ข้าราชการปลดแอก

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:38, 15 มีนาคม 2566 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          ข้าราชการปลดแอก (Free Thai Civil Servant) เป็นกลุ่มข้าราชการที่เผยแพร่เนื้อหาผ่านชื่อเฟซบุ๊กเพจ[1]และทวิตเตอร์[2] ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งใช้แฮชแทค #ข้าราชการปลดแอก #FreeCivilServant #FreeThaiCivilServant แนวทางการเคลื่อนไหวของข้าราชการปลดแอก คือ การตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นปัญหาทางการเมืองและสังคม รวมทั้งให้ผู้ที่ติดตามเขียนเล่าประสบการณ์เรื่อง “ความสิ้นหวังของระบบราชการ” เพื่อนำมาเผยแพร่เป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยไม่เปิดเผยชื่อและอาจระบุเพียงแค่หน่วยงาน

 

ภาพ : เฟซบุ๊กเพจ ข้าราชการปลดแอก Free Thai Civil Servant

Free Thai Civil Servant (1).jpg
Free Thai Civil Servant (1).jpg

 

          ข้าราชการปลดแอก เป็นการนำเสนอจุดยืนและเป้าหมายของกลุ่มผ่านสัญลักษณ์ที่มีผู้ออกแบบให้ภายใต้แนวคิด 2 ส่วน ส่วนแรก คือ “สร้างภาพจำใหม่ แทนที่ภาพเดิม” ที่ภาพจำที่ประชาชนมีต่อราชการ คือ การใช้อำนาจ รวมทั้งปัญหาการใช้อำนาจการบริหารที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดปัญหาในการทำงานราชการทั้งจากระบบที่มีโครงสร้างอันซับซ้อน การทำงานและการใช้ทรัพยากรบุคคลที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่วนที่สอง คือ “สองมือที่กำลังเอื้อมไปไขว่คว้าอนาคตที่ดีกว่า” สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของข้าราชการรุ่นใหม่ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการทำงานของราชการให้เป็นไปในทิศทางที่ดีกว่าในการสานต่ออุดมการณ์การทำงานเพื่อแผ่นดินด้วยสองมือของมนุษย์ธรรมดาที่คอยไข่วคว้าและทุ่มเท[3]

 

ภาพ : สัญลักษณ์กลุ่มข้าราชการปลดแอก[4]

Free Thai Civil Servant (2).jpg
Free Thai Civil Servant (2).jpg

 

          ตัวอย่างของเนื้อหาที่นำเสนอในเฟซบุ๊กเพจ และทวิตเตอร์ข้าราชการปลดแอก ได้แก่

          ผู้ว่าราชการจังหวัด มีไว้ทำไม?[5] การคำถามว่า “ผู้ว่าฯ มีไว้ทำไม”'เป็นคำถามเดียวกันกับ “ส่วนภูมิภาคมีไว้ทำไม” ที่ได้นำเสนอ ข้อดี-ข้อเสีย ของระบบราชการส่วนภูมิภาคที่มาจากการแบ่งอำนาจ (Deconcentration) กับระบบราชการส่วนท้องถิ่นที่เกิดจากการกระจายอำนาจ (Decentralization) โดยชี้ให้เห็นว่าแม้ข้อดีของการแบ่งอำนาจ คือ เกิดประสิทธิภาพในการปกครอง การนำนโยบายส่วนกลางไปปฏิบัติโดยตรง การตัดสินใจรวดเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องรอส่วนกลาง ทำให้ผู้ตัดสินใจอยู่ในพื้นที่ ใกล้ชิดกับปัญหา รวมทั้งมีการประสานงานของส่วนราชการในระดับภูมิภาค แต่ก็มีข้อเสีย คือ ผู้มีอำนาจตัดสินใจบางเรื่องไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจของส่วนกลาง ตลอดจนการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากส่วนกลาง แม้อยู่ในพื้นที่แต่อาจไม่เข้าใจปัญหา ทั้งยังไม่ส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับการแต่งตั้งผู้ว่าและรองผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นการหมุนเวียนเปลี่ยนไปในแต่ละจังหวัด จึงเกิดความไม่ต่อเนื่องในการปฏิบัติงานที่ต้องใช้เวลาดำเนินการรวมถึงความเข้าใจในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งคนที่เกิดและโตในพื้นที่นั้นมีข้อได้เปรียบในการทำความเข้าใจได้มากกว่า นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า ภายหลังจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการทั้งระดับชาติและระดับจังหวัดที่มีขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้การจัดสรรเวลาและเรียนรู้ลักษณะเฉพาะของจังหวัดทำได้ยาก รวมทั้งโครงสร้างอำนาจภายใต้การกำกับของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาล หลังจากการรัฐประหารทำให้ส่วนภูมิภาคขยายอำนาจและสามารถให้คุณให้โทษแก่การผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจพิจารณาคุณสมบัติของ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และมีอำนาจในการให้ความเห็นในหลายกระบวนการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ที่ยังไม่มีการจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ตั้งแต่หลังการรัฐประหารจนถึง ปี พ.ศ. 2563 ส่งผลให้การมีอยู่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะกลไกสำคัญในการใช้อำนาจของส่วนกลางผ่านภูมิภาค ส่งผลโดยตรงต่อส่วนท้องถิ่นและมีแนวโน้มที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นประเด็นที่จำเป็นต้องระลึกถึงในช่วงเวลาของการจัดให้มีการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

