คนรุ่นใหม่

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:31, 12 กุมภาพันธ์ 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ


ความนำ

"คนรุ่นใหม่" ในการเมืองไทยหลังการรัฐประหาร ปี 2557 เป็นคำกว้างๆ ที่ใช้เรียกกลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่ระหว่าง Gen Y และ Gen Z ที่เกิดตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นไป ถือเป็นประชากรที่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.4 ของประชากรทั้งประเทศ โดยคนรุ่นใหม่มีวิถีชีวิต ค่านิยม และวัฒนธรรมความเชื่อ แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนในหลายมิติ ทั้งเรื่องการรักอิสระในการทำงาน มีความเป็นปัจเจกภาพสูง ให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค มากกว่าขนบธรรมเนียมประเพณีและความมั่นคง เนื่องจากเติบโตขึ้นมาในยุคของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและยุคโลกาภิวัตน์ที่เศรษฐกิจทุนนิยมเบ่งบาน ในทางการเมืองแล้ว กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในช่วงที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2562 ในจำนวนนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (first-time voters) ถึงร้อยละ 13.74 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ทั้งนี้ นักวิชาการต่างคาดการณ์ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มนี้จะส่งผลกำหนดต่อทิศทางการเมืองในอนาคต แม้ว่าพรรคการเมืองต่างๆ
ในการเลือกตั้งปี 2562 จะพยายามดึงดูดคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ ทว่ามีเพียงพรรคอนาคตใหม่ โดยการนำของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค เท่านั้น ที่สามารถยึดกุมเสียงสนับสนุนได้อย่างเหนียวเดียวแน่น จนกระทั่งได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปถึง 80 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง กลุ่มการเมืองต่างๆ ยังคงเรียกร้องรณรงค์อย่างต่อเนื่องในนามตัวแทนของคนรุ่นใหม่ เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการเมืองแบบเก่า วิถีปฏิบัติของครูในโรงเรียนที่ใช้อำนาจนิยม ขนบธรรมเนียม และค่านิยมหลายประการที่สังคมไทยเคยคุณชิน

 

คนรุ่นใหม่กับปัญหาช่องว่างระหว่างวัย

คำเรียก "คนรุ่นใหม่" เป็นคำเรียกที่มีความหมายกว้าง ซึ่งถูกกล่าวถึงในทุกยุคทุกสมัย เพื่อสื่อความหมายถึงกลุ่มประชากรที่กำเนิดและเติบโตขึ้นในบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างจากประชากรกลุ่มก่อนหน้า จนเกิดเป็นความไม่เข้าใจระหว่างคนที่เกิดและเติบโตจากต่างช่วงวัย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า (generation gap) ที่มักมาจากขนบการใช้ภาษา ทัศนคติที่มีต่อการทำงาน ความตระหนักรู้เชิงคุณค่าของช่วงวัยนั้น และที่สำคัญที่สุด ก็คือ อิทธิพลด้านเทคโนโลยีซึ่งเป็นเสมือนตัวเร่งให้ช่องว่างระหว่างวัยถ่างกว้างขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เทคโนโลยีได้เข้ามาสร้างความปั่นป่วน (technology disruption) ให้กับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในวงกว้าง ทั้งนี้ Ramaa Prasad ได้ชี้เห็นว่า แม้ช่องว่างระหว่างวัยจะดำรงอยู่ทุกยุคทุกสมัย
แต่ในช่วงเวลาหนึ่งนั้นจะมีมนุษย์สี่ช่วงวัยดำรงอยู่ด้วยกันในสังคมหนึ่งๆ เสมอ อันได้แก่ 1) กลุ่มผู้คนจากยุคก่อนที่เหลือรอดมายังยุคปัจจุบัน ผู้เห็นจุดเริ่มต้นและต้นกำเนิดในอดีตของบริบทปัจจุบัน 2) กลุ่มผู้ที่มีอำนาจควบคุมอยู่ในทุกๆ มิติ การอ้างสิทธิของคนกลุ่มนี้มักเกิดขึ้นอย่างประจวบเหมาะพอดีกับสภาพที่เป็นจริงของโลกที่เป็นอยู่ 3) กลุ่มต่อต้านซักค้าน ซึ่งยังไม่ได้รับชัยชนะและยังไม่มีอำนาจ แต่กระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนผ่านอำนาจมาสู่กลุ่มตน และต่อสู้กับคนรุ่นก่อนหน้าเพื่อให้บรรดาความคิด ค่านิยม และนวัตกรรมของคนรุ่นตนเป็นจริงขึ้นมา 4) เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีข้อเรียกร้องใหม่ๆ และตั้งตารอที่จะเห็นการล้มครืนลงของสิ่งที่ยึดถือกันอยู่ในปัจจุบัน[1] กล่าวได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนผ่านช่วงวัยนั้น จะใช้เวลาอย่างน้อยสี่ชั่วอายุคนหรือ 60 ปีโดยประมาณ ซึ่งวิถีชีวิตและค่านิยมแบบเก่าจะถูกแทนที่ด้วยนวัตกรรมของคนรุ่นใหม่

