สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ผู้เรียบเรียง : ศิวพล ชมภูพันธุ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นพระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทรงมีพระประสูติกาล เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2424 โดยมีพระนามลำลองที่เรียกขานกันในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารว่า “ทูลกระหม่อมชาย” และ “ทูลกระหม่อมบริพัตร” ทรงมีพระโสทรเชษฐภคินีพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ในอีกด้านหนึ่งทรงสืบเชื้อสายตระกูลบุนนาคจากทางฝั่งพระราชมารดาซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานตาของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมเด็จเจ้าฟ้าเจ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ ทรงเป็นเจ้านายที่มีบทบาทสำคัญยิ่งทั้งในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ด้วยทรงดำรงตำแหน่งสำคัญทางการปกครองและการทหาร อีกทั้งยังถือเป็นเจ้านายทรงมีบารมีอย่างกว้างขวางในเวลานั้น ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้เสด็จไปประทับอยู่ที่ เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ตราบจนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2487 สิริพระชนมายุรวม 60 พรรษา สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงเป็นต้นราชสกุล “บริพัตร”
ครั้งยังทรงพระเยาว์ เมื่อมีพระชนมายุได้ 10 พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนมไหสุริยสงขลา” ทรงศึกษาวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และโรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง จนเมื่อเจริญพระชันษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 2 ปี จากนั้น จึงทรงย้ายไปศึกษาวิชาทหารบก ณ ประเทศเยอรมนี ตลอดเวลาที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงประทับที่เยอรมันนั้น ทรงอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ซึ่งทรงเป็นหนึ่งในประมุขแห่งรัฐมหาอำนาจยุโรป สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงมีผลการเรียนที่ดีและมีพระจริยาวัตรที่งดงามจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยของ สมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 อย่างยิ่ง ถึงกับทรงมีพระราชหัตถเลขาชมเชยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ส่งมากราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยพระองค์เองอยู่หลายคราว[1]
เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาใน พ.ศ. 2443 ทรงได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตรีทหารราบแห่งกองทัพเยอรมัน โดยทรงประจำอยู่ในกองร้อยที่ 11 กรมทหารพระนางเอากุสตารักษาพระองค์ที่ 4 ในเวลาเดียวกันยังทรงศึกษาเพิ่มเติมในวิทยาลัยการสงคราม (เสนาธิการ) ณ เมืองดัลเซล ประเทศเยอรมนี และทรงสำเร็จการศึกษาในชั้นนี้ เมื่อ พ.ศ. 2443 ด้วยผลคะแนนที่สูง และได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรชมเชยพิเศษของ สมเด็จพระจักรพรรดิ ในปีเดียวกันนั้นเอง พระองค์ได้เสด็จกลับสยามเป็นระยะเวลาสั้น ๆ และได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต” เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443 ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ยังโปรดเกล้าฯ สร้าง “วังบางขุนพรหม” เมื่อ พ.ศ. 2444 เพื่อพระราชทานให้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์
เมื่อเสด็จกลับไปเยอรมนี ได้ทรงศึกษาเพิ่มเติมทั้งวิชาการทหารและพลเรือนอยู่เสมอ ดังจะเห็นได้จากการเข้าศึกษาในโรงเรียนแม่นปืน ที่เมืองสะบันเดา การศึกษาเรื่องตำรายุทธศาสตร์ยุทธวิธี การฝึกหัดนำทัพในสนาม ซึ่งเป็นหลักสูตรของโรงเรียนเสนาธิการเยอรมัน รวมทั้งการเข้าฟังปาฐกถา เรื่องเศรษฐกิจกฎหมาย ธรรมเนียมระหว่างประเทศ และวิธีการปกครองอาณานิคม ที่มหาวิทยาลัยกรุงเบอร์ลินเป็นเวลาหนึ่งภาคเรียน จนเมื่อถึงเวลาที่ต้องเสด็จกลับสยาม สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงได้รับพระราชทานพระยศเป็นนายร้อยเอกทหารราบแห่งกองทัพบกเยอรมัน เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2446 สิริเวลาที่ทรงศึกษาและรับราชการในประเทศเยอรมนีรวม 9 ปี[2]
