ฮ่องเต้ซินโดรม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:26, 8 มิถุนายน 2565 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และ ศิปภน อรรคศรี

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          “ฮ่องเต้ซินโดรม” (Little emperor syndrome) เป็นคำที่เคยเป็นกระแสและมีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดียในช่วงเวลาประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 จุดเริ่มต้นของประเด็นวาทกรรม “ฮ่องเต้ซินโดรม” กล่าวได้ว่ามาจากเหตุการณ์การบรรยายพิเศษของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ในหัวข้อ “แผ่นดินของเราในมุมมองความมั่นคง” เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 ที่หอประชุมกิตติขจรกองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งประเด็นหลักของการบรรยายอยู่ที่การโจมตีกลุ่มคอมมิวนิสต์ในอดีตและแนวคิดแบบคอมมิวนิสม์ และโยงไปถึงสิ่งที่เรียกว่า “สงครามไฮบริด (hybrid war)” หรือ สงครามลูกผสม รวมถึงกล่าวโจมตีสถานการณ์ประท้วงในฮ่องกงด้วย ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการบรรยาย พล.อ.อภิรัชต์ ได้กล่าวทิ้งท้ายในลักษณะการตั้งคำถามในทำนองว่าใครควรเป็นผู้เข้ามาแก้ไขปัญหาความมั่นคงของประเทศและกล่าวถึงคน 3 กลุ่ม ได้แก่ นักวิชาการ-อาจารย์บางคนที่มีอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย กลุ่มนักการเมืองที่มุ่งหาแต่ประโยชน์ส่วนตัวเพื่อพวกพ้อง และนักธุรกิจที่ชีวิตเกิดมาคาบช้อนเงินช้อนทอง มีพฤติกรรมล้างสมองคนรุ่นใหม่ ล้มล้างชาติและสถาบัน ซึ่งในทัศนะของ พล.อ.อภิรัชต์ พฤติกรรมของคน กลุ่มที่ 3 ดังกล่าวเรียกว่า “ฮ่องเต้ซินโดรม”[1]  

 

ความหมายของ “ฮ่องเต้ซินโดรม” ในทางการแพทย์

          ถึงแม้คำว่าฮ่องเต้ซินโดรมในความหมายของ พล.อ.อภิรัชต์นั้น จะมีลักษณะเป็นคำที่มีนัยยะทางการเมืองสำหรับใช้แทนคำกล่าวโจมตีเจาะจงไปที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดโดยเฉพาะ แต่อาจกล่าวได้ว่า พล.อ.อภิรัชต์ มิได้เป็นผู้ประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมาเอง คำว่าฮ่องเต้ซินโดรมเป็นคำที่มีการใช้ในทางการแพทย์อยู่ก่อนแล้วดังที่ พญ.ปริชวัน จันทร์ศิริ ได้อธิบายว่า ฮ่องเต้ซินโดรม คือ เด็กกลุ่มเสี่ยงที่ถูกเลี้ยงดูโดยผู้ปกครองที่ตอบสนองความต้องการของเด็กตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เด็กผิดหวัง นอกจากนั้นยังไม่เคยทำโทษแม้เด็กจะทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็ตาม ผลเสียระยะยาวที่ตามมาจึงทำให้เด็กสนใจแต่ความต้องการตนเองไม่ได้เรียนรู้การทำตามกติกา เด็กจึงมองว่าตนเป็นจุดศูนย์กลางของสังคมและรู้สึกเครียด โกรธ หรือแสดงปฏิกิริยารุนแรงเมื่อรู้สึกผิดหวังไม่เป็นตามที่ตนต้องการ[2]     

          ในทำนองเดียวกัน รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น อธิบายถึงความหมายของฮ่องเต้ซินโดรม โดยสรุปได้ว่า เป็นแนวทางการเลี้ยงลูกเหมือนไข่ในหิน โดยเฉพาะกับชนชั้นกลางที่พอมีจะกินและชนชั้นบนเกือบทั้งหมดที่มีเงินทองเลี้ยงดูลูกอย่างตามใจให้อยู่กับวัตถุนิยม ตอบสนองความต้องการอย่างรวดเร็วทันใจ[3]

          กล่าวโดยสรุป คือ ฮ่องเต้ซินโดรมในบริบททางการแพทย์มีความหมายครอบคลุ่มคุณลักษณะทางจิตวิทยาของบุคคลอันเกิดจากการบ่มเพาะตั้งแต่วัยเด็กให้เป็นผู้ได้รับการตอบสนองความต้องการทุกด้านอย่างรวดเร็วจากผู้ปกครองอยู่เสมอ และไม่ได้รับบทลงโทษใด ๆ เมื่อกระทำผิดระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคม จึงส่งผลให้บุคคลที่มีลักษณะของฮ่องเต้ซินโดรมนั้นมองตนเองเป็นศูนย์กลางของสังคมที่จะรู้สึกไม่พอใจอย่างรุนแรงหากไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้คนรอบข้างในทิศทางที่ตนเองต้องการ (ในฐานะที่มองว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของสังคม)

