สมบูรณาญาสิทธิราชย์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:01, 19 มิถุนายน 2567 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (Apirom ย้ายหน้า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ) ไปยัง สมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยไม่สร...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

เรียบเรียงโดย : นายสุรเชษ์ฐ  สุขลาภกิจ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


สมบูรณาญาสิทธิราชย์

          สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นศัพท์การเมืองที่ใช้นิยามการปกครองหรือรูปแบบรัฐไทยก่อนการปฏิวัติ_พ.ศ._2475 เป็นไปได้ว่าศัพท์นี้น่าจะประดิษฐ์ขึ้นใช้หลังการปฏิวัติไม่นาน ความหมายและการใช้ศัพท์นี้ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน ที่สำคัญคือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยกำเนิดขึ้นเมื่อไหร่และสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ รวมถึงคุณูปการของระบอบดังกล่าวก็เป็นปัญหาโต้แย้งเช่นกันด้วย อย่างไรก็ดี ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันแล้วว่าช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยไม่ได้ย้อนกลับไปไกลเกินหน้ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนประเด็นอื่นที่เป็นหัวข้อที่โต้แย้งกันนั้นยังไม่ได้ไปสู่ข้อสรุปร่วมกัน เนื่องจากการตีความบนพื้นฐานอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน

 

ที่มาของคำ นัย และความหมาย

          ไม่มีข้อมูลพอจะระบุได้ชัดว่าศัพท์การเมือง “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” เริ่มใช้ครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไหร่และใครเป็นผู้ผูกศัพท์นี้ขึ้น เท่าที่มีข้อมูล หลังการปฏิวัติใน พ.ศ. 2475 ศัพท์นี้น่าจะค่อยๆ แพร่หลายมากขึ้น เป็นที่ยอมรับ และใช้นิยามระบอบการปกครองก่อนการปฏิวัติ ซึ่งตรงข้ามกับระบอบรัฐธรรมนูญที่สถาปนาขึ้นหลังการปฏิวัติ ศัพท์ที่ใช้กันอยู่ก่อนตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2420 เป็นอย่างช้าและเป็นที่คุ้นเคยกว่าคือ “แอบโสลูดมอนากี” (สะกดต่างกันบ้างในแต่ละที่) ทับศัพท์จากภาษาอังกฤษ ซึ่งในเวลาต่อมาจะถูกบัญญัติเป็น “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” คำนี้ เริ่มปรากฏอยู่ในหนังสือกราบบังคมทูลถวายความเห็นเรื่องจัดการปกครองต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. 2428 โดยเจ้านายและข้าราชการที่ออกไปประจำยุโรปนำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และถูกนิยามไว้ว่าหมายถึง “ประเพณีปัจจุบันนี้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงพระราชวินิจฉัยราชการบ้านเมืองทุกสิ่งไปในพระองค์”[1]

          ในการนิยามระบอบการปกครองก่อน พ.ศ. 2475 เข้ากับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนการปฏิรูประบบราชการและการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางจะสำเร็จนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็มีพระราชดำริทำนองเดียวกัน ในพระราชดำรัสตอบคำกราบบังคมทูลของเจ้านายและข้าราชการข้างต้น ทรงมองพระองค์เองว่าทรง “อำนาจ ซึ่งเรียกว่าแอบโซลูด”[2] หรือใน “พระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน” ที่ทรงแถลงใน พ.ศ. 2430 ก็ทรงระบุว่าถือกันมาแต่เดิมว่ากษัตริย์มีพระบรมราชานุภาพเป็นล้นพ้น “ไม่มีข้อใดสิ่งอันใดหรือผู้ใดจะเป็นผู้บังคับขัดขวางได้”[3] ทว่าพระองค์ไม่ได้แสดงพระราชดำริไว้ชัดเจนว่าในสายพระเนตรนั้น สมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยจะย้อนกลับไปไกลขนาดไหน แต่ก็เป็นที่แน่ชัดพอว่าชนชั้นนำไทยเริ่มนึกถึงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในฐานะระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ยามนั้นแล้ว

          อย่างไรก็ดี การนิยามการปกครองเข้ากับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยชนชั้นนำก็มิได้ปรากฎอย่างตรงไปตรงมามากนัก เป็นไปได้ว่าเนื่องจากแนวคิดทางการเมืองอื่นๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เริ่มแพร่หลายและทำให้ระบอบการเมืองดังกล่าวมีความหมายเป็นลบ เช่น ใน “บันทึกว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ” ที่แสดงความคิดทางการเมืองของ ร.อ. ขุนทวยหารพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) หนึ่งในผู้นำคณะ ร.ศ. 130 ว่า “แอ๊บโซลุ๊ดมอนนากี” หรือ “กระษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย” เป็นการปกครองที่เอื้อให้กษัตริย์ “จะกระทำการชั่วร้ายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ทำได้” โดยไม่ได้คำนึงถึงความเดือนร้อนของประชาชน และเป็นวิธีการปกครองที่จะทำให้ประเทศทรุดโทรมลงโดยเร็วและพบกับความวินาศ[4] ต่างจาก “ลิมิตเต็ดมอนากี” ที่กษัตริย์ต้องอยู่ใต้กฎหมาย และ “รีปัปลิ๊ก” ที่ยกเลิกกษัตริย์ไป

