พระที่นั่งวโรภาษพิมาน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:42, 25 พฤษภาคม 2565 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' ''':''' ศิบดี นพประเสริฐ '''ผู้ทรงคุณวุฒ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ศิบดี นพประเสริฐ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

 

พระที่นั่งวโรภาษพิมาน

          พระที่นั่งวโรภาษพิมาน ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังบางปะอิน โดยเป็นพระที่นั่งทรงตึกชั้นเดียว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2419 ตรงบริเวณที่ประทับเดิมของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อแรกสร้างเป็นอาคาร 2 ชั้น ต่อมา ได้ดัดแปลงรื้อลงเป็นชั้นเดียวใช้เป็นที่ประทับและมีท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกว่าราชการ ภายในห้องโถงรับรองและห้องทรงพระสำราญ ประดับภาพเขียนสีน้ำมัน ภาพพระราชพงศาวดารประกอบโคลงบรรยายภาพอันงดงามทรงคุณค่า เป็นภาพและเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยและเรื่องราวต่าง ๆ จากวรรณคดีไทยหลายเรื่อง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วาดภาพเหล่านี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2430 ปัจจุบันพระที่นั่งองค์นี้ยังใช้เป็นที่ประทับเมื่อมีการเสด็จแปรพระราชฐานยังพระราชวังบางปะอิน[1]

          พระที่นั่งองค์นี้มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับพระราชประวัติของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี_พระบรมราชินี เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีอภิเษกสมรสพระราชทาน

          เมื่อ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารจากประเทศอังกฤษ และเสด็จกลับมายังประเทศสยาม เมื่อ พ.ศ. 2458 และได้เสด็จไปประทับ ณ วังพญาไท ร่วมพระราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เป็นเหตุให้ทรงได้รู้จักคุ้นเคยกับพระญาติทั้งชายและหญิง และในบรรดาพระญาติที่เป็นหญิงนั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา ทรงต้องพระอัธยาศัยในหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีมากกว่าองค์อื่น ๆ จนใน พ.ศ. 2460 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา ทรงพระผนวช และประทับจำพรรษา
ณ พระตำหนักทรงพรต วัดบวรนิเวศวิหาร จวบจนครบไตรมาสและทรงลาผนวชแล้ว สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าทรงมีพระหฤทัยผูกสมัครรักใคร่อยู่กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ดังความต่อไปนี้ (สะกดตามต้นฉบับ)

         

          “...ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบบังคมทูลหารือในกิจส่วนตัวของข้าพระพุทธเจ้า ด้วยไต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทก็เปรียบเหมือนบิดาแห่งข้าพระพุทธเจ้า และได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ข้าพระพุทธเจ้าหลายครั้งตั้งแต่เยาว์มาจนบัดนี้จะนับมิถ้วน ด้วยเหตุนี้ข้าพระพุทธเจ้าจึงบังอาจกราบบังคมทูลรบกวนอีกครั้ง 1 คือ บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้ปฏิพัทธ์รักใคร่กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ธิดาแห่งเสด็จน้า และข้าพระพุทธเจ้าอยากจะใคร่ทำการเสกสมรสกับเจ้าหญิงนั้น แต่เดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ชอบพอกับหญิงรำไพพรรณีฉันเด็กและผู้ใหญ่ และสมเด็จแม่ก็โปรดให้หญิงรำไพมารับใช้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ เวลานี้ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าหญิงรำไพพรรณีโตมากแล้วอายุถึง 16 ปี พอสมควรจะทำการสมรสได้ ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบทูลสมเด็จแม่ว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะมีหนังสือกราบบังคมทูลไต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเพื่อทราบพระราชปฏิบัติ ท่านก็ทรงเห็นด้วยกับข้าพระพุทธเจ้า ส่วนเสด็จน้านั้น ท่านรับสั่งว่าท่านไม่ทรงเกี่ยวข้องด้วย เพราะท่านได้ถวายหญิงรำไพไว้ขาดแด่สมเด็จแม่ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ แล้ว

          ถ้าตามที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลมานี้ มิได้ขัดต่อพระราชประสงค์แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้สำเร็จตามประสงค์นี้

          ส่วนการพิธีเศกสมรสนั้นจะกระทำอย่างไรและวันเวลาใดย่อมแล้วแต่ไต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจะทรงกำหนดทั้งนั้น ตามข้อความนี้ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลมานี้ สมเด็จแม่ทรงเห็นพ้องด้วยแล้วทุกประการ...”[2]

 

          สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา ทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตที่จะอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงรับเป็นพระราชธุระขอหม่อมเจ้ารำไพพรรณีต่อ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีอภิเษกสมรสพระราชทาน โดยมีพิธีขึ้นที่ตำหนัก ณ วังศุโขทัย ถนนสามเสน และยังมีพระราชพิธีอภิเษกสมรสที่พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน[3] การอภิเษกสมรสครั้งนี้นับว่าเป็น “สมัยใหม่” เนื่องจากเป็นครั้งแรก หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเศกสมรศแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ พุทธศักราช 2461 ขึ้นใช้บังคับ กฎมณเฑียรบาลฉบับนี้มีสาระสำคัญว่า (สะกดตามต้นฉบับ)

 

          “...เจ้านายในพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป จะทำการเศกสมรศกับผู้ใด ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงจะกระทำการพิธีนั้นได้...”[4]

 

          อีกประการหนึ่งคือ การพระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งนี้มีความเป็น “สมัยใหม่” เนื่องจากเป็นครั้งแรก ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเอาพระราชนิยมเรื่องพิธีการสมรส ซึ่งโปรดแบบอย่างการสมรสของชาวตะวันตกในบางขั้นตอน คือ การตั้งกระทู้ถามตอบคู่สมรสมาใช้ในการพระราชพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา โดยทรงพระราชดำริให้มีการสอบถามความสมัครใจของคู่ที่จะทำการสมรส นั่นคือในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 เวลา 14.00 นาฬิกา เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มหาเสวกโท พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ (ลออ ไกรฤกษ์)[5] สมุหพระนิติศาสตร์ กระทรวงวัง ตั้งกระทู้กราบทูลและทูลถามว่า[6]

 

         กราบทูลถามสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา

          (ถาม)          ฝ่าพระบาทตั้งพระหฤทัยที่จะทรงรับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีไปเป็นพระชายาเพื่อทรงถนอม ทะนุบำรุงด้วยความเสน่หาและทรงพระเมตตาสืบไปจนตลอดนั้นฤา

          (ทรงตอบ)     ข้าพเจ้าตั้งใจเช่นนั้น

         

          ทูลถามหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี    

          (ถาม)            ท่านตั้งหฤทัยที่จะมอบองค์ของท่านเป็นพระชายาแห่งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา ด้วยความเสน่หาจงรักสมัครจะปฏิบัติอยู่ในพระโอวาทแห่งพระสามีสืบไปจนตลอดนั้นฤา

          (ทรงตอบ)       ข้าพเจ้าตั้งใจเช่นนั้น

 

          เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงตอบกระทู้กราบทูลถามและทูลถามเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ และทรงเจิมสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี จากนั้นจึงพระราชทานเข็มพระปรมาภิไธยประดับเพชรแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ และพระราชทานสร้อยพระศอมีวัชระและอักษรพระปรมาภิไธยย่อภายใต้พระมหามงกุฎประดับเพชรล้วน พร้อมทั้งหีบหมากทองคำแก่หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี และยังพระราชทานเงินพระคลังข้างที่เป็นทุนอีก 160,000 บาท จากนั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงลงพระนามในสมุดทะเบียนเฉพาะพระพักตร์แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยเป็นผู้สู่ขอตบแต่งคู่อภิเษกสมรสและทรงเป็นพยาน จากนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการลงพระนามและลงนามเป็นพยานในสมุดทะเบียนด้วย จากนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงเนื่องในการพระราชพิธีอภิเษกสมรสเพื่อเป็นเกียรติแก่คู่อภิเษกสมรส โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ได้ลงพระนามและลงนามในสมุดทะเบียน รวมไปถึงข้าราชการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันนั้นได้รับพระราชทานเลี้ยงด้วย และเมื่อการพระราชทานเลี้ยงใกล้จะเสร็จสิ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสพระราชทานพรแก่คู่อภิเษกสมรส และทรงชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการดื่มถวายพระพรแด่คู่อภิเษกสมรสด้วย ในวโรกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแหวนเพชรทองคำลงยามีข้อความ “อภิเษกสมรส” โดยจัดทำขึ้นตามพระราชดำริ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง[7] พระราชทานเฉพาะเจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ 12 พระองค์ที่ทรงลงพระนามเป็นสักขีพยาน ถือเป็นของชำร่วยงานแต่งงานชิ้นแรกของไทย อันนับได้ว่างานอภิเษกสมรสครั้งนี้ได้ผสมผสานความเป็นสมัยใหม่เข้ากับโบราณราชประเพณีได้อย่างเหมาะสมกลมกลืนยิ่ง