 

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อวาทกรรมฮ่องเต้ซินโดรม

          เมื่อเกิดกระแสการกล่าวถึงวลี “ฮ่องเต้ซินโดรม” ในบริบทที่ พล.อ.อภิรัชต์ เป็นผู้นำเสนอคำนี้แล้ว ย่อมทำให้เกิดการประเมินว่าคำดังกล่าวนี้หมายถึงใครหรือกลุ่มใด ซึ่งผลลัพธ์ของการใช้คำว่าฮ่องเต้ซินโดรมนั้นได้นำมาสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมายในสังคม ตัวอย่างหนึ่งของข้อวิจารณ์ตอบโต้ประเด็นฮ่องเต้ซินโดรม อาทิ เจ้าขุนซินโดรมของ กล้า สมุทวณิช และข้อวิจารณ์เรื่องการทำให้เป็น “คนอื่น” ของธีรยุทธ บุญมี

          “เจ้าขุนซินโดรม” (Big Baron Syndrome)[4] โดย กล้า สมุทวณิช ได้ให้ความหมายของเจ้าขุนซินโดรมว่าเป็นอาการที่เกิดได้กับผู้ที่ทำงานราชการนานกว่า 15-20 ปีขึ้นไป พบได้ในแทบทุกระดับชั้นยศตำแหน่ง แต่จะพบมากและชัดเจนในผู้ที่มีตำแหน่งสูงเทียบเท่ารองอธิบดีขึ้นไป โดยเจ้าขุนซินโดรมนี้มีด้วยกัน 3 อาการ ได้แก่ อาการแรก คือ การมองตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล มองว่าแวดวงที่ตนเองทำงานอยู่นั้นมีความสำคัญที่สุดยิ่งกว่าแวดวงหรืองานประเภทใด ๆ อาการที่สอง คือ การประเมินความสามารถในการทำงานของตนเองสูงเกินไป ซึ่งเป็นผลมาจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมของการทำงานที่ถือความอาวุโสและลำดับชั้นบังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด มีโอกาสในการเผชิญสถานการณ์ปัญหาที่ท้าทายค่อนข้างน้อย และอาการที่สาม คือ การนำคำศัพท์ทันสมัยมาใช้แบบผิด ๆ ถูก ๆ ไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริงของคำศัพท์นั้น ๆ โดยตัวอย่างหนึ่งที่กล้ายกขึ้นวิจารณ์ผู้มีแหน่งสูงระดับผู้นำเหล่าทัพคือการใช้คำว่า “บิ๊กดาต้า (big data)” ในความหมายของการ “สร้างกระแสในโลกโซเชียลด้วยการถล่มถมเถข้อมูลซ้ำ ๆ เพื่อชี้นำทางความคิดหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง”

          ขณะที่ข้อวิจารณ์ของ ธีรยุทธ บุญมี มุ่งอธิบายเรื่องของการสร้างวาทกรรมทำลายผู้ที่ถูกมองว่าเป็น “กลุ่มอื่น” หรือ “คนอื่น” (the other) ที่แปลกแยกจากสังคม ตัวอย่างหนึ่งที่ธีรยุทธยกมาให้เห็นภาพนั้นคือการที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ถูกวาทกรรมสร้างความเป็นอื่นให้ตัวของนายธนาธรถูกมองแบบแปลกแยก ไม่ว่าจะเป็น “ตี๋” (อัตลักษณ์ความเป็นคนเชื้อสายจีน) หรือ “ฮ่องเต้ซินโดรม” (อัตลักษณ์แบบเด็กที่เอาแต่ใจตนเอง) ซึ่งธีรยุทธมองว่าสิ่งนี้คือ การถอดความเป็นตัวตน เช่น ความเป็นพลเมืองไทย หรือความเป็นนักธุรกิจออกแล้วสร้างภาพให้มีตัวตนแบบศัตรูตัวร้ายของสังคมแบบเดียวกับที่คอมมิวนิสต์ในอดีตเคยถูกสร้างให้มีภาพที่น่ากลัว[5]

