อยู่ไม่เป็น

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:29, 12 กุมภาพันธ์ 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ


ความนำ

          “อยู่ไม่เป็น” คือชื่อแคมเปญหรือกิจกรรมทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งจัดขึ้นก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำวินิจฉัยในคดีถือหุ้นสื่อของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กิจกรรมมีการอภิปรายและปราศรัยโดยบรรดาแกนนำและสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของพรรคอนาคตใหม่ ที่ต่างมุ่งอภิปรายและชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ชาวอนาคตใหม่จะต้อง “อยู่ไม่เป็น” เพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคมและผลักดันให้ประเทศเกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ กิจกรรม “อยู่ไม่เป็น” ได้ก่อให้เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคม มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์โจมตีการจัดกิจกรรม โดยบางข้อวิจารณ์มองว่าเป็นกิจกรรมเพื่อต้องการระดมมวลชนในการต่อรองผลคำตัดสินของศาลในคดีถือหุ้นสื่อของนายธนาธร ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 ที่จะมาถึง[1]

 

พรรคอนาคตใหม่กับการเผชิญมรสุมทางการเมือง

          นับตั้งแต่ที่พรรคอนาคตใหม่เปิดตัวพร้อมประกาศจุดยืนทางการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับเผด็จการ ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) วางแนวทางการดำเนินงานทางการเมืองเพื่อมุ่งฟื้นความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย[2] พร้อมการออกมาแสดงบทบาทท่าทีของแกนนำและบรรดาสมาชิกพรรคที่มักสร้างประเด็นอันเป็นที่ถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนในสังคม ก็กล่าวได้ว่าแรงเสียดทานและกระแสโต้ตอบที่มีต่อการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่นั้นก็ทวีขึ้นเป็นเงาตามตัว ทุกก้าวเดินของพรรคถูกจับจ้องโดยเฉพาะจากบรรดาฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

          หนึ่งในข้อกล่าวหาต่อพรรคอนาคตใหม่ที่สำคัญและอยู่ในความสนใจของสาธารณชนคือคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคพรรคอนาคตใหม่ ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากการที่มีชื่อนายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทสื่อ วี-ลัค มีเดีย ว่าเข้าลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ในคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณารับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 และมีมติเสียงข้างมากด้วยคะแนน 8
ต่อ 1 ให้นายธนาธรต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2562[3]

          คดีนี้อยู่ในความสนใจของทุกฝ่าย เนื่องจากหากผลคำวินิจฉัยของคดีนี้ออกมาว่านายธนาธรไม่มีความผิด นายธนาธรก็ยังคงยืนอยู่บนเส้นทางการเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ได้ต่อไป แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความผิดตามคำร้อง ไม่เพียงแต่นาย
ธนาธรจะต้องพ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่ยังอาจนำไปสู่การฟ้องร้องในคดีที่เกี่ยวเนื่องซึ่งมีบทลงโทษที่รุนแรงถึงกับยุบพรรค รวมไปถึงการฟ้องร้องในคดีอาญาที่มีการระวางโทษจำคุก
อีกด้วย[4]

 

ผุดแคมเปญ “อยู่ไม่เป็น”

