หลวงวิเชียรแพทยาคม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:03, 21 มิถุนายน 2567 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย มุกสง และปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

 

          หลวงวิเชียรแพทยาคม หรือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หลวงวิเชียรแพทยาคม (เถียร ตูวิเชียร) นายแพทย์จิตเวชคนแรกของไทย เป็นผู้วางรากฐานงานด้านจิตเวชในประเทศไทย ทั้งด้านการสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ การวางระบบพยาบาลรักษาผู้ป่วยจิตเวช รวมถึงพัฒนาบุคลากรต่าง ๆ

 

ประวัติและการศึกษา

          เถียร ตูวิเชียร บ้านเดิมเป็นคนอำเภอบ้านแหลมเมืองเพชรบุรี เกิดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2440 บิดามารดาชื่อนายต้อยและนางยิ่ม ตูวิเชียร เป็นบุตรคนสุดท้อง เมื่ออายุ 10 ปี เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ อาศัยอยู่วัดพิชัยญาติ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2455 อายุ 15 ปี สอบเข้าเป็นนักเรียนแพทย์ย่านวังหลังในโรงเรียนราชแพทยาลัย ได้เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลใช้เวลาเรียน 5 ปี ตามหลักสูตรใหม่จนจบเป็นแพทย์ประกาศนียบัตรแผนปัจจุบัน รุ่นที่ 22 ใน พ.ศ. 2459[1]

          หลังเรียนจบเข้ารับราชการแพทย์สัญญาบัตรในตำแหน่งแพทย์ป้องกันโรคร้าย กรมสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2459 และได้หมุนเวียนไปทำหน้าที่แพทย์ในหน่วยงานป้องกันโรคและโรงพยาบาลในการดูแลของกรมสุขาภิบาล รวมทั้งโรงพยาบาลโรคจิตด้วย จนต่อมา ในวันที่ 1 สิงหาคม 2468 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการคนไทยคนแรกของโรงพยาบาลคนเสียจริต ปากคลองสาน โดยรัฐบาลสยามในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปรับปรุงแผนงานบริหาร จากเดิมที่เน้นผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติในรัชกาลก่อนมาเป็นใช้บุคลากรในสยามเอง ซึ่งส่งผลต่อการปรับปรุงการแพทย์สยามด้วย โดยได้มีการเลิกจ้างแพทย์ชาวต่างชาติเปลี่ยนมาใช้คนสยามเอง หลวงวิเชียรแพทยาคมจึงเข้ามารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชแทนชาวตะวันตกเดิม

          ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ส่งจดหมายถึงมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ให้เข้ามาช่วยปรับปรุงการแพทย์ในสยาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 การเข้ามาสนับสนุนการแพทย์สยามของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์จึงอำนวยผลแก่ เถียร ตูวิเชียร ให้ได้ทุนการศึกษาเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2472 ในวิชาทางจิตเวชเป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะสำเร็จกลับมาดำรงตำแหน่งผู้อำนายการโรงพยาบาลคนเสียจริตตามเดิม และนับเป็นปฐมบุรุษผู้สำเร็จปริญญาในศาสตร์นี้[2] เมื่อกลับสู่สยาม เถียร ตูวิเชียร หรือหลวงวิเชียรแพทยาคม จึงได้ใช้ความรู้ที่เล่าเรียนจากต่างแดนเป็นฐานในการปรับปรุงการแพทย์ด้านจิตเวช และเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ ๆ แก่สังคมไทย

 

การดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชในสังคมไทย และการสาธารณสุขในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

          สังคมไทยในอดีตมองคนบ้าเป็นผู้ที่อยู่นอกออกไปจากสังคม ดังเช่น ที่มีปรากฏในกฎหมายตราสามดวง[3] นอกจากนี้ในความสัมพันธ์ทางสังคมนั้นกฎหมายได้กำหนดสถานะของคนบ้าให้มีสภาพของบุคคลไม่เต็มคน จึงไม่สามารถอ้างเอา “คนเปนพิกลจริต” เป็นพยานได้ตามกฎหมาย “พระไอยการลักษณภญาณ”[4] และเมื่อกระทำผิดก็ไม่ต้องรับโทษเท่าคนปกติ เพียงแต่ญาติพี่น้องคนบ้าต้องควบคุมดูแลให้ดีไม่ให้ไปก่อความเสียหายขึ้นเท่านั้นเอง ดังกฎหมายลักษณะวิวาทด่าตีที่ว่า