หากช่องว่างระหว่างวัยเกิดขึ้นในครอบครัว ก็มักจะปรากฏการไม่ยอมรับความคิดเห็นของอีกฝ่าย เพราะต่างคิดว่าความคิดของตนเองถูกต้องเสมอ จนนำไปสู่ความรู้สึกห่างเหิน และแปลกแยกภายในครอบครัว แต่หากขยายออกไปสู่สังคมวงกว้างก็จะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างช่วงวัย ในกรณีของไทย จากข้อมูลประชากรไทยปัจจุบัน 67 ล้านคนนั้น สังคมไทยประกอบด้วยประชากรทั้งหมด 6 กลุ่มช่วงวัย[2] อันได้แก่ 1) กลุ่ม Greatest Gen จำนวน 3 แสนคน (ร้อยละ 0.4) ที่เกิดในยุคก่อนสงครามโลก ระหว่างปี 2444-2467 2) กลุ่ม Silent Gen จำนวน 5.4 ล้านคน (ร้อยละ 8) เกิดในยุคระหว่างสงครามโลก  ระหว่างปี 2468-2488 3) กลุ่ม Baby Boomer จำนวน 15 ล้านคน (ร้อยละ 22.3) เกิดหลังยุคสงครามโลกที่พ่อแม่ให้กำเนิดจำนวนมาก ระหว่างปี 2489-2507 4) กลุ่ม Gen X จำนวน 16.6 ล้านคน (ร้อยละ 24.7) ที่เกิดในช่วงการควบคุมอัตราการเกิด ระหว่างปี 2508-2522 5) กลุ่ม Gen Y จำนวน 19 ล้านคน (ร้อยละ 28.3) ที่เกิดในยุคการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ระหว่างปี 2523-2540 และ 6) กลุ่ม Gen Z จำนวน 10.6 ล้านคน (ร้อยละ 15.8) ที่เกิดในยุคเทคโนโลยี ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ประชากรกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 37 ปี ซึ่งประกอบด้วย Gen Y และ Gen Z นั้น รวมกันเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ (ร้อยละ 44.4) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Gen Y ที่กำลังอยู่ในช่วงเติบโตในฐานะและหน้าที่การงาน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจและมีอิทธิพลต่ออนาคตของสังคมไทย ทว่าที่สำคัญ ก็คือ การได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่จากครอบครัวในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูและความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในช่วง Gen Y ได้ส่งผลให้คนรุ่นนี้มีลักษณะเฉพาะที่ต่างไปจากคนรุ่นก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นการได้รับการศึกษาสูง มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี สามารถทำงานได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน ต้องการความชัดเจนในการทำงาน คาดหวังความสำเร็จในการทำงานสูง มักเปลี่ยนงานบ่อย มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงและให้ความสำคัญกับตนเอง จนทำให้คนรุ่น Gen Y ถูกเรียกอีกชื่อว่า Gen Me[3] ขณะที่ คนรุ่น Gen Z นั้น เป็นประชากรรุ่นแรกที่พ่อแม่ออกไปทำงานนอกบ้านทั้งคู่ ซึ่งก็ทำให้คนรุ่นนี้เติบโตขึ้นจากการเลี้ยงดูของตนอื่นมากกว่าพ่อแม่ กลุ่มเกิดในยุคที่เทคโนโลยีและการติดต่อสื่อสารกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของไปแล้ว จึงส่งผลให้เครื่องมือสื่อสาร (โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน) และสังคมออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นกลุ่มที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารหลายทาง ทันโลก รู้จักเปรียบเทียบข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อันเป็นพื้นฐานให้เกิดการเปิดกว้างทางความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยไม่มีอคติทางชนชั้น สีผิว ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี ทว่าการเติบโตขึ้นในโลกเทคโนโลยี ก็หล่อหลอมให้คนกลุ่มนี้สนใจเรียนรู้ผ่านการมองเห็น (visual learning) ข้อมูลที่เข้าใจง่าย กระชับ มากกว่าการที่จะต้องใช้สมาธิจดจ่อเป็นเวลานาน[4]

