กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ
เรียบเรียงโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และ ธีทัต จันทราพิชิต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวของนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีบทบาทในการชุมนุมประท้วงของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาในช่วงปี พ.ศ. 2563 กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการเป็นกลุ่มที่เน้นการเคลื่อนไหวในประเด็นเกี่ยวกับการศึกษา และมีส่วนสำคัญในการพยายามตีความความหมายทางวัฒนธรรม หรือประวัติศาสตร์ของโรงเรียนเตรียมอุดมให้สอดรับกับอุดมการณ์การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในภาพใหญ่ด้วย
จุดกำเนิดและการเคลื่อนไหว
กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ ปรากฏตัวทางทวิตเตอร์ครั้งแรกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจต่อการยุบพรรคอนาคตใหม่ในช่วงเวลานั้น ต่อมาทางกลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ ปรากฏตัวทางเฟซบุ๊คครั้งแรกในวันที่ 5 มิถุนายน 2563 การเคลื่อนไหวช่วงแรกของกลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการนั้นจะเป็นการชุมนุมประท้วงทั่วไปโดยได้จัดการชุมนุมในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ในชื่อกิจกรรมว่า “เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ"[1]
เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทางเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการได้มุ่งทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์มากขึ้น โดยในวันที่ 6 มิถุนายน 2563 ได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านกรณีบังคับสูญหายผู้ลี้ภัยทางการเมืองของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์”[2] ซึ่งกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 พร้อมกันนั้นก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการบังคับให้สูญหายทุกรูปแบบ
ต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน 2563 กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการได้โพสต์ข้อความต่อต้านระบบอาวุโส[3] โดยประกาศว่าจะไม่ใช่แค่ปัญหาที่หยุดที่โรงเรียนเท่านั้น แต่จะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบไปถึงระดับสังคมการเมืองระดับชาติด้วย[4]
การต่อต้านค่านิยมที่ถูกมองว่าเป็นอำนาจนิยมนั้นไม่ได้จำกัดแค่เรื่องระบบอาวุโส แต่ยังรวมไปถึงกฎระเบียบเรื่องทรงผม การใส่เสื้อซับใน[5] ไปจนถึงเรื่องการสนับสนุนให้มีการใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน[6]
ในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ซึ่งนับเป็นวันครบรอบ 88 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ทางกลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการก็ได้จัดทำข้อเรียกร้องทั้งหมด 10 ข้อขึ้น โดยมีเนื้อหาตั้งแต่การแก้รัฐธรรมนูญ การยุบสภา การปฏิรูปกองทัพ การจัดการกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปจนถึงการปฏิรูปการศึกษา[7] พร้อมกันนั้นทางกลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการยังได้แสดงตัวอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนมรดกของคณะราษฎรและขอต่อต้านความพยายามลบคณะราษฎรออกจากประวัติศาสตร์[8]
ต่อมาหลังจากเกิดกระแสการชุมนุมประท้วงเนื่องจากกรณีทหารอียิปต์สามารถเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านการกักตัวตามมาตรการจัดการโควิด-19 ในเดือนกรกฎาคม 2563 กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการได้ปรับการเคลื่อนไหวให้มากกว่าการเรียกร้องทางโลกออนไลน์อย่างเดียว โดยในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการได้จัดกิจกรรมชุมนุมประท้วงที่ชื่อว่า วันศุกร์ลุกมาต้านเผด็จการ โดยได้ให้คำอธิบายไว้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวแบบ“เวรี่แฟลชม็อบ” เนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ใช้เวลาเพียง 30 นาที โดยกิจกรรมเป็นการรวมตัวและทำกิจกรรมไว้อาลัยประชาธิปไตยในวันนั้น[9]
ต่อมาในวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ทางกลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการได้จัดกิจกรรมชุมนุมประท้วงอีกครั้ง[10] โดยมีลักษณะที่ลดความเคร่งเครียดลงเพื่อเข้าถึงผู้คนจำนวนมากขึ้น [11] และหลังจากนั้นกลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการได้ช่วยเหลือหรือเข้าร่วมในการชุมนุมประท้วงของนิสิต นักศึกษาในช่วงปี 2563 ตลอดปี
ความคิดทางการเมือง
กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ มีลักษณะความคิดทางการเมืองที่ต่อต้านสิ่งที่ถูกมองว่ามีลักษณะ “อำนาจนิยม” ซึ่งรวมไปถึงวัฒนธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทางกลุ่มเชื่อว่ามีผลต่อการครอบงำทางความคิดของผู้คนโดยระบอบเผด็จการ ทั้งนี้จากบทสัมภาษณ์ของทางบีบีซีไทย พบว่า กลุ่มสมาชิกของกลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการหลายคนมีลักษณะการเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ใกล้กับกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกปปส. เสียมาก หลายคนเคยเข้าร่วมการชุมนุมกับ กปปส. แต่ด้วยบริบทที่ต่างกันและบทบาทของรัฐบาลที่มีลักษณะอำนาจนิยมมากยิ่งขึ้นทำให้เกิดการตั้งคำถาม และเปลี่ยนจากการสนับสนุนมาเป็นต่อต้านในที่สุด[12]
ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของกลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการคือ การชูบุคคลสำคัญที่เข้ากับความคิดทางการเมืองของตน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียนเตรียมอุดม โดยทางกลุ่มได้ทำการเชิดชู จิตร ภูมิศักดิ์ ที่เป็นศิษย์เก่าและมีภาพลักษณ์ที่ต่อต้านเผด็จการขึ้นมาในช่วงเดือนเกิดของจิตร ภูมิศักดิ์[13] และมีกิจกรรมจัดงานระลึกถึงจิตรในเดือนเดียวกันนั้น[14]
นอกจากนี้ กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการยังได้พยายามหาทางเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกับคณะราษฎร ซึ่งเป็นกลุ่มทางการเมืองที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ผ่านการเชิดชู จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดม[15] ทั้งนี้ภาพของ จอมพลป. พิบูลสงคราม ที่ถูกชูขึ้นมานั้นเป็นการชูภาพ จอมพล ป. พิบูลสงครามที่เป็นสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มคณะราษฎรมากกว่ามิติทางด้านความเป็นผู้นำทหารอย่างเห็นได้ชัด
อ้างอิง
[1] เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ, 2563, ประมวลภาพกิจกรรม #เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563. เข้าถึงจาก https://twitter.com/triamprotest/status/1233419926955646983
[2] เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ, 2563, แถลงการณ์กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ กรณีบังคับสูญหายผู้ลี้ภัยทางการเมือง
ของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์”. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/triamprotest/photos/a.106191621128084/106114894469090/
[3] เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ, 2563, สิ่งที่เกิดขึ้นใน #เกียมอุดม คือพลังของนักเรียนที่กล้าจะปฏิเสธระบบอาวุโสในโรงเรียน แทนที่จะส่งต่อกันไปผ่าน "ประเพณี" อย่างที่เคยเป็นมา. เข้าถึงจากhttps://www.facebook.com/triamprotest/posts/115837793496800
[4] เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ, 2563, ปัญหาที่เกิดขึ้นใน #เกียมอุดม จะไม่หยุดอยู่เพียงในโรงเรียนเท่านั้น. เข้าถึงจากhttps://www.facebook.com/triamprotest/posts/115942540152992
[5] เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ, 2563, กลุ่ม #เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ ต้องการเสียงของคุณ!.เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/triamprotest/posts/134322664981646
[6] เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ, 2563, 1 ธันวา บอกลาชุดนักเรียนพร้อมกัน !!. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/triamprotest/photos/a.106191617794751/208776620869583/
[7]เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ, 2563, 88 ปีผ่านไปประชาธิปไตยยังไม่เบ่งบาน. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/triamprotest/posts/115837793496800
[8]เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ, 2563, เราไม่ลืม. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/triamprotest/posts/133237945090118
[9] เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ, 2563, โรงเรียนไล่ยุง แต่เราจะไล่เผด็จการ!. เข้าถึงจาก.https://www.facebook.com/triamprotest/posts/149202720160307
[10] เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ, 2563, แจวเรือ! ตามหาประชาธิปไตย.เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/triamprotest/posts/151077759972803
[11] มติชนสุดสัปดาห์, 2563, สนทนากับ “เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ” เมื่อความฝัน ความหวังกำลังหาย คนหนุ่ม-สาวจึงลุกขึ้นขอทวงคืน.เข้าถึงจาก https://www.matichonweekly.com/in-depth/article_333990?fbclid=IwAR3EcZyuF74WaTQ9IZMWZ5tkQYSa69IGfuWMgqSCvjos7XpLPELN7AydHy4
[12] บีบีซีไทย, 2563, แฟลชม็อบ: “เกียมอุดมฯ” กับปรากฏการณ์ “กะลาแตก” ของเด็กหัวกะทิ. เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-53719677?at_campaign=64&at_custom2=facebook_page&at_custom4=8F6702BC-DB78-11EA-A67F-6D303A982C1E&at_custom1=%5Bpost+type%5D&at_medium=custom7&at_custom3=BBC+Thai&fbclid=IwAR3pWJogdW0wB4hD23x3bBonZfYbRmnqLBdS8yVplt07l9ptb_ZmkELk3fk
[13] เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ, 2563, 25 กันยายน เดือนนี้เป็นเดือนเกิดของรุ่นพี่ที่พวกเราเคารพรัก. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/triamprotest/posts/170217178058861
[14] เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ, 2563, ขอเชิญชวนนักเรียน #เกียมอุดม และผู้ที่มีศรัทธาเย้ยฟ้าดิน ร่วมงานรำลึก #จิตรภูมิศักดิ์ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ฝั่งประตูพญาไท ในวันศุกร์ที่ 25 กันยายนนี้ เวลา 11.00 น.. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/triamprotest/posts/175988664148379
[15] เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ, 2563, 89 ปี อภิวัฒน์สยาม 83 ปี เตรียมอุดมศึกษา. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/triamprotest/posts/355363579544219