         "มาตราหนึ่ง คนบ้าเข้าบ้านเรือนท่านตีฟันแทงคนดีตายจะไหมบ้าไซ้ ท่านว่ามิชอบ เพราะว่าบ้าหาตำแหน่งแห่งสัจมิได้ ท่านว่าให้พ่อแม่ พี่น้องเผ่าพันธุ์บ้าใช้กึ่งเบี้ยปลูกตัวผู้ตาย ให้เวนบ้านั้นไปให้แก่พ่อแม่พี่ น้องเผ่าพันธุ์บ้านั้นจึ่งชอบ ถ้ามันตีบาดเจบไซ้หาโทษมิได้ ถ้าที่เป็น ที่ไร่นาป่าดงพงแขม เปนที่อยู่แห่งคนผู้สูงอายุศม์แลคนพิกลจริตบ้าใบ้ ผู้ใดเข้าไปในที่มันอยู่มันฟันแทงมีบาทเจบแลตายก็ดี ถ้าพบปะมัน กลางถนนหนทางมิได้หลีกแลมันฟันแทงบาทเจบถึงตายก็ดีจะเอา โทษแก่มันมิได้เลย ให้โฆษนาแก่นครบาล ให้จับเอาตัวมันจำจองไว้กว่าจะสิ้นกำม์"[5]

          ฉะนั้นแล้วคนบ้าในสยามจึงไม่มีสิทธิเสียงอะไรในสังคมหรือแม้กระทั่งต่อตัวเองและทรัพย์สินของตน สะท้อนให้เห็นความรู้ความเข้าใจต่อการเจ็บป่วยทางจิตของสังคมสยามก่อนการแพทย์สมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี

          ต่อมาหลังรัฐบาลสยามได้มีการจัดตั้งกรมพยาบาลเพื่อจัดการในการสร้างโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ขึ้นรวมไปถึงการสร้างโรงพยาบาลคนเสียจริตใน พ.ศ. 2432 ด้วย โดยโรงพยาบาลแห่งนี้อยู่ใต้กำกับดูแลของแพทย์ชาวต่างชาติ โรงพยาบาลดูแลคนเสียจริตปากคลองสานหรือต่อมาคือ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เป็นสถาบันทางสังคมที่มีพื้นฐานอยู่กับแนวคิดของการแพทย์จิตเวชสมัยใหม่ ทำหน้าที่ดูแลคนบ้าที่เปลี่ยนฐานะไปเป็นคนไข้ที่ต้องทำการรักษา โดยการดูแลรักษาคนไข้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก่อนมีโรงพยาบาลเป็นการดูแลคนป่วยแบบพื้นบ้าน (Traditional Care) เมื่อมีโรงพยาบาลก็เปลี่ยนมาเป็นแบบกักขัง (Custodial Care) ในระยะแรก ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็นการดูแลแบบโรงพยาบาล (Hospital Care) โดยเฉพาะการบำบัดเชิงศีลธรรม (Moral treatment) ที่ไม่เน้นการควบคุมทางร่างกาย แต่เน้นการรักษาด้านจิตใจ โดยวิธีการที่นำมาใช้ให้มีความปลอดภัยสูงสุดมีทั้งการเฝ้าสนใจจับตาอย่างระแวดระวัง การสร้างระบอบของการมีวินัยในการทำงานและการออกกำลังกายที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นจิตใจ ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้าและส่งเสริมให้ควบคุมตนเอง วิธีการบำบัดด้วยการทำงาน (work therapy) ก่อให้เกิดการทำสวนและการเกษตรในโรงพยาบาล หรือเรียกว่าใช้วิธีการอุตสาหกรรมบำบัด (ปัจจุบันเรียกว่า อาชีวบำบัด) ด้วยการให้ผู้ป่วยทำงานฝึกอาชีพจำพวกหัตถกรรมพื้นบ้าน ประเภท ทอเสื่อและสานปุ้งกี๋ อันเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน[6]

