การเมืองแห่งความหวัง การเมืองแห่งอนาคต

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:31, 27 กรกฎาคม 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย

ปฐมบทแห่งความหวังและอนาคต

          “การเมืองแห่งความหวัง การเมืองแห่งอนาคต” เป็นประโยคที่ปรากฎในงานครบรอบหนึ่งปีพรรคอนาคตใหม่ Walk With Me Talk With Me ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2562 เพื่อใช้สื่อสารกับสมาชิกพรรคที่เรียกว่าชาวอนาคตใหม่[1] ซึ่งก่อนหน้านั้น ได้ปรากฏร่องรอยของความคิดผ่านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ นายปิยบุตร
แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

          นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เริ่มฉายภาพความหวังผ่าน “คนรุ่นใหม่กับการเมืองแห่งอนาคต[2]” ที่บอกเล่าเรื่องชีวิตและการต่อสู้ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยซึ่งได้ทำกิจกรรมทางการเมืองไปพร้อมกับการเรียน ชุมนุมขับไล่รัฐบาล รวมไปถึงการเผยแพร่ความคิดผ่านหนังสือ “ปักธงอนาคต” โดยในบทส่งท้าย :
The Future is Ours ได้ทำให้เห็นถึงข้อจำกัดของพรรคการเมืองที่มีอยู่ เพราะไม่มีพรรคการเมืองใดที่เป็นตัวแทนทางความคิด คุณค่า และหลักการได้ จึงจำเป็นที่ต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นทางเลือกใหม่เพื่อให้กับไปสู่เส้นทางประชาธิปไตยที่ควรจะเป็นด้วยวิธีทำงานการเมืองแบบใหม่ที่ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ไม่ใช้เงินและหัวคะแนนแบบเดิม ซึ่งนายธนาธรนิยามว่าเป็น “การเมืองแห่งความหวัง” โดยการรวบรวมผู้คนที่หลากหลายเพื่อเสนอนโยบายและวาระที่ก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจ การทลายการผูกขาดทางเศรษฐกิจ[3]

สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่พยายามพิสูจน์ในเรื่องความหวังให้เห็นเป็นรูปธรรม คือ ความเป็นไปได้
ซึ่งเป็นไปได้ทั้งในแง่จำนวน ส.ส. ของพรรคที่เข้าสภามากเกินกว่าที่คาดการณ์ แม้กติกาทางการเมืองจะเอื้อให้บางพรรคได้เปรียบอย่างมาก แต่ ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่จำนวน 81 คน ก็สามารถนำเอานโยบายที่พรรคหาเสียงมาเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร ได้ด้วย ส.ส. เพียงพรรคเดียว เป็นไปได้ในแง่การที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก็ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสภา แม้จะพ่ายแพ้ให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ตาม เป็นไปได้ในแง่สมาชิกพรรคก็มีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
พรรคมีสาขาครอบคลุมทุกภาคและมีตัวแทนประจำจังหวัด

การสร้างการเมืองแห่งความหวังและการเมืองแห่งอนาคตจึงต้องค่อยๆ หล่อเลี้ยงความหวังกันไปทั้งในสภาและนอกสภา โดยในสภาก็จะทำการเมืองแบบใหม่ เข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรสม่ำเสมอ อภิปรายอย่างสร้างสรรค์ที่เน้นข้อมูลเป็นหลัก คณะกรรมาธิการจะต้องเข้าประชุมเพื่อเขียนและเล่าให้กับราษฎรว่ากำลังทำอะไรอยู่ มากกว่าการเข้าไปเพื่อลงชื่อรับเบี้ยประชุมแล้วกลับบ้าน ส่วนนอกสภาฯ ก็จะเดินสายพบปะพี่น้องประชาชนเพื่อรับฟังปัญหา รณรงค์รับสมัครสมาชิกทั่วประเทศ การทำรายการตลาดวิชาเพื่อเผยแพร่ความรู้ หากวันใดที่เกิดความสิ้นหวังขึ้นมาก็จะกลายเป็นอาหารของระบอบรัฐประหารที่กำลังสืบทอดอำนาจ[4]

