การแข่งขันด้านอวกาศ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:16, 18 มิถุนายน 2567 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง :''' รองศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร แล...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และธีทัต จันทราพิชิต

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          การแข่งขันด้านอวกาศ (Space Race) หมายถึงช่วงที่เกิดการแข่งขันเพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่งในด้านเทคโนโลยีอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตในช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 ถึงต้นทศวรรษที่ 1970 ผลจากการแข่งขันด้านอวกาศระหว่างสองประเทศทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี และส่งผลไปถึงเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศในปัจจุบัน

 

ที่มา

          ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในฐานะประเทศสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามได้รับเทคโนโลยีจากผู้แพ้สงครามอย่างนาซีเยอรมัน หนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญที่ทั้งสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาได้มาจากประเทศเยอรมนี นั้นคือเทคโนโลยีด้านจรวด[1]

          เมื่อเริ่มที่จะเกิดความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสองประเทศ จนเกิดมาเป็นสงครามเย็นในภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตก็เริ่มแข่งขันด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ (Arms Race) เพื่อให้มีอาวุธที่ดีที่สุดและจำนวนมากที่สุด

          การแข่งขันดังกล่าวทำให้เกิดการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ และการสร้างขีปนาวุธซึ่งรวมไปถึงการสร้างขีปนาวุธข้ามทวีป (intercontinental ballistic missiles หรือ ICBM) เพื่อส่งอาวุธนิวเคลียร์ไปทำลายล้างข้าศึกที่อยู่ห่างจากอีกฟากโลกได้ด้วยเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง[2] ซึ่งการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปได้กลายเป็นมูลเหตุสำคัญในการพัฒนาจรวดที่สามารถส่งวัตถุขึ้นไปบนอวกาศได้

          ต่อมาการแข่งขันด้านขีปนาวุธข้ามทวีปได้กลายเป็นการแข่งขันเพื่อที่จะช่วงชิงความเป็นหนึ่งในด้านการสำรวจอวกาศ[3] และนำมาสู่การแข่งขันทางด้านอวกาศขึ้น

 

ส่งดาวเทียมขึ้นวงโคจร

          ในปี ค.ศ.1955 ทางสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ได้ประกาศจะส่งดาวเทียมขึ้นวงโคจร และในปี ค.ศ. 1957 ทางสหภาพโซเวียตได้ทำการยิงจรวดส่งดาวเทียมดวงแรกของโลกหรือที่รู้จักกันว่า สปุตนิก 1 (Sputnik 1) ขึ้นไปโคจรในอวกาศ[4] โดยคำว่าสปุกนิก หมายถึงเพื่อนร่วมทางในภาษารัสเซีย

          การส่งดาวเทียมขึ้นไปสู่อวกาศของสหภาพโซเวียตสร้างความตื่นตกใจว่าสหภาพโซเวียตนำหน้าสหรัฐอเมริกาด้านเทคโนโลยีอวกาศ [5]โดยก่อนี่สหรัฐอเมริกาจะส่งดาวเทียมของตนเองขึ้นสู่วงโคจรได้เป็นครั้งแรก ในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1958 สหภาพโซเวียตก็ได้ส่ง 'สปุตนิก 2 (Sputnik 2) พร้อมกับสุนัขชื่อไลก้า (Laika) ขึ้นไปยังวงโคจรได้สำเร็จ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1957 แม้ว่าไลก้าจะเสียชีวิตจากความร้อนและความเครียดในการทดลองก็ตาม

 

ส่งมนุษย์ขึ้นอวกาศ

          ภายหลังจากมีการส่งดาวเทียมขึ้นไปยังอวกาศ การส่งสิ่งมีชีวิตไปยังอวกาศกลายเป็นการทดลองขั้นต่อไป เมื่อความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตพุ่งสูงขึ้น ก็ทำให้เกิดการทดลองจำนวนมากกับสิ่งมีชีวิตเพื่อทดสอบว่าสิ่งมีชีวิตจะสามารถอยู่ในอวกาศได้หรือไม่[6]

          โดยทางสหรัฐอเมริกาได้มีโครงการชื่อว่า โครงการเมอร์คิวรี่ (Project Mercury) ซึ่งตั้งตามชื่อของเทพเฮอร์เมสในปกรณัมกรีกหรือเมอร์คิวรี่ในอารยธรรมโรมัน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่

          1. ส่งคนอเมริกันไปโคจรรอบโลก

          2. ทดสอบสมรรถภาพของมนุษย์ในการเดินทางสู่อวกาศ

          3. นำยานอวกาศและนักบินอวกาศกลับสู่พื้นโลกโดยปลอดภัย

          โดยที่มีวัตถุประสงค์ที่ไม่ได้กล่าวอีกข้อ คือ ต้องทำทั้งสามข้อนี้ให้แล้วเสร็จก่อนที่โซเวียตจะทำได้[7]

