พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย : ญี่ปุ่น

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:56, 16 สิงหาคม 2566 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ณัชชาภัทร อมรกุล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

 

          ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศเกาะตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปเอเชีย มีเกาะฮอนชู เกาะฮอกไกโด เกาะคิวชู และเกาะชิโกกุ ซึ่งเป็น 4 เกาะใหญ่ของญี่ปุ่น และยังมีเกาะขนาดกลางและเล็กอีก 3,500 เกาะ ประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดของญี่ปุ่นประกอบไปด้วยเกาหลีเหนือและใต้ รัสเซีย และจีน ประเทศญี่ปุ่นถูกแบ่งออกจากภาคพื้นทวีปด้วยทะเลญี่ปุ่น (The Sea of Japan) (Petry, 2003)

          ประเทศญี่ปุ่นมีประชากรอยู่อาศัยราว 125 ล้านคน ส่วนพื้นที่ ร้อยละ 71 ประกอบไปด้วยภูเขาและผืนป่า การบริหารการปกครองในญี่ปุ่น แบ่งเป็น 8 เขต และมี 47 จังหวัด ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประสบการณ์แผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดค่อนข้างบ่อยเพราะอยู่บนรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ญี่ปุ่นมีทั้งภูเขาไฟที่สงบนิ่งและภูเขาไฟที่ยังไม่ดับจำนวนมาก เกิดแผ่นดินไหวประมาณ 1,500 ครั้งต่อปี แต่ส่วนใหญ่เป็นการสั่นสะเทือน ส่วนแผ่นดินไหวรุนแรงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว (Country Report, 2023)

          ในปี ค.ศ. 2022 ญี่ปุ่นมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็น ลำดับที่ 3 ของโลก ในแง่ของ GDP (ปัจจุบันคือดอลลาร์สหรัฐ) และอยู่ใน ลำดับที่ 4 ของมูลค่าการส่งออก และเป็น ลำดับที่ 4 ของการนำเข้าทั้งหมด เศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่เป็น ลำดับที่ 26 ของโลกในแง่ของ GDP ต่อหัว (ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน) และมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ซับซ้อนที่สุด อันดับ 1 ในโลกตามดัชนีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ (ECI) (OEC, 2023)

 

ประวัติศาสตร์

          มีหลักฐานว่ามีมนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานในญี่ปุ่นมาตั้งแต่ 35,000 ปี ก่อนที่แล้ว แต่การพัฒนาระบบวัฒนธรรมในญี่ปุ่นเกิดขึ้นเมื่อราว 10,000 ปีที่แล้ว ในตอนท้ายของยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณ 10,000 ปีที่แล้ว เรียกว่า โจมอน (Jomon) โดยเป็นวัฒนธรรมแบบเก็บของป่าล่าสัตว์ มีการค้นพบเสื้อผ้าขนสัตว์ บ้านไม้ และภาชนะดินเผาที่สวยงาม (Szczepanski, 2019)

          พุทธศาสนาและระบบการเขียนของจีนได้แพร่หลายมาถึงญี่ปุ่นในช่วงยุคอาสุกะ (ค.ศ. 538-710) เช่นเดียวกับระบบการเขียนของจีน ในเวลานี้สังคมแบ่งออกเป็นกลุ่ม (clan) รัฐบาลกลางที่เข้มแข็งชุดแรกพัฒนาขึ้นในสมัยนารา (ค.ศ. 710-794) ชนชั้นสูงนับถือศาสนาพุทธและเขียนอักษรจีน ส่วนชาวบ้านเกษตรกรรมนับถือศาสนาชินโต (Szczepanski, 2019)

          วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงยุคเฮอัน (ค.ศ. 794-1185) ราชสำนักกลายเป็นที่ฟูมฟักและต่อยอดงานศิลปะ กวีนิพนธ์ และร้อยแก้ว ส่วนชนชั้นนักรบซามูไรก็พัฒนาขึ้นในเวลานี้เช่นกัน

