ตั๋วช้าง
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิกานต์ มีจั่น
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
"ตั๋วช้าง" ถูกกล่าวถึงในฐานะตั๋ว หรือการใช้เส้นสายในวงการข้าราชการตำรวจที่ใหญ่ที่สุด ที่ใช้ในการ ซื้อ-ขาย ตำแหน่ง หากมีตั๋วนี้ราคาตำแหน่งจะถูกลงครึ่งหนึ่งและถือว่ามีอำนาจมากที่สุด เนื่องจากเป็นใบผ่านที่ขอตำแหน่งแล้วได้เลย ทั้งยังได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์ได้ทุกแบบ ไม่ต้องพิจารณาประวัติคนที่ขอว่าเคยมีมลทินหรือไม่[1]
คำว่าตั๋วช้าง ได้รับความสนใจต่อสาธารณชน เมื่อนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์_จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เรื่องการบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว รวมถึงการโยกย้ายตำแหน่งไม่เป็นธรรม ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 สืบเนื่องจากกรณีที่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกรัฐมนตรีประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้มีตำแหน่งในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการโยกย้าย แต่งตั้ง และจัดสรรข้าราชการตำรวจ เป็นเหตุให้ทั้งนายกและรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ แต่กลับไม่สามารถกำจัดการแทรกแซงการใช้อำนาจในทางที่ผิดได้ ทั้งยังมีการซื้อขายตำแหน่งหน้าที่อย่างเปิดเผย และไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรังสิมันต์มองว่าเป็นเหตุที่ไม่อาจวางใจให้นายกและรองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ในระหว่างการอภิปรายมีการคัดค้านและประท้วงหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งหมดเวลา ทำให้รังสิมันต์ตัดสินใจออกมาอภิปรายรายละเอียดของประเด็นตั๋วช้างด้านนอกห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร[2]
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องตั๋วช้างได้รับความสนใจและถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง เห็นได้ว่า #ตั๋วช้าง ได้ติดอันดับ 1 เทรนด์ของทวิตเตอร์ในไทย ที่มีผู้พูดคุยประเด็นนี้มากกว่า 7.5 แสนทวิตใน วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564[3]
การโยกย้าย แต่งตั้ง และจัดสรรข้าราชการตำรวจ
ประเด็นในอภิปรายเรื่องตั๋วช้าง เกิดจากการให้สัมภาษณ์ของ พลตำรวจตรีวิสุทธิ์ วานิชบุตร รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ในขณะนั้น เกี่ยวกับการซื้อขายตำแหน่งว่าถ้าไม่มีผู้ใหญ่คอยหนุนก็จะต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง แต่หากมี "ตั๋ว" ราคาที่ต้องจ่ายก็จะถูกลง จึงนำไปสู่การตั้งคำถามและตรวจสอบ จึงได้ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีของ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 (ผบก.ตร.มหด.รอ.904) ในขณะนั้น เป็นผู้รับผิดชอบการแต่งตั้งและเป็นผู้ส่งชื่อไปให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณาต่อไป
กรณีดังกล่าวนำมาสู่การตั้งคำถามอย่างน้อย 3 ประเด็น ได้แก่
(1) ประเด็นเรื่องการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ เนื่องจาก พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งข้าราชการนอกกองของตนเอง โดยอ้างอิงจากพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ที่กำหนดแนวทางปฏิบัติในการจัดการข้าราชการตำรวจที่ไม่ก้าวก่ายหน่วยงานอื่น
