แคล้ว นรปติ
แคล้ว นรปติ : หัวหน้าพรรคแนวร่วมสังคมนิยม
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคแนวร่วมสังคมนิยมที่ว่านี้เป็นพรรคการเมืองทางซ้ายพรรคหนึ่งที่ตั้งขึ้นใหม่ในปี 2517
จึงเป็นพรรคการเมืองที่เกิดหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ว่าตั้งขึ้นใหม่เพราะชื่อ “แนวร่วมสังคมนิยม”
นี้เมื่อปี 2499 ได้เป็นชื่อของ “แนวร่วม” ของพรรคการเมืองทางซ้าย ที่ได้รวมตัวกัน มีพรรคเศรษฐกร
พรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคกระบวนการไฮปาร์ค และพรรคเสรีประชาธิปไตย ตั้งขึ้นเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดทางการเมืองไปในทางซ้ายเหมือนกัน ที่ตั้งขึ้นใหม่คราวนี้ พรรคมีนโยบายอย่างหนึ่งของพรรคทางด้านเศรษฐกิจ ก็คือ"ด้านเศรษฐกิจจะเป็นไปในรูปแบบสังคมนิยม"ทั้งนี้บรรยากาศทางการเมืองหลังการล้มรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร และคณะแล้วนั้น มีการกล่าวกันว่านักการเมืองแนวคิดทางซ้ายดูจะได้รับ
ความนิยม ถึงขนาดพรรคการเมืองแนวขวาบางพรรค ยังบอกว่าพรรคของตนก็มีแนวทางไปทาง “สีชมพู”
ด้วย หัวหน้าพรรคการเมืองนี้ได้แก่อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น ที่ชนะการเลือกตั้ง
ได้เป็นผู้แทนราษฎรติดต่อกันมาถึง 4 ครั้งก่อนหน้านั้น คือ นาย แคล้ว นรปติ ท่านได้นำพรรคลงแข่งขัน
ในการเลือกตั้งปี 2518 โดยพรรคได้ส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งจำนวน 74 คน และผลการเลือกตั้งครั้งนั้น
ปรากฏว่าพรรคแนวร่วมสังคมนิยมชนะการเลือกตั้งได้ที่นั่งในสภา 10 ที่นั่ง ดูจากจำนวนที่นั่งแล้วก็ไม่มากนัก แต่ถือว่ามากสำหรับฝ่ายซ้าย จำนวนที่นั่งในสภาที่ได้มาทั้งหมดนั้นมาจากเขตเลือกตั้งในภาคอีสาน
แคล้ว นรปติ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่นก็จริง แต่บ้านเกิดของท่านอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิแคล้ว นรปติ เกิดที่บ้านเล่า ตำบลบ้านเล่า จังหวัดชัยภูมิ มีบิดาชื่อ แก้ว และมารดาชื่อ ตุ้ม ท่านถูกเลี้ยงดู
โตขึ้นที่จังหวัดชัยภูมิ จนเรียนจบชั้นประถม ปีที่ 4 จากนั้นบิดากับมารดาได้ย้ายภูมิลำเนาเดิมนำท่านมา
อยู่ที่อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น โดยมาเรียนหนังสือชั้นมัธยมอยู่ 8 ปีที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล แล้วจึงเข้าเรียนวิชาครูที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถม พระนคร อีกหนึ่งปี จบแล้วไปเป็นครูที่โรงเรียนประจำจังหวัดขอนแก่น
ท่านทำงานและไปเรียนที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จบเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต จึงเปลี่ยนอาชีพเป็นทนายความ ท่านได้เข้าสู่วงการเมืองครั้งแรกโดยสมัครเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองขอนแก่น
และได้รับเลือกในปี 2490 อีกสองปีต่อมาท่าน ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดขอนแก่น ต่อมาท่านจึงได้เข้าสู่สนามการเมืองระดับชาติ โดยลงแข่งขันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่นในการเลือก
ตั้งปี 2495 ที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง ลงเลือกตั้งครั้งแรกท่านก็ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่นสมใจ ตอนนั้นเป็นสมัยรัฐบาลของคณะรัฐประหารที่มี หลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี
ที่สภาผู้แทนราษฎรดูจะไม่ค่อยมีอำนาจมากนักเพราะพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านสำคัญประท้วงรัฐบาลโดยไม่ลงเลือกตั้ง สำหรับชีวิตครอบครัว แคล้ว นรปติ มีภรรยา ชื่อ เย็น นรปติ
