อัมพร ชัยปาณี

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:03, 12 กุมภาพันธ์ 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''อัมพร ชัยปาณี : โฆษกสตรีของเสรีไทย'''   ผู้เรียบเรียง :...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

อัมพร ชัยปาณี : โฆษกสตรีของเสรีไทย

 

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

        เมืองไทยมีคนกล้าทั้งบุรุษและสตรี ดังนั้นผู้ที่เข้ามาทำงานเสรีไทยคงมีสตรีเข้ามาร่วมด้วย โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งเสรีไทยนอกประเทศ ทั้งที่สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ จริงอยู่งานของเสรีไทยที่เป็นสตรีนั้น อาจอยู่แนวหลัง แต่ก็มีการกล่าวกันมาก่อนว่าผู้ที่อยู่แนวหลังนั้น ก็ตั้งใจช่วยเหมือนไปรบอย่างแข็งขันด้วย สำหรับเสรีไทยที่เป็นสตรีรายนี้ ดูแต่ชื่อข้างบนอาจนึกไม่ออกว่าเป็นใคร ถ้าบอกนามสกุลของท่านหลังการสมรสแล้วก็จะทำให้นึกออกทันที เพราะเป็นที่รู้จักกันมากในวงนักวิชาการ เสรีไทยสตรีผู้นี้ ภายหลัง รู้จักกันในนาม “คุณหญิงอัมพร มีศุข” ท่านเป็นเสรีไทยสายอเมริกา เพราะไปเรียนหนังสืออยู่ที่สหรัฐฯตั้งแต่ปี 2482 พอถึงปี 2485 รัฐบาลไทย โดยนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงครามได้ประกาศสงครามกับสหรัฐฯ อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ได้จัดตั้งเสรีไทยขึ้น และได้นักเรียนไทยจำนวนมากมาร่วมงานเสรีไทย เพื่อประเทศชาติ อัมพร ชัยปาณี ในวันนั้น ได้เข้าร่วมงานเสรีไทยด้วย โดยสหรัฐฯไปตั้งสำนักงานข่าวสงครามขึ้น และได้เผยแพร่ ให้ทั่วโลกรู้ข่าวสงครามที่ทางสหรัฐอเมริกาอยากจะให้รู้ และท่านทูต หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ก็ได้เลือกนักเรียนไทยกลุ่มหนึ่งส่งไปร่วมงานที่สำนักข่าวสงคราม คุณหญิงอัมพรได้เล่าว่า

        “ข้าราชการและนักเรียนไทยที่ได้รับมอบหมายให้ไปทำงาน ณ สำนักข่าวสงคราม ได้แก่ ราชันย์ การจนวณิช พูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ นิรัตน์ สมรรถพันธ์ บุญเยี่ยม มีศุข อัมพร ชัยปาณี (คุณหญิงอัมพร มีศุข)กรองทองชุติมา พูนทรัพย์ ไกรยง (ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา) สวัสดิ์ นิติพน มาลัย หุวะนันท์ อุบล คุวานเสน (คุณหญิงอุบล หุวะนันท์) และเห้ง (ฤทธิ์) สุภางค์ ต่อมามีผู้ขอเปลี่ยนไปทำงานที่ O.S.S. ได้แก่ พูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ และนิรัตน์ สมรรถพันธ์”

        การไปทำงานที่สำนักข่าวสงครามทำให้อัมพร ชัยปาณี ได้เป็นโฆษกวิทยุรายการพิเศษ ที่มีชื่อว่า “ที่นี่ประเทศไทย” เรามารู้จัก โฆษกสตรีของเสรีไทยที่พลัดถิ่นไปจัดรายการส่งมาให้คนไทยสมัยสงครามได้ฟังกันบ้าง