(2) ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนายกและรองนายกรัฐมนตรีกับของ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ที่มีการเอื้อประโยชน์ในการเลื่อนตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่งรังสิมันต์ตั้งข้อสังเกตว่า พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ รวมไปถึงข้าราชการตำรวจคนอื่น ๆ อีกหลายคน มีการเติบโตในเส้นทางอาชีพตำรวจรวดเร็วผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับตำแหน่งโดยการยกเว้นหลักเกณฑ์ในการเลื่อนตำแหน่ง ที่นำมาซึ่งความไม่โปร่งใสในการแต่งตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องไม่เป็นธรรมต่อนายตำรวจชั้นผู้น้อยที่ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบการทำงานมาโดยตลอด
(3) ประเด็นเรื่องการเอื้อประโยชน์จากตำแหน่งในเครือญาติ ข้อมูลในการอภิปรายครั้งนี้ ยังชี้ถึง "ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสา 904" ที่มีเครือญาติของ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ เป็นคณะกรรมการ และได้มีการอ้างการแต่งตั้งกลุ่มตำรวจนอกองบังคับบัญชาที่ผ่านการอบรมหน่วยจิตอาสา 904 และได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหน่วยอาสา 904 ได้มอบหมายภารกิจแล้ว เป็นเหตุสนับสนุนขอรับการแต่งตั้ง อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาช่วงเวลาในการแต่งตั้ง และเลื่อนตำแหน่งต่าง ๆ พบว่า มีความเกี่ยวข้องและเอื้อประโยชน์ให้กันและกัน นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโรงเรียนอาสา โดยเอื้อประโยชน์จากตำแหน่งในเครือญาติเป็นสถานที่ออก "ตั๋วตำรวจ" เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษ[4]
ทั้งนี้ ในการอภิปรายที่เกิดขึ้นรังสิมันต์ยังระบุว่า กรณีดังกล่าวนำไปสู่การชี้ให้เห็นถึงปัญหาการแทรกแซงอำนาจตำรวจและเพิกเฉยต่อการตรวจสอบ รวมถึงบกพร่องในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องของทั้งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นเหตุในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ภาพ : สื่อการนำเสนอการอภิปรายของนายรังสิมันต์ โรม เรื่อง ตั๋วช้าง วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564[5]
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
การทุจริตงบซ่อมบำรุงของกองบินตำรวจ
ต่อมาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตำรวจว่า ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตภายในกองบินตำรวจ (บ.ตร.) ได้เซ็นสัญญาโครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน กับบริษัท การบินไทย จำกัด มหาชน ให้เป็นผู้ดำเนินการซ่อมและจัดหาอะไหล่ ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เนื่องจากพบว่ามีการใช้งบประมาณหลายล้านบาทในการซื้อที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซ่อมเครื่องบิน อีกทั้งปล่อยปละละเลยไม่เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งนายกรัฐมนตรียังได้ลงนามในเอกสารขอรับการสนับสนุนงบกลางเพื่อชำระหนี้รายการค่าซ่อมบำรุงอากาศยานที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ผู้เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ยังมีความพยายามในการปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยในเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะนำมาใช้เป็นเกราะป้องกันเรื่องที่มัวหมองของตัวเอง ทั้งนี้ ภายหลังการอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ ได้สิทธิชี้แจงข้อกล่าวหาต่าง ๆ โดยระบุว่าได้สั่งให้คณะกรรมการเร่งตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบแล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นตอน ไม่ได้ปล่อยปละละเลยแต่อย่างใด[6]
การใช้เส้นสายผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมา เป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอส.)
