โครงการคนละครึ่ง
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และ ศิปภน อรรคศรี
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
“โครงการคนละครึ่ง” เป็นหนึ่งในมาตรการทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลไทยที่มีพลเอกประยุทธ์_จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีนำมาใช้รับมือกับผลกระทบที่ประชาชนเผชิญในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ทั้งนี้ นับตั้งแต่ช่วงเริ่มการระบาดของโรคระบาดโควิดแพร่กระจายไปทั่วโลก ผลกระทบที่สังเกตได้ชัดเจนไม่ได้มีเพียงแต่ผลกระทบด้านสาธารณสุขหรือสุขภาพของประชาชนเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในภาพรวมทั่วทั้งโลก แน่นอนว่าไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
อย่างมากเช่นกัน
จากเอกสาร “รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ปี 2563” ที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยใน ปี พ.ศ. 2563 หดตัว ร้อยละ 6.1 จากปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวอัตราสูงเทียบเท่ากับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจากภาครัฐจำเป็นต้องกำหนดมาตรการควบคุมโรคโควิด เป็นเหตุให้ภาคธุรกิจหลายส่วนหยุดชะงัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยว ประกอบการส่งออกสินค้าก็หดตัวขึ้นเช่นกันหากเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับแรงงานที่บางส่วนถูกเลิกจ้างหรือลดค่าจ้าง อันเป็นผลให้รายได้ครัวเรือนลดลงอย่างรุนแรง สอดคล้องกันกับรายงาน “ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของ ปี 2563 และแนวโน้ม ปี 2563” จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน ได้อธิบายว่าเศรษฐกิจไตรมาสแรกของ ปี 2563 ลดลง ร้อยละ 2.2 จากไตรมาสที่สี่ของ ปี 2562 การบริโภคของภาคเอกชนชะลอตัว นอกจากนั้น สศช. ยังคาดการณ์ถึงการปรับตัวลดของเศรษฐกิจอันมีปัจจัยคล้ายกับรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยในข้างต้น ได้แก่ ปัจจัยของการปรับตัวของเศรษฐกิจการค้าทั่วโลก การลดลงของรายได้จากการท่องเที่ยว ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก รวมถึงมูลค่าการส่งออกที่ลดลง
โครงการคนละครึ่ง : ลักษณะเบื้องต้นของนโยบาย
โครงการคนละครึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่กระทรวงการคลังเสนอเพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยในช่วงที่โครงการนี้นำเสนอออกมานั้นสามารถประเมินได้ว่าเป็นความพยายามที่จะนำมาเป็นส่วนเพิ่มเติมจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งถือเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และลดภาระค่าจ่ายให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาวะการระบาดของโรคโควิด ตามที่ “ข่าวแถลงกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 104-2563” ระบุไว้ว่าจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกส่องส่วน ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเป็นการขยายวงเงินสำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ขณะที่อีกโครงการหนึ่งก็คือ โครงการคนละครึ่ง ซึ่งในข่าวแถลงกระทรวงการคลังฉบับข้างต้นได้อธิบายวัตถุประสงค์ของโครงการคนละครึ่งไว้ว่า “เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยโดยเฉพาะกลุ่มหาบเร่ แผงลอย เพื่อให้มีรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้น” (กระทรวงการคลัง, 2563) โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการเมื่อทำการซื้อสินค้าจะได้รับค่าสนับสนุนจากภาครัฐ ร้อยละ 50 จำกัดวงเงินไม่เกิน 150 บาทต่อวัน และไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ
ในส่วนของวิธีการเข้าร่วมโครงการนั้น ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการจะสามารถเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ผ่านทาง www.คนละครึ่ง.com โดยผู้เข้าโครงการจำเป็นต้องผูกบัญชีเข้ากับระบบ “g-wallet” ของแอพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อใช้จ่ายตามวงเงินที่ภาครัฐกำหนด นอกจากนั้นทางด้านร้านค้าเองก็จำเป็นต้องเข้าร่วมโครงการด้วยการติดตั้งแอพลิเคชัน “ถุงเงิน” เพื่อรับสิทธิของโครงการ
อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมาคือ โครงการนี้มีลักษณะผูกพันงบประมาณรัฐต่อเนื่องเพียงใด เป็นโครงการเพื่อการแก้ปัญหาในระยะสั้นหรือระยะยาว คำถามนี้สามารถพิจารณาได้จากรูปแบบโครงการซึ่งเดิมทีมีการประกาศไว้เพียงกำหนดไว้ในสองกรอบสำคัญ ได้แก่ กรอบระยะเวลา เปิดให้เข้าร่วมโครงการและใช้งานได้ตั้งแต่ วันที่ 23 ต.ค. 2563 - 31 ธ.ค. 2563 หรือจนกว่าจะครบวงเงินสนับสนุน 3,000 บาทต่อคน จนกระทั่งครบระยะเวลาโครงการและกรอบจำนวนผู้ใช้งาน เปิดให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งได้ไม่เกิน 10 ล้านคน (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2563ก) เมื่อประเมินตามกรอบทั้งสองด้านจึงคาดได้ว่าจะเป็นโครงการที่ผูกพันงบประมาณเพื่อแก้ไขสถานการณ์ระยะสั้นที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณวงเงินราว 30,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในระยะเวลาต่อมา “ข่าวแถลงกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 150-2563” ได้ระบุถึงมติเห็นชอบของที่ประชุมศูนยบ์ริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 6/2563 ให้มีการขยายกรอบระยะเวลาของโครงการคนละครึ่ง ในระยะที่ 2 มีกรอบระยะเวลาที่ขยายใหม่ คือ 1 ม.ค. 2564 - 31 มี.ค. 2564 ขณะที่วงเงินสนับสนุนจากภาครัฐจะเพิ่มให้เป็น 3,500 บาท ตลอดระยะเวลาโครงการ นอกจากนั้นในระยะที่ 2 นี้ จะมีการขยายผู้ได้รับสิทธิจากเดิม 10 ล้านคน ที่เคยได้รับสิทธิแล้วในระยะแรก ครั้งนี้จะเพิ่มผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการอีก 5 ล้านคน รวม 15 ล้านคน ที่จะได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 แต่ละคนจะสามารถได้รับวงเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายไม่เกินคนละ 3,500 บาท (กระทรวงการคลัง, 2563ข) รวมทั้งสิ้นงบประมาณที่รัฐต้องเตรียมไว้เพื่อใช้ร่วมจ่ายในโครงการจึงเท่ากับอย่างมากที่สุดคือ 52,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อเว้นช่วงระยะเวลาหลังจากโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 สิ้นสุดลงเล็กน้อย ในเวลาต่อมาตามที่ได้ระบุไว้ใน “ข่าวแถลงกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 117 - 2564” เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2564 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่าโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนได้ใน วันที่ 14 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป เพียงแต่ในครั้งนี้จะแบ่งย่อยเป็น 2 รอบ ได้แก่ รอบแรกมีระยะเวลาจาก 1 ก.ค. 2564 - 30 ก.ย. 2564 หรือจนกว่าจะครบวงเงินสนับสนุน 1,500 บาท และรอบสองมีระยะเวลาจาก 1 ต.ค. 2564 - 31 ธ.ค. 2564 หรือจนกว่าจะครบวงเงินสนับสนุน 1,500 บาท หรือ 3,000 บาท จนกว่าจะครบระยะเวลาเต็มของทั้งสองรอบรวมกัน โดยในระยะที่ 3 นี้จะมีการขยายกรอบผู้ได้รับสิทธิของโครงการมากถึง 31 ล้านคน นอกจากนั้นยังเพิ่มในเรื่องของมาตรการยืนยันตัวตนของผู้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งผ่านธนาคารกรุงไทย หรือผ่านแอพลิเคชัน Krung Thai Next (กระทรวงการคลัง, 2564ก) ทั้งนี้เมื่อคำนวณงบประมาณในเบื้องต้นแล้วกรอบงบประมาณที่ต้องใช้อย่างมากที่สุดคือ 93,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คำถามที่จะต้องจับตาสถานการณ์กันต่อไปก็คือ โครงการคนละครึ่งจะเป็นเพียงโครงการเพื่อประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจจนกว่าจะผ่านพ้นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและการระบาดของโรคโควิด หรือว่าจะเปลี่ยนเป็นนโยบายสาธารณะที่มีผลผูกพันรัฐบาลในระยะยาว แล้วในระยะเวลานานเช่นนี้รัฐบาลจะสามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างเพียงพอหรือไม่ในสถานการณ์ที่รัฐบาลพยายามขยายวงเงินสนับสนุนในโครงการและขยายฐานผู้เข้าร่วมโครงการมากขึ้นไปเรื่อย ๆ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไป
ข้อวิจารณ์จากภาคปฏิบัติของโครงการคนละครึ่ง