          ชนชั้นนำดูจะตระหนักถึงความหมายด้านลบของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่แพร่ไปและเลี่ยงที่จะนิยามการปกครองให้หมายถึงการทรงอำนาจเด็ดขาดของกษัตริย์ เช่น ในพระปาฐกถาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง “ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ” ใน พ.ศ. 2470 ทรงหันไปชี้ว่าวิธีการปกครองของไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยคือ “บิดาปกครองบุตร (Paternal Government)” ส่วนขนบธรรมเนียม “นายปกครองบ่าว (Autocratic Government)” เป็นอิทธิพลขอมที่รับเข้ามาใช้ในสมัยอยุธยาโดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ[5] หรือใน หลักไทย ของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลพระราชทานใน พ.ศ. 2471 (ตามปฏิทินเดิม) ก็ใช้คำว่า “ประเพณีมีพระมหากษัตริย์ปกครอง” แทน และย้ำว่ากษัตริย์ไทยทรงถือประเพณีอย่างบิดาปกครองบุตร ไม่ใช่อย่างนายปกครองป่าว[6]

          กระทั่งก่อนการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ก็ยังไม่น่าจะถูกบัญญัติขึ้นมาใช้เป็นศัพท์การเมือง ในช่วงนี้ หากไม่ใช้ทับศัพท์จากภาษายุโรปที่เป็นต้นทางก็มักใช้วิธีการแปลความออกเป็นนามวลีที่พอจะครอบคลุมความหมายของศัพท์เดิมได้ ดังในเอกสาร คำอธิบายกฎหมายปกครอง ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เมื่อ พ.ศ. 2474 ใช้คำว่า “รัฐบาลราชาธิปตัยอำนาจไม่จำกัด” โดยให้ความหมายว่า “พระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจทำการใดๆ ได้โดยไม่จำกัด และใช้พระราชอำนาจด้วยพระองค์เอง”[7] ส่วนในสื่อสิ่งพิมพ์สาธารณะยังคงนิยมใช้ทับศัพท์จากภาษาอังกฤษมากกว่า อาทิ กรุงเทพฯ เดลิเมล์ (11 กรกฎาคม พ.ศ. 2465) ใช้ “แอบสลูดมอนากี” หรือ ไทยหนุ่ม (1 เมษายน พ.ศ. 2472) ใช้ “แอ๊บโซลุดโมนาร์กี” เป็นต้น[8]

          เป็นไปได้ว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่เป็นคำนิยามระบอบการปกครองก่อนการปฏิวัติจะถูกใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกๆ ในบทปรารภของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (พ.ศ. 2475) โดยมีความหมายตรงข้ามกับหลักการที่ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” หรือการที่ “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชน”[9] กระนั้น ศัพท์ดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกใช้ในความหมายลบ ซึ่งคงเป็นผลจากการประนีประนอมทางการเมืองกันระหว่างคณะราษฎรกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซ้ำบทปรารภนั้นยังประกาศความชอบธรรมให้กับระบอบดังกล่าวด้วย โดยระบุว่าตลอดระยะ 150 ปีที่กษัตริย์ราชวงศ์จักรีปกครองประเทศมาด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ได้นำมาซึ่งความเจริญโดยลำดับ จนพร้อมที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานรัฐธรรมนูญและโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนมีเสียงในการปกครองตามแบบอารยประเทศ[10] นับจากนี้ ศัพท์ใหม่นี้ก็น่าจะเป็นที่รู้จัก ยอมรับ และใช้กันแพร่หลายมากขึ้น

 

กำเนิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย: ข้อถกเถียงสำคัญ

          หลัง พ.ศ. 2475 ข้อถกเถียงเกี่ยวกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยไม่ได้มุ่งที่ประเด็นความชอบธรรมของระบอบดังกล่าวอย่างเดียว กำเนิดของมันจะเป็นอีกหนึ่งข้อถกเถียงสำคัญทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยรูปแบบและพัฒนาการของรัฐไทยโดยเฉพาะในช่วงหลัง พ.ศ. 2516 เนื่องจากความเข้าใจและการมองพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสังคมที่แตกต่างกัน ปัญหาถกเถียงนี้เริ่มเห็นได้ในงานของหลวงวิจิตรวาทการ (ชื่อเดิม กิมเหลียง วัฒนปฤดา) เรื่อง การเมืองการปกครองสยาม (พ.ศ. 2475) ที่อธิบายว่ากษัตริย์มีอำนาจอย่างสมบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[11] ส่วนข้ออธิบายที่ต่างไปจะอยู่ในงานของ ม.ร.ว.ทรงสุจริต นวรัตน์ เรื่อง สยามรัฐปฏิวัติ ('Siam Refomation) (พ.ศ. 2479) ที่ชี้ว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์เริ่มขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีที่กษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์และรวมศูนย์ ขณะที่การปกครองในสมัยอยุธยาเป็นแบบปริมิตตาญาสิทธิราชย์ และในสมัยสุโขทัยและน่านเจ้าเป็นแบบปิตุราชาธิปไตย[12]