          เพียง 4 วันก่อนจะถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในคดีถือหุ้นสื่อของนายธนาธร
พรรคอนาคตใหม่ได้กำหนดจัดกิจกรรม “อยู่ ไม่ เป็น” ขึ้นในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 โดยก่อนหน้าที่จะถึงวันจัดกิจกรรม บรรดาแกนนำและสมาชิกพรรคต่างเขียนข้อความเพื่อเชิญชวนให้ผู้คนติดตามและเข้าร่วมกิจกรรมผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะทวิตเตอร์ (Twitter) อาทิ นางสาวพรรณิการ์
วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ที่ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ระบุว่า "#อนาคตใหม่ ไม่ถนัดเอาตัวรอด ไม่เชี่ยวชาญหมากล้อมเก็บแต้มการเมือง เรารู้แต่ว่าเราสร้างพรรคเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้คนไทยเท่าเทียมกัน
พาประเทศไทยเท่าทันโลก ยุติรัฐประหารซ้ำซาก ถ้าไม่ทำทั้งหมดนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีอนาคตใหม่ #อยู่ไม่เป็น 16 พ.ย.นี้เจอกันค่ะ"[5] เป็นต้น จากกระแสความร้อนแรงในทวีตเตอร์ได้ส่งผลให้แฮชแท็ก “อยู่ไม่เป็น”
ของพรรคอนาคตใหม่มีความนิยมเป็นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์[6] รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ มีผู้ให้ความสนใจกิจกรรมดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทางด้านพลโทพงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ออกมาชี้แจงถึงงานที่จะจัดขึ้นว่าเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนของพรรคที่ไม่สยบยอมต่อความไม่ถูกต้องและการถูกบังคับให้เชื่อฟังผู้มีอำนาจ ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านกระแสที่ว่าพรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบพรรค เนื่องจากทีมกฎหมายของพรรคพิจารณาคดีความของพรรคทุกคดี โดยเชื่อว่าความผิดนั้นไม่ถึงขั้นยุบพรรค[7]

          กิจกรรมที่จัดขึ้นในวันที่ 16 พฤศจิกายนนั้น พรรคอนาคตใหม่เลือกจัดกิจกรรมที่ชั้น 6 อาคาร เจ.เจ.มอลล์ ถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร ได้มีผู้สนใจเดินทางมาร่วมงานกว่า 1,800 คน[8] โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการและบูธนำเสนองานของพรรค สำหรับไฮไลท์ของงานคือกิจกรรมบนเวทีซึ่งเปิดตัวด้วยการอภิปรายการอยู่ไม่เป็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ ประกอบด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่ขึ้นอภิปรายถึงความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงเรื่องของกองทัพ[9] ในการนี้นายพิธาได้กล่าวถึงลักษณะของการ
“อยู่ไม่เป็น” โดยให้นิยามไว้ว่า

 

คนอยู่ไม่เป็นคือคนที่รู้ว่าปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม คนที่ฟัง แต่ยังไม่เชื่อ คนที่คิดวิเคราะห์แยกแยะ คนที่กล้าสู้กับความอยุติธรรมและเรียกร้องให้สังคมก้าวหน้า คนที่กล้าสู้กับแรงเฉื่อย คนที่เข้าใจว่าโลกหมุนด้วยความหวัง ไม่ได้หมุนด้วยความกลัว ไม่ใช่คนชังชาติ แต่ไม่ได้คลั่งชาติ และเรารักชาติพอที่จะยอมรับว่าข้อเสียของชาติคืออะไร และพร้อมแก้ปัญหา[10]

 

ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคได้ขึ้นกล่าวถึงการดำเนินงานของพรรคนับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นที่ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ โดยเขากล่าวว่าการมาทำพรรคการเมืองนี้ไม่ใช่เกิดจากความเกลียดชัง
แต่เริ่มต้นจากความรักในเพื่อนมนุษย์ รักในคนข้างบ้าน รักในคนที่ร่วมสังคมเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงต้อง
"อยู่ไม่เป็น" เพราะอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง และมองเห็นความเป็นไปได้ที่ตั้งอยู่บนศักยภาพของคนไทย[11] อีกหนึ่งผู้ปราศรัยสำคัญคือนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ที่ได้ขึ้นปราศรัยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่ต้องอยู่ไม่เป็น โดยเขาได้กล่าวว่า “ถ้าเรายังอยู่เป็นกันต่อไป บ้านเมืองก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ แต่เราเป็นพวกอยู่ไม่เป็น เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นที่ๆ ทุกคนสามารถอยู่ได้”[12] เขาได้กล่าวว่าด้วยอาการ “อยู่ไม่เป็น” ของชาวอนาคตใหม่จึงได้นำเหตุเภทภัยต่างๆ มาสู่พรรค ซึ่งในช่วงแรกๆ ที่พรรคมีการเสนอแนวนโยบาย คงสร้างความไม่สบายใจให้กับบางฝ่าย แต่ยังใม่ถึงกับถูกมองว่าเป็นพิษภัยร้ายแรงอะไร
แต่เมื่อพรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งถึง 6.3 ล้านเสียง และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 81 คน พรรคอนาคตใหม่จึงเริ่มถูกมองเป็นภัยคุกตามร้ายแรง เขายังได้สำทับถึงความจำเป็นที่ชาวอนาคตใหม่จะต้อง “อยู่ไม่เป็น” เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทยและเพื่อบอกคนยึดครองอำนาจว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูปด้วยกันทุกคนทุกฝ่าย[13]