        อัมพร ชัยปาณี เป็นบุตรีของหลวงอาจวิชาสารและนาง ถ้ำทอง เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ปี 2462
ทางด้านการศึกษาระบุว่าท่านศึกษาจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนเบญจมราชาลัย และไปเรียนต่อจนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ จากนั้นจึงได้เข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบเป็นอักษรศาสตร์บัณฑิตแล้ว จึงชิงทุนรัฐบาลได้ ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2482 ขณะที่มีอายุเพียง 20 ปี ได้เรียนจบปริญญาโททางด้านการศึกษาที่วิทยาลัยแรดคลิฟฟ์ และปริญญาเอกสาขาการศึกษาเปรียบเทียบ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 2490 ดูระยะเวลาที่อยู่ศึกษาประมาณแปดปี เนื่องมาจากได้หยุดเรียนมาทำงานเสรีไทยด้วย เพราะตอนทำงานที่สำนักข่าวสงครามนั้น ต้องเดินทางข้ามประเทศสหรัฐฯ จากฝั่งตะวันออก มายังฝั่งตะวันตก เพราะที่ทำการอยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก

          “ใช้สถานีวิทยุกระจายเสียง KGEI ซึ่งตั้งอยู่ที่นครลอสแองเจลิส ส่วนที่ตั้งสำนักงานส่งกระจายเสียงนั้น
อยู่ ณ อาคารเลขที่ 111 ถนนชัตเตอร์ (Shutter Street) ในนครซานฟรานซิสโก บนตึกนั้นมีห้องส่งวิทยุและห้องบันทึกเสียง”

การที่ได้มาทำงานที่สำนักข่าวสงคราม อัมพร ชัยปาณี จึงได้พบกับคุณบุญเยี่ยม มีศุขที่เรียน มาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยจบปริญญาโทจากสถาบัน M.I.T. จึงเป็นรักระหว่างรบอีกคู่หนึ่งที่ได้แต่งงานกัน ด็อกเตอร์ อัมพร มีศุข ได้เดินทางกลับไทยในปี 2490 และได้เข้าทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ปรากฏว่าหน้าที่การงานในกระทรวงศึกษาธิการของท่านก็เจริญก้าวหน้ามาด้วยดี ท่านเป็นผู้ที่เข้าไปทำงานใหม่ๆ ในกระทรวงศึกษาฯ รวมทั้งงานที่ท่านถนัดคือการเผยแพร่การศึกษาที่เกี่ยวกับการทำวิทยุ และวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษาที่ท่านเขียนเล่าว่า

“สถานีวิทยุศึกษาเริ่มออกอากาศกระจายเสียงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2497 รายการที่ออกอากาศทางวิทยุศึกษามีทั้งสาระและบันเทิง เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาสนใจวิชาความรู้ ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษาอย่างกว้างไกล”

อัมพร มีศุข ทำงานได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาหลายตำแหน่ง จนถึงปี 2516 ท่านก็ได้รับตำแหน่ง เป็นอธิบดีกรมวิชาการของกระทรวงศึกษาธิการ มีการกล่าวกันว่าท่านเป็น สตรีท่านแรกที่ได้ตำแหน่งเป็นอธิบดีของประเทศ แต่ที่สำคัญก็คือกรมวิชาการนั้นถือได้ว่าเป็นกรมที่สำคัญมากของกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่ในการดำเนินการด้านการศึกษาของประเทศก่อนถึงระดับอุดมศึกษา ขณะนั้นคุณหญิงอัมพร มีศุข มีอายุได้ 54 ปี ผู้คนจึงคาดกันว่าท่านน่าจะได้เป็นปลัดกระทรวงคมแรกของประเทศไทยที่เป็นสตรี แต่ท้ายที่สุดท่านก็ไม่ได้เพราะถูกย้ายไปเป็นหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการในปี 2520 และได้ดำรงตำแหน่งนี้จนเกษียณอายุราชการ ส่วนการทำงานนอกกระทรวงศึกษาธิการนั้น ท่านเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาและเคยได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย แต่ที่สำคัญก็คือเมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้ว คุณหญิงอัมพร ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดแรกที่ทำงานระหว่างปี 2544 ถึง 2552

คุณหญิงอัมพร มีศุข พ้นตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาได้ประมาณห้าปีท่านจึงได้
ถึงแก่อนิจกรรมลงเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ปี 2457 ด้วยวัย 95 ปี