          การถกเถียงดังกล่าวเป็นประเด็นขึ้นอีกตั้งแต่ทศวรรษ 2500 และนำไปสู่ข้อถกเถียง 2 แนวทางหลัก แนวทางแรกจะเสนอถึงความสืบเนื่องของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าดำรงคงอยู่มาแล้วตั้งแต่ก่อนหน้ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด แม้จะมีความผันผวนทางการเมืองเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็เป็นผลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำทางการเมืองเท่านั้น ไม่ใช่ระบอบ อีกแนวทางหนึ่ง มองว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยเพิ่งถือกำเนิดขึ้นในครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 25 เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองที่มุ่งหมายให้กษัตริย์มีพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหาร ซึ่งริดรอนอำนาจของขุนนาง เจ้าประเทศราช และสถาบันสงฆ์ลงไป[13] โดยในปัจจุบัน คำอธิบายในแนวทางหลังเป็นที่ยอมรับกันแล้วในวงวิชาการประวัติศาสตร์ และค่อนข้างเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปนอกวงวิชาการด้วย

          ตัวอย่างงานที่อธิบายในแนวทางแรก ได้แก่ งานของจิตร ภูมิศักดิ์ เรื่อง โฉมหน้าศักดินาไทย (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2500)  ที่ใช้ศัพท์ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” นิยามระบอบการปกครองของสังคมศักดินา ซึ่งสำหรับในสังคมไทยนั้น เริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย[14] พระนิพนธ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เรื่อง Lords of Life: A History of the Kings of Thailand ซึ่งต่อมาทรงแปลเป็นไทยในชื่อ เจ้าชีวิต': พงศาวดาร 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2504) แม้จะไม่ได้ระบุถึงต้นกำเนิดระบอบดังกล่าว แต่ก็ชี้ว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถอยกลับไปเกินกว่ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[15]

          อีกเล่มคืองานในภาคภาษาอังกฤษของรอง ศยามานนท์ เรื่อง A History of Thailand (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2514) ชี้ว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) เริ่มต้นในสมัยอยุธยาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ที่กษัตริย์ทรงเริ่มเป็นเอกาธิปัตย์ (autocrat) และไม่ได้ธำรงความสัมพันธ์กับราษฎรอย่างพ่อปกครองลูกตามแบบสมัยสุโขทัยอีกต่อไป อธิบายคล้ายกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยได้รับอิทธิพลมาจากขอม หมายถึงการทรงสิทธิ์ขาดในการปกครองของกษัตริย์ที่เป็นทั้งเจ้าชีวิตและเจ้าแผ่นดิน และสิ้นสุดลงเนื่องจาก “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง (revolution)” ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 งานภาคภาษาไทยในยุคหลังของรอง คือ ประวัติศาสตร์ไทยฉบับประชาชน (พิมพ์ พ.ศ. 2527) ก็ยังยืนยันข้อเสนอข้างต้นอยู่เช่นเดิม[16]

          บทความของฉัตรทิพย์ นาถสุภา เรื่อง “วิวัฒนาการระบบเศรษฐกิจไทย” (พ.ศ. 2517) เป็นงานชิ้นสำคัญอีกชิ้นในกลุ่มแรก[17] แต่ชิ้นสำคัญที่สุดในกลุ่มนี้ที่ปรากฏขึ้นหลัง พ.ศ. 2516 คืองานของนักรัฐศาสตร์กระแสหลักอย่างชัยอนันต์ สมุทวณิช เรื่อง ศักดินากับพัฒนาการของสังคมไทย (พ.ศ. 2519) และ “บทนำ” ใน การเมือง'– การปกครองไทยสมัยใหม่: รวมงานวิจัยทางประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ (พ.ศ. 2522) ซึ่งชัยอนันต์เขียนร่วมกับสุวดี เจริญพงศ์ ทั้งสองชิ้นนี้เสนอไปในทางเดียวกันว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยดำรงอยู่มายาวนานก่อนหน้าการปฏิรูปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว การปฏิรูปดังกล่าวซึ่งภายหลังจะถือกันว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการกำเนิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ถือเป็นเพียงการปรับปรุงกลไกการบริหารเท่านั้น และมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากมหาอำนาจตะวันตก[18]

          อย่างไรก็ดี แม้งานในกลุ่มแรกจะยืนยันถึงความสืบเนื่องยาวนานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่บางเล่มในระยะหลังก็ไม่ปฏิเสธและตระหนักถึงความแตกต่างของระบอบดังกล่าวก่อนและหลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น งานศึกษาของเบนจามิน เอ. บัทสัน (Benjamin A. Batson) เรื่อง The End of Absolute Monarchy in Siam (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2527) ซึ่งต่อมาได้รับการแปลเป็นไทยในชื่อ อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2543) ที่ชี้ว่าระบอบดังกล่าวสมบูรณ์กว่าที่เคยเป็นมาเมื่อมีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการและการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง[19] เท่ากับว่าน้ำหนักของข้อถกเถียงแรกจะค่อยๆ เริ่มลดน้อยลงในขณะที่ข้อถกเถียงหลังก็ทยอยนำเสนอออกมา