          นอกจากกิจกรรม “อยู่ไม่เป็น” ของพรรคอนาคตใหม่จะได้รับความสนใจทั้งจากผู้เข้าร่วมงาน
และติดตามผ่านช่องทางต่างๆ แล้ว ยังได้ก่อให้เกิดกระแสทั้งที่สนับสนุนและโจมตีการจัดกิจกรรมดังกล่าว ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการที่สนับสนุนแนวทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟสบุ๊คแสดงความคิดเห็นต่อการจัดกิจกรรมพร้อมมองถึงอนาคตทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ไว้ว่าพรรคอนาคตใหม่นั้นคงจะไปไม่รอด โดยได้ยกวลีของหลวงวิจิตรวาทการที่ว่า “จงทำดีแต่อย่างเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน”[14] ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามอย่างนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นโจมตีพรรคอนาคตใหม่ว่ากิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อต้องการระดมมวลชนเพื่อต่อรองผลคำตัดสินของศาลในวันที่ 20 พฤศจิกายน[15] เช่นเดียวกับทางด้านสถาบันทิศทางไทยก็ได้มีการจัดกิจกรรมเสวนาขึ้นในวันที่ 16 พฤศจิกายน เช่นเดียวกัน โดยเป็นงานเสวนาซึ่งมีลักษณะตอบโต้กิจกรรมของทางพรรคอนาคตใหม่ภายใต้ชื่องานเสวนา "ประเทศไทยอยู่อย่างไรให้ อยู่ เย็น เป็น สุข" มีผู้เข้าร่วมอาทิ นางสาววทันยา โอภาสี หรือ "มาดามเดียร์" สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ นางสาวหฤทัย ม่วงบุญศรี ศิลปินนักร้อง เป็นต้น[16]

 

“อยู่ไม่เป็น” กับการเมืองของการใช้ภาษา

          เป็นที่ทราบกันดีว่าการจัดกิจกรรม “อยู่ไม่เป็น” ของพรรคอนาคตใหม่นั้น เป็นการนำวลีที่ผู้คนคุ้นเคยกันดีคือคำว่า “อยู่เป็น” มากลับใช้ให้มีความหมายในแง่ของการปฏิเสธ แข็งขืน ต่อต้าน หรือเป็นการเสียดสี โดยความหมายของคำว่า “อยู่เป็น” ที่ถูกใช้มานั้น มีนักวิชาการที่ได้เคยอธิบายความหมายไว้ อาทิ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ได้อธิบายความหมายของคำว่า “อยู่เป็น” ว่าเป็นถ้อยคำที่มักใช้สื่อความว่าอันที่จริงแล้ว ตัวผู้พูดเองก็ไม่ได้พึงพอใจในความสัมพันธ์ในสังคมที่ดำรงอยู่และเกี่ยวพันกับตนเองเท่าใดนัก แต่ด้วยเหตุผลใดก็ตามทำให้พอยอมรับกับความสัมพันธ์ดังกล่าวอยู่ได้ในระดับหนึ่ง กล่าวในเชิงเศรษฐศาสตร์ การอธิบายคำว่า “อยู่เป็น” ไม่ว่าจะจากผู้อื่นหรือตนเอง จะทำให้ผู้นั้นทำใจยอมรับสถานการณ์ที่เป็นอยู่และมองเห็นต้นทุนของการดำรงอยู่ของความสัมพันธ์นั้นน้อยลง เพราะในทางตรงข้ามคือหาก “อยู่ไม่เป็น” หรือมีความดึงดันอยากจะเปลี่ยนแปลง ย่อมหมายถึงต้นทุนหรือความเสี่ยงใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากความพยายามในการสร้างความเปลี่ยนแปลงมันเกิดมาจาก “การอยู่ไม่เป็น” ของตนเอง[17]

