พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย : อังกฤษ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:29, 15 สิงหาคม 2566 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' ''':''' ณัชชาภัทร อมรกุล '''ผู้ทรงคุณวุฒิปร...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ณัชชาภัทร อมรกุล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

 

          สหราชอาณาจักร เป็นประเทศเกาะในมหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป มีพื้นที่ 243,610 ตารางกิโลเมตร ลักษณะของประเทศเป็นเกาะ แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ บริเตนใหญ่ (Great Britain) คือ ส่วนที่ประกอบไปด้วยแคว้นอังกฤษ เวลส์ สก๊อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ อาณาเขตโดยรอบของสหราชอาณาจักรติดต่อกับมหาสมุทรแอตแลนติก ทะเลเหนือ และช่องแคบอังกฤษ (Briney, 2021)

          สหราชอาณาจักร เป็นประเทศอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและมีอิทธิพลต่อการเมืองและเศรษฐกิจโลก เป็นหนึ่งใน 5 สมาชิก ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 6 ของโลก เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เคยเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกในศตวรรษที่ 19 และมีอาณานิคมอยู่ทั่วโลก ได้แก่ ดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือ แอฟริกา และเอเชียในหลากหลายพื้นที่ จนเคยเป็นที่ขนานนามว่าเป็นจักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน เพราะมีแสงอาทิตย์สาดส่องอยู่ในทุกบริเวณ ที่เป็นอาณานิคมของจักรวรรดิ์

          สหราชอาณาจักร มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (Unwritten Constitution) ชื่ออย่างเป็นทางการของสหราชอาณาจักร คือ สหราชอาณาจักรเกรทบริเทนและไอร์แลนด์เหนือ (The United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland)  (Briney, 2021)

          ตั้งแต่ส่วนนี้ของบทความนี้จะขอใช้คำว่า “อังกฤษ” เพื่อแทนประเทศสหราชอาณาจักรเกรทบริเทนและไอร์แลนด์เหนือ ทั้งที่แท้จริงแล้ว “อังกฤษ” มีฐานะเป็นเขตการปกครองหนึ่งของสหราชอาณาจักรเท่านั้น โดยราชบัณฑิตยสถานอนุโลมให้ใช้คำว่า “อังกฤษ” แทนได้ เมื่อจะหมายถึงสหราชอาณาจักร เนื่องจากประเทศนี้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศหลายครั้ง โดยใน ค.ศ. 1707 มีการเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า "บริเตนใหญ่" ต่อมาใน ค.ศ. 1801 มีชื่อว่า สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ และเมื่อไอร์แลนด์ทางใต้แยกตัวออกไปเป็นประเทศ จึงได้ใช้ชื่อ สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (อิสริยา เลาหตีรานนท์, 2551)

 

ประวัติศาสตร์

          บริเวณที่เป็นประเทศอังกฤษในปัจจุบันนี้ เคยเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนเผ่าเซลติกโบราณในช่วง 1,000 ปี ก่อนคริสกาล (National Musuem Wales, 2021) ต่อมาได้ถูกครอบครองโดยสาธารณรัฐโรมันใน ค.ศ. 43 (Johnson, 2023) โดยจักรพรรดิ์เคลาดิอุส จนถึงช่วงประมาณ ค.ศ. 500 (English Heritage, 2023)

          ก่อนหน้าการครอบครองของจักรวรรดิโรมัน เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่จะทำให้เราได้เข้าใจรากฐานทางวัฒนธรรมการเมืองอังกฤษ คือ การเป็นเผ่าชนที่แยกตัวออกจากกัน ภาพของเผ่าชนที่อยู่ในอังกฤษสมัยก่อนจึงเป็นชนเผ่าอิสระและมีผู้ปกครองควบคุมดินแดนในแต่ละที่ ไม่มีการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง และแม้กระทั่งในช่วงหลัง ค.ศ. 500 ที่ชาวโรมันออกไปแล้ว อังกฤษก็ไม่ได้รวมกันเป็นประเทศเช่นทุกวันนี้ แต่เป็นการรวมกันของราชอาณาจักร (kingdom) ที่เรียกรวม ๆ กันว่าราชอาณาจักรของพวกแองโกล-แซกซอน ราชอาณาจักรเหล่านี้เป็นที่อยู่ของคนกลุ่มต่าง ๆ และแต่ละกลุ่มก็มีกษัตริย์เป็นของตนเอง อาณาจักรที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ เวสเซ็กซ์ (ซึ่งปัจจุบันคือทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ) เมอร์เซีย (ในมิดแลนด์ส) นอร์ทธัมเบรีย (ทางเหนือ) และอีสต์แองเกลีย ซึ่งรวมถึงมณฑลนอร์ฟอล์กและซัฟฟอล์กในปัจจุบัน  (English Heritage, 2023)