          ส่วนแนวทางหลังนั้นจะค่อยๆ ถูกเสนอในงานวิชาการช่วงหลัง พ.ศ. 2516 และจะพัฒนาข้อเสนอขึ้นเป็นระบบจนเป็นที่ยอมรับในเวลาต่อมา เริ่มโดยบทความของชาญวิทย์ เกษตรศิริ เรื่อง “ผู้นำแต่ละรุ่นในประวัติศาสตร์ไทย” (พ.ศ. 2517) ซึ่งภายหลังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ “Each Generation of Elites in Thai History” (พ.ศ. 2519) ได้กำหนดช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2435-2475 คือเริ่มต้นเมื่อกลุ่มสยามหนุ่มขึ้นสู่อำนาจและดำเนินการปฏิรูประบบราชการ ซึ่งหมายถึงการกำเนิดรัฐชาติและการมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่กรุงเทพฯ[20] งานเชิงวิพากษ์ชิ้นสำคัญที่ท้าทายสัจพจน์ในไทยศึกษาช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา (พ.ศ. 2519) ของเบเนดิคท์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) เรื่อง “The Studies of Thai State: The State of Thai Studies” (เสนอครั้งแรก พ.ศ. 2521) ก็ชี้ว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ไทยมีระยะเวลาที่สั้นกว่าของยุโรปและแสดงนัยว่าถอยกลับไปได้ถึงช่วงการปฏิรูปรวมศูนย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในบริบทอาณานิคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น[21]

          ต้นทศวรรษ 2520 ข้อถกเถียงทำนองนี้จะได้รับการยืนยันต่ออีกในงานประวัติศาสตร์ไทยเชิงวิพากษ์ที่โต้แย้งกับประวัติศาสตร์นิพนธ์สำนักดำรงราชานุภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งคงได้รับอิทธิพลจากแนวคิดใหม่ในงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในทศวรรษนั้นที่ยังอยู่ในกระแสประวัติศาสตร์อิสระ (autonomous history) และมีแนวโน้มจะปฏิเสธการนิยามความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้กับรัฐก่อนสมัยใหม่ด้วย[22] ตัวอย่างงานเช่นนี้คืองานวิจัยของนิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง “วัฒนธรรมกระฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์” (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2525) ที่ศึกษาโลกทัศน์ใหม่ในสมัยกรุงเทพฯ ตอนต้นที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งแม้จะไม่ได้ศึกษาที่มาของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยโดยตรง แต่ในท้ายความของงานได้ตั้งข้อถกเถียงขึ้นว่าประเทศไทยเพิ่งเข้าสู่ระบอบดังกล่าวอย่าง “เต็มตามความหมายของคำนี้อย่างสมบูรณ์” เป็นครั้งแรกเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองในครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่แล้ว[23]

          บทความปาฐกถาของสมเกียรติ วันทะนะ เรื่อง “รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ในสยาม 2435-2475” (พ.ศ. 2525) ที่ได้รับอิทธิพลจากมาร์กซิสต์ตะวันตก (Western Marxist) ในงานของเปอร์รี แอนเดอร์สัน (Perry Anderson) ถือเป็นงานชิ้นสำคัญที่สุดของแนวทางหลังนี้และให้คำอธิบายอย่างค่อนข้างเป็นระบบในหลายประเด็น ในบทความ สมเกียรติเสนอให้เห็นว่าหากใช้เกณฑ์ต่างๆ ต่อไปนี้ในการพิจารณาความเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ของรัฐไทยก็จะเห็นได้ว่าลักษณะดังกล่าวจำกัดอยู่ในช่วง พ.ศ. 2435-2475 ได้แก่ (1) หน่วยของสังคมที่มีความชัดเจนขึ้นในแง่ต่างๆ ได้แก่ กำหนดแดน ชาติ ภูมิลำเนา อำนาจแห่งการปกครอง ศาสนา และพงศาวดาร (2) เศรษฐกิจที่เคยมีผลประโยชน์กระจายตามศูนย์อำนาจต่างๆ ได้แปรสภาพมาสู่การรวมศูนย์แทน (3) โครงสร้างการเมืองที่มีลักษณะการใช้อำนาจเหนือดินแดนอย่างมีแบบแผนแน่นอนเป็นลำดับ การเก็บหรือขูดรีดค่าเช่าได้เปลี่ยนมือจากเจ้าขุนมูลนายมาสู่กษัตริย์ และกลไกอำนาจรัฐมีลักษณะแบ่งอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจนและทันสมัยขึ้น ทั้งยังโยกย้ายอำนาจปกครองจากขุนนางมาสู่กษัตริย์กับพระราชวงศ์[24]