          คำว่า “อยู่ไม่เป็น” จึงเป็นคำที่สะท้อนสำนึกของการ “ขบถ” ดังที่กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช นักเขียนและคอลัมนิสต์ประจำเว็บไซต์ The Matter ได้อภิปรายไว้ว่าการที่ทางพรรคอนาคตใหม่จัดกิจกรรมด้วยชื่อ “อยู่ไม่เป็น” ขึ้นมานั้น คำนี้มีความหมายเฉกเช่นเดียวกับคำว่า “ขบถ” (ไม่ใช่กบฏ) คือการไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับเพดานหรือกรอบที่ดำรงอยู่ กรอบที่สร้างความปกติ สร้างระเบียบ ตลอดจนกำหนดขอบเขตที่ไม่พึงล่วงล้ำ ฉะนั้นแล้ว การแสดงออกท้าทายต่อกรอบที่ดำรงอยู่ก็เพื่อขยายพรมแดนความเป็นปกติจากระเบียบแบบเดิมของชุมชนการเมืองที่ตนอยู่ให้ขยับขยายออกไปได้มากขึ้น[18]

          อย่างไรก็ตาม จากการผุดแคมเปญ “อยู่ไม่เป็น” ของพรรคอนาคตใหม่จนเกิดเป็นกระแสและได้สร้างข้อโต้เถียงขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมนั้น กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช ได้ชี้ชวนให้ตระหนักว่าการใช้ภาษาในลักษณะดังกล่าว มีลักษณะของการแบ่งขั้วข้าง (Dichotomy) อย่างเกินขนาด กล่าวคือ ในความเป็นจริงแล้วทุกสังคมการเมืองย่อมมีผู้คนหลากหลายมากกว่าสองฝ่ายเสมอ ไม่ได้มีเพียงฝ่ายที่อยู่เป็นและฝ่ายที่อยู่ไม่เป็นเท่านั้น การใช้คำว่า “อยู่เป็น” เพื่อสื่อความหมายถึงการรวมเป็นพวกเดียวกัน ในอีกแง่หนึ่งก็กลายเป็นการผลักผู้ที่ไม่เข้าร่วมมาเป็นพวกเดียวกันกับตนให้กลายเป็นผู้ที่อยู่อีกฝ่ายหนึ่ง หรือก็คือการผลักผู้ที่ไม่มาเข้าร่วมกับฝ่าย “อยู่ไม่เป็น” ให้ไปอยู่ในฝ่ายของผู้ที่ “อยู่เป็น” นั่นเอง[19]

 

บทส่งท้าย

          จากกิจกรรม “อยู่ไม่เป็น” ของพรรคอนาคตใหม่ซึ่งได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคม และยังสะท้อนถึงความแตกแยกหรือไม่ลงรอยของพลังการเมืองฝ่ายต่างๆ โดยสำหรับพรรคอนาคตใหม่ตลอดถึงผู้สนับสนุนแนวทางการเมืองของพรรคต่างมองเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องประกาศจุดยืนเชิงอุดมการณ์ที่จะนำพาสังคมไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมองว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นสัญญาณอันตรายที่ทางพรรคอนาคตใหม่ประกาศอย่างแข็งกร้าวที่จะเป็นปฏิปักษ์กับกติกาทางการเมืองที่ดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าในที่สุดแล้วผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะกำหนดชะตากรรมทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่รวมถึงนายธนาธรจะออกมาเป็นเช่นไรก็ตาม แต่ปรากฎการณ์ทางการเมืองตลอดถึงกระแสสังคมที่เกิดขึ้นคงพอเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอนาคตการเมืองไทยที่จะยังคงอยู่ภายใต้วังวนของความขัดแย้งแบ่งขั้ว โดยที่แต่ละฟากฝ่ายต่างก็มีโลกทัศน์ ความเข้าใจ ตลอดถึงการรับรู้ทางการเมืองที่แตกต่างกัน

 

บรรณานุกรม

"ชี้ชะตา วันนี้ รอด-ไม่รอด ธนาธร คดีถือหุ้นสื่อ วี-ลัค มีเดีย." คมชัดลึกออนไลน์. (20 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/politic/399874>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

"ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จาก ‘ไพร่หมื่นล้าน’ สู่หัวหน้าอนาคตใหม่." มติชนออนไลน์. (วันที่ 1 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1298102>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563.