          จะเห็นได้ว่ารัฐบาลสยามพยายามปรับปรุงการรักษาจิตเวชมาอย่างต่อเนื่อง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้มีการปรับปรุงเช่นกัน โดยในรัชกาลของพระองค์มีการขยายแบบงานแพทย์ต่าง ๆ มากขึ้น เป็นต้นว่าใน พ.ศ. 2468 มีการปรับปรุงการสาธารณสุข โดยจัดตั้งกรมกองภายในกรมสาธารณสุข มีทั้งหมด 11 กอง ประกอบด้วย

          1. กองบัญชาการ

          2. กองที่ปฤกษา

          3. กองบรรณาธิการ

          4. กองการเงิน

          5. กองยาเสพติดให้โทษ

          6. กองโอสถศาลารัฐบาล

          7. กองสุขภาพ (มีแผนกตรวจการและสถิติและกองตรวจการและท่องเที่ยว)

          8. กองบุราภิบาล

          9. กองวิศวกรรม

          10. กองแพทย์สุขาภิบาลแห่งพระนคร

          11. กองส่งเสริมสุขาภิบาล

          ต่อมาใน พ.ศ. 2470 ได้มีการตั้งสภาการสาธารณสุขประจำชาติ เพื่อเป็นสภาปรึกษาการสาธารณสุขของรัฐบาล ครั้น พ.ศ. 2472 รัฐบาลสยามได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อการดูแลผู้บาดเจ็บและป่วยไข้ในกองทัพและมีการตั้งกองโรคติดต่อและสถิติเพิ่มเติม เพื่อการควบคุมโรคเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีการตั้งโรงพยาบาลและโอสถสภาตามหัวเมืองใหญ่ต่าง ๆ จำนวนมากในรัชกาลของพระองค์[7]

          ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกรมสาธารณสุข อีกทั้งมีการโอนหน่วยงานการแพทย์ที่แยกกันมารวมกันภายใต้กรมสาธารณสุข โดยมีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนที่สุดภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ มีการแบ่งหน่วยงานต่าง ๆ ภายในเป็น 15 กอง โดยมีหน่วยงานโรงพยาบาลโรคจิตเป็นหนึ่งในนั้นด้วย[8]

         

บทบาทหลวงวิเชียรแพทยาคมกับการปรับปรุงการรักษาจิตเวช และบทบาทในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

          เมื่อแรกเข้ารับตำแหน่งนั้น หลวงวิเชียรแพทยาคม ได้เล่าถึงสภาพการรักษาไว้ว่า เดิมที่โรงพยาบาลจิตเวชของสยามภายใต้การดูแลของ นายแพทย์คาทิวส์ ประสบปัญหาด้านงบประมาณอย่างหนัก ทำให้การปรับปรุงข้าวของเครื่องใช้และสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลเป็นไปอย่างทุลักทุเล กล่าวคือ ไม่สามารถสร้างอาคารถาวรได้ทำได้เพียงอาคารชั้นเดียวขนาวยาวหลังคามุงด้วยสังกะสี มีฝาผนังเป็นลูกกรง เมื่อหลวงวิเชียรแพทยาคมได้เข้ามาดูแล จึงได้มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในโรงพยบาลอย่างรอบด้าน โดยสร้างอาคารผู้ป่วยเพิ่มถึง 4 หลัง สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้นถึง 190 คน และในราวปี พ.ศ. 2475 ได้เปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลจาก “โรงพยาบาลเสียจริต” เป็น “โรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี” แทน

