บัตรเลือกตั้ง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:29, 14 มีนาคม 2566 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ

 

บัตรเลือกตั้ง

          บัตรเลือกตั้งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้ง เดิมเป็นลูกบอลขนาดเล็กใช้เพื่อบันทึกการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ราวศตวรรษที่ 16[1] ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนใช้บัตรลงคะแนนหนึ่งใบ และไม่มีการแบ่งปันบัตรลงคะแนน

 

ประวัติศาสตร์ของบัตรเลือกตั้ง

          ในสมัยกรีกโบราณประชาชนใช้ชิ้นส่วนของเครื่องปั้นดินเผาเสียรอยขีดข่วนในชื่อของผู้สมัครที่อยู่ในขั้นตอนของการคว่ำบาตร การใช้บัตรลงคะแนนแบบกระดาษครั้งแรกเพื่อดำเนินการเลือกตั้งเกิดขึ้นในกรุงโรมเมื่อ 139 ปีก่อนคริสตกาล ภายหลังการนำกฎหมายลงคะแนนเสียงของสาธารณรัฐโรมัน (lex Gabinia tabellaria) มาใช้ ในอินเดียโบราณราว ค.ศ. 920 ในรัฐทมิฬนาฑู ใบปาล์มถูกนำมาใช้ในการเลือกตั้งหมู่บ้าน ใบตาลที่มีชื่อผู้สมัครถูกใส่ลงในหม้อโคลนเพื่อนับ เรียกว่า ระบบกุฎอโวลัย (Kudavolai system)[2] การใช้บัตรลงคะแนนแบบกระดาษครั้งแรกในอเมริกาเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1629 ภายในอาณานิคมอ่าวแมสซาชูเซตส์ เพื่อเลือกศิษยาภิบาลสำหรับโบสถ์เซเลม[3]

 

ประเภทของบัตรเลือกตั้ง

          บัตรเลือกตั้งมีความสำคัญในฐานะเป็นกลไกให้ผู้เลือกตั้งแสดงผลลัพธ์อันเป็นเจตนารมณ์ของตนเอง เป็นกลไกเบื้องต้นแต่สำคัญสูงสุด เพราะเป็นข้อต่อในการตรวจสอบความรับผิดชอบที่ประชาชนพึงมีต่อสมาชิกผู้แทนราษฎร หรือพรรคการเมือง ประเภทของบัตรเลือกตั้งขึ้นอยู่กับประเภทของระบบการเลือกตั้งที่ใช้ในการเลือกตั้งนั้น ๆ ซึ่งใช้บัตรลงคะแนนที่แตกต่างกัน โดยปกติจะสามารถแบ่งออกเป็น 4 แบบ ดังนี้[4]

          1. บัตรเลือกตั้งที่เน้นตัวบุคคลผู้สมัคร ประเภทนี้จะเน้นคุณสมบัติบุคคล การตัดสินใจเลือกผู้สมัครก็เท่ากับว่าผู้ออกเสียงได้เลือกพรรคไปในตัว ฉะนั้นสำหรับบัตรเลือกตั้งที่เน้นเรื่องนี้ ในบางประเทศจะมีรายละเอียด เช่น ภาพผู้สมัคร สัญลักษณ์ของพรรค หรืออย่างในอินเดียที่คนจำนวนมากไม่รู้หนังสือ หรือต้องสื่อสารกันด้วยภาษาถิ่นที่แตกต่างกันอย่างมาก ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งถึงกับต้องทำสัญลักษณ์ประจำตัวผู้สมัคร เช่น นาย A มีสัญลักษณ์ประจำตัวคือเสือ นางสาว B มีสัญลักษณ์คือดอกไม้ เป็นต้น ยึดหลักการว่า ต้องให้ข้อมูลกับผู้ออกเสียงให้มากที่สุดนั่นเอง

          2. บัตรเลือกตั้งแบบให้จัดลำดับผู้สมัคร อันนี้จะใช้กับระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อแบบเปิดและแบบปิด กรณีแบบเปิดคนเลือกจะเลือกโดยจัดลำดับความชอบ เรียงลำดับตามใจ ส่วนกรณีแบบปิดจะเน้นเลือกพรรคการเมือง ที่อินโดนีเซียใช้บัตรเลือกตั้งแบบนี้ ในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น บัตรเลือกตั้งของอินโดนีเซียจะใหญ่มาก ทุกพรรคการเมืองจะมีรายชื่อผู้สมัครเรียงลงมาหลายคน มาเต็มทั้งโลโก้หรือตราสัญลักษณ์พรรค ชื่อพรรค หน้าผู้สมัคร ชื่อผู้สมัคร

          3. บัตรเลือกตั้งที่เน้นพรรคการเมือง อันนี้จะใช้กับระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน บัญชีรายชื่อแบบปิด เป็นบัตรที่  ผู้ออกเสียงไม่มีอิสระเลือกตัวบุคคล แต่ไปเน้นคุณสมบัติพรรค กรณีนี้บางประเทศก็อาจจะไม่ใส่ชื่อผู้สมัคร เพียงใส่ชื่อพรรคและตัวเลขก็เพียงพอ แต่บางประเทศก็ใส่ไปด้วยเพื่อเพิ่มข้อมูลแก่ผู้ออกเสียง