"'พงศกร' ลั่นแคมเปญ 'อยู่ไม่เป็น' รอติดตาม 16 พ.ย.นี้." กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (4 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/853251>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

"'วิเคราะห์ | วิวาทะ #อยู่ไม่เป็น กระหึ่มโซเชียล ฝ่ายตรงข้าม ดาหน้าสวด โยงปูทางชวนคนลงถนน." มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์. (15 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก < https://today.line.me/th/v2/article/วิเคราะห์+วิวาทะ+อยู่ไม่เป็น+กระหึ่มโซเชียล+ฝ่ายตรงข้าม+ดาหน้าสวด+โยงปูทางชวนคนลงถนน-ygMQV1 >. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

"สรุปเนื้อหา งาน ‘อยู่ไม่เป็น’ ของอนาคตใหม่." The MATTER. (16 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://
thematter.co/brief/brief-1573902480/90878>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

"อนาคตใหม่ปลุกกระแส "#อยู่ไม่เป็น" พุ่งอันดับ1ในทวิตเตอร์." โพสต์ทูเดย์ออนไลน์. (4 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/605305>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

""อยู่•ไม่•เป็น" กันคึกคัก! แฟนคลับรอกรี๊ด "แร็พประเทศกูมี ธนาธร-ปิยบุตร" ไฮปาร์ค." ข่าวสดออนไลน์. (16 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_3061698>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

"อยู่ไม่เป็น : อนาคตใหม่ลั่นไม่ใช่พวก “ล้มเจ้า-ชังชาติ”." บีบีซีไทยออนไลน์. (16 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-50444069>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

Decharut Sukkumnoed. "‘อยู่เป็น’ ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์." The Matter. (13 มิถุนายน 2560). เข้าถึงจาก <https://thematter.co/thinkers/you-pen-with-economics/25925>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

Kritdikorn Wongsawangpanich. "อยู่เป็น-อยู่ไม่เป็น : ปัญหาการมองโลกแบบแบ่งขั้วสองข้าง (Dichotomy) จนเกินขนาด." The Matter. (18 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก

           <https://thematter.co/thinkers/over-dichotomy-in-revolt-campaign/90934>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

อ้างอิง

[1] "'วิเคราะห์ | วิวาทะ #อยู่ไม่เป็น กระหึ่มโซเชียล ฝ่ายตรงข้าม ดาหน้าสวด โยงปูทางชวนคนลงถนน," มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์, (15 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก < https://today.line.me/th/v2/article/วิเคราะห์+วิวาทะ+อยู่ไม่เป็น+กระหึ่มโซเชียล+ฝ่ายตรงข้าม+ดาหน้าสวด+โยงปูทางชวนคนลงถนน-ygMQV1 >. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

[2] "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จาก ‘ไพร่หมื่นล้าน’ สู่หัวหน้าอนาคตใหม่," มติชนออนไลน์, (วันที่ 1 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1298102>. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563.

