สงัด ชลออยู่
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
สงัด ชลออยู่ : หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ
การทำรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลโดยมีนายทหารเรือเป็นหัวหน้าคณะนั้น ที่ประสบความสำเร็จก็เห็นจะมีอยู่ครั้งเดียว นั่นคือการยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคมปี 2519 ผู้ที่เป็นหัวหน้าคณะทหารที่เรียกตัวเองว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ทำการยึดอำนาจได้คือพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ฉายา “จอวส์ใหญ่” อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และอดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ที่จริงวันที่ยึดอำนาจนั้นท่านก็เป็นนายทหารนอกราชการแล้ว เพราะเพิ่งจะเกษียณอายุราชการมาได้เพียงหกวัน แต่ท่านได้เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่สำคัญ ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ยังไม่ทันเกินเจ็ดวันเลย ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งก็คือรัฐบาลที่ท่านเข้ายึดอำนาจนั่นเอง ฉายา “จอวส์ใหญ่” นี้ใครจะเป็นคนตั้งให้ก็ลืมไปเสียแล้ว น่าจะเป็นว่าตอนนั้นมีภาพยนตร์เรื่องฉลาม ที่เรียกกันว่า “จอวส์” มาฉายในเมืองไทยและพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ท่านเป็นคนตัวโต ตำแหน่งก็ใหญ่โตเป็นถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุด
เช้า 6 ตุลาคม 2519 เจ้าหน้าทีของรัฐได้เข้าทำการปราบปรามและจับกุมผู้ประท้วงอย่างรุนแรง
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นการชุมนุมประท้วงรัฐบาล ที่ปล่อยให้อดีตนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งถูกบีบให้เดินทางไปอยู่ต่างประเทศได้บวชเป็นเณร และเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ทำให้ผู้คนพากันหวั่นใจว่าจะมีการยึดอำนาจล้มรัฐบาลเกิดตามมา ครั้นถึงเวลาประมาณ 6 โมงเย็นของวันเดียวกันก็เป็นความจริงดังที่คาด คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่นำโดยพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ก็ได้เข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลได้อย่างง่ายดาย ไม่มีการต่อสู้จากรัฐบาลหรือการต่อต้านจากกลุ่มประชาชน ผู้นำนักศึกษา ที่นำการประท้วงได้ถูกจับกลุ่มตัวไปเรียบร้อยแล้วก่อนหน้านั้น จะว่าไปแล้วการเมืองไทยตั้งแต่หลัง “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” แล้วนั้น ก็เป็นการเมืองที่ค่อนข้างไร้เสถียรภาพ เพราะทหารได้ลดบทบาททางการเมืองเข้าไปอยู่เบื้องหลัง ข้าราชการประจำซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญก็มีบทบาทลดลง แต่พรรคการเมือง และองค์กรเอกชน ทั้งกลุ่มการเมืองที่เป็นพลังผลักดัน และกลุ่มผลประโยชน์ รวมทั้งสหภาพกรรมกร ขบวนการนักศึกษาต่าง มีบทบาทมากขึ้นยิ่งไปกว่านั้นสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาณาบริเวณรอบบ้านไทย ทางฝ่ายคอมมูนิสต์ได้อำนาจในกลุ่มประเทศอินโดจีน เริ่มจากเขมรแดงเข้ายึดกรุงพนมเปญได้เมื่อกลางเดือนเมษายน ปี 2518 ผ่านมาในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน กองกำลังของเวียดนามเหนือก็เข้ายึด นครไซง่อนเมืองหลวงของเวียดนามใต้ได้ และถึงเดือนธันวาคม ปี 2518 อีกเช่นกัน กองกำลังของแนวลาวรักชาติก็เข้ายึดกรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาวได้ ดังนั้นผู้คนในประเทศไทยจึงรู้สึกหวั่นไหวกับภัยที่จะมาจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ทั้งนอกประเทศและในประเทศ
ต่อมาหลังเหตุการณ์ยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคมปี 2519 ผ่านไปแล้ว พลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ เองได้เคยเล่าให้นักการเมืองบางท่านฟังว่า ท่านเองตอนที่ยังอยู่ในราชการทหารที่มีตำแหน่งระดับสูง ซึ่งน่าจะเป็นระยะเวลาต้นปี 2519 ว่าท่านและนายทหารระดับสูงของประเทศได้มีความห่วงใยในสถานการณ์การเมือง ของประเทศและเห็นว่ากลุ่มฝ่ายซ้ายได้พยายามรุกเข้ามามีบทบาททางการเมือง และหาทางชี้นำมาก จนคิดกันว่าคณะทหารอาจต้องดำเนินการอะไรบางสิ่งบางอย่าง แต่ก็มิได้มีการดำเนินการทางทหารอย่างที่คิดแต่อย่างใดจนมาถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 การยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่พลเรือเอก สงัด ชะลออยู่เป็นหัวหน้าคณะนี้ ประกอบด้วยผู้บังคับบัญชาของทุกเหล่าทัพ แต่ก็เชื่อกันว่ากองกำลังสำคัญนั้นเป็นของฝ่ายทหารบก ซึ่งคนก็มองไปที่ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเป็นเลขาธิการของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่นายทหารคุมกำลังของกองทัพบุก ในกรุงเทพฯให้ความเชื่อถือ