“ตั๋วช้าง” กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งจากปมเรื่องการเลื่อนขั้นติดยศของ ร้อยตำรวจเอกหญิงอาทิติยา เบ็ญจะปัก หรือ "ผู้กองแคท" ซึ่งเคยเป็นผู้เข้าประกวดเวทีนางสาวไทยรายหนึ่ง ที่เลื่อนจากยศสิบตำรวจตรีหญิง ใช้เวลา 4 ปี ติดยศร้อยตำรวจเอก (ร.ต.อ.) หลังเข้าอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจ และบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอส.) โดยนับจากยศสิบตำรวจตรี (ส.ต.ต.) เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2564 และในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ได้ติดยศ ร้อยตำรวจโท (ร.ต.ท.) ต่อมาเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 ได้ติดยศ ร้อยตำรวจเอก (ร.ต.อ.) ซึ่งกรณีนี้ได้รับการนำมาวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อและสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ หลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอส.) เป็นหลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ซึ่งบรรจุจากบุคคลภายนอก เช่น ทายาทตำรวจ ผู้มีวุฒิปริญญาสาขาต่าง ๆ ผู้มีวุฒิปริญญาในสาขาวิชาที่ขาดแคลน นายแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ตำรวจน้ำที่รับโอนมาจากทหารเรือ นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ เป็นหลักสูตรตามระเบียบตำรวจ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วจะเห็นว่าคนที่เข้ามาผ่านหลักสูตรดังกล่าวมักจะเป็นคนตระกูลดัง นามสกุลดัง และพ่อแม่อยู่ในแวดวงต่าง ๆ ซึ่งหมายถึงการใช้เส้นสาย โดยพรรคก้าวไกลรับไปดำเนินการตรวจสอบ[7]
อย่างไรก็ดี นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกพรรคก้าวไกลได้ชี้ให้เห็นว่า กรณีนี้อาจเป็นอีกแบบหนึ่งของตั๋วช้างที่อาจเป็นช่องทางให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรม เช่น เว็บพนันหรือเว็บผิดกฎหมายสามารถส่งคนของตัวเองมาเป็นตำรวจและเป็นสายตำรวจ ซึ่งสุดท้ายก็จะทำให้ไม่สามารถปราบปรามอาชญากรรมได้ และอาจก่อให้เกิดเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นในวงการตำรวจ[8]
อ้างอิง
[1] “'ตั๋วช้าง' คืออะไร ประตูสู่การ ติดยศ สะเทือน วงการสีกากี”, สืบค้นจาก https://www.komchadluek.net/news/crime/550661 (15 มิถุนายน 2566).
[2] “‘ตั๋วช้าง’ คืออะไร? สรุปอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งใน และนอกสภา ของ ส.ส.รังสิมันต์ โรม แบบครบจบรวดเดียว”, สืบค้นจาก https://thematter.co/brief/136142/136142(15 มิถุนายน 2566).
[3] “‘ตั๋วช้าง’ คืออะไร? สรุปอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งใน และนอกสภา ของ ส.ส.รังสิมันต์ โรม แบบครบจบรวดเดียว”, สืบค้นจาก https://thematter.co/brief/136142/136142(15 มิถุนายน 2566).
[4] “‘ตั๋วช้าง’ คืออะไร? สรุปอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งใน และนอกสภา ของ ส.ส.รังสิมันต์ โรม แบบครบจบรวดเดียว”, สืบค้นจาก https://thematter.co/brief/136142/136142(15 มิถุนายน 2566).
[5] “เปิดที่มา "ตั๋วช้าง" คืออะไร ปมแฉเดือดกลางสภา สะเทือนวงการสีกากี”, สืบค้นจาก https://hilight.kapook.com/view/211146 (15 มิถุนายน 2566) , “สไลด์อภิปรายไม่ไว้วางใจ "ตั๋วตำรวจ" รังสิมันต์ โรม 19 ก.พ. 64. ”, สืบค้นจาก https://www.facebook.com/rangsimanrome /posts/648079919281992(15 มิถุนายน 2566).
[6] “อภิปรายไม่ไว้วางใจ : “ตั๋วช้าง” ตอนใหม่ โรมแฉนายพลตำรวจ รับเงินทอน-ก่อหนี้ให้รัฐ”, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/ thailand-62264426(15 มิถุนายน 2566).
[7] “จับกระแสการเมือง : วันที่ 8 มิ.ย.2566 "ประเด็นตั๋วช้าง"”, สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/328610(15 มิถุนายน 2566).
[8] “‘ตั๋วช้าง’เลื่อนยศร.ต.อ.หญิง ‘โรม’ขู่ลากไส้ปฏิรูปทั้งระบบ”, สืบค้นจาก https://www.thaipost.net/one-newspaper/393535/(15 มิถุนายน 2566).