          ในปี พ.ศ. 2476 โรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี ได้ถูกโอนย้ายไปขึ้นอยู่กับกองสาธารณสุข พระนคร ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองรัฐบาลได้มีนโยบายขยายงานสุขภาพจิตไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย มีการสร้างโรงพยาบาลจิตเวชขึ้นในภาคต่าง ๆ ของประเทศ ด้วยความริเริ่มดำเนินการของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หลวงวิเชียรแพทยาคม ที่ต้องการอำนวยความสะดวกในการเข้ารับบริการของผู้ป่วยให้เพียงพอและทั่วถึง โดยดำริให้สร้างที่ภาคใต้และภาคเหนือก่อน โรงพยาบาลโรคจิตแห่งแรกที่เปิดให้บริการในภูมิภาค คือ "โรงพยาบาลโรคจิตภาคใต้" ที่ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ โดยเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2480 และแห่งที่สอง คือ "โรงพยาบาลโรคจิตภาคเหนือ" ที่ อ.เมือง จ.ลำปาง เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2482 ซึ่งต่อมาเห็นว่าที่ตั้งห่างไกลจากชุมชนจึงได้ย้ายไปเปิดที่เชียงใหม่ เป็นโรงพยาบาลสวนปรุงเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2489 

          ต่อมา ในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2482 ได้มีการจัดตั้ง "กองสุขภาพจิต" ขึ้น โดยยังคงสังกัดอยู่ในกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย โดยมี หลวงวิเชียรแพทยาคม เป็นหัวหน้ากองคนแรก สำนักงานตั้งอยู่ที่ โรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี ทำหน้าที่ควบคุมดูแลโรงพยาบาลโรคจิตทั้งหมดทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และแม้ว่าจะมีการสร้างโรงพยาบาลโรคจิตขึ้นในภูมิภาค แต่จำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการยังมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หลวงวิเชียรแพทยาคม จึงได้มอบที่ดินของตน จำนวน 1,067 ไร่ ย่านตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ให้เป็นที่ก่อสร้างโรงพยาบาลโรคจิตแห่งใหม่ ในปี พ.ศ. 2484  เมื่อเริ่มเปิดดำเนินการได้รับโอนผู้ป่วยชายเรื้อรัง จำนวน 150 คน จากโรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี ไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งใหม่ ซึ่งก็คือ “โรงพยาบาลศรีธัญญา” ในปัจจุบัน และได้มีการสร้างโรงพยาบาลโรคจิตขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี พ.ศ. 2489 ได้แก่ โรงพยาบาลโรคจิตต์ ภาคอีสาน จังหวัดอุบลราชธานี หรือโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ในปัจจุบัน[9]

          หลังประกาศตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้น ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2485 โดยหลวงวิเชียรแพทยาคมเป็น 1 ในกรรมการก่อตั้งกระทรวงสาธารณสุขด้วย ได้มีการโอนกองสุขภาพจิตมาสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และเปลี่ยนชื่อเป็นกองโรงพยาบาลโรคจิต โดยหลวงวิเชียรแพทยาคม ก็ได้รับบทบาทใหญ่ โดยให้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ใน พ.ศ. 2485 รวมถึงดำรงตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2485 ถึง วันที่ 7 กันยายน 2487[10]

          นอกจากบทบาทในด้านเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลแล้ว หลวงวิเชียรแพทยาคม ยังมีบทบาทในการนำเสนอความรู้ด้านจิตเวชใหม่ ๆ แก่สังคมสยาม โดยใช้องค์ความรู้จากการเล่าเรียนที่สหรัฐอเมริกามาเผยแพร่ ทั้งการแสดงปาฐกถาที่คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล แก่นักเรียนแพทย์หรือการสอนและบรรยายให้แก่บุคคลต่าง ๆ ในหลายสถานที่ เพื่อสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจใหม่ แก่สังคมไทยต่อผู้ป่วยจิตเวช[11]

          หลวงวิเชียรแพทยาคม มิได้เพียงเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ ๆ ผ่านการบรรยายหรือแสดงปาฐกถาเท่านั้น แต่ยังมีได้ให้บรรยายทางวิทยุ หรือการเขียนหนังสือ เขียนบทความ เผยแพร่ โดยมักสอดแทรกให้สังคมสยามรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้ป่วยและเมตตาต่อผู้ป่วยจิตเวชอยู่เสมอ ผลงานของหลวงวิเชียรแพทยาคม ในด้านสิ่งพิมพ์มีทั้งจิตวิทยาเบื้องต้นและสังคม[12] สุขวิทยาทางจิตต์ และปัญหาเรื่องเด็ก[13] ปาฐกถาพิเศษ ปัญหาเรื่องกิจประจำวันของคนทั่วไป[14] คำบรรยายจิตตวิทยาในการประชุมข้าหลวงประจำจังหวัด พ.ศ. 2484 ณ ทำเนียบวังสวนกุหลาบ[15] ฯลฯ