ในคอลัม “แสงเทียนกลางพายุ” ฉาย บุนนาค ให้คำอธิบายถึงช่องว่างระหว่างวัยในสังคมไทยปัจจุบันที่เริ่มขยายตัวมากขึ้นว่า ในด้านหนึ่ง กลุ่ม Baby Boomer ซึ่งเกิดในยุคบ้านเมืองเริ่มสงบสุขหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และภัยคุกคามจากอุดมการณ์คอมมิวนิสม์กำลังแพร่หลายนั้น มักถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีลักษณะนิสัย “จริงจังและเคร่งครัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณี... สู้งานอดทน... ภักดีต่อองค์กร...
ให้ความสำคัญต่อหน้าที่ของพลเมือง... และมักถูกจัดเป็นพวก “อนุรักษนิยม” หรือ “Conservative” ขณะที่อีกด้านหนึ่ง คนรุ่นใหม่ Gen Y และ Gen X ที่เกิดและเติบโตขึ้นมาในยุคที่ปราศจากศัตรูคุกคามความมั่นคงและความอยู่รอดของประเทศชาติ เกิดมาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกรอบด้าน คุ้นเคยกับการดำรงชีวิตแบบดิจิทัล เปิดกว้างทางความคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่างมากขึ้น ต้องการคำอธิบายและเหตุผล ทว่ามีความอดทนต่ำ “จึงมักเรียกตนเอง (แบบที่คิดว่าเท่แต่มีความเข้าใจต่ำ) ว่า “Liberal” หรือ “เสรีนิยม”…เด็กกลุ่มนี้ส่วนมากมักอ้างถึงวาทกรรม (ไปจำมา) เรื่องปรัชญาการเมืองหรือมุมมองทางโลกซึ่งตั้งอยู่บนความคิดเสรีภาพและความเสมอภาค... แต่ด้วยประสบการณ์ที่เดียงสาจึงมองสังคมเพียงไม่กี่มิติและลืมนึกถึงบริบทอื่นๆ เช่นเรื่องจริยธรรมและความมั่นคงของประเทศชาติ...”[5] จึงเป็นสำคัญที่รัฐบาจะต้องทำความเข้าใจความแตกต่างทางความคิด หรือช่องว่างระหว่างวัย ปลูกฝังความคิด และค่านิยมที่ดีงามต่อไป

 

“คนรุ่นใหม่” กับการเป็นตัวแสดงทางการเมือง

ช่องว่างระหว่างวัยของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ไม่เพียงส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ในที่ทำงาน และกลุ่มทางสังคม แต่ยังก่อให้เกิดความตึงแย้ง ทางการเมือง (political tension) และความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วย ในประวัติศาสการเมืองไทยนั้น กลุ่มนิสิตนักศึกษาปัญญาชนช่วง 14 ตุลาฯ 16 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงและขยายแนวร่วมออกไปทั่วประเทศ จนสามารถสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ต้องพ้นจากอำนาจ อันถือเป็นการสิ้นสุดรัฐบาลเผด็จการทหารที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2502[6] สถานะของคนรุ่นใหม่รุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 ดังจะเห็นได้จากการจัดกิจกรรมการ ชุมนุมประท้วง

การออกค่ายอาสาในชนบท และการสัมมนาต่างๆ จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้ากลับถูกลดสถานะและบทบาทลงอย่างรวดเร็ว ภายหลังเหตุการณ์การล้อมปราบนิสิตนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยการสร้างวาทกรรมภัยคอมมิวนิสต์และข้อกล่าวหาเรื่องการหมิ่นบรมเดชานุภาพ โดยฝ่ายขวาขณะนั้น[7]

แม้ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 คนรุ่นใหม่จะไม่ได้ถูกยกย่องให้เป็นตัวแสดงหลักสำคัญในการเมืองไทยเหมือนเช่นก่อนหน้านั้น แต่การกล่าวถึง "คนรุ่นใหม่" ในฐานะผู้เปลี่ยนแปลงสังคมยังคงถูกใช้อ้างถึงอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยที่สุดความสำเร็จของพลังนิสิตนักศึกษา ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 ก็ส่งผลให้ "คนรุ่นใหม่" กลายเป็นจุดอ้างอิงทางการเมืองในฐานะ "พลังบริสุทธิ์" และ "อนาคตของสังคมไทย" เมื่อใดก็ตามที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมีคนรุ่นใหม่ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุน ก็ย่อมเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าการเคลื่อนไหวนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่เป้าหมายการเมืองเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงกับอนาคตของสังคมโดยรวมในอีก 50 ถึง 60 ปีข้างหน้า ในที่ซึ่งคนรุ่นใหม่กลุ่มดังกล่าวจะกลายเป็นตัวแสดงหลักต่อไป

 

'ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ในการเลือกตั้งปี '2562

ภายหลังการรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ สภาพสังคมการเมืองไทยตกอยู่ภายใต้การจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง จนกระทั่งรัฐบาล คสช. ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปขึ้นในปี 2562 นั้น นักวิชาการ ผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง และสื่อมวลชนหลายแขนง ได้กลับมาให้ความสนใจ “คนรุ่นใหม่” อีกครั้งในฐานะที่จะเป็นตัวแปรที่จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการเมืองไทยผ่านการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (first-time voters) ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 13.74 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มนี้มีอายุระหว่าง 18-25 ปี อาจยังอยู่ในวัยเรียน เพิ่งจบการศึกษา หรือเพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงานได้ไม่นาน[8] แต่ที่สำคัญ ก็คือ คนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นในบริบทสังคมการเมืองไทยที่ไร้เสถียรภาพ มีการขับเคี้ยวกันระหว่างกลุ่มการเมืองที่แบ่งเป็นฝักฝ่ายอย่างเด่นชัด เรียนรู้ความสำเร็จและล้มเหลวของการชุมนุมประท้วงใหญ่อย่างน้อยจาก 3 กลุ่ม ก็คือ จากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นอกจากนั้นแล้ว กลุ่มผู้เลือกตั้งครั้งแรกยังพบเห็นและมีประสบการณ์กับยุคที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง จากการรัฐประหาร 2 ครั้ง ก็คือ การรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในปี 2549 และการรัฐประหารโดย คสช. ในปี 2557[9]

ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่า ประสบการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้เลือกตั้งครั้งแรก มีความกระตือรือร้นทางการเมือง ติดตามสนใจประเด็นทางสังคมและประเด็นสาธารณะ จนอาจเป็นตัวแปรตัดสินผลการเลือกตั้งในปี 2562 ด้วยเหตุดังนั้น พรรคการเมืองต่างๆ จึงพยายามแสวงหาช่องทางในการสื่อสารกับกลุ่มผู้เลือกตั้งครั้งแรก รวมถึงการส่งผู้สมัคร และ/หรือ ออกนโยบายหลายประการเพื่อจูงใจและดึงดูดคะแนนเสียงสนับสนุนจากกลุ่มผู้เลือกตั้งครั้งแรกนี้ อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ที่มีการตั้งกลุ่ม New Dem เพื่อเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ของพรรค ซึ่งมีสมาชิกที่โดดเด่น อาทิ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ (หลานชาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคขณะนั้น) ปลื้ม-สุรบถ หลีกภัย (ลูกชายนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค) หมอเอ้ก-นายแพทย์คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ เป็นต้น[10] หรือพรรคการเมืองหน้าใหม่ แต่เต็มไปด้วยผู้สมัครหน้าเก่าที่มีประสบการณ์ทางการเมือง อย่างพรรคพลังประชารัฐ ก็ตั้งกลุ่ม Gen Z ขึ้นเพื่อเชื่อมโยงเข้าหาเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศและเป็นการปรับภาพลักษณ์ใหม่ ไม่ให้ถูกมองว่าเป็นพรรคของนักการเมืองอาชีพรุ่นเก่าเท่านั้น[11]

อย่างไรก็ตาม พรรคที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ก็คือ พรรคอนาคตใหม่ ที่ผู้สมัครส่วนใหญ่ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2562 เป็นครั้งแรก นำโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค โดยเริ่มต้นจากการสร้างกระแสความนิยมในตัวหัวหน้าพรรคผ่านสังคมออนไลน์ แล้วจึงแปลงความนิยมดังกล่าวให้กลายเป็นคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ทั้งนี้การนำเสนอนโยบายส่วนใหญ่ของพรรคอนาคตใหม่มักให้ความสำคัญไปที่การวิพากษ์วิจารณ์ระบอบประชาธิปไตยไทยและผู้มีอำนาจในสังคมการเมืองไทย มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองไทยไปสู่อนาคตใหม่ที่ดีกว่า[12] นโยบายในช่วงหาเสียง อาทิ การปฏิรูปกองทัพ การลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ และการปฏิรูปการศึกษา อาจจะไม่ใช่ข้อถกเถียงใหม่ทางวิชาการ แต่ก็ถูกหยิบขึ้นมานำเสนอเป็นนโยบายหาเสียงอย่างเป็นทางการครั้งแรก[13] ความนิยมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกที่มีต่อตัวหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กอปรกับปรากฏการณ์แผ่นดินไหวทางการเมืองกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ[14] ส่งผลให้พรรคอนาคตใหม่ ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2562 ไปถึง 81 ที่นั่ง ถือเป็นพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งเป็นอันดับ 3 รองจากพรรคเพื่อไทย (136 ที่นั่ง) และพรรคพลังประชารัฐ (116 ที่นั่ง)[15] ภายหลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงกลายเป็นเสมือนผู้นำทางความคิด (opinion leader) ของคนรุ่นใหม่ โดยที่มีพรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคการเมืองตัวแทนของคนรุ่นใหม่ตามไปด้วย

 

“คนรุ่นใหม่” กับการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ความไม่พอใจของ “คนรุ่นใหม่” ที่มีต่อการเมืองของคนรุ่นก่อน ปรากฏให้เห็นมาตลอดในสังคมออนไลน์ อาทิใน Twitter และกลุ่ม Facebook ต่างๆ ทั้งประเด็นความผิดปกติในคำนวณและการประกาศผลการเลือกตั้ง ปี 2562 ล่าช้า ซึ่งทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้จำนวนที่นั่งน้อยกว่าที่คาดหวังไว้ ตลอดจนการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ ซึ่งเสนอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยการสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภาแบบแต่งตั้ง 250 คน และข้อครหาที่มีต่อบุคคลในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา อาทิ ประเด็น “แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน” ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ประเด็น “มันคือแป้ง” ของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ประเด็น “การจัดซื้อเรือดำน้ำ” ของกองทัพเรือ และงบประมาณกระทรวงกลาโหมในการจัดซื่ออาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นต้น