          ในช่วงศตวรรษที่แปดดินแดนที่เป็นอังกฤษในปัจจุบันนี้ถูกโจมตีจากกลุ่มไวกิ้งทางสแกนดิเนเวีย ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ที่แบ่งแยกกันเป็นส่วน ๆ ไม่ได้ร่วมมือกันสามัคคีต่อต้านคนต่างชาติเช่นนี้ พงศาวดารแองโกล-แซกซอน ได้บันทึกไว้ถึงการโจมตีดังกล่าวที่เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 793 และเกิดขึ้นรุนแรงและยาวนานมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่ง ค.ศ. 865 มีบันทึกไว้ว่าพวกไวกิ้งสามารถขึ้นบกได้ที่อีสต์แองเกลีย และใน ค.ศ. 871 พวกไวกิ้งเอาชนะราชอาณาจักรแถวนี้ได้หลายเมือง ได้แก่ Northumbria, East Anglia และ Mercia บรรดากษัตริย์ผู้ปกครองถูกสังหารชีวิตหรือหลบหนีไป (English Heritage, 2023)

          ในกลุ่มกษัตริย์ของราชอาณาจักรต่าง ๆ นั้น มีเพียงกษัตริย์พระองค์เดียวที่ต่อกรกับพวกไวกิ้งได้ พระองค์ คือ พระเจ้าอัลเฟรดมหาราช (ค.ศ. 849-899) แห่งเวสเซ็ก (Wessex) พระองค์สามารถเอาชนะไว้กิ้งผู้รุกรานที่เอดิงตัน (Edington) ในวิลท์เชียร์ (Wiltshire) ใน ค.ศ. 878 หลังจากนั้นพระองค์ทรงเจรจากับพวกไวกิ้ง และทำข้อตกลงสันติกภาพให้พระองค์สามารถควบคุมดินแดนทั้งหมดในอังกฤษทางตอนเหนือและทางตะวันออก (English Heritage, 2023) ในฐานะกษัตริย์แองโกลแซกซอนพระองค์แรกใน ค.ศ. 87 (Brain, 2019)

          ช่วงระยะเวลาหลังจากนั้นกษัตริย์อังกฤษหลายต่อหลายคนต่างก็ต้องต่อขับเคี่ยวต่อรองกับเหล่าขุนนางที่ทรงอำนาจ จนในที่สุดเอกสารสำคัญ คือ มหากฎบัตรหรือแมกนาคาร์ตา (Magna Carta ค.ศ. 1215) ได้ก่อกำเนิดขึ้น โดยการจำกัดอำนาจของกษัตริย์เพิ่มสิทธิของขุนนาง และสร้างพื้นที่ในการพูดคุยเจรจาระหว่างกษัตริย์กับข้าราชบริพาร พื้นที่นั้นมาจากรากศัพท์ภาษาฝรั่งเศสว่า Parler ที่แปลว่าพูด และในที่สุดก็กลายเป็นคำว่า รัฐสภา (parliament)

          ต่อมา ได้เกิดสงครามแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างราชตระกูลในประเทศอังกฤษในชื่อของ สงครามดอกกุหลาบ (War of Roses ค.ศ. 1455-1487) อันเป็นการจบสิ้นการสืบราชสันตติวงศ์ของราชวงศ์แพลนแทเจเนต (House of Plantagenet) ซึ่งครองอังกฤษอย่างยาวนานที่สุด ในที่สุดราชวงศ์ทิวดอร์เป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้ ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจของพระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษครั้งยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงเปลี่ยนศาสนา โดยทรงหย่ากับสมเด็จพระราชินีของพระองค์คือ พระนางแคทเทอรีนแห่งอารากอน (Catherine of Aragon ค.ศ. 1485-1536) ด้วยข้ออ้างว่า พระนางไม่สามารถให้รัชทายาทชายแก่พระองค์ได้ แต่ศาสนจักรโรมันคาธอลิกไม่พอใจในเรื่องนี้ พวกเขาปฏิเสธคำขอหย่าของพระองค์