         

          มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของใคร? เป็นการตั้งคำถามต่อคำขวัญ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่นำมาใช้ในหลายภาคส่วนของระบบราชการ ทั้งในวิสัยทัศน์ ในโครงการต่าง ๆ ในกฎหมาย และในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ระบุไว้ว่า ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังกล่าวเป็นวิสัยทัศน์ของประเทศใน 6 ข้อ ได้แก่ ความมั่นคง การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยทางกลุ่มข้าราชการปลดแอกตั้งคำถามว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่อ้างถึงนั้นเป็นของใคร ภายใต้ข้อคำถามที่ว่า

          (1) ความมั่นคงเป็นความมั่นคงของประชาชนหรือผู้มีอำนาจ

          (2) อันดับความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness Ranking) ของไทยแย่ลงในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา

          (3) คนจะมีคุณภาพได้ ต้องอยู่ในสังคมที่ให้โอกาส สังคมที่มีเสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองและสังคม

          (4) ความเสมอภาคในสังคมไทยเคยมีด้วยหรือ ทั้งสองมาตรฐาน หรือไม่มีมาตรฐานเลยในกระบวนการยุติธรรมและคดีการเมือง ขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยก็ขึ้นชื่อว่าเลวร้ายอันดับต้น ๆ หรือแย่ที่สุดในโลกในบางปี

          (5) เราใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันแค่ไหน และ

          (6) ภาครัฐขยายขนาดใหญ่โตเทอะทะเชื่องช้าขึ้นตั้งแต่รัฐประหาร ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้น[6]

         

          งดขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เป็นผลมาจากการเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ ซึ่งนับเป็นต้นตอของการบริหารจัดการสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ล้มเหลว ขณะที่ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากโรคระบาดและมาตรการของภาครัฐ แต่ข้าราชการยังคงได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนโดยที่มีการงดเว้นกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงทำงานจากที่บ้าน จึงเห็นควรว่าการขึ้นเงินเดือนตามรอบปกติในสถานการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องไม่เหมาะสม และต้องการเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันให้งดขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ยกเว้นบุคคลากรด้านสาธารณสุข[7] จนกว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะคลี่คลายด้วยการร่วมลงชื่อและรณรงค์ผ่าน เวปไซต์ Change.org[8] 

Free Thai Civil Servant (3).jpg
Free Thai Civil Servant (3).jpg

         