          หากแต่สหภาพโซเวียตสามารถส่งมนุษย์คนแรกเข้าสู่วงโคจรได้สำเร็จก่อนสหรัฐอเมริกาโดย วันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1961 สหภาพโซเวียตสามารถส่ง ยูริ กาการิน ไปยังอวกาศได้สำเร็จ และทำให้ ยูริ กาการิ กลายเป็นมนุษย์อวกาศคนแรกของโลก ในเวลาต่อมาสหรัฐอเมริกาได้ส่งอลัน เชปเพิร์ด ขึ้นอวกาศ ในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1961 เป็นอเมริกันคนแรกที่ได้ขึ้นสู่อวกาศและเป็นมนุษย์อวกาศคนที่สองของโลก

 

การแข่งขันไปดวงจันทร์และการสิ้นสุดของการแข่งขันด้านอวกาศ

          การที่สหรัฐอเมริกาไม่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นอวกาศได้ก่อนสหภาพโซเวียต ทำให้ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ของสหรัฐอเมริกา แถลงต่อสภาคองเกรสว่าจะให้ความสำคัญกับการแข่งขันทางด้านอวกาศมากกว่านี้ พร้อมกันนั้นยังได้ตั้งเป้าหมายใหม่ที่จะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ภายในปลายทศวรรษที่ 1960[8]

          เป้าหมายการไปดวงจันทร์กลายเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตว่าใครจะเหนือกว่ากันในด้านเทคโนโลยีอวกาศ ในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 สหรัฐอเมริกาส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ได้เป็นผลสำเร็จ ก็นับว่าสหรัฐอเมริกาชนะการแข่งขันด้านอวกาศเป็นที่เรียบร้อย[9]

          หากแต่ในมุมมองสหภาพโซเวียตก็ยังไม่คิดว่าการแข่งขันสิ้นสุดลง มีความพยายามในการแข่งขันตามมาอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถานีอวกาศหรือการสำรวจต่าง ๆ หากแต่ว่าการแข่งขันได้ลดความเข้มข้นลงและภายหลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย สหรัฐอเมริกาและประเทศรัสเซียได้มีโครงการความร่วมมือทางด้านอวกาศระหว่างกัน

 

ไทมไลน์การแข่งขันด้านอวกาศ

          2 สิงหาคม ค.ศ. 1955 : สหภาพโซเวียตโต้กลับคำประกาศของสหรัฐอเมริกาโดยประกาศว่าสหภาพโซเวียตจะส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ 

          4 ตุลาคม ค.ศ. 1957 : สหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมสปุตนิก 1 (Sputnik 1) ขึ้นสู่อวกาศ นับเป็นการส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่วงโคจรโลก

          3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1957 : สหภาพโซเวียตส่งดาวเทียมสปุตนิก 2 พร้อมกับสุนัขชื่อไลก้าขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ ไลก้าเสียชีวิตในภารกิจจากความร้อนและความเครียด

          31 มกราคม ค.ศ. 1958 : สหรัฐอเมริกาส่งดาวเทียมดาวเทียมเอ็กซ์พลอเรอร์ 1 (Explorer 1)

          1 ตุลาคม ค.ศ. 1958 : ก่อตั้งองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือ NASA ขึ้น

          18 ธันวาคม ค.ศ. 1958 : สหรัฐอเมริกาส่งดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของโลกชื่อสกอร์ (Signal Communications by Orbiting Relay Equipment หรือ SCORE) โดยเสียงของประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ กลายเป็นเสียงของมนุษย์ที่ถูกเผยแพร่จากอวกาศเสียงแรก

          2 มกราคม ค.ศ. 1959 : สหภาพโซเวียตส่งอุปกรณ์ลูน่า 1 (Luna 1) ไปยังดวงจันทร์ แต่ไม่สามารถเข้าสู่วงโคจรได้เพราะมีความเร็วมากเกินไป ลูน่า 1 กลายเป็นอุปกรณ์อวกาศชิ้นแรกที่หลุดจากวงโคจรของโลก

          2 สิงหาคม ค.ศ. 1959 : สหรัฐอเมริกาส่งเอ็กซ์พลอเรอร์ 6 ดาวเทียมพยากรอากาศดวงแรกขึ้นสู่วงโคจรและถ่ายภาพโลกจากอวกาศเป็นครั้งแรก