          การเปลี่ยนศาสนาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อย่างไร คงต้องย้อนกลับไปถึงแนวคิดเทวสิทธิ์ (divine rights theory) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยอมรับว่าพระเจ้าได้ทรงประทานสิทธิบางประการมาให้มนุษย์บางคนปกครองมนุษย์คนอื่น ๆ ได้ แนวคิดนี้มีรากฐานมาตั้งแต่ยุคกลาง ทำให้ประชาชนยอมรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ในระยะเริ่มแรกพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ก็ยังติดอยู่ที่ว่า พระองค์ทรงได้สิทธินี้ผ่านมาทางพระสันตปาปา (Foresi, 2014) แต่ในสมัยต่อมาได้เกิดการปฏิรูปศาสนา (reformation) โดยมีหลักการคือ พระเจ้ากับมนุษย์สามารถมีเส้นทางสื่อสารกันได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านตัวแทนดั้งเดิมหรือสันตปาปาเท่านั้น หลักการนี้กลายมาเป็นหลักการที่สั่นคลอนอำนาจรวมศูนย์ ของคริสตศาสนาโรมันคาธอลิกทันที

          การปฏิรูปศาสนาที่เริ่มใน ค.ศ. 1517 โดย มาร์ติน ลูเธอร์ กลายเป็นหนึ่งในต้นเหตุของความขัดแย้ง ความเป็น ความตาย สงครามศาสนา สงครามกลางเมือง และการก่อร่างสร้างตัวของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วงหลังยุคกลาง จากประสบการณ์ดังกล่าวทำให้มนุษย์บางส่วนได้เรียนรู้เรื่อง “ขันติธรรมทางศาสนา” และพยายามจะไม่ให้ความแตกต่างทางศาสนาหรือความเชื่อกลายเป็นปัญหาของสังคม

          กลับมาตอบคำถามว่าการปฏิรูปศาสนามีส่วนช่วยสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อย่างไร พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ไม่ต้องการให้พระสันตปาปาที่โรมมามีอิทธิพลเหนือเรื่องส่วนพระองค์ พระองค์ต้องการแสดงให้เห็นว่าพระองค์มีอำนาจสูงสุดในทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องศาสนาด้วย พระองค์จึงอาศัยแนวคิดการปฏิรูปศาสนาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น มาแยกราชอาณาจักรของพระองค์ออกจากคริสตจักรโรมันคาธอลิก พระองค์คิดว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีอำนาจทางการเมืองในอังกฤษอยู่แล้ว ต่อแต่นี้ไปพระองค์จะมีอำนาจสูงสุดในทางศาสนาด้วย พระองค์จึงต่อสู้เพื่อออกมาจากเขตอำนาจของคริตสศาสนาที่มีศูนย์กลางอยู่ที่อังกฤษ แต่กระบวนการดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ถ้าไม่ได้มาในระยะเวลาที่เหมาะสมหรือมีผู้เห็นดีเห็นงามด้วยอยู่มากพอสมควร (Foresi, 2014)

          อาจจะเรียกได้ว่าพระองค์ทรงอยู่ในจังหวะที่เหมาะสมมาก ทรงอาศัยกระแสการปฏิรูปศาสนาที่ต้องการแยกตัวมาจากศาสนจักรโรมันคาธอลิกมาก่อนหน้านั้นแล้ว ทรงเลือกที่จะอยู่ข้างการเคลื่อนไหวที่ต้องการแยกตัวออกมาจากศาสนจักรโรมันคาธอลิกใน ค.ศ. 1533 พระองค์ได้ทรงสถาปนาโบสถ์แห่งอังกฤษ (Church of England) ให้เป็นนิกายใหม่ของอังกฤษโดยเฉพาะ หลังจากนั้นอังกฤษกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับสเปนเนื่องจากพระราชินีนาถที่ทรงหย่าด้วย คือ พระนางแคทเทอรีนแห่งอารากอน ผู้ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระนางอิสซาเบลลาแห่งคาสตีล (ค.ศ. 1451-1504) และพระเจ้าเฟอร์ดินานห์แห่งอารากอน (ค.ศ. 1452-1516) ผู้ยิ่งใหญ่ที่รวบรวมราชอาณาจักรสเปนเป็นปึกแผ่น

