ดนตรีในสวน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:13, 12 มิถุนายน 2567 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง :''' รองศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร แล...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และศิปภณ อรรคศรี

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติกับสวนสาธารณะ

          หลังจากที่ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ปรากฎผลลัพธ์เป็นชัยชนะของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์_ชินวัตร และอดีตผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีโดยพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ นายชัชชาติได้รับชัยชนะจากการลงสมัครในนามผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรคการเมือง พร้อมกับคำขวัญที่ใช้ในการหาเสียงซึ่งเป็นที่จดจำคือ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” และชุดนโยบายเส้นเลือดฝอยที่ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ให้ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและเป็นประโยชน์ในการเข้าใช้พื้นที่โดยประชาชนชาวกรุงเทพฯ โดยเฉพาะนายชัชชาติที่ลงพื้นที่หาเสียงและไลฟ์สดผ่าน Facebook ขณะกำลังวิ่งในสวนสาธารณะบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นทั้งการพบปะประชาชนในพื้นที่สาธารณะ อย่างสวนสาธารณะและตอกย้ำความสำคัญของการทำนโยบายพัฒนาสวนสาธารณะของนายชัชชาติเอง

          พื้นที่ “สวนสาธารณะ” กลายมาเป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งนายชัชชาติให้ความสนใจดังที่ได้มีการสะท้อนผ่านนโยบาย “สวน 15 นาที” ซึ่งเป็นหนึ่งใน 200 กว่านโยบายของนายชัชชาติ โดยนายชัชชาติอธิบายว่า “สวน 15 นาที” เป็นการกระจายพื้นที่สวนสาธารณะและพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที ในระยะทาง 800 เมตร ซึ่งเป็นความพยายามของนายชัชชาติที่ต้องการให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ด้วยการกำหนดนโยบายทางภาษีจูงใจให้เอกชนนำพื้นที่มาใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประสานกันระหว่างพื้นที่สาธารณะเดิมกับพื้นที่ใหม่ของเอกชน และต้องการให้นำไปสู่พื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน[1] อย่างไรก็ตาม นโยบายบริหารจัดการสวนสาธารณะเป็นนโยบายที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน อีกทั้งยังต้องจัดการงบประมาณที่จะนำมาใช้กับพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นเหตุให้นายชัชชาติเลือกที่จะมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในพื้นที่สาธารณะผ่านโครงการ “ดนตรีในสวน” แทน

 

Music in the Garden (1).jpg
Music in the Garden (1).jpg

ภาพ : จากเฟสบุ๊ค ชัชชาติ สิทธิพันธุ์[2]

 

ดนตรีในสวนกับการสร้างความร่วมมือจากประชาชนในช่วงรอเปลี่ยนผ่านจากปีงบประมาณเดิม

          ในวันที่ 4 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติปรากฏตัวในงานกิจกรรม “ดนตรีในสวน เพื่อความสุข และความหวัง” ณ สวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ โดยมีผู้เข้าร่วมจากมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และศิลปินนานาชาติเข้าร่วม[3] ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับนโยบาย 214 ข้อของนายชัชชาติที่ต้องการให้กรุงเทพฯ กลายเป็นพื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะ ซึ่งกลายมาเป็นทางเลือกให้ชาวกรุงเทพฯ มีกิจกรรมทางเลือกเพิ่มเติมให้เข้าร่วมในพื้นที่สาธารณะได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยนายชัชชาติได้เข้าร่วมกิจกรรมพบปะผู้เข้าร่วมกิจกรรมและร่วมสนุกสนานกับดนตรีของงานกิจกรรมครั้งนั้น ซึ่งเป็นโอกาสดีในการฉลองชัยชนะในการเลือกตั้งไปพร้อมกับตอกย้ำจุดยืนในการทำงานสนับสนุนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น “สวน 15 นาที” หรือ “ดนตรีในสวน”

          หลังจากนั้นนายชัชชาติยังได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมดนตรีในสวนอีกหลายครั้ง พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับผู้จัดงานโดยมีการขยายเครือข่ายความร่วมมือสู่มหาวิทยาลัย ให้วงดนตรีของนักศึกษาได้เข้าร่วมแสดงความสามารถรวมถึงวงดนตรีจากนักเรียนมัธยม และผู้พิการได้แสดงความสามารถด้านดนตรี[4] โดยยังคงเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมรับฟังฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายเช่นเดิม นอกจากนั้น การที่นายชัชชาติเข้าร่วมฟังดนตรีในสวนก็ยังคงสะท้อนภาพกระแสความนิยมในตัวของนายชัชชาติหลังผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ไปแล้ว

 

Music in the Garden (2).jpg
Music in the Garden (2).jpg

ภาพ : จากเฟสบุ๊ค ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

จาก “ดนตรีในสวน” สู่ “เทศกาล 12 เดือน”: การสร้างพื้นที่สาธารณะให้แก่ดนตรีและศิลปะที่เข้าถึงมวลชน

