 ประกอบ.
[3] Ibid, pp. 14-15.
[4] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, (3) สร. 0201.62/27 ปึก 3 เรื่องโครงการและการปฏิบัติงานกระทรวงสาธารณสุข (25 ก.ย. 2493-9 ก.ย.2496).
[5]ชาติชาย มุกสง, 2559. “การเมืองเรื่องการพัฒนา”: นโยบายโภชนาการชนบทกับการรุกคืบของรัฐในการพัฒนาสุขภาพชาวบ้านในชุมชนยุคสงครามเย็น,” วารสารประวัติศาสตร์. ปีที่ 40 (สิงหาคม 2558-กรกฎาคม 2559): 61-62.
[6]หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, (2) สธ. 2.1/ 3 ขอเชิญประชุมคณะกรรมการโภชนาการแห่งชาติ ณ ห้องประชุมกระทรวงสาธารณสุข (3 ตุลาคม 2503).
[7]อุทัย พิศลยบุตร, 2540. “วิวัฒนาการของงานโภชนาการในแผนงานสาธารณสุขของประเทศไทย 2469-2533,” ใน อนุสรณ์พิธีพระราชทานเพลิงศพ นายอุทัย พิศลยบุตร. ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันที่ 4 พฤศจิกายน 2540. หน้า 18.
[8]หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, (2) สธ. 2.1/ 3 ขอเชิญประชุมคณะกรรมการโภชนาการแห่งชาติ ณ ห้องประชุมกระทรวงสาธารณสุข (3 ตุลาคม 2503); หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, (2) สธ. 2.1/ 4 การประชุมคณะกรรมการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2506/6 (24 ตุลาคม 2506) ภายใต้หัวข้อเอกสาร ผลการดำเนินงานโครงการโภชนาการชนบท จังหวัดอุบลราชธานี.
[9]หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, (2) สธ. 2.1/ 4 การประชุมคณะกรรมการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2506/6 (24 ตุลาคม 2506) ภายใต้หัวข้อเอกสาร ผลการดำเนินงานโครงการโภชนาการชนบท จังหวัดอุบลราชธานี.
[10] เรื่องเดียวกัน.
[11]หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, (2) สธ. 2.1/ 4 การประชุมคณะกรรมการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2506/6 (24 ตุลาคม 2506) ภายใต้หัวข้อเอกสาร ผลการดำเนินงานโครงการโภชนาการชนบท จังหวัดอุบลราชธานี.
[12]หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, สบ. 5.1.1.2/18 เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ (พ.ศ. 2502) เรื่องการจัดตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์ขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น.
[13] 4-H club คือโครงการอบรมพัฒนาทักษะเยาวชนใน 4 ด้านคือ Head Heart Hands and Health กำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1902 ที่เมืองคลาร์กเคาน์ตี้ โอไฮโอ ที่รู้จักกันในนาม The Tomato Club หรือ Corn Growing Club ที่มีเป้าหมายให้เยาวชนรวมกลุ่มกันฝึกหัดการทำการเกษตร เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการทำงานและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในหมู่เด็กและเยาวชน รวมทั้งเป็นการสร้างทัศนคติการปรับปรุงคุณภาพชีวิตตั้งแต่เด็กอีกด้วย
[14]หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, สบ.5.1.1.2/19 เรื่องการปรับปรุงงานพัฒนาการท้องถิ่น โครงการพัฒนาการท้องถิ่นแห่งชาติ พ.ศ. 2502-2504 (พ.ศ. 2502-2504).
[15] Harvey A. Levenstein, 2003. Revolution at the Table: The Transformation of the American Diet, Berkeley and Los Angles: University of California Press, pp. 116-120.
[16] Ibid, pp. 178-182.
[17]กรุณาดู Carmen Harris, 1997. “Grace under Pressure: The Black Home Extension Service in South Carolina, 1919-1966”, pp. 203-229, in Sarah Stage and Virginia Vincenti (eds.), Rethinking Home Economics: Women and the History of a Professional. Ithaca, New York: Cornell university Press.
[18]หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, (2) สธ. 2.1/5 การประชุมคณะกรรมการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่2/2506/7 ณ ห้องประชุมกระทรวงสาธารณสุข (31 ตุลาคม 2506).
[19]อุทัย พิศลยบุตร, 2540. “วิวัฒนาการของงานโภชนาการในแผนงานสาธารณสุขของประเทศไทย 2469-2533”, หน้า 19.
[20]อาจารย์อารี @ 80: หนึ่งในความพยายามจัดการความรู้เพื่อชีวิต. (หนังสืออนุสรณ์เนื่องในวาระครบรอบ 80 ปี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี 20 ตุลาคม 2548).