          หัวใจของความสำเร็จของพระองค์ไม่ได้มีแค่เรื่องกระแสการปฏิรูปศาสนาที่เกิดมาก่อนหน้านั้น แต่อยู่ที่การที่ทรงใช้อำนาจของรัฐสภามาเป็นฐานอำนาจของพระองค์ พระองค์ทรงเรียกประชุมรัฐสภาหลังจากที่ความตั้งใจของพระองค์ในการหย่าร้างกับพระนางแคทเทอรีนแห่งอารากอนไม่ได้รับการยอมรับจากพระสันตปาปาแห่งกรุงโรม นี่แสดงให้เห็นว่าบทบาทของรัฐสภามีความสำคัญมากแค่ไหน พระเจ้าเฮนรีที่ 8 และพระมหากษัตริย์หลังจากนั้นอีกหลายพระองค์ทรงตระหนักว่า การตัดสินใจต่าง ๆ นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาในรูปแบบพระราชบัญญัติ นี่คือการทำให้อำนาจรัฐสภาในอังกฤษเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อย ๆ 

          ใน ค.ศ. 1642-1651 อังกฤษตกอยู่ภายใต้สงครามกลางเมืองอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นสงครามระหว่างกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 และรัฐสภา โดยสาเหตุของสงครามค่อนข้างสลับซับซ้อนและมีหลายชั้น ศูนย์กลางของปัญหาอาจจะมาจากความขัดแย้งทางศาสนาและความไม่พอใจของรัฐสภาที่มีต่อการใช้อำนาจของ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 และนโยบายเศรษฐกิจของพระองค์ (Pattison, 2023)

          ผลของสงคราม คือ รัฐสภาเป็นฝ่ายชนะ แต่อำนาจไม่ได้อยู่ในมือของประชาชน แต่กลับไปอยู่ที่ตัวนายพลที่เข้าข้างฝ่ายรัฐสภา คือ โอลิเวอร์ ครอมเวลลล์ (ค.ศ. 1599-1658) เขาได้ตั้งให้ตัวเองเป็นผู้ปกป้อง (Lord Protector) ของอังกฤษ ผู้ซึ่งเปลี่ยนอังกฤษให้เป็นสาธารณรัฐและเป็นหนึ่งในผู้ลงนามให้ประหาร พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 และแม้ว่าเขาจะล้มระบอบกษัตริย์ แต่เขาก็ไม่ได้สนับสนุนเสรีนิยมหรือประชาธิปไตย เขามักทำตัวเป็นเผด็จการและมีปัญหากับรัฐสภาเสมอ (อัศวัตถามา, 2565) เมื่อเขาเสียชีวิตใน ค.ศ. 1558 ชาวอังกฤษจึงเรียกร้องให้มีระบบรัฐสภาและการปกครองโดยพระมหากษัตริย์กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง จึงได้มีการทูลเชิญ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 (Charles II, ค.ศ. 1630-1685) กลับมาปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่ง

          ใน ค.ศ. 1688 อังกฤษกลับมามีปัญหาทางการเมืองอีกครั้ง เพราะพระเจ้าเจมส์ที่ 2 (James II, ค.ศ. 1633-1701) ทรงเป็นโรมันคาธอลิกและทรงต้องการที่จะย้อนประเทศกลับเป็นโรมันคาธอลิก กลุ่มโปรแตสแต้นท์จึงหันไปหาพระนางแมรีผู้เป็นพระราชธิดา ซึ่งตอนนั้นพระนางได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าวิลเลียมที่ 2 แห่งออเรนจ์ ซึ่งเป็นโปรแตสแตนท์ทั้งคู่ ทั้งสองพระองค์ได้ทรงกรีฑาทัพมาถึงอังกฤษ พระเจ้าเจมส์ผู้เป็นพระราชบิดาทรงต่อต้านอยู่บ้างพอเป็นพิธี พระนางแมรีและพระเจ้าวิลเลียมก็ทรงได้รับชัยชนะโดยไม่เสียเลือดเนื้อ และสามารถขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 และสมเด็จพระราชินีแมรีที่ 3 ของอังกฤษได้สำเร็จ เรียกว่าเป็นการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution)

          ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการตราพระราชบัญญัติสิทธิ์ (Bill of Rights 1689) มีการสถาปนาให้รัฐสภาเป็นหน่วยการปกครองที่มีอำนาจสูงสุดในอังกฤษ ในลักษณะที่คล้ายกับสภาฐานันดร (State General) ในสาธารณดัตช์นั่นเอง พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังได้สนับสนุนสิทธิของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพของพลเมืองอังกฤษ ทำให้จากจุดนี้ไปอังกฤษปกครองภายใต้ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy)  

 

พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

          จุดเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษ เกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (ค.ศ. 1688) อันนำไปสู่ ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ถูกจำกัดพระราชอำนาจโดยกรอบของกฎหมาย เช่น Bill of Rights 1689 และ Act of Settlement 1701 แต่ถ้าเราได้ย้อนพิเคราะห์ดูในประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่า การจำกัดอำนาจของกษัตริย์ (A Limited Monarchy) จะเก่าแก่กว่านั้นมาก ดังที่เห็นในมหากฎบัตร (Magna Carta) ใน ค.ศ. 1215

          ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษมีสถานภาพเป็นกลางทางการเมือง และบทบาทส่วนใหญ่เป็นการประกอบพิธีการ การเป็นศูนย์รวมจิตใจ การเป็นสัญลักษณ์ของชาติ โดยการดำเนินการของรัฐบาลที่สำคัญหลายสิ่งทำในนามของพระมหากษัตริย์หรือทรงใช้อำนาจตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี อำนาจเหล่านี้มีความหลากหลายเช่น (ก) การแต่งตั้งบิชอบในนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ (ข) อำนาจในการแต่งตั้งรัฐบาล ค) เรียกประชุมและถอดถอนรัฐสภา (ง) ประกาศสงคราม (จ) แต่งตั้งสมาชิกสภาสูง (ฉ) ดำเนินคดีอาญาทั้งหมด (ช) มอบเหรียญรางวัล (ซ) ควบคุมกองกำลังติดอาวุธทั้งหมด (i) ควบคุมกองกำลังตำรวจ (ญ) ผ่าน (หรือไม่ผ่าน) พระราชบัญญัติของรัฐสภา (k) แต่งตั้งผู้พิพากษา และ (l) ให้อภัย (ซึ่งเป็นสาระสำคัญภายใต้ทิวดอร์และเป็นพื้นฐานของกลไกในการแต่งตั้งพระสังฆราชโดยตรง) อย่างไรก็ตาม กิจกรรมดังกล่าว (โดยทั่วไป) ไม่ได้กระทำโดยพระนางโดยตรง แต่หากทรงทำหน้าที่เหล่านี้โดยไม่เกี่ยวข้องกับรัฐสภา จะนำปสู่วิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ตามประวัติศาสตร์แล้ว พระมหากษัตริย์ไม่สามารถถูกดำเนินคดีในความผิดทางอาญาใด ๆ หรือต้องให้การเป็นพยานในศาลได้ (British Monarchist League Ltd, 2014)

          พระมหากษัตริย์มีสิทธิ์ที่จะทรงได้รับการปรึกษาหารือ (the right to be consulted), สิทธิ์ที่จะทรงให้กำลังใจ (the right to encourage), และสิทธิที่จะทรงตักเตือน (the right to warn) ตามที่วอลเตอร์ เบจชอต ปัญญาชนและนักหนังสือพิมพ์อังกฤษชื่อดังเขียนไว้ในหนังสือ "The English Constitution" (ค.ศ.1867 หรือ พ.ศ. 2410) (BBC News Thai, 2020)

          ธรรมเนียมปฏิบัติของพระมหากษัตริย์อังกฤษได้ถูกบันทึกอย่างเป็นทางการในคู่มือคณะรัฐมนตรี (Cabinet Manual) ค.ศ. 2010 โดยมีการพูดถึงพระราชอำนาจ (Royal Prerogative) ว่า "เป็นอำนาจที่หลงเหลืออยู่ที่กษัตริย์ทรงมีติดตัวมา" ซึ่งมีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ จากที่พระมหากษัตริย์เคยอำนาจนี้ได้ แต่ทุกวันนี้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้พระราชอำนาจเอง ไม่ว่าจะด้วยสิทธิของตัวเองหรือจากคำแนะนำที่ถวายแด่พระมหากษัตริย์ โดยพระองค์ต้องทรงทำตามข้อผูกมัดทางรัฐธรรมนูญและแนวปฏิบัติดังกล่าวนี้สะท้อนหลักการว่า พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้ (The king can do no wrong) เพราะการกระทำทุกประการของพระองค์ต้องมีผู้รับสนองบรมราชโองการและเป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น (BBC News Thai, 2020)

          นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ทุกสัปดาห์เพื่อหารือข้อราชการเป็นส่วนตัว แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงวางพระองค์เป็นกลางทางการเมืองในทุกเรื่อง แต่พระองค์ก็สามารถ "แนะนำและเตือน" รัฐมนตรีรวมถึงนายกรัฐมนตรีได้เมื่อจำเป็น (Royal Household at Buckingham Palace, 2023)