          ถัดมา สมเกียรติได้เสนอบทความ “สองศตวรรษของรัฐและประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย” (พ.ศ. 2527) โดยขยับปีกำเนิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ไทยให้ถอยไปที่ พ.ศ. 2428 ซึ่งเป็นปีที่มีการประกาศเลิกธรรมเนียมการมีวังหน้า[25] ข้อเสนอแนวทางนี้ได้รับการยืนยันอีกครั้งในงานวิจัยของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เรื่อง การปฏิวัติสยาม พ.ศ. '2475 (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2535) ที่เสนอว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็น “ปรากฏการณ์ชั่วคราว” ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากรัฐโบราณมาสู่รัฐประชาชาติ คือจากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงการปฏิวัติใน พ.ศ. 2475[26] งานศึกษาชั้นหลังจากนี้ไปก็มักตั้งต้นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่รัชสมัยดังกล่าว แต่อาจนับปีกำเนิดไม่ตรงกันบ้าง[27] ทำให้ข้อถกเถียงแนวทางหลังนี้เป็นที่ยอมรับกว้างขวางขึ้น

 

ประเด็นถกเถียงอื่นๆ

          ขณะที่ปัญหาว่าด้วยกำเนิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยค่อนข้างเป็นที่ยุติแล้ว ประเด็นว่าด้วยคุณูปการของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยจะเป็นปัญหาถกเถียงสำคัญต่อมา กล่าวคือคุณูปการนั้นควรจะตกอยู่กับสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือไม่ สำหรับงานเขียนของกลุ่มกษัตริย์นิยมที่เริ่มออกมาในทศวรรษ 2490 และยิ่งมากขึ้นหลัง พ.ศ. 2500 ได้ยกย่องเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะพระบิดาประชาธิปไตย พร้อมกับกล่าวโทษคณะราษฎรว่าคือจุดเริ่มต้นของเผด็จการทหาร ไม่ได้สร้างประชาธิปไตย และชิงอำนาจจากกษัตริย์ที่ประสงค์จะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงอยู่แล้ว[28] ในช่วงก่อน 14 ตุลา (พ.ศ. 2516) บทความของชัยอนันต์ สมุทวณิช เรื่อง “การปูพื้นฐานการปกครองแบบประชาธิปไตยในสมัยราชาธิปไตย” ใน สัตว์การเมือง (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2513) ก็เป็นงานวิชาการแรกที่ยืนยันทัศนะแบบกษัตริย์นิยมข้างต้น[29]

          งานของชัยอนันต์มีผลครอบงำวงวิชาการในทศวรรษนั้นและต่อมาด้วย แม้แต่ขบวนการนิสิตนักศึกษาที่ต่อต้านรัฐบาลทหารในช่วง 14 ตุลา ก็รับเอาคำอธิบายเช่นนี้มาเป็นทัศนะของตัวเอง[30] งานในช่วงถัดมาของชัยอนันต์ร่วมกับขัตติยา กรรณสูต เรื่อง เอกสารการเมือง – การปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477 (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2518) ก็ยังยืนยันคำอธิบายนี้อยู่ โดยชี้ว่ากระแสประชาธิปไตยเริ่มขึ้นก่อนที่นักเรียนไทยในยุโรปจะจัดตั้งคณะราษฎรขึ้นแล้ว คือตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ในช่วงนั้น ประชาธิปไตยยังไม่ได้รับการเทิดทูนนัก แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ และรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ปรารถนาจะปกครองราษฎรให้ได้รับความสุขสมบูรณ์โดยทั่วถึง และแม้จะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่ก็เริ่มมีการทดลองระบอบดังกล่าวในรัชสมัยต่อมา[31]

          ปัจจุบัน คำอธิบายข้างต้นถูกท้าทายเป็นอย่างมาก คุณปการของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อระบอบประชาธิปไตยถูกปฏิเสธจนไม่ใช่คำอธิบายที่ครอบงำต่อไป บทความของนิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย” (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2537) ชี้ให้เห็นถึงว่าเป็นความเข้าใจที่พลาดหากมองว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พยายามวางรากฐานของประชาธิปไตย นิธิพลิกข้อเสนอดังกล่าวและเสนอข้อถกเถียงใหม่ว่าความพยายามปฏิรูปในรัชสมัยดังกล่าวเป็นไปเพื่อสร้างระบบระเบียบแก่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่างหาก ร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นและยกย่องกันในภายหลังว่าเป็นเอกสารประชาธิปไตยนั้น ไม่ใช่รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยแน่นอน[32] ข้อเสนอเช่นนี้จะได้รับการพิสูจน์ด้วยข้อมูลให้เห็นชัดขึ้นไปอีกในงานศึกษาระยะหลังด้วย

