ป้ายชัชชาติ
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และศิปภณ อรรคศรี
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ป้ายหาเสียงกับชัยชนะของชัชชาติในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
ชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในการเลือกตั้งเมื่อ 22 พฤษภาคม 2565 ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงจากการลงสมัครรับเลือกตั้งในนามผู้สมัครอิสระ และได้รับคะแนนเสียงไปมากถึง 1,386,215 คะแนน หรือ ร้อยละ 51.84 ซึ่งถือว่าเป็นคะแนนเสียงไว้วางใจที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่เคยมีมา ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของนายชัชชาติ ซึ่งนำมาสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนั้น กล่าวได้ว่าเป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ของทีมงานนายชัชชาติ
ทีมงานเบื้องหลังคนสำคัญที่ช่วยในการออกแบบแคมเปญหาเสียงของนายชัชชาติจนประสบความสำเร็จ ได้แก่ ประกิต กอบกิจวัฒนา และปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ผู้ช่วยออกความคิดสร้างสรรค์ในการหาเสียงผ่านการสื่อสารรูปแบบใหม่[1] ไม่ว่าจะเป็นคำขวัญ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ซึ่งสร้างภาพจำของประชาชนทั่วไปให้รับรู้เข้าใจถึงภาพลักษณ์ความขยันและตั้งใจทำงานแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนชาว กทม. หรือคำขวัญ “Better Bangkok” ที่สร้างภาพจำเรื่องกรุงเทพฯ ในฐานะพื้นที่สำหรับคนทุกคนภายใต้การบริหารของผู้ว่าฯ ชัชชาติ รวมถึงการออกแบบนโยบายหาเสียงมากกว่า 200 นโยบาย ที่พยายามสะท้อนความคิดแบบเส้นเลือดฝอยที่มองเห็นปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ นอกจากนั้นแล้ว ป้ายหาเสียงเองก็เป็นอีกจุดเด่นหนึ่งที่ทีมงานชัชชาติสามารถสร้างภาพจำในเชิงบวกต่อนายชัชชาติ และกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ในการหาเสียงอีกด้วย

ภาพ : จากเฟสบุ๊ค ชัชชาติ สิทธิพันธุ์[2]
ภาพจำ “สีเขียว” และการสร้างแบรนด์หาเสียงของชัชชาติ
ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ ป้ายหาเสียงของนายชัชชาติมีความโดดเด่นด้วยความพยายามทำให้เรียบง่ายและเป็นการส้รางมาตรฐานใหม่ เนื่องจากแทนที่จะเป็นการใช้ป้ายหาเสียงขนาดใหญ่กีดขวางทางเดินหรือบดบังทัศนวิสัยของผู้ที่สัญจรไปมาบนทางเดิน แต่ป้ายหาเสียงของนายชัชชาติกลับสร้างจุดเด่นด้วยการทำให้มีขนาดที่เล็กลงกว่าป้ายของผู้สมัครคนอื่น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนความคิดของผู้คนที่เคยมีมาตรฐานในแข่งกันทำป้ายหาเสียงให้มีขนาดใหญ่ มาสู่การทำป้ายหาเสียงที่รบกวนพื้นที่สาธารณะน้อยลงผ่านการทำป้ายให้มีลักษณะเรียวยาวในแนวตั้งเบียดพื้นที่บนทางเดินน้อยลง แม้ว่าจะมีการแสดงความคิดเห็นสวนทางว่าทางพรรคประชาธิปัตย์เคยทำป้ายหาเสียงขนาดเล็กตามเสาไฟฟ้ามาก่อนแล้ว[3] แต่เมื่อเปรียบเทียบกับป้ายหาเสียงในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนั้นก็สังเกตได้เช่นกันว่าป้ายของนายชัชชาติมีขนาดเล็กและรบกวนพื้นที่บนทางเดินน้อยกว่าป้ายของผู้สมัครคนอื่น

ภาพ : จากเฟสบุ๊ค ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ป้ายหาเสียงของนายชัชชาติไม่เพียงแต่ใช้การออกแบบให้มีขนาดเล็ก หากแต่ยังเป็นการสร้างภาพจำ “สีเขียว” ของนายชัชชาติไปพร้อมกันใน 3 ประการ ได้แก่ สีเขียวของสิ่งแวดล้อม สีเขียวของการรีไซเคิล และสีเขียวของฮัลค์
ประการแรก คือ สีเขียวของป้ายซึ่งสัมพันธ์ไปกับนโยบายหาเสียงด้านสิ่งแวดล้อมของนายชัชชาติ ผ่านการใช้สัญลักษณ์อย่างสีเขียวบนป้าย หรือการใส่ต้นไม้ในฉากหลังของป้ายหาเสียง เพื่อเป็นการสะท้อนไปกับคำขวัญ “เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” เพื่อเป็นภาพสะท้อนของระบบนิเวศสีเขียวและสะอาด[4] ซึ่งสัมพันธ์ไปกับแนวทางหาเสียงอื่นของนายชัชชาติที่อิงกับแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการใช้จำนวนป้ายหาเสียงให้น้อยกว่า ร้อยละ 50 ที่ทางกฎหมายเลือกตั้งกำหนด หรือการหาเสียงด้วยรถยนต์ไฟฟ้า EV เป็นต้น
ประการที่สอง คือ สีเขียวซึ่งสะท้อนถึงการรีไซเคิล เนื่องจากทาง Twitter “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ได้เปิดเผยว่า ทีมงานเพื่อนชัชชาติได้ออกแบบป้ายหาเสียงให้สามารถนำมารีไซเคิลใช้งานใหม่ได้ด้วยการเย็บเป็นกระเป๋าไว้ใช้งานต่อได้หลังการเลือกตั้ง[5] ส่งผลให้หลังจากสิ้นสุดการเลือกตั้งแล้วป้ายหาเสียงจะไม่กลายเป็นขยะแต่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งสัมพันธ์ไปกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของนายชัชชาติ
![]() |
![]() |
ภาพ : จากเฟสบุ๊ค ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
นอกจากนั้น ประการที่สามว่าด้วยภาพจำต่อมีม (meme) ความแข็งแกร่งของนายชัชชาติที่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับตัวละครฮัลค์ (Hulk) ซึ่งเป็นยักษ์สีเขียวและมีความแข็งแกร่ง ซึ่งเดิมทีนายชัชชาติเคยเป็นมีมในโลกออนไลน์ด้วยภาพขณะถือถุงแกง และการเป็นภาพจำของ “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ในสมัยยังเป็นรัฐมนตรีคมนาคมของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์_ชินวัตร ส่งผลให้สีเขียวของป้ายไม่เพียงแต่เป็นการสร้างภาพจำใหม่ในเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ยังรื้อฟื้นภาพจำของมีมเดิมสู่การเป็นภาพจำของ “ผู้ว่าที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี”
ป้ายชัชชาติกับความสำเร็จในการหาเสียง
ท้ายที่สุดแล้ว นายชัชชาติประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งจนได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสามารถและการสร้างสรรค์ของทีมงานเพื่อนชัชชาติซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ จนแม้แต่หลังจากสิ้นสุดการเลือกตั้ง กระแสความนิยมของนายชัชชาติก็ยังคงสูงดังสังเกตได้จากกระแสของประชาชนทั่วไปที่ตามเก็บป้ายหาเสียงของนายชัชชาติมาใช้เป็นกระเป๋ารีไซเคิลตามแนวคิดลดขยะรักษ์โลก[6] แม้ว่าในเวลาต่อมาจะมีการห้ามปรามอันเนื่องจากการสุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนถึงความสำเร็จของทีมงานเพื่อนชัชชาติในการออกแบบนโยบายหาเสียง รวมถึงการออกแบบป้ายหาเสียงให้เป็นปฏิบัตินิยมสูงทั้งในแง่ของการรบกวนพื้นที่สาธารณะให้น้อยที่สุด และยังสามารถนำมาใช้ใหม่ได้จริงสอดคล้องไปกับแนวนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของนายชัชชาติอีกด้วย
บรรณานุกรม
Marketeer. (2565). เบื้องหลังแคมเปญหาเสียง ‘ชัชชาติ’ วางกลยุทธ์ปลุกไอเดียด้วยดาต้า ทีมเบื้องหลัง “ทำงาน” กันอย่างไร? Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://marketeeronline.co/archives/267783
Sutthipath Kanittakul. (2565). เสื้อ สี ท่าโพสต์ ป้ายหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. สะท้อนภาพลักษณ์อย่างไร? Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://thematter.co/bkk65/message-from-bkk-governor-election-poster/171949
ไทยโพสต์. (2565). กองเชียร์เงิบ! ป้ายหาเสียง 'ชัชชาติ' ไม่ใช่ของใหม่ 'ปชป.' เคยทำมาแล้ว. Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://www.thaipost.net/hi-light/117753/
ไทยรัฐออนไลน์. (2565). โซเชียลโชว์กระเป๋า "ชัชชาติ" ดัดแปลงจากป้ายหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://www.thairath.co.th/news/society/2399431
อ้างอิง
[1] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: Marketeer. (2565). เบื้องหลังแคมเปญหาเสียง ‘ชัชชาติ’ วางกลยุทธ์ปลุกไอเดียด้วยดาต้า ทีมเบื้องหลัง “ทำงาน” กันอย่างไร? Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://marketeeronline.co/archives/267783
[2] ภาพจากเฟสบุ๊ค ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ https://www.facebook.com/chadchartofficial/photos/?ref=page_internal
[3] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ไทยโพสต์. (2565). กองเชียร์เงิบ! ป้ายหาเสียง 'ชัชชาติ' ไม่ใช่ของใหม่ 'ปชป.' เคยทำมาแล้ว. Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://www.thaipost.net/hi-light/117753
[4] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: Sutthipath Kanittakul. (2565). เสื้อ สี ท่าโพสต์ ป้ายหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. สะท้อนภาพลักษณ์อย่างไร? Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://thematter.co/bkk65/message-from-bkk-governor-election-poster/171949
[5] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://twitter.com/chadchart_trip/status/1512422813994713094
[6] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ไทยรัฐออนไลน์. (2565). โซเชียลโชว์กระเป๋า "ชัชชาติ" ดัดแปลงจากป้ายหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://www.thairath.co.th/news/society/239943