ส่วน “การเมืองแห่งความหวัง” ที่นำเสนอโดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล ถือเป็นหนังสือตัวอย่างที่พรรคอนาคตใหม่ใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวการทำงานของนักการเมืองที่ทำหน้าที่รับใช้ราษฎร เปรียบเสมือนการจดบันทึกการทำงานประจำวัน ความคิดทางการเมือง คำปราศรัยในโอกาสต่างๆ การรวบรวมบทสัมภาษณ์ การอภิปรายในสภา แล้วนำมาเล่าในรูปแบบหนังสือ นอกจากหนังสือจะทำหน้าที่ในการสื่อสารเพื่อสร้างความหวังและแรงบันดาลใจแล้ว หนังสือยังทำหน้าที่ในทางความคิดที่พรรคตั้งใจจะปักธงอุดมการณ์พรรค
ในระยะยาว[5]

 

ความหวัง อนาคต และการเมืองไทย

          การฉายภาพ “การเมืองแห่งความหวัง การเมืองแห่งอนาคต” ในนามพรรคอนาคตใหม่ นอกจากส่งสาร สื่อสารผ่านงานเขียนของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่แล้ว จะเห็นว่าการทำหน้าที่ในฐานะนักการเมืองของทั้งสองคนทั้งในและนอกสภาผู้แทนราษฎรก็ยังมีความเข้มข้นไม่แพ้กัน

          อย่างไรก็ตาม แม้พรรคอนาคตใหม่จะได้ ส.ส. มากที่สุดเป็นอันดับสามในสภาผู้แทนราษฎร แต่สำหรับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะ ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่งยังคงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สมาชิกภาพของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าถือครองหุ้นที่ประกอบกิจการสื่อสารมวลชนหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วได้มีมติ 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 จากกรณีการถือครองหุ้นในบริษัท วีลัค-มีเดีย จำกัด[6] ถือเป็นบททดสอบด่านแรกต่อการเมืองแห่งความหวังและการเมืองแห่งอนาคตที่กำลังลงหลักปักฐานในทางการเมือง

นอกจากนั้นพรรคอนาคตใหม่ยังเผชิญกับข้อกล่าวหาจากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ทำสัญญากู้เงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รวมเป็นจำนวนเงิน 191.2 ล้านบาท โดยที่ไม่ได้คิดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามปกติทางการค้า จึงถือว่าเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่พร้อมทั้งตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี[7] การยุบพรรคอนาคตใหม่ที่เดินทางมาได้เพียงหนึ่งปีเศษถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อการสร้างการเมืองแห่งความหวัง เพราะเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบก็เปรียบเสมือนความหวังของผู้สนับสนุนได้ดับลงจนมีการติดแฮชแท็ก #Saveอนาคตใหม่ จนนำไปสู่การจัดแฟลชม็อบคัดค้านคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในหลายพื้นที่ เช่น โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา[8]

          แม้พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบ แต่ก็ ส.ส. ส่วนใหญ่จำนวน 54 จาก 81 คน ที่ยังมีอุดมการณ์แบบเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ก็ได้ย้ายมาสังกัดพรรคใหม่ในชื่อพรรคก้าวไกลนำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อขับเคลื่อนความหวังต่อในสภา ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันร่างกฎหมาย การอภิปรายงบประมาณ การทำหน้าที่กรรมาธิการ ส่วนนอกสภาผู้แทนราษฎรมีคณะก้าวหน้าที่สมาชิกจัดตั้งเป็นอดีตคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ทำหน้าที่ในการจุดประเด็นเคลื่อนไหวทางสังคมควบคู่ไปกับการเมือง
ในสภาและรณรงค์หาเสียงให้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต[9] ถือเป็นการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการเมืองแห่งความหวังและการเมืองแห่งอนาคตต่อไป

 