[3] "ชี้ชะตา วันนี้ รอด-ไม่รอด ธนาธร คดีถือหุ้นสื่อ วี-ลัค มีเดีย," คมชัดลึกออนไลน์, (20 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/politic/399874>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

[4] "ชี้ชะตา วันนี้ รอด-ไม่รอด ธนาธร คดีถือหุ้นสื่อ วี-ลัค มีเดีย," คมชัดลึกออนไลน์, (20 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/politic/399874>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

[5] "อนาคตใหม่ปลุกกระแส "#อยู่ไม่เป็น" พุ่งอันดับ1ในทวิตเตอร์," โพสต์ทูเดย์ออนไลน์, (4 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/605305>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

[6] "อนาคตใหม่ปลุกกระแส "#อยู่ไม่เป็น" พุ่งอันดับ1ในทวิตเตอร์," โพสต์ทูเดย์ออนไลน์, (4 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/605305>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

[7] "'พงศกร' ลั่นแคมเปญ 'อยู่ไม่เป็น' รอติดตาม 16 พ.ย.นี้," กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, (4 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/853251>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

[8] ""อยู่•ไม่•เป็น" กันคึกคัก! แฟนคลับรอกรี๊ด "แร็พประเทศกูมี ธนาธร-ปิยบุตร" ไฮปาร์ค," ข่าวสดออนไลน์, (16 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_3061698>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

[9] "สรุปเนื้อหา งาน ‘อยู่ไม่เป็น’ ของอนาคตใหม่," The MATTER, (16 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://thematter.co/brief/brief-1573902480/90878>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

[10] "อยู่ไม่เป็น : อนาคตใหม่ลั่นไม่ใช่พวก “ล้มเจ้า-ชังชาติ”," บีบีซีไทยออนไลน์, (16 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-50444069>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

[11] "อยู่ไม่เป็น : อนาคตใหม่ลั่นไม่ใช่พวก “ล้มเจ้า-ชังชาติ”," บีบีซีไทยออนไลน์, (16 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-50444069>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

[12] "สรุปเนื้อหา งาน ‘อยู่ไม่เป็น’ ของอนาคตใหม่," The MATTER, (16 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://thematter.co/brief/brief-1573902480/90878>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

[13] "อยู่ไม่เป็น : อนาคตใหม่ลั่นไม่ใช่พวก “ล้มเจ้า-ชังชาติ”," บีบีซีไทยออนไลน์, (16 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-50444069>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

[14] "'วิเคราะห์ | วิวาทะ #อยู่ไม่เป็น กระหึ่มโซเชียล ฝ่ายตรงข้าม ดาหน้าสวด โยงปูทางชวนคนลงถนน," มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์, (15 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก < https://today.line.me/th/v2/article/วิเคราะห์+วิวาทะ+อยู่ไม่เป็น+กระหึ่มโซเชียล+ฝ่ายตรงข้าม+ดาหน้าสวด+โยงปูทางชวนคนลงถนน-ygMQV1 >. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

[15] "'วิเคราะห์ | วิวาทะ #อยู่ไม่เป็น กระหึ่มโซเชียล ฝ่ายตรงข้าม ดาหน้าสวด โยงปูทางชวนคนลงถนน," มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์, (15 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก < https://today.line.me/th/v2/article/วิเคราะห์+วิวาทะ+อยู่ไม่เป็น+กระหึ่มโซเชียล+ฝ่ายตรงข้าม+ดาหน้าสวด+โยงปูทางชวนคนลงถนน-ygMQV1 >. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

[16] "อยู่ไม่เป็น : อนาคตใหม่ลั่นไม่ใช่พวก “ล้มเจ้า-ชังชาติ”," บีบีซีไทยออนไลน์, (16 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-50444069>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

[17] Decharut Sukkumnoed, "‘อยู่เป็น’ ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์," The Matter. (13 มิถุนายน 2560). เข้าถึงจาก <https://thematter.co/thinkers/you-pen-with-economics/25925>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

[18] Kritdikorn Wongsawangpanich, "อยู่เป็น-อยู่ไม่เป็น : ปัญหาการมองโลกแบบแบ่งขั้วสองข้าง (Dichotomy) จนเกินขนาด," The Matter. (18 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://thematter.co/thinkers/over-dichotomy-in-revolt-campaign/90934>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.

[19] Kritdikorn Wongsawangpanich, "อยู่เป็น-อยู่ไม่เป็น : ปัญหาการมองโลกแบบแบ่งขั้วสองข้าง (Dichotomy) จนเกินขนาด," The Matter. (18 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://thematter.co/thinkers/over-dichotomy-in-revolt-campaign/90934>. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563.