เมื่อเสด็จกลับมาประทับ ณ กรุงเทพ ในเบื้องต้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงงานที่กรมยุทธนาธิการทหารบกในตำแหน่งเสนาธิการทหารบก แต่เพียงเวลาไม่นาน ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ย้ายไปเป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือสืบต่อจาก สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุพันธ์วงศ์วรเดช โดยมี พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (พระยศในเวลานั้น) เป็นรองผู้บัญชาการและมี พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก จารุจินดา) เป็นปลัดบัญชาการ การที่ทรงได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจการทหารเรือทั้งที่ทรงสำเร็จวิชาทหารบกมานั้น คงเป็นเพราะพระราชบิดาทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ เข้าไปจัดดูแลการทหารเรือ เนื่องด้วยในเวลานั้นอยู่ในสภาพที่วุ่นวายไร้ซึ่งแผนการปฏิบัติการที่ชัดเจน ข้าราชการแตกความสามัคคีระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ อีกทั้งปัญหาหนี้สินของกรมทหารเรือที่ติดค้างห้างร้านของต่างชาติอยู่ถึง 2 แสนบาท[3] แม้จะทรงไม่ถนัดและขาดความคุ้นเคยกับกิจการทหารเรือ แต่เมื่อทรงเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวก็ทรงวางระเบียบการบริหารองค์กรให้รัดกุมและชัดเจนยิ่งขึ้น จนกิจการทหารเรือมีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ
ในสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต” ในรัชกาลนี้มีการยกกรมทหารเรือขึ้นเป็นกระทรวงทหารเรือ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2453 โดยมีสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีเป็นพระองค์แรก แม้จะเป็นเจ้านายชั้นสูงที่ควบคุมตำแหน่งสำคัญทางการทหาร แต่กระนั้นพระองค์ก็ประสบปัญหาทางการเมืองบางประการตั้งแต่ตอนต้นรัชกาล เนื่องด้วยความขัดแย้งในหมู่พระราชวงศ์ที่ส่งผลต่อระบบราชการของกระทรวงทหารเรือ ดังจะเห็นได้จากการที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการปลด กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2454 จนสร้างความไม่พอใจในหมู่ทหารเรือ และอีกครั้งคือพระราชดำริที่จะให้ พระยามหาโยธา (ฉ่าง แสง-ชูโต) มาเป็นเสนาธิการแทน กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร แต่ก็ถูกทัดทานจาก สมเด็จเจ้าฟ้าฯ อีกทั้งยังทรงยื่นคำขาดว่าหากมีโยกย้ายตามพระราชประสงค์ จะขอกราบบังคมทูลลาออกจากเสนาบดี ในท้ายที่สุดก็มีการระงับพระบรมราชโองการดังกล่าว[4] ส่วนหนึ่งของความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในกระทรวงทหารเรือน่าจะเป็นผลมาจากกระแสข่าวที่เกิดขึ้นตลอดรัชกาลเรื่องการก่อกบฏชิงบัลลังก์ถวายให้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ เป็นพระเจ้าแผ่นดินแทน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัว จนสร้างความสั่นคลอนต่อการเมืองภายในเนื่องจากทรงถูกเพ่งเล็งจากราชสำนักอยู่เสมอ ดังจะเห็นได้จากหลังการจับกุมกลุ่มผู้ก่อการคณะ ร.ศ. 130 มีการกล่าวพาดพิงถึง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ว่าเป็นหนึ่งในรายพระนามที่ผู้ก่อการต้องการให้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์หากกระทำการสำเร็จ แม้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พระองค์ก็ถูกตั้งข้อสงสัยจากหลายฝ่ายว่าเป็นกลุ่มนิยมเยอรมนี ซึ่งไม่ต้องพระราชนิยมใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงโน้มเอียงไปทางฝ่ายสัมพันธมิตร[5] ข้อสงสัยข้างต้นนำไปสู่การสร้างกระแสข่าวลือเรื่องการชิงบัลลังก์ภายใต้การสนับสนุนของเยอรมนี แต่ก็ไม่ปรากฏการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เมื่อสยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ในฐานะเสนาบดีกระทรวงทหารเรือก็ทรงปฏิบัติหน้าที่ในยามสงครามอย่างเต็มพระกำลัง โดยทรงรับผิดชอบเรื่องการยึดเรือของฝ่ายชาติศัตรู การรักษาความสงบในเขตจังหวัดธนบุรี และการดูแลความมั่นคงของพระราชอาณาเขตตามหัวเมืองชายทะเล[6] ภายหลังการเสด็จทิวงคตของ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ในปี พ.ศ. 2463 ทำให้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงย้ายกลับมาดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบกและทรงสืบสานการทหารบกต่อจาก สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ โดยเฉพาะเรื่องการขยายกองกำลังทางอากาศและการสร้างสนามบินเพื่อรองรับการทำให้การทหารของสยามมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น[7] การที่ทรงดำรงตำแหน่งสำคัญทางการทหารอย่างต่อเนื่องและแข็งขันมาตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้พระองค์เป็นที่เคารพรักของเหล่านายทหารและปัจจัยในข้อนี้ได้กลายเป็นฐานเสริมสร้างอำนาจและบารมีทางการเมืองให้แก่พระองค์จนถึงช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ในรัชกาลที่ 7 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต” สถานภาพและบทบาททางการเมืองของ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ได้กลับมาเข้มแข็งและโดดเด่นอีกครั้งหนึ่ง ในรัชสมัยนี้ ได้ทรงดำรงตำแหน่งที่สำคัญมากมาย ได้แก่ ตำแหน่งอภิรัฐมนตรีร่วมกับพระบรมวงศาอื่นอีก 4 พระองค์ (พ.