อนาคตที่สะดุด และนานาทัศนะ 

          การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิทางการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ได้นำไปสู่การถกเถียงต่อคำวินิจฉับของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก 36 คณาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ต่อคำวินิจฉัย 4 ประเด็น คือ 1. พรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลมหาชน สามารถกู้ยืมเงินได้โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ 2. การคิดและกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพของคู่สัญญา 3. ข้อเท็จจริงแห่งคดีไม่สามารถปรับเข้ากับการรับประโยชน์จากกิจกรรมที่มิชอบด้วยกฎหมาย 4. ในระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคการเมืองต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อไม่มีมาตรการอื่นที่มีประสิทธิภาพและได้สัดส่วนเท่านั้น ในกรณีที่ไม่ได้ชัดแจ้งว่าพรรคการเมืองใดกระทำการในลักษณะดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญพึงต้องจำกัดอำนาจตนเอง[10]

          ขณะเดียวกันนักวิชาการและประชาชนก็ได้ร่วมลงชื่อคัดค้านการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญผ่านทาง change.org ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อหลายหมื่นคน ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เห็นว่า โดยหลักการแล้วอำนาจยุบพรรคการเมืองควรเป็นของประชาชนมากกว่า เมื่ออำนาจในการยุบพรรคการเมืองอยู่ในมือของผู้ปกครอง ก็ทำให้ประชาชนหมดหน้าที่ในการกำหนดชะตากรรมของพรรคการเมือง[11] ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าขอบเขตและสิทธิเสรีภาพ และหน้าที่ของพรรคการเมืองจะต้องธำรงไว้ซึ่งระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสาเหตุของการยุบพรรคการเมืองควรมีประการเดียวคือการล้มล้างระบอบการปกครองเพียงเท่านั้น[12]

          ในขณะเดียวกัน เมื่อสำรวจความคิดความเห็นของสื่อสังคมออนไลน์ที่มีต่อกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่พบว่านักร้อง นักแสดง นักวิชาการ นักกิจกรรม และประชาชนทั่วไปต่างได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว พร้อมทั้งแสดงความไม่พอใจ เสียดสีผู้มีอำนาจว่าต้องการทำลายล้างพรรคอนาคตใหม่ และมองว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางการเมือง และเป็นการไม่ให้เกียรติคนที่ลงคะแนนเสียงให้กับพรรคอนาคตใหม่[13]

 

'อนาคตที่หายไป และจุดเริ่มต้นใหม่'?

         การเมืองแห่งความหวัง การเมืองแห่งอนาคต ที่เกิดขึ้นเป็นการขับเคลื่อนการเมืองในเชิงการทำงานทางความคิดทั้งในสภาและนอกสภา ใช้การเมืองแบบใหม่แบบสร้างสรรค์ขยายฐานผู้สนับสนุน พร้อมกับการหล่อเลี้ยงความหวังและความฝันถึงอนาคต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว สิ่งที่เกิดขึ้นพบว่ามักจะมีความท้าทายทางการเมืองทดสอบการเมืองแห่งความหวังตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการตัดสิทธิทางการเมืองไม่จนถึงการยุบพรรคการเมือง แต่คนที่ทำงานการเมืองก็ต้องประคับประคองความหวังให้เป็นหนึ่งในความคิดทางการเมืองที่ยังคงหวังและไปต่อได้ มิเช่นนั้นความหวังที่ถูกทำลายอาจจะกลายเป็นความขัดแย้งที่กลายเป็นความรุนแรง

 

บรรณานุกรม

“36 อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. ตั้ง 4 ข้อสังเกตแย้งคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่.” ประชาไท. (24 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2020/02/86498>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

“การเมืองแห่งความหวัง การเมืองแห่งอนาคตใหม่.” อนาคตใหม่. (3 กรกฎาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://futureforwardparty.org/?p=4778>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

“ข้อถกเถียงทางกม. เสวนา "วิเคราะห์คดี ยุบพรรคอนาคตใหม่" กู้เงินความผิดม.66 โทษไม่ถึงยุบ!.” สำนักข่าวอิสรา (29 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/isranews-scoop/86054-money01-86054.html>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

“คณะก้าวหน้า : ธนาธร-ปิยบุตรเปิดโรดแมปนำประเทศออกจากวิกฤต กดดัน พล.อ. ประยุทธ์ ลาออก.” บีบีซีไทย. (21 มีนาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-51985887>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี (2561). ปักธงอนาคต. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน.