          12 สิงหาคม ค.ศ. 1959 : สหภาพโซเวียตส่งลูน่า (Luna 2) ไปสู่ดวงจันทร์ และประสบความสำเร็จในการส่งอุปกรณ์ลงบนพื้นผิวดวงจันทร์

          4 ตุลาคม ค.ศ. 1959 : สหภาพโซเวียตส่งลูน่า 3 (Luna 3) และประสบความสำเร็จในการส่งวัตถุเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ พร้อมกับถ่ายภาพด้านหลังของดวงจันทร์ได้สำเร็จ 

          19 สิงหาคม ค.ศ. 1960 : สหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จในการส่งสุนัขไปยังอวกาศและกลับมาที่โลกโดยยังมีชีวิตอยู่นับเป็นการส่งสัตว์ไปยังอวกาศครั้งแรกที่สัตว์มีชีวิตกลับมายังโลก

          31 มกราคม ค.ศ. 1961 : สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการส่งชิมแปนซีชื่อแฮมสู่อวกาศ แฮมกลายเป็นวานรตัวแรกที่ขึ้นสู่อวกาศ และประสบความสำเร็จในการมีชีวิตรอดขณะที่ลงจอด

          12 เมษายน ค.ศ. 1961 : สหภาพโซเวียตสามารถส่งยูริ กาการิน ไปยังอวกาศได้สำเร็จ ทำให้ยูริ กาการิมนุษย์อวกาศคนแรก

          5 พฤษภาคม ค.ศ. 1961 : สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการส่งอลัน เชปเพิร์ดขึ้นสู่อวกาศ โดยเป็นการเดินทางโดยการบังคับของนักบินครั้งแรก

          16 มิถุนายน ค.ศ. 1963 : สหภาพโซเวียตส่งวาเลนตีนา เตเรชโควา ขึ้นสู่อวกาศ วาเลนตีนา เตเรชโควา กลายเป็นพลเรือนคนแรก และผู้หญิงคนแรกในอวกาศ

          18 มีนาคม ค.ศ. 1965 : อเลคเซย์ เลโอนอฟ นักบินอวกาศจากโซเวียตได้ปฏิบัติการออกจากยานอวกาศและทำการเคลื่อนไหวในอวกาศเป็นเวลา 12 นาที นับเป็นการครั้งแรกที่มีการเคลื่อนไหวในอวกาศนอกยานอวกาศ

          14 กรกฎาคม ค.ศ. 1965 : ดาวเทียมมาริเนอร์ 4 ของสหรัฐอเมริกาเดินทางสู่ดาวอังคาร และถ่ายภาพพื้นผิวดาวอังคารระยะใกล้ได้สำเร็จ

          21 ธันวาคม ค.ศ. 1968 : สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการทำภารกิจอพอลโล 8 (Apollo 8) ไปยังวงโคจรของดวงจันทร์และกลับมาถึงโลกได้ นับเป็นครั้งแรกที่ยานอวกาศที่มีมนุษย์โดยสารเดินทางถึงดวงจันทร์

          20-21 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 : สหรัฐอเมริกาส่งมนุษย์ไปยังพื้นผิวดวงจันทร์ได้เป็นผลสำเร็จ

          11 เมษายน ค.ศ. 1970 : เกิดการระเบิดในภารกิจอพอลโล 13 ของสหรัฐอเมริกาและมีผู้รอดชีวิต นับเป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุระเบิดในยานอวกาศแล้วยังมีผู้รอดชีวิตอยู่

          19 เมษายน ค.ศ. 1971 : สหภาพโซเวียตได้ส่งสถานีอวกาศแห่งแรกเข้าสู่วงโคจร

          1 สิงหาคม ค.ศ. 1971 : เดวิด สกอต ชาวอเมริกันกลายเป็นนักบินอวกาศคนแรกที่ได้ขับยานอวกาศไปดวงจันทร์

          15 กรกฎาคม ค.ศ. 1975 : ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตลดลง นำมาสู่ความร่วมมือทางด้านอวกาศครั้งแรกระหว่างสองประเทศ[10] นับเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดการแข่งขันด้านอวกาศของสองประเทศมหาอำนาจ

 

ผลกระทบ

          การแข่งขันด้านอวกาศทำให้เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างขนานใหญ่ เกิดเทคโนโลยี เช่น ดาวเทียมสื่อสาร หรือกระทั่งนวัตกรรมถนอมอาหารเพื่อใช้ในภารกิจอวกาศ[11] นอกจากนั้นการแข่งขันด้านอวกาศยังนำไปสู่การออกกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น สนธิสัญญาอวกาศ (Outer Space Treaty) ของสหประชาชาติ[12] ด้านวัฒนธรรม การแข่งขันด้านอวกาศส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมมวลชน โดยเฉพาะวัฒนธรรมมวลชนในทศวรรษที่ 1960 ที่มีฉากหลังหลาย ๆ ฉากเป็นการสำรวจอวกาศ เช่น การ์ตูน Fantastic Four ของมาร์เวล ในปี ค.ศ. 1961[13] ซีรีย์ Lost in Space ในปี ค.ศ. 1965 [14] Star Trek ในปี ค.ศ. 1966 หรือ 2001: A Space Odyssey