นอกจากประเด็นทางการเมืองดังกล่าวแล้ว ยังมีประเด็นความไม่พอใจต่อมาตรการการจัดการ
โควิด-19 ช่วงต้นปี 2563 ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำซบเซาอย่างต่อเนื่อง ปัญหาคนว่างงาน รวมถึงความไม่คืบหน้าในการติดตามดำเนินคดีกรณีการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศกัมพูชา ทว่าหนึ่งในเหตุการณ์ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนให้ “คนรุ่นใหม่” ปรากฏตัวขึ้นอย่างเด่นชัดทั้งในสังคมออนไลน์และในทางกายภาพ ก็คือ เหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิทางการเมืองของผู้บริหารพรรคทั้งหมด[16] ในแง่นี้ การยุบพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นเสมือนกระบอกเสียงของคนรุ่นใหม่ จึงเท่ากับเป็นการปลุกเร้าให้เยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมากต้องการออกมาแสดงความไม่พอใจต่อผู้ที่มีอำนาจผ่านการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่างๆ ในโรงเรียนและสถานศึกษาหลายภูมิภาคทั่วประเทศ

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวที่มีพลังปรากฏขึ้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 โดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก ร่วมกับ กลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ซึ่งจัดชุมนุมขึ้นบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 2,367 คน จากการประเมินของแกนนำนักศึกษา ผู้ชุมนุมแสดงสัญลักษณ์โดยการชูสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง เรียงติดกัน) เพื่อหมายถึงข้อเรียกร้องที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) ยุบสภาทันที 2) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3) หยุดคุกคามประชาชน โดยการใช้กฎหมายและข้ออ้างความมั่นคงปิดปากประชาชน[17] ตลอดการชุมนุม แกนนำสลับกันขึ้นปราศรัยโจมตีรัฐบาล อาทิ นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธุ์ ประธาน สนท. นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ประธานเยาวชนตะวันออกฯ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือเพนกวิน ขณะที่ผู้ชุมนุมต่างชูป้ายเสียดสีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีแฮทแท็ก #เยาวชนปลดแอก แพร่หลายไปทั่วสังคมออนไลน์[18]

หลังจากนั้น ยังปรากฏการชุมนุมแบบแฟลชม็อบลุกลามไปทั่วประเทศ พร้อมกับติดแฮชแท็กในสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น #คนเชียงใหม่ไม่ทนtoo (ประตูท่าแพ เชียงใหม่) #ใครไม่ทนมาเจอกัน (อุบลราชธานี) #มศวขอมีจุดยืน (ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) #อีสานสิบ่ทน (มหาสารคาม) #ชาวชลบุรีที่ทนไม่ไหวอีกแล้ว #คนแพร่เล่าขวัญเผด็จการ #สงขลาไม่ทนtoo (สงขลา) #พัทลุงไม่ทนแล้วโว้ย #พะเยาจะบ่าทน เป็นต้น[19] 

การชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่หลากหลายกลุ่มดำเนินไป ภายใต้การเฝ้าสังเกตการณ์และติดตามจากฝ่ายความมั่นคงอย่างใกล้ชิด และแกนนำการชุมนุม ก็ถูกหมายจับไปแล้วอย่างน้อย 5 คน ได้แก่ นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและแกนนำคณะประชาชนปลดแอก นายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน นายสุวรรณา ตาลเหล็ก นายกรกช แสงเย็น กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และนายเดชาธร ดำรงเมือง หนึ่งในศิลปินกลุ่ม Rap Against Dictatorship[20]

ทั้งนี้ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของนักเรียนในโรงเรียนและสถานศึกษาหลายจังหวัดด้วยกิจกรรม "ผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการ" และชู 3 นิ้วขณะเคารพธงชาติ กลับได้รับปฏิกิริยาตอบกลับจากครู บุคลากรทางศึกษา และเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยท่าทีที่ดูเหมือนจะเพิ่มความตึงแย้งให้มากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการตามตัวเข้าห้องปกครอง การหักคะแนนความประพฤติ การถูกเรียกไปทำทัณฑ์บน การไปตรวจเยี่ยมบ้านพัก การโดนหมายหัว โดนโทรศัพท์ร้องเรียนผู้ปกครอง โดยขู่ห้ามเข้าร่วมการชุมนุม เป็นต้น[21] อย่างไรก็ตาม ก่อนความตึงแย้งดังกล่าวจะเปลี่ยนไปเป็นความขัดแย้งภายในโรงเรียน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกหนังสือด่วนที่สุด อนุญาตให้สถานศึกษาเปิดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา[22]

 

