ที่มาของประธานรัฐสภา
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ที่มาของประธานรัฐสภา
ประธานรัฐสภาเป็นตำแหน่งสำคัญสำหรับระบบการเมืองแบบรัฐสภา (Parliamentary System) เนื่องจากเป็นตำแหน่งสูงสุดขององค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดขององค์กรผู้ใช้อำนาจบริหาร และประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดขององค์กรผู้ใช้อำนาจตุลาการ ประธานรัฐสภามีที่มาในการเข้าสู่ตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มีบทบาทสำคัญในการดำเนินกิจการของรัฐสภาในกรณีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา นอกจากนี้ยังมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ๆ อีกด้วย เช่น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภาและพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เป็นต้น
ที่มาของประธานรัฐสภาขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในแต่ละระบบการเมืองที่แตกต่างกันในประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาคู่ดังเช่นประเทศไทย ภายใต้สมัยที่รัฐสภามาจากการเลือกตั้งประธานรัฐสภาอาจจะมาจากประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภา หรือในบางยุคสมัยโดยเฉพาะในสมัยของการรัฐประหารและมีรัฐสภาที่มาจากการแต่งตั้งเป็นระบบสภาเดี่ยว ประธานรัฐสภามักมีที่มาจากประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา
ตำแหน่งประธานรัฐสภามีที่มาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา โดยสามารถจัดกลุ่มที่มาของประธานรัฐสภาได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มแรก ประธานรัฐสภาซึ่งมีที่มาจากประธานสภาผู้แทนราษฎร
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ได้กำหนดให้รัฐสภามีแค่สภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว จึงถือว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา
วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ทำการรัฐประหารตนเอง และได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 มาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 รัฐสภามีเพียงแค่สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น จึงทำให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา
หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2517 ได้กำหนดไว้ว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ฝ่ายนิติบัญญัติที่ประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา
ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2535 โดยแก้ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในสมัยต่อมาคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก็ได้กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภาเช่นกัน
กลุ่มที่สอง ประธานรัฐสภาซึ่งมีที่มาจากประธานวุฒิสภา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ได้กำหนดให้รัฐสภาประกอบไปด้วยพฤฒสภา (วุฒิสภา) และสภาผู้แทนราษฎรซึ่งกำหนดไว้ว่า ให้ประธานพฤฒสภาเป็นประธานของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาและให้ประธานสภาผู้แทนเป็นรองประธาน ซึ่งรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับต่อมาคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ก็ได้กำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภาเช่นกัน
ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ซึ่งได้กำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา ในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ได้มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งได้กำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา ต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 กำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา
กลุ่มที่สาม ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือประธานสภาลักษณะอื่นปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา
วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามแล้วนั้น และยังคงให้มีการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ต่อไป แต่ต่อมาจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้งและได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 แทน ซึ่งกำหนดให้ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นประธานรัฐสภา
วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจรได้ทำการรัฐประหารตนเอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ และประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ได้กำหนดให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นประธานรัฐสภา ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ทำให้เกิดการรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 กำหนดให้ประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเป็นประธานรัฐสภา ต่อมาเกิดการรัฐประหารอีกครั้งพร้อมยกเลิกรัฐธรรมนูญและประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 กำหนดให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นประธานรัฐสภา
ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ทำการรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญและประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 ซึ่งกำหนดให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นประธานรัฐสภา นอกจากนี้หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ต่อมาเปลี่ยนเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ในช่วงก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ในช่วงก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับนั้นได้บัญญัติไว้ว่า ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา จึงทำให้ประธานสภานิติบัญญัติเป็นประธานรัฐสภา
โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า ที่มาของประธานรัฐสภามีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างอำนาจทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย และสะท้อนให้เห็นการต่อสู้เชิงอำนาจระหว่างฝ่ายประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้งกับฝ่ายชนชั้นนำทางการเมืองผ่านกระบวนการสรรหาแต่งตั้ง เพื่อเข้ามาเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ จึงส่งผลให้ที่มาของประธานรัฐสภาที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแตกต่างกันไป