          นอกจากข้อถกเถียงว่าด้วยคุณูปการต่อประชาธิปไตยแล้ว หลังการรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 การสิ้นสุดลงหรือไม่ของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งในแง่ที่เป็นยุคสมัยและรูปแบบรัฐได้กลายมาเป็นปัญหาถกเถียงล่าสุดอย่างน้อยในวงวิชาการ เนื่องจากสถานะของสถาบันกษัตริย์ได้กลับมาเป็นหัวข้อที่สนใจอีกครั้ง[33] รวมถึงลักษณะสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เห็นได้ในปัจจุบันด้วย บทความออนไลน์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เรื่อง “สมบูรณาญาสิทธิราชในรัฐธรรมนูญ 2540” (พ.ศ. 2550) ชี้ว่าหากพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ว่าด้วยการกำหนดการสืบราชสันตติวงศ์และการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลที่ยกให้เป็นอำนาจของกษัตริย์ก็จะเห็นได้ว่ากษัตริย์มีอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในประเด็นนี้ ส่วนองค์กรรัฐที่มาจากประชาชนไม่มีอำนาจใดๆ[34]

          ต่อมา ธงชัย วินิจจะกูลได้เสนอปาฐกถาชื่อ “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุบัน” (พ.ศ. 2554) แม้จะเน้นต่างไปจากประเด็นของสมศักดิ์ แต่ก็อภิปรายให้เห็นว่าคุณลักษณะบางอย่างหรือมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังสืบเนื่องต่อมาหลัง พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน ได้แก่ ลักษณะของรัฐ ระบบการปกครอง อำนาจอธิปไตย วัฒนธรรมทางภูมิปัญญา และสถาบันกษัตริย์[35] ประเด็นถกเถียงล่าสุดทั้งสองนี้ไม่มีข้อสรุปร่วมกันแต่อย่างใด ต่างจากประเด็นกำเนิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ค่อนข้างมีความเห็นร่วมกันแล้วว่าไม่ไกลเกินไปกว่ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ เนื่องจากการตีความและพื้นฐานอุดมการณ์ทางการเมืองที่ไม่ลงรอยกัน

 

บรรณานุกรม

กำพล จำปาพันธ์, การเมืองการปกครองของกรุงสยาม ของหลวงวิจิตรวาทการ [ออนไลน์], 2558, เข้าถึงได้จาก: http://v1.midnightuniv.org/midnight2545/document9557.html (23 กันยายน 2559)

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ.  “สถานะของวิวาทะว่าด้วยการเปลี่ยนรูปของรัฐไทยภายหลัง 2475.”  จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 16 (มิถุนายน 2555-พฤษภาคม 2556), หน้า 10-36.

จิตร ภูมิศักดิ์.  โฉมหน้าศักดินาไทย.  กรุงเทพฯ: ชมรมหนังสือแสงตะวัน, 2517.

จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า.  เจ้าชีวิต: พงศาวดาร 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี.  พิมพ์ครั้งที่ 6.  กรุงเทพฯ: ริเวอร์ บุ๊คส์, 2554.

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ (บก.).  สถานภาพไทยศึกษา: การสำรวจเชิงวิพากษ์.  เชียงใหม่: ตรัสวิน (ซิลค์เวอร์มบุ๊คส์), 2543.

ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต.  เอกสารการเมือง – การปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477.  กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2518).

ชัยอนันต์ สมุทวณิช และสุวดี เจริญพงศ์ (บก.).  การเมือง – การปกครองไทยสมัยใหม่: รวมงานวิจัยทางประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์.  กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2522.

ณัฐพล ใจจริง.  ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม.  กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2556.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา.  ประชุมพระนิพนธ์ สรรพความรู้.  กรุงเทพฯ: ศยามปริทัศน์, 2555.

ธงชัย วินิจจะกูล.  “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุบัน.”  ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2554), หน้า 45-58.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์.  การปฏิวัติสยาม พ.ศ. '2475.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2535.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์.  “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของสยาม: พรมแดนแห่งความรู้.”  วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2525), หน้า 7-39.

นิธิ เอียวศรีวงศ์.  ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.

นิธิ เอียวศรีวงศ์.  ปากไก่และใบเรือ: รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2555.

บัทสัน, เบนจามิน เอ.  อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม.  แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์ และศศิธร รัชนี ณ อยุธยา.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547.

รอง ศยามานนท์.  ประวัติศาสตร์ไทยฉบับประชาชน.  กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2527.  (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในการฌาปนกิจศพ หม่อมหลวงนงเยาว์ ศยามานนท์ ณ เมรุวัดธาตุทอง กทม. วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2527)

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 (27 มิถุนายน 2475), หน้า 166-179; เล่ม 49 (10 ธันวาคม 2475), หน้า 529-551.

วิจิตรมาตรา, ขุน.  หลักไทย.  พิมพ์ครั้งที่ 5.  พระนคร: สาส์นสวรรค์, 2510.

สมเกียรติ วันทะนะ.  “รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ในสยาม 2435-2475.”  วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 (มิถุนายน 2533), หน้า 23-44.

สมเกียรติ วันทะนะ.  “สองศตวรรษของรัฐและประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย.”  วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 3 (กันยายน 2527), หน้า 152-171.

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล.  ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง.  กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2544.