          4. บัตรเลือกตั้งแบบผสม อันนี้จะเน้นตัวผู้สมัครและพรรคการเมืองไปพร้อม ๆ กัน โดยทั่วไปจะให้บัตรเลือกตั้งมา 2 ใบ ให้ผู้ออกเสียงสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ ทั้งการเลือกพรรคและตัวบุคคล

          โครงสร้างบัตรเลือกตั้งโดยปกติทั่วไปจะมี 4 แบบ แต่ในส่วนรายละเอียดของบัตรก็อาจจะมีแตกต่างกันบ้าง เช่น การใส่ช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนในกรณีของประเทศไทยเรา เป็นต้น มีงานวิจัยทางวิชาการ เชื่อว่าการเปลี่ยนโครงสร้างบัตรเลือกตั้ง ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับตัวแทนได้ในชั่วข้ามคืน แต่การนั้นก็มีความเป็นไปได้สูงในระยะยาว เมื่อผ่านการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเป็นประจำสม่ำเสมอ บัตรเลือกตั้งที่มีข้อมูลผู้สมัคร และภาพประกอบการตัดสินใจ จะช่วยกระตุ้นการตรวจสอบตัวแทนโดยประชาชนให้ชัดเจนขึ้นได้ ในปัจจุบันหลายประเทศเปลี่ยนการใช้บัตรเลือกตั้ง เป็นอุปกรณ์เลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์บ้างแล้ว

          การออกแบบบัตรลงคะแนนสามารถช่วยให้เกิดความชัดเจนในการเลือกตั้ง หรืออาจก่อให้เกิดปัญหาความชัดเจนในการเลือกตั้งได้ การออกแบบที่ไม่ดีทำให้เกิดความสับสนและอาจเกิดความโกลาหลหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากเข้าใจผิดหรือทำเครื่องหมายบัตรลงคะแนนผิด กรณี “บัตรลงคะแนนที่มีลักษณะเหมือนปีกผีเสื้อ” ที่ใช้ใน Palm Beach County, Florida 2000 สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2000 ที่ออกแบบบัตรเลือกตั้งแล้วสร้างปัญหาในครั้งนั้น[5] โดยผู้ออกเสียงต้องเจาะรูตรงกลาง มีรายชื่อผู้สมัครแบ่งให้ดูอยู่ข้างซ้ายและขวา สลับเรียงกันลงมา การวางตำแหน่งดังกล่าวถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าทำให้ผู้สูงอายุสับสน คนที่จะเลือกพรรคเดโมแครต เผลอไปเจาะรูให้พรรค Reform Party สุดท้ายก็ถูกยกเลิกไปในที่สุด จะเห็นว่าเบื้องต้นหลักการทั่วไปที่ทั่วโลกเห็นตรงกันคือ บัตรเลือกตั้งที่ดีและเหมาะสม คือต้องให้ข้อมูลกับผู้ออกเสียงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยรูปแบบของบัตรในแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไปสอดคล้องไปกับระบบการเลือกตั้งนั่นเอง[6]

 

ให้บัตรเลือกตั้งชำรุด หรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย

          พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 144 บัญญัติให้ ผู้ที่จงใจกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บัตรเลือกตั้งชำรุด หรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 10 ปี ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

 

อ้างอิง

[1] Online Etymology Dictionary, 2021. “ballot.” Retrieved 2021-09-26 from https://www.etymonline.com/word/ballot

[2] "Panchayat Raj, Policy notes 2011-2012" (PDF). Rural development & panchayat raj department, TN Government, India. Retrieved 3 November 2011.; "Heritage in a park". The Hindu. Chennai, India. 2 April 2010. Archived from the original on 8 April 2010.; "Handbook on Kongu archaeological treasures". The Hindu. Coimbatore, India. 27 June 2005. Archived from the original on 23 May 2013. Cited in Wikipedia, 2021. “Ballot.” Retrieved 2021-09-26 from https://en.wikipedia.org/wiki/Ballot

[3] Jones, Douglas W., 2003. “A Brief Illustrated History of Voting.” University of Iowa Department of Computer Science. Cited in Wikipedia, 2021. “Ballot.” Retrieved 2021-09-26 from https://en.wikipedia.org/wiki/Ballot

[4] มติชน, 2021. “เบรนทอล์ก: รู้จักโครงสร้างบัตรเลือกตั้ง.” มติชน 12 ธันวาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 20 Sep 2021 จาก https://www.matichon.co.th/politics/news_1268211

[5] Associated Press (2003-07-14). "State: Ballot display revives chads, chaos of bungled election". Saint Petersburg Times Online Tampa Bay. Retrieved 2014-10-26.; "Statement of Commissioner Victoria Wilson". Voting Irregularities in Florida During the 2000 Presidential Election, www.usccr.gov. Archived from the original on July 21, 2011. Retrieved 2014-10-26.; Dershowitz, Supreme Injustice: How the High Court Hijacked Election 2000, pp. 22–28. ISBN 9780195148275 Cited in Wikipedia, 2021. “Ballot.” Retrieved 2021-09-26 from https://en.wikipedia.org/wiki/Ballot

[6] มติชน, อ้างแล้ว.