          หลังช่วงกลางปี 2565 ที่นายชัชชาติได้ปลุกกระแสของดนตรีในสวนให้คึกคักจากการเข้าร่วมอย่างล้นหลามของประชาชนที่มาใช้เวลาพักผ่อนฟังดนตรีในวันหยุด โดยในช่วงต้นปี 2566 ทางนายชัชชาติได้ประกาศถึงการกลับมาอีกครั้งของเทศกาล “ดนตรีในสวน” ภายใต้นโยบายของกรุงเทพมหานครที่ต้องการสนับสนุนการใช้ประโยชน์อย่างสร้างสรรค์จากพื้นที่สาธารณะ โดยมีการพัฒนาให้เข้ากับนโยบาย “12 เทศกาล 12 เดือน” เพื่อสนับสนุนให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะตลอดทั้งปีโดยแต่ละเดือนมีธีม (theme) การจัดงานที่แตกต่างกันไปเพื่อให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่มีสีสันและเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยงบประมาณที่จะนำมาใช้อยู่ที่ราว 8.9 ล้านบาท แม้ว่าจะเป็นงบประมาณที่อาจถูกมองว่าสูงสำหรับกิจกรรมประเภทนี้ แต่จากการแถลงของนายชัชชาติ และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่ามีความสมเหตุสมผลหากต้องจ่ายค่าจ้างกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมให้แก่ศิลปินที่เข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละครั้ง รวมถึงต้องใช้งบประมาณเพื่อการประสานงานให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ จัดการครอบคลุมตั้งแต่ประชาสัมพันธ์จนถึงจัดหาเครื่องมือสำหรับจัดกิจกรรมแต่ละครั้งให้ครอบคลุมการจัดเทศกาลดนตรีในสวนตลอดทั้งปี 2566[5] เพื่อนำไปสู่การสร้างพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้วันหยุดพักผ่อนในพื้นที่สวนสาธารณะซึ่งเปิดให้มีการสร้างสรรค์ในการแสดงดนตรีและศิลปะอย่างเปิดกว้างและสามารถเข้าถึงได้โดยทั่วไป

 

Music in the Garden (3).jpg
Music in the Garden (3).jpg
Music in the Garden (4).jpg
Music in the Garden (4).jpg

ภาพ : จากเฟสบุ๊ค ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

บรรณานุกรม

The Matter. (2565). นโยบาย ‘สวน 15 นาที’ ของชัชชาติ คืออะไร? Retrieved 18 กันยายน 2566, from https://thematter.co/brief/170445/170445

The Reporters. (2566). ‘ชัชชาติ – ศานนท์’ แจงงบจัดดนตรีในสวน 8.9 ล้าน เป็นงบทั้งปี. Retrieved 18 กันยายน 2566, from https://www.thereporters.co/tw-bkk/0701231443/

ไทยรัฐออนไลน์. (2565). เริ่มแล้ว! กรุงเทพฯ “ชัชชาติ” ร่วมงาน “ดนตรีในสวน” ขอทุกคนรวมพลัง. Retrieved 18 กันยายน 2566, from https://www.thairath.co.th/news/politic/2410635

มติชนออนไลน์. (2565). ชัชชาติ คลี่ตาราง ‘ดนตรีในสวน’ เริ่มวันนี้ ดึงวงอินดี้-น.ศ.-ผู้พิการแจมดนตรีหลากรส. Retrieved 18 กันยายน 2566, from https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3425893

 

อ้างอิง

[1] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: The Matter. (2565). นโยบาย ‘สวน 15 นาที’ ของชัชชาติ คืออะไร? Retrieved 18 กันยายน 2566, from https://thematter.co/brief/170445/170445

[2] ภาพจากเฟสบุ๊ค ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ https://www.facebook.com/chadchartofficial/photos/?ref=page_internal

[3] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ไทยรัฐออนไลน์. (2565). เริ่มแล้ว! กรุงเทพฯ “ชัชชาติ” ร่วมงาน “ดนตรีในสวน” ขอทุกคนรวมพลัง. Retrieved 18 กันยายน 2566, from https://www.thairath.co.th/news/politic/2410635

[4] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: มติชนออนไลน์. (2565). ชัชชาติ คลี่ตาราง ‘ดนตรีในสวน’ เริ่มวันนี้ ดึงวงอินดี้-น.ศ.-ผู้พิการแจมดนตรีหลากรส. Retrieved 18 กันยายน 2566, from https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3425893

[5] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: The Reporters. (2566). ‘ชัชชาติ – ศานนท์’ แจงงบจัดดนตรีในสวน 8.9 ล้าน เป็นงบทั้งปี. Retrieved 18 กันยายน 2566, from https://www.thereporters.co/tw-bkk/0701231443/