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล.  สมบูรณาญาสิทธิราชในรัฐธรรมนูญ '2540[ออนไลน์], 2550, เข้าถึงได้จาก: http://somsakwork.blogspot.com/2007/07/blog-post.html (25 กันยายน 2559)

สายชล สัตยานุรักษ์.  ประวัติศาสตร์รัฐไทยและสังคมไทย: ครอบครัว ชุมชน ชีวิตสามัญชน ความทรงจำ และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์.  เชียงใหม่: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2558.

อัจฉราพร กมุทพิสมัย.  กบฏ ร.ศ. 130 กบฎเพื่อประชาธิปไตย : แนวคิดทหารใหม่.  กรุงเทพฯ: อมรินทร์วิชาการ, 2540.

แอนเดอร์สัน, เบเนดิคท์ อาร์. โอ จี.  “ศึกษารัฐไทย: วิพากษ์ไทยศึกษา.”  แปลโดย ดาริน อินทร์เหมือน.  ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2546), หน้า 98-147.

Chaiyan Rajchagool.  The Rise and Fall of Thai Absolute Monarchy: Foundations of the Modern Thai State from Feudalism to Peripheral Capitalism.  Bangkok: White Lotus, 1994.

Charnvit Kasetsiri.  Studies in Thai and Southeast Asian Histories.  Bangkok: The Foundation for the Promotion of Social Science and Humanities Textbooks Project and Toyota Thailand Foundation, 2015.

Kullada Kesboonchoo Mead.  The Rise and Decline of Thai Absolutism.  London and New York, NY: Routledge/Curzon, 2004.

Reynolds, Craig J.  Seditious Histories: Contesting Thai and Southeast Asian Past.  Seattle: University of Washington Press, 2006.

Rong Syamananda.  A History of Thailand.  2nd ed.  Bangkok: Thai Watana Panich, 1973.

 

อ้างอิง

          [1] “เจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103,” ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต, เอกสารการเมือง '– การปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477(กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2518), หน้า 60.

          [2] “พระราชดำรัสตอบความเห็นของผู้จะให้เปลี่ยนการปกครอง จ.ศ. 1247,” ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต, เอกสารการเมือง '– การปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477, หน้า 76.

          [3] “พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน,” ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต, เอกสารการเมือง '– การปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477, หน้า 124.

          [4] อัจฉราพร กมุทพิสมัย, กบฏ ร.ศ. '130 กบฎเพื่อประชาธิปไตย : แนวคิดทหารใหม่(กรุงเทพฯ: อมรินทร์วิชาการ, 2540), หน้า 169-170, และดูข้อความทั้งหมดของเอกสารดังกล่าวได้ที่ ภาคผนวก ง หน้า 267-273.

          [5] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ประชุมพระนิพนธ์ สรรพความรู้ (กรุงเทพฯ: ศยามปริทัศน์, 2555), หน้า 59-62.

          [6] ขุนวิจิตรมาตรา, หลักไทย (พระนคร: สาส์นสวรรค์, 2510), หน้า 255-257.

          [7] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, “คำอธิบายกฎหมายปกครอง,” อ้างถึงใน ณัฐพล ใจจริง, “‘ความชอบด้วยระบอบ’ วิวาทะว่าด้วย ‘รัฏฐาธิปัตย์’ ในคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ (2475-2500),” ใน ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ': ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม(กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2556), หน้า 70.

          [8] สายชล สัตยานุรักษ์, “การต่อสู้ในการบัญญัติศัพท์ก่อนและหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475,” ใน ประวัติศาสตร์รัฐไทยและสังคมไทย': ครอบครัว ชุมชน ชีวิตสามัญชน ความทรงจำ และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์(เชียงใหม่: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2558), หน้า 129-130.

          [9] ดู “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 (10 ธันวาคม 2475), หน้า 531, 534. และ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 (27 มิถุนายน 2475), หน้า 167.

          [10] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม,” หน้า 531-532.

          [11] หลวงวิจิตรวาทการ, การเมืองการปกครองของกรุงสยาม, อ้างถึงใน กำพล จำปาพันธ์, การเมืองการปกครองของกรุงสยาม ของหลวงวิจิตรวาทการ [ออนไลน์], 2558, เข้าถึงได้จาก: http://v1.midnightuniv.org/midnight2545/document9557.html (23 กันยายน 2559)

          [12] ม.ร.ว.ทรงสุจริต นวรัตน์, สยามรัฐปฏิวัติ ('Siam Reformation): สยามแปลงรูปยุคดึกดำบรรพ์ ภาค 1, อ้างถึงใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของสยาม: พรมแดนแห่งความรู้,” วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2525), หน้า 12.

          [13] สมเกียรติ วันทะนะ, “รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ในสยาม 2435-2475,”  วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 (มิถุนายน 2533), หน้า 23-24.

          [14] จิตร ภูมิศักดิ์, โฉมหน้าศักดินาไทย (กรุงเทพฯ: ชมรมหนังสือแสงตะวัน, 2517), หน้า 52, 146-147.

          [15] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิต': พงศาวดาร 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี(กรุงเทพฯ: ริเวอร์ บุ๊คส์, 2554), หน้า 9, 219.