เมื่อไม่มีพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนจึงไปร่วมกับฝ่ายรัฐบาล บางท่าน
ก็ได้ตำแหน่งทางการเมืองเป็นรัฐมนตรีหรือเลขานุการรัฐมนตรี หรือบ้างก็ได้รับความสนับสนุนให้ไปลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในเขตเลือกตั้งของตน แต่แคล้ว นรปติ ก็ไม่ได้ไปสนับสนุนรัฐบาลแต่อย่างใด จนเมื่อ
มีกฎหมายพรรคการเมืองในปี 2498 แคล้ว จึงจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองแนวนโยบายทางซ้ายชื่อพรรคเศรษฐกรและทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน เมื่อสภาผู้แทนราษฎรอยู่มาจนครบวาระและมีการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2500 แคล้วก็ลงเลือกตั้งที่จังหวัดขอนแก่นและชนะเลือกตั้งได้เข้าสภาฯเป็นครั้งที่สอง แต่สภาฯ
ก็มีอายุสั้น เพราะนิสิตนักศึกษาได้ไปประท้วงรัฐบาลว่าจัดการเลือกตั้งสกปรก จนนำไปสู่การยึดอำนาจ
ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 16 กันยายน ปี 2500 และมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในบีเดียวกันเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ซึ่งแคล้วก็ชนะเลือกตั้งเข้าสภาเป็นครั้งที่ 3 ในนามพรรคเศรษฐกร แต่ในวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลับมายึดอำนาจซ้ำ ยกเลิกทั้งสภาผู้แทนราษฎรและรัฐธรรมนูญ แคล้วจึงพ้นจากการเป็นผู้แทนราษฎร คราวนี้แคล้วต้องว่างงานการเมืองอยู่ถึง 10 ปี
แคล้ว นรปติ กลับมาเล่นการเมืองอีกเมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2511 และเมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2512
แคล้วก็กลับไปลงเลือกตั้งและชนะการเลือกตั้งในนามพรรคแนวร่วม-เศรษฐกร ที่เป็นพรรคทางซ้ายเหมือนเดิม เข้าสภาฯได้อีกเป็นครั้งที่ 4 สภาฯชุดนี้อยู่มาได้ถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน ปี 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยึดอำนาจ ล้มรัฐธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎร แคล้วจึงพ้นสภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย แต่รัฐบาลทหารของจอมพลถนอมก็อยู่ได้แค่วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เท่านั้น เพราะได้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง และรัฐบาลได้ปราบปรามนิสิตนักศึกษาจนขาดความชอบธรรม ทำให้นายกฯต้องลาออกและเดินทางออกนอกประเทศ จึงมีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2518 ที่แคล้วชนะเลือกตั้งในฐานะหัวหน้าพรรคแนวร่วมสังคมนิยม แต่สภาชุดนี้ก็อยู่ได้เพียงหนึ่งปีเท่านั้น เพราะนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ได้ยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2519 และเป็นครั้งแรก
ที่แคล้วแพ้เลือกตั้ง ดังนั้น ท่านจึงลาออกจากหัวหน้าพรรค ในการเลือกตั้งปี 2522 ที่ตามมา แคล้วก็แพ้เลือกตั้งอีก แต่แคล้วได้กลับมาชนะเลือกตั้งอีกในปี 2526 นับว่าเป็นชัยชนะครั้งที่ 6 และท่านก็ชนะเลือกตั้ง
ในปี 2529 อีกเป็นครั้งที่ 7 โดยสังกัดพรรคกิจสังคม ในปี 2539 เมื่อมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา
แคล้วก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วย โดยบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่แคล้วมีส่วน
ยกร่างนี้ ให้มีวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งแคล้วจึงลงแข่งขันในปี 2543 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากจังหวัดข่อนแก่น ซึ่งแคล้ว นรปติ ได้ทำหน้าที่ต่อมาจนเสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งงนี้ เมื่อวันที่ 8 เมษายน ปี 2549