          คืนภาษีให้ราษฎร เป็นการเชิญชวนข้าราชการและประชาชน มาร่วมกันบริจาคเงินให้องค์กรต่าง ๆ ที่กำลังทำหน้าที่ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตามแต่กำลังของแต่ละคน แล้วแสดงออกด้วยการโพสต์สลิปลง เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ และอินสตราแกรม หรือช่องทางอื่น ๆ และติดแฮชแทค #คืนภาษีให้ราษฎร เป้าหมายในการรณรงค์ครั้งนี้ คือ การสร้างภาพลักษณ์ที่ถูกต้องให้กับข้าราชการ และแสดงให้เห็นว่าข้าราชการก็เป็นหนึ่งเดียวกับสังคม ทั้งยังเป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และทำในสิ่งที่พูดจริง อีกทั้งเพื่อทำให้เกิดภาพของระบบราชการไทยปัจจุบันที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ได้

 

          ความสิ้นหวังของ Call Center 1300[9] นำเสนอปัญหาเมื่อมีเจ้าหน้าที่เวรให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ สายด่วน 1300 ของจังหวัดนนทบุรี ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้ขอโอนคู่สายไปยังส่วนกลาง ระหว่างวันที่ 19 กรกฏาคม - 15 สิงหาคม แต่สามารถงดให้บริการ ในระหว่างวันที่แค่ 19 - 22 กรกฏาคม พ.ศ. 2564 เท่านั้น ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในจังหวัดนนทบุรี ต้องผลัดเวรกันมารับโทรศัพท์ และใช้ห้องเดียวกัน มีเจ้าหน้าที่เวรที่ติดเชื้อไวรัสและทุกคนที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อได้รับความเสี่ยงเพราะใช้ห้องเดียวกัน เข้าใจต้องทำหน้าที่รับบริการประชาชนต่อไป แต่ทางกระทรวงก็ยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาและแนวทางการป้องกันให้กับเจ้าหน้าที่ อีกทั้งแนวทางการดำเนินการหลังจากได้รับเรื่องผ่านศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 1300[10] หลังจากรับโทรศัพท์ให้คำปรึกษา รับเรื่องลงระบบยังขาดความชัดเจนในทางปฏิบัติ

          ทั้งนี้ ข้าราชการปลดแอกยังคงเผยแพร่เนื้อหาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 มีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กเพจมากกว่า 58,350 คน 

 

บรรณานุกรม

“[Live]คุยกับ 'ข้าราชการปลดแอก' อะไรคือแอก และจะปลดอย่างไร”,สืบค้นจาก https://prachatai. com/journal/2021/07/93992(26 กรกฎาคม 2564).

 

อ้างอิง

[3] “คุยกับเพจ ‘ข้าราชการปลดแอก’ เมื่อราชการต้องหนักแน่นในการรับใช้ประชาชน ไม่ใช่เบื้องบน”,สืบค้นจาก https://thematter.co/ social/free-thai-civil-servant-interview/129806 (25 กรกฎาคม 2564).

[5] “ข้าราชการปลดแอก ตั้งคำถาม ‘ผู้ว่าฯ’ มีไว้ทำไม? ถกปมกระจายอำนาจก่อนเลือกตั้งท้องถิ่น”,สืบค้นจาก https://www.matichon. co.th/social/news_2492210(26 กรกฎาคม 2564).

[6] “มาแร้ว เพจข้าราชการปลดแอก”,สืบค้นจาก https://thaienews.blogspot.com/2020/11/blog-post_16.html(26 กรกฎาคม 2564) และดูข้อวิจารณ์ต่อประเด็นนี้เพิ่มเติมได้ที่ “4 ปีรัฐประหาร มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของใคร?”,สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/ resources/idt-sh/thai_junta(26 กรกฎาคม 2564).

[7] “#งดขึ้นเงินเดือนข้าราชการ”,สืบค้นจาก https://www.facebook.com/FreeThaiCivilServant/photos/a.105107478055790/ 283880283511841/ (26 กรกฎาคม 2564).

[8]  “#งดขึ้นเงินเดือนข้าราชการ จนกว่า Covid-19 จะคลี่คลาย”,สืบค้นจาก http://chng.it/MpbKt2SdvV(26 กรกฎาคม 2564).

[10] “กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้จัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19” ส่วนกลาง- จังหวัดทั่วประเทศ เร่งช่วยเหลือประชาชนเดือดร้อนตลอด 24 ชั่วโมง” สืบค้นจาก https://1300thailand.m-society.go.th/news/650 (26 กรกฎาคม 2564).