“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ : อนาคตใหม่ จะไปทางไหน หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งหัวหน้าพรรคพ้น ส.ส..” บีบีซีไทย. (20 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-50470282>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

ปิยบุตร แสงกนกกุล (2562). การเมืองแห่งความหวัง. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.

“แฟลชม็อบนักเรียน-นักศึกษา ประกายไฟในกระทะ หรือ เพลิงลามทุ่ง.” บีบีซีไทย. (28 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-51640629>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

“วิเคราะห์ กระแสคัดค้านยุบอนาคตใหม่ เสียงสะท้อน ปัญญาชนชั้นนำ เปิดหน้าชน.” มติชนสุดสัปดาห์. (20 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก

         <https://www.matichonweekly.com/column/article_277539>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

“เสียงสะท้อนจากออนไลน์ ถึง 'อนาคตใหม่' ที่หายไป.” กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (29 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/867463>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

“อนาคตใหม่ : มติศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ กก.บห. 10 ปี.” บีบีซีไทย (21 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-51582581>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

“อนาคตใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่” กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ.” The101. (10 ธันวาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://www.the101.world/one-on-one-thanathorn-juangroongruangkit/>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

 

อ้างอิง

[1] “การเมืองแห่งความหวัง การเมืองแห่งอนาคตใหม่,” อนาคตใหม่, (3 กรกฎาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://futureforwardparty.org/?p=4778>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

[2] ““อนาคตใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่” กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ,” The101, (10 ธันวาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.the101.world/one-on-one-thanathorn-juangroongruangkit/>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

[3] เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี, ปักธงอนาคต, พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2561).

[4] “การเมืองแห่งความหวัง การเมืองแห่งอนาคตใหม่,” อนาคตใหม่, (3 กรกฎาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://futureforwardparty.org/?p=4778>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

[5] ปิยบุตร แสงกนกกุล, การเมืองแห่งความหวัง (กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์, 2562).

[6] “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ : อนาคตใหม่ จะไปทางไหน หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งหัวหน้าพรรคพ้น ส.ส.,” บีบีซีไทย, (20 พฤศจิกายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-50470282>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

[7] “อนาคตใหม่ : มติศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ กก.บห. 10 ปี,” บีบีซีไทย (21 กุมภาพันธ์ 2563), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-51582581>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

[8] “แฟลชม็อบนักเรียน-นักศึกษา ประกายไฟในกระทะ หรือ เพลิงลามทุ่ง,” บีบีซีไทย, (28 กุมภาพันธ์ 2563), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-51640629>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

[9] “คณะก้าวหน้า : ธนาธร-ปิยบุตรเปิดโรดแมปนำประเทศออกจากวิกฤต กดดัน พล.อ. ประยุทธ์ ลาออก,” บีบีซีไทย, (21 มีนาคม 2563), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-51985887>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

[10] “36 อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. ตั้ง 4 ข้อสังเกตแย้งคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่,” ประชาไท, (24 กุมภาพันธ์ 2563), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2020/02/86498>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

[11] “วิเคราะห์ | กระแสคัดค้านยุบอนาคตใหม่ เสียงสะท้อน ปัญญาชนชั้นนำ เปิดหน้าชน,” มติชนสุดสัปดาห์, (20 กุมภาพันธ์ 2563), เข้าถึงจาก <https://www.matichonweekly.com/column/article_277539>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

[12] “ข้อถกเถียงทางกม. เสวนา "วิเคราะห์คดี ยุบพรรคอนาคตใหม่" กู้เงินความผิดม.66 โทษไม่ถึงยุบ!,” สำนักข่าวอิสรา (29 กุมภาพันธ์ 2563), เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/isranews-scoop/86054-money01-86054.html>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.

[13] “เสียงสะท้อนจากออนไลน์ ถึง 'อนาคตใหม่' ที่หายไป,” กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (29 กุมภาพันธ์ 2563), เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/867463>. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563.