          อนึ่ง ในโอกาสนั้น สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี[8] ได้ทรงลงพระนามาภิไธยเป็นพระองค์แรกต่อจากพระปรมาภิไธยใน “ทะเบียนแต่งงาน” สำหรับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถนั้นไม่ได้เสด็จฯ ไปทรงร่วมงานเนื่องจากทรงพระประชวร แต่ได้เสด็จฯ จากวังพญาไทตามคลองสามเสนไปประทับ (เข้าใจว่าบนเรือพระที่นั่งทอดสมอ) อยู่ที่ตำหนักนํ้า วังศุโขทัย วังส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ริมคลองเดียวกันนั้น ที่ซึ่งองค์คู่สมรสได้เสด็จเข้าประทับทันทีหลังจากพระราชพิธีอภิเษกสมรส[9]

          นอกจาก “ความสมัยใหม่” จะปรากฏในรายละเอียดของการพระราชพิธีอภิเษกสมรสแล้ว ฉลองพระองค์ของ “เจ้าสาว” ก็นับได้ว่าสมัยใหม่เช่นกันดังที่ปรากฏในพระรูปที่ทรงฉายคู่กับพระสวามี เนื่องจากใน พ.ศ. 2461 นั้น ตรงกับช่วงกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่แบบแผนการแต่งกายอย่างตะวันตกตรงกับช่วงทีนส์ตอนปลาย(Late Teens) อันตรงกับช่วง พ.ศ. 2458-2463 (ค.ศ. 1915-1920) นับตั้งแต่ทรงพระเกศาของหม่อมเจ้ารำไพพรรณีที่ตรงกับแฟชั่นของยุโรปในช่วงนั้น นั่นคือการไว้พระเกศายาวและเกล้าเป็นมวยที่ด้านหลัง ฉลองพระองค์ลูกไม้ที่มีคอแบบเหลี่ยม แขนของฉลองพระองค์เริ่มสูงขึ้นมาถึงช่วงกลางพระพาหามีผ้าคาดบั้นพระองค์ ทรงเครื่องประดับมรกตประดับเพชรอย่างตะวันตกครบชุด ทั้งสร้อยคาดพระเกศาเป็นศิราภรณ์ สร้อยพระศอ เข็มกลัดมรกตทรงสี่เหลี่ยม และมรกตทรงหยดน้ำประดับเพชรประดับพระอุระเบื้องขวา กลางพระอุระประดับด้วยสร้อยมรกตทรงสี่เหลี่ยมประดับเพชร ที่พระอังสาเบื้องซ้ายกลัดเข็มกลัดมรกตสี่เหลี่ยมล้อมด้วยเพชรทับบนแพรสะพายจุลจอมเกล้าที่ทรงประกอบกับการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายใน[10] ที่พระอุระเบื้องซ้าย ทรงสร้อยพระกรมรกตประดับเพชรทั้งที่ข้อพระกรเบื้องขวาและซ้าย และที่ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความ “ทันสมัย” ในแบบแผนการแต่งพระองค์ของหม่อมเจ้ารำไพพรรณี คือ ทรงนาฬิกาข้อพระหัตถ์ ทรงผ้าไหมยกในลักษณะโจงกระเบน ทรงถุงพระบาทยาวถึงพระชงฆ์ และยังทรงรองพระบาทส้นสูงสไตล์แมรี เจน อีกด้วย

          นับแต่วันอภิเษกสมรสเป็นต้นมา ทั้งสองพระองค์นับว่าทรงเป็น “คู่แท้” ของกันและกัน ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในฐานะพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินีอันเป็นคุณูปการต่อประเทศชาติ และประชาชนเป็นอเนกประการ ทรงเคียงคู่กันเสด็จฯ เยี่ยมเยียนพสกนิกรในราชอาณาจักร และเสด็จประพาสทุรสถานต่างประเทศ ทั้งดินแดนใกล้เคียง และไพรัชประเทศที่ไกลออกไปทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป พร้อมกันนั้น ยังทรงครองคู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาโดยตลอด ตราบจนถึงแก่กาลอวสานแห่งพระชนมชีพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

อ้างอิง

[1] สำนักพระราชวัง, พระราชวังบางปะอิน (กรุงเทพฯ : พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต สำนักพระราชวัง, 2546)

[2] สำนักราชเลขาธิการ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ, 2528), หน้า 15.

[3] สำนักราชเลขาธิการ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ, 2528), หน้า 7.

[4] “กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเศกสมรศแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ พุทธศักราช 2461,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 35 (23 มิถุนายน 2461): 147.

[5] ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์)

[6] สำนักราชเลขาธิการ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ, 2528) หน้า 7.

[7] สำนักราชเลขาธิการ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ, 2528) หน้า 7.

[8] ทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และต่อมาทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

[9] หม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ชุมพล, กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสถาน (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2560), หน้า 54.

[10] หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ฝ่ายใน) ในที่ประชุมครั้งที่ 46 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2461 ในการพระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนมาจัดพร้อมกับการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ดูใน คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า (กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี, 2547), หน้า 335-337.