          ขุนนางซามูไรที่เรียกว่า "โชกุน" ภายใต้ตระกูลมินาโมะโตะ เข้าควบคุมรัฐบาลใน ค.ศ. 1185 ทำให้เข้าสู่ยุคเสื่อมของจักรพรรดิและเป็นจุดเริ่มต้นของระบบศักดินาภายใต้การปกครองของโชกุน ซึ่งปกครองประเทศสืบเนื่องกันมาอีก 700 ปี (สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, 2020)

          ในปี ค.ศ.1213 อำนาจที่แท้จริงได้เปลี่ยนมือจากตระกูลมินาโมะโตะไปยังตระกูลโฮโจ ซึ่งเป็นตระกูลทางภรรยาของโยริโมะโตะ โดยเป็นผู้สำเร็จราชการให้โชกุน ตระกูลโฮโจค้ำจุนรัฐบาลที่เมืองคามากุระไว้ได้จนถึง ค.ศ.1333 ในระหว่างนั้นกองทัพมองโกลบุกกิวชิวตอนเหนือถึง 2 ครั้ง ในปี ค.ศ.1274 และ ค.ศ.1281 กองทัพญี่ปุ่นสามารถต้านทานการบุกดังกล่าวได้ กองทัพเรือส่วนใหญ่ของชนเผ่ามองโกลประสบความเสียหายอย่างหนักจากพายุใต้ฝุ่นในการบุกญี่ปุ่นทั้งสองครั้ง (สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, 2020)

          หลังจากนั้นได้มีการสถาปนาระบบโชกุนขึ้นอีกครั้ง โดยตระกูลอะชิคะงะ จนถึง ค.ศ.1573 แต่ในที่สุดก็ได้เกิดสงครามกลางเมืองโดยการนำของกลุ่มขุนนางหัวเมืองที่เรียกว่า ไดเมียว โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ได้รวบรวมญี่ปุ่นอีกครั้งใน ค.ศ.1590 ต่อมา โตกุงาวะ อิเอยะสึ ได้เป็นผู้สถาปนาระบบโชกุนโตกุงาวะที่เมืองเอโดะซึ่งปัจจุบันคือกรุงโตเกียว สิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสถาบันทางการเมืองและสังคมให้เป็นแบบอย่างต่อมาอีก 265 ปี (สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, 2020)

          ในปลายยุคเอโดะระบบโชกุนโตกุงาวะที่อิเอยาสึได้วางไว้ ต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงที่มาจากต่างประเทศ ชาติมหาอำนาจพยายามกดดันให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศรับการค้าระหว่างประเทศ ความกดดันต่าง ๆ ได้ส่งผลต่อระบอบโชกุนจนต้องมีการเปลี่ยนแปลงในค.ศ. 1868 ได้ทำให้เกิดการสิ้นสุดของระบอบโชกุนและการกลับคืนมาของพระราชอำนาจของพระจักรพรรดิอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้ชื่อการปฏิรูปเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) (สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, 2020)

          สมัยเมจิเป็นยุคสมัยที่ญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการปฏิรูปอุตสาหกรรมและการพัฒนาสถาบันทางการเมืองในรูปแบบใหม่ สมเด็จพระจักรพรรดิทรงย้ายเมืองหลวงจากเกียวโตไปที่โตเกียว มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ สถาปนาระบบราชการ จัดตั้งคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาที่มีสองสภา ยกเลิกระบบศักดินา การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังกล่าวสะท้อนถึงภาวะบีบคั้นที่ญี่ปุ่นต้องหยุดนิ่งมาเป็นระยะเวลานานเกือบ 300 ปี ในสมัยโชกุนโตกุกางะ

          การเปิดประเทศในสมัยเมจิส่งผลต่อนโยบายต่างประเทศที่มุ่งรุกรานประเทศอื่น โดยญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามจีน-ญี่ปุ่น (ค.ศ. 1894-1895) ทำให้ได้ครอบครองไต้หวัน เกิดสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (ค.ศ. 1904-1904) และผนวกเกาหลีเป็นรัฐในอารักขาใน ค.ศ. 1910

          สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิสวรรคตใน ค.ศ. 1912 เข้าสู่ยุคไทโช (ค.ศ. 1912-1926) และเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคโชวะ (ค.ศ. 1926-1989) ในตอนเริ่มยุคโชวะได้เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนทำให้มีการกล่าวโทษพรรคการเมือง พวกกลุ่มหัวรุนแรงได้ฉวยโอกาสในความสับสนวุ่นวายนี้สร้างระบบเผด็จการขึ้นมา สภาไดเอ็ตถูกลดบทบาทลง พรรคการเมืองไม่ได้รับความเชื่อมั่น และเกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่สงครามเอเชียแปซิฟิค ค.ศ. 1941 ฃึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้ออกจากสงครามครั้งนี้ด้วยความพ่ายแพ้ จักรพรรดิโชวะทรงประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ในสงคราม ดินแดนส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้การยึดครองของสหรัฐอเมริกา

          นายพลดักลาส แม็คอาเธอร์ ได้ทำการปฏิรูปทางสังคมและการเมือง มีการปฏิรูปที่ดิน ให้สิทธิในการจัดตั้งสหภาพแก่กรรมการ มีการยุบไซบัทสุหรือบริษัทคุมหุ้นรายใหญ่ ให้สิทธิเลือกตั้งกับสตรี มีการรับประกันเสรีภาพในการชุมนุม การพูด และศาสนา ใน ค.ศ. 1947 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

          หลังสงครามญี่ปุ่นได้มีการฟื้นฟูประเทศอย่างรวดเร็ว จนในกลางทศวรรษที่ 1960 ญี่ปุ่นอยู่ในสถานภาพที่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง พร้อม ๆ กับการเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหามลพิษ ญี่ปุ่นกลับมามีศักยภาพในเวทีโลกอีกครั้งหนึ่ง เข้าร่วมในองค์กรระหว่างประเทศหลากหลายองค์กร และมีบทบาทนำในการพัฒนา การค้าระหว่างประเทศ และความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

 

ระบอบกษัตริย์ในประเทศญี่ปุ่น

          ระบอบกษัตริย์ในประเทศญี่ปุ่นสืบเชื้อสายมาด้วยราชวงศ์เดียว คือ ราชวงศ์อิมพีเรียล ซึ่งถือเป็นราชวงศ์ที่เก่าแก่ที่สุดราชวงศ์หนึ่งในโลก ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าพระราชวงศ์นี้สืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้าอามาเตระสุ หรือ เทพแห่งดวงอาทิตย์ ดังนั้นพระจักรพรรดิ์จึงเป็นเทพเจ้า พระราชอำนาจขององค์จักรพรรดิ์ในช่วงแรก ๆ มาจากพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเทพเจ้า ระบบศักดินาและการถือครองที่ดิน (Way Megazine, 2021) โดยระบบศักดินาของญี่ปุ่นประกอบไปด้วย นักรบ ชาวนา ช่างฝีมือ และพ่อค้า มีนักรบเป็นชนชั้นสูงสุด

          แต่ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาพระราชอำนาจของพระจักรพรรดิ์ในประเทศญี่ปุ่นไม่ได้มีความสม่ำเสมอหรือสามารถรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางได้อย่างยาวนานเด็ดขาดเลยเสียทีเดียว พระจักรพรรดิในบางยุคอยู่ภายใต้การครอบงำของตระกูลขุนนาง บางพระองค์อยู่ภายใต้ขุนนางที่มีตำแหน่งทหารสูงสุด คือ “โชกุน” ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดผู้ขึ้นครองราชย์  