นัยสำคัญต่อการเมืองไทย

การแบ่งขั้วทางการเมือง (political polarization) แบบเหลือง-แดง ในการเมืองไทยนับตั้งแต่หลายทศวรรษ 2540 ไม่เพียงนำมาซึ่งความขัดแย้งรุนแรงและความบาดเจ็บสูญเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมาก หากยังผลักให้บรรยากาศทางการเมืองไปสู่จุดวิกฤต จนกระทั่งกฎกติกาในระบอบประชาธิปไตยถูกแทรกแซงด้วยการรัฐประหารโดยกองทัพถึงสองครั้ง (ในปี 2549 และปี 2557) อันนำมาซึ่งความชะงักงันทางการเมือง และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ก่อความเกลียดชังซึ่งกันและกันบนพื้นฐานของการเบียดขับให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็น "ศัตรูทางการเมือง" ซึ่งมีนัยของการเข้ามาคุกคามและบ่อนทำลายความอยู่รอดของฝ่ายตนเอง ดังนั้น จึงต้องกำจัดการขยายตัวของ "ศัตรูทางการเมือง" ด้วยการใช้ความรุนแรง แม้ว่าวิธีคิดดังกล่าวจะเบาบางลงไปอย่างเห็นได้ชัดภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แต่ร่องรอยของการแบ่งขั้วทางการเมืองรูปแบบใหม่ก็เริ่มปรากฏตัวขึ้นจากความไม่พอใจในการบริหารราชการแผ่นดินและการกระทำส่วนบุคคลของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา "วาทกรรมคนรุ่นใหม่ vs คนรุ่นเก่า" ปรากฏขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และต้องการคำอธิบายต่อการกระทำในทุกๆ เรื่อง ขณะที่สังคมไทยในหลายมิติยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ด้านรายได้ และสถานภาพทางสังคม คนรุ่นใหม่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความต้องการที่จะปรับระนาบทางสังคมให้เกิดความเสมอภาคมากขึ้น เนื่องจากมองว่าความล้มเหลวนานับประการที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันเป็นผลของคนรุ่นเก่า ซึ่งนอกจากจะไม่ได้พยายามแก้ปัญหาต่างๆ ให้หมดสิ้นไปแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากความไม่สมมาตรของสังคมดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการต่อสู้ทางการเมืองเพื่ออนาคตของสังคมไทยที่ดีกว่านั้น
ไม่จำเป็นต้องผูกขาดไว้เป็นเพียงภารกิจของคนกลุ่มใหม่เท่านั้น ดังที่ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า "การสร้างประชาธิปไตยตามแนวคิดของคนรุ่นใหม่จะสำเร็จหรือไม่ ยังไม่มีใครสามารถทำนายได้ ขึ้นอยู่กับการรักษาจุดยืนนี้ให้มั่นคง และดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจนั้นอย่างมุ่งมั่น...ทางออกน่าจะเป็นการสร้าง “ประชาธิปไตยที่ทั่วถึง” โดยคนรุ่นเก่าควรจะต้องเข้าใจคนรุ่นใหม่ให้ดีกว่านี้ เพราะถึงอย่างไรคนรุ่นนี้ก็ต้องถูกคนรุ่นต่อๆ ไปมาปกครอง เป็นวัฏจักรไปดังนี้แลฯ"[23] ขณะเดียวกันการใช้วาทกรรมคนรุ่นใหม่ต่อสู้โจมตีคนรุ่นเก่าก็วางอยู่บนวิธีคิดที่มองคนอื่นเป็นศัตรูไม่มากก็น้อย การที่จะหลุดพ้นจากวงจรความขัดแย้งอาจจำต้องพิจารณาถึงอนาคตของ "ความเป็นชาติ" ที่ผนวกรวบรวมคนทุกกลุ่มทุกวัยเข้าไว้ในตัวเอง เพื่อให้ "ชาติ"
เป็นของทุกๆ คนตามความหมายของคำๆ นี้อย่างแท้จริง

 

บรรณานุกรม

 

Anna Lawattanatrakul. "A country for the young: first-time voters in the 2019 general election and how they can change the face of Thai politics." Prachatai (23 Mar 2019). Available from <https://prachatai.com/english/node/7984>. Accessed August 10, 2020.

“Gen Y/Gen Me กลุ่มผู้กุมชะตาโลก." กรมสุขภาพจิต (6 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=1251>. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563.

Prasad, Ramaa. (1992). Generation Gap, a Sociological Study of Inter-generational Conflicts. New Delhi: Mittal Publication.

“กระทรวงศึกษาธิการ” ออกหนังสือแจ้งให้สถานศึกษาสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นของเด็กนักเรียนได้แล้ว." ผู้จัดการออนไลน์ (20 สิงหาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000085414>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563.

“การคุกคามที่สืบเนื่องจากการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 หลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก." iLaw (7 สิงหาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://freedom.ilaw.or.th/node/836>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563.

“เข้าใจความต่างคน 4 เจเนอเรชั่น ทลายช่องว่างเพื่อการทำงานที่แฮปปี้." โพสต์ทูเดย์ (29 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/life/healthy/587633>. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563.

