พระราชพิธีฉลองพระนคร ครบ 150 ปี

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:35, 11 พฤศจิกายน 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

เรียบเรียงโดย : วรัญญา เพ็ชรคง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


พระราชพิธีฉลองพระนคร ครบ 150 ปี

          สืบเนื่องจากใน พ.ศ.2475 กรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 150 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว_รัชกาลที่_7 ทรงพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยว่าสมควรจะได้มีการสมโภชพระนครขึ้นอีกครั้งซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 โดยก่อนหน้านี้พระราชพิธีฉลองพระนครหรือสมโภชพระนครเคยกระทำมาแล้ว 2 ครั้ง คือสมโภชครั้งแรกเมื่อครั้งสร้างพระนครเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมโภชครั้งที่ 2 เมื่อพระนครครบรอบ 100 ปี พ.ศ.2425 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่จะมีการสมโภชพระนครเป็นครั้งที่ 3 นี้จะได้มีการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี พร้อมทั้งประดิษฐานพระปฐมบรมราชานุสรณ์ไว้ด้วย เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่ทรงได้สถาปนากรุงเทพมหานคร

          ในการก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมอำนวยการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

          ส่วนพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น ทรงมอบหมายให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ คิดแบบพระบรมรูป และนายซี เฟโรซี (Mr. Corado Feroci คือ ศาสตราจารย์ ศิลปพีระศรี) นายช่างปั้นชาวอิตาเลียนของศิลปากรสถานเป็นผู้ปั้นพระบรมรูปและส่งไปหล่อที่ยุโรป

 

ความเป็นมา

          พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับงานฉลองพระนครเริ่มปรากฏเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2469 ขณะนั้นเป็นเวลาที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ฉะนั้นการที่รัฐบาลจะจัดงานพิธีใดๆ จึงต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายและประโยชน์ที่จะได้รับให้มากที่สุด จึงมีพระราชดำริว่าการฉลองพระนครครั้งนี้สมควรเตรียมงานไว้ล่วงหน้าซึ่งจะช่วยให้สามารถเตรียมงบประมาณสำหรับรายจ่ายได้ทันเพื่อให้การจัดงานลุล่วงไปด้วยดี อีกทั้งการจัดงานฉลองพระนครอย่างเดียวเป็นเพียงงานรื่นเริงชั่วคราว เมื่อสิ้นงานทุกคนย่อมลืมเลือนไม่เหลือสิ่งใดเป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึง จึงควรมีการสร้างสิ่งหนึ่งสิงใดขึ้นเป็นอนุสรณ์ในงานนี้[1]

          กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน โปรดให้กองแบบแผน กรมรถไฟหลวง เป็นผู้ออกแบบโครงการรูปแบบของสะพาน โดยเริ่มจากปลายถนนตรีเพชรฝั่งพระนคร มีรูปเกือกม้า ตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูป ตัวสะพานทอดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางใต้ของวัดประยุรวงศาวาสฝั่งธนบุรี เมื่อมองจากด้านบน ลักษณะของสะพานจะมีรูปเป็นลูกศร อันเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

          บริษัทดอร์แมน ลอง แอนด์โค จำกัด (Dorman, Long & Co., Ltd.) ประเทศอังกฤษ เป็นผู้ได้รับคัดเลือกให้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้าง ส่วนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างมาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง งบประมาณแผ่นดินส่วนหนึ่ง และเงินที่บอกบุญเรี่ยไรจากราษฎรอีกส่วนหนึ่ง สะพานแห่งนี้ก่อสร้างเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ.2474 และได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “สะพานพระพุทธยอดฟ้า

          สะพานแห่งนี้ถือได้ว่า เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรก ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นทางรถยนต์และคนเดินเท้า แม้ว่าสะพานพระราม 6 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างขึ้นก่อนตั้งแต่ พ.ศ. 2468 แต่ใช้เป็นสะพานรถไฟโดยเฉพาะ

          สะพานพระพุทธยอดฟ้าได้รับการออกแบบอย่างทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ตัวสะพานเป็นโครงเหล็กยาว 229 เมตร ช่วงกลางสะพานสามารถยกเปิดให้เรือแล่นผ่านได้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสะพานนี้ในระหว่างงานสมโภชพระนคร 150 ปี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2475 [2] 

 

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2525.

คณะกรรมการโครงการส่งเสริมภาพพจน์ธนาคารไทยพาณิชย์วาระครบรอบ 90 ปี. 90 ภูมิปัญญา ค่าควรเมือง.กรุงเทพฯ:ธนาคารไทยพาณิชย์, 2540. หน้า 104-105.

สมุดภาพรัชกาลที่ 7 จัดพิมพ์โดยมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พ.ศ.2531.

สมุดภาพรัชกาลที่ 7. นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า, 2544.

 

อ้างอิง

[1]  กรมศิลปากร. พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2525.

[2] คณะกรรมการโครงการส่งเสริมภาพพจน์ธนาคารไทยพาณิชย์วาระครบรอบ 90 ปี. 90 ภูมิปัญญา ค่าควรเมือง.กรุงเทพฯ:ธนาคารไทยพาณิชย์, 2540. หน้า 104-105.