 

บรรณานุกรม

Aldo Spadoni. (2020). How Technology From the Space Race Changed the World. Retrieved from https://now.northropgrumman.com/how-technology-from-the-space-race-changed-the-world

Amy McKeever. (2022). How the space race launched an era of exploration beyond Earth. Retrieved from https://www.nationalgeographic.com/science/article/space-race-early-human-spaceflight-history-missions

Hill Aerospace Museum (2023). History of Intercontinental Ballistic Missiles (ICBMS) At Hill.  Retrieved. from https://www.aerospaceutah.org/history-of-intercontinental-ballistic-missiles-icbms-at-hill/

Martand Jha. (2017). This is How the Space Race Changed the Great Power Rivalry Forever. Retrieved from https://nationalinterest.org/feature/how-the-space-race-changed-the-great-power-rivalry-forever-21690

National Air and Space Museum (2023). The Military Rockets that Launched the Space Age. Retrieved from https://airandspace.si.edu/stories/editorial/military-rockets-launched-space-age

National Air and Space Museum (2023). What Was the Space Race?. Retrieved from https://airandspace.si.edu/stories/editorial/what-was-space-race

Randy Kennedy. (2007). When the Space Age Blasted Off, Pop Culture Followed. Retrieved from https://www.nytimes.com/2007/09/25/science/space/25pop.html

Royal Museums Greenwich (n.d.). Space race timeline. Retrieved from https://www.rmg.co.uk/stories/topics/space-race-timeline

Space. (2020). Sputnik: The Space Race's Opening Shot. Retrieved from  https://www.space.com/17563-sputnik.html

Taylor Maggiacomo and Alexander Stegmaier. (2021). Retrieved from  https://www.nationalgeographic.com/magazine/graphics/a-visual-timeline-of-every-animal-ever-sent-into-space

Tegan O'Neil. (2016). How the Cold War saved Marvel and birthed a generation of superheroes. Retrieved from https://www.avclub.com/how-the-cold-war-saved-marvel-and-birthed-a-generation-1798246215

 

อ้างอิง

[1] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: National Air and Space Museum (2023). What Was the Space Race?. Retrieved from https://airandspace.si.edu/stories/editorial/what-was-space-race

[2] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: Hill Aerospace Museum (2023). History of Intercontinental Ballistic Missiles (ICBMS) At Hill.  Retrieved. from https://www.aerospaceutah.org/history-of-intercontinental-ballistic-missiles-icbms-at-hill/

[3] National Air and Space Museum (2023). The Military Rockets that Launched the Space Age. Retrieved from https://airandspace.si.edu/stories/editorial/military-rockets-launched-space-age

[4] Space. (2020). Sputnik: The Space Race's Opening Shot. Retrieved from  https://www.space.com/17563-sputnik.html

[5] National Air and Space Museum (2023). The Military Rockets that Launched the Space Age. Retrieved from https://airandspace.si.edu/stories/editorial/military-rockets-launched-space-age

[7] Amy McKeever. (2022). How the space race launched an era of exploration beyond Earth. Retrieved from https://www.nationalgeographic.com/science/article/space-race-early-human-spaceflight-history-missions

[8] National Air and Space Museum (2023). What Was the Space Race?. Retrieved from https://airandspace.si.edu/stories/editorial/what-was-space-race

[9] Ibid.

[10] Royal Museums Greenwich (n.d.). Space race timeline. Retrieved from https://www.rmg.co.uk/stories/topics/space-race-timeline

[11] Aldo Spadoni. (2020). How Technology From the Space Race Changed the World. Retrieved from https://now.northropgrumman.com/how-technology-from-the-space-race-changed-the-world

[12] Martand Jha. (2017). This is How the Space Race Changed the Great Power Rivalry Forever. Retrieved from https://nationalinterest.org/feature/how-the-space-race-changed-the-great-power-rivalry-forever-21690

[13] Tegan O'Neil. (2016). How the Cold War saved Marvel and birthed a generation of superheroes. Retrieved from https://www.avclub.com/how-the-cold-war-saved-marvel-and-birthed-a-generation-1798246215

[14] Randy Kennedy. (2007). When the Space Age Blasted Off, Pop Culture Followed. Retrieved from https://www.nytimes.com/2007/09/25/science/space/25pop.html