          การทำงานของหลวงวิเชียรแพทยาคม ทำให้ความรู้ด้านจิตเวชแผ่ขยายในวงกว้าง ใน พ.ศ. 2476 ได้มีการบรรจุวิชาโรคจิตในหลักสูตรนักเรียนแพทย์เป็นครั้งแรก โดยมีหลวงวิเชียรแพทยาคมเป็นผู้สอน ซึ่งทำให้ไม่นาน การแพทย์สยามจึงมีบุคคากรผู้มีความรู้ด้านจิตเวชเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ หลวงวิเชียรแพทยาคม ยังส่งเสริมให้นักเรียนแพทย์รุ่นใหม่ ๆ ได้ไปฝึกอบรมในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เช่น ศาสตราจารย์ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว นายแพทย์ขจร อันตระการ นายแพทย์อารี แสงสว่างวัฒนะ นายแพทย์อรุณ ภาคสุวรรณ์[16] ในช่วงสงครามโลกครั้งที่_2 (พ.ศ. 2484-2488) หลวงวิเชียรแพทยาคมได้รับมอบหมายจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ให้นำเสนอองค์ความรู้ทางจิตเวชในรูปแบบต่าง ๆ เช่น บทความ การพูดทางวิทยุ โดยมีเป้าหมายป้องกันมิให้คนไทยถูกกลืนทางวัฒนธรรมจากการที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศ ทำให้ต่อมาได้เข้ามารับผิดชอบงานทางวัฒนธรรมเป็นสำคัญ

 

งานบริหารราชการอื่น

          หลวงวิเชียรแพทยาคม ได้โอนไปรับราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและออกจากราชการรับบำเหน็จบำนาญ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2487 พร้อม ๆ กันกับการสิ้นอำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นช่วงระหว่างสงครามเข้มข้นมีการทิ้งระเบิดในพระนครจึงได้อพยพครอบครัวหนีภัยทางอากาศไปอยู่ที่ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ที่เป็นภูมิลำเนา

          แต่หลัง จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังรัฐประหาร 2490 หลวงวิเชียรก็ได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งในตำแหน่งศาสตราจารย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ กรมมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข

          จนต่อมาหลังมีการตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นในปี 2495 ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมการวัฒนธรรมอีกตำแหน่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2495 และต่อมา วันที่ 1 ตุลาคม ปีเดียวกัน ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการวัฒนธรรม ก่อนจะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2497 ก่อนจะเกษียณอายุหลังต่ออายุราชการแล้ว 1 ปี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2501 หลังจากมีการยุบกระทรวงวัฒนธรรมในสมัยรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์_ธนะรัชต์[17]

 

บั้นปลายชีวิต หลวงวิเชียรแพทยาคม (เถียร ตูวิเชียร)

          หลวงวิเชียรแพทยาคม ทำงานการแพทย์ด้านจิตเวชให้สังคมไทยมาอย่างยาวนาน ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มาหลากหลาย แต่ที่สำคัญ คือ ผู้มีบทบาทหลักในการปรับปรุงองค์ความรู้ด้านการรักษาผู้ป่วยจิตเวชของสยามให้เป็นสมัยใหม่ ทำให้โรงพยาบาลกลายเป็นสถานรักษา มิใช่สถานกักขังผู้ป่วยแบบการแพทย์เก่า โดยหลังเกษียณอายุราชการท่านก็ยังรับเป็นอาจารย์พิเศษสอนจิตวิทยาให้แก่ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนอายุอยู่ในวัย 71 ปี หลวงวิเชียรแพทยาคมจึงวางมือ และเกษียณตัวเองมาพักผ่อนอย่างสงบ