          ยิ่งทรงครองราชย์นานเท่าใดประสบการณ์ของพระมหากษัตริย์ก็ยิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระองค์ได้รับสำเนาเอกสารของรัฐทั้งหมด บันทึกของคณะรัฐมนตรีทั้งหมด รายงานจากเอกอัครราชทูตอังกฤษทั่วโลก ข่าวกรองด้านความมั่นคง พระองค์จึงทรงมีข้อมูลสะสมเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ อย่างมากมายและต่อเนื่อง

          แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะไม่มีบทบาททางการเมืองหรือการบริหารอีกต่อไป แต่พระองค์ยังคงมีบทบาทสำคัญในชีวิตของชาติ (life of the nation) ทรงอยู่ในฐานะประมุขแห่งรัฐ ทรงรับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และหน้าที่ของการเป็นตัวแทนซึ่งได้มีวิวัฒนาการมากว่าหนึ่งพันปี ทรงเป็นจุดเน้นสำหรับเอกลักษณ์แห่งชาติ เอกภาพ และความภาคภูมิใจ ให้ความรู้สึกมั่นคงและต่อเนื่อง (Royal Household at Buckingham Palace, 2023)

 

อ้างอิง

BBC News Thai. (10 ธันวาคม 2020). สถาบันกษัตริย์: มองราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอังกฤษ ย้อนดูการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไทยในขณะนี้. เรียกใช้เมื่อ 12 March 2023 จาก BBC News Thai: https://www.bbc.com/thai/thailand-55235766

Brain, J. (2019, April 1). Alfred the Great. Retrieved March 12, 2023, from Historic UK: https://www.historic-uk.com/HistoryUK/HistoryofEngland/Alfred-the-Great/

Briney, A. (2021, February 16). Geography of the United Kingdom. Retrieved March 12, 2023, from ThoughtCo: https://www.thoughtco.com/geography-of-the-united-kingdom-1435710

British Monarchist League Ltd. (2014). Constitutional Monarchy. Retrieved March 12, 2023, from British Monarchist League Ltd: http://www.monarchist.org.uk/constitutional-monarchy.html

English Heritage. (2023). ROMANS. Retrieved March 12, 2023, from English Heritage: https://www.english-heritage.org.uk/learn/story-of-england/romans/

English Heritage. (2023). What Happened When the Vikings Came to England? Retrieved March 12, 2023, from English Heritage: https://www.english-heritage.org.uk/members-area/kids/saxons-vikings/vikings-in-england/

Foresi, T. (2014, November 25). 'The absolute right to rule' – The Divine Right of Kings. Retrieved March 12, 2023, from Royal Central: https://royalcentral.co.uk/features/the-absolute-right-to-rule-the-divine-right-of-kings-40465/

Johnson, B. (2023). The Romans in England. Retrieved March 12, 2023, from Historic UK: https://www.historic-uk.com/HistoryUK/HistoryofEngland/The-Romans-in-England/

National Musuem Wales. (2021, June 5). Who were the Celts? Retrieved March 23, 2023, from National Musuem Wales: https://museum.wales/articles/1341/Who-were-the-Celts/

Pattison, P. (2023). The English Civil Wars: Origin, events and legacy. Retrieved March 12, 2023, from English Herritage: https://www.english-heritage.org.uk/learn/histories/the-english-civil-wars-history-and-stories/the-english-civil-wars/

Royal Household at Buckingham Palace. (2023). Audiences. Retrieved March 13, 2023, from British Royal Family.: https://www.royal.uk/audiences

Royal Household at Buckingham Palace. (2023). The role of the Monarchy. Retrieved April 1, 2023, from British Royal Family: https://www.royal.uk/role-monarchy

อัศวัตถามา. (27 กันยายน 2565). “โอลิเวอร์ ครอมเวลล์” ลอร์ดผู้พิทักษ์แห่งอังกฤษ ช่วงเปลี่ยนระบอบเป็น “สาธารณรัฐ”. เรียกใช้เมื่อ 12 มีนาคม 2566 จาก ศิลปวัฒนธรรม: https://www.silpa-mag.com/history/article_93821

อิสริยา เลาหตีรานนท์. (22 กรกฎาคม 2551). จะเรียก “สหราชอาณาจักร” หรือ “อังกฤษ” ? เรียกใช้เมื่อ 22 March 2023 จาก สำนักงานราชบัณฑิตสภา: http://legacy.orst.go.th/?knowledges=%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%81-%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3-%E0%B8%AB%E0%B8%A3