แน่นอนว่า เมื่อโครงการคนละครึ่งเป็นนโยบายที่ต้องการเข้าถึงประชาชนจำนวนมาก สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือ ความพร้อมของระบบในการรองรับการใช้งานโดยผู้ใช้งานและลงทะเบียนเป็นจำนวนมากพร้อมกัน ซึ่งสิ่งที่ต้องประเมินตามมาก็คือ เรื่องของข้อวิจารณ์ว่าด้วยปัญหาจากการใช้งานในภาคปฏิบัติที่ภาครัฐต้องนำมาถอดบทเรียนเพื่อนำไปพัฒนาโครงการนี้หรือโครงการอื่นที่ใช้งานในลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยข้อวิจารณ์ในที่นี้จะแบ่งเป็นอย่างน้อยในภาพรวม 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ส่วนของร้านค้าที่ใช้งานระบบ ส่วนของประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการ และส่วนของปัญหาเชิงนโยบาย ดังจะอภิปรายต่อไป
ส่วนแรกว่าด้วยปัญหาที่ร้านค้าพบจากการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง พบว่าปัญหาบางส่วนมาจากเรื่องของระบบแอพลิเคชันคนละครึ่งเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการไม่ได้รับ SMS ยืนยันสิทธิเพื่อใช้งานคนละครึ่งบนแอพลิเคชันถุงเงิน ไม่พบระบบคนละครึ่งปรากฎในแอพลิเคชัน หรือเรื่องของระบบ GPS ของสมาร์ทโฟนที่แสดงตำแหน่งเครื่องห่างออกไปจากตำแหน่ง GPS ของลูกค้า ส่งผลให้ไม่สามารถสแกนเพื่อชำระเงินผ่านโครงการคนละครึ่งได้ เป็นต้น (TrueID, 2563)
ส่วนที่สองเป็นเรื่องของปัญหาที่พบจากภาคประชาชนที่ลงทะเบียนใช้งานโครงการคนละครึ่ง โดยปัญหาที่พบมีตั้งแต่ขั้นตอนการเริ่มลงทะเบียนแล้วไม่สำเร็จ หรือลงทะเบียนสำเร็จแต่ไม่ได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ (ประชาชาติธุรกิจ, 2563) ปัญหาที่พบจากระบบก็มี เช่น การสแกนจ่ายจะไม่สามารถทำได้หากแอพลิเคชันแจ้งว่าระยะห่าง GPS ไกลกับร้านค้า หรือปัญหาการสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนไม่ผ่าน เป็นต้น (TrueID, 2563) นอกจากนั้นการใช้งานของโครงการ จำเป็นที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต้องมีแอพลิเคชัน “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” ทั้งคู่ ปัญหาจึงสามารถเกิดขึ้นได้หากผู้ซื้อไม่พบร้านค้าที่ติดตั้งแอพลิเคชันถุงเงินที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งเลย ซึ่งอาจเป็นปัญหาสืบเนื่องจากความยากในการสมัครเข้าร่วมโครงการ หรือการยืนยันตัวตนร้านค้ายากเกินไป ส่งผลให้ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการมีน้อยลงไปด้วย
ส่วนสุดท้ายที่ต้องประเมิน คือ ปัญหาเชิงนโยบายของตัวโครงการคนละครึ่ง หากย้อนกลับไปพิจารณายังวัตถุประสงค์ของโครงการคนละครึ่งก็คือ ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย คำถามก็คือ การใช้นโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการคนละครึ่งจะถือว่าประสบความสำเร็จเพียงใด ปัญหานี้ นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินว่านโยบายไม่ครอบคลุมเพียงพอ เนื่องจากไม่รวมถึงผู้ที่มีอายุไม่ถึง 18 ปี หรือเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่แล้วนอกจากนั้นยังมีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยีที่คนสูงอายุใช้งานไม่สะดวก นอกจากนี้ยังมัจจัยเรื่องประชาชนขาดกำลังซื้ออยู่แล้วอีกด้วย (กรุงเทพธุรกิจ, 2564)
ท้ายที่สุดนี้แล้ว สิ่งที่ต้องประเมินเพื่อพัฒนานโยบายต่อไปจึงควรทำต่อไปอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จจากการประเมินผ่านผู้ที่เข้าถึงโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1 ณ วันที่ 27 ธ.ค. 2563 มีผู้เข้าร่วมโครงการ 9.5 ล้านคน มีร้านค้าเข้าร่วม 1.1 ล้านร้านค้า และภาครัฐได้ช่วยสนับสนุนไป 1.9 หมื่นล้านบาท (กระทรวงการคลัง, 2563ค) และ ในระยะที่ 2 ณ วันที่ 21 มี.ค. 2564 มีผู้เข้าร่วมโครงการ 14.7 ล้านคน มีร้านค้าเข้าร่วม 2.3 ล้านร้านค้า ซึ่งในระยะที่ 2 ตัวเลข ณ วันที่ 1 เม.ย. 2564 รัฐได้ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 4.9 หมื่นล้านบาท (กระทรวงการคลัง, 2564ข) เมื่อประเมินผ่านยอดตัวเลขผู้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง รวมถึงยอดค่าใช้จ่ายที่รัฐช่วยกระตุ้นไปแล้วจำนวนหลักหมื่นล้านบาทนี้ ในด้านหนึ่งสามารถมองว่าเป็นความสำเร็จในเชิงตัวเลขสถิติ ทว่าในด้านกลับกัน ยังคงมีคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงโครงการคนละครึ่งไม่ว่าจะในแง่ของการเข้าถึงเทคโนโลยี หรือในแง่ของการมีเงินค่าครองชีพอย่างพียงพอในแต่ละวัน เนื่องจากยังคงมีภาคแรงงานที่ประสบปัญหาการถูกเลิกจ้างฉับพลันในช่วงสถานการณ์โควิดระบาด หรือกรณีถูกลดค่าครองชีพ นอกจากนั้นตัวเลขยอดค่าใช้จ่ายนั้นกระจุกอยู่ในกลุ่มผู้ใช้วงแคบเกินไปหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงต่อไปสำหรับผู้กำหนดนโยบายคือ จะสามารถพัฒนานโยบายให้ครอบคลุมสนับสนุนสวัสดิการให้แก่กลุ่มผู้เปราะบางอีกจำนวนมากในสังคมได้อย่างไรบ้าง หรือจะสร้างสวัสดิการอย่างไรให้เป็นการสนับสนุนประชาชนที่มีปัญหาเรื่องการจ้างงานที่ไม่มั่นคงหรือได้รับค่าแรงไม่สมส่วนกับค่าครองชีพต่อวัน รวมถึงคำถามอื่นอีกมากมายที่นักวิเคราะห์นโยบาย นักเศรษฐศาสตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญสายสังคมศาสตร์ ต้องช่วยกันประเมินกันในอีกหลากหลายประเด็นหลังจากทราบผลการดำเนินโครงการระยะที่ 3 สิ้นสุดลง รวมถึงคำถามที่ว่าโครงการนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ตลอดโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด โครงการคนละครึ่งมีผลต่อการช่วยรองรับสนับสนุนการใช้ชีวิตของผู้คนกลุ่มเปราะบางทางสังคมได้มากเพียงใด
บรรณานุกรม
กองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2563).ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2563 และแนวโน้มปี 2563. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2564, จาก: https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=10212.
กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง. (29 ก.ย. 2563). ข่าวแถลงกระทรวงการคลังฉบับที่ 104-2563. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2564, จาก: https://www.xn--42caj4e6bk1f5b1j.com/assets/download/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%20104-2563.pdf.
“รวม 12 ปัญหา มาตรการ "คนละครึ่ง"”. (28 ต.ค. 2563). TrueID. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2564, จาก:https://news.trueid.net/detail/v86MddKnb0lZ.
กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง. (2 ธ.ค. 2563). ข่าวแถลงกระทรวงการคลังฉบับที่ 150-2563. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2564, จาก: https://www.xn--42caj4e6bk1f5b1j.com/assets/download/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%20150-2563.pdf.
“คนละครึ่ง” เฟส 2 สะดุดซ้ำ ได้สิทธิแต่ SMS ส่ง “ลงทะเบียนไม่สำเร็จ”. (18 ธ.ค. 2563). ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2564, จาก: https://www.prachachat.net/finance/news-576086.
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. (23 ธ.ค. 2563). เริ่มแล้ว! โครงการคนละครึ่ง เริ่มใช้จ่ายวันนี้วันแรก 23 ตุลาคม 2563. https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/36167.
กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง. (28 ธ.ค. 2563). ข่าวแถลงกระทรวงการคลังฉบับที่ 163-2563. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2564, จาก: https://www.xn--42caj4e6bk1f5b1j.com/assets/download/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%20163-2563.pdf.
ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2563). รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ปี 2563. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2564, จาก:https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/AnnualReport/AnnualReport/AanualReport2563.pdf.
กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง. (1 เม.ย. 2564). ข่าวแถลงกระทรวงการคลังฉบับที่ 78-2564. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2564, จาก: https://www.xn--42caj4e6bk1f5b1j.com/assets/download/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%2078-2564.pdf.
กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง. (11 มิ.ย. 2564). ข่าวแถลงกระทรวงการคลังฉบับที่ 117-2564. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2564, จาก: https://www.xn--42caj4e6bk1f5b1j.com/assets/download/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%20117-2564.pdf.
นครินทร์ ศรีเลิศ. (2 มิ.ย. 2564). ส่องเหตุ ‘คนละครึ่งเฟส3’ ไม่ปัง คนไทยเงินออมทรุด ฉุดกำลังซื้อ. กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2564, จาก: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945523.