          ที่ยิ่งแย่กว่านั้นคือในยุคเซ็งโงคุ (ค.ศ. 1467-1615) เพราะแม้กระทั่งโชกุนผู้ที่สมควรมีอำนาจที่แท้จริงเองก็กลับไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาด ญี่ปุ่นในยุคนั้นเป็นยุคโชกุนตระกูลโยชิคางะซึ่งมีความอ่อนแอ รัฐบาลโชกุนไม่ได้มีอำนาจที่แท้จริงในการปกครอง เจ้าผู้ครองแคว้นที่มีตำแหน่งว่า “ไดเมียว” หลายคนตั้งตนเป็นอิสระจากการปกครองของโชกุน แล้วในยุคปลายเซ็งโงคุได้มีนักรบไดเมียวที่เก่งฉกาจ 3 คน คือ โอดะ โนบูนางะ, โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ และ โทกูงาวะ อิเอยะสึ ทำการรวบรวมแว่นแคว้นต่าง ๆ ในญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งภายใต้ชื่อ ยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868)

          นอกจาก โทกูงาวะ อิเอยะสึ จะรวบรวมญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียวได้แล้ว เขายังได้สร้างระบอบการปกครองแบบรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางที่เรียกว่า “บากุฮัน” โดยมีพระจักรพรรดิ์ดำรงสถานภาพประมุขของประเทศแต่ไม่มีอำนาจในการบริหาร เพราะอำนาจบริหารงานสูงสุดตกอยู่ที่โชกุน ไดเมียวต่าง ๆ มีอำนาจสูงสุดในแคว้นของตนเองอยู่ภายใต้อำนาจของโชกุนอีกที แต่ในยุคดังกล่าวพระจักรพรรดิไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองใด ๆ ถูกยึดที่ดินและถูกจำกัดค่าใช้จ่ายในพระราชสำนัก ทรงมีฐานะเป็นเพียงผู้นำทางศาสนาเท่านั้น

          ในยุคดังกล่าวเป็นยุคที่สงบสุขต่างจากยุคก่อนหน้านั้น ได้มีการฟื้นฟูลัทธิชินโตโบราณและขงจื้อขึ้นมาใหม่ แต่ก็ได้ทำให้ผู้นำบางส่วนต้องการฟื้นฟูพระราชสถานะของพระจักรพรรดิ์ขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากนี้ยังถูกชาติมหาอำนาจบังคับให้เปิดประเทศ เกิดความขัดแย้งในประเทศ เพราะขุนนางบางกลุ่มไม่ต้องการให้เปิดประเทศ ระบบทุนนิยมได้แพร่กระจายเข้ามาทำลายระบบศักดินา เปิดโอกาสไปสู่การคืนพระราชอำนาจให่กับพระจักรพรรดิ์ในเวลาต่อมา

          ในยุคเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) เป็นยุคสมัยของพระจักรพรรดิ์มุตสึอิโตะ และการฟื้นฟูพระราชอำนาจของพระจักรพรรดิ์กลับคืนมา เป็นยุคที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมภายในประเทศ แม้ว่าจะมีสงครามแต่ก็ได้ชัยชนะ หลังจากนั้นญี่ปุ่นได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคไทโช (ค.ศ. 1912-1926) ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง 15 ปี แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในมหาอำนาจโลก เนื่องจากสามารถเอาชนะรัสเซียและจีนมาได้ในช่วงปลายยุคเมจิ (สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, 2020)

          ยุคถัดไปคือยุคโชวะ (ค.ศ. 1926-1989) ซึ่งเป็นยุคที่กินระยะเวลานานมาก พระจักรพรรดิ์ฮิโรฮิโตะทรงครองราชย์ในยุคสมัยนี้ ในช่วงที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 จักรพรรดิญี่ปุ่นฮิโรฮิโตะได้ประกาศการยอมจำนนของญี่ปุ่นในการออกอากาศพระสุรเสียง (Jewel Voice Broadcast" หรือ "Gyokuon-hoso) เป็นครั้งแรกที่จักรพรรดิปราศรัยกับประชาชนทั้งประเทศทางวิทยุ พระองค์ไม่เคยใช้คำว่า "ยอมจำนน" และยังคงแสดงให้เห็นถึงความก้าวร้าวของญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ ในขณะเดียวกันก็สนับสนุน "ความเจริญรุ่งเรืองและความสุข" ทั่วโลก นอกจากนี้พระองค์ยังกล่าวถึง "ระเบิดลูกใหม่และโหดร้ายที่สุด" เป็นเหตุผลในการยอมจำนน (Atomic Heritage Foundation, 2022)