          [16] Rong Syamananda, A History of Thailand (Bangkok: Thai Watana Panich, 1973), pp. 33, 162. และรอง ศยามานนท์, ประวัติศาสตร์ไทยฉบับประชาชน (กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2527), หน้า 55, 164.

          [17] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, “วิวัฒนาการระบบเศรษฐกิจไทย,” อ้างถึงใน สมเกียรติ วันทะนะ, “สมบูรณาญาสิทธิ์ในสยาม 2435-2475,” หน้า 23, เชิงอรรถ 1 หน้า 40.

          [18] ชัยอนันต์ สมุทวณิช, ศักดินากับพัฒนาการของสังคมไทย, อ้างถึงใน เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, “สถานะของวิวาทะว่าด้วยการเปลี่ยนรูปของรัฐไทยภายหลัง 2475,” จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 16 (มิถุนายน 2555-พฤษภาคม 2556), หน้า 13-14. และชัยอนันต์ สมุทวณิช และสุวดี เจริญพงศ์, “บทนำ,” ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และสุวดี เจริญพงศ์ (บก.), การเมือง '– การปกครองไทยสมัยใหม่: รวมงานวิจัยทางประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์(กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2522), หน้า 1-2.

          [19] เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์ และศศิธร รัชนี ณ อยุธยา (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547),  หน้า 11-12.

          [20] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, “ผู้นำแต่ละรุ่นในประวัติศาสตร์ไทย,” อ้างถึงใน สมเกียรติ วันทะนะ, “รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ในสยาม พ.ศ. 2435-2475,” หน้า 23-24 และเชิงอรรถ 1 หน้า 40. และ Charnvit Kasetsiri, “Each Generation of Elites in Thai History,” tr. Chantima Ongsurugz, in Studies in Thai and Southeast Asian Histories (Bangkok: The Foundation for the Promotion of Social Science and Humanities Textbooks Project and Toyota Thailand Foundation, 2015), pp. 355-356.

          [21] เบเนดิคท์ อาร์. โอ จี. แอนเดอร์สัน, “ศึกษารัฐไทย: วิพากษ์ไทยศึกษา,” แปลโดย ดาริน อินทร์เหมือน, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2546), หน้า 131.

          [22] รายละเอียดของประเด็นนี้ ดู ธงชัย วินิจจะกูล, “การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของอดีต: ประวัติศาสตร์ใหม่ในประเทศไทยหลัง 14 ตุลาคม,” แปลโดย กุลลดา เกษบุญชู, ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ (บก.), สถานภาพไทยศึกษา': การสำรวจเชิงวิพากษ์(เชียงใหม่: ตรัสวิน (ซิลค์เวอร์มบุ๊คส์), 2543), หน้า 21-23. และ Craig J. Reynolds, “Paradigms of the Premodern State,” in Seditious Histories: Contesting Thai and Southeast Asia Past (Seattle: University of Washington Press, 2002), pp. 38-42.

          [23] นิธิ เอียวศรีวงศ์, “วัฒนธรรมกระฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์,” ใน ปากไก่และใบเรือ': รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์(นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2555), หน้า 193.

          [24] สมเกียรติ วันทะนะ, “รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ในสยาม พ.ศ. 2435-2475,” หน้า 25-36.

          [25] สมเกียรติ วันทะนะ, “สองศตวรรษของรัฐและประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย,” วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 3 (กันยายน 2527), หน้า 152, 156.

          [26] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2535), หน้า 6.

          [27] ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์, “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย,” ใน ชาติไทย', เมืองไทย แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก(กรุงเทพฯ: มติชน, 2557 [พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2537]). Chaiyan Rajchagool, The Rise and Fall of Thai Absolute Monarchy: Foundations of the Modern Thai State from Feudalism to Peripheral Capitalism (Bangkok: White Lotus, 1994). และ  Kullada Kesboonchoo Mead, The Rise and Decline of Thai Absolutism (London and New York, NY: RoutledgeCurzon, 2004). เป็นต้น

          [28] ณัฐพล ใจจริง, “คว่ำปฏิวัติ โค่นคณะราษฎร: การก่อตัวของ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’,” ใน ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม, หน้า 54-62.

          [29] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และประจักษ์ ก้องกีรติ, “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7: ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง,” ใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2544), หน้า 27.

          [30] เรื่องเดียวกัน.

          [31] ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต, เอกสารการเมือง'– การปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477, หน้า 4-6.

          [32] นิธิ เอียวศรีวงศ์, “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย,” หน้า 112-113.

          [33] เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ, “สถานะของวิวาทะว่าด้วยการเปลี่ยนรูปของรัฐไทยภายหลัง 2475,” หน้า 26.

          [34] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, สมบูรณาญาสิทธิราชในรัฐธรรมนูญ '2540[ออนไลน์], 2550, เข้าถึงได้จาก: http://somsakwork.blogspot.com/2007/07/blog-post.html (25 กันยายน 2559)

          [35] ธงชัย วินิจจะกูล, “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุบัน,” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2554), หน้า 47.