“คนรุ่นใหม่กับประชาธิปไตยใหม่ (จบ)" โพสต์ทูเดย์ (12 ตุลาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/columnist/603407>. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563.

“จุดพลุแฟลชม็อบภาคแรก ถึง 'พลังแฮชแท็กม็อบ' จุดไฟไล่ 'ประยุทธ์' ลุกลามทั่วประเทศ ภาค 2." Voice Online (23 กรกฎาคม 2563). เข้าถึงจาก <http://www.voicetv.co.th/read/GkpT6OnR6>. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563.

ช่องว่างระหว่างวัย อีกหนึ่งภารกิจที่รบ.ประยุทธ์2 ห้ามมองข้าม." กรุงเทพธุรกิจ (15 กรกฎาคม 2562). เข้าถึงจาก < https://www.posttoday.com/politic/news/600015>. เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563.

“ไทยรักษาชาติ : สรุปคำวินิจฉัยศาล รธน. สั่งยุบ ทษช. "เซาะกร่อนบ่อนทำลาย" สถาบันพระมหากษัตริย์." บีบีซีไทย (7 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47465782>. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563.

เบเนดิก แอนเดอร์สัน. (2541). “บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม.” แปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, เกษียร เตชะพีระ ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (บรรณาธิการ). จาก 14 ถึง 6 ตุลา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. หน้า 197-262.

“ปฏิบัติการไล่ออกหมายจับ 'เยาวชนปลดแอก' แกนนำลั่นเตรียมยกระดับการชุมนุม!." The Bangkok Insight (20 สิงหาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.thebangkokinsight.com/417873/>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563.

ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2548). และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

“ประชากรไทย GenY ใหญ่สุด พฤติกรรมสร้างโอกาส-ความเสี่ยง(1)." ฐานเศรษฐกิจ (24 พฤศจิกายน 2560). เข้าถึงจาก <https://www.thansettakij.com/content/columnist/234315>. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563.

“เปิดตัว New Dem คนรุ่นใหม่ประชาธิปัตย์ ชูเป้าหมายใหม่บนพื้นที่พรรคเก่าแก่การเมืองไทย." The Standard (13 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/new-dem-democrat-party/>. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563.

ผลเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต รวม 349 คน แยกเป็นรายพรรค." ไทยรัฐออนไลน์ (7 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1562331>. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563.

““ผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการ” : เมื่อนิยาม “ชาติ” ของเยาวชน กับ ผู้ใหญ่-ผู้ปกครอง ไม่ตรงกัน." บีบีซีไทย (18 พฤษภาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-53821787>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563.

“พปชร.เปิดตัวกลุ่ม Gen Z ตั้งแพลตฟอร์ม"ปัญญาประชารัฐ"ให้คน Gen Z มีส่วนร่วมการพัฒนาประเทศ." ผู้จัดการออนไลน์ (15 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก

          <https://mgronline.com/uptodate/detail/9620000026100>. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563.

“พรรคอนาคตใหม่กับการสร้างคะแนนนิยมผ่าน Social Media." ไทยรัฐออนไลน์ (31 ตุลาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/tech/1693908>. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563.

““เยาวชนปลดแอก" ยุติการชุมนุมก่อนเที่ยงคืน อ้างความปลอดภัย สรุปบรรยากาศจากเริ่มจนจบ." บีบีซีไทย (18 พฤษภาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-53456468>. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563.

“เลือกตั้ง 2562 : กกต. ประกาศรับรอง 149 ส.ส. บัญชีรายชื่อ."  บีบีซีไทย (8 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48197070>. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563.

“อนาคตใหม่ : มติศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ กก.บห. 10 ปี." บีบีซีไทย (21 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-51582581>. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563.

““อนาคตใหม่"เปิดตัว12นโยบาย สร้างคนเท่าเทียมกัน ไทยเท่าทันโลก." โพสต์ทูเดย์ (16 ธันวาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/574131>. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563.

 

อ้างอิง 

[1] Ramaa Prasad, Generation Gap, a Sociological Study of Inter-generational Conflicts (New Delhi: Mittal Publication, 1992), p. 3.

[2] "ประชากรไทย GenY ใหญ่สุด พฤติกรรมสร้างโอกาส-ความเสี่ยง(1)," ฐานเศรษฐกิจ (24 พฤศจิกายน 2560), เข้าถึงจาก <https://www.thansettakij.com/content/columnist/234315>. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563.

[3] "Gen Y/Gen Me กลุ่มผู้กุมชะตาโลก," กรมสุขภาพจิต (6 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=1251>. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563.

[4] "เข้าใจความต่างคน 4 เจเนอเรชั่น ทลายช่องว่างเพื่อการทำงานที่แฮปปี้," โพสต์ทูเดย์ (29 เมษายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/life/healthy/587633>. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563.

[5] "ช่องว่างระหว่างวัย อีกหนึ่งภารกิจที่รบ.ประยุทธ์2 ห้ามมองข้าม," กรุงเทพธุรกิจ (15 กรกฎาคม 2562), เข้าถึงจาก < https://www.posttoday.com/politic/news/600015>. เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563.