          ท้ายที่สุดนี้ สิ่งที่ต้องประเมินเกี่ยวกับคำว่า “ฮ่องเต้ซินโดรม” นี้สังเกตได้ชัดว่าการปรากฎขึ้นของคำเป็นเสมือนสงครามในการยึดครองความหมายของคำดังกล่าว ตั้งแต่การหยิบยืมคำข้ามมาจากพรมแดนของแวดวงทางการแพทย์มาสู่อาณาบริเวณของการเมือง อีกทั้งยังสังเกตได้ถึงปรากฎการณ์ในการแย่งชิงความหมายของ “ฮ่องเต้ซินโดรม” โดยเป็นการใส่ความเป็นการเมืองอันยึดโยงกับบริบททางการเมืองในช่วงเวลานั้นเข้ากับคำ ๆ หนึ่ง ส่งผลให้ความรับรู้ของสังคมต่อคำว่า "ฮ่องเต้ซินโดรม" เกิดการยึดโยงกับสถานการณ์การเมืองและกลายเป็นการแย่งชิงความหมายของคำดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่สังคมพึงระวังมีอย่างน้อยสองเรื่องก็คือ ความหมายของคำอาจถูกใช้เพื่อผลักฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองออกจากความเป็นพลเมืองไทยให้เป็น “คนอื่นที่ไม่ถูกนับ” และการที่อำนาจรัฐหรือกลุ่มคนที่เกิดความเกลียดชังต่อผู้ที่เป็น “คนอื่นที่ไม่ถูกนับ” นั้นใช้ความรุนแรงทางการเมืองต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมต้องตระหนักเพื่อรักษาบรรยากาศความคิดเห็นต่างทางการเมืองโดยที่จำเป็นต้องระมัดระวังไม่ให้กลายเป็นความรุนแรงในที่สุดดังประสบการณ์ทางการเมืองในอดีต

 

บรรณานุกรม

บิ๊กแดง น้ำตาคลอ! ซัดพวกปลุกคอมมิวนิสต์ ฮ่องเต้ซินโดรม ค้านซื้ออาวุธ "หนักแผ่นดิน". (11 ต.ค. 2562). ข่าวสด. สืบค้นจาก: https://www.khaosod.co.th/politics/news_2965146. เข้าถึงเมื่อ: 31 พ.ค. 2564

"ห่วงวาทกรรม'ความเมือง' นำสู่คอมมิวนิสต์ที่เคยถูกสร้าง". (15 ต.ค. 2562). เดลินิวส์. สืบค้นจาก: https://www.dailynews.co.th/politics/736683". เข้าถึงเมื่อ: 31 พ.ค. 2564

กล้า สมุทวณิช. (16 ต.ค. 2562). "‘เจ้าขุน’ ซินโดรม". มติชนออนไลน์. สืบค้นจาก: https://www.matichon.co.th/columnists/news_1711975.เข้าถึงเมื่อ: 31 พ.ค. 2564

ปริญญา ชาวสมุน. (25 ต.ค. 2562).‘ฮ่องเต้ซินโดรม’ ถึงจะรักแต่อย่าหักโหม. กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นจาก: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/1303. เข้าถึงเมื่อ: 31 พ.ค. 2564

การเลี้ยงดูแบบใดเสี่ยงลูกเป็น “ฮ่องเต้ซินโดรม”. (28 ธ.ค. 2562). โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย. สืบค้นจาก: https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/การเลี้ยงดูแบบใดเสี่ยง/. เข้าถึงเมื่อ: 31 พ.ค. 2564

 

อ้างอิง

[1] บิ๊กแดง น้ำตาคลอ! ซัดพวกปลุกคอมมิวนิสต์ ฮ่องเต้ซินโดรม ค้านซื้ออาวุธ "หนักแผ่นดิน". (11 ต.ค. 2562). ข่าวสด. สืบค้นจาก: https://www.khaosod.co.th/politics/news_2965146. เข้าถึงเมื่อ: 31 พ.ค. 2564

[2] การเลี้ยงดูแบบใดเสี่ยงลูกเป็น “ฮ่องเต้ซินโดรม”. (28 ธ.ค. 2562). โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย. สืบค้นจาก: https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/การเลี้ยงดูแบบใดเสี่ยง/. เข้าถึงเมื่อ: 31 พ.ค. 2564

[3] ปริญญา ชาวสมุน. (25 ต.ค. 2562).‘ฮ่องเต้ซินโดรม’ ถึงจะรักแต่อย่าหักโหม. กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นจาก: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/1303. เข้าถึงเมื่อ: 31 พ.ค. 2564

[4] กล้า สมุทวณิช. (16 ต.ค. 2562). "‘เจ้าขุน’ ซินโดรม". มติชนออนไลน์. สืบค้นจาก: https://www.matichon.co.th/columnists/news_1711975.เข้าถึงเมื่อ: 31 พ.ค. 2564

[5] "ห่วงวาทกรรม'ความเมือง' นำสู่คอมมิวนิสต์ที่เคยถูกสร้าง". (15 ต.ค. 2562). เดลินิวส์. สืบค้นจาก: https://www.dailynews.co.th/politics/736683". เข้าถึงเมื่อ: 31 พ.ค. 2564