สงัด ชะลออยู่ เป็นคนเมืองสุพรรณบุรี เกิดที่บ้านบางพระ ตำบลบางพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2458 มีบิดาชื่อแปลก มารดาชื่อส้มลิ้ม อันอำเภอเดิมบางนางบวชนั้น อยู่ที่ปลายจังหวัดสุพรรณบุรีติดกับจังหวัดชัยนาท ดังนั้นท่านจึงเคยเรียนหนังสือที่โรงเรียนวิชัยบำรุงราษฎร์
จังหวัดชัยนาท และที่จังหวัดอุทัยธานีก็ได้เรียนที่โรงเรียนอุทัยทวีเวท จากนั้นจึงเข้ากรุงมาเรียนที่โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ก่อนที่จะเข้าเรียนที่โรงเรียนนายเรือ เรียนจบจากโรงเรียนนายเรือแล้วก็เข้ารับราชการ ที่กองทัพเรือ ดังนั้น เมื่อเกิดการพยายามยึดอำนาจโดยคณะนายทหารเรือระดับกลาง ที่ปรากฏตัวและชื่อ นาวาตรี มนัส จารุภา ในวันที่ 29 มิถุนายนปี 2494 ที่เรียกกันว่ากบฏแมนฮัตตัน ที่มีผลกระทบต่อนายทหารเรือหลายฝ่ายทั้งที่เข้าร่วมและไม่ได้เข้าร่วมในการยึดอำนาจครั้งนั้น ตอนนั้นนาวาโท สงัด ชลออยู่ เป็นผู้บังคับการเรือรบหลวงสุราษฎร์ธานี และท่านเป็น “ผู้ยิงปืนจากเรือไปยังรถถังของฝ่ายรัฐบาลจนเสียหาย” จึงนับเป็นผู้ที่ร่วมต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลอย่างจริงจังและแท้จริง ดังนั้นเมื่อการก่อการของทหารเรือครั้งนั้นล้มเหลวจนเป็นฝ่ายแพ้ ทางรัฐบาลก็ได้เล่นงานฝ่ายทหารเรือตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารเรือ คือหลวงสินธุสงครามชัย ลงมาตามลำดับทำให้มีนายพลทหารเรือ และนายทหารเรือระดับรองลงมา ถูกจับกุมตัวและคุมขังอยู่เป็นเวลานาน นาวาโท สงัด ชะลออยู่ เองก็ถูกจับและถูกคุมขังด้วย กองทัพเรือซึ่งเคยมีอำนาจมาก และมีบทบาทสำคัญในทางการเมืองด้วย จึงถูกลดบทบาทลงไปมาก
ที่เขาว่าคนล้มห้ามข้ามนั้นก็พอจะเห็นได้ในกรณีนี้ เพราะภายหลังพ้นจากคดีครั้งนั้นมาได้ สงัด ชะลออยู่ ก็ได้กลับเข้ารับราชการเป็นทหารเรือสืบมา จนได้เห็นความแตกแยกของรัฐบาลที่เคยเล่นงานตนและพวกในปี 2500 นายทหารที่เคยร่วมกันเป็น"คณะรัฐประหาร “มาตั้งแต่ปี 2490 และอยู่ในฝ่ายกองกำลังของรัฐบาลที่เล่นงานทหารเรือเมื่อปี 2494 นั้น เกิดแตกแยกกันเอง จนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกได้นำกำลังเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็น “นายเก่า” ในวันที่ 16 กันยายนปี 2500 และสั่งให้พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ พันธมิตรเดิมทางทหารและทางการเมืองให้เดินทางออกนอกประเทศไปอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จากนั้นอีกสองวันต่อมาก็ได้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ขึ้น และนาวาเอกสงัด ชลออยู่ เป็นนายทหารเรือคนหนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ด้วย ส่วนตำแหน่งในกองทัพเรือที่สำคัญที่ปรากฏตามมาคือ นาวาเอก สงัด ชลออยู่ ก็ยังได้ขึ้นเป็นผู้บังคับการกองเรือปราบเรือดำน้ำเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2501 สมัยรัฐบาลของ พลโท ถนอม กิตติขจร
ต่อมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ฯกลับมาปฏิวัติซ้ำในเดือนตุลาคมปี 2501 และได้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นได้ตอนต้นปี 2502 นาวาเอกสงัด ชลออยู่ ก็ได้รักการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วย และเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีวาระการทำงานยาวนานเกือบ 10 ปี ครั้นสิ้นสมัยของจอมพลสฤษดิ์ฯ ซึ่งได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปลายปี 2506 จึงมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีมาเป็นจอมพลถนอม กิตติขจร พลเรือโทรสงัด ก็ยังเจริญรุ่งเรือง ท่านได้ตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารเรือฝ่ายยุทธการในปี 2507 และหลังจากมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 แล้ว ได้มีการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ พลเรือโทสงัด ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วยท่านหนึ่งในวันที่ 4 กรกฎาคมปี 2511 และได้ดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายนปี 2514 เมื่อนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอมฯยึดอำนาจล้มรัฐบาล ล้มรัฐธรรมนูญและตั้งรัฐบาลโดยไม่มีรัฐธรรมนูญและสภาอยู่ประมาณหนึ่งปี จนถึงเดือนธันวาคมปี 2515 จึงได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองฯและมีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นคราวนี้พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้ในเดือนตุลาคมปี 2515 พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ก็ได้รับการแต่งตั้ง เป็นรองผู้บัญชาการทหารเรือมาแล้ว
จนถึงเดือนตุลาคมปี 2516 ได้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่มีผลล้มรัฐบาลทหารของจอมพลถนอมกิตติขจร โดยนิสิตนักศึกษาและประชาชน ถึงขนาดจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ต้องเดินทางออกนอกประเทศไป และศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้นต้องเข้ามารับหน้าที่นายกรัฐมนตรี ท่ามกลางความสับสนและวุ่นวาย ทางการเมือง สภานิติบัญญัติเดิมเอง ก็ถูกเล่นงานมากทำให้มีสมาชิกลาออกจนเหลือสมาชิกน้อยมาก ไม่สามารถจัดการประชุมได้ จนต้องมีการตั้งสมัชชาแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิก 2,347 คน มาประชุมคัดเลือกกันเองจนได้สมาชิกจำนวนหนึ่งไปแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี 2516 ที่พลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ ได้รับการแต่งตั้งเป็นทั้งสมาชิกสมัชชาชาติ และต่อมาก็ได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกครั้งหนึ่งด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อย่างสำคัญและการเปลี่ยนรัฐบาลอย่างฉับพลัน จากเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม ปี 2516 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงมากได้วงการทหารทุกเหล่าทัพ มาถึงวันที่ 19 พฤศจิกายนปี 2516 นี่เอง พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ในสมัยนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่มีพลเอกครวญ สุทธานินทร์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ช่วงเวลาระหว่างวันที่ 19 พฤศจิกายน ปี 2516 จนถึงวันที่ 30 กันยายน ปี 2519 ที่พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ และต่อมาควบตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วยนั้น การเมืองยุ่งยากค่อนข้างมาก และเมื่อพลเรือเอกสงัด และคณะปฏิรูปการปกครองยึดอำนาจตั้งรัฐบาล ของนายกรัฐมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียร แล้ว การเมืองก็ยังมีความขัดแย้งสูง ต่อมาก็มีการใช้กำลังในการยึดอำนาจ ที่นำโดยพลเอกฉลาด หิรัญศิริ เกิดขึ้นในวันที่ 26 มีนาคมปี 2520 คณะผู้ก่อเชิญตัวนายทหารคนสำคัญ ของกองทัพบก มาไว้ได้บางคน แต่คุมตัวผู้บัญชาการทหารบก คือพลเอกเสริม ณ นคร ไม่ได้ และทหารฝ่ายรัฐบาลได้ประกาศไม่ยอมจำนนต่อฝ่ายกบฏ ทั้งยังได้มีการยิงกันที่ศูนย์บัญชาการของฝ่ายผู้ก่อการ พลตรี อรุณ ทวาทศิน แม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 เสียชีวิต ท้ายที่สุดคณะผู้ก่อการต้องยอมจำนนต่อฝ่ายรัฐบาล กระนั้นหลังเหตุการณ์ยึดอำนาจที่ล้มเหลวของคณะ 26 มีนาคม 2520 แล้วเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลก็ยังไม่ได้ดีขึ้น ยังมีความพยายามที่จะล้มรัฐบาลในเดือนมิถุนายน ปี 2520 อีก แต่ต้องยกเลิกเพราะผู้ที่รับจะเป็นหัวหน้าเปลี่ยนใจ
การยึดอำนาจเกิดขึ้นจริงและสำเร็จด้วยในวันที่ 20 ตุลาคม 25290 แต่การยึดอำนาจในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 นั้นแม้จะมีชื่อพลเรือสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ แต่ท่านไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริง เพราะกองกำลังของทหารที่เป็นฝ่ายคุมสถานการณ์ช่วงสุดท้ายของการยึดอำนาจในวันที่ 20 ตุลาคม เป็นกองกำลังของหน่วยทหารบกที่เข้ามายึดอำนาจซ้อนในคืนวันนั้น และผลทางการเมืองที่ปรากฏตามมาก็คือการล้มรัฐบาลนายกฯ ธานินทร์ ที่คณะปฏิรูปการปกครองการปกครองฯแต่งตั้ง ในปี 2519 จากนั้นในเดือนพฤศจิกายนปี 2520 จึงได้มีการแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ ที่คนในคณะทหารเองยอมรับ ได้แก่ พลเอกเกรียงศักดิ์ชมะนันท์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ วางมือจากงานเมืองได้ไม่นานท่านก็ได้ถึงแก่อนิจกรรม จากคุณหญิง สุคนธ์ ชลออยู่ ผู้เป็นภริยาไป ในวันที่ 23 พฤศจิกายนปี 2523 ขณะที่มีอายุได้ 65 ปี