          แม้หลวงวิเชียรแพทยาคม เริ่มล้มป่วยด้วยโรคเบาหวาน เมื่ออายุได้ 50 ปีเศษ แต่ได้พยายามรักษา และดูแลรักษาสุขภาพมาอย่างดี จนกระทั่งล้มป่วยในวัย 79 ปีเศษ จากโรคมะเร็ง โดยตรวจพบเนื้อร้ายที่ขั้วไตข้างซ้าย แม้จะมีการผ่าตัดดูแลรักษาอย่างดี รวมถึงการพักฟื้นดูแลอาการ แต่เนื้อร้ายก็ลุกลามใหญ่โตจนกระทั่งการแพทย์มิอาจช่วยไว้ได้ หลวงวิเชียรแพทยาคมจึงจากไปอย่างสงบ ในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2520 เวลา 16.30 น. สิริอายุได้ 79 ปี 6 เดือนกับ 10 วัน[18]

 

เชิงอรรถ

[1] วิเชียรแพทยาคม (ม.ป.ท., ม.ป.ป. อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หลวงวิเชียรแพทยาคม), น. ไม่ปรากฏเลขหน้า.

[2] กรมการแพทย์, 100 ปี สุขภาพจิตและจิตเวช พ.ศ. 2432-2532 (กรุงเทพฯ: ธนวิชช์การพิมพ์, 2532), น. 2-3.

[3] กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1 (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2548), น. 297.

[4] ราชบัณฑิตยสถาน, กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 2, 625.

[5] ราชบัณฑิตยสถาน, กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1 (กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550), 237.

[6] ชาติชาย มุกสง, ประวัติศาสตร์สุขภาพและการแพทย์ไทย. (นนทบุรี: มีดี กราฟฟิค, 2564), น. 125-133.

[7] ชาติชาย มุกสง, “การแพทย์และการสาธารณสุขสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2468-2477” (รายงานวิจัยเสนอต่อพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า, 2564), น. 19-27.

[8] เรื่องเดียวกัน, น. 29.

[9] จำลอง ดิษยวณิช, จิตเวชศาสตร์ไทยในอดีต. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. ปีที่ 54 ฉบับผนวก (1 ตุลาคม 2552), น. 6s-8s.

[10] วิเชียรแพทยาคม, น. ไม่ปรากฏเลขหน้า.

[11] กรมการแพทย์, 100 ปี สุขภาพจิตและจิตเวช พ.ศ. 2432-2532, น. 3-4.

[12] หลวงวิเชียรแพทยาคม, จิตวิทยา, พิมพ์ครั้งที่ 3 (พระนคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2506).

[13] หลวงวิเชียรแพทยาคม, สุขวิทยาทางจิตต์ และปัญหาเรื่องเด็ก (พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2480. ร.ต.ทิพย์ ผลโภค และมิตร พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพนางสาวสิน อยู่สุข ณ วัดชิโนรสาราม จังหวัดธนบุรี วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2480).

[14] หลวงวิเชียรแพทยาคม, ปาฐกถาพิเศษ ปัญหาเรื่องกิจประจำวันของคนทั่วไป (พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2475. หม่อมเจ้าธวัชไชย เฉลิมวงษ์ ศรีธวัช ทรงพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพนายพลเรือโท ม.จ. อุปพัทธ์พงษ์ ศรีธวัช ณ วัดเทพศิรินทราวาศ).

[15] หลวงวิเชียรแพทยาคม, คำบรรยายจิตตวิทยา: ในการประชุมข้าหลวงประจำจังหวัด พ.ศ. 2484 ณ ทำเนียบวังสวนกุหลาบ (พระนคร: โรงพิมพ์กรมแผนที่, 2484. พิมพ์แจกในงานศพ คุณแม่ชุ่ม ณ วัดไตรมิตต์วิทยาราม เมื่อ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2484).

[16] กรมการแพทย์, 100 ปี สุขภาพจิตและจิตเวช พ.ศ. 2432-2532, น. 5.

[17] วิเชียรแพทยาคม, น. ไม่ปรากฏเลขหน้า.

[18] วิเชียรแพทยาคม, น. ไม่ปรากฏเลขหน้า.