          โดยทรงประกาศต่อชาวญี่ปุ่นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้ยอมรับปฏิญญาพ็อทซ์ดัม ซึ่งต้องการให้ทหารญี่ปุ่นยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขเพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่สอง พระราชดำรัสดังกล่าวได้รับการเผยแพร่เมื่อเที่ยงวันตามเวลามาตรฐานญี่ปุ่น วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 1945 หลังจากยุทธการโอะกินะวะ การทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มฮิโระชิมะและนะงะซะกิ

          ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1946 พระองค์ได้ทรงมีพระบรมราชโองการผ่านทางวิทยุกระจายเสียง เพื่อให้ประชาชนรับรู้ร่วมกันว่า พระองค์ทรงเป็นมนุษย์ธรรมดาไม่ใช่เทพเจ้าและเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยทรงสวมใส่เสื้อผ้าแบบธรรมดา 

          นายพลแม็คอาเธอร์ ผู้ยึดครองญี่ปุ่น ได้พยายามทำให้ญี่ปุ่นเป็นประชาธิปไตย แต่เขาก็มองว่ามีความจำเป็นที่จะต้องรักษาองค์พระจักรพรรดิ์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนไว้ 

          ในช่วงนั้น ญี่ปุ่นมีรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ตั้งแต่สมัยยุคเมจิ แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ยึดติดกับอุดมการณ์แบบราชาธิปไตย มีข้อจำกัดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ สหรัฐอเมริกาจึงล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใน ค.ศ. 1947 และได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่คือรัฐธรรมนูญโชวะ โดยนายพลแม็คอาเธอร์ได้ออกคำสั่งให้ฝ่ายการเมืองของผู้บัญชาการสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตร (Supreme Commander for the Allied Powers (SCAP)) ร่างรัฐธรรมนูญภายใต้เงื่อนไขสามข้อ คือ

               1) พระจักรพรรดิ์เป็นประมุขของรัฐ มีการสืบทอดพระราชสันตติวงศ์และทรงมีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญและตอบสนองเจตจำนงพื้นฐานของประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

               2) ญี่ปุ่นจะไม่ทำสงครามอีกต่อไป ไม่มีกองทัพเป็นของตนเอง และ

               3) ยกเลิกระบบศักดินาหรืออภิสิทธิ์ต่าง ๆ ในกลุ่มขุนนาง ยกเว้นพระบรมวงศานุวงศ์  (National Diet Library, 2003)

          รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านรัฐสภาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1946 และประกาศใช้ในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1947 เป็นรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนแปลงพระราชสถานะและบทบาทของพระมหากษัตริย์ให้เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

 

ระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

          ถึงแม้ว่าราชวงศ์ญี่ปุ่นจะเก่าแก่ยาวนานสืบเชื้อสายได้นับหลายศตวรรษ แต่อำนาจที่แท้จริงของพระมหากษัตริย์เพิ่งเริ่มต้นในยุคเมจิใน ค.ศ. 1868 โดยรัฐธรรมนูญเมจิ ค.ศ. 1889 เป็นรัฐธรรมนูญสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฉบับแรก ที่กำหนดให้อำนาจสูงสุดเป็นของพระจักรพรรดิ จากเดิมก่อนหน้านั้นที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นอยู่ในยุคศักดินาที่อำนาจอยู่ในมือของโชกุนผู้ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และในบางยุคก็กระจัดกระจายอยู่ในมือของไดเมียวหรือขุนศึกผู้ครอบครองนครต่าง ๆ

          รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1946 ได้กำเนิดสถาบันพระจักรพรรดิแบบใหม่ที่อยู่ร่วมกับสถาบันทางการเมืองแบบสมัยใหม่อื่น ๆ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ รัฐสภา และระบอบประชาธิปไตย แต่ก่อนหน้านั้นพระจักรพรรดิคือศูนย์กลางของประเทศ ในช่วง ค.ศ. 1931-1945 พระองค์มีบทบาทสำคัญในช่วงสงครามโลกที่ก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลแก่มวลมนุษยชาติ ในตอนนั้นมีเสียงเรียกร้องให้ทรงถูกพิจารณาโทษในศาลอาชญากรสงครามระหว่างประเทศหรือเรียกร้องให้ทรงสละราชสมบัติ เฉกเช่นพระมหากษัตริย์ในหลายประเทศที่ต้องสละราชสมบัติหรือยกเลิกระบบกษัตริย์หลังจากแพ้สงคราม แต่นายพลสูงสุดของกลุ่มสัมพันธมิตร นายพลดักลาส แมคอาเธอร์ ได้พิจารณาแล้วว่าพระจักรพรรดิจำเป็นจะต้องอยู่ต่อไปเพื่อสร้างญี่ปุ่นขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง (Baker, 2019)

          ความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้บทบาทขององค์จักรพรรดิ์เปลี่ยนแปลงไปไม่ใช่องค์สมมติเทพแบบเดิม รัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่ให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่สภาไดเอ็ท ซึ่งเป็นรัฐสภาของประเทศญี่ปุ่นและนำอำนาจทางการเมืองออกจากองค์พระจักรพรรดิทั้งหมด ให้พระองค์มีบทบาทเป็น “สัญลักษณ์ของชาติและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน” (มาตรา 1)

          คำแนะนำและการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีความจำเป็นต่อพระราชกรณียกิจของพระองค์และคณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ (มาตรา 3) พระจักรพรรดิทรงกระทำการในเรื่องของรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ทรงมีอำนาจเกี่ยวกับการปกครอง (มาตรา 4)

          สมเด็จพระจักรพรรดิทรงปฏิบัติราชการแทนประชาชน โดยคำแนะนำและอนุมัติของรัฐมนตรีในเรื่องคำประกาศการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมาย คำสั่งคณะรัฐมนตรี และสนธิสัญญา ประกาศให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป การรับรองการแต่งตั้งและการถอดถอนรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และเอกอัครราชทูตและรัฐมนตรี การรับรองการนิรโทษกรรมทั่วไปและพิเศษ การลดโทษ การบรรเทาโทษ การคืนสิทธิ์ มอบประกาศเกียรติคุณ การรับรองสัตยาบันสารและเอกสารทางการทูตอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย (มาตรา 7)

 

อ้างอิง

Atomic Heritage Foundation. (2022). The Jewel Voice Broadcast. Retrieved March 13, 2023, from Atomic Heritage Foundation: https://ahf.nuclearmuseum.org/ahf/key-documents/jewel-voice-broadcast/

Baker, B. (2019, May 22). Japan’s modern monarchy: How it works. Retrieved from Penn Today: https://penntoday.upenn.edu/news/japans-modern-monarchy-how-it-works

Country Report. (2023). Japan Geography. Retrieved March 2, 2023, from Country Report: https://www.countryreports.org/country/Japan/geography.htm

National Diet Library. (2003). Three basic points stated by Supreme Commander to be "musts" in constitutional revision. Retrieved March 12, 2023, from National Diet Library: https://www.ndl.go.jp/constitution/e/shiryo/03/072/072_002l.html

OEC. (2023, March 1). Japan. Retrieved from NEW MULTIDIMENSIONAL ECONOMIC COMPLEXITY RANKINGS: https://oec.world/en/profile/country/jpn

Petry, A. K. (2003, July). Geography of Japan. Retrieved March 2, 2023, from Standford Program on INternational and Cross-Cultural Education: https://spice.fsi.stanford.edu/docs/geography_of_japan

Szczepanski, K. (2019, May 6). Japan: Facts and History. Retrieved March 1, 2023, from Thought.co: https://www.thoughtco.com/japan-facts-and-history-195581

Way Megazine. (2021, December 7). Emperor of Japan. Retrieved March 1, 2023, from Way Megazine: https://waymagazine.org/emperor-of-japan/

สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย. (12 February 2020). ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น. เรียกใช้เมื่อ 1 March 2023 จาก https://www.th.emb-japan.go.jp/itpr_th/history.html