ก่อเกียรติ ษัฏเสน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:22, 3 มีนาคม 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร ผู้ทรงคุณ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ก่อเกียรติ ษัฏเสน : ส.ส. ประชาธิปัตย์คนแรกที่ตรัง
        การเมืองที่มีป้ายพรรคการเมืองติดไปกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยนั้น ถ้าย้อนหลังไปดูความเป็นมาทางการเมืองของไทยก็จะเห็นได้ว่าน่าจะเริ่มได้อย่างเด่นชัดในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 4 คือ ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม ปี 2489 แต่พรรคประชาธิปัตย์นั้นได้ตั้งขึ้นในเดือนเมษายน ปี 2489 ดังนั้นผู้ที่จะติดป้ายพรรคประชาธิปัตย์ได้จึงต้องเป็นการเลือกตั้งหลังเดือนเมษายน ปี 2489 และนายก่อเกียรติ ษัฏเสน ได้เข้ามาอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกของท่านนั้น ได้แก่ การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 มกราคมปี 2491 โดยท่านชนะได้เป็นผู้แทนราษฎรคนเดียวของจังหวัดตรัง ดังนั้น ท่านจึงเป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดตรังคนแรก ที่สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ปีที่ท่านชนะการเลือกตั้งนั้นเป็นสมัยรัฐบาลของนายหลวง อภัยวงศ์ นอกจากท่านชนะในปี 2491 แล้ว ท่านยังชนะการเลือกตั้งอีก 2 ครั้งในปี 2500 นั่นคือการเลือกตั้ง ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์และวันที่ 15 ธันวาคม ปี 2500 นั่นเอง

นายก่อเกียรติ ษัฏเสน เป็นคนเมืองตรัง เข้าใจว่าท่านมีบ้านเกิดที่อำเภอห้วยยอด เพราะเริ่มเรียนหนังสือเบื้องต้นที่โรงเรียนในอำเภอห้วยยอด คือ โรงเรียนตำหนักรื่นรมย์ ท่านเกิดวันที่ 14 มีนาคม ปี 2452 เป็นบุตรขุนนาง บิดา คือ หลวงพิทักษ์เหลียนสถาน และมารดาชื่อปราง ปู่ของท่านก็เป็นขุนนาง คือ หลวงเริงฤทธิ์เดชะราชรองเมือง สำหรับการศึกษาระดับประถมได้เรียนที่โรงเรียนวัดตันตยาภิรม วัดนี้ เป็นพระอารามหลวงสร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่ถนนท่ากลาง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เวลานี้เป็นโรงเรียนเทศบาล พอถึงระดับมัธยมท่านก็มาศึกษา ที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ ซึ่งอยู่ในตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองจังหวัดตรังเช่นเดียวกัน จนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 พอโตขึ้นมาหน่อยจึงไปเรียนไกลที่ต่างจังหวัดโดยไปเข้าเรียนจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยา จังหวัดภูเก็ตในปี 2471 จากนั้นก็ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ท่านเป็นนักกีฬาชื่อดังของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในสมัยนั้น ความที่เป็นคนชอบกีฬาจึงได้เข้าเรียนต่อทางด้านพลศึกษาจนจบเป็นพละเอกในปี 2479 และเดินทางกลับบ้านเกิดไปเป็นครูสอนหนังสือ อยู่ประมาณหนึ่งปี ตอนนั้นทางการ ได้เปิดตลาดวิชาชื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแล้ว ท่านจึงได้เข้าเรียนตั้งแต่ปี 2480 และได้ศึกษาอยู่จนถึงปี 2485 ท่านเป็นนักกิจกรรมสำคัญของมหาวิทยาลัยนี้ ดังปรากฏว่าเข้าเรียนอยู่ 2 ปี ในปี 2482 คุณก่อเกียรติ ษัฏเสน ก็ได้รับเลือกเป็นประธานนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เวลานั้นนายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

การเมืองไทยตั้งแต่หลังปี 2481 เรื่อยมา ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปเลย เป็นเวลากว่า 7 ปี เพราะมีภาวะสงครามถึงขนาดต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ยืดเวลาการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินกว่าสี่ปี เมื่อพ้นภาวะสงคราม โดยไทยประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม ปี 2488 สมัยที่ นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมาได้มีการยุบสภาในเดือนตุลาคม ปี 2488 โดยนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จนนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 6 มกราคม ปี 2489 ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ คุณก่อเกียรติ ขณะที่มีอายุได้ 37 ปี ได้ลงเลือกตั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แพ้ผู้แทนราษฎรคนเก่า ตอนนั้นคุณก่อเกียรติได้แต่งงานแล้วกับเพื่อนที่ร่วมเรียนพละศึกษามาด้วยกัน คือ ครูวรมัย กบิลสิงห์ 

ก่อเกียรติ ษัฏเสน มาชนะเลือกตั้งในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 มกราคม ปี 2491 อันเป็นการเลือกตั้งภายหลังการยึดอำนาจของคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 และเป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่คณะรัฐประหารให้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ลงเลือกตั้งคราวนี้คุณก่อเกียรติชนะและเป็นการชนะในชื่อพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ตอนนั้นคนสำคัญของพรรคการเมืองของรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจ คือ พรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคสหชีพได้หลบลี้หนีภัยการเมือง ไม่ได้มาลงเลือกตั้งกันหลายคน และคุณก่อเกียรติก็เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดตรังต่อมาจนถึงปี 2495 ที่มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ประท้วงโดยไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ คุณก่อเกียรติประท้วงด้วยโดยไม่ยอมลงเลือกตั้งครั้งนั้น เขาเล่ากันว่าท่านหันไปยึดอาชีพเกษตรกรรมทำไร่แทน คุณก่อเกียรติเอาตัวออกนอกการเมืองมาได้ห้าปี ถึงปี 2500 พรรคประชาธิปัตย์ประกาศตัวแข่งกับพรรครัฐบาล คือ พรรคเสรีมนังคะศิลาในการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน คุณก่อเกียรติจึงกลับมาลงเลือกตั้งที่จังหวัดตรังอีก และก็ชนะในชื่อพรรคประชาธิปัตย์เข้าสภาฯ แต่พรรครัฐบาลชนะได้ที่นั่งในสภามากกว่า แม้รัฐบาลจะชนะได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้ง แต่แพ้การเมือง เพราะมีการประท้วงรัฐบาลว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งสกปรก ท้ายที่สุดคณะทหารที่นำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้เข้ายึดอำนาจในวันที่ 16 กันยายน 2500  และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ธันวาคม ปีเดียวกัน คุณก่อเกียรติก็กลับไปลงเลือกตั้งอีก และก็ได้รับเลือกตั้งอีกเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดตรังที่สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ นับว่าคุณก่อเกียรติได้ชนะการเลือกตั้งรวมด้วยกัน 3 ครั้ง แต่ครั้งหลังท่านก็เป็นผู้แทนราษฎรได้เพียงปีเดียว เพราะจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้กลับมายึดอำนาจซ้ำอีกในวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2501 และไม่มีการเลือกตั้งต่อมาอีกเป็นเวลากว่า 10 ปี

ในช่วงเวลานี้เองคุณก่อเกียรติได้ละชีวิตทางโลก หันเข้าหาทางธรรม โดยบวชเป็นพระภิกษุในปี 2508 แม้ต่อมาจะมีการเลือกตั้งในปี 2512 คุณก่อเกียรติก็ไม่ได้สึกออกมาเลือกตั้งแต่อย่างใด ท่านคงอยู่ใน
เพศบรรพชิตจนถึงแก่มรณภาพในปี 2528