[6] โปรดดูรายละเอียดใน ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548).

[7] โปรดดูรายละเอียดใน เบเนดิก แอนเดอร์สัน, “บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม,” แปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, เกษียร เตชะพีระ, ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, (บรรณาธิการ), จาก 14 ถึง 6 ตุลา (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2541), หน้า 197-262.

[8] Anna Lawattanatrakul, "A country for the young: first-time voters in the 2019 general election and how they can change the face of Thai politics," Prachatai (23 Mar 2019), Available from <https://prachatai.com/english/node/7984>. Accessed August 10, 2020.

[9] Anna Lawattanatrakul, "A country for the young: first-time voters in the 2019 general election and how they can change the face of Thai politics," Prachatai (23 Mar 2019), Available from <https://prachatai.com/english/node/7984>. Accessed August 10, 2020.

[10] "เปิดตัว New Dem คนรุ่นใหม่ประชาธิปัตย์ ชูเป้าหมายใหม่บนพื้นที่พรรคเก่าแก่การเมืองไทย," The Standard (13 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/new-dem-democrat-party/>. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563.

[11] "พปชร.เปิดตัวกลุ่ม Gen Z ตั้งแพลตฟอร์ม"ปัญญาประชารัฐ"ให้คน Gen Z มีส่วนร่วมการพัฒนาประเทศ," ผู้จัดการออนไลน์ (15 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/uptodate/detail/9620000026100>. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563.

[12] "พรรคอนาคตใหม่กับการสร้างคะแนนนิยมผ่าน Social Media," ไทยรัฐออนไลน์ (31 ตุลาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/tech/1693908>. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563.

[13] ""อนาคตใหม่"เปิดตัว12นโยบาย สร้างคนเท่าเทียมกัน ไทยเท่าทันโลก," โพสต์ทูเดย์ (16 ธันวาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/574131>. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563.

[14] "ไทยรักษาชาติ : สรุปคำวินิจฉัยศาล รธน. สั่งยุบ ทษช. "เซาะกร่อนบ่อนทำลาย" สถาบันพระมหากษัตริย์," บีบีซีไทย (7 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47465782>. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563.

[15] "ผลเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต รวม 349 คน แยกเป็นรายพรรค," ไทยรัฐออนไลน์ (7 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1562331>. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563. และ "เลือกตั้ง 2562 : กกต. ประกาศรับรอง 149 ส.ส. บัญชีรายชื่อ,"  บีบีซีไทย (8 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48197070>. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563.

[16] "อนาคตใหม่ : มติศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ กก.บห. 10 ปี," บีบีซีไทย (21 กุมภาพันธ์ 2563), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-51582581>. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563.

[17] ""เยาวชนปลดแอก" ยุติการชุมนุมก่อนเที่ยงคืน อ้างความปลอดภัย สรุปบรรยากาศจากเริ่มจนจบ," บีบีซีไทย (18 พฤษภาคม 2563), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-53456468>. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563.

[18] ""เยาวชนปลดแอก" ยุติการชุมนุมก่อนเที่ยงคืน อ้างความปลอดภัย สรุปบรรยากาศจากเริ่มจนจบ," บีบีซีไทย (18 พฤษภาคม 2563), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-53456468>. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563.

[19] "จุดพลุแฟลชม็อบภาคแรก ถึง 'พลังแฮชแท็กม็อบ' จุดไฟไล่ 'ประยุทธ์' ลุกลามทั่วประเทศ ภาค 2," Voice Online (23 กรกฎาคม 2563), เข้าถึงจาก <http://www.voicetv.co.th/read/GkpT6OnR6>. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563.

[20] "ปฏิบัติการไล่ออกหมายจับ 'เยาวชนปลดแอก' แกนนำลั่นเตรียมยกระดับการชุมนุม!," The Bangkok Insight (20 สิงหาคม 2563), เข้าถึงจาก <https://www.thebangkokinsight.com/417873/>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563.

[21] "“ผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการ” : เมื่อนิยาม “ชาติ” ของเยาวชน กับ ผู้ใหญ่-ผู้ปกครอง ไม่ตรงกัน," บีบีซีไทย (18 พฤษภาคม 2563), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-53821787>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563. และ "การคุกคามที่สืบเนื่องจากการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 หลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก," iLaw (7 สิงหาคม 2563), เข้าถึงจาก <https://freedom.ilaw.or.th/node/836>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563.

[22] "“กระทรวงศึกษาธิการ” ออกหนังสือแจ้งให้สถานศึกษาสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นของเด็กนักเรียนได้แล้ว," ผู้จัดการออนไลน์ (20 สิงหาคม 2563), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/onlinesection/detail/
9630000085414>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563.

[23] "คนรุ่นใหม่กับประชาธิปไตยใหม่ (จบ)" โพสต์ทูเดย์ (12 ตุลาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/columnist/603407>. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563.