ศ.2468-2475) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม (พ.ศ. 2469-2471) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ.2471-2475) ในบางโอกาสทรงทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือผู้รักษาพระนครเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศหรือเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับนอกกรุงเทพมหานคร อาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงมีบทบาทอย่างแข็งขันในราชสำนักจนมีผู้กล่าวว่าทรงเป็น “ผู้ประกันเสถียรภาพของราชบัลลังก์” ที่ทรงอิทธิพลสูงสุดจนมีการกล่าวกันว่าอาจเป็นพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลถัดไปก็เป็นได้ ในอีกด้านหนึ่ง กระแสการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการเปลี่ยนไปสู่การปกครองแบบใหม่ที่ท้าทายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เริ่มก่อตัวและทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ในทัศนะของคนกลุ่มนี้เห็นว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ เป็น “หัวหน้าคณะเจ้า” ที่ทรงอิทธิพลอย่างกว้างขวางในเวลานั้น
ในบริบทดังกล่าว กระแสการเปลี่ยนแปลงการปกครองเริ่มหนาหูขึ้นในพระนคร แม้แต่ฝ่ายรัฐบาลเองก็เริ่มระแคะระคายบ้างแล้ว ก่อนวันที่ 24 มิถุนายนไม่นานนัก พล.ต.ท.พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้น พร้อมด้วยกองกำลังตำรวจจำนวนหนึ่งมาเข้าเฝ้า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ เพื่อถวายบัญชีรายชื่อผู้สมคบคิดเป็นกบฏ แต่ก็มิทรงเชื่อและทรงทัดทานมิให้จับกุมกลุ่มบุคคลเหล่านั้นเนื่องด้วยรายชื่อของนายทหารในรายงานนั้นทรงคุ้นเคยและมิได้ทรงคิดว่าจะก่อการกบฏ อีกทั้งยังทรงเกรงว่าหากมีการจับกุมอาจเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันได้ อย่างไรก็ตาม ในเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ในฐานะหัวหน้าคณะราษฎรได้นำกองกำลังเข้ายึดอำนาจการปกครองที่ลานพระราชวังดุสิต และอ่านประกาศคณะราษฎรเพื่อเปลี่ยนแปลงสยามไปสู่ระบอบการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ในอีกด้านหนึ่งมีการนำกำลังทหารจับเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไว้เป็นเครื่องต่อรองกับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นายทหารกลุ่มหนึ่งนำโดย พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) มุ่งหน้าไปยังวังบางขุนพรหมเพื่ออัญเชิญ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม แม้จะมีการปะทะกันระหว่างกลุ่มทหารผู้อารักขาวังกับกลุ่มทหารฝ่ายคณะราษฎรแต่ก็ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ แต่กระนั้น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ก็ทรงบ่ายเบี่ยงที่จะเสด็จไปกับนายทหารของคณะราษฎรและมีการเจรจาต่อรองเกิดขึ้นจนนายทหารหนุ่มคนหนึ่งเกิดความร้อนใจ และหันกระบอกปืนไปทางพระองค์แต่ก็ระงับไว้ได้ จนในที่สุด สมเด็จเจ้าฟ้าฯ พร้อมด้วย หม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร พระชายาก็ทรงยินยอมเสด็จไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคมโดยดี[8]
ในอีกหนึ่งวันต่อมา สมเด็จเจ้าฟ้าฯ พร้อมด้วยราชตระกูล ต้องเสด็จออกจากสยามโดยรถไฟขบวนพิเศษไปยังปีนัง เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม และต่อมาทรงย้ายไปประทับที่ เมืองบันดุง เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ตราบจนช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพ นับเป็นการยุติบทบาททางการเมืองของเจ้านายที่สำคัญองค์หนึ่งของสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2487 ขณะพระชันษา 63 ปี ต่อมาได้อัญเชิญพระศพกลับมาประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2493[9]
บรรณานุกรม
“กำหนดการพระราชทานเพลิงพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระศพ พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และพระศพพระเจ้าบรม วงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย ณ พระเมรุท้องสนามหลวง
พุทธศักราช 2493” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 67 ตอนที่ 23 (วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2493): 1525-1555.
พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระโอวาทแลลายพระหัตถ์ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และพระประวัติฯ . พิมพ์เนื่องในการพระราชทานเพลิงศพ พันเอก
หม่อมราชวงศ์ถวัลย์มงคล โสณกุล ท.ช., ท.ม. ณ เมรุวัดเทพศิริทราวาส กรุงเทพมหานคร วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2533.
เทพ บุญตานนท์. การเมืองในการทหารไทยสมัยรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ: มติชน, 2559.
ประสงค์สม บริพัตร, หม่อมเจ้าหญิง. บันทึกความทรงจำบางเรื่องของหม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม บริพัตร ในสมเด็จ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต. พิมพ์ในงานเมรุ ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499.
มลิวัลย์ คงเจริญ. บทบาทและกิจการทหารเรือไทยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์ มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517.
สิริรัตน์ เกตุษเฐียร. บทบาททางการเมืองของสมเด็จพระจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระ นครสวรรค์วรพินิต (พ.ศ. 2446 - พ.ศ. 2475). วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2522
ศิวพล ชมภูพันธุ์. “กลุ่มนิยมเยอรมนีในสยาม (พ.ศ. 2457-2460): ความเคลื่อนไหว ปฏิกิริยาและข้อสังเกตบางประการ” วารสารรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2 (1), 2560: 33-61.
อ้างอิง
[1] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระโอวาทแลลายพระหัตถ์ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และพระประวัติฯ (พิมพ์เนื่องในการพระราชทานเพลิงศพ พันเอก หม่อมราชวงศ์ถวัลย์มงคล โสณกุล ท.ช., ท.ม. ณ เมรุวัดเทพศิริทราวาส กรุงเทพมหานคร วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2533).
[2] สิริรัตน์ เกตุษเฐียร. บทบาททางการเมืองของสมเด็จพระจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (พ.ศ. 2446 - พ.ศ. 2475). (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2522.), หน้า 68-71.
[3] หม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม บริพัตร, บันทึกความทรงจำบางเรื่องของหม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม บริพัตรในสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต. พิมพ์ในงานเมรุ ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499, หน้า 1-5.
[4] เทพ บุญตานนท์, การเมืองในการทหารไทยสมัยรัชกาลที่ 6 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2559), หน้า 47-51.
[5] ศิวพล ชมภูพันธุ์ ศิวพล ชมภูพันธุ์. “กลุ่มนิยมเยอรมนีในสยาม (พ.ศ. 2457-2460): ความเคลื่อนไหว ปฏิกิริยาและข้อสังเกตบางประการ” วารสารรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2 (1), 2560: 42-45.
[6] มลิวัลย์ คงเจริญ. บทบาทและกิจการทหารเรือไทยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์. (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517), หน้า 332-333.
[7] สิริรัตน์ เกตุษเฐียร. บทบาททางการเมืองของสมเด็จพระจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (พ.ศ. 2446 - พ.ศ. 2475), หน้า 112-116
[8] พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระโอวาทแลลายพระหัตถ์ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวีและพระประวัติฯ . (พิมพ์เนื่องในการพระราชทานเพลิงศพ พันเอก หม่อมราชวงศ์ถวัลย์มงคล โสณกุล ท.ช., ท.ม. ณ เมรุวัดเทพศิริทราวาส กรุงเทพมหานคร วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2533), หน้า 176-178.
[9] “กำหนดการพระราชทานเพลิงพระศพ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระศพพลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย ณ พระเมรุท้องสนามหลวง พุทธศักราช 2493” ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 23 เล่ม 67 (วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2493): 1525-1555.